การยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกในประเทศไทย
บทความนี้มีข้อมูลไม่เป็นแก่นสารหรือปลีกย่อยเป็นอันมาก (ตุลาคม 2020) |
การยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกในประเทศไทย เป็นการยุติการแพร่สัญญาณออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกในประเทศไทย ที่ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2563 โดยสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเดิมทั้ง 6 ช่องในประเทศไทย จะทำการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล นับเป็นยุคใหม่ของโทรทัศน์ในประเทศไทย จากนั้น กสทช. จะได้นำคลื่น 700 MHz ที่ใช้งานกับระบบแอนะล็อกเดิมและระบบดิจิทัลชั่วคราว กลับมาจัดสรรใหม่ให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับระบบ 5 จี ต่อไป
ประวัติ
[แก้]ในปี พ.ศ. 2558 สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International Telecommunications Union; ชื่อย่อ: ITU) ประกาศให้ทั่วโลกยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก[1] และกลุ่มประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็ได้เห็นพ้องต้องกันให้ยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกภายในปี พ.ศ. 2563[2] ทำให้ประเทศไทยซึ่งกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์โดย กสทช. ต้องดำเนินการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบแอนะล็อกเป็นระบบดิจิทัล โดย กสทช. ได้ดำเนินการประมูลโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในปี พ.ศ. 2556 และเริ่มออกอากาศตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา แต่ยังไม่ได้ยุติระบบแอนะล็อก เพราะหากยุติกะทันหันจะส่งผลกระทบให้ผู้ที่รับชมผ่านระบบแอนะล็อกซึ่งเป็นส่วนมากของประเทศไม่สามารถรับชมได้ จึงทำให้ต้องมีการแบ่งการยุติการออกอากาศเป็นช่วง ๆ[3] โดยมอบหมายให้สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเดิมทั้ง 6 ช่อง ไปจัดทำแผนแม่บทการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกในปี พ.ศ. 2558 และมีโครงการแจกคูปองสำหรับกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลรุ่น DVB-T2 ในพื้นที่ที่มีสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลครอบคลุมตั้งแต่ 80% ขึ้นไป[2]
ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557 ซึ่ง กสทช. กำหนดเป็นวันเริ่มต้นออกใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่แก่สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ก็ได้เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากผู้รับสัมปทานของไทยทีวีสีช่อง 3 คือ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (บีอีซี) เป็นคนละนิติบุคคลกับผู้รับใบอนุญาตของช่อง 3 ดิจิทัล คือ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด จึงไม่สามารถนำรายการทั้งหมดจากไทยทีวีสีช่อง 3 มาออกอากาศคู่ขนานทางช่อง 3 ดิจิทัลได้
ต่อมาในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557 กสทช. เพิกถอนโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกจากส่วนให้บริการทั่วไป จึงต้องยุติการออกอากาศไทยทีวีสีช่อง 3 ทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลตามที่กฎหมายกำหนดตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน[4] ช่อง 3 อาศัยความในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 27/2557 ประกอบกับความในสัญญาสัมปทานโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกซึ่งทำไว้กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (บมจ.อสมท) จนถึงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 เพื่อรักษาสิทธิในการออกอากาศตามเดิม[5] วันต่อมา (3 กันยายน) กสทช. ทำหนังสือถึงผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีให้งดการออกอากาศไทยทีวีสีช่อง 3 ภายใน 15 วัน แต่ได้เสนอความช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อนำสัญญาณจากไทยทีวีสีช่อง 3 มาออกอากาศคู่ขนานทางช่อง 33[6] ต่อมาช่อง 3 นำความขึ้นร้องต่อศาลปกครอง ผลคือในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ศาลปกครองสูงสุดทำข้อตกลงให้บีอีซี-มัลติมีเดีย นำเนื้อหาและสัญญาณทั้งหมดจากไทยทีวีสีช่อง 3 ของบีอีซี ไปออกอากาศคู่ขนานในระบบโทรทัศน์ความละเอียดสูงทางช่องหมายเลข 33 ของตนในระบบดิจิทัลภายในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16:30 น.[7] ทั้งนี้ช่อง 3 แอนะล็อก ได้ออกอากาศในระบบดิจิทัลภาคพื้นดินความละเอียดสูงทางช่องหมายเลข 33 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลา 20:15 น. โดยเริ่มจากรายการคืนความสุขให้คนในชาติเป็นรายการแรก[8] บีอีซี-มัลติมีเดียจึงถอนรายการต่าง ๆ ที่ออกอากาศทางช่อง 33 เดิม ออกมาจัดแบ่งออกอากาศทางช่อง 28 และช่อง 13 แทน
15 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เห็นชอบแผนการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกของสถานีโทรทัศน์เจ้าของอุปกรณ์รวมส่งสัญญาณ 4 แห่ง คือสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี, สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งส่งมาแล้วก่อนหน้านี้ และมอบหมายให้ กสทช. เร่งรัดการส่งแผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดแผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ของประเทศไทย ก่อนนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป[9]
ต่อมาในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก คู่สัญญาสัมปทานของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้แจ้งแนวทางเบื้องต้นในการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกของช่อง 7 สี แก่ กสท. เพื่อลดต้นทุนสำหรับการออกอากาศในอนาคต[10] และ กสท. ได้อนุมัติแผนการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ปีเดียวกัน[11] ทั้งนี้ พันธะผูกพันต่าง ๆ ของช่อง 7 สี ในฐานะคู่สัญญาสัมปทานกับกรมการทหารสื่อสาร กองทัพบกนั้น ยังคงมีอยู่จนกว่าจะหมดสัญญาสัมปทาน[12]
ต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 กสทช. ได้มีมติให้ยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ 5 ช่องก่อนหน้าได้ยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกทั้งหมดแล้วก่อนหน้า เพื่อให้เป็นไปในทำนองเดียวกัน กสทช. จึงมีมติให้วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ถือเป็นวันสิ้นสุดการออกอากาศระบบแอนะล็อก และมีมติให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ยกเลิกการออกอากาศคู่ขนานกับระบบดิจิทัลความละเอียดสูงทางช่อง 33 โดยให้แยกผังรายการออกจากกันอย่างชัดเจน[13] แต่กลุ่มบีอีซีเวิลด์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านมติ เนื่องจากยังไม่สามารถยกเลิกการออกอากาศไทยทีวีสีช่อง 3 ในระบบแอนะล็อกได้เพราะบีอีซียังไม่หมดสัญญาสัมปทานซึ่งทำไว้กับ บมจ.อสมท ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานได้ รวมถึงขัดกับข้อตกลงที่ทำกันในศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ช่อง 3 รับมติของ กสทช. 3 เรื่อง และ 1 ในนั้นคือการให้แยกตราสัญลักษณ์ของสถานีออกจากกัน[14] โดยช่อง 3 แสดงสัญลักษณ์ของระบบแอนะล็อกไว้ที่มุมล่างขวา ในขณะที่ระบบดิจิทัลยังคงแสดงไว้ที่ตำแหน่งมุมบนขวาตามเดิม[15]
และเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 บีอีซีได้สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับ บมจ.อสมท เป็นผลทำให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ทำการยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อกทั่วประเทศในวันดังกล่าว รวมระยะเวลาในการออกอากาศระบบแอนะล็อกทั้งสิ้น 50 ปี และถือเป็นการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากเป็นสถานีโทรทัศน์ของไทยช่องสุดท้ายที่ยุติการออกอากาศในระบบนี้[16]
ลำดับการยุติการออกอากาศ
[แก้]สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเดิม 5 ช่องในประเทศไทย (ยกเว้นไทยทีวีสีช่อง 3) ได้วางแผนการยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อกในลักษณะ "ป่าล้อมเมือง" โดยยุติไล่จากสถานีส่งของอำเภอไปจนถึงสถานีส่งของจังหวัด ไล่จากสถานีเสริมไปจนถึงสถานีหลัก และไล่จากพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่เบาบางไปจนถึงพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น[17] โดยตามแผนของแต่ละช่อง สรุปโดย กสทช. แบ่งการยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อกได้ดังนี้[18]
- พ.ศ. 2558 มี 1 ช่องที่ยุติระบบแอนะล็อกในปีนี้ คือ ไทยพีบีเอส
- ไทยพีบีเอส ยุติในวันที่ 1 ธันวาคม จากสถานีส่ง 2 แห่ง
- พ.ศ. 2559 มี 3 ช่องที่ยุติระบบแอนะล็อกในปีนี้ คือ ททบ.5, สทท.11 และไทยพีบีเอส
- ททบ.5 ยุติในวันที่ 30 พฤศจิกายน จากสถานีส่ง 2 แห่ง
- สทท.11 ยุติในวันที่ 31 ธันวาคม จากสถานีส่ง 1 แห่ง
- ไทยพีบีเอส แบ่งยุติจำนวน 6 ระยะ รวม 26 แห่ง ดังนี้
- วันที่ 31 มกราคม จำนวน 1 แห่ง
- 31 พฤษภาคม จำนวน 1 แห่ง
- 16 มิถุนายน จำนวน 9 แห่ง
- 12 กรกฎาคม จำนวน 2 แห่ง
- 30 พฤศจิกายน จำนวน 2 แห่ง
- 31 ธันวาคม จำนวน 11 แห่ง
- พ.ศ. 2560 มี 4 ช่องที่ยุติระบบแอนะล็อกในปีนี้ คือ ททบ.5, สทท.11, ไทยพีบีเอส และช่อง 7 สี
- ททบ.5 แบ่งยุติจำนวน 3 ระยะ รวม 6 แห่ง ดังนี้
- 1 มกราคม จำนวน 2 แห่ง
- 1 มีนาคม จำนวน 1 แห่ง
- 31 ธันวาคม จำนวน 3 แห่ง
- สทท.11 ยุติในวันที่ 31 ธันวาคม จำนวน 37 แห่ง[19]
- ไทยพีบีเอส แบ่งยุติจำนวน 2 ระยะ รวม 21 แห่ง ดังนี้
- 16 มิถุนายน จำนวน 12 แห่ง
- 31 ธันวาคม จำนวน 9 แห่ง
- ช่อง 7 สี แบ่งยุติจำนวน 2 ระยะ รวม 17 แห่ง ดังนี้
- 1 สิงหาคม จำนวน 4 แห่ง
- 31 ธันวาคม จำนวน 13 แห่ง
- ททบ.5 แบ่งยุติจำนวน 3 ระยะ รวม 6 แห่ง ดังนี้
- พ.ศ. 2561 มี 5 ช่องที่ยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกอย่างสมบูรณ์ดังนี้
- โมเดิร์นไนน์ทีวี แบ่งยุติจำนวน 2 ระยะ ครบทั้ง 36 แห่ง ดังนี้[20]
- 15 เมษายน เวลา 18:30 น. จำนวน 13 แห่ง
- 16 กรกฎาคม เวลา 18:30 น. จำนวน 23 แห่ง รวมถึงสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์หลักบนอาคารใบหยก 2 ในกรุงเทพมหานครด้วย นับเป็นการยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกอย่างสมบูรณ์ของโมเดิร์นไนน์ทีวี และถือเป็นการยุติการออกอากาศในระบบวีเอชเอฟของโทรทัศน์ไทยด้วย เพราะหลังจากนั้นเหลือเพียงไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งออกอากาศเฉพาะระบบยูเอชเอฟ
- ททบ.5 ยุติในวันที่ 21 มิถุนายน เวลา 9:29 น.[21] จำนวน 32 แห่ง รวมถึงสถานีส่งหลักด้วย นับเป็นการยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกอย่างสมบูรณ์ของ ททบ.5[22]
- สทท.11 ยุติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 00:01 น. จำนวน 12 แห่ง รวมถึงสถานีส่งหลักด้วย นับเป็นการยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกอย่างสมบูรณ์ของ สทท.11[19]
- ไทยพีบีเอส ยุติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน เวลา 00:01 น. จำนวน 3 แห่ง รวมถึงสถานีส่งหลักด้วย นับเป็นการยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกอย่างสมบูรณ์ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส[23]
- ช่อง 7 สี ยุติเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน เวลา 00:01 น. จำนวน 20 แห่ง รวมถึงสถานีส่งหลักด้วย นับเป็นการยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกอย่างสมบูรณ์ของช่อง 7 สี
- โมเดิร์นไนน์ทีวี แบ่งยุติจำนวน 2 ระยะ ครบทั้ง 36 แห่ง ดังนี้[20]
- พ.ศ. 2563 มี 1 ช่องที่ยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกอย่างสมบูรณ์ดังนี้
- ไทยทีวีสีช่อง 3 ยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อกจากสถานีส่งทั้ง 32 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงสถานีส่งหลักด้วย เมื่อเวลา 00:01 น. ของวันที่ 26 มีนาคม รวมระยะเวลาในการออกอากาศระบบแอนะล็อกทั้งสิ้น 50 ปี ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสัมปทานกิจการส่งโทรทัศน์สีระหว่างบีอีซีกับ บมจ.อสมท และถือเป็นการยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากเป็นสถานีโทรทัศน์ของไทยช่องสุดท้ายที่ยุติการออกอากาศในระบบนี้[16]
สถานีโทรทัศน์ที่สืบเนื่อง
[แก้]- สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 → ช่อง 3 เอชดี (หมายเลข 33)
- สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 → ททบ.5 เอชดี (หมายเลข 5)
- สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 → ช่อง 7 เอชดี (หมายเลข 35)
- สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี → ช่อง 9 MCOT HD (หมายเลข 30)
- สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย → NBT 2HD (หมายเลข 2)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กรมประชาสัมพันธ์ (18 สิงหาคม 2008). "การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบโทรทัศน์ดิจิทัลสำหรับประเทศไทย" (PDF). www.prd.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2020.
- ↑ 2.0 2.1 กสทช. ร่วมกับ ITU (4 ธันวาคม 2014). "สถานะการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินในประเทศไทย" (PDF). www.itu.int. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2020.
- ↑ ไทยรัฐ (2 พฤศจิกายน 2012). "กสทช.เดินหน้าทีวีดิจิตอลเฟสแรกปี 56-ยุติอนาล็อก 58". www.thairath.co.th. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2020.
- ↑ มติ กสท.ไม่ต่ออายุช่อง3ออกดาวเทียม-เคเบิล, เนชั่น, 3 กันยายน 2557.
- ↑ “ช่อง 3” แถลงอ้างคำสั่ง “คสช.” ปกป้อง[ลิงก์เสีย], ผู้จัดการ, 3 กันยายน 2557.
- ↑ "กสท.แจ้งดาวเทียม-เคเบิลห้ามออกอากาศช่อง3". โพสต์ทูเดย์. 3 กันยายน 2014.
- ↑ จบด้วยดี! กสท.อนุมัติ ช่อง 3 ออกอากาศคู่ขนาน เริ่มคืนนี้, ไทยรัฐ, 30 ตุลาคม 2557.
- ↑ "ช่อง 3 HD เริ่มออกอากาศคู่ขนานกับช่อง 3 (คืนความสุขฯ / Flash News / ร้ายรักพยัคฆ์กังฟู) (10 ต.ค. 57)". ยูทูบ. 10 ตุลาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2021.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ กรุงเทพธุรกิจ (15 มิถุนายน 2015). "กสท.ไฟเขียวแผนหยุดระบบอนาล็อกฟรีทีวี". www.bangkokbiznews.com. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2020.
- ↑ มติชน (5 พฤษภาคม 2017). "ช่อง 7 ส่งแผนยุติออกอากาศทีวีอนาล็อก เริ่ม 15 มิ.ย.นี้ กสท.เล็งเจรจาช่องอื่นต่อ". matichon.co.th. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
- ↑ มติชน (19 มิถุนายน 2017). "กสท.อนุมัติแผนช่อง 7 ทยอยยุติออกอากาศทีวีอนาล็อก เริ่ม 1 ส.ค.60". matichon.co.th. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
- ↑ กสทช.แจง "ช่อง7" ทยอยยุติทีวีอนาล็อก มิ.ย.นี้ กรุงเทพธุรกิจ.
- ↑ Positioning Magazine (9 กรกฎาคม 2018). "ช่อง 3 กระอัก! กสทช.สั่งยกเลิกออกอากาศคู่ขนาน มีผล 17 ก.ค." positioningmag.com. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
- ↑ Positioning Magazine (15 กรกฎาคม 2018). "จับตาช่อง 3 HD ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลัง กสทช.ให้ใช้ผังเดียวกับกับแอนะล็อกแต่ต้องแสดงสิทธิในการเป็นผู้บริหารช่องเอง แสดงรายได้แยกชัดเจน". positioningmag.com. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
- ↑ TV Digital Watch (20 กรกฎาคม 2018). "หน้าจอใหม่ช่อง 3 แอนะล็อก และช่อง 3 HD". www.tvdigitalwatch.com. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
- ↑ 16.0 16.1 ผู้จัดการออนไลน์ (24 มีนาคม 2020). "ช่อง 3 ยุติแอนะล็อก ยกสินทรัพย์คืน อสมท". mgronline.com.com. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
- ↑ ประชาชาติธุรกิจ (16 มิถุนายน 2018). "Bye Bye "ทีวีแอนะล็อก"". www.prachachat.net. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
- ↑ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (19 มิถุนายน 2017). "แผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก". nbtc.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
- ↑ 19.0 19.1 "ช่อง 11 หรือ NBT" สถานีโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก 50 สถานี ยุติแล้ว 38 สถานี ยังออกอากาศ 12 สถานี (ข้อมูล ณ วันที 26 กุมภาพันธ์ 2561), Facebook ของสำนักวิศวกรรมและเทคโนโลยีกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช.
- ↑ Janghet Chumphon (20 มีนาคม 2018). "ปิดตำนานอนาล็อก!! โมเดิร์นไนน์ นับถอยหลังยุติออกอากาศ แบ่งกำหนดการเป็น 2 ระยะ!!". www.janghetchumphon.com. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.[ลิงก์เสีย]
- ↑ เช้าวันนี้ (21 มิถุนายน 2561) สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ยุติแอนะล็อกทีวี ณ สถานีเครื่องส่งโทรทัศน์ กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก แยกสะพานแดง ถนนพระราม 5 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 09.29 น. ซึ่งถือเป็นสถานีเครื่องส่งแอนะล็อกทีวีสถานีสุดท้ายของ ททบ.5,สำนักวิศวกรรมและเทคโนโลยีกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช.
- ↑ อัปเดต: ThaiPBS, ช่อง 7, ช่อง 5 ยุติทีวีอนาล็อกเมื่อไหร่กันแน่? เก็บถาวร 21 มิถุนายน 2018 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,ยามเฝ้าจอ.
- ↑ 16 มิ.ย. นี้ ไทยพีบีเอสยุติการส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก 3 สถานี
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ กสทช. เก็บถาวร 18 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน