จิตภัสร์ กฤดากร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จิตภัสร์ กฤดากร
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ตามภารกิจ)
เริ่มดำรงตำแหน่ง
9 ธันวาคม พ.ศ. 2566
(0 ปี 101 วัน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี

16 มิถุนายน พ.ศ. 2528 (38 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2550 – ปัจจุบัน)
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
กปปส.
บุพการี
ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาชีพนักการเมือง
ทรัพย์สินสุทธิ664.7 ล้านบาท (ปี 2562)[1]

จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร[2] เดิมชื่อ จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี ชื่อเล่นว่า ตั๊น เป็นรองหัวหน้าตามภารกิจ พรรคประชาธิปัตย์ และประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ อดีตแนวร่วมกลุ่ม กปปส. อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(นายจุติ ไกรฤกษ์)

ประวัติ[แก้]

จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร หรือชื่อสกุลเดิมว่า ภิรมย์ภักดี ชื่อจริง “จิตภัสร์” เป็นชื่อพระราชทาน แปลว่า “จิตที่ร่มเย็น” ส่วน “ตั๊น” มาจากตั๊นหน้า เพราะคุณพ่อชอบเล่น “คาราเต้” เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2528[3] เป็นบุตรสาวคนโตของจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด, อดีตประธานกรรมการ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) อดีตประธานมูลนิธิคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย นายกสมาคมคาราเต้แห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กับหม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ซึ่งเป็นบุตรีของหม่อมราชวงศ์ยงสวาสดิ์ กฤดากร รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

จิตภัสร์ เริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนประจำหญิงล้วน Westonbirt School ที่ประเทศอังกฤษจนจบชั้นมัธยมศึกษา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาภูมิศาสตร์จากคิงส์คอลเลจลอนดอน ประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบบประชาธิปไตย รุ่น 2 สถาบันพระปกเกล้า และปริญญาโทรัฐประศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ หลักสูตรการโดดร่มใหม่แบบกระตุกเอง รุ่นที่ 1/64 ของ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

การทำงาน[แก้]

ภาคเอกชน[แก้]

จิตภัสร์เคยฝึกงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น บริษัทโฆษณา Blue UIR Advertising, บริษัท Orange (True Move), Christian Dior, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บริษัทโพลีพลัสเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ รวมทั้งยังเป็น NGO ในโครงการ Population and Community Development Association ที่จังหวัดกระบี่ และได้ไปเป็นครูฝึกสอนที่จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อนที่จะผันตัวเข้าสู่แวดวงการเมือง ตามความฝันในวัยเด็กที่ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรี[4]

งานการเมือง[แก้]

จิตภัสร์ เข้าร่วมทำงานกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยการชักชวนของ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่มีความสนิทสนมกับครอบครัว และเห็นว่ามีความสนใจทางการเมือง โดยมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยและเลขานุการของ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เขต 5 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ในอีกสองปีต่อมาเธอได้เข้าร่วมกับชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. โดยรับหน้าที่เป็นโฆษกภาคภาษาอังกฤษ และต่อมาในปี พ.ศ. 2561 ได้รับตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และลงสมัคร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 20 ในการเลือกตั้งปีถัดมา และได้รับการเลือกตั้งหลังจากการคำนวณคะแนนบัญชีรายชื่อใหม่ อันเนื่องมาจากการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน เนื่องจากผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ในเขต 8 เชียงใหม่ ได้คะแนน 1,738 คะแนน แต่สามารถดันจิตภัสร์ให้เป็น สส. จนเป็นที่มาของฉายา "ตั๊นพันเจ็ด"[5]

สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 จิตภัสร์ได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคประชาธิปัตย์ ในลำดับที่ 10 หลังจากได้อาการบาดเจ็บหลังประสบอุบัติเหตุจากการฝึกกระโดดร่ม จนต้องใส่เฝือกที่หลัง เพื่อป้องการกระแทกระหว่างการหาเสียง [6]

ข้อวิจารณ์[แก้]

ปฏิทินเบียร์ลีโอ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2552 ช่วงที่จิตภัสร์เป็นผู้ช่วยโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เธอได้นำปฏิทินเบียร์ลีโอที่มีภาพนางแบบวาบหวิว มาแจกจ่ายให้แก่ข้าราชการในทำเนียบรัฐบาล จนถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง[7] เธอแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกและขอน้อมรับคำวิจารณ์ทั้งหมด[8]

กปปส.[แก้]

ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองปี พ.ศ. 2556-2557 จิตภัสร์ได้เข้าร่วมการชุมนุมกลุ่ม กปปส. โดยรับผิดชอบด้านการรายงานข่าวภาคภาษาอังกฤษและดูแลโรงเรียนต้นไม้

ในระหว่างการชุมนุม จิตภัสร์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีว่า "คนไทยจำนวนมาก ขาดความเข้าใจในประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยเฉพาะคนในชนบท"[9] ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ผู้เป็นบิดาได้ร่อนจดหมายขอโทษต่อสื่อมวลชน ขณะที่จิตภัสร์ชี้แจงว่า "ไม่เคยดูถูกคนชนบท แม้แต่นิดเดียว... ดังที่บางกลุ่มพยายามบิดเบือนใส่ร้าย เพื่อตอกลิ่มสร้างความแตกแยกในสังคม"[10] จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ครอบครัวได้รับผลกระทบและถูกคนร้ายลอบปาระเบิดเพลิงใส่บ้าน[11] และสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บจก.บุญรอดบริวเวอรี ได้มีหนังสือไปยังจุตินันท์ บิดาของจิตภัสร์ในเชิงตำหนิ[12] ด้วยเหตุดังกล่าว จิตภัสร์จึงตัดสินใจเปลี่ยนนามสกุลจาก "ภิรมย์ภักดี" เป็น "กฤดากร"

กรณีการรับสมัครเข้ารับราชการตำรวจ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2558 จิตภัสร์ มีชื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ในตำแหน่งรองสารวัตรฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) ด้วยเหตุผลมีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ[13] ทำให้ตำรวจส่วนหนึ่งไม่พอใจ เนื่องจากเธอเคยกระทบกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงการชุมนุม กปปส.[14] จึงมีการแสดงออกด้วยการติดริบบิ้นสีดำบนเสาวิทยุสื่อสารและรถจักรยานยนต์ เพื่อคัดค้าน[15] ในที่สุดจิตภัสร์ แถลงข่าวประกาศถอนตัวสมัครเป็นตำรวจในวันที่ 24 กันยายน 2558 ณ โรงแรมดุสิตธานี[16][17]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ลำดับสาแหรก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Tourism minister's wife richest MP to date". Bangkok Post. 22 August 2019. สืบค้นเมื่อ 22 August 2019.
  2. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ตั้ง‘ตั๊น จิตภัสร์’ เป็นกมธ.ตำรวจ
  3. "'Dear Wathanya' VS 'Tan Chitphat' So So Som Lon Khwa Kao-i Party List" “เดียร์ วทันยา” VS “ตั๊น จิตภัสร์” ส.ส.ส้มหล่นคว้าเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ [Dear Watanya vs Tant Chitpas: MPs who won a party-list seat by windfall]. Siam Rath. 1 June 2019.
  4. วันที่นามสกุลเปลี่ยนไป! อดีต อธิบาย ปัจจุบัน เช็กหัวใจ ตั๊น จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี!
  5. ทำความรู้จัก ‘ตั๊น จิตภัสร์’ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์คนล่าสุด จากพรรคประชาธิปัตย์
  6. "เผยเซฟโซนปาร์ตี้ลิสต์ ปชป. "จุรินทร์-ชวน" นำทีม "ตั๊น" ที่ 10 เบียด "เดียร์" พร้อมใส่เฝือกหาเสียง". ผู้จัดการออนไลน์. 2023-04-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-06. สืบค้นเมื่อ 2023-04-06.
  7. ปฏิทินลีโอพ่นพิษ 'จิตภัสร์' ยื่นใบลาออกแล้ว
  8. 'จิตภัสร์' รับผิด ขอลาออก ปฏิทินโป๊พ่นพิษ
  9. Thai opposition torn between elections and 'revolution'
  10. บิดา "ตั๊น" ขอโทษแทนลูกใช้คำพูดไม่เหมาะสม วิจารณ์คนชนบท-เผยเตรียมเปลี่ยนนามสกุล
  11. ปาระเบิดขวดใส่บ้าน'ตั๊น-จิตภัสร์'
  12. สะพัด! จม.บอสใหญ่สิงห์ เตือน “จุตินันท์” เรื่องบทบาท “ตั๊น จิตภัสร์”
  13. วิจารณ์สนั่น!! นครบาลรับ ตั๊น จิตภัสร์ ติดดาวเป็นรอง สว.191
  14. สตช. จ่อดำเนินคดี ม็อบ กปปส. แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับป้าย
  15. ตำรวจก่อหวอดนัด “ผูกริบบิ้นดำ” เสาวิทยุ ค้าน “ตั๊น จิตภัสร์” รับราชการ อัดเป็นตัวทำลาย สตช.
  16. "จิตภัสร์ตัดใจ ไม่เป็นตำรวจ เปิดการแถลง ด้วยน้ำตาคลอ ตัวไม่มีวาสนา!". ThairathOnline. 2015-09-25.
  17. แถลงข่าวประกาศถอนตัวสมัครเป็นตำรวจ
  18. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2022-11-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๑๗๘, ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓
  19. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑๖, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
  20. อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงสงุ่น ราชวัลลภานุสิษฐ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : วัชรินทร์การพิมพ์, 2516, หน้า 6