รัชดา ธนาดิเรก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รัชดา ธนาดิเรก
รัชดา ในปี พ.ศ. 2561
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 – 1 กันยายน พ.ศ.2566
นายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ก่อนหน้าพลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค
ถัดไปคารม พลพรกลาง
รัดเกล้า สุวรรณคีรี
เกณิกา อุ่นจิตร์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด18 สิงหาคม พ.ศ. 2518 (48 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2541–ปัจจุบัน)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รัชดา ธนาดิเรก เป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา[1] และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์[2] อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 33 (บางพลัด บางกอกน้อย) พรรคประชาธิปัตย์ ติดต่อกัน 2 สมัย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2556 และเคยดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ประวัติ[แก้]

รัชดา ธนาดิเรก เกิดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ที่ กรุงเทพมหานคร เป็นธิดาของ นายเทอดศักดิ์ ธนาดิเรก นักธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง และสารหล่อลื่น และนางเพลินจิต ธนาดิเรก มีชื่อเล่นว่า กานต์ สำเร็จปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาโท 2 สาขา จาก สหราชอาณาจักร คือ สาขากลยุทธ์องค์กรและบรรษัทภิบาล มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ และ สาขาการจัดการบัญชีและการเงินระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม และสำเร็จปริญญาเอก ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ จาก สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที)

การทำงาน[แก้]

นางสาวรัชดา ขณะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร

งานด้านการศึกษา[แก้]

รัชดา ธนาดิเรก เคยเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นอาจารย์พิเศษอีกหลายสถาบัน

ในช่วง วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2550 ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก เป็นหนึ่งใน 50 คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ร่วมลงชื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549

งานการเมือง[แก้]

รัชดา เริ่มเข้าสู่งานการเมืองในการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขต 12 (เขตบางกอกน้อย, บางพลัด, ตลิ่งชัน, ทวีวัฒนา) ในสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการเลือกตั้ง พร้อมกับ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ และ นายชนินทร์ รุ่งแสง

ภายหลังการจัดตั้ง รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ทำให้ พรรคประชาธิปัตย์ มีสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวในสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์จึงประกาศจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เพื่อติดตามตรวจสอบ และเสนอแนะการบริหารงานของรัฐบาล ตามรูปแบบที่มีในต่างประเทศ ดร.รัชดาได้รับเลือกจากทางพรรคให้ทำหน้าที่ รองโฆษกรัฐบาลเงา[3] หรือเท่ากับต้องทำงานประกบกับ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ด้านการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร ดร.รัชดา ธนาดิเรก ได้ปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการหลายคณะ เช่น กรรมาธิการและโฆษกกรรมาธิการการต่างประเทศ กรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประชาชาติมุสลิม กรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาโครงการแท็กซี่เอื้ออาทร กรรมาธิการและโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตลอดจนเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหลายฉบับ เช่น พรบ.จัดหาและคุ้มครองคนหางาน พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พรบ.ประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ พรบ.มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 รัชดา ธนาดิเรก ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางพลัด - บางกอกน้อย อีกครั้งจากการเลือกตั้งฯ วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ รองโฆษกคณะรัฐมนตรีเงา ของพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[4]

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 รัชดา ธนาดิเรก ได้รับแต่งตั้งเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 62[5]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 รัชดาได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคประชาธิปัตย์ ในลำดับที่ 16 [6]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

การกีฬา[แก้]

  • อดีตนักกีฬาเทนนิสเยาวชนทีมชาติ[9]
  • เหรียญทองเทนนิส กีฬามหาวิทยาลัย 2 สมัย (ครั้งที่ 19 และ 20)[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. มติครม.ตั้ง "รัชดา" กับ "ไตรศุลี" เป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ
  2. เปิดรายชื่อกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 39 คน
  3. จากโฆษกเงา สู่รองโฆษกทำเนียบบิ๊กตู่ รัชดา ธนาดิเรก ฉีกกฎ พีอาร์รัฐบาลมวลมหามิตร พูดความจริง เป็นกลาง ไม่อวย-ไม่เลี่ยนมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 กันยายน - 3 ตุลาคม 2562
  4. คลอดแล้วรายชื่อ 'ครม.เงา' อภิสิทธิ์ นายกฯควบกห. ส่วน สุเทพ นั่ง มท. จุติ รั้งเงาคลัง[ลิงก์เสีย]
  5. ครม. แต่งตั้ง “รองโฆษกรัฐบาล” 2 ตำแหน่ง “รัชดา ธนาดิเรก” และ “ไตรศุลี ไตรสรณกุล”
  6. "เผยเซฟโซนปาร์ตี้ลิสต์ ปชป. "จุรินทร์-ชวน" นำทีม "ตั๊น" ที่ 10 เบียด "เดียร์" พร้อมใส่เฝือกหาเสียง". ผู้จัดการออนไลน์. 2023-04-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-06. สืบค้นเมื่อ 2023-04-06.
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2012-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๗๒, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2011-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๑๓๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒
  9. 9.0 9.1 "เริ่มต้นอย่างยิ่งใหญ่กับมหกรรมกีฬาสาธิตสามัคคี ปทุมวันเกมส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-04. สืบค้นเมื่อ 2020-12-25.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]