องค์การพิทักษ์สยาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

องค์การพิทักษ์สยาม (ชื่อย่อ: อพส.; อังกฤษ: Protect Siam Organization[1], Pitak Siam group[2]) เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนที่รวมตัวกัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในปี พ.ศ. 2555 และ ปฏิวัติประเทศไทยให้เป็นระบอบเผด็จการทหารภายใต้ราชาธิปไตย

องค์การพิทักษ์สยามเปิดตัวขึ้นในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ที่ท้องสนามหลวง โดยมี พลเอก บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ (เสธ.อ้าย) ประธานศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร (ตท.) เป็นประธาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรให้พ้นจากตำแหน่ง โดยมีเหตุผลหลัก คือ รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้มีการจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล เป็นต้น[3]

สมาชิกและแนวร่วมส่วนใหญ่ก็เป็นบุคคลเดิมที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมขับไล่พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2549 และการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 จากภาคีเครือข่ายเดิมที่เคยเคลื่อนไหวในลักษณะเช่นนี้มาก่อนแล้ว เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), กลุ่มสันติอโศก และเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน (กลุ่มเสื้อหลากสี) ได้แก่ พลเรือเอก ชัย สุวรรณภาพ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นรองประธาน, นายสมพจน์ ปิยะอุย นักธุรกิจ เป็นรองประธาน, พลเอก ณัฐชัย เพิ่มทรัพย์ อดีตประธานเสนาธิการประจำตัวผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นรองประธาน และพลอากาศโท วัชระ ฤทธาคนี เป็นโฆษก

มีแนวร่วมคนสำคัญ เช่น นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์, นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ, พลเอก ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์, พลเรือเอก พะจุณณ์ ตามประทีป, ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ, นายไพศาล พืชมงคล, สมณะโพธิรักษ์ นายไทกร พลสุวรรณ, นายอธิวัฒน์ บุญชาติ, นายสุนทร รักษ์รงค์ เป็นต้น[1]

พลเอก บุญเลิศ ได้กล่าวถึงเป้าหมายขององค์การพิทักษ์สยามว่า ต้องการ "แช่แข็งประเทศเป็นเวลา 5 ปี" หมายถึง การที่จะให้นักการเมืองหรือภาคการเมืองต่าง ๆ หยุดเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี เพื่อที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ[4]

องค์การพิทักษ์สยาม เป็นองค์การที่สนับสนุนแนวทางการปกครองแบบระบอบเผด็จการทหาร และ ต่อต้านประชาธิปไตย

ประวัติการชุมนุม[แก้]

องค์การพิทักษ์สยาม ได้ชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ที่ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือสนามม้านางเลิ้ง โดยเป็นการชุมนุมในรูปแบบตั้งอยู่กับที่ ไม่มีการเคลื่อนไหวไปไหน มีการปราศรัยสลับกับการแสดงดนตรี จนกระทั่งได้เวลาเลิกประมาณ 20.00 น. มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30,000 คน[3]

จากความสำเร็จในการชุมนุมครั้งนี้ พล.อ. บุญเลิศ ได้ขยายผลไปสู่การชุมนุมใหญ่ครั้งที่สอง โดยให้เป็นไปในลักษณะเป็นการชุมนุมใหญ่แบบไม่ยืดเยื้อ วันเดียวจบ โดยตั้งเป้าผู้ชุมนุมไว้ที่ 1 ล้านคน จากนั้นจะนำผู้ชุมนุมไปสู่หน้าทำเนียบรัฐบาล แล้วเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ถ้าหากผู้ชุมนุมได้จำนวนไม่เป็นไปตามเป้า ก็จะยุติการชุมนุม และทางตัว พล.อ. บุญเลิศ ก็จะไม่กลับมารับหน้าที่นี้อีก

ซึ่งการชุมนุมใหญ่ครั้งที่สอง เกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เริ่มต้นในเวลา 09.00 น. ซึ่งทางรัฐบาล โดย น.ส. ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชบัญญัติความมั่นคง (พ.ร.บ. ความมั่นคง) ขึ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน เพียงหนึ่งวันก่อนการชุมนุม โดยกำหนดพื้นที่เป็นบริเวณรอบ ๆ ที่ชุมนุม รวมถึงทำเนียบรัฐบาล มีการปิดการจราจรของถนนรวม 5 เส้นทาง รวมถึงการตรวจตราอย่างเข้มงวดตามเส้นทางหลักจากต่างจังหวัดภูมิภาคต่าง ๆ ที่มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานครด้วย โดยใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นกำลังหลัก[5]

ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ก่อนถึงเวลา 09.00 น. ซึ่งเป็นเวลานัดหมาย กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนก็ได้เดินทางมาถึงถนนราชดำเนิน ช่วงบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์แล้ว แต่มิอาจไปต่อได้ เนื่องจากติดที่ขวางกั้นซึ่งเป็นแท่งปูนแบร์ริเออร์ และรั้วลวดหนาม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และในเวลาประมาณ 08.45 น. ก็เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม เมื่อผู้ชุมนุมบางส่วนได้พยายามฝ่าที่กั้นเข้าไปด้วยรถบรรทุก 6 ล้อ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาในการปราบปราม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ในส่วนของทางกลุ่มผู้ชุมนุมที่ลานพระบรมรูปฯ ก็ได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่สะพานมัฆวานฯแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจเข้าไปให้การช่วยเหลือได้แต่อย่างใด

จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 14.00 น. นายอธิวัฒน์ บุญชาติ ประกาศเตรียมความพร้อมบนเวทีได้มีการปะทะกันอีกรอบที่แยกสวนมิสกวัน เมื่อทางกลุ่มผู้ชุมนุม ที่นำโดย สมณะจากกลุ่มสันติอโศก ได้ปะทะกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีการใช้แก๊สน้ำตา เพื่อที่จะเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ชุมที่สะพานมัฆวานฯ ให้เข้ามายังพื้นที่บริเวณลานพระบรมรูปฯได้ ซึ่งทาง พล.อ. บุญเลิศ ได้ขึ้นเวทีประกาศขอสู้ตาย

จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. เหตุการณ์ก็ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง ซ้ำยังเลวร้ายขึ้น เมื่อฝนตกลงมาห่าใหญ่ เป็นเวลาใกล้มืดซึ่งจะไม่มีแสงสว่าง บนเวทีมีการประกาศว่ารัฐบาลจะตัดน้ำ ตัดไฟบริเวณที่ชุมนุม ในที่สุด ในเวลา 17.20 น. พล.อ. บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ได้ขึ้นเวทีประกาศยุติการชุมนุม โดยให้เหตุผลถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเป็นหลัก และจะไม่ขอมาเป็นผู้นำการชุมนุมอีก โดยกล่าวว่า "ไอ้เสธ. อ้ายได้ตายไปแล้ว"[6] [7]

ทั้งนี้มีการเปิดเผยว่า เหตุที่ไม่ประสบความสำเร็จในการชุมนุม เกิดจากเหตุที่กลุ่มการเมืองเดิมที่เคยเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และพรรคพวก มาก่อน อย่างกลุ่มพันธมิตรฯ ก็มิได้ให้การสนับสนุนในเรื่องจำนวนคนอย่างมากพอ รวมถึงเกิดความขัดแย้งกันเองในกลุ่มด้วย ทำให้จำนวนผู้ชุมนุมไม่ถึงเป้าหมายอย่างที่ตั้งไว้[8]

ต่อมา องค์การพิทักษ์สยามได้มี พล.ร.อ. ชัย สุวรรณภาพ เป็นประธาน[9]

กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ[แก้]

ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ
วิกฤตการเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557

การเมืองไทยประวัติศาสตร์ไทย

ในกลางปี พ.ศ. 2556 องค์การพิทักษ์สยาม ได้มีการแตกตัวออกมาเป็น กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (ชื่อย่อ: กปท.) มีจุดประสงค์คือ ให้รัฐบาลเพิกถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และโค่น "ระบอบทักษิณ" โดยมีคณะนายทหารและนายตำรวจ รวมถึงข้าราชการพลเรือนนอกราชการและกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมด้วยหลายคน โดยมีแกนนำทั้งหมด 7 คน คือ 1. พลเอก ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ 2. พลเรือเอก ชัย สุวรรณภาพ 3. พลเอก ชูเกียรติ ตันสุวัฒน์ 4. พลอากาศโท วัชระ ฤทธาคนี 5. นายพิเชฐ พัฒนโชติ 6. นายไทกร พลสุวรรณ 7. พลเรือเอก บรรณวิทย์ เก่งเรียน โดยเรียกตัวเองว่า "คณะเสนาธิการร่วมโค่นระบอบทักษิณ"

โดยมีการชุมนุมขึ้นที่หน้าสวนลุมพินีบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ใกล้แยกศาลาแดง ในวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556[10] [11] ร่วมด้วยกองทัพธรรมของคณะสันติอโศก ต่อมาก็ได้ย้ายเข้าไปในสวนลุมพินีไม่ห่างจากประตูทางเข้าทางฝั่งนี้ เพื่อความปลอดภัย

ต่อมาในวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 15.00 น. ก็ได้ยกระดับการชุมนุมเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมบางส่วนและแกนนำปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล[12] ทางรัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติความมั่นคงฯ ครอบคลุมพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, เขตพระนคร และเขตดุสิต ตั้งแต่วันที่ 9-18 ตุลาคม แต่ทางผู้ชุมนุมและแกนนำก็ยังไม่ยุติการชุมนุม จนเมื่อถึงวันที่ 10 ตุลาคม ปีเดียวกัน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เสริมกำลังเข้ามาล้อมรอบที่ชุมนุมจนมีปริมาณมากกว่าผู้ชุมนุม โดยปิดมิให้มีการเข้าและปิดไม่ให้แม้แต่การส่งอาหารและน้ำ รวมถึงห้องน้ำเข้าไปได้สู่ที่ชุมนุม และได้เข้าเจรจากับแกนนำขอให้ยุติการชุมนุมไปก่อน จนกระทั่ง หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนที่จะเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม จะเสร็จสิ้นภารกิจ โดยให้สัญญาว่าจะไม่มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม และจะยินยอมให้กลับมาชุมนุม ณ หน้าทำเนียบรัฐบาลได้อีกครั้ง ทางแกนนำจึงมีมติที่จะถอนที่ชุมนุมกลับไปยังสวนลุมพินี แต่ทว่าก็มีผู้ชุมนุมบางส่วนที่ไม่ยินยอมและเดินทางไปชุมนุมต่อ ณ แยกอุรุพงษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตราชเทวี นอกพื้นที่การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง[13] โดยกลุ่มนี้ได้ใช้ชื่อว่า เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โดยแกนนำเป็นคณะนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงแห่งองค์การนักศึกษารามคำแหง และนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความแห่งสภาทนายความ พร้อมได้ปฏิเสธว่าไม่ได้มีพรรคการเมืองใดหนุนหลังรวมทั้งไม่ได้มีความขัดแย้งกับ กปท.ด้วย และในคืนวันเดียวกันเวลาประมาณ 02.00 น. ก็มีผู้โยนระเบิดเพลงลงมาจากทางด่วนอุรุพงษ์ 4 ลูก มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน[14][15]

วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557[แก้]

ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 กปท.ก็ได้เข้าร่วมชุมนุมร่วมกับกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) พร้อมกับแนวร่วมกลุ่มอื่น ๆ โดยมีสถานที่ชุมนุมปักหลักอยู่ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หน้าแยกผ่านฟ้าลีลาศ[16] และในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 ที่กลุ่มแนวร่วมทั้งหมดจัดชุมนุมแบบปิดการจราจรตามทางแยกสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กปท.ก็ได้ชุมนุมคู่ขนานโดยทำการปิดสะพานพระราม 8 ด้วย [17]

ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ได้มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาขอคืนพื้นที่การชุมนุม ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ผลจากการปะทะกันส่งผลให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 3 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บทั้งหมด 64 ราย [18]

ต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม ปีเดียวกัน จากการชุมนุม ศาลอาญาอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. รวม 43 คน ผู้ต้องหาคดีกบฏ และความผิดอื่น รวม 8 ข้อหา เพื่อติดตามตัวมาดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย โดยมีรายชื่อแกนนำ กปท. เป็นผู้ต้องหารวมอยู่ด้วย[19] [20]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 โครงสร้าง-ภาคีเครือข่าย องค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) จากมติชน
  2. Pitak Siam group leader Gen Boonlert announces end of its rally at Royal Plaza จากอสมท.[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 ม็อบองค์การพิทักษ์สยาม แห่ชุมนุมคึกคัก เสธ.อ้าย ยินดีต้อนรับพันธมิตร จากสนุกดอตคอม
  4. "เปิดโมเดล "เสธ.อ้าย" เสนอแช่แข็งประเทศ 5 ปี ตั้งรัฐบาลจากภาค ปชช. จากผู้จัดการออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-01. สืบค้นเมื่อ 2013-05-07.
  5. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,053: วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
  6. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,054: วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
  7. ย้อนเวลาม็อบ!กับวาทะยอมแพ้'เสธ.อ้าย ตายแล้ว จากกรุงเทพธุรกิจ[ลิงก์เสีย]
  8. "เหตุขัดแย้งภายใน'เสธ.อ้าย'พ่าย จากคมชัดลึก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-07. สืบค้นเมื่อ 2013-05-07.
  9. องค์กรพิทักษ์สยามจับมือเครือข่ายภาคปชช. เรียกร้องคนไทยต่อสู้เพื่อบ้านเมือง ขู่ชุมนุมขับไล่รบ. จากมติชนออนไลน์
  10. "รายงานสด..กองทัพประชาชนชุมนุมที่สวนลุมฯ จากครอบครัวข่าว 3". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-08. สืบค้นเมื่อ 2013-08-04.
  11. สันนิบาตประชาชนแตกหัก ผนึกพลังโค่นระบอบทักษิณ จากแนวหน้า
  12. กปท.ฮือล้อมทำเนียบ ปักหลักยาวแตกหักปมรธน.ตร.เสริมกำลังจ่อสลายม็อบ จากไทยโพสต์[ลิงก์เสีย]
  13. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,374: วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556
  14. "กปท.ถอยไป!ม็อบ'คปท.'ผุดใหม่ยึดอุรุพงษ์ 'องค์การนักศึกษาม.ราม'ยึดเก้าอี้แกนนำกองทัพประชาชน คุมมวลชนพื้นที่แยกอุรุพงษ์ จากคมชัดลึก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-11. สืบค้นเมื่อ 2013-10-12.
  15. “ม็อบอุรุพงษ์” ขึงตาข่ายป้องพื้นที่ หวั่นระเบิดซ้ำรอย ปัด ปชป.หนุนหลัง-แย่งซีนสวนลุมฯ จากผู้จัดการออนไลน์[ลิงก์เสีย]
  16. "กปท.ยันปักหลัก'สะพานผ่านฟ้า' ยกระดับโค่นระบอบ'ทักษิณ'". ไทยรัฐ. 6 พฤศจิกายน 2556. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. "กปท.ปิดสะพานพระราม 8 อ้างรักษาความปลอดภัย". ไทยรัฐ. 13 มกราคม 2557. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. "เกาะติดม็อบ 18ก.พ.57". เดลินิวส์. 18 กุมภาพันธ์ 2557. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-10. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  19. "ศาลอาญาอนุมัติหมายจับ 30 แกนนำ กปปส. ที่เหลือยกคำร้อง". Thairath.co.th. 14 พฤษภาคม 2557. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-17. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  20. "ศาลอนุมัติออกหมายจับแกนนำ กปปส. 30 ราย-ยกคำร้อง 13". Posttoday.com. 14 พฤษภาคม 2557. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-15. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]