ยาแก้ซึมเศร้า
ยาแก้ซึมเศร้า[1] (อังกฤษ: Antidepressant) เป็นยาเพื่อรักษาโรคซึมเศร้าและโรคอื่น ๆ รวมทั้ง dysthymia, โรควิตกกังวล, โรคย้ำคิดย้ำทำ, ความผิดปกติในการรับประทาน (eating disorder), ความเจ็บปวดเรื้อรัง, ความเจ็บปวดเหตุประสาท (neuropathic pain), และในบางกรณี อาการปวดระดู การกรน โรคไมเกรน โรคสมาธิสั้น การติด การติดสารเสพติด และความผิดปกติในการนอน โดยสามารถใช้เดี่ยว ๆ หรือรวมกับยาชนิดอื่น ๆ ตามที่แพทย์สั่ง
กลุ่มยาแก้ซึมเศร้าที่สำคัญที่สุดรวมทั้ง selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs), serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs), tricyclic antidepressants (TCAs), monoamine oxidase inhibitors (MAOIs), reversible monoamine oxidase A inhibitors (rMAO-A inhibitors), tetracyclic antidepressants (TeCAs), และ noradrenergic and specific serotonergic antidepressant (NaSSAs)[2] โดยมียาสมุนไพรจากพืช Hypericum perforatum (St John's wort) ที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าเหมือนกัน[2][3]
การใช้ทางการแพทย์
[แก้]สำหรับความซึมเศร้า ผู้พยาบาลบ่อยครั้งใช้แบบวัด Hamilton Depression Rating Scale (HAM-D) เพื่อวัดความหนักเบาของโรคซึมเศร้า[4] คะแนนสูงสุดของแบบวัดที่มี 17 คำถามก็คือ 52 และคะแนนยิ่งสูงเท่าไร โรคก็รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ในประเทศไทย กรมสุขภาพจิตกำหนดให้สถานพยาบาลขั้นปฐมภูมิใช้แบบวัดทั้งแบบ 2 คำถาม และ 9 คำถาม โดยคะแนนที่สูงกว่า 7 ในแบบวัด 9 คำถามแสดงว่าต้องมีการตรวจสอบอย่างอื่น ๆ ต่อไป[5]
โรคซึมเศร้า
[แก้]แนวทางการรักษา (สหราชอาณาจักร)
[แก้]แนวทางขององค์การสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร (NICE) ปี 2552 ชี้ว่า ยาแก้ซึมเศร้าไม่ควรใช้รักษาเป็นปกติในขั้นเบื้องต้นสำหรับโรคขั้นเบา เพราะว่า อัตราส่วนความเสี่ยง-ประโยชน์ไม่ดี และแนะให้พิจารณาใช้ยาในกรณีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- บุคคลที่มีประวัติโรคซึมเศร้าขั้นปานกลางหรือหนัก
- บุคคลที่มีโรคเบาแต่มีเป็นระยะเวลานาน
- เป็นการรักษาลำดับที่สองสำหรับโรคขั้นเบาแต่คงยืนแม้รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้ว
- เป็นการรักษาลำดับแรกสำหรับโรคขั้นปานกลางและหนัก
แนวทางยังกล่าวเพิ่มว่า ยาควรใช้ร่วมกับการแทรกแซงทางจิต-สังคมในกรณีโดยมาก และควรใช้ยาต่ออย่างน้อย 6 เดือนหลังโรคบรรเทาเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ และว่า คนไข้ทนยอมรับยากลุ่ม SSRIs ได้ดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ[6]
ส่วนแนวทางรักษาของสมาคมจิตเวชอเมริกัน (APA) แนะนำว่า การรักษาลำดับต้นควรจะปรับให้เหมาะสมกับปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งความรุนแรงของอาการ โรคที่มีร่วมกัน ประสบการณ์การรักษาในอดีต และความชอบใจของคนไข้ ทางเลือกการรักษารวมทั้งการใช้ยา จิตบำบัด การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (ECT) การกระตุ้นด้วยสนามแม่เหล็กผ่านกะโหลก (TMS) หรือการรักษาด้วยแสง และแนะนำให้ใช้ยาเป็นทางเลือกลำดับต้นสำหรับโรคขั้นเบา ปานกลาง และหนัก แต่ควรให้กับคนไข้หนักทุกคนยกเว้นถ้าจะรักษาด้วย ECT[7]
แนวทางการรักษาสำหรับแพทย์ทั่วไป (ประเทศไทย)
[แก้]ในปี 2553 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดพิมพ์ แนวทางการจัดการโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ (CPG-MDD-GP) ซึ่งมีข้อแนะนำที่สรุปเกี่ยวกับยาแก้ซึมเศร้าดังจะกล่าวต่อไป[8] ให้สังเกตว่า อักษรโรมันหน้ารายการเป็นตัวบ่งความหนักแน่นของหลักฐานตามลำดับ โดย A มีหลักฐานหนักแน่นที่สุด และ D น้อยที่สุด[9]
- (A) ยาแก้ซึมเศร้าที่ควรพิจารณาเพื่อรักษาเป็นลำดับแรกคือยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI)
- (B) ควรเริ่มด้วยยา SSRI ในขนาดต่ำ โดยเริ่มต้นแนะนำฟลูอ๊อกซิตินขนาด 20 มก./วัน หรือ sertraline 50 มก./วัน หรือ paroxetine 10 มก./วัน
- (A) ควรให้ยาแก่ผู้ป่วยหนักปานกลางจนถึงรุนแรง และหลังจากทุเลาในแต่ละคราวซึมเศร้า (episode) แล้วควรให้ยาต่อเนื่องอย่างน้อย 6-9 เดือน
- (D) ลำดับการยุติรักษาด้วยยา คือ ถ้าคะแนนจากการประเมินด้วยแบบ 9 คำถาม (9Q) น้อยกว่า 7 เป็นระยะเวลา 6 เดือนติดต่อกัน จะถือว่าทุเลาอย่างสมบูรณ์ ให้ค่อย ๆ ลดยาประมาณ 25-50% ลงทุก ๆ 2 สัปดาห์ ขณะลดยาควรประเมินด้วยแบบ 9Q ทุกครั้ง
- (B) ผู้ป่วยที่ทานยาแก้ซึมเศร้าร่วมกันมากกว่าหนึ่งชนิดจะมีผลข้างเคียงจากยามากกว่ายาเพียงชนิดเดียว และอาจเกิดภาวะพิษยา
- (B) ยาแก้ซึมเศร้าชนิดต่าง ๆ สามารถใช้ร่วมกัน ในกรณีที่เป็นโรคแบบดื้อรักษา (treatment-resistant major depressive disorder ตัวย่อ trMDD) แต่ควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากยา
งานปริทัศน์เป็นระบบ
[แก้]มีผลขัดแย้งกันจากงานที่วิเคราะห์ประสิทธิผลของยาแก้ซึมเศร้าเปรียบเทียบกับยาหลอกในบุคคลที่มีโรคขั้นอ่อนถึงปานกลาง แต่มีหลักฐานที่ชัดเจนกว่าสำหรับโรคขั้นหนัก หรือว่า dysthymia ที่เรื้อรัง
งานวิจัยปี 2545 ค้านว่ายามีผลบรรเทาความซึมเศร้า โดยอ้างว่า หลักฐานแสดงว่ามีฤทธิ์เหมือนยาหลอก[10] นี่เป็นงานวิเคราะห์อภิมานที่รวมข้อมูลจากทั้งงานศึกษาที่ตีพิมพ์ และข้อมูลที่ไม่ได้ตีพิมพ์แต่ได้จากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) เป็นข้อมูลที่ได้ผ่านกฎหมายบังคับให้เปิดเผยข้อมูลควบคุมโดยรัฐบาล (Freedom of Information Act) ซึ่งสรุปว่า โดยทั่วไปแล้ว ยาแก้ซึมเศร้าทำงานได้ดีกว่ายาหลอก 18% ซึ่งแม้จะมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ก็ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก[11] และในปี 2551 นักวิจัยคนเดียวกันก็สรุปอีกว่า ผลทั่วไปของยาแก้ซึมเศร้ารุ่นใหม่ก็ยังอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ว่ามีนัยสำคัญทางคลินิก[12]
งานศึกษาปี 2553 ที่พุ่งความสนใจไปที่ paroxetine และ imipramine พบว่า ยาแก้ซึมเศร้าดีกว่ายาหลอกเพียงแค่เล็กน้อยในกรณีของโรคขั้นอ่อนจนถึงปานกลาง แต่ว่ามีผลสำคัญ (substantial) ในโรคขั้นหนัก[13]
ในปี 2557 FDA สหรัฐพิมพ์งานปฏิทัศน์เป็นระบบของการทดลองใช้ยาแก้ซึมเศร้าเพื่อดำรงสภาพ (maintenance) ที่ส่งให้กับองค์การในช่วงปี 2528-2555 ซึ่งผู้เขียนสรุปว่า การรักษาเพื่อดำรงสภาพลดความเสี่ยงการเกิดโรคอีก 52% เทียบกับยาหลอก และผลต่างที่ว่านี้เป็นเพราะการเกิดโรคซ้ำ ๆ ในกลุ่มยาหลอก ไม่ใช่ผลจากการหยุดยา[14]
ส่วนงานทบทวนวรรณกรรมปี 2552 ที่องค์การสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร (NICE) มอบหมายให้ทำสรุปว่า มีหลักฐานที่เข้มแข็งว่า SSRIs มีประสิทธิผลลดอาการซึมเศร้ามากกว่ายาหลอก 50% ในโรคขั้นปานกลางและหนัก และมีหลักฐานบ้างถึงผลคล้าย ๆ กันในโรคขั้นอ่อน แนวทางการรักษาที่พัฒนาร่วมกับงานทบทวนแสดงว่า ยาควรพิจารณาใช้ในคนไข้ที่มีโรคขั้นกลางจนถึงหนัก และที่มีโรคขั้นอ่อนแต่ว่าคงยืนหรือว่าดื้อการรักษาแบบอื่น ๆ[15]
งานปริทัศน์เป็นระบบแบบคอเครนในปี 2555 ที่ตรวจการทดลองทางคลินิกของยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม tricyclic คือ amitriptyline สรุปว่า แม้ว่าจะมีหลักฐานพอสมควรว่ามีความเอนเอียงในการตีพิมพ์ (คืองานที่แสดงผลบวกมักจะตีพิมพ์มากกว่า) แต่ก็ยังมีหลักฐานที่เข้มแข็งว่าประสิทธิผลของ amitriptyline ดีกว่ายาหลอก[16]
งานปริทัศน์เป็นระบบปี 2558 ที่ตรวจดูการรักษาแบบเพิ่มสำหรับโรคที่ดื้อการรักษาสรุปว่า ยา quetiapine และ aripiprazole มีหลักฐานที่เข้มแข็งที่สุดว่ามีประสิทธิผล แต่ว่าก็สัมพันธ์กับผลข้างเคียงที่เพิ่มขึ้นด้วย[17]
งานทบทวนวรรณกรรมแบบคอเครนปี 2551 ของยาสมุนไพรจากพืชสปีชีส์ Hypericum perforatum (St John's wort) และงานวิเคราะห์อภิมานปี 2558 ที่ทำโดยผู้เขียนเดียวกันบางส่วน ทั้งสองสรุปว่ายามีประสิทธิผลที่ดีกว่ายาหลอกเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า และมีประสิทธิผลเท่ากับยาแก้ซึมเศร้ามาตรฐานทั่วไป โดยมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาอื่น ๆ แต่ก็ยังสรุปด้วยว่า ยากที่จะแสดงคุณค่าของสมุนไพรเพื่อรักษาโรคเนื่องจากข้อจำกัดทางหลักฐาน รวมทั้งความแตกต่างทางประสิทธิผลในงานทดลองที่ทำในประเทศที่พูดภาษาเยอรมันซึ่งมากกว่าเทียบกับที่ทำในประเทศอื่น ๆ[2][3] ส่วน Reversible monoamine oxidase A inhibitor (rMAO-A inhibitors) ก็มีหลักฐานแสดงว่ามีประสิทธิผลในการรักษาโดยคนไข้อดทนรับได้ดีกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ[2] ถึงอย่างไรก็ดี มีหลักฐานแสดงประสิทธิผลของยากลุ่ม SSRIs, tricyclic และ tetracyclic เพื่อรักษาโรคซึมเศร้ามากกว่ามากเมื่อเทียบกับยาอื่น ๆ รวมทั้ง St John's wort, rMAO-A inhibitors, serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor, serotonin antagonist and reuptake inhibitors, noradrenaline reuptake inhibitors, และ noradrenergic and specific serotonergic antidepressant[2]
แต่ก็มีงานปี 2545 ในวารสาร JAMA ที่แสดงว่า แม้ว่าผลต่างของยาหลอกในการทดลองทางคลินิกของโรคซึมเศร้าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ว่าผลต่างของยาที่ใช้ทดลองกลับค่อนข้างจะสม่ำเสมอ ผู้เขียนเสนอว่า คำอธิบายที่เป็นไปได้ว่าทำไมผลต่างของยาหลอกจึงเพิ่มขึ้นในการทดลองก็คือ การรวมผู้ร่วมการทดลองจำนวนมากที่มีโรคแบบสั้น ๆ ขั้นอ่อน หรือการหายเองเพราะตราบาปทางสังคมเหตุใช้ยาแก้ซึมเศร้าได้ลดลง[18] ผลยาหลอกในการทดลองทางคลินิกของการรักษาทางเลือก (CAM) ต่ำกว่าที่พบในการทดลองยาแก้ซึมเศร้าแผนปัจจุบันอย่างสำคัญ[19]
งานทบทวนวรรณกรรมปี 2547 สรุปว่า งานศึกษาที่ไม่สนับสนุนข้ออ้างว่ายาแก้ซึมเศร้ามีประสิทธิผล จะมีโอกาสน้อยกว่ามากที่จะตีพิมพ์เทียบกับที่สนับสนุน[20] ซึ่งก็พบคล้าย ๆ กันในงานทบทวนการทดลองยาแก้ซึมเศร้าในเด็ก[21] งานวิเคราะห์อภิมานปี 2558 ที่ตรวจดูงานศึกษายาแก้ซึมเศร้าพบว่า 79% "ได้การสนับสนุนจากอุตสาหกรรม หรือผู้เขียนเป็นลูกจ้างของอุตสาหกรรม และ/หรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์"[22]
งานวิเคราะห์อภิมานปี 2556 พบว่า ฟลูอ๊อกซิติน และ venlafaxine มีประสิทธิผลต่อโรคซึมเศร้าในคนทุกวัย และไม่พบหลักฐานว่า ความรุนแรงของโรคสัมพันธ์กับระดับประโยชน์ที่ได้จากยานอกเหนือจากปรากฏการณ์ยาหลอก[23]
งานวิเคราะห์อภิมานปี 2551 ที่ตรวจการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (RCT) สรุปว่า อาการที่ดีขึ้นเนื่องจากยากลุ่ม SSRIs เกิดขึ้นมากที่สุดโดยสิ้นอาทิตย์แรกของการใช้ยา แต่ว่ามีอาการบางอย่างที่ดีขึ้นต่อ ๆ ไปจนถึงอาทิตย์ที่ 6[24]
การทดลอง STAR*D
[แก้]สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติสหรัฐ (National Institute of Mental Health) ได้ทำงานที่ใหญ่สุดและมีค่าใช้จ่ายสูงสุดในเรื่องประสิทธิผลของยาต่อโรคซึมเศร้าโดยปี 2555[25] เป็นงานที่เรียกว่า "ทางเลือกการรักษาตามลำดับเพื่อบรรเทาโรคซึมเศร้า (The Sequenced Treatment Alternatives to Relieve Depression)" (STAR*D) โดยผลที่ได้[26][27] จะแสดงย่อ ๆ ในที่นี้
คนไข้มาจากทั้งผู้ที่ไปหาหมอทั่วไปและหมอจิตเวช ไม่มีการโฆษณาหาคนไข้เพื่อที่จะให้ผลที่ได้สามารถขยายใช้ได้โดยทั่วไป ผู้ร่วมการทดลองต้องได้คะแนนอย่างน้อย 14 คะแนนจากแบบวัดความซึมเศร้า Hamilton Depression Scale แบบ 17 คำถาม (HAM-D17) เพื่อจะเข้าร่วม โดยทั่วไปแล้ว คะแนนระหว่าง 7-17 หมายถึงโรคขั้นอ่อน 18-24 เป็นโรคขั้นกลาง และ ≥ 24 เป็นโรคขั้นรุนแรง[28] และคะแนนเฉลี่ยของผู้ร่วมการทดลองอยู่ที่ 22
จุดสิ้นสุดหลักของการทดลองที่ได้กำหนดล่วงหน้าก็คือการทุเลาโรคตามกำหนดคะแนนจากแบบวัด โดยคนไข้ที่วัดไม่ครบจะกำหนดว่าไม่ตอบสนอง (non-responder) แต่หลังการทดลอง ผู้ตรวจสอบได้แสดงผลตามจุดทุเลาทุติยภูมิตามแบบวัด QIDS-SR16 Score เป็นหลัก ซึ่งมักจะมีค่าสูงกว่าแบบวัดแรก
- หลังจากการรักษาคอร์สแรก 27.5% ของผู้ร่วมการทดลอง 2,876 คนถึงจุดบรรเทาคือมีคะแนน HAM-D เท่ากับ 7 หรือน้อยกว่านั้น และ 33% ถึงจุดบรรเทาตามแบบวัด QIDS-SR ผู้ที่ตอบสนองตามคะแนนของ QIDS-SR16 อยู่ที่ 47% โดยมีผู้ร่วมการทดลอง 26% เลิกการรักษากลางคัน[29][30]
- หลังจากการรักษาคอร์สที่สอง 21-30% ของผู้ร่วมการทดลอง 1,439 ที่เหลือถึงจุดบรรเทา[27] และถ้าเปลี่ยนยา คนไข้ประมาณ 25% ก็จะถึงจุดบรรเทา[31]
- หลังจากการรักษาคอร์สที่สาม 17.8% ของผู้ร่วมการทดลอง 310 คนที่เหลือถึงจุดบรรเทา[ต้องการอ้างอิง]
- หลังจากการรักษาคอร์สที่สี่สุดท้าย 10.1% ของผู้ร่วมการทดลองที่เหลือ 109 ถึงความทุเลา[ต้องการอ้างอิง]
- ภายใน 12 เดือน ผู้ที่ถึงจุดบรรเทาในค้อร์สแรก 33% เกิดโรคอีก และผู้ที่ถึงในรอบหลัง ๆ 42%-50% เกิดโรคอีก บุคคลที่ได้ผลจากยาแต่ไม่ถึงเกณฑ์บรรเทาเกิดโรคอีก 59-83% สูงกว่าคนที่ถึง[32]
- ไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติหรือทางคลินิกเกี่ยวกับอัตราบรรเทา อัตราการตอบสนอง หรือระยะเวลาในการบรรเทาหรือการตอบสนอง ในบรรดายาที่เปรียบเทียบในงานนี้[33] ซึ่งรวมทั้ง bupropion (sustained release), bupropion, citalopram, lithium, mirtazapine, nortriptyline, sertraline, triiodothyronine, tranylcypromine, และ venlafaxine (extended release)
ข้อจำกัดและกลยุทธ์
[แก้]บุคคลที่ใช้ยารักษาประมาณ 30-50% ไม่ตอบสนองต่อยา[34][35] ในงานศึกษาทางคลินิก คนไข้ประมาณ 1/3 มีโรคทุเลา 1/3 ตอบสนองต่อยา และที่เหลือไม่ตอบสนอง ผู้ที่ไม่ถึงเกณฑ์ทุเลาก็คือ ยังมีอาการที่กำหนดไม่ชัดเจนหลงเหลืออยู่ ซึ่งปกติรวมทั้งอารมณ์ซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความผิดปกติในการนอนหลับ ความอ่อนเปลี้ย และความสนใจและความสุขที่ลดน้อยลง
แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าอะไรเป็นตัวพยากรณ์ว่าคนไข้จะทุเลาแค่บางส่วน แต่ก็ชัดเจนว่า อาการที่หลงเหลือเป็นตัวพยากรณ์ทรงพลังว่าโรคจะกลับเกิดอีก โดยมีอัตรา 3-6 เท่ามากกว่าผู้ที่ทุเลาลงอย่างสมบูรณ์[36] นอกจากนั้นแล้ว ยาแก้ซึมเศร้ามักจะสูญประสิทธิผลหลังจากรักษามาเป็นระยะเวลาหนึ่ง[37] แต่ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) คนอเมริกันที่กำลังทานยาแก้ซึมเศร้าน้อยกว่า 1/3 ได้เข้าพบหมอพยาบาลภายในปีที่ผ่านมา[38]
มีกลยุทธ์จำนวนหนึ่งที่ใช้รักษาเพื่อข้ามข้อจำกัดและความต่าง ๆ กันเหล่านี้[39] รวมทั้งการเปลี่ยนยา การเพิ่มยา และการให้ยารวม
การเปลี่ยนยาแบบลองผิดลองถูก
[แก้]แนวทางการปฏิบัติปี 2543 ของสมาคมจิตเวชอเมริกัน (APA) แนะนำว่า ถ้าไม่ตอบสนองภายใน 6-8 อาทิตย์หลังจากรักษาด้วยยา ให้เปลี่ยนใช้ยาในกลุ่มเดียวกัน แล้วจึงไปเปลี่ยนใช้ยากลุ่มอื่นในภายหลัง งานวิเคราะห์อภิมานปี 2549 พบความแตกต่างกันมากมายในงานศึกษาก่อน ๆ คือ คนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม SSRI 12-86% จะตอบสนองต่อยาอีกอย่างหนึ่ง แต่ว่า ยิ่งได้ลองยาแก้ซึมเศร้ามามากแล้วเท่าไร โอกาสก็น้อยลงเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์กับยาที่ลองใหม่[35] แต่ว่า งานวิเคราะห์อภิมานปี 2553 ไม่พบความแตกต่างระหว่างการเปลี่ยนยาและการใช้ยาเดิมต่อไป คือ แม้ว่า 34% ของคนไข้ที่ดื้อการรักษาจะตอบสนองเมื่อเปลี่ยนไปใช้ยาใหม่ แต่ว่า 40% ก็จะตอบสนองแม้ไม่ได้เปลี่ยนยา[40]
การเพิ่มหรือการใช้ยารวม
[แก้]ถ้ามีการตอบสนองบ้าง แนวทางของ APA เสนอให้เพิ่มยากลุ่มอื่น (augmentation) รวมทั้ง Lithium, thyroid augmentation, dopamine agonist, sex steroid, Norepinephrine reuptake inhibitor, glucocorticoid-specific agent หรือยาแก้ชักรุ่นใหม่ ๆ[41]
ส่วนกลยุทธ์รวมยา (combination) หมายถึงการเพิ่มยาแก้ซึมเศร้าอีกอย่างหนึ่ง โดยปกติเป็นอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อจะได้มีผลในด้านอื่น ๆ แม้ว่าวิธีนี้อาจจะใช้รักษา แต่ก็มีหลักฐานน้อยมากเกี่ยวกับประสิทธิผลสัมพัทธ์และอาการที่ไม่พึงประสงค์จากยาเนื่องจากการใช้วิธีนี้[42]
การทดลองที่ทำเมื่อไม่นานนี้รวมการใช้ยากระตุ้น (psychostimulant) เป็นยาเพิ่ม งานศึกษาหลายงานพบประสิทธิผลเมื่อให้ modafinil เป็นยารวมสำหรับโรคที่ดื้อการรักษา เพื่อช่วยบรรเทาความอ่อนเปลี้ยที่เกิดจากยา SSRI[43]
การใช้ระยะยาว
[แก้]ผลรักษาของยาแก้ซึมเศร้าปกติจะไม่ดำเนินต่อหลังจากการใช้ยาสักระยะหนึ่ง ทำให้อัตราโรคกลับอยู่ในระดับสูง งานวิเคราะห์อภิมานปี 2546 ในงานทดลองยาแก้ซึมเศร้าที่ควบคุมด้วยยาหลอก โดยมากจำกัดในงานที่มีระยะ 1 ปี พบว่า คนไข้ 18% ที่ตอบสนองต่อยาแก้ซึมเศร้าเกิดโรคอีกแม้ยังทานยาอยู่ เทียบกับ 41% ที่เกิดโรคอีกเมื่อเปลี่ยนจากยาแก้ซึมเศร้ามาเป็นยาหลอก[44]
ประโยชน์การรักษาแบบค่อย ๆ ลดจะเกิดขึ้นในคนกลุ่มน้อยในช่วงรักษา[45][46] มีงานศึกษาที่เสนอกลยุทธ์ใช้ยารักษาในระยะรุนแรง (acute) ตามด้วยจิตบำบัดในช่วงที่ดีขึ้น (residual)[47][48]
ประสิทธิผลและการทนรับได้โดยเปรียบเทียบ
[แก้]ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด |
น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic |
ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร |
SD |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
[3][49][50][51][52] | [3][51][52][53] | [49][50][54] [3][51][52][53] |
[3][51][52][54][55] | [3][50][51][52][54] | [3][50][51][52][54][56] | [3][50][51][52][54][56] | [3][50][51][52][54] | [50][54] [3][51][52][56] |
[3][50][51][52][54] | [3][50][51][52][54] | [3][50][51][52][54] |
Tricyclic antidepressants (TCAs) | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด |
น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic |
ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร |
SD |
Amitriptyline | 3 | 1 | 3 | 4 | 3 | 4 | v | 4 | 3 | 1 | 4/3 |
Amoxapine | 2 | 2 | 4 | 2 | 2 | 2 | 2 | 2 | 2 | v | ND |
Clomipramine | 3 | 2/1 | 2 | 2 | 2 | 4/3 | v | 4 | 2 | 1 | 4 |
Desipramine | 2 | 2/1 | 3 | 1 | 1 | 1/v | 1 | 1 | 2 | 1/v | ND |
Dosulepin (Dothiepin) | 2 | 1 | 4[56] | ? | 3/2 | 3/2 | v | 3/2 | 2 | v | 3/2 |
Doxepin | 2 | 2/1 | 3 | 3 | 4 | 3 | v | 3 | 3 | v | 3 |
Imipramine | 3[57][58] | 1 | 3 | 4 | 4/3 | 3 | 1 | 3 | 3 | 1 | 3 |
Lofepramine | 2 | 3 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 2 | 1 | ? | ? |
Maprotiline | 2 | 2/1 | 4 | 2 | 2 | 3 | v | 2 | 3 | v | ND |
Nortriptyline | 2 | 2 | 2 | 1 | 2 | 1 | v | 1 | 2 | v | ND |
Protriptyline | 2 | 2/1 | 2 | 1 | 2 | 1 | 1 | 2 | 3 | 1 | 4/3 |
Tianeptine | 2 | 4 | ? | ? | ? | ? | ? | ? | ? | ? | ? |
Trimipramine | 2 | 1 | 2 | 4 | 3 | 4 | 1 | 4 | 2 | 2 | v |
Monoamine oxidase inhibitors (MAOIs) | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด |
น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic |
ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร |
SD |
Isocarboxazid | 2 | 1 | 3 | 1 | 2 | 1 | 2 | 1 | v | 1 | 4 |
Moclobemide | 2 | 3 | 1 | v | v | v | ? | v | v | v | 1/v |
Phenelzine | 2 | 1 | 3 | 2 | 3 | 1 | 1 | 1 | v | 1 | 4 |
Seligiline | ? | 3 | 2 | v | 1 | v | 1 | 1 | v | v | v |
Tranylcypromine | 2 | 1 | 3 | 1 | 2 | v | 2 | 1 | v | 1 | 4 |
Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด |
น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic |
ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร |
SD |
Citalopram | 2 | 3 | 2 | 1 | 1 | v | 1 | v | 2 | 1 | 3 |
Escitalopram | 3 | 3 | 1 | 1 | 1 | v | 1 | v | 1 | 1 | 3 |
ฟลูอ๊อกซิติน | 2 | 3 | 1 | 1 | 1 | v | 2 | v | 1 | 1 | 3 |
Fluvoxamine | 2 | 3 | 2 | 1 | 1 | 1 | 1 | v | 1/v | 2 | 3 |
Paroxetine | 2 | 3 | 1 | 2 | 2 | 1 | 1 | 1 | 1/v | 1 | 4 |
Sertraline | 3 | 3 | 1 | 1 | 1 | v | 2 | v | 1/v | 2 | 3 |
Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด |
น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic |
ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร |
SD |
Desvenlafaxine | 2 | 3/2 | 1/2 | v | v | v | 2 | v | v | 2/1 | 3 |
Duloxetine | 2 | 3 | 1 | v | v | v | 2 | v | v | 2 | 3 |
Milnacipran | 2 | 3 | ? | v | v | v | 2 | 1 | v | 2 | v |
Venlafaxine | 3 | 2 | 2 | v | v | v | 2 | v | 1 | 2 (IR) 1 (XR) |
3 |
Noradrenergic and specific serotonergic antidepressants (NaSSAs) | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด |
น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic |
ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร |
SD |
Mianserin | 2 | 3 | ? | 4 | v | 4 | v | 1 | 1 | v | 1 |
Mirtazapine | 3 | 3 | 1 | 4 | v | 4 | v | 1 | 1 | v | 1 |
Serotonin antagonist and reuptake inhibitors (SARIs) | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด |
น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic |
ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร |
SD |
Nefazodone | 2 | 3 | 2/1 | v | 1 | 2 | v | 1 | v | 2 | v |
Trazodone | 2[59] | 3 | 1 | 1 | 3 | 4 | v | v | 2 | 3 | 1 |
Serotonin modulator and stimulators (SMSs) | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด |
น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic |
ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร |
SD |
Vilazodone | 2 | 3/2 | ? | v | v | v | 2 | v | v | 4 | 2 |
Vortioxetine | 2 | 3 | ? | v | v | v | 1/v | v | v | 3 | 1 |
อื่น ๆ | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด |
น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic |
ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร |
SD |
Agomelatine | 2[60] | 3 | 1 | v | v | 1 | 1 | v | v | 1 | 1/v |
Bupropion | 2 | 3 | 3/2 | v | v | v | 2/1 | v | 1 | 1 | v |
Reboxetine | 1 | 3 | 1 | v | v | v | 2 | v | v | 1 | 1 |
St John's wort | 3/2 | 4 | 1 | 1/v | 1/v | 1/v | 1/v | 1/v | 1/v | 1/v | 1/v |
หมายเหตุ:
สำหรับผลไม่พึงประสงค์/พิษเมื่อใช้เกินขนาด
- 4 มีผล/พิษรุนแรงมาก
- 3 มีผล/พิษแรง
- 2 มีผล/พิษปานกลาง
- 1 มีผล/พิษอ่อน
- v มีผล/พิษน้อยมาก/ไม่สำคัญ
สำหรับการทนรับได้ (tolerability)
- 4 ทนรับได้ดีสุด ยาพวกนี้พิสูจน์ว่ามีผลดีกว่า SSRI
- 3 ทนรับได้ดีมาก มีผลข้างเคียงอ่อนและชั่วคราว เป็นยาเช่น SSRIs
- 2 ทนรับได้ปานกลาง เป็นยากลุ่ม TCA ที่ทนรับได้ดีกว่า
- 1 ทนรับได้ไม่ดี เป็นยากลุ่ม TCAs และ MAOIs โดยมาก
สำหรับประสิทธิผล
- 3 ยามีประสิทธิผลที่ดีกว่า ตามอย่างน้อยงานปริทัศน์ 1 งาน
- 2 ยามีประสิทธิผลปกติ แหล่งข้อมูลปฐมภูมิบางแหล่งอาจจะแสดงผลที่ดีกว่าเทียบกับยาที่ดีกว่า (เช่น มีงานทดลองทางคลินิกที่แสดงประสิทธิผลที่ดีกว่าของ agomelatine เทียบกับ venlafaxine) แต่ไม่มีข้อมูลพอที่จะมั่นใจ
- 1 ยามีประสิทธิผลไม่ดีเทียบกับยาที่มีประสิทธิผลปกติ ตามอย่างน้อยงานปริทัศน์หนึ่งงาน
ตัวย่อ/คำที่ใช้ในตาราง:
- ผลกระตุ้น - อาการที่ไม่พึงประสงค์จากยาเช่น ความกระวนกระวาย ความวิตกกังวล การนอนไม่หลับ และการสั่น
- AMH - Australian Medicines Handbook[56]
- ผลระงับ - ผลระงับประสาท เช่น ความง่วงซึม
- IR - ยาแบบออกฤทธิ์ทันที
- ND - ไม่มีข้อมูล
- SD - ความผิดปกติทางเพศ
- XR - ยาแบบออกฤทธิ์ระยะยาว
Tricyclic antidepressants (TCAs) | |
ยา | หมายเหตุ |
---|---|
Amitriptyline | ยับยั้งการนำเซโรโทนิน (serotonin reuptake) ไปใช้ใหม่ในอัตรา 8 เท่าของนอร์เอพิเนฟริน แต่การยับยั้งนอร์เอพิเนฟรินก็ยังมีนัยสำคัญทางคลินิก[49] งานทบทวนวรรณกรรมปี 2557 แสดงว่ามีพิษต่อตับ (hepatotoxic) มากกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ[61] |
Amoxapine | บางครั้งจัดเป็นพวกเดียวกับยากลุ่ม tetracyclic มีฤทธิ์รักษาโรคจิตที่ไม่ทั่วไปด้วย (atypical antipsychotic) อาจออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า ยังไม่อนุมัติให้ใช้ในออสเตรเลีย แคนาดา หรือสหราชอาณาจักร แต่มีใช้ในสหรัฐอเมริกา |
Clomipramine | ยับยั้งการนำเซโรโทนินไปใช้ใหม่โดยเฉพาะ (~120x) มีโอกาสทำให้เกิดอาการลมชักมากกว่า TCA ชนิดอื่น ๆ[49] |
Desipramine | ยับยั้งการนำนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่ (norepinephrine reuptake) เป็น 22 เท่าของเซโรโทนิน[49] |
Dosulepin (Dothiepin) | ไม่มีขายในสหรัฐอเมริกา มีในออสเตรเลีย (ซึ่งมักจะเรียกว่า dothiepin) และสหราชอาณาจักร
น้ำหนักเพิ่ม น่าจะอยู่ที่ 2 |
Doxepin | ยับยั้งการนำนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่ (norepinephrine reuptake) โดยเฉพาะเป็น 2.3 เท่าของเซโรโทนิน |
Imipramine | เป็นยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม Tricyclic ที่วางตลาดเป็นยาแรก ยับยั้งการนำเซโรโทนินไปใช้ใหม่ (serotonin reuptake) โดยเฉพาะเป็น 26 เท่าของนอร์เอพิเนฟริน เป็นพิษต่อตับมากกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมาก[61] |
Lofepramine | ไม่ได้รับอนุมัติในออสเตรเลีย สหรัฐ หรือแคนาดา ได้ในสหราชอาณาจักรและประเทศยุโรปอื่น ๆ ระยะ QT ยาวอยู่ที่ 1 ขึ้นอยู่กับขนาดที่ใช้ |
Maprotiline | ยับยั้งการนำนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่โดยเฉพาะเป็น ~90 เท่าของโดพามีน[49] |
Nortriptyline | เป็นเมแทบอไลต์ออกฤทธิ์ของ amitriptyline ยับยั้งการนำนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่โดยเฉพาะ (4.2x) |
Protriptyline | ยับยั้งการนำนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่โดยเฉพาะเป็น 14 เท่าของเซโรโทนิน |
Tianeptine | เพิ่มการนำเซโรโทนินไปใช้ใหม่และเพิ่มการสื่อสารทางประสาทแบบโดพามีนและกลูตาเมต
ไม่ได้อนุมัติให้ใช้เพื่อรักษาในออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไอร์แลนด์ มีพิษต่อตับมากกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมาก[61] |
Trimipramine | มีฤทธิ์ระงับระบบโดพามีน (antidopaminergic) และดังนั้น สามารถเป็นเหตุต่อผลข้างเคียงแบบ extrapyramidal side effects คือ อาการยึกยือเหตุยา (tardive dyskinesia) และกลุ่มอาการร้ายจากยารักษาโรคจิต (neuroleptic malignant syndrome) |
Monoamine oxidase inhibitors (MAOIs) | |
ยา | หมายเหตุ |
Isocarboxazid | ไม่อนุมัติให้ใช้ในออสเตรเลีย |
Moclobemide | เป็นยารักษาชนิดเดียวในกลุ่ม reversible inhibitor of monoamine oxidase A (RIMA) ไม่อนุมัติให้ใช้ในสหรัฐอเมริกา อนุมัติให้ใช้รักษาในออสเตรเลีย แคนาดา ประเทศยุโรปโดยมาก (รวมทั้งประเทศเช็กเกีย ฟินแลนด์ และไอร์แลนด์) นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ และสหราชอาณาจักร ผลกระตุ้น ? (แต่การนอนไม่หลับเป็นผลสามัญตาม AMH) |
Phenelzine | มีแนวโน้มมากกว่า tranylcypromine และยาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมากที่จะทำตับให้เสียหาย[61] |
Seligiline | ดั้งเดิมใช้รักษาโรคพาร์คินสันเนื่องจาก ยับยั้ง MAO-B แบบกลับไม่ได้ แต่ว่าในขนาดที่สูงขึ้นก็จะยับยั้ง MAO-A ด้วย |
Tranylcypromine | สลายเป็น analogue ของแอมเฟตามีนภายในกาย สามารถทำให้ตับเสียหาย[56] |
Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) | |
ยา | หมายเหตุ |
Citalopram | เป็น SSRI ที่มีโอกาสที่จะทำให้ระยะ QT ของคลื่นหัวใจยาวขึ้น เป็นพิษมากที่สุดเมื่อใช้เกินขนาดในบรรดา SSRI มีพิษต่อตับน้อยกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมาก[61] ระยะ QT อยู่ที่ 2 (ขึ้นอยู่กับขนาด มากกว่า 40 mg/วัน อันตรายเป็นพิเศษ) |
Escitalopram | เป็น S-enantiomer ที่มีฤทธิ์แรงกว่าของ citalopram
อาจเป็นยา SSRI ที่มีผลมากที่สุด แม้ว่าจะยังไม่พบประสิทธิผลที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่าง sertraline และ escitalopram ตามหลักฐานที่มีอยู่ ถ้าใช้เกินขนาดจะมีพิษน้อยกว่ายาในรูปแบบแรซีมิกของมัน คือ (R,S) -citalopram และมีพิษต่อตับน้อยกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมาก[61] |
ฟลูอ๊อกซิติน | ยา SSRI แรกที่ได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐในปี 2530
งานศึกษาบางงานพบว่า คนไข้ที่ทานยาจะมีน้ำหนักลงนิดหน่อย (บ่อยครั้งโดยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ) มีระยะครึ่งชีวิตสุทธิที่นานที่สุด (โดยนับผลของเมแทบอไลต์ออกฤทธิ์ของมันคือ norfluoxetine ด้วย) ของยาแก้ซึมเศร้าทั้งหมดที่ใช้รักษา และดังนั้น เมื่อหยุดทานอย่างกะทันหัน ปกติจะมีอาการหยุดยาน้อยมากและที่มีก็เบา ปฏิกิริยาทางผิวหนังเกิดขึ้นบ่อยกว่าเทียบกับ sertraline[51] |
Fluvoxamine | ไม่ได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐให้ใช้รักษาโรคซึมเศร้า แต่ให้ใช้เพื่อโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ในบรรดายา SSRI มี affinity กับตัวรับ sigma-1 มากที่สุดโดยเป็นตัวทำการ[64][65] มีพิษต่อตับน้อยกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมาก[61] |
Paroxetine | เป็นยา SSRI ประเภทเดียวที่ไม่ได้อยู่ในยาหมวด C สำหรับหญิงมีครรภ์ของประเทศออสเตรเลียแต่อยู่ในหมวด D เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิตในปอดสูงยังคงอยู่ในทารกแรกเกิด (PPHN)
องค์การอาหารและยาสหรัฐก็จัดอยู่ในหมวด D ด้วย เป็นยาที่สัมพันธ์กับโอกาสเสี่ยงของความผิดปกติทางเพศ การเพิ่มน้ำหนัก และผลข้างเคียงแบบ anticholinergic รวมทั้งความง่วงนอนมากกว่า SSRI อื่น ๆ ในบรรดายา SSRI มีระยะครึ่งชีวิตที่สั้นที่สุด จึงเสี่ยงอาการหยุดยามากที่สุดเมื่อไม่ได้ทานยา มี affinity ในระดับต่ำสุดต่อตัวรับ sigma-1[64] และเป็นยาที่เสี่ยงที่สุดต่อผลข้างเคียงแบบ extrapyramidal symptoms[63] มีพิษต่อตับน้อยกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมาก[61] |
Sertraline | เสี่ยงสูงสุดต่อผลข้างเคียงทางจิตเวช (เช่น อาการฟุ้งพล่าน พฤติกรรม/ความคิดฆ่าตัวตาย โรคจิต เป็นต้น)[51]
มีผลยับยั้งการนำโดพามีนไปใช้ใหม่เล็กน้อย (แต่มีนัยสำคัญทางคลินิก)[66][67]
ในบรรดายา SSRI มี affinity สูงเป็นอันดับสองต่อตัวรับ sigma-1 โดยเป็นตัวทำการ[65] พิษต่อทางเดินอาหารอยู่ที่ระดับ 2 โดยมากเป็นอาการท้องร่วง[54] |
Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) | |
ยา | หมายเหตุ |
Desvenlafaxine | เป็นเมแทบอไลต์ออกฤทธิ์ของ venlafaxine |
Duloxetine | โดยไม่เหมือนยา SNRI ที่กล่าวถึงในที่นี้ duloxetine ไม่มีผลข้างเคียงสามัญเป็นความดันสูงโดยขึ้นอยู่กับขนาดที่ใช้ เป็นยาที่ใช้บรรเทาความเจ็บปวดเหตุประสาท (neuropathic pain) ด้วย และมีพิษต่อตับมากกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมาก[61] |
Milnacipran | ใช้โดยหลักเพื่อรักษาความเจ็บปวดเหตุประสาท (neuropathic pain) อันตรายเมื่อใช้เกินขนาด ? (ยังไม่มีการรายงานเสียชีวิตเนื่องจากใช้ยานี้อย่างเดียว) |
Venlafaxine | ยับยั้งการนำเซโรโทนินไปใช้ใหม่โดยเฉพาะเป็น 116 เท่าของนอร์เอพิเนฟริน |
Noradrenergic and specific serotonergic antidepressants (NaSSAs) | |
ยา | หมายเหตุ |
Mianserin | ไม่อนุมัติให้ใช้ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
อนุมัติให้ใช้ในออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร สามารถก่อ blood dyscrasias (รวมทั้ง agranulocytosis) คือ การลดระดับของ Neutrophils รวมทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาว ดังนั้นทั้ง British National Formulary และ AMH จึงแนะนำให้คอยตรวจสอบโดยการตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์[56][68] |
Mirtazapine | อนุมัติให้ใช้ในสหรัฐ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และแคนาดา เป็นทั้ง analogue และยาที่ใช้แทน Mianserin ต่อมา |
Serotonin antagonist and reuptake inhibitors (SARIs) | |
ยา | หมายเหตุ |
Nefazodone | มีความเสี่ยงต่อการเป็นพิษต่อตับ อนุมัติให้ใช้ในสหรัฐ แต่ไม่ได้อนุมัติในแคนาดา ออสเตรเลีย หรือยุโรป |
Trazodone | ไม่อนุมัติให้ใช้ในออสเตรเลีย มีพิษต่อตับมากกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น[61] |
Serotonin modulator and stimulators (SMSs) | |
ยา | หมายเหตุ |
Vilazodone | มีโอกาสให้ผลข้างเคียงเป็นเซโรโทนินเป็นพิษ อันตรายเมื่อใช้เกินขนาด ? (น่าจะต่ำนอกเหนือไปจากเซโรโทนินเป็นพิษ) |
Vortioxetine | วางตลาดในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกันยายน 2556 และดังนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงจึงน้อย แต่ผลข้างเคียงคือเซโรโทนินเป็นพิษเป็นไปได้แม้จะน้อย |
อื่น ๆ | |
ยา | หมายเหตุ |
Agomelatine | ไม่อนุมัติให้ใช้ในสหรัฐหรือแคนาดา อนุมัติในออเสตรเลียและสหราชอาณาจักร |
Bupropion | อนุมัติให้ใช้ในสหราชอาณาจักรและออเสตรเลียเพื่อช่วยหยุดบุหรี่เท่านั้น แต่สหรัฐอเมริกาอนุมัติให้ใช้รักษาโรคซึมเศร้า เป็นพิษต่อตับมากกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น[61] |
Reboxetine | ไม่อนุมัติให้ใช้ในสหรัฐหรือแคนาดา อนุมัติในออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร |
St John's wort | ไม่ใช่ยาต้องใช้ใบสั่งยาในประเทศโดยมาก มีขายโดยเป็นยาสมุนไพร |
โรควิตกกังวล
[แก้]โรควิตกกังวลทั่วไป
[แก้]องค์การสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร NICE แนะนำให้ใช้ยาแก้ซึมเศร้ารักษาโรควิตกกังวลทั่วไป (generalized anxiety disorder ตัวย่อ GAD) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอนุรักษ์เช่นการให้การศึกษาและช่วยตนเอง GAD เป็นโรคสามัญที่อาการสำคัญก็คือ ความวิตกกังวลเกินไปเกี่ยวกับเหตุการณ์และปัญหาหลายอย่าง และความลำบากในการควบคุมความคิดที่ทำให้เป็นห่วงที่คงยืนอย่างน้อยเป็นระยะ 6 เดือน
ยาแก้ซึมเศร้าลดความวิตกกังวลใน GAD ได้ในระดับพอประมาณจนถึงปานกลาง[69] และมีผลดีกว่ายาหลอก[70] ประสิทธิผลของยาแก้ซึมเศร้าต่าง ๆ ล้วนคล้ายคลึงกัน[69][70]
โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)
[แก้]SSRIs ใช้เป็นการรักษาลำดับสองสำหรับโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ในผู้ใหญ่ที่มีความพิการขั้นอ่อน และลำดับหนึ่งสำหรับผู้มีความพิการปานกลางจนถึงรุนแรง ในเด็ก SSRIs พิจารณาว่าเป็นการรักษาลำดับสองสำหรับเด็กพิการปานกลางจนถึงรุนแรง โดยต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อเช็คผลที่ไม่พึงประสงค์ทางจิตเวช[71] SSRIs มีประสิทธิผลในการรักษา OCD คือ คนไข้มีโอกาสสองเท่าที่จะตอบสนองเทียบกับยาหลอก[72][73] ประสิทธิผลปรากฏทั้งในงานทดลองระยะสั้นเป็นเวลา 6-24 สัปดาห์และงานทดลองแบบ discontinuation เป็นระยะ 28-52 สัปดาห์[74][75][76]
ความผิดปกติในการรับประทาน
[แก้]NICE แนะนำให้ใช้ยาแก้ซึมเศร้าเป็นการรักษาทางเลือกหรือการรักษาเพิ่มในขั้นแรก ที่ใช้โปรแกรมช่วยตัวเองในการรักษาโรคหิวไม่หายแบบทานแล้วอาเจียน (bulimia nervosa)[77] ยากลุ่ม SSRIs โดยเฉพาะฟลูอ๊อกซิตินเป็นยาที่นิยมมากกว่ายาแก้ซึมเศร้าแบบอื่น ๆ เนื่องจากการยอมรับได้ การอดทนได้ และการลดระดับอาการที่ดีกว่าในการทดลองระยะสั้น แม้ว่าประสิทธิผลระยะยาวยังไม่ชัดเจน Bupropion ไม่แนะนำให้ใช้รักษาความผิดปกติในการรับประทาน เนื่องจากเสี่ยงต่อการชัก[78]
NICE แนะนำแบบเดียวกันสำหรับ binge eating disorder (โรคหิวไม่หายแบบไม่อาเจียน)[77] โดย SSRIs ลดพฤติกรรมทานมากเกินไปในระยะสั้น แต่ไม่สัมพันธ์กับการลดน้ำหนักอย่างสำคัญ[79]
งานทดลองทางคลินิกโดยมากแสดงผลลบในการใช้ SSRIs เพื่อรักษาโรคเบื่ออาหารเหตุจิตใจ (anorexia nervosa)[80] NICE[77] แนะนำไม่ให้ใช้ SSRIs สำหรับโรคนี้ ส่วนแนวทางจากสมาคมจิตเวชอเมริกัน (APA) ให้ข้อสังเกตว่า SSRIs ไม่มีผลเพิ่มน้ำหนัก แต่อาจใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคย้ำคิดย้ำทำที่เป็นไปด้วยกัน[79]
ความเจ็บปวด
[แก้]ไฟโบรไมอัลเจีย
[แก้]งานวิเคราะห์อภิมานปี 2555 สรุปว่า ยาแก้ซึมเศร้าสามารถปรับปรุงเรื่องความเจ็บปวด คุณภาพชีวิตเกี่ยวกับสุขภาพ ความซึมเศร้า และปัญหาการนอนหลับในโรคไฟโบรไมอัลเจียได้ ยากลุ่ม Tricyclic ดูจะมีประสิทธิผลดีสูงสุด โดยมีผลพอสมควรต่อความเจ็บปวดและการนอนหลับ และมีผลน้อยต่อความอ่อนเปลี้ยและคุณภาพชีวิตเกี่ยวกับสุขภาพ อัตราของบุคคลที่ความเจ็บปวดลดลง 30% เนื่องจากรับยา tricyclics อยู่ที่ 48% เทียบกับ 28% สำหรับยาหลอก สำหรับคนที่ได้ SSRIs อัตราอยู่ที่ 36% เทียบกับ 20% ที่ได้ยาหลอก และสำหรับ SNRIs อยู่ที่ 42% เทียบกับ 32% ที่ได้ยาหลอก แต่ว่า การเลิกยาเพราะผลข้างเคียงเป็นเรื่องสามัญ[81] องค์กร European League Against Rheumatism (EULAR) แนะนำยาแก้ซึมเศร้ารวมทั้ง amitriptyline, ฟลูอ๊อกซิติน, duloxetine, milnacipran, moclobemide, และ pirlindole เพื่อบำบัดไฟโบรไมอัลเจีย โดยอาศัย "หลักฐานที่จำกัด"[82]
ความเจ็บปวดเหตุประสาท
[แก้]งานวิเคราะห์อภิมานแบบคอเครนปี 2557 พบว่า ยาแก้ซึมเศร้า duloxetine มีประสิทธิผลในการบำบัดความเจ็บปวดที่เกิดจากโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน (diabetic neuropathy)[83] นักวิจัยกลุ่มเดียวกันทบทวนข้อมูลของยา amitryptyline เพื่อรักษาโรคเดียวกันแต่พบข้อมูลงานศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มที่สำเร็จประโยชน์น้อยมาก แต่สรุปว่า ประวัติอันยาวนานในการใช้รักษาไฟโบรไมอัลเจียและความเจ็บปวดเหตุประสาทได้อย่างสำเร็จ เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะใช้รักษาต่อไป[84]
อาการที่ไม่พึงประสงค์จากยา
[แก้]การทนอาการที่ไม่พึงประสงค์จากยาไม่ได้เป็นเหตุผลสามัญที่สุดในการเลิกยาแก้ซึมเศร้า
โดยทั่วไป
[แก้]ยาที่ควบคุมเซโรโทนินเกือบทุกอย่างมีโอกาสให้เกิดเซโรโทนินเป็นพิษ หรือที่รู้จักกันว่า serotonin syndrome การมีเซโรโทนินมากเกินทำให้เกิดอาการหลัก ๆ คือ อาการฟุ้งพล่าน (mania) การอยู่ไม่เป็นสุข กายใจไม่สงบ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย การนอนไม่หลับ และความสับสน[85][86] แม้ว่าจะเป็นอาการที่หนัก แต่ก็ไม่ค่อยสามัญ และมักจะพบเมื่อใช้ในขนาดสูงหรือว่าเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ และถ้ารักษาอย่างถูกต้องภายใน 24 ชม. ก็มีโอกาสน้อยที่จะถึงชีวิต[87][88]
ส่วนยากลุ่ม MAOIs มักจะมีปฏิสัมพันธ์ที่เด่นชัด (และบ่อยครั้งถึงชีวิต) กับยามากมายทั้งที่หมอสั่งและที่ซื้อเอง ถ้าทานกับอาหารที่มี tyramine สูงมาก (เช่น ชีสที่ต้องหมักบ่ม เนื้อผ่านกรรมวิธีไม่ให้เสีย ยีสต์สกัด) ก็อาจเป็นเหตุของความดันโลหิตสูงวิกฤตที่อาจทำให้ถึงตาย และในขนาดที่ต่ำกว่า อาจจะปวดหัวเพราะความดันโลหิตสูงขึ้น[89]
เพื่อที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ จึงมีการพัฒนา MAOI แบบอื่น คือ reversible inhibitor of monoamine oxidase A (RIMA) ซึ่งมีข้อดีหลักคือไม่บังคับให้ต้องทานอาหารพิเศษ และก็ยังมีประสิทธิภาพที่อ้างว่า เท่ากับยากลุ่ม SSRI และ tricyclics เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า[90]
หญิงมีครรภ์
[แก้]การใช้ SSRI ระหว่างมีครรภ์สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่าง ๆ โดยมีหลักฐานแบบแสดงยาเป็นเหตุที่มีน้ำหนักต่าง ๆ กัน เนื่องจากความซึมเศร้าสัมพันธ์อย่างเป็นอิสระกับผลลบที่เกิดจากการตั้งครรภ์ การกำหนดยาแก้ซึมเศร้าที่สัมพันธ์โดยเป็นเหตุกับผลที่ไม่พึงประสงค์โดยเฉพาะ ๆ เป็นเรื่องยากในบางกรณี[91] แต่ในกรณีอื่น การแสดงผลลบว่ามียาเป็นเหตุค่อนข้างจะชัดเจน
การใช้ SSRI เมื่อมีครรภ์สัมพันธ์กับความเสี่ยงการแท้งบุตรแบบเกิดเอง (spontaneous) ที่เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 เท่า[92][93] และสัมพันธ์กับการคลอดบุตรก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักน้อย[94]
งานปริทัศน์เป็นระบบปี 2555 ที่ตรวจความผิดปกติแต่กำเนิดที่สำคัญของทารกที่มารดาใช้ยาแก้ซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ พบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (3%-24%) ของสภาพวิรูปสำคัญ (major malformation) แต่ความเสี่ยงความผิดปกติหลอดเลือดหัวใจแต่กำเนิดไม่ต่างจากมารดาที่ไม่ได้ใช้[95] งานศึกษามารดามีครรภ์ที่ใช้ฟลูอ๊อกซิตินงานหนึ่ง พบความเสี่ยงของสภาพวิรูปสำคัญเพิ่มขึ้น 12% ที่เกือบถึงขีดนัยสำคัญทางสถิติ[96] งานอื่น ๆ พบความเสี่ยงความผิดปกติหลอดเลือดหัวใจแต่กำเนิดเพิ่มขึ้นในบรรดามารดาที่ซึมเศร้าแต่ไม่ได้รักษาโดย SSRI ซึ่งแสดงว่างานต่าง ๆ อาจมีความเอนเอียงในการสุ่มตัวอย่าง คือ มารดาที่กังวลอาจจะให้ตรวจดูทารกของตนเองมากกว่า[97] ส่วนอีกงานหนึ่งไม่พบความเสี่ยงความผิดปกติหลอดเลือดหัวใจแต่กำเนิดที่เพิ่มขึ้น แต่พบความเสี่ยงสภาพวิรูปสำคัญที่เพิ่มขึ้น 27% ในมารดามีครรภ์ที่ใช้ SSRI[93]
องค์การอาหารและยาสหรัฐแนะนำว่า ทารกมีความเสี่ยงต่อความพิการแต่กำเนิดเนื่องจากมารดาใช้ paroxetine ในช่วงมีครรภ์[98] และหญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยง MAOI
งานปริทัศน์เป็นระบบปี 2556 พบว่า การใช้ยาแก้ซึมเศร้าระหว่างมีครรภ์สัมพันธ์กับผลบางอย่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติ เช่น ระยะมีครรภ์และการเกิดก่อนกำหนด แต่ไม่มีผลอย่างอื่น ๆ แต่ก็เตือนว่า เพราะว่าความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้ยากับที่ไม่ได้ยาน้อยมาก จึงเป็นข้อน่าส่งสัยว่าข้อมูลมีนัยสำคัญทางคลินิกหรือไม่[99]
ทารกเกิดใหม่อายุน้อยกว่า 28 วันอาจประสบอาการหยุดยาเหตุหยุดยากะทันหันเพราะคลอด มีหลักฐานว่ายาแก้ซึมเศร้าปรากฏในนมมารดา แต่ว่าผลต่อทารกยังไม่ชัดเจน[100]
นอกจากนั้นแล้ว SSRI ยังยับยั้งการสังเคราะห์ไนตริกออกไซด์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมความตึงตัวของเส้นเลือด งานศึกษาหลายงานชี้ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับการคลอดบุตรก่อนกำหนดที่สัมพันธ์กับการใช้ SSRI ซึ่งอาจเกิดจากความเสี่ยงของโรคพิษแห่งครรภ์ระยะก่อนชัก[101]
อาการฟุ้งพล่านจากยา
[แก้]ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของการใช้ยาแก้ซึมเศร้าคือโอกาสที่จะมีอาการฟุ้งพล่าน (mania) ในคนไข้โรคอารมณ์สองขั้ว ผู้อาจมีอาการคล้ายคนไข้โรคซึมเศร้าแบบขั้วเดียว (unipolar) มาก และดังนั้น อาจจะได้วินิจฉัยที่ผิดว่าเป็นโรคแบบขั้วเดียวแล้วให้ยาแก้ซึมเศร้า งานศึกษาต่าง ๆ แสดงว่า อาการฟุ้งพล่านที่เกิดจายาแก้ซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นในคนไข้โรคอารมณ์สองขั้วได้ถึง 20-40%[102] สำหรับโรคนี้ ยาแก้ซึมเศร้า ซึ่งบ่อยที่สุดเป็นยากลุ่ม SSRI สามารถจุดชนวนหรือทำอาการฟุ้งพล่านหรืออาการเกือบฟุ้งพล่าน (hypomania) ให้แย่ลง[103]
การฆ่าตัวตาย
[แก้]งานศึกษาต่าง ๆ แสดงสหสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาแก้ซึมเศร้ากับพฤติกรรมหรือความคิดฆ่าตัวตายมากขึ้นในบุคคลที่อายุต่ำกว่า 25 ปี[104] ซึ่งเป็นปัญหาเพียงพอที่องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้บังคับให้ติดป้ายยาเกี่ยวกับความเสี่ยงความคิดพฤติกรรมฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นในช่วงรักษาด้วยยา[105] ตามข้อมูลของ FDA ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 1-2 เดือนแรกของการรักษา[106][107][108] ส่วนองค์การสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร (NICE) แจ้งว่า ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอยู่ใน "ช่วงต้น ๆ ของการรักษา"[109] งานวิเคราะห์อภิมานแสดงว่า ความสัมพันธ์ที่มีขึ้นอยู่กับอายุ[104] เมื่อเทียบกับยาหลอก การใช้ยาแก้ซึมเศร้าสัมพันธ์กับความคิดพฤติกรรมฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นในบุคคลที่อายุต่ำกว่า 25 ปี (odds ratio = 1.62) ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้กับที่พบในเด็กและวัยรุ่น แต่ว่าไม่มีผล หรือว่ามีผลป้องกันเล็กน้อยสำหรับบุคคลอายุ 25-64 ปี (OR=0.79) และมีผลป้องกันต่อบุคคลอายุมากกว่า 65 ปี (OR=0.37)[104][110]
ปัญหาทางเพศ
[แก้]ผลข้างเคียงทางเพศก็สามัญด้วยสำหรับการใช้ยากลุ่ม SSRI เช่นการเสียความต้องการทางเพศ การไม่สามารถถึงจุดสุดยอด และอวัยวะเพศไม่ตอบสนอง (erectile dysfunction)[111] แม้ว่าจะผันกลับได้ ผลข้างเคียงทางเพศเช่นนี้ในน้อยกรณี สามารถมีเป็นเดือน ๆ หรือปี ๆ หลังจากที่หยุดยาแล้ว[112]
ในงานศึกษาผู้ป่วยนอก 1,022 คน ความผิดปกติทั่วไปทางเพศจากยาแก้ซึมเศร้าทั้งหมดมีค่าเฉลี่ยที่ 59.1% (604 คน)[113] โดย SSRIs มีค่าระหว่าง 57-73%, mirtazapine 24%, nefazodone 8%, amineptine 7%, และ moclobemide 4% ส่วนยา Moclobemide ซึ่งเป็นยากลุ่ม selective reversible MAO-A inhibitor ไม่มีผลข้างเคียงทางเพศ[114] และอาจมีผลทางเพศทั่วไปที่ดี[115]
กลไกทางชีวภาพเคมีที่เสนอเป็นเหตุมีหลายอย่างรวมทั้งการเพิ่มเซโรโทนิน โดยเฉพาะที่มีผลต่อตัวรับ 5-HT2 และ 5-HT3, การลดโดพามีน, การลดนอร์เอพิเนฟริน, การสะกดตัวรับแบบ cholinergic และ α1 adrenergic, การยับยั้งเอนไซม์ nitric oxide synthase ที่มีบทบาทในการสังเคราะห์ไนตริกออกไซด์, และระดับโพรแลกตินที่เพิ่มขึ้น[116] มีรายงานว่า Mirtazapine มีผลข้างเคียงทางเพศน้อยกว่า น่าจะเป็นเพราะว่ามันเป็นตัวต้าน (antagonist) ของตัวรับ 5-HT2 และ 5-HT3 และในบางกรณี อาจจะแก้ความผิดปกติทางเพศที่เกิดจากยากลุ่ม SSRIs ผ่านกลไกเดียวกัน[117]
Bupropion ซึ่งเป็นยา Norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor ฤทธิ์อ่อนและตัวต้านแบบ nicotinic antagonist อาจช่วยบำบัดความต้องการทางเพศที่ลดลงเนื่องจากการรักษาด้วย SSRI[118]
น้ำหนักเปลี่ยน
[แก้]ความเปลี่ยนแปลงความอยากอาหารและน้ำหนักตัวเป็นเรื่องสามัญในการใช้ยาแก้ซึมเศร้า แต่ขึ้นอยู่กับยาและระบบสารสื่อประสาทที่มีผล ยกตัวอย่างเช่น ยา Mirtazapine และ paroxetine มีผลให้น้ำหนักเพิ่มและ/หรือความอยากอาหารเพิ่ม[119][120][121] ในขณะที่อย่างอื่น (เช่น bupropion และ venlafaxine) มีผลตรงกันข้าม[122][123]
ฤทธิ์ต้านฮิสทามีนของยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม tricyclic และ tetracyclic มีหลักฐานว่ามีส่วนต่อการเพิ่มความอยากอาหารและน้ำหนักซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่สามัญของยากลุ่มนี้
อาการหยุดยา
[แก้]อาการหยุดยาแก้ซึมเศร้า (Antidepressant discontinuation symptoms) รายงานเป็นครั้งแรกในยา imipramine ซึ่งเป็นยากลุ่ม tricyclic ชนิดแรกในปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 และยาแก้ซึมเศร้าแต่ละชนิดใหม่ ๆ ที่ออกมาก็มีผลคล้าย ๆ กัน รวมทั้ง monoamine oxidase inhibitors (MAOIs), SSRIs, และ SNRIs โดยปี 2544 มียาแก้ซึมเศร้าอย่างน้อย 21 ชนิด ซึ่งรวมยาทุกกลุ่ม (classes) ที่เป็นเหตุอาการหยุดยา[124] แต่ว่าปัญหาไม่มีการศึกษาที่ดี เพราะวรรณกรรมโดยมากอยู่ในรูปแบบรายงานผู้ป่วยหรือการศึกษาทางคลินิกขนาดเล็ก ดังนั้น ความชุกของอาการยากที่จะกำหนดและมักสร้างความขัดแย้ง[124] ผู้ที่มีอาการจะเป็นพวกที่ใช้ยามาอย่างน้อย 4 สัปดาห์และพึ่งหยุดยา ไม่ว่าจะแบบทันทีทันใดหรือแบบลดลงอย่างรวดเร็ว[125] อาการสามัญรวมทั้งอาการเหมือนเป็นหวัด (คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดหัว เหงื่อออก) ปัญหาการนอน (นอนไม่หลับ ฝันร้าย ง่วงนอนตลอด) ความผิดปกติทางประสาทสัมผัสหรือการเคลื่อนไหว (เช่น เสียดุล สั่น รู้สึกหมุน เวียนศีรษะ เหมือนถูกไฟช็อต) ความผิดปกติทางอารมณ์ (เช่น ละเหี่ย วิตกกังวล อยู่ไม่เป็นสุข) และความผิดปกติทางการรู้คิด (เช่น สับสนหรือตื่นตัวมาก)[125][126][127] มีรายงานกว่า 50 อาการแล้ว[128]
กรณีโดยมากมีระยะ 1-4 สัปดาห์ ค่อนข้างอ่อน และหายเอง มีกรณีน้อยที่รุนแรงหรือเป็นนาน[125] paroxetine และ venlafaxine ดูเหมือนยากเป็นพิเศษที่จะเลิก และมีรายงานว่าอาการหยุดยายาวนานถึง 18 เดือน สำหรับ paroxetine[124][129][130]
พร้อมกับการระเบิดขึ้นของทั้งการใช้และความสนใจในยา SSRI ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 และต้น 1990 โดยเฉพาะในยายี่ห้อโปรแซ็ก (ฟลูอ๊อกซิติน) ความสนใจในเรื่องอาการหยุดยาก็เพิ่มขึ้นด้วย[131] ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ผู้ตรวจสอบบางท่านคิดว่า อาการที่เกิดขึ้นเมื่อหยุดยาอาจหมายถึงว่ายาทำให้ติด และบางคนก็เริ่มใช้คำว่า อาการขาดยา (withdrawal syndrome) เพื่อเรียกอาการเหล่านั้น แต่การติดสารเสพติดเป็นอาการทางสรีรภาพและการขาดยาก็จะทำให้เกิดความทุกข์ ทฤษฎีเช่นนี้ต่อมาจึงถูกทิ้งไป เพราะว่า การติดสารเสพติดจะก่อให้เกิดพฤติกรรมหายา แต่ว่า ผู้ที่ทานยาแก้ซึมเศร้าไม่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ ดังนั้น คำว่า อาการขาดยา (withdrawal syndrome) ปัจจุบันไม่ใช้แล้วสำหรับยาแก้ซึมเศร้า เพื่อป้องกันความสับสนกับปัญหาที่เกิดจากการติด[125][132][133]
มีรายงานเค้สที่แสดงว่ามีการใช้ยาอย่างผิด ๆ แต่นี้น้อยมากและมักจะจำกัดต่อยาที่มีผลกระตุ้นและกับบุคคลที่มีปัญหาเรื่องสารเสพติดอยู่แล้ว[134] งานปี 2555 ที่ตรวจการหยุดยากลุ่มเบ็นโซไดอาเซพีน กับยา SSRI อ้างว่า เพราะว่า อาการคล้าย ๆ กัน จึงไม่มีเหตุผลที่จะกล่าวว่า เบ็นโซไดอาเซพีนทำให้ติดและยา SSRI ไม่ทำ[135] ส่วนผู้คัดค้านให้ข้อสังเกตว่า ไม่มีหลักฐานวาคนที่หยุดยา SSRI มีพฤติกรรมหายา แต่ว่าผู้ที่หยุดยากลุ่มเบ็นโซไดอาเซพีน มี และยาคนละกลุ่ม (class) ควรจะพิจารณาต่างกัน[136][137]
เภสัชวิทยา
[แก้]ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดและน่าจะเป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดเกี่ยวกับฤทธิ์ของยาแก้ซึมเศร้าก็คือ สมมติฐานโมโนอะมีน (monoamine hypothesis) ซึ่งมีประวัติเริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 และกล่าวว่า ความซึมเศร้าเกิดจากความขาดดุล (บ่อยครั้งที่สุดเกิดจากการขาด) ของสารสื่อประสาทแบบโมโนอะมีน ซึ่งก็คือ เซโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และโดพามีน[49] เป็นทฤษฎีที่เสนออาศัยสังเกตการณ์ว่า ยาต้านวัณโรคประเภท hydrazine มีผลแก้ซึมเศร้า ซึ่งภายหลังพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้ง monoamine oxidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาการสลายตัวของสารสื่อประสาทโมโนอะมีน[49] ยาแก้ซึมเศร้าที่วางตลาดในปัจจุบันทั้งหมดมีรากฐานในสมมติฐานโมโนอะมีน โดยยกเว้น agomelatine ซึ่งมีผลต่อวิถีประสาททั้งแบบเมลาโทนินและเซโรโทนิน[49] สมมติฐานโมโนอะมีนแม้จะยอมรับกันอย่างกว้างขวางแต่ก็มีข้อจำกัด อย่างแรกก็คือ ยาแก้ซึมเศร้าที่มีผลต่อระบบโมโนอะมีนทั้งหมดออกฤทธิ์ช้าอย่างน้อยก็เป็นอาทิตย์ และอย่างที่สองคือ มีคนไข้เป็นจำนวนมาก (>40%) ที่ไม่ตอบสนองในระดับที่ควรต่อยาแก้ซึมเศร้าที่ออกฤทธิ์ต่อระบบโมโนอะมีน[138][139] จึงมีสมมติฐานอื่น ๆ ที่เสนอ รวมทั้งสมมติฐานระบบกลูตาเมต สมมติฐานกำเนิดประสาท สมมติฐานอีพีเจเนติกส์ สมมติฐานคอร์ติซอลหลั่งเกิน สมมติฐานการอักเสบ[138][139][140][141]
กลุ่มยา
[แก้]Selective serotonin reuptake inhibitors
[แก้]ยากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) เชื่อว่าเพิ่มระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนินนอกเซลล์โดยจำกัดการนำไปใช้ใหม่ (reuptake) ของเซลล์ประสาทก่อนไซแนปส์ (presynaptic) เป็นการเพิ่มระดับเซโรโทนินในช่องไซแนปส์ซึ่งสามารถเข้ายึดกับตัวรับของเซลล์หลังไซแนปส์ (postsynaptic) โดยมีฤทธิ์ยับยั้งโปรตีนขนส่งโมโนอะมีนอื่น ๆ ในระดับต่าง ๆ ฉะนั้น SSRIs ที่บริสุทธิ์จะมีสัมพรรคภาพ (affinity) ที่อ่อนต่อโปรตีนขนส่งนอร์เอพิเนฟรินและโดพามีน
SSRIs เป็นยาแก้ซึมเศร้าที่แพทย์สั่งมากที่สุดในหลาย ๆ ปรเทศ[142] แต่ว่า ประสิทธิผลของยาแก้ซึมเศร้าต่อโรคขั้นอ่อนถึงปานกลางยังไม่ชัดเจน[143][144][145]
Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors
[แก้]Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการนำไปใช้ใหม่ (reuptake) ของทั้งสารสื่อประสาทเซโรโทนินและนอร์เอพิเนฟริน เป็นสารสื่อประสาทที่มีบทบาทสำคัญต่อพื้นอารมณ์ เป็นยาที่เทียบได้กับยากลุ่ม SSRI ที่นิยมกว่า ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบเซโรโทนินเท่านั้น
โปรตีน serotonin transporter (SERT) และ norepinephrine transporter (NET) เป็นโปรตีนเยื่อหุ้มเซลล์ (membrane protein) ที่นำเซโรโทนินและนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่ และการยับยั้งการนำโมโนอะมีนทั้งสองแบบไปใช้ใหม่อย่างสมดุลอาจทำให้ยามีประโยชน์เหนือกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ เพราะสามารถบำบัดอาการต่าง ๆ ได้มากกว่า[146]
SNRIs บางครั้งก็ใช้รักษาโรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) โรคสมาธิสั้น (ADHD) ความเจ็บปวดเหตุประสาทเรื้อรัง (chronic neuropathic pain) อาการไฟโบรไมอัลเจีย (FMS) และอาการวัยหมดระดูด้วย
Serotonin modulators and stimulators
[แก้]Serotonin modulator and stimulators (SMSs) หรือบางครั้งเรียกสั้น ๆ ว่า serotonin modulators เป็นยาที่มีฤทธิ์หลายอย่างต่อระบบสารสื่อประสาทเซโรโทนินโดยเฉพาะ คือ SMSs จะทั้งควบคุมตัวรับเซโรโทนินของเซลล์อย่างน้อยประเภทหนึ่ง และยับยั้งการนำเซโรโทนินไปใช้ใหม่ด้วย ชื่อของยาบัญญัติเพื่อแสดงกลไกการทำงานของยาแก้ซึมเศร้าที่ออกฤทธิ์ต่อระบบเซโรโทนิน คือ vortioxetine ซึ่งมีฤทธิ์เป็น serotonin reuptake inhibitor (SRI) โดยเป็นตัวทำการแบบบางส่วน (partial agonist) ของตัวรับ 5-HT1A และเป็นตัวต้าน (antagonist) ของตัวรับ 5-HT3 และ 5-HT7[147][148][149]
แต่ว่าโดยเทคนิคแล้ว ชื่อก็สามารถใช้กับยา vilazodone ได้เช่นกัน ซึ่งมีฤทธิ์เป็น SRI และเป็นตัวทำการเป็นบางส่วนของตัวรับ 5-HT1A[150] แต่ vilazodone ก็มีอีกชื่อหนึ่งที่ใช้กับยาได้โดยเฉพาะ คือ serotonin partial agonist/reuptake inhibitor (SPARI)[151]
Serotonin antagonists and reuptake inhibitors
[แก้]Serotonin antagonist and reuptake inhibitors (SARIs) แม้จะใช้เป็นยาแก้ซึมเศร้าโดยหลัก แต่ก็ใช้เป็นยาคลายกังวล (anxiolytic) และยานอนหลับ (hypnotic) ด้วย โดยมีฤทธิ์ต้านตัวรับเซโรโทนิน เช่น ตัวรับ 5-HT2A และมีฤทธิ์ยับยั้งการนำเซโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และ/หรือโดพามีน ไปใช้ใหม่ นอกจากนั้นแล้ว ยาโดยมากยังมีฤทธิ์ต้านตัวรับแบบ alpha-1 adrenergic ยา SARIs ที่วางตลาดโดยมากขณะนี้เป็นยากลุ่ม phenylpiperazine
Norepinephrine reuptake inhibitors
[แก้]Norepinephrine reuptake inhibitors (NRIs หรือ NERIs) เป็นยามีฤทธิ์ยับยั้งการนำสารสื่อประสาทนอร์เอพิเนฟริน (noradrenaline) ไปใช้ใหม่ โดยหยุดการทำงานของโปรตีนขนส่ง norepinephrine transporter (NET) ซึ่งมีผลเพิ่มระดับนอร์เอพิเนฟรินนอกเซลล์ประสาท NRIs ใช้อย่างสามัญเพื่อรักษาโรคสมาธิสั้น (ADHD) กับภาวะง่วงเกิน (narcolepsy) เนื่องจากมีฤทธิ์กระตุ้น (psychostimulant) และรักษาโรคอ้วนเนื่องจากฤทธิ์ระงับความอยากอาหาร และก็บ่อยครั้งใช้เป็นยาแก้ซึมเศร้าสำหรับโรคซึมเศร้า (MDD) โรควิตกกังวล และโรคตื่นตระหนก นอกจากนั้นแล้ว ยาเสพติดหลายอย่าง เช่น โคเคนและ methylphenidate ก็มีฤทธิ์เป็น NRI ด้วย แม้ควรจะสังเกตว่า สาร NRI ที่ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการนำโดพามีนไปใช้ใหม่ไม่ได้ทำให้เกิดความสุขอย่างสำคัญ และดังนั้น จึงพิจารณาว่ามีโอกาสใช้เป็นสารเสพติดน้อย[152][153] แต่ว่า เมื่อยามีฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทคือนอร์เอพิเนฟรินและโดพามีนพร้อม ๆ กัน เช่น ยา norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor (NDRI) ก็จะทำให้เกิดความสุขพอให้ใช้เป็นสารเสพติด[154]
Tricyclic antidepressants
[แก้]ยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม tricyclic (TCA) โดยมากมีฤทธิ์เป็น serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) โดยหยุดโปรตีนขนส่ง serotonin transporter (SERT) และ norepinephrine transporter (NET) ซึ่งเพิ่มระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนินและนอร์เอพิเนฟรินในช่องไซแนปส์ และเพิ่มการสื่อประสาทที่ใช้สารนั้น ๆ[155][156] ที่น่าสังเกตก็คือ ยกเว้นยา amineptine ยากลุ่ม TCA มีสัมพรรคภาพ (affinity) ที่ต่ำมากกับโดพามีนทรานสปอตเตอร์ (DAT) และดังนั้นจึงไม่มีฤทธิ์เป็น dopamine reuptake inhibitor (DRI)[155] ทั้งเซโรโทนินและนอร์เอพิเนฟรินมีหลักฐานว่ามีผลต่อโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล และมีหลักฐานด้วยว่า การช่วยการทำงานของการสื่อประสาททั้งสองระบบมีประโยชน์ต่อความผิดปกติทางจิตเหล่านี้[157]
แม้ว่า แพทย์บางครั้งจะสั่งยา TCA เพื่อโรคซึมเศร้า แต่ปัจจุบันโดยมากแพทย์จะสั่งยาแก้ซึมเศร้าที่ใหม่กว่า เช่น ยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI), serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor (SNRI), และ norepinephrine reuptake inhibitor (NRI) โดย TCA และ SSRI มีผลข้างเคียงในระดับเดียวกัน ตามข้อมูลของงานวิเคราะห์อภิมานปี 2541[158]
Tetracyclic antidepressants
[แก้]Tetracyclic antidepressants (TeCAs) เป็นยาแก้ซึมเศร้ากลุ่มหนึ่งที่พัฒนาขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1970 โดยมีชื่อตามโครงสร้างทางเคมี ซึ่งเป็นโมเลกุลรูปวงแหวน 4 วง และมีโครงสร้างสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับยากลุ่ม tricyclic (TCAs) ซึ่งเป็นโมเลกุลรูปวงแหวน 3 วง
Monoamine oxidase inhibitors
[แก้]Monoamine oxidase inhibitors (MAOIs) เป็นสารเคมีที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ตระกูล monoamine oxidase เป็นยาที่มีประวัติยาวนานในการใช้รักษาโรคซึมเศร้า โดยมีประสิทธิผลอย่างพิเศษสำหรับโรคแบบ atypical[159] และสามารถใช้รักษาโรคพาร์คินสันและโรคอื่น ๆ ได้อีกด้วย
แต่ว่าเพราะยาสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับอาหารและยาอื่น ๆ ที่อาจทำให้เสียชีวิต จึงมักจะใช้เป็นลำดับสุดท้ายในการรักษา เมื่อยากลุ่มอื่น ๆ (เช่น SSRI และ TCA) ไม่สามารถรักษาได้[160]
MAOIs มีประสิทธิผลในการรักษาโรคตื่นตระหนกที่เป็นไปกับโรคกลัวที่ชุมชน[161], โรคกลัวสังคม (social phobia)[162][163][164], โรคซึมเศร้าแบบ atypical[165][166], โรควิตกกังวลผสมกับโรคซึมเศร้า, โรคหิวไม่หายแบบทานแล้วอาเจียน (bulimia)[167][168][169][170], ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD)[171], และความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (BPD)[172] MAOIs ดูเหมือนจะมีประสิทธิผลเป็นพิเศษกับโรคอารมณ์สองขั้วตามงานวิเคราะห์ย้อนหลังปี 2552 งานหนึ่ง[173] มีรายงานว่า MAOI มีประสิทธิผลต่อโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) โรคถอนผม (trichotillomania) โรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ (dysmorphophobia) และความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง (avoidant personality disorder) แม้ว่าจะมาจากรายงานคนไข้ที่ไม่มีกลุ่มควบคุม[174]
MAOI สามารถใช้รักษาโรคพาร์คินสันเพราะออกฤทธิ์ต่อ MAO-B โดยเฉพาะ (และดังนั้น มีผลต่อเซลล์ประสาทที่สื่อประสาทโดยโดพามีน) และสามารถใช้เป็นการรักษาทางเลือกเพื่อป้องกันไมเกรน ฤทธิ์ยับยั้งทั้ง MAO-A และ MAO-B สามารถใช้เพื่อรักษาโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล
การเสริมยา (Adjuncts)
[แก้]การใช้ยาเสริมมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มฤทธิ์ของยาแก้ซึมเศร้า[175] โดยมีผลต่อตัวแปรใกล้ ๆ ยาแก้ซึมเศร้า บ่อยครั้งโดยมีกลไกออกฤทธิ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งสามารถลองได้ถ้าวิธีการรักษาโรคก่อน ๆ ไม่สำเร็จ
มีเทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้รวมทั้ง
- ทานยาแก้ซึมเศร้า 2 ชุดหรือมากกว่านั้น
- เป็นยากลุ่มเดียวกัน ดังนั้นจึงมีผลต่อบริเวณเดียวกันในสมองในระดับที่สูงกว่า
- เป็นยาคนละกลุ่ม ดังนั้นจึงมีผลต่อบริเวณสมองหลายเขตที่ยากลุ่มเดียวไม่สามารถมีผล
- ยารักษาโรคจิต (antipsychotic) รวมกับยาแก้ซึมเศร้า โดยเฉพาะยารักษาโรคจิตแบบ atypical เช่น aripiprazole, quetiapine, olanzapine, และ ริสเปอริโดน[176]
การเสริมแบบไม่สามัญ
[แก้]มีการใช้ Lithium เสริมยาแก้ซึมเศร้าในบุคคลที่ไม่ตอบสนองต่อยาแก้ซึมเศร้าอย่างเดียว[177] นอกจากนั้นแล้ว lithium ยังสามารถลดความเสี่ยงฆ่าตัวตายอย่างยิ่งในโรคซึมเศร้าแบบเป็นซ้ำ ๆ[178] มีหลักฐานให้ใช้ฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ คือ ไตรไอโอโดไทโรนีน เป็นยาเพิ่มสำหรับคนไข้ที่ต่อมไทรอยด์ปกติ[179] นักวิชาการด้านจิตเภสัชวิทยาผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งอ้างว่า การใช้ยากระตุ้นทางจิต (psychostimulant) โดยเฉพาะ Dextroamphetamine (ซึ่งเป็นส่วนประกอบของยาบ้า) เป็น "กลยุทธ์การเพิ่มยาแบบคลาสสิกสำหรับโรคซึมเศร้าที่ดื้อการรักษา"[180] แต่ว่า การใช้ยากระตุ้นสำหรับโรคซึมเศร้าที่ดื้อการรักษาก็เป็นเรื่องขัดแย้งยังไม่ยุติ[181][182] งานทบทวนวรรณกรรมปี 2550 พบว่า ยากระตุ้นทางจิตอาจมีประสิทธิผลต่อโรคซึมเศร้าที่ดื้อการรักษาถ้าใช้กับยาแก้ซึมเศร้า แต่การสรุปที่ชัดเจนทำไม่ได้เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอเพื่อใช้พิจารณา และผลที่ได้ในหลักฐานต่าง ๆ ก็ขัดแย้งกัน[182]
ประวัติ
[แก้]ก่อนคริสต์ทศวรรษ 1950 มีการใช้สารแบบโอปิออยด์และแอมเฟตามีนเพื่อแก้ซึมเศร้าอย่างสามัญ[183][184] ต่อมาจึงจำกัดใช้เนื่องจากการติดและผลข้างเคียงอื่น ๆ[183] มีการใช้ยาที่สกัดมาจากไม้ล้มลุก Hypericum perforatum (St John's wort) เป็น "ยาบำรุงประสาท (nerve tonic)" เพื่อบรรเทาความซึมเศร้า[185]
Isoniazid, iproniazid, และ imipramine
[แก้]ในปี พ.ศ. 2494 นายแพทย์ชาวอเมริกัน 2 คน (Irving Selikoff และ Edward Robitzek) เมื่อทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลวัณโรคในเกาะสแตเทนได้เริ่มงานทดลองทางคลินิกกับยาต้านวัณโรคที่พัฒนาโดยบริษัท Hoffman-LaRoche คือ isoniazid และ iproniazid คนไข้ที่มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดีเท่านั้นที่ได้การรักษาในเบื้องต้น แต่ว่า อาการของโรคดีขึ้นอย่างสำคัญ แพทย์ทั้งสองให้ข้อสังเกตว่า "มีการกระตุ้นทั่วไปแบบละเอียดแยบยล ... คนไข้กลับมีความกระฉับกระเฉง และนี่บางครั้งกลายเป็นเรื่องสร้างปัญหาทางระเบียบวินัย"[186] และความหวังว่าวัณโรคจะรักษาได้ก็เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนพูดถึงอย่างตื่นเต้น
อีกปีต่อมา เมื่อรู้ถึงผลกระตุ้นของ isoniazid จิตแพทย์ชาวอเมริกันคนหนึ่ง (Max Lurie) จึงลองยานี้กับคนไข้ของเขา ในปีต่อมา เขากับเพื่อนอีกคนหนึ่งรายงานว่า isoniazid ทำอาการโรคซึมเศร้าให้ดีขึ้นในคนไข้ 2 ใน 3 และบัญญัติการออกฤทธิ์เช่นนี้ว่า "แก้ซึมเศร้า" (antidepressant)[187] หัวหน้าจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลฝรั่งเศสคนหนึ่ง (Jean Delay) ก็ได้ผลเช่นเดียวกันกับคนไข้ของเขา และได้รายงานผลบวกที่พบแม้ก่อนแพทย์อเมริกันทั้งสอง[188] กลไกของฤทธิ์แก้ซึมเศร้าของ isoniazid ก็ยังไม่ชัดเจนตราบเท่าทุกวันนี้ โดยมีสันนิษฐานว่า มาจากการยับยั้งเอนไซม์ diamine oxidase และการยับยั้งแบบอ่อน ๆ ต่อเอนไซม์ monoamine oxidase A[189]
แพทย์ทั้งสองที่เกาะสแตเทนได้ทดลองยาแก้วัณโรคอีกอย่างคือ iproniazid ซึ่งมีผลกระตุ้นทางจิตที่แรงกว่า แต่ว่ายาก็มีพิษมากกว่า[190] ต่อมา จึงมีแพทย์ที่แสดงผลของการประยุกต์ใช้ iproniazid ทางจิตเวช แล้วแสดงว่ามีฤทธิ์เป็น monoamine oxidase inhibitor (MAOI) ที่มีกำลัง[191] แต่ว่า ยาก็ยังไม่ค่อยมีชื่อเสียงจนกระทั่งนายแพทย์รัฐนิวยอร์กทรงอิทธิพลท่านหนึ่ง สร้างความนิยมทั้งในวรรณกรรมทางแพทย์และทางสื่อว่าเป็นยาเพิ่มกำลังทางจิต (psychic energizer)[191][192] บริษัทจึงได้พยายามทำการตลาดอย่างจริงจังกับยานี้[191] ซึ่งยอดขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถูกเรียกกลับในปี 2504 เพราะความเป็นพิษต่อตับที่อาจถึงตาย[191]
ในปี 2500 จิตแพทย์ชาวสวิสคนหนึ่ง (Roland Kuhn) ได้พบว่า สารประกอบ tricyclic ที่มีโครงสร้างเป็นวงแหวน 3 วง มีฤทธิ์แก้ซึมเศร้า ในขณะนั้น สารอนุพันธ์ของสารต้านฮิสทามีน เป็นยาที่ใช้เพื่อบำบัดอาการช็อคที่เกิดจากการผ่าตัดและภายหลังเป็นยารักษาโรคจิต (neuroleptics) แม้ว่าในปี 2498 จะมีหลักฐานว่า reserpine มีประสิทธิผลมากกว่ายาหลอกในการบรรเทาความซึมเศร้าแบบวิตกกังวล ยารักษาโรคจิตทั้งหมดรวมทั้ง reserpine ก็กำลังโปรโหมตเพื่อใช้เป็นยาระงับประสาท (sedatives) และยารักษาโรคจิต (antipsychotics) ไม่ใช่เพื่อเป็นยาแก้ซึมเศร้า
เมื่อพยายามเพิ่มประสิทธิผลของยาโรคจิต chlorpromazine จิตแพทย์ชาวสวิสร่วมกับบริษัท Geigy (ปัจจุบัน Norvatis) ค้นพบสารประกอบกลุ่ม tricyclic ที่เรียกว่า "G 22355" ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น imipramine เป็นสารที่มีผลดีต่อคนไข้โรคซึมเศร้าที่มีอาการความเชื่องช้าทางจิตและการเคลื่อนไหว นายแพทย์ได้เรียกสารประกอบนี้ว่า "thymoleptic" ซึ่งแปลว่า "จับอารมณ์" เทียบกับคำว่า "neuroleptic" ซึ่งแปลว่า "จับประสาท" ในที่สุดบริษัท Häfliger and SchinderA ก็ได้จดสิทธิบัตรแล้วเริ่มผลิตในสหรัฐอเมริกาในปี 2494[193]
ยาแก้ซึมเศร้ารุ่นสอง
[แก้]ยาแก้ซึมเศร้าได้กลายเป็นยาที่หมอต้องสั่งในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 มีการประเมินว่า มีคนไม่เกิน 50-100 คนในล้านคนที่มีโรคซึมเศร้าที่ยาใหม่นี้สามารถรักษา ดังนั้นบริษัทจึงไม่ค่อยอยากจะวางตลาดขายยาสำหรับกลุ่มคนจำนวนน้อยนี้ ยอดขายตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ไม่ดีเทียบกับยาสงบประสาท (tranquilizer)[194] ซึ่งวางตลาดเพื่อให้ใช้ต่างกัน[195] Imipramine จึงดำรงใช้อย่างสามัญและมียารุ่นต่อ ๆ มาที่พัฒนาขึ้นมาสืบต่อ ต่อมาการใช้ยากลุ่ม monoamine oxidase inhibitors (MAOI) จึงเพิ่มขึ้นหลังจากที่พัฒนายาแบบ reversible ซึ่งยับยั้งเอนไซม์แบบ MAO-A เท่านั้น และทำให้ยาปลอดภัยขึ้น[195][196]
โดยคริสต์ทศวรรษ 1960 เชื่อกันว่า ยากลุ่ม tricyclic ทำงานโดยยับยั้งการนำนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่ (reuptake) แต่ว่า ต่อมา การนำนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่ปรากฏว่าสัมพันธ์กับผลแบบกระตุ้น ต่อมาในปี 2512 จึงมีแพทย์ 2 กลุ่ม (Carlsson and Lindqvist, Lapin and Oxenkrug) ที่เสนอว่า ยามีผลต่อระบบเซโรโทนิน
นักวิจัยเริ่มใช้วิธีการค้นพบยาแบบ rational drug design (ที่ใช้ความเข้าใจเกี่ยวกับโมเลกุลเป้าหมายในการเลือกยาที่จะทดลอง) เพื่อสกัดเอาสารอนุพันธ์ของสารต้านฮิสทามีนที่จะออกฤทธิ์เฉพาะต่อระบบประสาทที่เกี่ยวข้อง สารประกอบแรกที่ได้สิทธิบัตรโดยวิธีนี้ก็คือ zimelidine ในปี 2514 และยาที่วางตลาดเพื่อรักษาแรกก็คือ indalpine และในปี 2531 องค์การอาหารและยาสหรัฐได้อนุมัติยากลุ่ม SSRI ชนิดแรกคือ ฟลูอ๊อกซิติน ซึ่งเป็นยา SSRI ที่มียอดขายเกินพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีชนิดแรก กลุ่มนักวิจัยรวมทั้ง ดร. เดวิด ที วอง (ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปี 2554) ได้พัฒนาฟลูอ๊อกซิตินขึ้นที่บริษัท Eli Lilly and Company ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970[197][198] SSRI จึงกลายมาเป็น "ยาแก้ซึมเศร้ารุ่นใหม่" ร่วมกับยาใหม่กลุ่มอื่น ๆ เช่น SNRI และ NRI ที่มีสัมพรรคภาพ (affinity) กับระบบเป้าหมายต่าง ๆ กัน[199]
ส่วนยาสมุนไพรจากพืชล้มลุก Hypericum perforatum (St John's wort) กลายเป็นยาที่ไม่ค่อยได้ใช้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ยกเว้นในประเทศเยอรมนีที่ในที่สุดก็มีสารสกัดที่ได้รับอนุมัติและวางขาย มีงานทดลองประสิทธิผลขนาดเล็กในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980 แล้วในที่สุดก็ได้ความสนใจมากขึ้นหลังจากงานวิเคราะห์อภิมานปี 1996 งานหนึ่งที่ตรวจดูงานทดลองทางคลินิกแบบสุ่มที่ผ่าน ๆ มา[200] แต่ก็ยังเป็นยาที่วางขายโดยไม่ต้องอาศัยใบสั่งแพทย์ในประเทศต่าง ๆ โดยมาก และก็ยังมีงานวิจัยที่ดำเนินต่อไปเพื่อตรวจสอบประสิทธิผลของส่วนประกอบที่ออกฤทธิ์ของสมุนไพรคือ hyperforin และเพื่อเข้าใจกลไกการทำงานของมัน[201][202]
สังคมและวัฒนธรรม
[แก้]การสั่งยา
[แก้]ในประเทศสหรัฐอเมริกา ยาแก้ซึมเศร้าเป็นยาที่หมอสั่งมากที่สุดในปี 2556[203] มีคนไข้ระยะยาว (เกิน 24 เดือน) ประมาณ 16 ล้านคน โดยที่ 70% เป็นหญิง[203]
ส่วนในสหราชอาณาจักร ตัวเลขที่รายงานในปี 2553 แสดงว่า ระบบสาธารณสุข (National Health Service) เพิ่มการสั่งยาแก้ซึมเศร้าเป็นทวีคูณในช่วงทศวรรษเดียว[204] งานวิเคราะห์ที่พิมพ์ในปี 2557 แสดงว่า ในช่วง 14 ปีระหว่างปี 2541-2555 ใบสั่งยาเพิ่มจาก 15 ล้านชุดไปเป็น 40 ล้านชุด และประมาณ 50% ของจำนวนยาที่เพิ่มขึ้นเกิดภายใน 4 ปีหลังจากวิกฤตการณ์การเงิน พ.ศ. 2550–2551 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อัตราสั่งยาแก้ซึมเศร้าเพิ่มจาก 6.7% ไปเป็น 8.5%[205] แหล่งข้อมูลเหล่านี้เสนอว่า นอกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจมีอิทธิพลต่ออัตราการสั่งยารวมทั้งการวินิจฉัยที่ดีขึ้น การลดตราบาปทางสังคมเกี่ยวกับโรคจิต แนวโน้มการสั่งยาทั่วไป ลักษณะต่าง ๆ ของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป เขตภูมิภาค และสถานะด้านที่อยู่อาศัย ปัจจัยอีกอย่างก็คือ ยาเหล่านี้เดี๋ยวนี้ใช้รักษาแก้โรคอื่น ๆ รวมทั้ง โรควิตกกังวลทางสังคม (social anxiety) และความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD)
ยาที่สั่งมากที่สุด
[แก้]ประเทศสหรัฐอเมริกา - ยาแก้ซึมเศร้าที่สั่งมากที่สุดในตลาดปลีกสหรัฐปี 2553 คือ[206][207]
ชื่อยา | ชื่อการค้า | กลุ่มยา (class) | จำนวนสั่ง |
Sertraline | Zoloft | SSRI | 33,409,838 |
Citalopram | Celexa | SSRI | 27,993,635 |
Fluoxetine | Prozac | SSRI | 24,473,994 |
Escitalopram | Lexapro | SSRI | 23,000,456 |
Trazodone | Desyrel | SARI | 18,786,495 |
Venlafaxine (ทุกแบบ) | Effexor (IR, ER, XR) | SNRI | 16,110,606 |
Bupropion (all formulations) | Wellbutrin (IR, ER, SR, XL) | NDRI | 15,792,653 |
Duloxetine | Cymbalta | SNRI | 14,591,949 |
Paroxetine | Paxil | SSRI | 12,979,366 |
Amitriptyline | Elavil | TCA | 12,611,254 |
Venlafaxine XR | Effexor XR | SNRI | 7,603,949 |
Bupropion XL | Wellbutrin XL | NDRI | 7,317,814 |
Mirtazapine | Remeron | TeCA | 6,308,288 |
Venlafaxine ER | Effexor XR | SNRI | 5,526,132 |
Bupropion SR | Wellbutrin SR | NDRI | 4,588,996 |
Desvenlafaxine | Pristiq | SNRI | 3,412,354 |
Nortriptyline | Sensoval | TCA | 3,210,476 |
Bupropion ER | Wellbutrin XL | NDRI | 3,132,327 |
Venlafaxine | Effexor | SNRI | 2,980,525 |
Bupropion | Wellbutrin IR | NDRI | 753,516 |
ประเทศเนเธอร์แลนด์ - paroxetine (SSRI) โดยขายเป็นยาสามัญ เป็นยาแก้ซึมเศร้าที่สั่งมากที่สุดตามด้วย amitriptyline (TCA), citalopram (SSRI) และ venlafaxine (SNRI)[208]
มุมมองทางสังคมศาสตร์
[แก้]นักวิชาการบางท่านเน้นความจำเป็นในการตรวจดูการใช้ยาแก้ซึมเศร้าและวิธีการรักษาโรคอื่น ๆ แบบข้ามวัฒนธรรมต่าง ๆ เพราะวัฒนธรรมต่าง ๆ มองการปรากฏ อาการ ความหมาย และความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของโรคซึมเศร้าและของโรคอื่น ๆ แตกต่างกัน[209][210] และความแตกต่างทางวัฒนธรรมเช่นนี้ มีผลต่อประสิทธิผลที่เห็นและต่อการใช้ยาแก้ซึมเศร้าและกลยุทธ์อื่น ๆ เพื่อรักษาโรคในวัฒนธรรมต่าง ๆ[209][210] ในประเทศอินเดีย ยาแก้ซึมเศร้ามองว่าเป็นตัวช่วยสู้การไม่มีส่วนในสังคม โดยให้สัญญากับคนไข้ว่าจะสามารถกลับคืนสู่สังคมด้วยการใช้ยา ซึ่งเป็นมุมมองที่ประเทศตะวันตกไม่มี[209]
ผลทางสิ่งแวดล้อม
[แก้]ฟลูอ๊อกซิตินที่ใช้ทานประมาณ 10% ขับออกจากร่างกายโดยไม่เปลี่ยนแปลง หรือโดยเป็น glucuronide (เป็นสารที่ยึดกับกรด glucuronic ผ่านพันธะ glycosidic)[211][212] และเพราะว่า ยาแก้ซึมเศร้าทำงานโดยยับยั้งการนำสารสื่อประสาทเซโรโทนิน โดพามีน และนอร์เอพิเนฟริน ไปใช้ใหม่[213] ยาเหล่านี้จึงสามารถกวนระดับสารสื่อประสาทตามธรรมชาติในสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ได้รับยาโดยอ้อม[214]
มีการตรวจจับยาแก้ซึมเศร้าฟลูอ๊อกซิตินและ sertraline ในสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำซึ่งมากไปด้วยน้ำเสีย[215] การพบยาแก้ซึมเศร้าในน้ำผิวดินและในสิ่งมีชีวิตในน้ำทำให้เป็นห่วงเพราะมีหลักฐานที่แสดงว่า เกิดผลเป็นพิษต่อระบบนิเวศดังที่พบในสิ่งมีชีวิตที่ได้รับฟลูอ๊อกซิติน[216] เช่นมีหลักฐานว่า ปลาพืดหินปะการังควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าวผ่านระบบประสาทแบบเซโรโทนิน[217] การได้รับฟลูอ๊อกซิตินเพิ่มการทำงานของระบบประสาทแบบเซโรโทนินของปลา ทำให้ลดพฤติกรรมก้าวร้าว[218]
การเพิ่มระดับเซโรโทนินที่ไม่เป็นธรรมชาติในสัตว์พวกกุ้งกั้งปูสามารถกลับสถานะสังคมของสัตว์แบบชั่วคราว โดยเปลี่ยนสัตว์ที่ด้อยกว่าให้กลายเป็นสัตว์เด่นที่ก้าวร้าวและหวงเขต[219] การได้รับฟลูอ๊อกซิตินในช่วงเวลาเกิดในระดับความเข้มข้นที่ถึงขีดทำให้การประมวลความจำของหมึกกระดองอายุ 1 เดือนเปลี่ยนไป[220] ซึ่งอาจเป็นความพิการที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์และลดระดับการรอดชีวิต
ดูเพิ่ม
[แก้]เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ "antidepressant", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕,
๑. ยาแก้ซึมเศร้า ๒. -แก้ซึมเศร้า
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Linde, K; Kriston, L; Rücker, G; Jamila, S; Schumann, I; Meissner, K; Sigterman, K; Schneider, A (Feb 2015). "Efficacy and acceptability of pharmacological treatments for depressive disorders in primary care: systematic review and network meta-analysis". Ann Fam Med. 13 (1): 69–79. doi:10.1370/afm.1687. PMC 4291268. PMID 25583895.
In network meta-analysis, tricyclic and tetracyclic antidepressants (TCAs), selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs), a serotonin-noradrenaline reuptake inhibitor (SNRI; venlafaxine), a low-dose serotonin antagonist and reuptake inhibitor (SARI; trazodone) and hypericum extracts were found to be significantly superior to placebo, with estimated odds ratios between 1.69 and 2.03. There were no statistically significant differences between these drug classes. Reversible inhibitors of monoaminoxidase A (rMAO-As) and hypericum extracts were associated with significantly fewer dropouts because of adverse effects compared with TCAs, SSRIs, the SNRI, a noradrenaline reuptake inhibitor (NRI), and noradrenergic and specific serotonergic antidepressant agents (NaSSAs). ... TCAs and SSRIs have the most solid evidence base. Further agents (hypericum, rMAO-As, SNRI, NRI, NaSSAs, SARI) showed some positive results, but limitations of the currently available evidence makes a clear recommendation on their place in clinical practice difficult.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 Linde, K; Berner, MM; Kriston, L (2008). "St John's wort for major depression". Cochrane Database Syst Rev (4): CD000448. doi:10.1002/14651858.CD000448.pub3. PMID 18843608.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Hamilton, M (1960). "A rating scale for depression". J. Neurol. Neurosurg. Psychiatr. 23: 56–62. doi:10.1136/jnnp.23.1.56. PMC 495331. PMID 14399272.
- ↑ แนวทางการจัดการโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป, "ALGORITHM 1 ASSESSMENT OF MAJOR DEPRESSIVE DISORDER", หน้า 15
- ↑ "Depression in adults: The treatment and management of depression in adults". NICE guidelines [CG90]. National Institute for Health and Care Excellence (UK). Oct 2009. สืบค้นเมื่อ 2015-09-23.
- ↑ "PsychiatryOnline | APA Practice Guidelines | Practice Guideline for the Treatment of Patients With Major Depressive Disorder, Third Edition". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-19. สืบค้นเมื่อ 2016-10-03.
- ↑ แนวทางการจัดการโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป, "Summary of Recommendations", หน้า 13-14
- ↑ แนวทางการจัดการโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป Appendix 11, หน้า 62-63
- ↑ Kirsch, I; Moore, TJ; Scoboria, A; Nicholls, SS (2002). "The emperor's new drugs: An analysis of antidepressant medication data submitted to the U.S. Food and Drug Administration". Prevention & Treatment. 5. doi:10.1037/1522-3736.5.1.523a.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "Study: Antidepressant barely better than placebo". USA Today. 2002-07-07. สืบค้นเมื่อ 2008-11-06.
- ↑ Kirsch, I; Deacon, BJ; Huedo-Medina, TB; Scoboria, A; Moore, TJ; Johnson, BT (2008). "Initial Severity and Antidepressant Benefits: A Meta-Analysis of Data Submitted to the Food and Drug Administration". PLoS Medicine. 5 (2): e45. doi:10.1371/journal.pmed.0050045. PMC 2253608. PMID 18303940.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Fournier, JC; DeRubeis, RJ; Hollon, SD และคณะ (Jan 2010). "Antidepressant drug effects and depression severity: a patient-level meta-analysis". JAMA. 303 (1): 47–53. doi:10.1001/jama.2009.1943. PMC 3712503. PMID 20051569.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Borges, S; Chen, YF; Laughren, TP; Temple, R; Patel, HD; David, PA; Mathis, M; Unger, E; Yang, P; Khin, NA (2014). "Review of maintenance trials for major depressive disorder: a 25-year perspective from the US Food and Drug Administration". J Clin Psychiatry. 75 (3): 205–14. doi:10.4088/JCP.13r08722. PMID 24717376.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "Depression in Adults (update)" (PDF). National Collaborating Centre for Mental Health Commissioned by the National Institute for Health and Care Excellence. www.nice.org.uk. pp. 282–292. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-06-12. สืบค้นเมื่อ 2013-11-20.
- ↑ Leucht, C; Huhn, M; Leucht, S (2012). Leucht, C (บ.ก.). "Amitriptyline versus placebo for major depressive disorder". Cochrane Database of Systematic Reviews. 12: CD009138. doi:10.1002/14651858.CD009138.pub2. PMID 23235671.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Zhou, X; Ravindran, AV; Qin, B; Del Giovane, C; Li, Q; Bauer, M; Liu, Y; Fang, Y; da Silva, T; Zhang, Y; Fang, L; Wang, X; Xie, P (Apr 2015). "Comparative efficacy, acceptability, and tolerability of augmentation agents in treatment-resistant depression: systematic review and network meta-analysis". J Clin Psychiatry. 76 (4): e487-98. doi:10.4088/JCP.14r09204. PMID 25919841.
Quetiapine and aripiprazole appear to be the most robust evidence-based options for augmentation therapy in patients with treatment-resistant depression
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Walsh, BT; Seidman, SN; Sysko, R; Gould, M (2002). "Placebo Response in Studies of Major Depression: Variable, Substantial, and Growing". JAMA. 287 (14): 1840–7. doi:10.1001/jama.287.14.1840. PMID 11939870.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Freeman, MP; Mischoulon, D; Tedeschini, E; Goodness, T; Cohen, LS; Fava, M; Papakostas, GI (2010). "Complementary and alternative medicine for major depressive disorder: a meta-analysis of patient characteristics, placebo-response rates, and treatment outcomes relative to standard antidepressants". J Clin Psychiatry. 71 (6): 682–8. doi:10.4088/JCP.10r05976blu. PMID 20573327.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Lee, K; Bacchetti, P; Sim, I (2008). Clarke, Mike (บ.ก.). "Publication of Clinical Trials Supporting Successful New Drug Applications: A Literature Analysis". PLoS Medicine. 5 (9): e191. doi:10.1371/journal.pmed.0050191. PMC 2553819. PMID 18816163.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Whittington, CJ; Kendall, T; Fonagy, P; Cottrell, D; Cotgrove, A; Boddington, E (2004). "Selective serotonin reuptake inhibitors in childhood depression: Systematic review of published versus unpublished data". The Lancet. 363 (9418): 1341–5. doi:10.1016/S0140-6736(04)16043-1. PMID 15110490.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Ebrahim, Shanil (2015). "Meta-analyses with industry involvement are massively published and report no caveats for antidepressants". Journal of Clinical Epidemology. doi:10.1016/j.jclinepi.2015.08.021. PMID 26399904.
- ↑ Gibbons, RD; Hur, K; Brown, CH; Davis, JM; Mann, JJ (June 2012). "Benefits from antidepressants: synthesis of 6-week patient-level outcomes from double-blind placebo-controlled randomized trials of fluoxetine and venlafaxine". Archives of General Psychiatry. 69 (6): 572–9. doi:10.1001/archgenpsychiatry.2011.2044. PMC 3371295. PMID 22393205.
- ↑ Taylor, MJ; Freemantle, N; Geddes, JR; Bhagwagar, Z (2006). "Early Onset of Selective Serotonin Reuptake Inhibitor Antidepressant Action: Systematic Review and Meta-analysis". Archives of General Psychiatry. 63 (11): 1217–23. doi:10.1001/archpsyc.63.11.1217. PMC 2211759. PMID 17088502.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "Sequenced Treatment Alternatives to Relieve Depression (STAR*D) Study". National Institute of Mental Health. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-11-28.
- ↑ Fava, M; Rush, AJ; Wisniewski, SR; Nierenberg, AA; Alpert, JE; McGrath, PJ; Thase, ME; Warden, D; Biggs, M; Luther, JF; Niederehe, G; Ritz, L; Trivedi, MH (2006). "A Comparison of Mirtazapine and Nortriptyline Following Two Consecutive Failed Medication Treatments for Depressed Outpatients: A STAR*D Report". The American Journal of Psychiatry. 163 (7): 1161–72. doi:10.1176/appi.ajp.163.7.1161. PMID 16816220.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 27.0 27.1 Trivedi, MH; Fava, M; Wisniewski, SR; Thase, ME; Quitkin, F; Warden, D; Ritz, L; Nierenberg, AA; Lebowitz, BD; Biggs, MM; Luther, JF; Shores-Wilson, K; Rush, AJ (2006). "Medication Augmentation after the Failure of SSRIs for Depression". New England Journal of Medicine. 354 (12): 1243–52. doi:10.1056/NEJMoa052964. PMID 16554526.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Cusin, Cristina; Yang, Huaiyu; Yeung, Albert; Fava, Maurizio (2010). "Rating scales for depression" (PDF). ใน Baer, L; Blais, MA (บ.ก.). Handbook of Clinical Rating Scales and Assessment in Psychiatry and Mental Health. New York: Springer. pp. 7–36. ISBN 9781588299666. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-06-26. สืบค้นเมื่อ 2016-10-03.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑
Trivedi, MH; Rush, AJ; Wisniewski, SR; Nierenberg, AA; Warden, D; Ritz, L; Norquist, G; Howland, RH; Lebowitz, B; McGrath, PJ; Shores-Wilson, K; Biggs, MM; Balasubramani, GK; Fava, M (2006). "Evaluation of Outcomes with Citalopram for Depression Using Measurement-Based Care in STAR*D: Implications for Clinical Practice". American Journal of Psychiatry. 163 (1): 28–40. doi:10.1176/appi.ajp.163.1.28. PMID 16390886.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Warden, D; Trivedi, MH; Wisniewski, SR; Davis, L; Nierenberg, AA; Gaynes, BN; Zisook, S; Hollon, SD; Balasubramani, GK; Howland, R; Fava, M; Stewart, JW; Rush, AJ (2007). "Predictors of attrition during initial (citalopram) treatment for depression: a STAR*D report". Am J Psychiatry. 164 (8): 1189–97. doi:10.1176/appi.ajp.2007.06071225. PMID 17671281.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Rush, AJ; Trivedi, MH; Wisniewski, SR; Stewart, JW; Nierenberg, AA; Thase, ME; Ritz, L; Biggs, MM; Warden, D; Luther, JF; Shores-Wilson, K; Niederehe, G; Fava, M (2006). "Bupropion-SR, Sertraline, or Venlafaxine-XR after Failure of SSRIs for Depression". New England Journal of Medicine. 354 (12): 1231–42. doi:10.1056/NEJMoa052963. PMID 16554525.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Rush, AJ; Trivedi, MH; Wisniewski, SR และคณะ (Nov 2006). "Acute and longer-term outcomes in depressed outpatients requiring one or several treatment steps: a STAR*D report". Am J Psychiatry. 163 (11): 1905–17. doi:10.1176/appi.ajp.163.11.1905. PMID 17074942.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Warden, D; Rush, AJ; Trivedi, MH; Fava, M; Wisniewski, SR (2007). "The STAR*D Project results: A comprehensive review of findings". Current Psychiatry Reports. 9 (6): 449–59. doi:10.1007/s11920-007-0061-3. PMID 18221624.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Baghai, TC; Möller, HJ; Rupprecht, R (2006). "Recent Progress in Pharmacological and Non-Pharmacological Treatment Options of Major Depression". Current Pharmaceutical Design. 12 (4): 503–15. doi:10.2174/138161206775474422. PMID 16472142.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 35.0 35.1
Ruhé, HG; Huyser, J; Swinkels, JA; Schene, AH (2006). "Switching Antidepressants After a First Selective Serotonin Reuptake Inhibitor in Major Depressive Disorder". The Journal of Clinical Psychiatry. 67 (12): 1836–55. doi:10.4088/JCP.v67n1203. PMID 17194261.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Tranter, R; O'Donovan, C; Chandarana, P; Kennedy, S (2002). "Prevalence and outcome of partial remission in depression". Journal of Psychiatry & Neuroscience. 27 (4): 241–7. PMC 161658. PMID 12174733.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Byrne, SE; Rothschild, AJ (1998). "Loss of Antidepressant Efficacy During Maintenance Therapy". The Journal of Clinical Psychiatry. 59 (6): 279–88. doi:10.4088/JCP.v59n0602. PMID 9671339.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "Antidepressant Use in Persons Aged 12 and Over: United States, 2005-2008". www.cdc.gov. Products - Data Briefs - Number 76 - October 2011. Centers for Disease Control and Prevention. สืบค้นเมื่อ 2016-02-04.
- ↑ Mischoulon, D; Nierenberg, AA; Kizilbash, L; Rosenbaum, JF; Fava, M (2000). "Strategies for managing depression refractory to selective serotonin reuptake inhibitor treatment: A survey of clinicians". Canadian Journal of Psychiatry. 45 (5): 476–81. PMID 10900529.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Bschor, T; Baethge, C (2010). "No evidence for switching the antidepressant: Systematic review and meta-analysis of RCTs of a common therapeutic strategy". Acta Psychiatrica Scandinavica. 121 (3): 174–9. doi:10.1111/j.1600-0447.2009.01458.x. PMID 19703121.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ DeBattista, C; Lembke, A (2005). "Update on augmentation of antidepressant response in resistant depression". Current Psychiatry Reports. 7 (6): 435–40. doi:10.1007/s11920-005-0064-x. PMID 16318821.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Lam, RW; Wan, DD; Cohen, NL; Kennedy, SH (2002). "Combining Antidepressants for Treatment-Resistant Depression". The Journal of Clinical Psychiatry. 63 (8): 685–93. doi:10.4088/JCP.v63n0805. PMID 12197448.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Goss, AJ; Kaser, M; Costafreda, SG; Sahakian, BJ; Fu, CH (2013). "Modafinil augmentation therapy in unipolar and bipolar depression: a systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials". The Journal of Clinical Psychiatry. 74 (11): 1101–7. doi:10.4088/JCP.13r08560. PMID 24330897.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Geddes, JR; Carney, SM; Davies, C; Furukawa, TA; Kupfer, DJ; Frank, E; Goodwin, GM (2003). "Relapse prevention with antidepressant drug treatment in depressive disorders: A systematic review". The Lancet. 361 (9358): 653–61. doi:10.1016/S0140-6736(03)12599-8. PMID 12606176.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Targum, SD (Mar 2014). "Identification and treatment of antidepressant tachyphylaxis". Innov Clin Neurosci. 11 (3–4): 24–8. PMC 4008298. PMID 24800130.
- ↑
Fava, GA; Offidani, E (2011). "The mechanisms of tolerance in antidepressant action". Progress in Neuro-Psychopharmacology and Biological Psychiatry. 35 (7): 1593–602. doi:10.1016/j.pnpbp.2010.07.026. PMID 20728491.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Fava, GA; Park, SK; Sonino, N (2006). "Treatment of recurrent depression". Expert Review of Neurotherapeutics. 6 (11): 1735–40. doi:10.1586/14737175.6.11.1735. PMID 17144786.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Petersen, TJ (2006). "Enhancing the efficacy of antidepressants with psychotherapy". Journal of Psychopharmacology. 20 (3 suppl): 19–28. doi:10.1177/1359786806064314. PMID 16644768.
- ↑ 49.00 49.01 49.02 49.03 49.04 49.05 49.06 49.07 49.08 49.09 Brunton, Laurence L.; Chabner, Bruce; Knollmann, Björn C., บ.ก. (2011). Goodman and Gilman's The Pharmacological Basis of Therapeutics (12th ed.). New York: McGraw-Hill Professional. ISBN 978-0-07-162442-8.
- ↑ 50.00 50.01 50.02 50.03 50.04 50.05 50.06 50.07 50.08 50.09 50.10 "Side effects of antidepressant medications". UpToDate. Wolters Kluwer Health. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-02. สืบค้นเมื่อ 2013-10-24.
- ↑ 51.00 51.01 51.02 51.03 51.04 51.05 51.06 51.07 51.08 51.09 51.10 51.11 51.12 51.13 51.14 Royal Pharmaceutical Society of Great Britain. MARTINDALE - The Complete Drug Reference. Pharmaceutical Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-26. สืบค้นเมื่อ 2013-10-31.
- ↑ 52.00 52.01 52.02 52.03 52.04 52.05 52.06 52.07 52.08 52.09 52.10 52.11
Ernst E; Rand JI; Barnes J; Stevinson C (1998). "Adverse effects profile of the herbal antidepressant St. John's wort (Hypericum perforatum L.)". European Journal of Clinical Pharmacology. 54 (8): 589–94. doi:10.1007/s002280050519. PMID 9860144.
Collectively, the data suggest that hypericum is well tolerated, with an incidence of adverse reactions similar to that of placebo.
- ↑ 53.0 53.1 53.2
Cipriani, A; Furukawa, TA; Salanti, G; Geddes, JR; Higgins, JP; Churchill, R; Watanabe, N; Nakagawa, A; Omori, IM; McGuire, H; Tansella, M; Barbui, C (2009). "Comparative efficacy and acceptability of 12 new-generation antidepressants: a multiple-treatments meta-analysis". Lancet. 373 (9665): 746–58. doi:10.1016/S0140-6736(09)60046-5. PMID 19185342.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 54.00 54.01 54.02 54.03 54.04 54.05 54.06 54.07 54.08 54.09 54.10 54.11 Taylor, D; Paton, C; Shitij, K (2012). The Maudsley prescribing guidelines in psychiatry. West Sussex: Wiley-Blackwell. ISBN 978-0-470-97948-8.
- ↑ 55.0 55.1
White, N; Litovitz, T; Clancy, C (2008). "Suicidal antidepressant overdoses: a comparative analysis by antidepressant type". J Med Toxicol. 4 (4): 238–50. doi:10.1007/BF03161207. PMC 3550116. PMID 19031375.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 56.0 56.1 56.2 56.3 56.4 56.5 56.6 56.7 Rossi, S, บ.ก. (2013). Australian Medicines Handbook (2013 ed.). Adelaide: The Australian Medicines Handbook Unit Trust. ISBN 978-0-9805790-9-3.
- ↑
Bruijn, JA; Moleman, P; Mulder, PG; van den Broek, WW; van Hulst, AM; van der Mast, RC; van de Wetering, BJ (1996). "A double-blind, fixed blood-level study comparing mirtazapine with imipramine in depressed in-patients". Psychopharmacology. 127 (3): 231–7. doi:10.1007/BF02246131. PMID 8912401.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Bruijn, JA; Moleman, P; Mulder, PG; van den Broek, WW (1999). "Depressed in-patients respond differently to imipramine and mirtazapine". Pharmacopsychiatry. 32 (3): 87–92. doi:10.1055/s-2007-979200. PMID 10463374.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ van Moffaert, M; de Wilde, J; Vereecken, A; Dierick, M; Evrard, JL; Wilmotte, J; Mendlewicz, J (Mar 1995). "Mirtazapine is more effective than trazodone: a double-blind controlled study in hospitalized patients with major depression". Int Clin Psychopharmacol. 10 (1): 3–9. doi:10.1097/00004850-199503000-00001. PMID 7622801.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Goodwin, GM (2009). "Clinical studies on the efficacy of agomelatine on depressive symptoms". CNS Drugs. 23 Suppl 2: 35–9. doi:10.2165/11318650-000000000-00000. PMID 19708724.
- ↑ 61.00 61.01 61.02 61.03 61.04 61.05 61.06 61.07 61.08 61.09 61.10 Voican, CS; Corruble, E; Naveau, S; Perlemuter, G (Apr 2014). "Antidepressant-induced liver injury: a review for clinicians". The American Journal of Psychiatry. 171 (4): 404–15. doi:10.1176/appi.ajp.2013.13050709. PMID 24362450.
- ↑ "AMOXAPINE tablet [Watson Laboratories, Inc.]". DailyMed. Watson Laboratories, Inc. Aug 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-02. สืบค้นเมื่อ 2013-10-30.
- ↑ 63.0 63.1 Walker, R; Whittlesea, C, บ.ก. (2007) [1994]. Clinical Pharmacy and Therapeutics (4th ed.). Edinburgh: Churchill Livingstone Elsevier. ISBN 978-0-7020-4293-5.
- ↑ 64.0 64.1 Fishback, JA; Robson, MJ; Xu, YT; Matsumoto, RR (2010). "Sigma receptors: potential targets for a new class of antidepressant drug". Pharmacol. Ther. 127 (3): 271–82. doi:10.1016/j.pharmthera.2010.04.003. PMC 3993947. PMID 20438757.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 65.0 65.1 Kishimoto, A; Todani, A; Miura, J; Kitagaki, T; Hashimoto, K (2010). "The opposite effects of fluvoxamine and sertraline in the treatment of psychotic major depression: a case report". Ann Gen Psychiatry. 9: 23. doi:10.1186/1744-859X-9-23. PMC 2881105. PMID 20492642.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Borkowska, A; Pilaczyńska, E; Araszkiewicz, A; Rybakowski, J (2002). "[The effect of sertraline on cognitive functions in patients with obsessive-compulsive disorder]". Psychiatr. Pol. (ภาษาโปแลนด์). 36 (6 Suppl): 289–95. PMID 12647451.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Schmitt, JA; Ramaekers, JG; Kruizinga, MJ; van Boxtel, MP; Vuurman, EF; Riedel, WJ (2002). "Additional dopamine reuptake inhibition attenuates vigilance impairment induced by serotonin reuptake inhibition in man". J. Psychopharmacol. 16 (3): 207–14. doi:10.1177/026988110201600303. PMID 12236626.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Joint Formulary Committee (2013). British National Formulary (BNF) (65 ed.). London, UK: Pharmaceutical Press. ISBN 978-0-85711-084-8.
- ↑ 69.0 69.1 "Generalised anxiety disorder and panic disorder (with or without agoraphobia) in adults" (PDF). NICE. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-10-21. สืบค้นเมื่อ 2013-02-20.
- ↑ 70.0 70.1 Kapczinski, F; Lima, MS; Souza, JS; Schmitt, R (2003). Kapczinski, Flavio FK (บ.ก.). "Antidepressants for generalized anxiety disorder". Cochrane Database Syst Rev (2): CD003592. doi:10.1002/14651858.CD003592. PMID 12804478.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "Obsessive-compulsive disorder: Core interventions in the treatment of obsessive-compulsive disorder and body dysmorphic disorder" (PDF). Nov 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-12-06. สืบค้นเมื่อ 2016-10-03.
- ↑
Arroll, B; Elley, CR; Fishman, T; Goodyear-Smith, FA; Kenealy, T; Blashki, G; Kerse, N; Macgillivray, S (2009). Arroll, Bruce (บ.ก.). "Antidepressants versus placebo for depression in primary care". The Cochrane Database of Systematic Reviews (3): CD007954. doi:10.1002/14651858.CD007954. PMID 19588448.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ "Medscape Log In". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-13. สืบค้นเมื่อ 2016-10-03.
- ↑
Fineberg, NA; Brown, A; Reghunandanan, S; Pampaloni, I (2012). "Evidence-based pharmacotherapy of obsessive-compulsive disorder". The International Journal of Neuropsychopharmacology. 15 (8): 1173–91. doi:10.1017/S1461145711001829. PMID 22226028.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "Sertraline prescribing information" (PDF). FDA. สืบค้นเมื่อ 2015-01-30.
- ↑ "Paroxetine prescribing information" (PDF). Apotex. สืบค้นเมื่อ 2015-01-30.
- ↑ 77.0 77.1 77.2 "Eating disorders in over 8s: management" (PDF). NICE. Jan 2004.
- ↑ "Bupropion". MedlinePlus. 2016-02-15. สืบค้นเมื่อ 2016-03-10.
- ↑ 79.0 79.1 "National Guideline Clearinghouse | Practice guideline for the treatment of patients with eating disorders". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-25. สืบค้นเมื่อ 2016-10-03.
- ↑ Flament, MF; Bissada, H; Spettigue, W (Mar 2012). "Evidence-based pharmacotherapy of eating disorders". The International Journal of Neuropsychopharmacology. 15 (2): 189–207. doi:10.1017/S1461145711000381. PMID 21414249.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Häuser, W; Wolfe, F; Tölle, T; Uçeyler, N; Sommer, C (Apr 2012). "The role of antidepressants in the management of fibromyalgia syndrome: a systematic review and meta-analysis". CNS Drugs. 26 (4): 297–307. doi:10.2165/11598970-000000000-00000. PMID 22452526.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ doi:10.1136/ard.2007.071522
This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand Full Article PDF (135 KB) - ↑ Lunn, MP; Hughes, RA; Wiffen, PJ (2014). "Duloxetine for treating painful neuropathy, chronic pain or fibromyalgia". Cochrane Database Syst Rev. 1: CD007115. doi:10.1002/14651858.CD007115.pub3. PMID 24385423.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ update Moore, RA; Derry, S; Aldington, D; Cole, P; Wiffen, PJ (2012). "Amitriptyline for neuropathic pain and fibromyalgia in adults". Cochrane Database Syst Rev. 12: CD008242. doi:10.1002/14651858.CD008242.pub2. PMID 23235657.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Birmes, P; Coppin, D; Schmitt, L; Lauque, D (2003). "Serotonin syndrome: a brief review". CMAJ. 168 (11): 1439–42. PMC 155963. PMID 12771076.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Boyer, EW; Shannon, M (2005). "The serotonin syndrome" (PDF). N. Engl. J. Med. 352 (11): 1112–20. doi:10.1056/NEJMra041867. PMID 15784664. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-06-18.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Mason, PJ; Morris, VA; Balcezak, TJ (2000). "Serotonin syndrome. Presentation of 2 cases and review of the literature". Medicine. 79 (4): 201–9. doi:10.1097/00005792-200007000-00001. PMID 10941349.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Sampson, E; Warner, JP (1999). "Serotonin syndrome: potentially fatal but difficult to recognize". Br J Gen Pract. 49 (448): 867–8. PMC 1313553. PMID 10818648.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Rao, Sathyanarayana TS; Yeragani, VK (2009). "Hypertensive crisis and cheese". Indian J Psychiatry. 51 (1): 65–6. doi:10.4103/0019-5545.44910. PMC 2738414. PMID 19742203.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Paykel, ES (1995). "Clinical efficacy of reversible and selective inhibitors of monoamine oxidase A in major depression". Acta Psychiatr Scand Suppl. 386: 22–7. doi:10.1111/j.1600-0447.1995.tb05920.x. PMID 7717091.
- ↑ Malm, H (Dec 2012). "Prenatal exposure to selective serotonin reuptake inhibitors and infant outcome". Therapeutic Drug Monitoring. 34 (6): 607–14. doi:10.1097/FTD.0b013e31826d07ea. PMID 23042258.
- ↑
Rahimi, R; Nikfar, S; Abdollahi, M (2006). "Pregnancy outcomes following exposure to serotonin reuptake inhibitors: a meta-analysis of clinical trials". Reproductive Toxicology (Elmsford, N.Y.). 22 (4): 571–575. doi:10.1016/j.reprotox.2006.03.019. PMID 16720091.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 93.0 93.1
Nikfar, S; Rahimi, R; Hendoiee, N; Abdollahi, M (2012). "Increasing the risk of spontaneous abortion and major malformations in newborns following use of serotonin reuptake inhibitors during pregnancy: A systematic review and updated meta-analysis". Daru : Journal of Faculty of Pharmacy, Tehran University of Medical Sciences. 20 (1): 75. doi:10.1186/2008-2231-20-75. PMC 3556001. PMID 23351929.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Huang, H; Coleman, S; Bridge, JA; Yonkers, K; Katon, W (2014). "A meta-analysis of the relationship between antidepressant use in pregnancy and the risk of preterm birth and low birth weight". General Hospital Psychiatry. 36 (1): 13–8. doi:10.1016/j.genhosppsych.2013.08.002. PMC 3877723. PMID 24094568.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Einarson, TR; Kennedy, D; Einarson, A (2012). "Do findings differ across research design? The case of antidepressant use in pregnancy and malformations". Journal of Population Therapeutics and Clinical Pharmacology = Journal De La Thérapeutique Des Populations Et De La Pharamcologie Clinique. 19 (2): e334-48. PMID 22946124.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Riggin, L; Frankel, Z; Moretti, M; Pupco, A; Koren, G (Apr 2013). "The fetal safety of fluoxetine: a systematic review and meta-analysis". Journal of Obstetrics and Gynaecology Canada : JOGC = Journal D'obstétrique Et Gynécologie Du Canada : JOGC. 35 (4): 362–9. PMID 23660045.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Koren, G; Nordeng, HM (Feb 2013). "Selective serotonin reuptake inhibitors and malformations: case closed?". Seminars in Fetal & Neonatal Medicine. 18 (1): 19–22. doi:10.1016/j.siny.2012.10.004. PMID 23228547.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "FDA Advising of Risk of Birth Defects with Paxil" (Press release). U.S. Food and Drug Administration. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-03. สืบค้นเมื่อ 2012-11-29.
- ↑ Ross, Lori E.; Grigoriadis, Sophie; Mamisashvili, Lana; VonderPorten, Emily H.; Roerecke, Michael; Rehm, Jürgen; Dennis, Cindy-Lee; Koren, Gideon; Steiner, Meir; Mousmanis, Patricia; Cheung, Amy (2013-04-01). "Selected Pregnancy and Delivery Outcomes After Exposure to Antidepressant Medication". JAMA Psychiatry. 70 (4): 436. doi:10.1001/jamapsychiatry.2013.684.
- ↑ di Scalea, T Lanza; Wisner, KL (2009). "Antidepressant Medication Use During Breastfeeding". Clinical Obstetrics and Gynecology. 52 (3): 483–97. doi:10.1097/GRF.0b013e3181b52bd6. PMC 2902256. PMID 19661763.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Sivagnanam, G (2012). "Antidepressants". Journal of Pharmacology and Pharmacotherapeutics. 3 (3): 287–8. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-01. สืบค้นเมื่อ 2016-10-03.
- ↑ Goldberg, JF; Truman, CJ (2003). "Antidepressant-induced mania: An overview of current controversies". Bipolar Disorders. 5 (6): 407–20. doi:10.1046/j.1399-5618.2003.00067.x. PMID 14636364.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Benazzi, F (1997). "Antidepressant-associated hypomania in outpatient depression: a 203-case study in private practice". J Affect Disord. 46 (1): 73–7. doi:10.1016/S0165-0327(97)00082-7. PMID 9387089.
- ↑ 104.0 104.1 104.2
Stone, M; Laughren, T; Jones, ML; Levenson, M; Holland, PC; Hughes, A; Hammad, TA; Temple, R; Rochester, G (2009). "Risk of suicidality in clinical trials of antidepressants in adults: analysis of proprietary data submitted to US Food and Drug Administration". BMJ. 339: b2880. doi:10.1136/bmj.b2880. PMC 2725270. PMID 19671933.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Friedman, RA; Leon, AC (2007). "Expanding the black box - depression, antidepressants, and the risk of suicide". N. Engl. J. Med. 356 (23): 2343–6. doi:10.1056/NEJMp078015. PMID 17485726.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "Antidepressant Use in Children, Adolescents, and Adults". FDA.
- ↑ "FDA Medication Guide for Antidepressants" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2014-06-05.
- ↑
update
Cox, GR; Callahan, P; Churchill, R; Hunot, V; Merry, SN; Parker, AG; Hetrick, SE (2012). "Psychological therapies versus antidepressant medication, alone and in combination for depression in children and adolescents". Cochrane Database Syst Rev. 11: CD008324. doi:10.1002/14651858.CD008324.pub2. PMID 23152255.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "Depression in adults: recognition and Depression in adults: recognition and management management (CG90)" (PDF). NICE. 2009-10-28. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-03. สืบค้นเมื่อ 2016-09-01.
- ↑ Healy, D; Aldred, G (2005). "Antidepressant drug use and the risk of suicide" (PDF). International Review of Psychiatry. 17: 163–172. doi:10.1080/09540260500071624. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-10-21. สืบค้นเมื่อ 2016-10-03.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Grant, Jon E.; Potenza, Marc N., บ.ก. (2012). The Oxford handbook of impulse control disorders. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-538971-5.
- ↑ Csoka, AB; Csoka, A; Bahrick, A; Mehtonen, OP (2008). "Persistent sexual dysfunction after discontinuation of selective serotonin reuptake inhibitors". J Sex Med. 5 (1): 227–33. doi:10.1111/j.1743-6109.2007.00630.x. PMID 18173768.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Montejo, AL; Llorca, G; Izquierdo, JA; Rico-Villademoros, F (2001). "Incidence of sexual dysfunction associated with antidepressant agents: a prospective multicenter study of 1022 outpatients. Spanish Working Group for the Study of Psychotropic-Related Sexual Dysfunction". J Clin Psychiatry. 62 Suppl 3: 10–21. PMID 11229449.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Serretti, A; Chiesa, A (2009). "Treatment-emergent sexual dysfunction related to antidepressants: a meta-analysis". J Clin Psychopharmacol. 29 (3): 259–66. doi:10.1097/JCP.0b013e3181a5233f. PMID 19440080.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Chebili, S; Abaoub, A; Mezouane, B; JF, Le Goff (1998). "[Antidepressants and sexual stimulation: the correlation]". Encephale (ภาษาฝรั่งเศส). 24 (3): 180–4. PMID 9696909.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Keltner, NL; McAfee, KM; Taylor, CL (2009). "Biological Perspectives". Perspectives in Psychiatric Care. 38 (3): 111–6. doi:10.1111/j.1744-6163.2002.tb00665.x. PMID 12385082.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Ozmenler, NK; Karlidere, T; Bozkurt, A; Yetkin, S; Doruk, A; Sutcigil, L; Cansever, A; Uzun, O; Ozgen, F; Ozsahin, A (2008). "Mirtazapine augmentation in depressed patients with sexual dysfunction due to selective serotonin reuptake inhibitors". Hum Psychopharmacol. 23 (4): 321–6. doi:10.1002/hup.929. PMID 18278806.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Labbate, LA; Grimes, JB; Hines, A; Pollack, MH (Dec 1997). "Bupropion treatment of serotonin reuptake antidepressant-associated sexual dysfunction". Annals of Clinical Psychiatry. 9 (4): 241–5. doi:10.3109/10401239709147804. PMID 9511948.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Stimmel, GL; Dopheide, JA; Stahl, SM (1997). "Mirtazapine: An antidepressant with noradrenergic and specific serotonergic effects". Pharmacotherapy. 17 (1): 10–21. doi:10.1002/j.1875-9114.1997.tb03674.x. PMID 9017762.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "mirtazapine (Rx) - Remeron, Remeron SolTab". Medscape. WebMD. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-29. สืบค้นเมื่อ 2013-11-19.
- ↑ Papakostas, GI (2008). "Tolerability of modern antidepressants". J Clin Psychiatry. 69 (Suppl E1): 8–13. PMID 18494538.
- ↑
Li, Z; Maglione, M; Tu, W; Mojica, W; Arterburn, D; Shugarman, LR; Hilton, L; Suttorp, M; Solomon, V; Shekelle, PG; Morton, SC (Apr 2005). "Meta-analysis: pharmacologic treatment of obesity". Ann. Intern. Med. 142 (7): 532–46. doi:10.7326/0003-4819-142-7-200504050-00012. PMID 15809465.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "Effexor Medicines Data Sheet". Wyeth Pharmaceuticals Inc. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-17. สืบค้นเมื่อ 2006-09-17.
- ↑ 124.0 124.1 124.2 Haddad, P. (2001). "Antidepressant discontinuation syndromes". Drug Saf. 24 (3): 183–97. doi:10.2165/00002018-200124030-00003. PMID 11347722.
- ↑ 125.0 125.1 125.2 125.3 Warner, CH; Bobo, W; Warner, C; Reid, S; Rachal, J (Aug 2006). "Antidepressant discontinuation syndrome". Am Fam Physician. 74 (3): 449–56. PMID 16913164.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Haddad, P.M.; Anderson, I.M. (2007). "Recognising and managing antidepressant discontinuation symptoms". Advances in Psychiatric Treatment. 13 (6): 447–457. doi:10.1192/apt.bp.105.001966.
- ↑ Renoir, T (Apr 2013). "Selective serotonin reuptake inhibitor antidepressant treatment discontinuation syndrome: a review of the clinical evidence and the possible mechanisms involved". Front Pharmacol. 4: 45. doi:10.3389/fphar.2013.00045. PMC 3627130. PMID 23596418.
- ↑ Haddad, PM; Dursun, SM (Jan 2008). "Neurological complications of psychiatric drugs: clinical features and management". Hum Psychopharmacol. 23 (Suppl 1): 15–26. doi:10.1002/hup.918. PMID 18098217.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Tamam, L.; Ozpoyraz, N. (2002, January-February). "Selective Serotonin Reuptake Inhibitor Discontinuation Syndrome: A Review". Advances in Therapy. 19 (1): 17–26. doi:10.1007/BF02850015. PMID 12008858. สืบค้นเมื่อ 2012-11-28.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑
Gartlehner, G; Hansen, RA; Morgan, LC และคณะ (Dec 2011). Second-Generation Antidepressants in the Pharmacologic Treatment of Adult Depression: An Update of the 2007 Comparative Effectiveness Review. Rockville, MD, USA: Agency for Healthcare Research and Quality.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Stutz, Bruce (2007-05-06). "Self-Nonmedication". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2010-05-24.
- ↑ Shelton, RC (2006). "The nature of the discontinuation syndrome associated with antidepressant drugs". J Clin Psychiatry. 67 (Suppl 4): 3–7. PMID 16683856.
- ↑
WHO Expert Committee on Drug Dependence (2003). "WHO Technical Report Series, No. 915 - Thirty-third Report". WHO.
{{cite web}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Evans, EA; Sullivan, MA (Aug 2014). "Abuse and misuse of antidepressants". Subst Abuse Rehabil. 5: 107–20. doi:10.2147/SAR.S37917. PMID 25187753.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Nielsen, M; al., et (May 2012). "What is the difference between dependence and withdrawal reactions? A comparison of benzodiazepines and selective serotonin re-uptake inhibitors". Addiction. 107 (5): 900–8. doi:10.1111/j.1360-0443.2011.03686.x. PMID 21992148.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Brady, K (May 2012). "Withdrawal or dependence: a matter of context. Comment on: What is the difference between dependence and withdrawal reactions? A comparison of benzodiazepines and selective serotonin re-uptake inhibitors". Addiction. 107 (5): 910–1. doi:10.1111/j.1360-0443.2012.03862.x. PMID 22471576.
- ↑ Lader, M (May 2012). "Dependence and withdrawal: comparison of the benzodiazepines and selective serotonin re-uptake inhibitors. Comment on: What is the difference between dependence and withdrawal reactions? A comparison of benzodiazepines and selective serotonin re-uptake inhibitors". Addiction. 107 (5): 909–10. doi:10.1111/j.1360-0443.2011.03736.x. PMID 22471575.
- ↑ 138.0 138.1
Maes, M; Yirmyia, R; Noraberg, J; Brene, S; Hibbeln, J; Perini, G; Kubera, M; Bob, P; Lerer, B; Maj, M (Mar 2009). "The inflammatory & neurodegenerative (I&ND) hypothesis of depression: leads for future research and new drug developments in depression". Metabolic Brain Disease. 24 (1): 27–53. doi:10.1007/s11011-008-9118-1. PMID 19085093.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 139.0 139.1
Sanacora, G; Treccani, G; Popoli, M (Jan 2012). "Towards a glutamate hypothesis of depression: an emerging frontier of neuropsychopharmacology for mood disorders". Neuropharmacology. 62 (1): 63–77. doi:10.1016/j.neuropharm.2011.07.036. PMC 3205453. PMID 21827775.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Menke, A; Klengel, T; Binder, EB (2012). "Epigenetics, depression and antidepressant treatment". Current Pharmaceutical Design. 18 (36): 5879–5889. doi:10.2174/138161212803523590. PMID 22681167.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Vialou, V; Feng, J; Robison, AJ; Nestler, EJ (Jan 2013). "Epigenetic mechanisms of depression and antidepressant action". Annual Review of Pharmacology and Toxicology. 53 (1): 59–87. doi:10.1146/annurev-pharmtox-010611-134540. PMID 23020296.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Preskorn, SH; Ross, R; Stanga, CY (2004). "Selective Serotonin Reuptake Inhibitors". ใน Sheldon H. Preskorn; Hohn P. Feighner; Christina Y. Stanga; Ruth Ross (บ.ก.). Antidepressants: Past, Present and Future. Berlin: Springer. pp. 241–62. ISBN 978-3-540-43054-4.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Fournier, JC; DeRubeis, RJ; Hollon, SD; Dimidjian, S; Amsterdam, JD; Shelton, RC; Fawcett, J (Jan 2010). "Antidepressant Drug Effects and Depression Severity". JAMA: The Journal of the American Medical Association. 303 (1): 47–53. doi:10.1001/jama.2009.1943. PMC 3712503. PMID 20051569.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Kramer, Peter (2011-09-07). "In Defense of Antidepressants". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2011-07-13.
- ↑ Pies, R (Apr 2010). "Antidepressants Work, Sort of-Our System of Care Does Not". Journal of Clinical Psychopharmacology. 30 (2): 101–104. doi:10.1097/JCP.0b013e3181d52dea. PMID 20520282.
- ↑ Cashman, JR; Ghirmai, S (2009). "Inhibition of serotonin and norepinephrine reuptake and inhibition of phosphodiesterase by multi-target inhibitors as potential agents for depression". Bioorganic & Medicinal Chemistry. 17 (19): 6890–7. doi:10.1016/j.bmc.2009.08.025. PMID 19740668.
- ↑ Goldenberg, MM (Nov 2013). "Pharmaceutical approval update". P T. 38 (11): 705–7. PMC 3875258. PMID 24391391.
- ↑ "Vortioxetine: Atypical antidepressant". American Pharmacists Association. 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-20. สืบค้นเมื่อ 2016-10-03.
- ↑ "FDA approves a new antidepressant: Brintellix". Los Angeles Times. 2013.
- ↑ Hughes, ZA; Starr, KR; Langmead, CJ และคณะ (Mar 2005). "Neurochemical evaluation of the novel 5-HT1A receptor partial agonist/serotonin reuptake inhibitor, vilazodone". European Journal of Pharmacology. 510 (1–2): 49–57. doi:10.1016/j.ejphar.2005.01.018. PMID 15740724.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Muntner, Stephen M. (2013). Stahl's essential psychopharmacology : neuroscientific basis and practical application. illustrations by Nancy Stahl (4th ed.). Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-1107686465.
- ↑
Wee, S; Woolverton, WL (Sep 2004). "Evaluation of the reinforcing effects of atomoxetine in monkeys: comparison to methylphenidate and desipramine". Drug and Alcohol Dependence. 75 (3): 271–6. doi:10.1016/j.drugalcdep.2004.03.010. PMID 15283948.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Gasior, M; Bergman, J; Kallman, MJ; Paronis, CA (Apr 2005). "Evaluation of the reinforcing effects of monoamine reuptake inhibitors under a concurrent schedule of food and i.v. drug delivery in rhesus monkeys". Neuropsychopharmacology. 30 (4): 758–64. doi:10.1038/sj.npp.1300593. PMID 15526000.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Rothman, RB; Baumann, MH; Dersch, CM และคณะ (Jan 2001). "Amphetamine-type central nervous system stimulants release norepinephrine more potently than they release dopamine and serotonin". Synapse. 39 (1): 32–41. doi:10.1002/1098-2396(20010101)39:1<32::AID-SYN5>3.0.CO;2-3. PMID 11071707.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 155.0 155.1
Tatsumi, M; Groshan, K; Blakely, RD; Richelson, E (1997). "Pharmacological profile of antidepressants and related compounds at human monoamine transporters". Eur J Pharmacol. 340 (2–3): 249–258. doi:10.1016/S0014-2999(97)01393-9. PMID 9537821.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Gillman, PK (July 2007). "Tricyclic antidepressant pharmacology and therapeutic drug interactions updated". British Journal of Pharmacology. 151 (6): 737–48. doi:10.1038/sj.bjp.0707253. PMC 2014120. PMID 17471183.
- ↑ Rénéric, JP; Lucki, I (Mar 1998). "Antidepressant behavioral effects by dual inhibition of monoamine reuptake in the rat forced swimming test". Psychopharmacology. 136 (2): 190–7. doi:10.1007/s002130050555. PMID 9551776.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Trindade, E; Menon, D; Topfer, LA; Coloma, C (1998). "Adverse effects associated with selective serotonin reuptake inhibitors and tricyclic antidepressants: a meta-analysis". Canadian Medical Association Journal. 159 (10): 1245–1252.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Cristancho, Mario. "Atypical Depression in the 21st Century: Diagnostic and Treatment Issues". Psychiatric Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-02. สืบค้นเมื่อ 2013-11-23.
- ↑ "Depression (major depression) : Treatment and drugs". Mayo Clinic Staff.
- ↑ Buigues, J; Vallejo, J (1987). "Therapeutic response to phenelzine in patients with panic disorder and agoraphobia with panic attacks". Journal of Clinical Psychiatry. 48 (2): 55–9.
- ↑ Liebowitz, MR; Schneier, FR; Campeas, R; Hollander, E; Hatterer, J; Fyer, A; และคณะ (1992). "Phenelzine vs atenolol in social phobia: A placebo-controlled comparison". Archives of General Psychiatry. 49 (4): 290–300.
- ↑
Versiani, M; Nardi, AE; Mundim, FD; Alves, AB; Liebowitz, MR; Amrein, R (1992-09-01). "Pharmacotherapy of social phobia: A controlled study with moclobemide and phenelzine". BJP [Internet]. 161 (3): 353–60.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Heimberg, RG; Liebowitz, MR; Hope, DA; และคณะ. "Cognitive behavioral group therapy vs phenelzine therapy for social phobia: 12-week outcome". Arch Gen Psychiatry. 55 (12): 1133–41. doi:10.1001/archpsyc.55.12.1133.
- ↑ Jarrett, RB; Schaffer, M; McIntire, D; Witt-Browder, A; Kraft, D; Risser, RC. "Treatment of atypical depression with cognitive therapy or phenelzine: A double-blind, placebo-controlled trial". Arch Gen Psychiatry. 56 (5): 431–7. doi:10.1001/archpsyc.56.5.431.
- ↑ Liebowitz, MR; Quitkin, FM; Stewart, JW; และคณะ. "Phenelzine v imipramine in atypical depression: A preliminary report". Arch Gen Psychiatry. 41 (7): 669–77. doi:10.1001/archpsyc.1984.01790180039005.
- ↑ Walsh, B; Stewart, JW; Roose, SP; Gladis, M; Glassman, AH. "Treatment of bulimia with phenelzine: A double-blind, placebo-controlled study". Arch Gen Psychiatry. 41 (11): 1105–9. doi:10.1001/archpsyc.1983.01790220095015.
- ↑
Rothschild, R; Quitkin, HM; Quitkin, FM; Stewart, JW; Ocepek-Welikson, K; McGrath, PJ และคณะ. "A double-blind placebo-controlled comparison of phenelzine and imipramine in the treatment of bulimia in atypical depressives". International Journal of Eating Disorders. 15 (1): 1–9. doi:10.1002/1098-108X(199401)15:1<1::AID-EAT2260150102>3.0.CO;2-E.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Walsh, BT; Stewart, JW; Roose, SP; Gladis, M; Glassman, AH. "A double-blind trial of phenelzine in bulimia". Journal of Psychiatric Research. 19 (2–3): 485–9. doi:10.1016/0022-3956(85)90058-5.
- ↑ Walsh, B; Gladis, M; Roose, SP; Stewart, JW; Stetner, F; Glassman, AH (May 1988). "Phenelzine vs placebo in 50 patients with bulimia". Arch Gen Psychiatry. 45 (5): 471–5. doi:10.1001/archpsyc.1988.01800290091011. PMID 3282482.
- ↑ Davidson, J; Ingram, J; Kilts, C (1987). "A pilot study of phenelzine in the treatment of post-traumatic stress disorder". The British Journal of Psychiatry. 150: 252–5. doi:10.1192/bjp.150.2.252.
- ↑ Soloff, PH; Cornelius, J; George, A; Nathan, S; Perel, JM; Ulrich, RF. "Efficacy of phenelzine and haloperidol in borderline personality disorder". Arch Gen Psychiatry. 50 (5): 377–85. doi:10.1001/archpsyc.1993.01820170055007.
- ↑ Mallinger, AG; Frank, E; Thase, ME; Barwell, MM; DiazGranados, N; Luckenbaugh, DA; และคณะ (2009). "Revisiting the Effectiveness of Standard Antidepressants in Bipolar Disorder: Are Monoamine Oxidase Inhibitors Superior?". Psychopharmacol Bull. 42 (2): 64–74.
- ↑ Liebowitz, MR; Hollander, E; Schneier, F; Campeas, R; Welkowitz, L; Hatterer, J; Fallon, B (1990). "Reversible and irreversible monoamine oxidase inhibitors in other psychiatric disorders". Acta Psychiatr Scand Suppl. 360: 29–34. doi:10.1111/j.1600-0447.1990.tb05321.x. PMID 2248064.
- ↑ "Depressive Disorders". Merck Manual. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-05. สืบค้นเมื่อ 2012-11-30.
- ↑ Taylor, D; Carol, P; Shitij, K (2012). The Maudsley prescribing guidelines in psychiatry. West Sussex: Wiley-Blackwell. ISBN 978-0-470-97969-3.
- ↑ Bauer, M; Dopfmer, S (1999). "Lithium augmentation in treatment-resistant depression: Meta-analysis of placebo-controlled studies". Journal of Clinical Psychopharmacology. 19 (5): 427–34. doi:10.1097/00004714-199910000-00006. PMID 10505584.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Guzzetta, F; Tondo, L; Centorrino, F; Baldessarini, RJ (Mar 2007). "Lithium treatment reduces suicide risk in recurrent major depressive disorder". J Clin Psychiatry. 68 (3): 380–83. doi:10.4088/JCP.v68n0304. PMID 17388706.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Nierenberg, AA; Fava, M; Trivedi, MH; Wisniewski, SR; Thase, ME; McGrath, PJ; Alpert, JE; Warden, D; Luther, JF; Niederehe, G; Lebowitz, B; Shores-Wilson, K; Rush, AJ (2006). "A comparison of lithium and T(3) augmentation following two failed medication treatments for depression: A STAR*D report". American Journal of Psychiatry. 163 (9): 1519–30. doi:10.1176/appi.ajp.163.9.1519. PMID 16946176.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Stahl, Stephen M. (2011). The Prescriber's Guide (Stahl's Essential Psychopharmacology). Cambridge University Press. p. 39.
classical augmentation strategy for treatment-refractory depression
- ↑
Kraus, MF; Burch, EA (1992). "Methylphenidate hydrochloride as an antidepressant: controversy, case studies, and review". South. Med. J. 85 (10): 985–91. doi:10.1097/00007611-199210000-00012. PMID 1411740.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 182.0 182.1 Orr, K; Taylor, D (2007). "Psychostimulants in the treatment of depression : a review of the evidence". CNS Drugs. 21 (3): 239–57. doi:10.2165/00023210-200721030-00004. PMID 17338594.
- ↑ 183.0 183.1
Weber, MM; Emrich, HM (1988). "Current and Historical Concepts of Opiate Treatment in Psychiatric Disorders". International Clinical Psychopharmacology. 3 (3): 255–66. doi:10.1097/00004850-198807000-00007. PMID 3153713.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑
Heal, DJ; Smith, SL; Gosden, J; Nutt, DJ (June 2013). "Amphetamine, past and present - a pharmacological and clinical perspective". J. Psychopharmacol. 27 (6): 479–96. doi:10.1177/0269881113482532. PMC 3666194. PMID 23539642.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Czygan, FC (2003). "Kulturgeschichte und Mystik des Johanniskrauts: Vom 2500 Jahre alten Apotropaikum zum aktuellen Antidepressivum" [From a 2500-year-old apotropic comes a current antidepressive. The cultural history and mistique of St. John's wort]. Pharmazie in unserer Zeit (ภาษาเยอรมัน). 32 (3): 184–90. doi:10.1002/pauz.200390062. PMID 12784538.
- ↑ Selikoff, IJ; Robitzek, EH (1952). "Tuberculosis Chemotherapy with Hydrazine Derivatives of Isonicotinic Acid". CHEST Journal. 21 (4): 385–438. doi:10.1378/chest.21.4.385. PMID 14906149.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Healy, D (2001). "The Antidepressant Drama". ใน Weissman, M.M. (บ.ก.). The treatment of depression: bridging the 21st century. American Psychiatric Pub. pp. 10–11. ISBN 978-0-88048-397-1. สืบค้นเมื่อ 2009-05-28.
- ↑ Healy, David (1996). The psychopharmacologists: interviews. London: Chapman and Hall. p. 8. ISBN 978-1-86036-008-4.
- ↑ Healy, David (1998). The Psychopharmacologists: Volume 2. A Hodder Arnold Publication. pp. 132–4. ISBN 978-1-86036-010-7.
- ↑ Robitzek, EH; Selikoff, IJ; Mamlok, E; Tendlau, A (1953). "Isoniazid and Its Isopropyl Derivative in the Therapy of Tuberculosis in Humans: Comparative Therapeutic and Toxicologic Properties". CHEST Journal. 23 (1): 1–15. doi:10.1378/chest.23.1.1. PMID 12998444.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 191.0 191.1 191.2 191.3 López-Muñoz, F; Alamo, C; Juckel, G; Assion, HJ (2007). "Half a Century of Antidepressant Drugs". Journal of Clinical Psychopharmacology. 27 (6): 555–9. doi:10.1097/jcp.0b013e3181bb617. PMID 18004120.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "Psychic Energizer". Time. 1957-04-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-11. สืบค้นเมื่อ 2009-05-28.
- ↑ Kuhn, R (1958). "The treatment of depressive states with G 22355 (imipramine hydrochloride)". The American Journal of Psychiatry. 115 (5): 459–64. PMID 13583250.
- ↑ "Tranquilizers". Cumberland Mountain Community Services. www.cmcsb.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-16. สืบค้นเมื่อ 2013-11-20.[แหล่งอ้างอิงทางการแพทย์ที่ไม่น่าเชื่อถือ?]
- ↑ 195.0 195.1 Healy, D (1999). "The Three Faces of the Antidepressants: A Critical Commentary on the Clinical-Economic Context of Diagnosis". The Journal of Nervous & Mental Disease. 187 (3): 174–80. doi:10.1097/00005053-199903000-00007. PMID 10086474.
- ↑ Pletscher, A (1991). "The discovery of antidepressants: A winding path". Experientia. 47 (1): 4–8. doi:10.1007/BF02041242. PMID 1999242.
- ↑ Domino, EF (1999). "History of modern psychopharmacology: A personal view with an emphasis on antidepressants". Psychosomatic Medicine. 61 (5): 591–8. doi:10.1097/00006842-199909000-00002. PMID 10511010.
- ↑ Wong, DT; Bymaster, FP; Horng, JS; Molloy, BB (1975). "A new selective inhibitor for uptake of serotonin into synaptosomes of rat brain: 3- (p-trifluoromethylphenoxy). N-methyl-3-phenylpropylamine". The Journal of Pharmacology and Experimental Therapeutics. 193 (3): 804–11. PMID 1151730. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-19. สืบค้นเมื่อ 2016-10-03.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Freeman, H (1996). "Tolerability and safety of novel antidepressants". European Psychiatry. 11: 206s. doi:10.1016/0924-9338(96)88597-X.
- ↑ Linde, K; Ramirez, G; Mulrow, CD; Pauls, A; Weidenhammer, W; Melchart, D (1996). "St John's wort for depression—an overview and meta-analysis of randomised clinical trials". BMJ. 313 (7052): 253–8. doi:10.1136/bmj.313.7052.253. PMC 2351679. PMID 8704532.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Müller, WE (2003). "Current St. John's wort research from mode of action to clinical efficacy". Pharmacological Research. 47 (2): 101–9. doi:10.1016/S1043-6618(02)00266-9. PMID 12543057.
- ↑ Nathan, PJ (2001). "Hypericum perforatum (St John's Wort) : A non-selective reuptake inhibitor? A review of the recent advances in its pharmacology". Journal of Psychopharmacology. 15 (1): 47–54. doi:10.1177/026988110101500109. PMID 11277608.
- ↑ 203.0 203.1 White, Rebecca. "Waking up from sadness: Many find trouble getting off antidepressants". Al Jazeera. สืบค้นเมื่อ 2014-06-08.
- ↑ Davis, Rowenna (2010-06-11). "Antidepressant Use Rises as Recession Feeds Wave of Worry". The Guardian. London. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-15. สืบค้นเมื่อ 2010-07-01.
- ↑ Spence, Ruth. "Focus on: Antidepressant prescribing". QualityWatch. QualityWatch (Nuffield Trust/Health Foundation). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-04. สืบค้นเมื่อ 2015-01-12.
- ↑ "Top 200 generic drugs by units in 2010" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-12-15.
- ↑ "Top 200 brand drugs by units in 2010" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-04-22.
- ↑ "GIPdatabank". Gipdatabank.nl. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-06. สืบค้นเมื่อ 2008-11-06.
- ↑ 209.0 209.1 209.2 Ecks, S (2005). "Pharmaceutical Citizenship: Antidepressant Marketing and the Promise of Demarginalization in India". Anthropology & Medicine. 12 (3): 239–254. doi:10.1080/13648470500291360.
- ↑ 210.0 210.1
Lock, M; Nguyen, VK (2010). ""Local Biologies and Human Difference". An anthropology of biomedicine (1st ed.). Chichester, West Sussex: Wiley-Blackwell. pp. 83–109. ISBN 1-4051-1071-6.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "Pharmacokinetics of selective serotonin reuptake inhibitors" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-05-23.
- ↑ Nentwig, G (2007). "Effects of pharmaceuticals on aquatic invertebrates. Part II: the antidepressant drug fluoxetine". Arch. Environ. Contam. Toxicol. 52 (2): 163–70. doi:10.1007/s00244-005-7190-7. PMID 17160491.
- ↑ Zhou, Z; Zhen, J; Karpowich, NK; Goetz, RM; Law, CJ; Reith, ME; Wang, DN (2007). "LeuT-desipramine structure reveals how antidepressants block neurotransmitter reuptake". Science. 317 (5843): 1390–3. doi:10.1126/science.1147614. PMC 3711652. PMID 17690258.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Fong, PP (2001). "Antidepressants in Aquatic Organisms: A Wide Range of Effects". ใน Daughton, CG; Jones-Lepp, TJ (บ.ก.). Pharmaceuticals and personal care products in the environment: scientific and regulatory issues. Washington, DC: American Chemical Society. pp. 264–281. ISBN 978-0-8412-3739-1.
- ↑ Brooks, BW; Chambliss, CK; Stanley, JK; Ramirez, A; Banks, KE; Johnson, RD; Lewis, RJ (2005). "Determination of select antidepressants in fish from an effluent-dominated stream". Environ. Toxicol. Chem. 24 (2): 464–9. doi:10.1897/04-081r.1. PMID 15720009.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Fent, K; Weston, AA; Caminada, D (2006). "Ecotoxicology of human pharmaceuticals". Aquat. Toxicol. 76 (2): 122–59. doi:10.1016/j.aquatox.2005.09.009. PMID 16257063.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Winberg, S; Carter, CG; McCarthy, JD; He, XY; Nilsson, GE; Houlihan, DF (1993). Feeding rank and brain serotonergic activity in rainbow trout Onchorhynchus my kiss. J. Exp. Biol. Vol. 179. pp. 197–211.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Perreault, HA; Semsar, K; Godwin, J (2003). "Fluoxetine treatment decreases territorial aggression in a coral reef fish". Physiol. Behav. 79 (4–5): 719–24. doi:10.1016/S0031-9384(03)00211-7. PMID 12954414.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Huber, R; Smith, K; Delago, A; Isaksson, K; Kravitz, EA (1997). "Serotonin and aggressive motivation in crustaceans: altering the decision to retreat". Proc. Natl. Acad. Sci. U.S.A. 94 (11): 5939–42. doi:10.1073/pnas.94.11.5939. PMC 20885. PMID 9159179.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Di Poi, C; Darmaillacq, AS; Dickel, L; Boulouard, M; Bellanger, C (2013). "Effects of perinatal exposure to waterborne fluoxetine on memory processing in the cuttlefish Sepia officinalis". Aquat. Toxicol. 132–133: 84–91. doi:10.1016/j.aquatox.2013.02.004. PMID 23474317.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
ข้อมูลอื่น
[แก้]- คณะทำงานจัดทำแนวทางการจัดการโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในในสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ (2010). "แนวทางการจัดการโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ (CPG-MDD-GP)" (PDF). กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-26. สืบค้นเมื่อ 2016-10-03.
{{cite web}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - Stahl, Stephen M. (1997). Psychopharmacology of Antidepressants. Informa Healthcare. ISBN 978-1-85317-513-8.