ท่าอากาศยานตาก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ระวังสับสนกับ ท่าอากาศยานแม่สอด
ท่าอากาศยานตาก
ข้อมูลสำคัญ
การใช้งานสาธารณะ
ผู้ดำเนินงานกรมท่าอากาศยาน
พื้นที่บริการอำเภอเมือง จังหวัดตาก
สถานที่ตั้งตำบลน้ำรึม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก
วันที่เปิดใช้งาน31 พฤษภาคม พ.ศ. 2520
พิกัด16°53′45.56″N 099°15′12.06″E / 16.8959889°N 99.2533500°E / 16.8959889; 99.2533500พิกัดภูมิศาสตร์: 16°53′45.56″N 099°15′12.06″E / 16.8959889°N 99.2533500°E / 16.8959889; 99.2533500
เว็บไซต์https://minisite.airports.go.th/tak/
แผนที่
ภาพแผนที่ประเทศไทย ซึ่งบอกสถานที่ของท่าอากาศยาน
ภาพแผนที่ประเทศไทย ซึ่งบอกสถานที่ของท่าอากาศยาน
TKT
ตำแหน่งของท่าอากาศยานในประเทศไทย
ภาพแผนที่ประเทศไทย ซึ่งบอกสถานที่ของท่าอากาศยาน
ภาพแผนที่ประเทศไทย ซึ่งบอกสถานที่ของท่าอากาศยาน
TKT
TKT (ประเทศไทย)
ทางวิ่ง
ทิศทาง ความยาว พื้นผิว
เมตร ฟุต
09/27 1,500 4,921 ยางมะตอย
สถิติ (2563)
ผู้โดยสาร0
เที่ยวบิน0
แหล่งข้อมูล: https://airports.go.th

ท่าอากาศยานตาก หรือ สนามบินตาก (IATA: TKTICAO: VTPT) ตั้งอยู่ที่ ตำบลน้ำรึม อำเภอเมือง จังหวัดตาก ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม[1] โดยปัจจุบันใช้งานเฉพาะราชการทหาร ไม่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์

ประวัติ[แก้]

สนามบินตาก (เก่า) ก่อสร้างขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ณ ตำบลระแหง อำเภอเมืองจังหวัดตาก ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ประกาศเป็นสนามบินอนุญาตตามประกาศกระทรวงคมนาคมที่ 2/2497 ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2497 บริษัทเดินอากาศไทย จำกัด ได้ใช้เครื่องบินดักลาส ดีซี-3 ทำการบินให้บริการผู้โดยสารแบบประจำแต่ได้เลิกทำการบินประมาณ พ.ศ. 2513 หลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมได้ประกาศยกเลิกเป็นสนามบินอนุญาต เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2526

ใน พ.ศ. 2516 ช่วงเวลาที่ยังใช้สนามบินเดิมอยู่นั้น รัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร พิจารณาให้กรมการบินพาณิชย์ (กรมท่าอากาศยานในปัจจุบัน) จัดหาที่เพื่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เนื่องจากที่เดิมมีภูมิประเทศไม่เหมาะสม มีราษฎรทำการบุกรุกที่ดิน มีสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านและยังมีคลองน้ำไหลผ่านบริเวณท่าอากาศยานรวมทั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองมากเกินไป กรมการบินพาณิชย์ได้ขอความอนุเคราะห์กรมป่าไม้จัดหาพื้นที่บริเวณป่าสงวนจำนวน 1,300 ไร่ ซึ่งอยู่ในตำบลน้ำรึม อำเภอเมือง เป็นที่ก่อสร้างท่าอากาศยานตากแห่งใหม่และได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2518 และกระทรวงคมนาคมประกาศให้ท่าอากาศยานตากเป็นสนามบินอนุญาต เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2520[2]

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2533 การบินไทย ได้ใช้เครื่องบินแบบเอทีอาร์ 72 ทำการบินรับ-ส่ง เส้นทางกรุงเทพฯ-ตาก-แม่สอด-เชียงใหม่ ไป-กลับ จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2537 จึงขอหยุดทำการบิน เนื่องจากผู้โดยสารน้อยไม่คุ้มค่าต่อการทำการบิน โดยในปัจจุบันยังมีเครื่องบินที่ใช้ในราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจและเครื่องบินส่วนบุคคล ทำการบินเป็นครั้งคราว[3] และเป็นฐานในการทำฝนหลวง[4] โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เข้าใช้พื้นที่ของท่าอากาศยานตากในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตาก คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2566[5][6] โดยมีแผนที่จะจัดตั้งขึ้นมาแทนศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงแห่งเดิมที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มจะมีข้อจำกัดด้านสถานที่และทางวิ่ง (รันเวย์) จากการที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากทำให้ต้องมีแผนการพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยาน[6]

แผนการอนุญาตให้ บมจ. ท่าอากาศยานไทย เข้าบริหารท่าอากาศยาน[แก้]

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 กรมท่าอากาศยานได้ประกาศแผนการมอบสิทธิ์การบริหารท่าอากาศยานตากให้ บมจ. ท่าอากาศยานไทย เช่นเดียวกับท่าอากาศยานอุดรธานี (ภายหลังได้เพิ่มท่าอากาศยานชุมพรและท่าอากาศยานสกลนครเข้ามาด้วย)[7] โดยจะนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบ[8][9] แต่กระทรวงคมนาคมยังไม่อนุมัติในทันที โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รวบรวมข้อมูลจากทั้งของกรมท่าอากาศยาน, บมจ. ท่าอากาศยานไทย และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ไปศึกษาวิเคราะห์ถึงผลดีและผลเสียก่อน[10]

ในวันที่ 25 เมษายน 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บมจ. ท่าอากาศยานไทย มีมติเห็นชอบรับโอนท่าอากาศยานตากและท่าอากาศยานอีกสามแห่งดังกล่าวจากกรมท่าอากาศยานมาบริหาร[11] และกรมท่าอากาศยานได้รวบรวมข้อมูลและเสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้วในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน[12] เพื่อที่จะได้เสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป คาดว่าจะดำเนินการได้เรียบร้อยและ ทอท. เข้าบริหารสนามบินทั้งสี่ได้อย่างเต็มรูปแบบภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562[13]

โดย บมจ. ท่าอากาศยานไทยเปิดเผยว่าได้วางแผนให้ท่าอากาศยานตากเป็นสนามบินสำหรับขนส่งสินค้าทางอากาศ ไม่เน้นการรับส่งผู้โดยสาร โดยอ้างว่าเพื่อที่จะไม่แข่งขันกับท่าอากาศยานแม่สอดของกรมท่าอากาศยาน[7] อย่างไรก็ตามในเดือนเมษายน 2561 หอการค้าจังหวัดตาก, กำแพงเพชร และสุโขทัย ได้ร่วมกันเสนอให้สายการบินนกแอร์ (ซึ่งมีเครื่องบินขนาดเล็กจึงสามารถใช้งานรันเวย์ปัจจุบันของท่าอากาศยานตากที่มีความยาวเพียง 1,500 เมตรได้) พิจารณาเปิดเส้นทางเที่ยวบินโดยสารระหว่างท่าอากาศยานดอนเมืองกับท่าอากาศยานตาก[14][15] แต่ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน บมจ.ท่าอากาศยานไทยได้แจ้งว่าจะไม่พัฒนาท่าอากาศยานตากในด้านการขนส่งผู้โดยสาร โดยอ้างว่ามีอุปสงค์ไม่ถึงหนึ่งล้านคนต่อปี[13] (ถือเป็นจำนวนที่สูงมาก เนื่องจากในปี พ.ศ. 2560 ท่าอากาศยานในพื้นที่อื่นโดยรอบ ได้แก่ ท่าอากาศยานพิษณุโลก มีผู้โดยสารขาเข้าและขาออกรวมประมาณ 6 แสนคนต่อปี และท่าอากาศยานแม่สอดมีประมาณ 2 แสนคนต่อปี[16]) และจะมุ่งเน้นพัฒนาในด้านการรองรับขนส่งอากาศยานโดยเฉพาะ ด้านกระทรวงคมนาคมได้ปฏิเสธแผนการดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้สนามบินทั้ง 4 แห่งที่จะโอนให้ ทอท. นั้นรองรับด้านการท่องเที่ยวด้วย และให้ ทอท. ทำแผนการดำเนินการรับโอนและบริหารท่าอากาศยานตากใหม่[17] ต่อมาเดือนกันยายน 2561 นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตากกล่าวว่าคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเห็นชอบให้ดำเนินการโอนสนามบินให้ ทอท. แล้ว โดยที่ ทอท. จะเข้าพัฒนาท่าอากาศยานตากทั้งในด้านการขนส่งและการรองรับนักท่องเที่ยว[18]

อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่ในปี พ.ศ. 2562 กรมท่าอากาศยาน และกระทรวงคมนาคมซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้เปลี่ยนแปลงแผนการ โดยจะให้ บมจ. ท่าอากาศยานไทย เข้าบริหารท่าอากาศยานตาก, ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ในลักษณะการบริหารสัญญาร่วม หรือการจ้าง บมจ. ท่าอากาศยานไทย บริหารจัดการ โดยไม่ต้องมีการประมูล และกรมท่าอากาศยานยังคงเป็นเจ้าของสนามบินทั้งสามแห่งดังกล่าว[19] แต่หลังจากนั้นข่าวคราวก็ได้เงียบหายไป ไม่มีความคืบหน้าใดอีก นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้เสนอแนวคิดอื่น เช่นพัฒนาท่าอากาศยานตากให้เป็นสถานที่สำหรับซ่อมและจอดเครื่องบิน รวมถึงขยายรันเวย์ให้กว้างขึ้นและยาวขึ้นเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ แต่จะต้องมีบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน[20][21] จนกระทั่งในเดือนมีนาคม 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้าดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน[22] โดยที่ไม่มีท่าอากาศยานตากรวมอยู่ด้วยอีกต่อไป จึงนับว่ากรมท่าอากาศยานและกระทรวงคมนาคมได้ยุติแผนการถ่ายโอนการบริหารท่าอากาศยานตากไปโดยปริยาย

อาคารสถานที่[แก้]

อาคารผู้โดยสาร[แก้]

ท่าอากาศยานตากมีอาคารผู้โดยสารขนาดเล็ก 1 หลัง และมีลานจอดอากาศยานขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 177 เมตร สามารถรองรับอากาศยานประเภท เอทีอาร์ 72 ได้

ทางวิ่ง (รันเวย์) และทางขับ (แท็กซี่เวย์)[แก้]

ท่าอากาศยานตากมีทางวิ่งขนาดกว้าง 30 เมตร พร้อมไหล่ทางวิ่งข้างละ 7.5 เมตร และยาว 1,500 เมตร พร้อมพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง (blastpads) ขนาดกว้างข้างละ 45 เมตร และความยาวข้างละ 75 เมตร และมีทางขับขนาดกว้าง 16 เมตร และยาว 135 เมตร จำนวน 2 เส้น

รายชื่อสายการบิน[แก้]

การใช้งานในปัจจุบัน[แก้]

ปัจจุบันไม่มีสายการบินให้บริการ โดยในปัจจุบันยังมีเครื่องบินที่ใช้ในราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจและเครื่องบินส่วนบุคคล ทำการบินเป็นครั้งคราว และเป็นฐานการบินฝนหลวง

สายการบินที่เคยทำการบิน[แก้]

สายการบิน จุดหมายปลายทาง หมายเหตุ
เดินอากาศไทย พิษณุโลก, แม่สอด[23] ภายในประเทศ
การบินไทย กรุงเทพฯ-ดอนเมือง, แม่สอด[23], พิษณุโลก[24] ภายในประเทศ

การเดินทางสู่ท่าอากาศยาน[แก้]

ท่าอากาศยานตากตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (เขตแดนไทย/พม่า–มุกดาหาร) ในบริเวณ อำเภอเมือง จังหวัดตาก

อ้างอิง[แก้]

  1. "รายชื่อท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน". กรมท่าอากาศยาน. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2557‎. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "ท่าอากาศยานตาก Tak Airport". กรมการบินพลเรือน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-16. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "ความเป็นมาของท่าอากาศยานตาก". กรมท่าอากาศยาน. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "ตากเปิดฐานปฏิบัติการตั้งฐานเติมสารฝนหลวงบรรเทาภัยแล้งและไฟป่า". เอเอสทีวีผู้จัดการ. 16 มีนาคม 2552. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-26. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  5. "องคมนตรี เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารสำนักงานศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ และประชุมติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงแก้ไขปัญหาฝนทิ้งช่วงและเติมน้ำเขื่อนที่จังหวัดตาก". สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์. 23 สิงหาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  6. 6.0 6.1 "วันที่ 23 สิงหาคม 2563 เวลา 09.19 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดตาก". กรมฝนหลวงและการบินเกษตร. 23 สิงหาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  7. 7.0 7.1 "ทอท.ปั้นสนามบินอุดรฯฮับอีสาน". มติชน. 22 เมษายน 2561. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-25. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  8. "ทย.ยกสนามบินอุดรฯ-ตาก ซบอกทอท". เดลินิวส์. 20 พฤศจิกายน 2560. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  9. "กรมท่าอากาศยานย้ำชัด! ยกให้ ทอท.บริหารสนามบินแค่ "อุดรธานี-ตาก"". ประชาชาติธุรกิจ. 20 พฤศจิกายน 2560. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  10. "'อาคม' เบรกส่ง 'ทอท.' บริหารสนามบินอุดร-ตาก". กรุงเทพธุรกิจ. 29 พฤศจิกายน 2560. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  11. "งบสร้างสนามบินมโหระทึก". ไทยรัฐ. 2 พฤษภาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  12. "ปี 64 "กระบี่" ฮับสู่อีสาน บินสู่ขอนแก่นหนุนท่องเที่ยว". เดลินิวส์. 16 มิถุนายน 2561. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2561. ส่วนความคืบหน้าเรื่องการโอนย้าย 4 ท่าอากาศยานให้แก่บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. นั้น ขณะนี้ ทย.ได้รวบรวมข้อมูล และข้อเสนอรายงานผลการศึกษาแก่กระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของ รมว.คมนาคม คาดว่าจะรู้ผลในเร็วๆนี้ {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  13. 13.0 13.1 "ทุ่มหมื่นล้านฟื้นสนามบินรอง". โพสต์ทูเดย์. 4 กรกฎาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  14. "ขอรายงานความคืบหน้า เรื่องสายการบินนกแอร์ ตาก-ดอนเมือง ว่าเราดำเนินการเรื่องนี้อย่างเกาะติดตลอด". TAK @taksociety. 23 เมษายน 2561. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  15. "หอการค้า 3 จว. หนุนบินโลว์คอสต์ ทำการบินมา จ.ตาก เพิ่มความสะดวกคนเดินทาง". ไทยรัฐ. 3 พฤษภาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  16. "ข้อมูลสถิติการขนส่งทางอากาศภายในประเทศ ปี 2017". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-21. สืบค้นเมื่อ 2018-07-05.
  17. "คมนาคมตีกลับแผนโอน 4 สนามบินให้ ทอท". สำนักข่าวไทย. 9 กรกฎาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  18. ""ตาก" วอนรัฐปัดฝุ่น 2 สนามบินเก่า ดันฮับอากาศบูมท่องเที่ยว". เดลินิวส์. 12 กันยายน 2561. สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  19. "เบื้องลึกเด้งอธิบดีทย. เซ่นการเมืองขวางทอท.ฮุบสนามบิน". ฐานเศรษฐกิจ. 8 กันยายน 2562. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  20. ""ถาวร" ดันผุดศูนย์ซ่อมเครื่องบิน "ตาก" ดึงเอกชนลงทุน คุมตลาดโซนจีนตอนใต้-พม่า-ลาว". ผู้จัดการออนไลน์. 29 มิถุนายน 2563. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  21. "'ถาวร' ดึงต่างชาติร่วมลงทุนโปรเจ็กต์ 'แฮงการ์' สนามบิน จ.ตาก 3,000 ไร่". ประชาชาติธุรกิจ. 5 กรกฎาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  22. ""ศักดิ์สยาม" เปิดไทม์ไลน์โอนย้าย 3 สนามบิน จ่อเสนอ ครม. เมษายนนี้". ไทยรัฐ. 21 มีนาคม 2565. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  23. 23.0 23.1 "ประวัติความเป็นมาของท่าอากาศยานแม่สอด". กรมท่าอากาศยาน. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  24. กาญจนา อาสนะคงอยู่; เอกชัย โกมล (2553). การพัฒนายุทธศาสตร์เชิงวัฒนธรรมในเขตเมือง กรณีศึกษา จังหวัดพิษณุโลก (PDF) (Report). กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. p. 123. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2560. {{cite report}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)