พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช

พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
พระราชานุสาวรีย์พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช นครศรีธรรมราช .jpg
พระมหากษัตริย์
รัชสมัย23 ปี
รัชกาลถัดไปพระเจ้าจันทรภาณุ
ราชวงศ์ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช
พระราชบิดาไม่ปรากฏ
พระราชมารดาไม่ปรากฏ
ประสูติไม่ปรากฏ
สวรรคตพ.ศ. 1773

พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เป็นปฐมกษัตริย์เป็นต้นราชวงศ์ปทุมวงศ์ แห่งอาณาจักรตามพรลิงก์ เป็นผู้สร้างเมืองนครศรีธรรมราช จากชุมชนเดิมซึ่งมีชื่อเรียกว่า ตามพรลิงก์ บนหาดทรายแก้ว (บริเวณตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน) เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 17 จนกลายเป็นนครรัฐหรือเป็นอาณาจักรใหญ่ในคาบสมุทรไทย ก่อนที่จะเข้ารวมอยู่ในราชอาณาจักรไทย สมัยกรุงศรีอยุธยาในต้นพุทธศตวรรษที่ 20 พระนามกษัตริย์ พระองค์นี้ ปรากฏอยู่ในหลักฐานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหลายชิ้น เช่น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และจารึกดงแม่นางเมือง (จารึกหลักที่ 35)[1]

พระราชประวัติ[แก้]

ตามตำนานของจังหวัดนครศรีธรรมราชได้กล่าวเล่าขานกันว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทรงพระนามเดิมว่า "อโศก" เป็นชาวอินเดียที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา[2] เมื่อได้มาสร้างบ้านเมืองใหม่ขึ้น ทรงสถาปนาอาณาจักรนครศรีธรรมราชขึ้น เฉลิมพระนามว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช แปลว่า พระเจ้าอโศกผู้ทรงธรรม พระองค์ได้นำเอาพระพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์เข้ามา นอกจากนั้นยังได้นำเอาลัทธิความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์เข้ามาด้วย แต่เนื่องจากวิธีการปฏิบัติทางโลกมากกว่าทางธรรมจึงทำใหพิธีการของพราหมณ์ซึ่งเป็นทางโลกส่วนมาก อธิเช่น นิติประเพณี ราชเพณี ฯลฯ เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในดินแดนนี้มาก จึงทำให้ภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในศาสนาพราหมณ์เป็นที่แพร่หลายในดินแดนนี้ด้วย[3] พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้สร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นราว ๆ พ.ศ. 1098 ในชั้นแรกคนทั่วไปไม่ได้เรียกว่า "นครศรีธรรมราช" อย่างเช่นในคัมภีร์บาลีเรียกว่า "พลิง" แต่ในชื่อเดียวกันนี้ ในศิลาจารึกเมืองไชยาจะเรียก "ตามพรลิงก์" มาตั้งแต่อดีตและเรียกขานจนมาถึงทุกวันนี้

พระราชกรณียกิจ[แก้]

  1. ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของนครศรีธรรมราชโบราณ และได้เป็นผู้สร้างบ้านแปลงเมืองให้เป็นอาณาจักรสำคัญในแหลมอินโดจีน
  2. ได้ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1098 โดยสร้างกำแพงป้อมปราการโดยรอบทั้งชั้นนอกชั้นใน ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทำให้นครศรีธรรมราชเป็นมหานครใหญ่และมีอำนาจมาก มีเมืองขึ้น 12 หัวเมืองเรียกว่า 12 นักษัตร ตั้งอยู่โดยรอบพระราชอาณาเขต โดยกำหนดให้ใช้สัตว์ประจำปีเป็นตราเมืองแต่ละเมือง
  3. ได้ทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นบนหาดทรายแก้ว ซึ่งนับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญในสมัยต่อมาตราบจนปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. พร้อมรำลึก อนุสรณ์งานพระราชเพลิงศพนางสาวพร้อม ณ นคร. นครศรีธรรมราช : [ม.ป.พ.], พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2554.
  2. "ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช กับ พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-27. สืบค้นเมื่อ 2014-06-01.
  3. "ศรีธรรมราช นครแห่งเมืองใต้ - Eduzones". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-29. สืบค้นเมื่อ 2014-06-01.