เทศบาลนครปากเกร็ด
เทศบาลนครปากเกร็ด | |
---|---|
จากซ้ายบนไปล่างขวา: สะพานพระราม 4, ภาพถ่ายทางอากาศ, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, อิมแพ็ค เมืองทองธานี และท่าเรือปากเกร็ด | |
พิกัด: 13°54′44.4″N 100°29′52.3″E / 13.912333°N 100.497861°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | นนทบุรี |
อำเภอ | ปากเกร็ด |
จัดตั้ง |
|
การปกครอง | |
• นายกเทศมนตรี | วิชัย บรรดาศักดิ์ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 36.04 ตร.กม. (13.92 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2563) | |
• ทั้งหมด | 189,458 คน |
• ความหนาแน่น | 5,256.88 คน/ตร.กม. (13,615.3 คน/ตร.ไมล์) |
รหัส อปท. | 03120601 |
ที่อยู่ สำนักงาน | เลขที่ 1 หมู่ที่ 5 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 |
เว็บไซต์ | www |
เทศบาลนครปากเกร็ด เป็นเทศบาลนครขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล คือ ตำบลปากเกร็ด ตำบลบางตลาด ตำบลคลองเกลือ ตำบลบางพูด และตำบลบ้านใหม่ ติดต่อกับกรุงเทพมหานครทางทิศตะวันออก และเทศบาลนครนนทบุรีทางทิศใต้ มีประชากรทั้งหมดประมาณ 180,000 คน ทำให้ปากเกร็ดเป็นเทศบาลนครที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากเทศบาลนครนนทบุรี
สภาพพื้นที่ในเขตเทศบาลเดิมเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพเป็นที่รองรับการขยายตัวเป็นที่พักอาศัย อุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และหน่วยงานราชการส่วนกลาง เนื่องมาจากการขยายตัวของเขตเมืองของกรุงเทพมหานคร
ประวัติ
[แก้]เดิมท้องที่เทศบาลนครปากเกร็ดมีฐานะเป็นสุขาภิบาล เรียกว่า สุขาภิบาลปากเกร็ด จัดตั้งขึ้นโดยประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2498 รวมเวลาการเป็นสุขาภิบาล 36 ปี 4 เดือน โดยมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกทั้งหมดใน 5 ตำบล 34 หมู่บ้าน และด้วยความเจริญที่เข้ามาอย่างรวดเร็วพื้นที่การเกษตรจึงได้แปรเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย ประกอบกับนโยบายของจังหวัดนนทบุรีในช่วงปี พ.ศ. 2535 สุขาภิบาลปากเกร็ดจึงได้รับการจัดตั้งเป็น เทศบาลตำบลปากเกร็ด ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 108 ตอนที่ 245 ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2534 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535
หลังจากที่สุขาภิบาลปากเกร็ดได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลปากเกร็ด ได้เพียง 3 ปีเศษ เทศบาลตำบลปากเกร็ดจึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น เทศบาลเมืองปากเกร็ด ทั้งนี้เนื่องจากสภาพความเจริญของพื้นที่และจำนวนประชากรตลอดจนรายได้ในการพัฒนาท้องถิ่น เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย ประกอบกับคณะเทศมนตรีมีนโยบายในการขยายการพัฒนาของเทศบาลให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของเมืองที่ต้องการองค์การที่มีศักยภาพในการบริหารเพิ่มขึ้น เทศบาลตำบลปากเกร็ดจึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลเมืองปากเกร็ด ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 112 ตอนที่ 32 ก ลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539
ด้วยศักยภาพของเมืองปากเกร็ดนั้นมีความพร้อมเพียงพอในการที่จะเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลนครได้ ประกอบกับกระแสนโยบายในการกระจายอำนาจและการยกฐานะสุขาภิบาลทั่วประเทศเป็นเทศบาลตำบล คณะผู้บริหารเทศบาลเมืองปากเกร็ดจึงได้พิจารณาเปลี่ยนแปลงฐานะของเทศบาลเมืองปากเกร็ดอีกครั้งเป็น เทศบาลนครปากเกร็ด[1] นับว่าจังหวัดนนทบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดในประเทศที่มีเทศบาลนคร ถึง 2 แห่ง (อีกจังหวัดคือจังหวัดสงขลาและจังหวัดสมุทรสาคร) อันแสดงให้เห็นถึงความพร้อมขององค์กรในการเห็นถึงความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นหน่วยงานซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด จะได้บริหารงานเพื่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน พื้นที่นี้มีความหนาแน่นมากกว่าบางเขตของกรุงเทพมหานคร มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยเทียบเท่าตัวอำเภอเมืองนนทบุรี เช่น หน่วยงานราชการ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมซึ่งมีอยู่ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โรงเรียนนานาชาติ คอนโดมิเนียม ถนนบอนด์ซึ่งจำลองมาจากต่างประเทศ, สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งแม่น้ำ 2 สาย คือแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำลัดเกร็ด และการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครก็มีความสะดวก เพราะมีอาณาเขตติดต่อกัน
ภูมิศาสตร์
[แก้]ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]เขตเทศบาลนครปากเกร็ดครอบคลุมพื้นที่ตำบลปากเกร็ด ตำบลบางตลาด ตำบลคลองเกลือ ตำบลบางพูด และตำบลบ้านใหม่ รวม 5 ตำบล 34 หมู่บ้าน มีพื้นที่ทั้งหมด 36.04 ตารางกิโลเมตรหรือ 22,525 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียงดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตเทศบาลตำบลบ้านใหม่ (อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี) มีคลองบ้านใหม่ตลาดเนื้อเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับกรุงเทพมหานคร มีคลองประปาเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศใต้ ติดต่อกับเขตเทศบาลนครนนทบุรี (อำเภอเมืองนนทบุรี) มีคลองบางตลาดเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอิฐ เขตองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด เขตองค์การบริหารส่วนตำบลบางตะไนย์ (อำเภอปากเกร็ด) เขตเทศบาลเมืองบางคูวัด และเขตเทศบาลตำบลบางขะแยง (อำเภอเมืองปทุมธานี) มีแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำลัดเกร็ดเป็นเส้นแบ่งเขต
ลักษณะภูมิประเทศ
[แก้]สภาพพื้นที่เทศบาลนครปากเกร็ด เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เหมาะแก่การเกษตร เช่น การทำสวนผลไม้ ผลไม้ที่ลือชื่อ คือ ทุเรียน ส้มโอ มังคุด กล้วยน้ำว้า แต่เนื่องจากเทศบาลนครปากเกร็ดมีความเจริญมีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานคร มีเส้นทางการคมนาคมที่สะดวก สามารถเดินทางได้ทั้งทางบกและทางน้ำ พื้นที่เกือบทั้งหมดจึงแปรสภาพจากการเกษตรไปเป็นการจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจและการลงทุน โดยเฉพาะกิจการบ้านจัดสรรและอาคารสำนักงานสูง ๆ
สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังคงมีคลองสาธารณะเชื่อมต่อในพื้นที่หลายสายและเป็นจุดระบายน้ำจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และจากการที่มีพื้นที่เป็นที่ลุ่มจึงทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนและฤดูน้ำหลาก คลองสายหลักที่ระบายน้ำจากฝั่งตะวันออกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มี 10 สาย ได้แก่ คลองบ้านใหม่ตลาดเนื้อ คลองบ้านเก่า คลองทองหลาง คลองแวะ คลองวัดช่องลม คลองกลางเกร็ด คลองบางพัง คลองบางพูด คลองบางตลาด และคลองบางตลาดน้อย
และมีคลองอีก 7 สายที่ไหลเวียนในแนวทิศเหนือใต้และระบายน้ำลงคลองหลัก ได้แก่ คลองที่ระบายน้ำลงคลองบางพูด คือ คลองเกลือ, คลองที่ระบายน้ำลงคลองบางพัง คือ คลองโพธิ์, และคลองที่ระบายน้ำลงคลองบางตลาด คือ คลองส่วย คลองหนองตาเกิ้น คลองดงตาล คลองหัวสิงห์ และคลองขี้เหล็ก
ลักษณะภูมิอากาศ
[แก้]จัดได้ว่าเป็นบริเวณที่ชุ่มชื้น มีฝนตกในฤดูฝน และมักจะเกิดอุทกภัยอยู่เสมอ ในฤดูแล้งสภาพของพื้นที่ไม่แห้งแล้ง เพราะพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้ยืนต้น ทำให้สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้ตลอดไป อุณหภูมิโดยเฉลี่ยตลอดทั้งปี อยู่ในระหว่าง 25–35 องศาเซลเซียส
ข้อมูลภูมิอากาศของเทศบาลนครปากเกร็ด | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 28.3 (83) |
30 (86) |
30.6 (87) |
31.7 (89) |
31.7 (89) |
31.7 (89) |
31.7 (89) |
31.7 (89) |
31.1 (88) |
31.1 (88) |
29.4 (85) |
27.8 (82) |
30.6 (87) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 22.2 (72) |
22.2 (72) |
22.8 (73) |
23.3 (74) |
23.9 (75) |
23.3 (74) |
22.8 (73) |
23.3 (74) |
22.8 (73) |
23.3 (74) |
22.8 (73) |
22.8 (73) |
22.8 (73) |
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) | 300 (11.81) |
170 (6.69) |
180 (7.09) |
170 (6.69) |
190 (7.48) |
160 (6.3) |
160 (6.3) |
170 (6.69) |
230 (9.06) |
270 (10.63) |
310 (12.2) |
440 (17.32) |
2,860 (112.6) |
[ต้องการอ้างอิง] |
ประชากร
[แก้]ประชากรปัจจุบันในเขตเทศบาลนครปากเกร็ดมีประชากรทั้งสิ้น 189,458 คน ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ยต่อพื้นที่ของเทศบาลเท่ากับ 5,256.88 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นเขตเทศบาลนครที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากนครนนทบุรี
ประชากรในเขตเทศบาลนครปากเกร็ดประกอบไปด้วยชนชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน มอญ แขก เป็นต้น โดยชาวไทยเชื้อสายมลายูและชาวไทยเชื้อสายมอญ อพยพมาอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งปรากฏหลักฐานในหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทยดังนี้
มีชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากมอญอยู่มากแถวอำเภอปากเกร็ด ตั้งแต่ปากคลองบางตลาด ฝั่งเหนือลำแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านตะวันออกและตะวันตก ตำบลอ้อมเกร็ด เหนือคลองบางภูมิขึ้นไป รวมทั้งเกาะเกร็ดด้วย
— ไม่ทราบผู้แต่ง จากหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย
การศึกษา
[แก้]- โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 8 แห่ง
- โรงเรียนคลองเกลือ
- โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์
- โรงเรียนประเสริฐอิสลาม
- โรงเรียนวัดกลางเกร็ด
- โรงเรียนวัดผาสุกมณีจักร
- โรงเรียนวัดโพธิ์บ้านอ้อย
- โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 95 (วัดโพธิ์ทองบน)
- โรงเรียนวัดบางพูดใน (นนทวิทยา)
- โรงเรียนประถมศึกษาของเอกชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน จำนวน 18 แห่ง
- โรงเรียนจีเนียสคิดส์
- โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
- โรงเรียนอนุบาลจุติพร
- โรงเรียนชลประทานวิทยา
- โรงเรียนประชาบดี
- โรงเรียนฤกษบุตร์ (สอิ้งอนุสรณ์)
- โรงเรียนศรีสังวาลย์
- โรงเรียนกุมุทมาส
- โรงเรียนพิชญศึกษา
- โรงเรียนอนุบาลเด็กดี
- โรงเรียนอนุบาลระพีพรรณ
- โรงเรียนอัมพรไพศาล
- โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์
- โรงเรียนพระหฤทัย นนทบุรี
- โรงเรียนมูลนิธิปากเกร็ดวิทยา
- โรงเรียนวรรณทิพย์วิทยา
- โรงเรียนวัฒนพฤกษา
- โรงเรียนอนุบาลอันวิดา
- โรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 4 แห่ง
- โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี
- โรงเรียนปากเกร็ด
- โรงเรียนโพธินิมิตวิทยาคม
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี
- โรงเรียนนานาชาติ จำนวน 3 แห่ง
- มหาวิทยาลัยของรัฐ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ศาสนา
[แก้]ภายในเขตเทศบาลนครปากเกร็ดมีวัด 15 แห่ง, โบสถ์ 2 แห่ง, มัสยิด 2 แห่ง และศาลเจ้า 4 แห่ง
การขนส่ง
[แก้]ทางบก
[แก้]- เส้นทางหลัก
- ถนนติวานนท์ ช่วงสะพานคลองบางตลาดถึงสะพานคลองบ้านใหม่ อยู่ในความรับผิดชอบของแขวงทางหลวงนนทบุรี
- ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงระหว่างห้าแยกปากเกร็ดถึงสะพานพระราม 4 อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครปากเกร็ด ช่วงห้าแยกปากเกร็ดถึงคลองประปาอยู่ในความรับผิดชอบของแขวงทางหลวงนนทบุรี
- ถนนนนทบุรี-ปทุมธานี ช่วงระหว่างแยกสวนสมเด็จฯ ถึงสะพานนนทบุรี อยู่ในความรับผิดชอบของแขวงทางหลวงนนทบุรี
- เส้นทางลัดและสายรอง
- ถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท
- ถนนศรีสมาน ถนนเส้นทางลัดระหว่างถนนติวานนท์กับถนนประชาชื่นและถนนสรงประภา
- ถนนสุขาประชาสรรค์ 2 ถนนเส้นทางลัดระหว่างถนนแจ้งวัฒนะกับถนนติวานนท์ โดยผ่านถนนสุขาประชาสรรค์ 3
- ถนนบอนด์สตรีท (ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 33 และซอยติวานนท์-ปากเกร็ด 36) ถนนสายหลักในโครงการเมืองทองธานี
- ถนนต้นสน (ซอยติวานนท์-ปากเกร็ด 20) ถนนเส้นทางลัดระหว่างถนนแจ้งวัฒนะกับถนนติวานนท์
- ถนนพระแม่มหาการุณย์ (ซอยติวานนท์-ปากเกร็ด 56) ถนนเส้นทางลัดระหว่างถนนติวานนท์กับถนนประชาชื่น ถนนศรีสมาน และถนนแจ้งวัฒนะ
- ถนนซอยในเขตเทศบาล มีจำนวน 53 สาย รวมความยาวทั้งสิ้น 64.52 กิโลเมตร โดยแยกเป็นถนนคอนกรีต จำนวน 46 สาย ยาวประมาณ 55.93 กิโลเมตร ถนนลาดยาง 3 สาย ยาวประมาณ 2.47 กิโลเมตร ถนนลูกรัง 4 สาย ยาวประมาณ 6.12 กิโลเมตร
- ระบบขนส่งมวลชน
มีรถไฟฟ้าสายสีชมพูวิ่งผ่าน โดยจะมีสถานีรถไฟฟ้าทั้งสิ้น 8 สถานีที่อยู่ในเขตเทศบาลนครปากเกร็ด
ทางน้ำ
[แก้]ในเขตเทศบาลนครปากเกร็ด ได้ก่อสร้างท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหัวถนนแจ้งวัฒนะ จำนวน 1 แห่ง คือ ท่าเทียบเรือเทศบาลนครปากเกร็ด เป็นท่าเทียบเรือหลักในพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีท่าเทียบเรือเอกชนและท่าเทียบเรือวัดสนามเหนือและวัดกลางเกร็ดที่ใช้เป็นท่าเรือเดินทางไปเกาะเกร็ด แหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกด้วย
- ท่าปากเกร็ด
- ท่าเกาะเกร็ด
- ท่าวัดกลางเกร็ด
- ท่าวัดสนามเหนือ
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประวัติความเป็นมา". เทศบาลนครปากเกร็ด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-03. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2555.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)