โลตัส (ห้างสรรพสินค้า)
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
อุตสาหกรรม | ศูนย์การค้า,ห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต |
---|---|
ก่อตั้ง | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2567 |
สำนักงานใหญ่ | 1468 ถนนพัฒนาการ แขวงพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250 |
พื้นที่ให้บริการ | ไทย มาเลเซีย |
บุคลากรหลัก | นริศ ธรรมเกื้อกูล (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) |
ผลิตภัณฑ์ | ศูนย์การค้า, ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ |
เจ้าของ | ซีพี ออลล์ |
บริษัทแม่ | ซีพี แอ็กซ์ตร้า |
เว็บไซต์ | https://www.lotuss.com |
โลตัส (อังกฤษ: Lotus’s) เป็นศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และร้านสะดวกซื้อสัญชาติไทย ดำเนินกิจการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย โดยบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) เปิดให้บริการสาขาแรกในศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ในนามโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2537 โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น เทสโก้ โลตัส ในปี พ.ศ. 2541 หลังจากกลุ่มเทสโก้เข้าซื้อกิจการ
ประวัติ
[แก้]ธุรกิจช่วงแรก-ขายหุ้นให้เทสโก้
[แก้]โลตัส เกิดจากความต้องการขยายรูปแบบร้านค้าปลีกของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพี ในนามของ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด โดยได้จดทะเบียนบริษัทในวันที่ 13 สิงหาคม 2536 มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท[1] โดยได้เปิดบริการสาขาทดลองรูปแบบสาขาแรกที่ซีคอนสแควร์ในนาม โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2537[2] ก่อนที่ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 จะเปิดสาขาที่ 2 ในนาม โลตัส ดิสเตาน์สโตร์ ที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร[3] แต่เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจนกลายเป็นวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ทำให้กลุ่มซีพีตัดสินใจขายหุ้นร้อยละ 75 ของบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทมให้กับกลุ่มเทสโก้ ผู้ประกอบการค้าปลีกประเทศอังกฤษ โดยเป็นแนวทางที่ ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวว่า ต้องเลือกสละบางอย่างเพื่อรักษาเรือและเอาชีวิตให้รอด[4]
ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งผมไปคุยกันสี่พี่น้องว่า ผมรับรองว่าธุรกิจเดิมของเราจะไม่ล้ม ธุรกิจเกษตรทั้งหลาย ผมรับรองว่าไม่ล้มละลายแน่นอน ผมรักษาได้แน่ ส่วนธุรกิจใหม่ที่ผมสร้างขึ้นมา ให้ผมปวดหัวคนเดียวก็พอ พี่ทั้งสามไม่ต้องปวดหัว เพราะผมจะขายธุรกิจที่ผมสร้างขึ้นมาใหม่ก่อน อยากให้พี่ๆ สบายใจ ไม่งั้นเขาก็ห่วง ซึ่งการขายโลตัสออกไปในวันนั้น ทำให้เห็นถึงความผูกพันกับแบรนด์โลตัส ในฐานะที่เป็นผู้สร้างขึ้นมากับมือ
— ธนินท์ เจียรวนนท์
ภายหลังการควบรวมธุรกิจจึงได้เปลี่ยนแปลงชื่อมาเป็น เทสโก้ โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ในช่วงแรกแล้วจึงเปลี่ยนชื่อเป็น เทสโก้ โลตัส นับตั้งแต่นั้น โดยใช้ สีน้ำเงิน เป็นโทนสีของห้าง ซึ่งในช่วงแรกกลุ่มซีพียังคงถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 25 แต่ภายหลังก็ได้ทยอยขายหุ้นออกไปจนในช่วงปลายปี พ.ศ. 2545 กลุ่มซีพีถือหุ้นอยู่ไม่ถึงร้อยละ 1 จึงตัดสินใจขายหุ้นที่เหลือทั้งหมดออกไปในปีนี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ให้สามารถให้ความเห็นเรื่องค้าปลีกได้อย่างมีจุดยืน
เทสโก้ โลตัส-ขยายรูปแบบสาขา
[แก้]ในปี พ.ศ. 2544 เทสโก้ โลตัส ได้เริ่มขยายรูปแบบสาขาในรูปแบบร้านสะดวกซื้อภายใต้ชื่อ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส สาขาแรกในสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ ย่านรามอินทรา โดยเกิดขึ้นเพื่อรองรับพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าที่เปลี่ยนไปสู่การมองหาความสะดวกสบายในการจับจ่ายสินค้าใกล้บ้าน[2] ก่อนที่ใน พ.ศ. 2546 จะเปิดบริการ "เทสโก้ โลตัส คุ้มค่า" สาขาแรกที่จังหวัดร้อยเอ็ด และ "เทสโก้ โลตัส ซูเปอร์มาร์เก็ต" สาขาแรกที่พงษ์เพชร ในวันที่ 3 มกราคม[5][6][7] นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น เทสโก้ โลตัส ยังมีรูปแบบสาขา "ดีพาร์ทเมนท์สโตร์" อีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2554 หลังจากที่เทสโก้ โลตัส แพ้การประมูลกิจการคาร์ฟูร์ให้กับกลุ่มคาสิโน เจ้าของบิ๊กซีในประเทศไทยในขณะนั้น และทางบิ๊กซีได้ประกาศใช้แบรนด์ "เอ็กซ์ตร้า" ในการปรับปรุงสาขาคาร์ฟูร์ที่เหลือเกือบทั้งหมด เทสโก้ โลตัส ได้พัฒนารูปแบบสาขา เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์ตร้า ขึ้นมาแข่งอีกหนึ่งรูปแบบ และตั้งเป้าหมายเป็น "พารากอน ของตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต" โดยเริ่มจากการปรับปรุงใหญ่ของสาขาพระรามที่ 4 ที่มี บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนน เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายในระดับ A+ เน้นสินค้านำเข้า เพิ่มสินค้าใหม่ ๆ ที่ไม่เคยจำหน่ายมาก่อนในเทสโก้ มีความพิเศษด้านความสะดวกสบาย รวมถึงบรรยากาศที่ปลอดโปร่ง[8][9]
การขายกิจการให้กับกลุ่มซีพี
[แก้]เมื่อ พ.ศ. 2557 กลุ่มเทสโก้ ถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการจาก Serious Fraud Office ฐานแสดงบัญชีไม่ตรงกับการดำเนินการจริงของบริษัทฯ ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ของกลุ่มเทสโก้ลดลงจนขาดทุน 3.1 แสนล้านบาทในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังเกิดเรื่อง เมื่อเป็นเช่นนี้กลุ่มเทสโก้จึงตัดสินใจขายกิจการในหลายประเทศรวมถึงประเทศมาเลเซียและเทสโก้ โลตัสในประเทศไทย เพื่อนำเงินไปชำระหนี้สินและพยุงสถานะทางการเงินของกลุ่มบริษัท อย่างไรก็ตาม กลุ่มเทสโก้ กลับปฏิเสธการขายกิจการในไทยและมาเลเซีย เนื่องจากเป็นฐานรายได้หลักนอกประเทศอังกฤษของกลุ่มเทสโก้ และกลุ่มยังไม่มีความจำเป็นต้องขายออกไปเพื่อพยุงสถานะทางการเงิน
ต่อมา ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ให้ข่าวว่ากำลังปรึกษากับธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง เพื่อขอกู้เงินซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสกลับคืนมา คาดว่าจะใช้เงินสูงถึง 2 แสนล้านบาทในการซื้อกิจการกลับมาทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ธนินท์ ได้เปิดเผยภายหลังว่าตนได้เจรจาขอซื้อคืนหลายครั้งแล้ว แต่กลับถูกปฏิเสธเนื่องจากกลุ่มเทสโก้ไม่ยอมขาย ตนจึงเคารพการตัดสินใจของกลุ่มเทสโก้และหยุดแผนการซื้อกิจการทั้งหมดลง
ใน เดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 สำนักข่าวเดอะการ์เดียน ได้เปิดเผยว่ากลุ่มเทสโก้ กำลังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจขายกิจการในประเทศไทยและมาเลเซีย หลังมีเอกชนในไทยเสนอซื้อกิจการ ซึ่งต่อมาสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้เปิดเผยว่ากลุ่มที่สนใจเข้าซื้อกิจการมีทั้งหมดสามรายคือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มทีซีซี และบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งบลูมเบิร์กคาดว่ามูลค่าซื้อขายอาจสูงถึงหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณสามแสนล้านบาท และอาจกลายเป็นดีลใหญ่มากที่ส่งผลถึงตลาดค้าปลีกในประเทศไทย เนื่องมาจากปัจจุบันเทสโก้ โลตัสมีสาขากว่า 2,000 สาขา หลัก ๆ เป็นสาขาในรูปแบบเอ็กซ์เพรส และตลาดโลตัส หากหนึ่งในสามกลุ่มเป็นผู้ชนะการประมูลกิจการ จะทำให้กลุ่มนั้นพลิกขึ้นมาเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดค้าปลีกทันที ซึ่งต่อมา คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้ออกมาแถลงเป็นกรณีพิเศษว่า การประมูลกิจการเทสโก้ โลตัส ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน เนื่องจากจะส่อการผูกขาดทางการค้า และยังได้สั่งการให้ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) เฝ้าระวังดีลนี้เป็นพิเศษ และติดตามการรวมธุรกิจอย่างใกล้ชิด
ต่อมากลุ่มเทสโก้ได้เปิดรับข้อเสนอจากเอกชนทั้งสามราย คือ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ผลปรากฏว่า บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด อันเป็นกิจการร่วมค้าเฉพาะกิจที่ถือหุ้นโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาประมูลสูงสุดที่ 338,445 ล้านบาท โดย ซี.พี. รีเทล ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563 กระบวนการซื้อขายทั้งหมดแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภคทั่วประเทศ ยื่นฟ้องคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ในกรณีที่คณะกรรมการมีมติ 4 ต่อ 3 อนุญาตให้กลุ่มซีพีเข้าควบรวมกิจการเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยได้ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มซีพีมีส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มโมเดิร์นเทรดสูงถึง 83.97% ถือเป็นการผูกขาดทางการค้าอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจรายย่อย และส่งผลต่อภาพรวมของระบบเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากกลุ่มซีพีเป็นบริษัทด้านการเกษตรและการอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ มีธุรกิจครอบคลุมการดำรงชีวิตของประชาชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ[10] โดยคดีดังกล่าวมีสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินรับฟ้องเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564[11] และศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับฟ้องเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564[12] อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ศาลปกครอง ได้ยกคำรองทั้งหมดโดยให้เหตุผลว่าไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 กำหนด จึงยังไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ซีพี ออลล์ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่ามติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ร่วมกับที่ประชุมของกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้มีมติให้ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน)) รับโอนกิจการของ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ทั้งหมด อันประกอบด้วย บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (บริษัท เทสโก้ สโตร์ (เอเชีย) จำกัด เดิม), บริษัท โลตัส สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โลตัส สโตร์ (มาเลเซีย) จำกัด และบริษัท เอก-ชัย ดิสทิบิวชัน ซิสเท็ม จำกัด ซึ่งจะช่วยให้แม็คโครและโลตัสสามารถบริหารงานกันเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น เป็นการลดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกลุ่มซีพี และยังเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องคุณสมบัติการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยของสยามแม็คโคร ซึ่งเกิดจากการเข้าซื้อหุ้นของซีพี ออลล์ พร้อม ๆ กันในคราวเดียว
"โลตัสส์" ภายใต้กลุ่มซีพี
[แก้]ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โลตัสได้มีงานเปิดตัวการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ โดยเปลี่ยนโลโก้ใหม่เป็น Lotus’s โดยตัดคำว่า Tesco ออกและเติม ’s เข้าไป พร้อมปรับใช้สีโทนพาสเทลให้ทันสมัยขึ้น โดยนำร่องการเปลี่ยนแปลงนี้ที่สาขาเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา เป็นแห่งแรก[13] และในโอกาสเดียวกัน โลตัส ได้เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส และเทสโก้ โลตัส ตลาด บางสาขา ให้เป็น โลตัส โก เฟรช โดยเริ่มที่สาขาเอกชัย 99 เป็นสาขาแรก ก่อนจะปรับปรุงให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2565 และในปี พ.ศ. 2566 โลตัสได้เปิดตัว "โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ และโลตัสพรีเว่ ที่เน้นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมากกว่าโมเดลอื่น ๆ โดยเปิดสาขาแรกที่ย่านถนนราชพฤกษ์และโครงการไอซีเอสไอคอนสยาม เมื่อในวันที่ 13 กันยายน 2566 ทางซีพี แอ็กซ์ตร้า บริษัทแม่ของ แม็คโคร และ โลตัส ประกาศเปิดโมเดลธุรกิจค้าส่งรูปแบบใหม่ในชื่อ "Hybrid Wholesale"หรือ"2 in 1" การรวมระหว่างสินค้าส่งของแม็คโครและศูนย์การค้าของโลตัส ในพื้นที่เดียวกันใช้ชื่อแบรนด์นี้เป็น แม็คโคร โลตัสมอลล์ เปิดสาขาแรกที่สมุทรปราการ ซึ่งเป็นการเข้ามาแทนที่โลตัสเดิม[14][15][16]
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ซีพี ออลล์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของซีพี แอ็กซ์ตร้า ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ซีพี แอ็กซ์ตร้า จะรับโอนกิจการทั้งหมดของโลตัส จากนั้นจะควบรวมกับ บจก. เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม ซึ่งเป็นผู้บริหารกิจการดังกล่าว เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่[17] และต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน ซีพี แอ็กซ์ตร้า ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เคยให้บริการห้างสรรพสินค้าโลตัส ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วในวันเดียวกัน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างชำระบัญชี[18] การควบรวมบริษัทแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ภายใต้ชื่อบริษัทใหม่คือ "ซีพี แอ็กซ์ตร้า"
รูปแบบสาขา
[แก้]ประเภท | พื้นที่ขาย | เวลาทำการ | ลักษณะ | จำนวนสาขา[19] |
---|---|---|---|---|
พรีเว่ | 2,900 ตรม. (ไอซีเอส) | 8.00 - 22.00 น. | เป็นร้านค้าที่มีลักษณะคล้ายกับโลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต แต่เน้นการนำเสนอสินค้าระดับพรีเมี่ยมในราคาคุ้มค่า และเพิ่มสัดส่วนของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมากกว่าโลตัสโมเดลอื่น ๆ เปิดสาขาแรกที่ไอซีเอส[20] | 1 |
แม็คโคร โลตัสมอลล์ | 12,000 ตรม. (สมุทรปราการ) | 6.00 - 22.00 น. | เป็นร้านค้าในรูปแบบ Hybrid Wholesale การรวมระหว่างสินค้าส่งของแม็คโครและศูนย์การค้าของโลตัส เปิดสาขาแรกที่สมุทรปราการ[21] มี 3 สาขาที่ปรับปรุงมาจากโลตัสเดิม สาขามหาชัย สมุทรปราการ นครสวรรค์ | 6 |
โลตัส | 5,000 - 15,000 ตรม. | 6.00, 7.00, 8.00, 9.00, 10.00 - 21.00, 22.00, 23.00, 24.00 น. | รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตพื้นฐาน,ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ของ โลตัส มีสาขาในกรุงเทพฯ และจังหวัดขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ ในจำนวนนี้ปรับปรุงมาจากตลาด 4 สาขา คุ้มค่า 14 สาขา ดีพาร์ทเม้นท์ สโตร์ 59 สาขา เอ็กซ์ตร้า 12 สาขา และพลัสมอลล์ 3 สาขา | 426 |
โกเฟรช ซูเปอร์มาร์เก็ต | 5,000-7,000 ตรม. | 7.00 , 8.00 - 21.00 น. | เป็นร้านค้าที่มีลักษณะคล้ายกับโลตัสใหญ่ แต่ที่เน้นพื้นที่ขายและพื้นที่ให้เช่ามากขึ้นมากขึ้น เน้นการนำเสนอสินค้าในราคาคุ้มค่า ต่างจากโลตัส โกเฟรช ธรรมดา ทั่วไป เปิดสาขาแรกที่ สายไหม 56 | 17 |
โกเฟรช | 250 - 2,000 ตรม. | เปิดตลอด 24 ชั่วโมง, 6.00 - 22.30 น. 7.00 , 8.00 - 21.00 น. (เฉพาะสาขาวัชรพล) | ร้านสะดวกซื้อประเภท Discount Store มีสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามอำเภอต่าง ๆ ในแต่ละจังหวัด บางแห่งอยู่ในสถานีบริการน้ำมันบางจากที่ปรับปรุงมาจากเอสโซ่ และบางสาขาก็อยู่ในพื้นที่ของโลตัสไฮเปอร์มาร์เก็ต เน้นการจำหน่ายอาหารสด และอาหารนำเข้า เพื่อให้เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ในจำนวนนี้ปรับปรุงมาจากตลาด 8 สาขา | 1,574 |
อีทเทอรี่ | 250 - 2,000 ตรม. | 6.00 - 22.00 น. | ร้านอาหารประเภทฟู้ดคอร์ท จับกลุ่มลูกค้าพรีเมียมกำลังซื้อสูง ด้วยร้านอาหารยอดฮิตในสังคมออนไลน์ ร้านยอดฮิตติดเทรนด์ และร้านแฟรนไชส์ชื่อดังจำนวนมาก เปิดสาขาแรกที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค อีสต์ไลฟ์ | 3 |
ซีพี เฟรชมาร์ท | 250 - 2,000 ตรม. | 6.00, 7.00, 8.00 - 21.00 น. | ร้านสะดวกซื้อที่เน้นจำหน่ายอาหารสดในกลุ่มซีพี มีสาขาทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ตามอำเภอต่าง ๆ ในแต่ละจังหวัด โดยทั้งหมดเป็นการรับโอนกิจการจากกลุ่มซีพีเอฟเมื่อ พ.ศ. 2565 ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการรีแบรนด์เป็น "โกเฟรช" | 350 |
ในอดีต
[แก้]รูปแบบ | พื้นที่ขาย | ลักษณะ |
---|---|---|
เอ็กซ์ตร้า | 10,000-16,000 ตรม. | เป็นร้านค้าแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เน้นการนำเสนอสินค้านำเข้าในราคาคุ้มค่าแบบเทสโก้ โลตัส เน้นความทันสมัย โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ตั้ง อย่างไรก็ตามสาขาเอ็กซ์ตร้าทั้งหมดถูกยุบให้กลายเป็น โลตัส ใน พ.ศ. 2564 เนื่องจากรูปแบบและจุดยืนสาขาไม่ชัดเจน เพราะมีสาขาโลตัสปกติที่มีเกรดเทียบเท่าเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2560-2564 |
คุ้มค่า | 8,000-12,000 ตรม. | เป็นร้านค้าแบบห้างสรรพสินค้าที่แยกเป็นแผนก เพื่อเปิดให้บริการในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องกฎหมายผังเมือง ภายในสาขาประกอบไปด้วยส่วนพื้นที่ขายสินค้าในชื่อ โลตัสคุ้มค่า และส่วนอาหารสดในชื่อ ตลาดโลตัส หรือ ซูเปอร์มาร์เก็ต ในบางสาขา ต่อมาได้ถูกยุบรวมเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากรูปแบบธุรกิจซ้ำซ้อน |
พลาซ่า | 8,000-10,000 ตรม. | เป็นร้านค้าแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นการนำเสนอสินค้าในราคาคุ้มค่า อย่างไรก็ตามสาขาคุ้มค่าทั้งหมดได้ถูกยุบรวมเข้ารูปแบบสาขา ไฮเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากรูปแบบธุรกิจซ้ำซ้อน อย่างไรก็ดี ในช่วง พ.ศ. 2559-2560 เทสโก้ โลตัส ได้นำชื่อ คุ้มค่า กลับมาใช้แทนรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตมาตรฐาน ก่อนยกเลิกไปใน พ.ศ. 2562 |
ซูเปอร์มาร์เก็ต | 5,000-7,000 ตรม. | เป็นร้านค้าแบบซูเปอร์มาร์เก็ต เดิมเป็นส่วนขยายของตลาดโลตัสที่เน้นพื้นที่ขายและพื้นที่ให้เช่ามากขึ้นมากขึ้น เน้นการนำเสนอสินค้าในราคาคุ้มค่า ต่อมาได้ถูกยุบรวมกลับเข้ารูปแบบสาขา ตลาดโลตัส แต่มีบางสาขาปรับปรุงเป็นรูปแบบ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และ โลตัส โกเฟรช ซูเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากรูปแบบธุรกิจซ้ำซ้อน |
โลตัสตลาด | 600 - 2,000 ตรม. | ร้านค้าขนาดเล็กใกล้แหล่งชุมชน สะดวกต่อการจับจ่ายกับสินค้า มีสาขาในบางอำเภอที่มีขนาดใหญ่ ใกล้ตัวจังหวัด หรือในอำเภอขนาดกลางถึงเล็ก แต่มีบางสาขาปรับปรุงเป็นรูปแบบ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และ โลตัส โก เฟรช ซูเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากรูปแบบธุรกิจซ้ำซ้อน |
เอ็กซ์เพรส | 250 - 450 ตรม. | ชื่อเดิมของ โลตัส โก เฟรช เดิมเป็นร้านค้าแบบร้านสะดวกซื้อ เน้นความรวดเร็ว |
นโยบายสวัสดิภาพสัตว์
[แก้]เอ็นจีโอสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (อังกฤษ: World Animal Protection) ได้รายงานว่าโลตัสใช้กรงสำหรับการตั้งครรภ์ (อังกฤษ: sow stalls) ในกระบวนการผลิตเนื้อหมู กระบวนการนี้ขอบเขตสุกรตัวเมียในกรงที่มันขนาดเท่ากับตู้เย็นเพื่อที่จะใช้สุกรต้วเมียเป็นเครื่องเพาะพันธุ์ (อังกฤษ: "breeding machines") กระบวนการแบบนี้ก็ผิดกฎหมายที่หลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่นประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี 2542 เอ็นจีโอสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ประสบความสำเร็จในการชักชวนบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ว่าเขาจะต้องปล่อยสุกรตัวเมียให้อ่อกกรงภายในปี 2568[22]
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 เทสโก้โลตัสได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มปลอดกรง (cage-free) เท่านั้นสำหรับทั้งห่วงโซ่อุปทาน
นายคริส โคเมอร์ฟอร์ด ประธานกรรมการฝ่ายพาณิชย์ เทสโก้ โลตัส “ภายใน พ.ศ. 2571 ไข่ไก่ทุกฟองที่จำหน่ายในเทสโก้ โลตัส จะมาจากแม่ไก่ที่ไม่ถูกขังกรง (cage-free) เราเริ่มต้นการเปลี่ยนไปสู่ระบบการเลี้ยงแม่ไก่แบบไม่ขังกรงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรคู่ค้าหลักของเราคือแสงทองสหฟาร์ม ในการพัฒนาไข่ไก่ออร์แกนิกที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ และไข่ไก่ cage-free ที่เลี้ยงในโรงเรือน นอกจากไข่ไก่สดแล้ว เทสโก้ โลตัส ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ไข่ไก่พร้อมรับประทานที่มาจากไข่ cage-free เช่นกัน อาทิ ไข่ต้มและไข่ตุ๋น ซึ่งปัจจุบันจำหน่ายในเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับคู่ค้าและผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์เพื่อพัฒนาโรดแมปร่วมกันในการเดินทางไปสู่จุดหมายที่วางไว้เพื่อให้ไข่ไก่ทุกฟองที่เราจำหน่ายมาจากแม่ไก่ที่ไม่ขังกรงภายในปี พ.ศ. 2571 ภายใต้โรดแมปนั้น เทสโก้ โลตัส จะเปลี่ยนไข่ไก่ที่บรรจุแพ็คขนาด 10 ฟองทั้งหมดให้มาจากแม่ไก่ที่ไม่ขังกรงภายในปี พ.ศ. 2566”[23]
โลโก้
[แก้]คำว่า โลตัส แปลว่า ดอกบัว เริ่มใช้ตราสัญลักษณ์ดอกบัวแบบสี่เหลี่ยม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 - 2551
พ.ศ. 2537 - 2541 | พ.ศ. 2541 - 2544 | พ.ศ. 2544 - 2551 | พ.ศ. 2551 - 2564 | พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน |
---|---|---|---|---|
โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ | เทสโก้ โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ | เทสโก้ โลตัส | โลตัส | |
ดูเพิ่ม
[แก้]- โลตัส (ประเทศจีน) - ห้างสรรพสินค้าโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทแยกเฉพาะในประเทศจีน
- เทสโก้
- เครือเจริญโภคภัณฑ์
- ซีพี ออลล์
- แม็คโคร (ประเทศไทย)
สาขาโลตัสที่ปิดกิจการ
[แก้]ชื่อสาขา | วันที่เปิดบริการ | วันที่ปิดบริการ | จังหวัดที่ตั้ง | สถานะในปัจจุบัน |
---|---|---|---|---|
กัลปพฤกษ์ | พ.ศ. 2551 | พ.ศ. 2562 | กรุงเทพมหานคร | ย้ายสาขาไปยังโลตัส บางแค และ โลตัสพระราม 2 ส่วนที่ตั้งเดิมเปลี่ยนเป็นปั้มนํ้ามันบางจาก |
พาต้า ปิ่นเกล้า | รอข้อมูลเพิ่มเติม | 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 | ย้ายสาขาไปยังโลตัส ปิ่นเกล้า และ โลตัส จรัญสนิทวงศ์ | |
แฮปปี้พลาซ่า พิจิตร | พ.ศ. 2548 | 15 ตุลาคม พ.ศ. 2565 | จังหวัดพิจิตร | ย้ายสาขาไปยังโลตัส พิจิตร (ท่าหลวง) |
เดอะ มาร์เก็ต แบงค็อก ราชประสงค์ | 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 | 4 กันยายน พ.ศ. 2565 | กรุงเทพมหานคร | ย้ายสาขาไปยังโลตัส พระรามที่ 1 (เจริญผล) ส่วนที่ตั้งเดิม ปิดกิจการเนื่องจากขาดทุนประกอบกับเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ปัจจุบันปรับปรุงเป็น โรงแรม ม็อกซี่ แบงค็อก ราชประสงค์ |
ราไวย์ | รอข้อมูลเพิ่มเติม | พ.ศ. 2566 | จังหวัดภูเก็ต | ย้ายสาขาไปยังโลตัส ฉลอง ส่วนที่ตั้งเดิมเปลี่ยนเป็นโก โฮลเซลล์ ราไวย์ |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ เปิด‘หุ้นใหญ่’ เทสโก-โลตัส คนเครือ ซี.พี.โผล่ ใครเจ้าของแท้จริง ? สำนักข่าวอิศรา เขียนวันจันทร์ ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559 08:00 น.
- ↑ 2.0 2.1 ความเป็นมา|Tesco Lotus เว็บไซต์ tescolotus.com ผ่านทาง web.archive.org สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564
- ↑ เทสโก้โลตัสแก้เกมแข่งบิ๊กซี จับตาห้างค้าปลีกผุดสามแยกกระทุ่มแบน เก็บถาวร 2021-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน sakhononline.com เผยแพร่เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564
- ↑ ย้อนตำนานวงการค้าปลีกไทย กำเนิดโลตัส สู่การผลัดมือ (อีกครั้ง)เผยแพร่: 5 มี.ค. 2563 11:20 ปรับปรุง: 5 มี.ค. 2563 12:48 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
- ↑ โพสต์จากเพจ "เมืองเก่าเล่าใหม่" ทางเฟซบุ๊ก จากภาพถ่ายหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 19-21 ธันวาคม พ.ศ. 2545 (หน้าที่ 21)
- ↑ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิทเทม จำกัด www.jobtopgun.com สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน พ.ศ. 2564
- ↑ สาขาเทสโก้ โลตัส Tescolotus.com ผ่านทาง wayback machine สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน พ.ศ. 2564
- ↑ "เจาะเนื้อใน "เอ็กซ์ตร้า" ฉบับเทสโก้ ปะทะ บิ๊กซี แค่ยกแรกก็สนุกแล้ว". mgronline.com. 2011-05-17.
- ↑ "เมื่อซีอีโอ เทสโก้ โลตัส พาทัวร์บิ๊กซี". Positioning Magazine. 2011-08-10.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "กลุ่มผู้บริโภคฟ้องศาลให้เพิกถอนมติ กขค. ไฟเขียวซีพีควบรวมเทสโก้". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2022-06-18.
- ↑ "ซีพีงานเข้า ผู้ตรวจการแผ่นดินรับคำร้องควบรวมเทสโก้ไม่เป็นธรรม". ประชาชาติธุรกิจ. 2021-03-30.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ศาลปกครองรับฟ้อง และให้พิจารณาโดยเร่งด่วน กรณี กขค. มีมติควบรวมซีพีและเทสโก้ อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย". THE STANDARD. 2021-04-03.
- ↑ "เทสโก้ โลตัส รีแบรนด์ใหม่ สู่ "โลตัส " (Lotus's)". ประชาชาติธุรกิจ. 2021-02-15.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ CP AXTRA เขย่าวงการค้าส่ง เปิดโมเดลใหม่ “Hybrid Wholesale”
- ↑ CP ซุ่ม “Hybrid Wholesale” ผสาน“แม็คโคร-โลตัสมอลล์”
- ↑ ดีเดย์ 5 ต.ค. ซีพีแอ็กซ์ตร้า เปิดห้างไฮบริด ‘แม็คโครxโลตัสมอลล์’ สาขาแรกสมุทรปราการ
- ↑ ฐานเศรษฐกิจ (2024-02-15). "CPAXT ซีนเนอร์ยีกลุ่ม ควบรวม"เอก-ชัยฯ"ตั้งบริษัทใหม่ หลังรับโอนโลตัสส์". thansettakij.
- ↑ "โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จดทะเบียนเลิกกิจการแล้ว-เดินหน้าชำระบัญชี". ประชาชาติธุรกิจ. 1 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ จำนวนสาขา
- ↑ "มาแล้ว! "โลตัส พรีเว่" สาขาแรกกับคอนเซปต์ "พรีเมียมที่จับต้องได้" อัดสินค้านำเข้าดึงลูกค้า". Positioning Magazine (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2023-01-11.
- ↑ เปิดแล้ว แม็คโคร-โลตัส มอลล์ สาขาแรกที่ สมุทรปราการ โมเดลห้างแบบใหม่ของ “ซีพี”
- ↑ "Tesco urged to drop use of sow stalls in its Thai operations". www.farminguk.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 9 May 2019.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เทสโก้ โลตัส ประกาศยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทย ภายใต้นโยบายการจัดหาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2020-08-03.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- โลตัส เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
เจริญโภคภัณฑ์อาหาร |
| ||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ซีพี ออลล์ |
| ||||||||||||
ทรู คอร์ปอเรชั่น |
| ||||||||||||
บริษัทภายใต้การบริหารของกลุ่มทรู |
| ||||||||||||
ธุรกิจอื่น ๆ |
| ||||||||||||
ส่วนที่เกี่ยวข้อง | |||||||||||||
ผู้บริหารระดับสูง |