ข้ามไปเนื้อหา

เซมินารี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เซมินารี[1] (อังกฤษ: Seminary) บางตำราเรียกว่าสำนักเสมินาร์[2] ชาวคาทอลิกในประเทศไทยเรียกว่าสามเณราลัย เป็นสถาบันการศึกษาสำหรับฝึกบุรุษเพื่อเตรียมบวชเป็นบาทหลวง นอกจากชื่อนี้แล้ว บางที่ก็เรียกว่าวิทยาลัยเทววิทยา (theological college) วิทยาลัยศาสนศาสตร์ (divinity school) นักเรียนเซมินารีเรียกว่าเซมินาเรียน (seminarian) หรือเซมินาริสต์ (seminarist)

การศึกษา

[แก้]

เมื่อเด็กชายสมัครใจจะเป็นบาทหลวง เมื่อจบการศึกษาชั้น ป.6 จะต้องติดต่อกับอธิการโบสถ์ที่ตนเองสังกัดเพื่อให้ท่านออกเอกสารรับรอง จากนั้นจึงเข้าเรียนที่เซมินารีเล็กซึ่งจะมีอยู่ในทุกมุขมณฑล กรณีที่ต้องการเป็นบาทหลวงประจำคณะนักบวชคาทอลิก ก็จะต้องเข้าเซมินารีซึ่งแต่ละคณะจะมีเป็นของตนเอง เมื่อเรียนจบชั้น ม.6 ที่เซมินารีเล็กแล้วจึงฝึกอบรมอีกหนึ่งหรือสองปีเพื่อเข้าเรียนต่อที่เซมินารีกลาง 1 ปี จากนั้นจึงเข้าเรียนที่เซมินารีใหญ่ (major seminary) ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษา[3] ผู้จบที่เซมินารีใหญ่จะได้รับวุฒิบัณฑิตทางเทววิทยาหรือปรัชญาตามแต่สาขาที่เรียน จากนั้นจึงฝึกงานต่อในมุขมณฑลหรือในคณะนักบวชคาทอลิกที่ตนเองจะสังกัดเพื่อเตรียมบวชเป็นบาทหลวงต่อไป

เซมินารีในประเทศไทย

[แก้]

เซมินารีแห่งแรกของสยามตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา คือสามเณราลัยนักบุญยอแซฟเป็นเซมินารีเล็ก ต่อมามุขนายกหลุยส์ ลาโน ได้สร้างสามเณราลัยมหาพราหมณ์ เป็นเซมินารีใหญ่ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมากจนเป็นศูนย์กลางเซมินารีในอินโดจีนสมัยนั้น เซมินารีทั้งสองแห่งถูกทำลายลงระหว่างการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง[3] ในปัจจุบันประเทศไทยมีเซมินารีเล็กอยู่เกือบทุกมุขมณฑล ส่วนเซมินารีกลางมีแห่งเดียวคือที่สามเณราลัยพระวิสุทธิวงศ์ จังหวัดนครราชสีมา ส่วนเซมินารีใหญ่ก็มีแห่งเดียวเช่นกันคือวิทยาลัยแสงธรรม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม [3]

มุขมณฑล สามเณราลัย
เขตมิสซังกรุงเทพ สามเณราลัยนักบุญยอแซฟ
เขตมิสซังท่าแร่-หนองแสง สามเณราลัยแม่พระฟาติมา
เขตมิสซังเชียงใหม่ สามเณราลัยแม่พระองค์อุปถัมภ์
เขตมิสซังนครสวรรค์ สามเณราลัยจอห์น ปอล
เขตมิสซังราชบุรี สามเณราลัยแม่พระนิรมล
เขตมิสซังสุราษฎร์ธานี สำนักฝึกธรรมดอมินิกซาวีโอ
เขตมิสซังอุดรธานี สถานฝึกธรรมสันติราชา
เขตมิสซังอุบลราชธานี สามเณราลัยพระคริสตประจักษ์
เขตมิสซังนครราชสีมา สามเณราลัยนักบุญเปาโล
เขตมิสซังจันทบุรี สามเณราลัยพระหฤทัย ศรีราชา

อ้างอิง

[แก้]
  1. ศาสนา...พลังสำคัญของชีวิต เก็บถาวร 2017-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล. เรียกข้อมูลวันที่ 25 ก.พ. พ.ศ. 2554.
  2. ปาลเลกัวซ์, มงเซเญอร์, เล่าเรื่องกรุงสยาม, แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2549
  3. 3.0 3.1 3.2 วรยุทธ กิจบำรุง, บาทหลวง, บาทหลวง", กรุงเทพฯ: สื่อมลชนคาทอลิกประเทศไทย, 2546, หน้า 17-22