ส้มโอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ส้มโอ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
เคลด: โรสิด
อันดับ: เงาะ
วงศ์: วงศ์ส้ม
สกุล: สกุลส้ม
(Burm.) Merr.
สปีชีส์: Citrus maxima
ชื่อทวินาม
Citrus maxima
(Burm.) Merr.

ส้มโอ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางในตระกูลเดียวกับส้ม มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ อีกคือ โกร้ยตะลอง (ภาษาเขมร) มะขุน (เหนือ) มะโอ (เหนือ) ลีมาบาลี (มลายู ยะลา) และ สังอู (กะเหรี่ยง มลายู)[2] มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Pomelo ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาดัตช์ pompelmoes ซึ่งแปลตรงตัวว่า "ส้มที่ลูกเท่าฟักทอง" [3] แหล่งกำเนิดอยู่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส้มโอจัดว่าเป็นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย นิยมปลูกทางภาคตะวันตกของประเทศ

ต้นกล้าส้มโอ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

ส้มโอเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอด ลำต้นมีสีน้ำตาล มีหนามเล็ก ๆ สูงประมาณ 8 เมตร ใบเป็นแผ่นหนาสีเขียวเข้ม โคนก้านใบมีหูใบแผ่ออกเป็นรูปหัวใจ แผ่นใบเหมือน มะกรูด คือแบ่งใบเป็น 2 ตอน แต่ขนาดใบใหญ่กว่า ใบหนาแข็ง มีสีเขียวแก่ มีกลิ่นหอม ดอกออกเป็นช่อสั้นหรือดอกเดี่ยว ตามบริเวณง่ามใบ มีสีขาว ปลายกลีบมนมี 4 กลีบ กลางดอกมี เกสร 20-25 อัน ผลกลมโต บางพันธุ์ตรงขั้วมีจุกสูงขึ้นมา ผิวผลเมื่อยังอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จัดเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ผิวของผลไม่เรียบ ผิวของเปลือกผลมีต่อมน้ำมันกระจายทั่วไป ภายในผลเป็นช่อง ๆ มีแผ่นบาง ๆ สีขาวกั้นเนื้อให้แยกออกจากกัน เนื้อแต่ละส่วนเรียกว่า "กลีบ" มีรสหวานหรือหวานอมเปรี้ยว มีเมล็ดฝังอยู่ระหว่างเนื้อมากกว่า 1 เมล็ด[4] ผลส้มโอมีเปลือกหนาทำให้สามารถเก็บรักษาได้นาน มีวิตามินซีมาก

พันธุ์ส้มโอ[แก้]

แหล่งปลูกส้มโอที่สำคัญในประเทศไทยแต่เดิมมีสองแหล่งคือ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นแหล่งกำเนิดของพันธุ์ขาวแป้น และบางปะกอกในเขตธนบุรี เป็นแหล่งกำเนิดของพันธุ์ขาวพวง[3] ในปัจจุบัน พันธุ์ส้มโอที่เป็นที่นิยมปลูกทางการค้า ได้แก่

  • พันธุ์ทับทิมสยาม เนื้อสีแดงเข้ม รสชาติหวาน มีกลิ่นหอม เนื้อนุ่ม เปลือกบางสีเขียวเข้ม มีขนอ่อนปกคลุมทั่วผล ปลูกมากที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียนส้มโอทับทิมสยามปากพนังเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
  • พันธุ์ทองดี ผลโต กลมแป้น ไม่มีจุก ที่ขั้วมีจีบเล็กน้อย รสหวาน ฉ่ำน้ำ เนื้อสีชมพู เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกที่จังหวัดนครปฐม
  • พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ผลใหญ่ กลมสูง ก้นเรียบ
  • พันธุ์ขาวใหญ่ เนื้อขาวอมเหลือง รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เมล็ดน้อย นิยมปลูกที่จังหวัดสมุทรสงคราม
  • พันธุ์ขาวพวง ผลกลม มีจุกสูง ผิวเรียบ สีเปลือกเขียวอ่อนอมเหลือง มีเมล็ดน้อย เป็นพันธุ์ดั้งเดิม
  • พันธุ์ขาวแตงกวา ผลขนาดกลางกลมแป้น เปลือกบาง เนื้อสีขาว นิยมปลูกที่จังหวัดชัยนาท และอยู่ในคำขวัญประจำจังหวัด
  • พันธุ์ท่าข่อย เป็นพันธุ์ที่ปลูกมากที่จังหวัดพิจิตร
  • พันธุ์ปัตตาเวีย ปลูกมากทางภาคใต้
  • พันธ์หอมควนลัง มีรสชาติ เปรี้ยวอมหวาน เมื่อปอกเปลือกจะมีกลิ่มหอมอ่อน ถิ่นกำเนิดมาจาก ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

การใช้ประโยชน์[แก้]

ประโยชน์ของส้มโอ[แก้]

  1. รับประทานส้มโอช่วยขับสารพิษในร่างกายได้ (ผล)
  2. มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง (ผล)
  3. ในตำราจีนเปลือกส้มโอใช้เป็นยาแก้ธาตุไม่ปกติ ช่วยแก้อาการไอ ผสมในยาหอมกินแล้วทำให้สดชื่น (เปลือก)
  4. ในตำราคาไทย เปลือกส้มโอจัดอยู่ในเปลือกส้มทั้ง 8 ประการ ซึ่งประกอบไปด้วย เปลือกส้มโอ เปลือกส้มเขียวหวาน เปลือกส้มจีน เปลือกส้มซ่า เปลือกส้มตรังกานู เปลือกมะนาว เปลือกมะกรูด เปลือกมะงั่น ซึ่งมีสรรพคุณแก้ลม (ระบบไหลเวียนโลหิต) แก้เสมหะ และใช้ปรุงเป็นยาหอม (เปลือก)
  5. มีความเชื่อว่าสตรีที่ยังไม่ได้แต่งงานจะนำส้มโอมาทาหน้า เพราะเชื่อว่าจะช่วยทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง สดใส (ผล)
  6. เชื่อว่าการรับประทานส้มโอจะช่วยทำให้ตาสดใสและเป็นประกาย (ผล)
  7. ช่วยให้เจริญอาหาร เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่เบื่ออาหาร ปากไม่รู้รสอาหาร (ผล)
  8. ส้มโอมีวิตามินซีสูง จึงช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ผล)
  9. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอกบริเวณศีรษะ (ใบ)
  10. ช่วยแก้อาการเมาสุรา (ผล)
  11. เปลือกส้มโอเป็นส่วนประกอบของยาหอมสมุนไพร ซึ่งมีส่วนช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน (เปลือก)
  12. ช่วยแก้หวัด (ราก, เมล็ด)
  13. ประโยชน์ของส้มโอช่วยแก้อาการไอ (เปลือก, ราก, เมล็ด)
  14. ช่วยขับเสมหะ (ดอก, เปลือก)
  15. สรรพคุณส้มโอแก้อาการไอมีเสมหะ ด้วยการใช้ผลสดนำเมล็ดออก แกะเป็นชิ้นเล็ก ๆ แช่กับน้ำเหล้าไว้หนึ่งคืน เสร็จแล้วนำไปต้มให้เละแล้วผสมกับน้ำผึ้ง นำมากวนจนเข้ากันแล้วจิบกินบ่อย ๆ (ผล)
  16. ช่วยแก้อาการแน่นหน้าอก (เปลือก)
  17. ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง (ใบ)
  18. ส้มโอ สรรพคุณช่วยแก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง ปวดท้องน้อย (เปลือก, ราก, เมล็ด)
  19. ช่วยแก้อาการปวดท้อง ลำไส้เล็กหดตัวผิดปกติ (เมล็ด)
  20. ช่วยขับลมในลำไส้และกระเพาะอาหาร (ผล, ดอก, เปลือก)
  21. ช่วยแก้อาการปวดในกระเพาะอาหาร (ดอก)
  22. ช่วยแก้อาการปวดกระบังลม (ดอก)
  23. ใช้เป็นยาแก้อาการปวดข้อหรืออาการปวดบวม ด้วยการใช้ใบส้มโอนำมาตำแล้วเอาไปย่างไฟให้อุ่น แล้วนำมาพอกบริเวณที่ปวด (ใบ)
  24. ช่วยแก้อาการคันตามผิวหนัง ด้วยการนำเปลือกมาต้มน้ำอาบ (เปลือก)
  25. ช่วยรักษาโรคลมพิษที่ผิวหนัง ด้วยการใช้เปลือกประมาณ 1 ผล หั่นเป็นชิ้น ๆ แล้วต้มกับน้ำอาบ หรือทาในบริเวณที่เป็นลมพิษ (เปลือก)
  26. ช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับผิวหนังอื่น ๆ ด้วยการใช้เปลือกมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาต้มกับน้ำจนมันงวด แล้วเอาน้ำที่ได้มาทาบริเวณที่เป็นโรคผิวหนัง (เปลือก)
  27. เปลือกใช้ตำแล้วนำมาพอกเพื่อรักษาฝี (เปลือก)
  28. เปลือกมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ช่วยลดการอักเสบ และยังช่วยฆ่าแมลง ฆ่าเห็บวัว เป็นต้น
  29. ช่วยแก้อาการไส้เลื่อน (เปลือก, เมล็ด, ราก)
  30. เรานิยมรับประทานส้มโอเป็นผลไม้สด ทำเป็นน้ำผลไม้ หรือจะนำไปประกอบอาหารก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ยำ เมี่ยง ส้มตำ ข้าวยำ หรือของหวานเป็นต้น (ผล)
  31. เปลือกนอกสีขาวนำไปแปรรูปทำเป็นส้มโอสามรส ส้มโอแช่อิ่มได้ (เปลือก)
  32. ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบางชนิด

ความเชื่อ[แก้]

ในพิธีไหว้พระจันทร์ของชาวจีน ส้มโอถือเป็นเครื่องสังเวยที่สำคัญ เนื่องจากมีความเชื่อว่าหลังจากไหว้ ถ้าผ่าผลส้มโอออกแล้วกลางลูกแห้ง ไม่มีน้ำจะเป็นเครื่องหมายของโชคดี สตรีที่ยังไม่แต่งงานจะนำส่วนของส้มโอมาทาหน้า เชื่อว่าทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง และถ้ากินส้มโอในคืนนั้นจะทำให้ตาเป็นประกายสวยงาม นอกจากนั้นยังใช้ส้มโอเป็นสัญลักษณ์แทนศีรษะของชาวจีนที่เสียชีวิตในการกู้ชาติ [3]

รวมภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Botanic Gardens Conservation International (BGCI).; IUCN SSC Global Tree Specialist Group (2019). "Citrus maxima". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T62042732A147027490. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-2.RLTS.T62042732A147027490.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
  2. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2010-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เต็ม สมิตินันทน์ สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พ.ศ. 2549
  3. 3.0 3.1 3.2 นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. ส้มโอ ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า225 - 229
  4. ส้มโอ ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุ กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Citrus maxima ที่วิกิสปีชีส์