แม่พระปฏิสนธินิรมล
พระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล หรือ แม่พระปฏิสนธินิรมล[1] (อังกฤษ: Immaculate Conception of Mary; ละติน: immaculata conceptio) เป็นความเชื่อในคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่ว่าพระนางมารีย์พรหมจารีทรงปฏิสนธิโดยปราศจากมลทินใด ๆ [2] ของบาปกำเนิด[3] ความเชื่อนี้นับเป็นหนึ่งในสี่คำสอนต้องเชื่อในมารียวิทยาในคริสตจักรโรมันคาทอลิก ด้วยเหตุนี้ในงานศิลปะบางครั้งจึงเรียกพระนางมารีย์พรหมจารีว่า อิมมากูลาตา (Immaculata: ผู้นิรมล)[4]
คำสอนต้องเชื่อที่คริสตจักรโรมันคาทอลิกประกาศนั้นระบุว่า "พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ ด้วยทรงคำนึงถึงประโยชน์แก่พระเยซูคริสต์พระผู้ไถ่มวลมนุษยชาติ จึงประทานพระหรรษทานและเอกสิทธิ์ให้พระนางมารีย์พรหมจารีพ้นจากมลทินของบาปกำเนิดทั้งปวงมาตั้งแต่ตอนปฏิสนธิ"[2] ด้วยการปราศจากบาปกำเนิดนี้ จึงถือกันว่านางเป็นผู้เปี่ยมด้วยพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกรมาตั้งแต่ต้น ซึ่งตามปกติถ้าเป็นผู้อื่นจะได้รับหลังจากรับศีลล้างบาป
คริสตจักรโรมันคาทอลิกยังถือว่าแม่พระปฏิสนธินิรมลเป็นองค์อุปถัมภ์นักปรัชญา[5] และจัดให้มี "วันสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล" ตรงกับวันที่ 8 ธันวาคมของทุกปี[1]
มุมมองของคริสตจักรอื่น
[แก้]นิกายแองกลิคัน
[แก้]แม้ว่าชาวแองโกล-คาทอลิกจะเชื่อเรื่องแม่พระปฏิสนธินิรมล แต่ความเชื่อนี้กลับไม่เป็นที่ยอมรับในนิกายแองกลิคัน[6] ในหนังสือภาวนา "พิธีนมัสการทั่วไป" ของคริสตจักรแห่งอังกฤษ ถือว่าวันที่ 8 ธันวาคมเป็นเทศกาลฉลอง "การปฏิสนธิของพระนางพรหมจารีมารี" (ไม่มีคำว่านิรมล)[7]
รายงานเรื่อง "พระแม่มารีย์ ศรัทธาและความหวังในพระคริสต์" ของคณะกรรมการสากลแองกลิคัน-โรมันคาทอลิก สรุปว่าคำสอนเกี่ยวกับพระแม่มารีย์เรื่องแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์และแม่พระปฏิสนธินิรมลนั้นนับว่าสอดคล้องกับคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลและธรรมประเพณีโบราณที่ถือสืบกันมา[8] แต่รายงานนี้ก็แสดงความกังวลหากคริสตจักรโรมันคาทอลิกจะตีความคำสอนนี้ว่าเป็น "พระวิวรณ์จากพระเจ้า" จึงระบุว่า "อย่างไรก็ตามชาวแองกลิคันสงสัยว่าหลักความเชื่อนี้จะมาจากพระเจ้าจนเราต้องถือว่าเป็นความศรัทธาด้วยหรือไม่"[9]
นิกายโปรเตสแตนต์
[แก้]มาร์ติน ลูเทอร์ผู้เริ่มต้นการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์กล่าวว่า "พระแม่มารีย์เปี่ยมด้วยพระคุณ เป็นผู้ปราศจากบาปโดยสิ้นเชิง พระคุณของพระเจ้าทำให้ท่านเปี่ยมด้วยสิ่งดีทุกอย่าง และปราศจากสิ่งชั่วร้ายทั้งมวล[10] แต่พอปี ค.ศ. 1532 เขากลับปฏิเสธเรื่องแม่พระปฏิสนธินิรมลโดยกล่าวว่า "มารีย์ก็ปฏิสนธิในบาปดังเช่นพวกเราทั้งหลาย" [11] แต่ชาวลูเทอแรนบางคน เช่น สมาชิกของคริสตจักรแองโกล-ลูเทอแรนคาทอลิก กลับยังยอมรับหลักความเชื่อนี้
ชาวโปรเตสแตนต์ส่วนมากปฏิเสธหลักความเชื่อนี้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่มาจากพัฒนาการของเทววิทยาสิทธันต์ ซึ่งไม่น่าเชื่อถือเว้นแต่จะมีนัยวิเคราะห์ได้จากคัมภีร์ไบเบิล และหลักความเชื่อนี้ก็ไม่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลเลย[12] การที่คริสตจักรโรมันคาทอลิกประกาศอย่างเป็นทางการรับรองการปฏิสนธินิรมลของพระแม่มารีย์ในปี ค.ศ. 1854 จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับฝ่ายโปรเตสแตนต์บางคริสตจักรขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะความเชื่อนี้สื่อความได้ว่าไม่ใช่ทุกคนเป็นคนบาป[13]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 สมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล 8 ธันวาคม. มิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ. เรียกข้อมูลวันที่ 19 ส.ค. พ.ศ. 2554
- ↑ 2.0 2.1 "Encyclical Ineffabilis Deus of Pope Pius IX". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-14. สืบค้นเมื่อ 2011-08-20.
- ↑ Encyclical Ad diem illum of Pope Pius X
- ↑ Mark Miravalle, 1993, Introduction to Mary, Queenship Publishing ISBN 9781882972067 page 64-70
- ↑ Patron Saints: P. Catholic Online
- ↑ Our Lady Saint Mary by J.G.H. Barry, 2008, ISBN 0554243326, pages 25-27
- ↑ Common Worship: Festivals (Church House Publishing, Church of England ISBN 978-0-7151-2114-6), p. 20
- ↑ Ecumenical Affairs - Dialogues - Anglican Roman Catholic Paragraph 78 - Accessed 8 December 2008
- ↑ Ecumenical Affairs - Dialogues - Anglican Roman Catholic Paragraph 60 - Accessed 8 December 2008
- ↑ Luther's Works, American edition, vol. 43, p. 40, ed. H. Lehmann, Fortress, 1968
- ↑ Gregory Lee Jackson Catholic, Lutheran, Protestant: A Doctrinal Comparison ( 1993 ISBN 9780615166353), p. 249
- ↑ The Protestant faith by George Wolfgang Forell 1962 ISBN 0800610954 page 23
- ↑ 'Jesus in history, thought, and culture: an encyclopedia, Volume 1 by James Leslie Houlden 2003 ISBN 1576078566 page