คราวซึมเศร้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Major depressive episode
ภาพหญิงที่วินิจฉัยว่ามีภาวะซึมเศร้า
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10F32.2-F32.3
ICD-9296.2

คราวซึมเศร้า[1] หรือ คราวแสดงอาการซึมเศร้า หรือ ภาวะซึมเศร้า (อังกฤษ: major depressive episode) เป็นช่วงเวลาที่มีอาการของโรคซึมเศร้า (major depressive disorder ตัวย่อ MDD) โดยหลักก็คือมีอารมณ์เศร้าเป็นเวลา 2 อาทิตย์หรือมากกว่านั้น และการสูญเสียความสนใจหรือความสุขในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยอาการอื่น ๆ เช่น ความรู้สึกว่าไร้ความหมาย ไม่มีหวัง วิตกกังวล ตนไม่มีค่า ความรู้สึกผิดและ/หรือความฉุนเฉียวง่าย ความเปลี่ยนแปลงต่อความอยากอาหาร ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจำรายละเอียดหรือตัดสินใจได้ และความคิดเกี่ยวกับหรือความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย อาการนอนไม่หลับหรือการนอนมากเกินไป (hypersomnia) ความเจ็บปวด หรือปัญหาย่อยอาหารที่แก้ไม่ได้ ก็อาจจะมีด้วย นี้เป็นคำอธิบายดังที่ใช้ในเกณฑ์วินิจฉัยทางจิตเวช ดังที่พบในคู่มือ DSM-5 และ ICD-10[2]

ความซึมเศร้าก่อทั้งปัญหาทางอารมณ์และปัญหาทางเศรษฐกิจ ในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ค่าเสียหายที่สัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าเทียบได้กับที่เกิดจากโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และปัญหาเกี่ยวกับเจ็บหลัง และเสียหายมากกว่าโรคความดันโลหิตสูง[3] ตามงานวิจัยหนึ่ง คราวซึมเศร้ามีสหสัมพันธ์โดยตรงกับความว่างงาน[4] การรักษารวมทั้งการออกกำลังกาย จิตบำบัด และยาแก้ซึมเศร้า แม้ว่าในกรณีที่รุนแรง การเข้าโรงพยาบาลอาจจำเป็น[5]

มีทฤษฎีมากมายว่าความซึมเศร้าเกิดขึ้นได้อย่างไร ทฤษฎีหนึ่งก็คือว่า สารสื่อประสาทในสมองไม่สมดุล ก่อความรู้สึกว่าตนไม่มีค่าและสิ้นหวัง การสร้างภาพในสมองด้วย MRI แสดงว่า สมองของผู้ซึมเศร้าต่างจากของคนที่ไม่มีอาการ[6] การมีประวัติของโรคในครอบครัวเพิ่มความเสี่ยง[7]

อาการ[แก้]

หญิงที่มีความซึมเศร้าและความวิตกกังวล

เกณฑ์วินิจฉัยต่อไปนี้มากจาก DSM-IV สำหรับคราวซึมเศร้า (major depressive episode) การวินิจฉัยว่าเป็นคราวซึมเศร้า บังคับว่าคนไข้ต้องประสบอาการอย่างน้อย 5 อย่างที่จะกล่าวต่อไปเป็นระยะเวลา 2 อาทิตย์ ซึ่งเป็นอาการนอกเหนือไปจากพฤติกรรมปกติของคนไข้ ความเศร้า (depressed mood) หรือความสนใจ/ความสุขเพลิดเพลินที่ลดลง ต้องเป็นอาการ 1 ใน 5 (แม้ว่าทั้งสองบ่อยครั้งจะเกิดด้วยกัน)

อารมณ์ ความไม่เป็นสุข และความไม่สนใจ[แก้]

คนที่ประสบกับภาวะซึมเศร้าอาจรายงานอารมณ์เศร้า (depressed mood) หรืออาจปรากฏว่าซึมต่อคนอื่น[8] บ่อยครั้ง ความสนใจและความสุขเพลิดเพลินในกิจกรรมชีวิตประจำวันจะลดลง ซึ่งเรียกว่าภาวะสิ้นยินดี (anhedonia) ความรู้สึกเช่นนี้ต้องมีทุกวันเป็นเวลา 2 อาทิตย์หรือนานกว่านั้นที่จะผ่านเกณฑ์ของ DSM-IV ว่ามีภาวะซึมเศร้า[8] นอกจากนั้นแล้ว บุคคลอาจจะประสบกับอารมณ์ดังต่อไปนี้ คือ ความเศร้าโศก ความรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย ความหมดหวัง ความรู้สึกผิด ความไม่แยแส ความวิตกกังวล การร้องไห้ การมองในแง่ร้าย หรือความฉุนเฉียวง่าย[2] เด็กและวัยรุ่นโดยเฉพาะอาจจะฉุนเฉียวง่าย[2] อาจจะเสียความสนใจหรือความต้องการในเพศสัมพันธ์ เพื่อน ๆ และครอบครัวของคนไข้อาจสังเกตว่าเขาออกห่างจากเพื่อน หรือว่าละเลยหรือเลิกทำกิจกรรมที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งที่ชอบ[9]

คนซึมเศร้าอาจมีความรู้สึกผิดเกินปกติ จนกระทั่งถึงกับหลงผิด[8] อาจจะคิดถึงตัวเองในเชิงลบที่ไม่สมกับความจริง เช่นหมกมุ่นกับความล้มเหลวในอดีต การยึดมั่นกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเชื่อว่าความผิดพลาดเล็กน้อยเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าตนเป็นคนล้มเหลว และอาจจะรู้สึกต้องรับผิดชอบอย่างไม่สมจริง และเห็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ว่าเป็นความผิดของตน นอกจากนั้นแล้ว การรังเกียจตัวเอง (self-loathing) ก็ยังเป็นอาการสามัญอีกด้วย ซึ่งอาจจะทำให้มีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ เมื่อเกิดขึ้นรวมกับอาการอื่น ๆ[9]

ความเปลี่ยนแปลงในการรับประทาน ความอยากอาหาร หรือน้ำหนัก[แก้]

คนที่มีภาวะซึมเศร้าอาจมีน้ำหนักลดหรือขึ้นอย่างสำคัญ (เช่น 5% ของน้ำหนักปกติของตนภายในเดือนหนึ่ง) หรือความอยากอาหารอาจจะเปลี่ยนไป[8] ซึ่งเป็นได้ทั้งสองอย่าง คือ น้อยหรือมากเกินไป ในกรณีแรก บางคนอาจจะไม่รู้สึกหิวเลย คืออยู่ได้โดยไม่ต้องทาน หรืออาจจะลืม และถ้าทาน อาหารเพียงแค่เล็กน้อยก็พอแล้ว ในเด็ก การไม่เพิ่มน้ำหนักตามเกณฑ์อาจจะเรียกได้ว่าอยู่ในกรณีนี้[2] การทานน้อยเกินไปบ่อยครั้งสัมพันธ์กับความซึมเศร้าแบบ melancholic ในกรณีหลัง บางคนอาจอยากอาหารมากขึ้นและน้ำหนักอาจจะขึ้นอย่างสำคัญ และอาจจะต้องการทานอาหารบางประเภท เช่น ของหวานหรือแป้ง บุคคลที่ซึมเศร้าแบบ seasonal affective disorder (ตัวย่อ SAD คือความผิดปกติทางอารมณ์ที่เป็นไปตามฤดู) อาจจะอยากอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง การทานอาหารเกินบ่อยครั้งสัมพันธ์กับความซึมเศร้าที่เรียกว่า atypical depression[9]

การนอนหลับ[แก้]

ทุก ๆ วัน คนซึมเศร้าอาจจะนอนมากเกินไป ซึ่งเรียกว่า hypersomnia หรือนอนน้อยเกินไป ซึ่งเรียกว่า insomnia (การนอนไม่หลับ)[8] การนอนไม่หลับเป็นปัญหาการนอนที่สามัญที่สุดสำหรับคนซึมเศร้าและบ่อยครั้งสัมพันธ์กับความซึมเศร้าแบบ melancholic

อาการนอนไม่หลับรวมทั้งปัญหาในการหลับ ปัญหาตื่นง่าย และ/หรือตื่นเช้าเกินไป ส่วนการนอนมากเกินไปสามัญน้อยกว่า ซึ่งอาจจะเป็นการนอนยาวตอนกลางคืน หรือนอนมากขึ้นตอนกลางวัน การนอนอาจจะไม่ทำให้รู้สึกว่าได้พักผ่อน คือบุคคลอาจจะรู้สึกเพลียแม้ว่าจะได้นอนหลายชั่วโมง ซึ่งมีผลต่อกิจกรรมชีวิตประจำวันและสมาธิในที่ทำงานหรือที่บ้าน ตามห้องสมุดการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (United States National Library of Medicine) คนซึมเศร้าแบบ SAD อาจจะนอนนานกว่าในช่วงหน้าหนาว การนอนมากเกินไปบ่อยครั้งสัมพันธ์กับความซึมเศร้าแบบ atypical depression[9] และไม่สามัญเท่ากับนอนไม่หลับ และคนไข้ประมาณ 40% จะนอนมากเกินไปเป็นบางครั้งบางคราว[10]

การเคลื่อนไหว/กิจกรรม[แก้]

เกือบทุกวัน บุคคลอื่นจะเห็นว่ากิจกรรมของบุคคลนั้นอยู่ในระดับไม่ปกติ[8] คือ อาจจะกระวนกระวาย (เรียกว่า psychomotor agitation) หรือว่า เฉื่อยชาเกินไป (เรียกว่า psychomotor retardation) ถ้ากระวนกระวาย คนไข้อาจจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ต้องเดินไปเดินมา บีบรัดมือ หรือเล่นกับเสื้อผ้ากับวัตถุอื่น ๆ ถ้าเฉื่อยชา คนไข้มักจะเคลื่อนไหวช้าลง อาจจะเดินในห้องช้า ๆ ไม่มองใคร นั่งซบเซาบนเก้าอี้และพูดช้า ๆ ถ้าพูดอะไรเลย คนไข้อาจจะกล่าวว่าแขนขาหนัก

เพื่อที่จะผ่านเกณฑ์วินิจฉัย การเคลื่อนไหวต้องเปลี่ยนไปอย่างผิดปกติจนผู้อื่นเห็นได้[9] ถ้าคนไข้กล่าวเองว่า รู้สึกอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ หรือรู้สึกเชื่องช้า ยังไม่นับเข้ากับเกณฑ์นี้[2]

ความล้าและสมาธิ[แก้]

เกือบทุกวัน บุคคลจะประสบความรู้สึกล้ามาก เหนื่อยมาก หรือหมดแรง[2][8] อาจจะรู้สึกเหนื่อยโดยที่ไม่ได้ทำอะไร จนกิจกรรมประจำวันกลายเป็นเรื่องยาก งานอาชีพและที่บ้านจะทำให้รู้สึกเหนื่อยมาก และก็จะเริ่มมีปัญหากับงาน[9] คนไข้อาจจะตัดสินใจอะไรไม่ได้ หรือมีปัญหาในการคิดหรือในเรื่องสมาธิ[8] ปัญหากับความจำและความวอกแวกเป็นเรื่องสามัญ อาการเหล่านี้จะเป็นปัญหามากขึ้นในกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด เช่น การเรียนหนังสือหรืองาน โดยเฉพาะในเรื่อง/สาขาวิชาที่ยาก[9]

ความคิดเกี่ยวกับความตายและการฆ่าตัวตาย[แก้]

บุคคลอาจจะคิดซ้ำ ๆ เรื่องความตาย (นอกเหนือจากกลัวตาย) หรือการฆ่าตัวตาย (ไม่ว่าจะมีแผนหรือไม่) หรืออาจพยายามฆ่าตัวตาย[8] ความถี่และความหมกมุ่นในความคิดเกี่ยวกับความตายอาจจะเริ่มตั้งแต่การเชื่อว่า เพื่อน ๆ และครอบครัวจะดีกว่าถ้าตนตาย, การคิดบ่อย ๆ ถึงการฆ่าตัวตาย (ทั่วไปโดยหวังจะยุติความเจ็บปวดทางใจ), จนกระทั่งถึงการวางแผนอย่างละเอียดว่าจะทำอย่างไร คนที่อยากฆ่าตัวตายมากอาจมีแผนโดยเฉพาะและได้ตัดสินใจถึงวันและสถานที่ที่จะฆ่าตัวตายแล้ว[9]

การวินิจฉัย[แก้]

ในประเทศตะวันตก ผู้ให้บริการทางสุขภาพอาจจะตรวจคัดโรคซึมเศร้าโดยใช้คำถาม เช่นชุดคำถาม Patient Healthcare Questionnaire-2 (PHQ-2)[11] เพื่อที่จะวินิจฉัยว่าเป็นภาวะซึมเศร้า ผู้รักษาพยาบาลควรจะแน่ใจว่า

  • อาการไม่ผ่านเกณฑ์แบบผสม (Mixed state) ซึ่งมีทั้งความฟุ้งพล่าน (mania) และความซึมเศร้า เช่น ความกระวนกระวาย ความวิตกกังวล ความอ่อนเพลีย ความรู้สึกผิด การทำอะไรแบบไม่คิด ความฉุนเฉียวง่าย ความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย อาการตื่นตระหนก การพูดอย่างรีบเร่ง ที่เกิดสลับกันเป็นเวลาสั้น ๆ[2]
  • อาการก่อความทุกข์หรือปัญหาอย่างพอสมควร ในการทำงาน ในความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือในด้านอื่น ๆ ของชีวิต เพื่อที่จะผ่านเกณฑ์ว่าเป็นคราวแสดงออก[2]
  • อาการไม่ใช่เป็นผลทางสรีรภาพโดยตรงของสาร (เช่นยาเสพติดหรือยา) หรืออาการทางแพทย์อื่น ๆ (เช่น โรคไทรอยด์)[2]
  • นอกจากกรณีที่มีอาการรุนแรง (คือ ไม่สามารถทำกิจในชีวิตประจำวัน การหมกมุ่นอย่างรุนแรงว่าตนไม่มีค่า ความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย อาการหลงผิดหรือประสาทหลอน หรือการเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า) คราวแสดงออกไม่ควรจะเริ่มภายในสองเดือนที่เสียคนรักไป[12]

การรักษาบำบัด[แก้]

ความซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยที่รักษาได้ ในประเทศตะวันตก การรักษาภาวะซึมเศร้าสามารถได้จากสถานที่ดังต่อไปนี้ คือ ผู้ชำนาญการเกี่ยวกับสุขภาพจิต (เช่น นักจิตวิทยา จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ให้คำปรึกษา เป็นต้น) ศูนย์หรือองค์กรสุขภาพจิต โรงพยาบาล คลินิกผู้ป่วยนอก องค์กรบริการสังคม คลินิกเอกชน กลุ่มผู้ป่วยที่ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผู้ทำการเกี่ยวกับศาสนา และโปรแกรมช่วยเหลือลูกจ้างของบริษัท[13] การรักษาอาจจะทำด้วยจิตบำบัดอย่างเดียว ยาแก้ซึมเศร้าอย่างเดียว หรือทั้งสองอย่างรวมกัน

สำหรับภาวะซึมเศร้ารุนแรง (คือมีอาการหลายอย่าง มีความไวปฏิกิริยาต่ออารมณ์บวกน้อย มีปัญหาทางชีวิตหลายอย่าง) การรักษาด้วยวิธีทั้งสองรวมกันมีผลดีกว่าจิตบำบัดอย่างเดียว[2] คนไข้ที่มีอาการรุนแรงอาจจะต้องเข้าโรงพยาบาลหรือได้การรักษาจากโรงพยาบาล[5] จิตบำบัด ซึ่งบางครั้งรู้จักเป็นคำภาษาอังกฤษอื่น ๆ ว่า talk therapy (การบำบัดโดยการคุยกัน) counseling (การให้คำปรึกษา) หรือ psychosocial therapy (การบำบัดทางจิต-สังคม) เป็นการให้คนไข้พูดถึงอาการและปัญหาสุขภาพจิตของตนกับผู้บำบัดที่ได้ฝึกมาแล้ว มีจิตบำบัดหลายอย่างที่ได้ผลในการรักษา รวมทั้งการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy), interpersonal therapy, dialectical behavior therapy, acceptance and commitment therapy, และเทคนิครักษาที่อาศัยสติ[5]

ยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้ารวมทั้ง selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) เช่นฟลูอ๊อกซิติน, serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor (SNRI), norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor (NDRI), tricyclic antidepressant, monoamine oxidase inhibitor (MAOI) และ atypical antidepressants เช่น mirtazapine ซึ่งไม่สามารถรวมเข้าในประเภทอื่น[5] ยาแก้ซึมเศร้าได้ผลต่าง ๆ กันสำหรับบุคคลต่าง ๆ บ่อยครั้งจำเป็นต้องลองยาหลายอย่างก่อนที่จะเจอขนานที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้คนหนึ่ง ๆ บางคนอาจจะต้องใช้หลายขนานรวมกัน ซึ่งอาจจะหมายถึงยาแก้ซึมเศร้าสองอย่าง บวกกับยารักษาโรคจิต (antipsychotic)[14] ถ้ามีญาติใกล้ชิดของคนไข้ที่ใช้ยาแบบหนึ่งดี ยาขนานนั้นก็น่าจะดีต่อคนไข้ด้วย[5] บางครั้ง คนอาจจะเลิกทานยาแก้ซึมเศร้าเพราะผลข้างเคียง แม้ว่า ผลข้างเคียงบ่อยครั้งจะรุนแรงน้อยลงต่อ ๆ มา[14] การเลิกทานยาแบบฉับพลัน หรือไม่ได้ทานยาหลายครั้ง อาจจะทำให้เกิดอาการขาดยา[5] งานศึกษาบางงานพบว่า ยาแก้ซึมเศร้าอาจเพิ่มความคิดหรือการกระทำเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่วัยต้น ๆ แต่ว่า ยาแก้ซึมเศร้ามีโอกาสสูงกว่าที่จะลดระดับความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในระยะยาว[5]

ถ้าไม่รักษา ภาวะซึมเศร้าปกติอาจยาวถึง 6 เดือน และประมาณ 20% อาจยาวถึง 2 ปีหรือมากกว่านั้น ประมาณครึ่งหนึ่งหายเอง (Spontaneous remission) แต่ว่า แม้ว่าหลังจากภาวะจะยุติลง 20%-30% ก็จะยังมีอาการเหลือ ซึ่งอาจจะก่อความทุกข์และความพิการ[3]

ข้อมูลประชากร[แก้]

จำนวนประมาณของคนที่มีภาวะซึมเศร้า (major depressive episode) และโรคซึมเศร้า (MDD) ต่าง ๆ กันอย่างสำคัญ ในช่วงชีวิต 10%-25% ของหญิง และ 5%-12% ของชายจะเกิดภาวะซึมเศร้า (major depressive episode) แต่จะมีคนน้อยกว่า คือ 5%-9% ของหญิง และ 2%-3% ของชายจะมีโรคซึมเศร้า (major depressive disorder) ความแตกต่างทางจำนวนระหว่างหญิงชายพบมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาและยุโรป[2]

วัยที่เกิดภาวะซึมเศร้ามากที่สุดก็คือช่วงอายุระหว่าง 25-44 ปี การเริ่มต้นของภาวะหรือโรคซึมเศร้าบ่อยครั้งเกิดขึ้นกับคนช่วงกลาง ๆ วัย 20-30 ปี และน้อยครั้งกว่าหลังจากถึงอายุ 65 ปี เด็กก่อนวัยเจริญพันธุ์ทั้งหญิงชายสามารถเกิดภาวะนี้ได้เท่า ๆ กัน อาการซึมเศร้าเหมือนกันทั้งในเด็กและวัยรุ่น แม้จะมีหลักฐานว่าการแสดงออกของภาวะในบุคคลเดียวกันจะเปลี่ยนไปเมื่อเจริญวัยขึ้น[2]

องค์กรวิจัยทางสุขภาพจิตประจำชาติของสหรัฐอเมริกา (National Institute of Mental Health) มีงานศึกษาที่พบว่า บุคคลที่มีความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) จะมีภาวะซึมเศร้าภายใน 4 เดือนหลังจากเหตุการณ์ที่ประสบ[15]

ปัจจัยทางวัฒนธรรมมีอิทธิพลต่ออาการที่ปรากฏ ค่านิยมของวัฒนธรรมอาจจะมีอิทธิพลว่า บุคคล เพื่อน หรือครอบครัว จะกังวลเกี่ยวกับอาการใดของผู้ป่วยมากที่สุด เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ทำการบำบัดจะรู้ว่า ไม่ควรละเลยอาการอะไรบางอย่างเพราะเป็นเรื่อง "ปกติ" ของวัฒนธรรมนั้น ๆ[2] แต่ว่า ปัจจัยทางสังคม-เศรษฐกิจและทางสิ่งแวดล้อมดูเหมือนจะไม่มีผลอะไรต่อการเกิดขึ้นของภาวะหรือโรคซึมเศร้า[3]

หญิงที่พึ่งคลอดบุตรอาจจะมีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งเรียกว่า postpartum depression (ความซึมเศร้าหลังคลอด) ซึ่งต่างจากอาการที่เรียกว่า maternity blues อันเป็นความเศร้าที่หายเองภายใน 10 วันหลังจากคลอด[16]

ความผิดปกติที่เกิดร่วมกัน[แก้]

ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดร่วมกับปัญหาทางกายหรือทางใจอื่น ๆ (comorbidity) คนไข้ที่มีโรคเรื้อรังอย่างอื่นประมาณ 20-25% จะเกิดภาวะซึมเศร้า[3] โรคที่เกิดร่วมกันอย่างสามัญรวมทั้ง ความผิดปกติในการรับประทาน (eating disorder) ความผิดปกติที่เกิดจากสาร (substance-related disorders) โรคตื่นตระหนก และโรคย้ำคิดย้ำทำ บุคคลที่เกิดภาวะซึมเศร้าประมาณ 25% มีอาการของโรค Dysthymia (เป็นความปั่นป่วนทางอารมณ์ที่เรื้อรังแต่รุนแรงน้อยกว่าที่คนไข้แจ้งว่ามีอารมณ์เศร้าเกือบทุกวันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี) อยู่แล้ว[3] บุคคลที่มีโรคถึงตายหรืออยู่ในระยะสุดท้ายในชีวิตอาจจะประสบความซึมเศร้า แต่นี่ไม่ได้เกิดกับทุกคน[16]

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. "episode (แพทยศาสตร์)", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, คราว (การสำแดง)
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 American Psychiatric Association (1994). Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (4th ed.).
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Medscape (ต้องรับบริการ)
  4. Hämäläinen, Juha (2005). "Major depressive episode related to long unemployment and frequent alcohol intoxication". Nordic Journal of Psychiatry. สืบค้นเมื่อ 2015-02-14.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 "Depression (major depression)". Mayo Clinic. สืบค้นเมื่อ 2015-02-13.
  6. Katon, W (2002). "Impact of major depression on chronic medical illness". Journal of Psychosomatic Research. 53: 859–863. doi:10.1016/s0022-3999(02)00313-6.
  7. Tsuang, M (2004). "Gene-environment interactions in mental disorders". World Psychiatry. 3 (2): 72–83. {{cite journal}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 8.8 "Criteria for Major Depressive Episode". Winthrop University. faculty.winthrop.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-11-23. สืบค้นเมื่อ 2013-11-20.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 "All About Depression: Diagnosis". All About Depression.com. www.allaboutdepression.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-13. สืบค้นเมื่อ 2015-02-13.
  10. Shalev, A (1998). "Prospective study of posttraumatic stress disorder and depression following trauma". American Journal of Psychiatry. 155 (5): 630–637. doi:10.1176/ajp.155.5.630.
  11. Maurer, DM (2012). "Screening for depression". Am Fam Physician. PMID 22335214. สืบค้นเมื่อ 2015-05-09.
  12. "Mood". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-25. สืบค้นเมื่อ 2013-11-20.
  13. Cassano, P (2002). "Depression and public health, an overview". Journal of Psychosomatic Research. 53: 849–857. doi:10.1016/s0022-3999(02)00304-5.
  14. 14.0 14.1 "Depression Medicines". WebMD. สืบค้นเมื่อ 2015-02-13.
  15. Shalev, A. "Prospective study of posttraumatic stress disorder and depression following trauma". American Journal of Psychiatry. {{cite web}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  16. 16.0 16.1 Hirst, KP; และคณะ (2010). "Postpartum major depression". Am Fam Physician. PMID 20949886. สืบค้นเมื่อ 2015-05-09.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]