จอกกาลิกส์ของพระสังฆราชฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัวส์
จอกกาลิกส์ใบนี้ เป็นสมบัติส่วนตัวของพระสังฆราชฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัวส์ ผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาประจำมิสซังสยามระหว่างปี พ.ศ. 2384 ถึงปี พ.ศ. 2405 หลังจากมรณะกรรมของพระสังฆราชฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัวส์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2405 จอกกาลิกส์ชิ้นนี้ก็ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จนกระทั่งในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ได้ถูกนำออกมาประกอบพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณอีกครั้งในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จเยือนประเทศไทย ณ สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ และในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก
ประวัติ
[แก้]จอกกาลิกส์ใบนี้ เป็นสมบัติส่วนตัวของพระสังฆราชฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัวส์ ผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาประจำมิสซังสยามระหว่างปี พ.ศ. 2384 - พ.ศ. 2405 ผลิตขึ้นในประเทศฝรั่งเศสในราวคริสตศักราช 1846 หรือ ปี พ.ศ. 2389 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยช่างผู้ผลิตจอกกาลิกส์นี้มีชื่อว่า Joseph Philippe Adolphe DEJEAN ซึ่งเป็นช่างเครื่องเงินเลื่องชื่อคนหนึ่งในสมัยของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ของประเทศฝรั่งเศส
Joseph Philippe Adolphe DEJEAN ได้เปิดร้านสำหรับผลิตเครื่องเงินที่ถนน Notre Dame ใจกลางกรุงปารีส ช่างผู้นี้ได้ผลิตผลงานถึงราวคริสตศักราช 1865 ก่อนที่ร้านเครื่องเงินนี้จะเปลี่ยนเจ้าของไปหลังจาก DEJEAN เสียชีวิต ผลงานหลายชิ้นที่ถูกทำขึ้นโดย DEJEAN ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอาสนวิหารสำคัญ ๆ ของประเทศฝรั่งเศส[1]
ศิลปะ
[แก้]จอกกาลิกส์ของพระสังฆราชฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัวส์ใบนี้ ได้ถูกออกแบบด้วยศิลปะยุคบารอก จากด้านบนจะปรากฏรูปนักบุญยอแซฟโอบอุ้มพระกุมารแนบกาย รูปที่สองคือพระนางมารีย์พรหมจารีมีพระจิตเจ้าในรูปลักษณ์ของนกพิราบประทับอยู่กลางพระอุระของพระนาง รูปที่สามคือรูปนักบุญยอห์น อัครสาวก โดยทั้งสามรูปถูกล้อมรอบด้วยเถาองุ่น และคั่นกลางแต่ละรูปด้วยดอกลิลลี่สีน้ำเงิน
ในส่วนด้ามจับประดับด้วยลวดลายของทูตสวรรค์เครูบิม 6 องค์ เรื่อยลงมาจนถึงฐาน ประกอบไปด้วยสัญลักษณ์ทางศาสนาคือ รูปพระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน รูปลูกแกะของพระเจ้าหมอบอยู่บนหนังสือวิวรณ์ และรูปแม่นกแพลิแกนกำลังจิกเนื้อตัวเองเพื่อให้ลูกนกได้ดื่มเลือด ซึ่งทั้งสามรูปนี้สื่อถึงการเสียสละของพระเยซูเจ้าซึ่งนำไปสู่การไถ่กู้มนุษยชาติและศีลมหาสนิท สุดท้ายในบริเวณฐานประดับด้วยทูตสวรรค์สามองค์กำลังอยู่ในอิริยาบถของการภาวนาที่แตกต่างกัน[2]
วัสดุ
[แก้]ในส่วนของวัสดุที่ผลิตจอกกาลิกส์นี้ ทำขึ้นจากเงินตลอดทั้งใบ ส่วนสีทองนั้นทำขึ้นด้วยกรรมวิธีเคลือบเงินโดยใช้ปรอทละลายทองคำทำให้เป็นของเหลว แล้วทาลงบนถ้วยเงินที่ต้องการจะเคลือบ จากนั้นไล่ปรอทออกโดยใช้ความร้อนเรียกว่า กะไหล่ทอง จะมีเพียงบางตำแหน่งเท่านั้นที่ยังคงสีเงินไว้ เพื่อให้เห็นถึงความโดดเด่นของชิ้นงาน ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่ หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ[3]
อ้างอิง
[แก้]- บรรณานุกรม
- ↑ พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี. เส้นทางแห่งรัก Pilgrim of Love. กรุงเทพฯ : สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, 2562. หน้า 189. ISBN 978-616-7219-79-0
- ↑ พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี. เส้นทางแห่งรัก Pilgrim of Love. กรุงเทพฯ : สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, 2562. หน้า 190. ISBN 978-616-7219-79-0
- ↑ พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี. เส้นทางแห่งรัก Pilgrim of Love. กรุงเทพฯ : สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, 2562. หน้า 190. ISBN 978-616-7219-79-0