รายงานผู้ป่วย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก รายงานเค้ส)

ในสาขาการแพทย์ รายงานผู้ป่วย[1] หรือ รายงานกรณี[1] หรือ รายงานเค้ส[2] (อังกฤษ: case report) เป็นรายงานอย่างละเอียดเกี่ยวกับอาการ อาการแสดง การวินิจฉัย การรักษาพยาบาล และการติดตามผู้ป่วยคนหนึ่ง และอาจจะมีข้อมูลทางประชากรอื่น ๆ เกี่ยวกับผู้ป่วย ปกติจะเป็นรายงานเกี่ยวกับเค้สที่แปลกหรือใหม่ และบางครั้งจะมีการทบทวนวรรณกรรมของเค้สอื่น ๆ ที่ได้รับรายงานมาแล้ว

รูปแบบ[แก้]

รายงานเค้สโดยมากจะมีประเด็น 6 อย่างคือ[3]

  • ความสัมพันธ์ที่ไม่คาดฝันระหว่างโรคกับอาการ
  • เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในช่วงที่ทำการสังเกตการณ์หรือรักษาผู้ป่วย
  • การค้นพบที่เพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับพยาธิกำเนิดที่อาจเป็นไปได้ หรือเกี่ยวกับผลร้ายอย่างหนึ่ง ของโรค
  • ลักษณะที่เฉพาะเจาะจงหรือมีน้อยของโรค
  • วิธีการบำบัดที่ไม่เหมือนใคร
  • ความแตกต่างของโครงสร้างกายวิภาคโดยตำแหน่งหรือโดยจำนวน

บทบาทในงานวิจัยและการศึกษา[แก้]

รายงานเค้สปกติจะพิจารณาว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของหลักฐานโดยเรื่องเล่า (anecdotal evidence)[4] เพราะมีความจำกัดโดยธรรมชาติของระเบียบวิธีที่ใช้ รวมทั้งการขาดการสุ่มตัวอย่างทางสถิติ รายงานเค้สจัดเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้น้อยที่สุดในลำดับชั้นหลักฐานทางคลินิก เช่นเดียวกับ case series[5] แต่ก็ยังมีประโยชน์ในงานวิจัยทางการแพทย์และเวชปฏิบัติอิงหลักฐาน[6] โดยเฉพาะก็คือ ช่วยให้รู้จักโรคใหม่ ๆ และผลที่ไม่พึงประสงค์ของการรักษาพยาบาล[7] (ยกตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างการให้ยาคุมภูมิคุ้มกัน thalidomide แก่หญิงตั้งครรภ์ กับการพัฒนาอย่างผิดปกติของทารกในครรภ์ รู้จักเป็นครั้งแรกเนื่องจากรายงานเค้สกรณีหนึ่งโดยเฉพาะ[8][9]) รายงานเค้สมีบทบาทในการศึกษาเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากยา (pharmacovigilance)[7] ช่วยให้เข้าใจขอบเขตทางคลินิกของโรคหายากและอาการปรากฏที่ไม่ทั่วไปของโรคสามัญ[6] ช่วยสร้างสมมุติฐานเพื่อการศึกษารวมทั้งกลไกของโรค[6] และอาจช่วยแนะนำแนวทางในการปรับการรักษาพยาบาลให้เข้ากันกับคนไข้แต่ละคน[6]

ผู้สนับสนุนแบบงานศึกษาได้ร่างข้อดีอย่างย่อ ๆ ของรายงานเค้ส คือ ทั้ง case report (รายงานเค้ส) และ case series มีความไวสูงในการตรวจจับความแปลกใหม่ และดังนั้นจะดำรงเป็นหลักสำคัญในความก้าวหน้าทางการแพทย์ และสามารถให้ไอเดียใหม่ ๆ มากมายทางการแพทย์[10] เปรียบเทียบกับการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมซึ่งสามารถตรวจสอบตัวแปรอย่างหนึ่งหรือไม่กี่อย่าง ที่ไม่สามารถสะท้อนสภาพความเป็นจริงของสถานการณ์ทางการแพทย์ที่ซับซ้อน รายงานเค้สสามารถให้รายละเอียดด้านต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกันสถานการณ์ของคนไข้ (เช่น ประวัติผู้ป่วย การตรวจร่างกาย ข้อวินิจฉัย สภาพจิตและสังคม และการดูแลติดตาม)[11]

แต่เพราะว่า เค้สที่ทั่วไปไม่แปลกมักจะไม่มีการตีพิมพ์ ดังนั้น การใช้รายงานเค้สเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะต้องระมัดระวังเกี่ยวกับความเอนเอียงในการตีพิมพ์ รายงานเค้สบางงานอาจจะมีการทบทวนวรรณกรรมทางการแพทย์อย่างละเอียดที่เกี่ยวข้องกับประเด็น และบางครั้งแม้แต่มีการปริทัศน์เป็นระบบของหลักฐานที่มีทั้งหมด รายงานที่ใช้วิธีการเช่นนี้สามารถกำหนดโดยใช้คำเช่นว่า "case report and review of the literature"

รายงานเค้สมีบทบาทในการศึกษาทางการแพทย์ คือเป็นส่วนของการศึกษาแบบใช้กรณีคนไข้[6]

ข้อดีของรายงานคนไข้อีกอย่างหนึ่งก็คือ สามารถตีพิมพ์ได้อย่างรวดเร็ว (ถ้าเทียบกับการศึกษาแบบอื่น ๆ ที่ละเอียดกว้างขวางยิ่งกว่าเช่นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม) ซึ่งสามารถใช้เป็นสื่อข้อมูลแบบสั้น ๆ ที่ทำได้อย่างรวดเร็วระหว่างแพทย์รักษาที่งานยุ่ง ที่ไม่มีเวลาหรือทรัพยากรที่จะทำงานวิจัยที่ละเอียดกว้างขวางยิ่งกว่านั้น[11]

แนวทางการรายงาน[แก้]

คุณภาพในการรายงานกรณีคนไข้โดยเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์นั้นมีความต่าง ๆ กัน แต่การรายงานที่ไม่สมบูรณ์จะขัดขวางการใช้รายงานเค้สเพื่อออกแบบการทดลองหรือเพื่อแนะแนวทางเวชปฏิบัติทางคลินิก[6] ดังนั้น จึงมีการพัฒนาแนวทางการรายงาน (reporting guideline) ที่กำลังเป็นไปหลายแนว ที่จะช่วยสร้างความโปร่งใสและความสมบูรณ์ของข้อมูลที่ให้ในกรณีคนไข้แต่ละกรณี[6] EQUATOR Network[12] (ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มนานาชาติมีจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุนการรายงานงานวิจัยสุขภาพที่โปร่งใสและแม่นยำ เพื่อเพิ่มคุณค่าและความน่าเชื่อถือได้ของผลงานวิจัย) ได้ออกแนวทาง CARE (ย่อมาจาก CAse REport) ที่มีรายการตรวจสอบ ที่เข้าถึงได้ทางเว็บไซต์ของโครงการ[12] และโดยงานที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 2013[6]

รายงานเค้สเป็นบทความบรรยายของผู้เชี่ยวชาญที่ร่างการวินิจฉัย การบำบัดรักษา และผลการรักษาของคนไข้จำนวนหนึ่ง ข้อมูลจากรายงานเค้สสามารถใช้เป็นฟี้ดแบ็กของแนวทางการปฏิบัติทางคลินิก สามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประสิทธิผล ผลที่ไม่พึงประสงค์ และค่าใช้จ่ายของการรักษา สามารถเผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ และทางการศึกษา รายการเช็ค 13 รายการรวมทั้งวิธีการเขียนชื่อ คำหลัก (keyword) บทคัดย่อ (abstract) บทแนะนำ (introduction) ข้อมูลคนไข้ สิ่งที่พบทางคลินิก ไทม์ไลน์ วินิจฉัย วิธีการบำบัด (therapeutic interventions) การติดตามดูแล (follow-up) และผล, บทสนทนา (discussion), มุมมองคนไข้ (patient perspective), และการยินยอมอนุญาตของคนไข้ (informed consent)[6]

การตีพิมพ์รายงาน[แก้]

วารสารนานาชาติจำนวนมากรับพิมพ์รายงานเค้ส แต่ว่าจะจำกัดจำนวนในฉบับพิมพ์ เพราะว่า จะมีผลต่อค่าวัดการอ้างอิงบทความ (impact factor) ของวารสาร บ่อยครั้งวารสารจะเผยแพร่รายงานทางอินเทอร์เน็ต แต่ว่าก็ยังต้องเสียค่าสมาชิกเพื่อจะเปิดดู แต่ว่า เริ่มมีวารสารจำนวนหนึ่งที่อุทิศพิมพ์แต่รายงานเค้สล้วน ๆ และเปิดให้เข้าถึงได้อย่างเสรี (open access) วารสารแรกเช่นนี้รายแรกเริ่มเผยแพร่ในปี ค.ศ. 2001 คือ วารสาร Grand Rounds[13] วารสารอื่น ๆ รวมทั้ง Case Reports in Medicine (รายงานเค้สในเวชศาสตร์)[14] Journal of Medical Case Reports (วารสารรายงานเค้สทางการแพทย์), Oncology Reports (รายงานวิทยาเนื้องอก), Oncology Letters (จดหมายวิทยาเนื้องอก) และ Cases Journal (วารสารกรณีผู้ป่วย); ซึ่งล้วนแต่เป็นวารสารทางการแพทย์ในสาขาการแพทย์ต่าง ๆ ที่มีการปริทัศน์โดยผู้ชำนาญงาน

Cases Journal พึ่งรวมตัวกับ Journal of Medical Case Reports แต่ก็ยังมีเว็บไซต์เป็นของตนเอง ส่วน BMJ Case Reports (รายงานเค้สของวารสารการแพทย์ BMJ) เป็นวารสารออนไลน์ มีการปริทัศน์โดยผู้ชำนาญ ที่พิมพ์กรณีผู้ป่วยในทุก ๆ สาขา ส่วน Radiology Case Reports (รายงานเค้สรังสีวิทยา)[15] และ Journal of Radiology Case Reports (วารสารรายงานเค้สรังสีวิทยา)[16] เป็นวารสารที่เข้าถึงได้อย่างเสรี ที่มีการปริทัศน์โดยผู้ชำนาญ ที่พุ่งความสนใจไปที่การสร้างภาพรังสี (medical imaging) ส่วน Journal Of Surgical Case Reports (วารสารรายงานเค้สศัลยกรรม)[17] เป็นวารสารที่เข้าถึงได้อย่างเสรี ที่มีการปริทัศน์โดยผู้ชำนาญ ที่พิมพ์รายงานในสาขาศัลยกรรม ส่วน Journal of Orthopaedic Case Reports (วารสารรายงานเค้สออร์โทพีดิกส์)[18] เป็นวารสารที่เข้าถึงได้อย่างเสรี ที่มีการปริทัศน์โดยผู้ชำนาญ ส่วน Oncology Reports และ Oncology Letters พิมพ์รายงานเค้สโดยเข้าถึงได้อย่างเสรีอย่างล้วน ๆ และมีการปริทัศน์โดยผู้ชำนาญ ในสาขาวิทยาเนื้องอก

ยังมีเว็บไซต์จำนวนหนึ่งอีกด้วย ที่เปิดโอกาสให้คนไข้แจ้งกรณีของตนเพื่อแชร์กับผู้อื่น PatientsLikeMe (คนไข้เหมือนกับฉัน)[19] และ Treatment Report (รายงานการรักษา)[20] เป็นตัวอย่างเว็บไซต์ประเภทนี้

การใช้คำนี้นอกสาขาวิทยาศาสตร์[แก้]

คำว่า case report ก็มีการใช้ด้วยในสาขาการศึกษาอื่น ๆ

รายงานเค้สทางวิทยาศาตร์ที่มีชื่อเสียง[แก้]

  • ซิกมุนด์ ฟรอยด์ทำรายงานคนไข้หลายกรณีรวมทั้ง Anna O (กรณีแรกในการรักษาด้วยจิตวิเคราะห์) Dora (รายงานเค้สงานแรกของฟรอยด์ ที่มีการถกเถียงมากที่สุด) Little Hans (เด็กกลัวม้าอายุ 5 ขวบผู้มี Oedipus complex) Rat Man (คนไข้ที่มีจินตนาการหมกมุ่นเกี่ยวกับหนู) และ Wolf Man (คนไข้ที่ฝันถึงต้นไม้ที่เต็มไปด้วยหมาป่าสีขาว เป็นคนไข้จิตวิเคราะห์ถึง 6 ทศวรรษ นานที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จิตวิเคราะห์)
  • รายงานเกี่ยวกับโจเซฟ เมอร์ริค (มนุษย์ช้าง)
  • นายแพทย์ชาวฝรั่งเศส พอล โบรกา รายงานความบกพร่องทางภาษาหลังจากเกิดรอยโรคที่สมองซีกซ้ายในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1860
  • รายงานคนไข้ที่มีภาวะเสียการอ่านล้วน (Pure alexia)
  • รายงานคนไข้ที่มีโรค multiple myeloma ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1840
  • รายงานการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจรายแรกของโลก[21]
  • รายงานเค้สที่สัมพันธ์การใช้ Thalidomide กับความผิดปกติของทารก ในปี ค.ศ. 1961[9]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑", ให้ความหมายของ case ว่า "กรณี, ผู้ป่วย, คนไข้" และของ report ว่า "รายงาน"
  2. ให้ใช้คำว่า เค้ส แทน case ศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2 ed.). กรุงเทพ: ราชบัณฑิตยสถาน. 2006. p. 45. ISBN 974-9588-58-4.
  3. Volkland, Debra; Iles, Robert L. (1997). Guidebook to better medical writing. Washington, DC: Island Press. ISBN 0-9661831-0-X. OCLC 41579709.
  4. Aronson, JK (June 2003). "Anecdotes as evidence". BMJ. 326 (7403): 1346. doi:10.1136/bmj.326.7403.1346. PMC 1126236. PMID 12816800.
  5. Greenhalgh, T (July 1997). "How to read a paper. Getting your bearings (deciding what the paper is about)". BMJ. 315 (7102): 243–6. doi:10.1136/bmj.315.7102.243. PMC 2127173. PMID 9253275.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 6.8 Gagnier JJ, Kienle G, Altman DG, Moher D, Sox H, Riley D (2013). "The CARE guidelines: consensus-based clinical case reporting guideline development". Headache. 53 (10): 1541–7. doi:10.1111/head.12246. PMID 24266334.
  7. 7.0 7.1 Aronson, JK; Hauben, M (December 2006). "Anecdotes that provide definitive evidence". BMJ. 333 (7581): 1267–9. doi:10.1136/bmj.39036.666389.94. PMC 1702478. PMID 17170419.
  8. Vandenbroucke, Jan P (2003). "Vandenbroucke JP (2003). Thalidomide: an unanticipated adverse effect". James Lind Library. สืบค้นเมื่อ 2015-04-22.
  9. 9.0 9.1 McBride, W. G. (1961). "Thalidomide Case Report". The Lancet. 2 (1358).
  10. Vandenbroucke, JP (February 2001). "In defense of case reports and case series". Ann. Intern. Med. 134 (4): 330–4. doi:10.7326/0003-4819-134-4-200102200-00017. PMID 11182844.
  11. 11.0 11.1 Yitschaky O, Yitschaky M, Zadik Y (May 2011). "Case report on trial: Do you, Doctor, swear to tell the truth, the whole truth and nothing but the truth?" (PDF). J Med Case Reports. 5 (1): 179. doi:10.1186/1752-1947-5-179. PMC 3113995. PMID 21569508.
  12. 12.0 12.1 "The CARE Guidelines: Consensus-based Clinical Case Reporting Guideline Development". The EQUATOR Network. สืบค้นเมื่อ 2014-05-28.
  13. "Online open peer-reviewed case report journal". Grand Rounds.
  14. "Case Reports in Medicine". hindawi.
  15. Felix S. Chew (บ.ก.). "Radiology Case Reports". ISSN 1930-0433.
  16. "Case Reports". Journal of Radiology Case Reports.
  17. "JSCR". Journal of Surgical Case Reports.
  18. "Journal of Orthopaedic Case Reports". Indian Orthopaedic Research Group. ISSN 2250-0685.
  19. "Treatment and Side Effect Information". Patients Like You.
  20. "Share and Find Treatment Reviews for Medical Conditions". Treatment Report. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-29. สืบค้นเมื่อ 2021-08-24.
  21. "Cardiac transplantation: since the first case report". Grand Rounds. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-23.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

เว็บไซต์