อำเภอรัตภูมิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอรัตภูมิ
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Rattaphum
คำขวัญ: 
ถิ่นดินแดง แหล่งผลไม้ดก น้ำตกเจ้าฟ้า ภูผามีตำนาน ประตูผ่านสู่ชายแดน
แผนที่จังหวัดสงขลา เน้นอำเภอรัตภูมิ
แผนที่จังหวัดสงขลา เน้นอำเภอรัตภูมิ
พิกัด: 7°8′6″N 100°16′24″E / 7.13500°N 100.27333°E / 7.13500; 100.27333
ประเทศ ไทย
จังหวัดสงขลา
พื้นที่
 • ทั้งหมด591.8 ตร.กม. (228.5 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด75,709 คน
 • ความหนาแน่น127.93 คน/ตร.กม. (331.3 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 90180
รหัสภูมิศาสตร์9009
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอรัตภูมิ หมู่ที่ 1 ถนนยนตรการกำธร ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา 90180
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

รัตภูมิ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสงขลา เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกสุดของจังหวัดสงขลา ติดต่อกับอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ด้านทิศเหนือติดต่อกับ อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอควนเนียง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นอำเภอที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ลาดเอียงจากทิศตะวันตก เทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ในตำบลเขาพระ ไปทางทิศตะวันออกอันเป็นเป็นที่ราบเรือกสวนไร่นา ซึ่งเหมาะในการทำการเกษตร พื้นที่ลุ่มน้ำคลองภูมี(คลองรัตภูมิ) เป็นหนึ่งในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คำขวัญประจำอำเภอ ว่า “ถิ่นดินแดง แหล่งผลไม้ดก น้ำตกเจ้าฟ้า ภูผามีตำนาน ประตูผ่านสู่ชายแดน”

ประวัติ[แก้]

อำเภอรัตภูมิ เดิมเป็นกิ่งอำเภอรัตภูมิอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ที่บ้านปากบางภูมี ซึ่งเป็นปากน้ำของคลองภูมี(รัตภูมิ) ริมทะเลสาบสงขลา ซึ่งขณะนี้อยู่ในพื้นที่ของ ตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง และได้ยกฐานะ ขึ้นเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2435 เรียกชื่อ "อำเภอรัฐภูมิ"

และต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้ง ณ ตำบลกำแพงเพชร โดยเรียกชื่อว่า "อำเภอกำแพงเพชร" ซึ่งเป็นสถานที่ที่ตั้งอำเภอในปัจจุบัน ซึ่งตำบลกำแพงเพชรเป็นตำบลหนึ่งใน 5 ตำบลของอำเภอรัตภูมิ มีพื้นที่ทั้งหมด 86.6 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะลาดเอียงจากเทือกเขาบรรทัด ด้านทิศตะวันตก มีสายน้ำหลัก คือคลองภูมี มีสายน้ำสาขา ๓๕ สาย มีคลองสาขาที่สำคัญ ได้แก่ คลองลำขัน คลองลำแซง คลองหินดำ คลองเขาร้อน คลองยางแดง คลองแพรกสุวรรณ คลองตะเคียน เป็นต้น

แต่เนื่องจากชื่อนี้เกิดไปใช้ชื่อพ้องกับจังหวัดกำแพงเพชร ทางราชการเกรงว่าจะสับสน เมื่อ พ.ศ. 2480 จึงเปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ว่า "อำเภอรัตตภูมิ" แต่คำว่ารัตตภูมิไม่มีคำแปลมีการตรวจสอบแล้วจึงเปลี่ยนใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อพ.ศ. 2504 ว่า "อำเภอรัตภูมิ" ซึ่งแปลว่า "พื้นที่ดินแดง" และตรงกับความเป็นจริง เพราะดินของอำเภอรัตภูมิส่วนมากจะเป็นดินสีแดงละเอียด และมีแร่ธาตุอาหารสำหรับเป็นอาหารของพืชอยู่มากไม่ได้หมายถึงดินลูกรังแต่อย่างใด สำหรับตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอยังให้คงชื่อตำบลกำแพงเพชรอยู่เช่นเดิม

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

อำเภอรัตภูมิตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ลักษณะทางภูมิศาสตร์[แก้]

  • สภาพพื้นที่  : พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ บางส่วนทางทิศตะวันตกและทิศเหนือเป็นภูเขา
  • ลักษณะอากาศ  : อยู่ในเขตภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน แบ่งออกเป็น 2 ฤดูกาล คือฤดูร้อนและฤดูฝน โดย ฤดูร้อน ก.พ.-ก.ย. / ฤดูฝน ต.ค.-ก.พ.
  • แหล่งน้ำที่สำคัญ  : คลองภูมี (คลองรัตภูมิ) ยาวประมาณ 60 กม. มีต้นน้ำมาจากเทือกเขาบรรทัดไหลผ่าน ตำบลเขาพระ , ตำบลท่าชะมวง , ตำบลกำแพงเพชร , ตำบลคูหาใต้ และ ตำบลควนรู ไหลออกทะเลสาบสงขลาที่บ้านปากบาง หมู่ที่ 3 ตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]

อำเภอรัตภูมิแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 5 ตำบล 63 หมู่บ้าน

1. กำแพงเพชร (Kamphaeng Phet) 13 หมู่บ้าน
2. ท่าชะมวง (Tha Chamuang) 15 หมู่บ้าน
3. คูหาใต้ (Khuha Tai) 14 หมู่บ้าน
4. ควนรู (Khuan Ru) 9 หมู่บ้าน
5. เขาพระ (Khao Phra) 12 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

ท้องที่อำเภอรัตภูมิประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลเมืองกำแพงเพชร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลกำแพงเพชร (เขตองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพงเพชรเดิม)
  • เทศบาลตำบลกำแพงเพชร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกำแพงเพชร (เขตสุขาภิบาลกำแพงเพชรเดิม)
  • เทศบาลตำบลนาสีทอง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลเขาพระ
  • เทศบาลตำบลคูหาใต้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคูหาใต้ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลท่าชะมวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าชะมวงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลควนรู ครอบคลุมพื้นที่ตำบลควนรูทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเขาพระ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเขาพระ (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลนาสีทอง)

การคมนาคม[แก้]

การศึกษา[แก้]

อำเภอรัตภูมิ มีสถาบันการศึกษาระดับ โรงเรียน และ วิทยาลัย สถาบันที่สำคัญประกอบด้วย

ธนาคาร[แก้]

สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ[แก้]

วนอุทยานน้ำตกบริพัตร (น้ำตกเจ้าฟ้า)

ตั้งอยู่ในเขตอำเภอรัตภูมิ ห่างจากอำเภอเมืองฯ 52 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 406 ระหว่างกิโลเมตรที่ 35-36 แยกจากปากทาง 800 เมตร อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา สำหรับชื่อของน้ำตกบริพัตรนั้น มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตน้ำตกแห่งนี้ชื่อว่าน้ำตกคลองลำเรียน และในช่วงปี พ.ศ. 2469 –2471 ซึ่งเป็นปีใดยังไม่ปรากฏชัดนัก จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้เสด็จเดินทางมาราชการจากจังหวัดสงขลาสู่จังหวัดสตูล และทรงพักผ่อนที่น้ำตกแห่งนี้ จึงได้ทรงจารึกพระนามไว้ที่หน้าผาของน้ำตกว่า "บริพัตร" น้ำตกคลองลำเรียนจึงได้ชื่อว่าน้ำตกบริพัตรตั้งแต่นั้นมา

น้ำตกโตนปลิว

ตั้งอยู่ตำบลกำแพงเพชร เดินทางจากตัวเมืองหาดใหญ่ไปตามถนนเพชรเกษม ตามทางหลวงหมายเลข 4 หาดใหญ่-รัตภูมิ (สายเก่า) ซึ่งเป็นทางเดียวกับไปน้ำตกโตนงาช้าง แต่เลยไปอีกประมาณ 8.4 กม.จากนั้นเลี้ยวขวาตรงศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชเข้าไปอีกประมาณ 7 กม. ถึงน้ำตกโตนปลิว เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีทั้งหมด 12 ชั้น มีความสูงประมาณ 50 เมตร มีความร่มรื่น เงียบสงบของธรรมชาติ และความสวยงามของสายน้ำ ชั้นล่างสุดมีแอ่งน้ำสำหรับเล่นน้ำได้

น้ำตกโตนลุงไข่

ตั้งอยู่ หมู่ที่ 7 ตำบลท่าชะมวง เข้าทางบ้านห้วยโอน จุดเด่นคือมีสไลเดอร์ธรรมชาติ เหมาะสำหรับจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เดินป่า ร่วมกันปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ และปั่นจักรยานชมวิว

เที่ยวภูเขา ชุด “ภูผามีตำนาน” ของอำเภอรัตภูมิ ตามรอยมุขปาทะ คำกลอนถิ่นใต้อายุกว่า ๑๐๐ ปี  บันทึกจดจำมาจากยายยวด สมถวิล บอกเล่าต่อ โดย ร.ต.อ.เยื้อง  สมถวิล ประธานกลุ่มอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม อ.รัตภูมิ *ท่านเสียชีวิต ต้นปี ๒๕๖๐ ความว่า

ท่านท้าว จังโหลน ผู้รุ่งฟ้า           มีเมีย งามเลิศ เฉิดเฉลา  

ชื่อกานดา ตาเพรา เขาคูหา        มีบุตร สามองค์ ทรงลักขณา  

ชื่อว่า เขาจุ้มปะ เป็นพี่ชาย         ถัดแต่ นั้นมา สาวหน้างาม 

ชื่อว่า เขาตกน้ำ งามเฉิดฉาย      มีบุตร สุดท้อง เป็นน้องชาย 

ช่างใจร้าย ให้ชื่อ เขารังเกียจ      เบียดเสียด พี่น้อง ให้ต้องแค้น  

ถีบพี่ พลัดลง ในคงคา                 รู้ไปถึง บิดา เขาโกรธแน่น

ท่าวจังโหลน ขับไล่ ไม่ให้อยู่         ไปเป็นคู่ แต่สวนกับ ควนหัวแหวน   

ฝ่ายควนรู รู้เรื่อง ให้เคืองแค้น      ว่าเจ้าควน หัวแหวน มีผัวใหม่   

จะได้ หรือไม่ได้ ก็ตามใจ             ต้องไปบอก ควนหินเหล็กไฟ เสียให้รู้

เขาจังโหลน

เขาจังโหลน เป็นหนึ่งในตำนานภูผาของรัตภูมิ มีวัดจังโหลนที่ตามประวัติบอกว่าก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2100 อยู่ที่เชิงเขาแห่งนี้ ชุมชนจังโหลน จึงเป็นหนึ่งในชุมชนเก่าแก่ที่ชาวบ้านมีวิถีชีวิตดั้งเดิมสืบสานกันมาช้านาน เขาจังโหลน ยังมีเส้นทางเดินเที่ยว ศึกษาธรรมชาติ ชุดถ้ำเขาจังโหลน อดีตเป็นเส้นทางการขุดหามายาเขา(หินคลุกขี้ค้างคาว)

ติดตามทางเพจมาตะเที่ยว "เขาจังโหลน ทะเลทิพย์ เขาคูหา"

เขาคูหา

เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติใหม่ เมื่อปลายปี 2562 หลังจากที่ชุมชนคัดค้านการต่อสัมปทานระเบิดหิน สภาพเป็นภูเขาลูกโดด กลางท้องทุ่ง ตำบลคูหาใต้ จากที่จอดรถด้านล่างสามารถเดินขึ้นเขาถึงจุดชมวิวภายในใช้เวลา 20 นาที มีจุดชมวิวหลายจุด นับแต่

จุดแรก ทิวสนแลทอดยาวไปเห็นเขาจังโหลน

จุดสอง หลักโค คือ แท่งหินที่เหลืออยู่ด้วยความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของปู่เจ้าหลักโคจนโรงโม่ไม่กล้าระเบิดหิน และมีผู้ที่เสียชีวิตจากความพยายามระเบิดหินหลักโคหลายราย หากมีเวลาสามารถเดินชมด้านล่างโดยรอบได้ ช่วงสัมปทานพื้นที่ด้านล่างตีนหลักโคด้านในนี้จะเป็น แหล่งพักหินจากการระเบิด มีหินก้อนใหญ่ๆที่ต้องย่อยให้เล็กก่อนขนเอาไปโม่ที่โรงโม่ด้านล่าง

จุดสาม ลานหินกว้าง สามารถเลือกถ่ายภาพวิว ลานกว้าง แบบขั้นบันไดของการทำเหมืองหิน มุมที่สูงกว่า ถ่ายวิวด้านที่เห็นยอดหลักโค ทุ่งนา และแลไกลถึงเขาแก้ว เขาคอหงษ์ เขารังเกียจ(เขารักเกียรติ) ทะเลสาบสงขลา และทะเลหมอกยามเช้าของบางวัน พระอาทิตย์โผล่พ้นสายหมอก ความสวยงามมีทุกแบบให้เลือกชม เดินดูโดยรอบจาช่องทางทิศเหนือจะเห็นหุบเขาธรรมชาติที่ ชาวบ้านเรียกว่า "นาเขา"

จุดสูงสุด มองเห็นได้ 360 องศา มุมมองด้านหน้าที่สูงกว่า สวยงามกว่าชั้นที่สาม และยังเห็นเขาจุ้มปะ(ลูกชายคนโต) เขาตกน้ำ(ลูกสาวคนรอง) พรุโต๊ะนาย(ทะเลทิพย์คีรี) และเทือกเขาบรรทัด ไกลๆ ความสวยงามยามเย็นดวงอาทิตย์ตกด้านนี้

เขาคูหามีโพรงน้ำใต้เขา และคลองตะเคียนไหลลอดใต้ภูเขา ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีป่าไม้ที่เหลือค่อนข้างสมบูรณ์ รวมถึงพืชสมุนไพร ฝูงลิง นก และถ้ำบนภูเขที่ยังไม่ได้มีการสำรวจ

แนะนำพิเศษ

"นาเขา" ความสวยงามของกำแพงหินเกือบรอบ 360 องศา หากเดินทางเข้ามาก่อนถึงจุดจอดรถ 50 เมตร จะมีถนนด้านขวามือ เข้าไปจนสุดทางจะเห็น นาเขา เดิมเป็นพื้นที่หุบเขา ที่ลึกเป็นหน้าผาเป็นวงกลม ลงมาจนถึงพื้นล่าง การเรียกนาเขาเพราะ แต่เดิม เมื่อขึ้นไปบนเขาแล้วมองลงมาเป็นพื้นราบคล้ายนา การลงไปไม่ง่ายต้องปีนหน้าผาลงไป ปัจจุบันหลังจากการสัมปทาน พื้นที่นาเขาถูกระเบิดเปิดพื้นที่เข้าไปเพื่อเป็นพื้นที่พัก ย่อยหินใหญ่ก่อนการขนส่งไปโรงโม่ ย่อยหินเล็กต่อไป

"คลองเคียน" คลองที่ไหลคู่ขนานกับเขาคูหา ด้านตะวันตก ลอดใต้เขาคูหา ทะลุมาทิศตะวันออก แต่เดิมสามารถเดินผ่านได้ ปัจจุบันด้านทิศตะวันตกถูกหินปิดทับ รอการสำรวจและเปิดปากถ้ำ

ติดตามทางเพจ "เขาคูหา รัตตภูมิ สงขลา"

ทะเลทิพย์คีรี (พรุโต๊ะนาย)

ตั้งอยู่ หมู่ที่ 8 ตำบลคูหาใต้ การเดินทางมาจากอำเภอรัตภูมิผ่านสี่แยกคูหามุ่งหน้าสู่จังหวัดพัทลุงผ่านโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา ยูเทร์นกลับรถมานิดเดียวจะมีป้ายบอกเลี้ยวซ้ายตรงไปก็จะถึงที่หมาย ทะเลทิพย์คีรี เป็นสถานที่ประเภทธรรมชาติและสัตว์ป่า เหมาะสำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมลอยกระทง งานชักพระ และการแสดงดนตรีด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

ล่องแก่งถ้ำศรีเกษร

ถ้ำศรีเกษร อีกหนึ่งถ้ำที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา โดยถ้ำนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอหาดใหญ่ ประมาณ 40 กิโลเมตร ถ้ำศรีเกษร มีจำนวน 3 ชั้น คือ ชั้นใต้ดิน , ชั้นที่ 1 , ชั้นที่ 2 ภายในถ้ำมีประวัติของนางศรีเกษร ที่อาศัยอยู่เป็นเวลานับพันๆปี ซึ่งมีหลายสิ่งหลายอย่างภายในถ้ำที่บอกถึง เรื่องราวของนางศรีเกษร รวมไปถึงความสวยงามของหินย้อยที่สลับซับซ้อน เป็นประติมากรรมที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ขึ้นอย่างสวยงาม ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาศึกษา และเยี่ยมชมความสวยงามของถ้ำศรีเกษร

ถ้ำพระนอน วัดเขารักเกียรติ

ตั้งอยู่ หมู่ที่12 บ้านเขารักเกียรติ ตำบลกำแพงเพชร เดินทางจากตัวเมืองหาดใหญ่ไปตามถนนเพชรเกษม ตามทางหลวงหมายเลข 4 หาดใหญ่-รัตภูมิ (สายเก่า) เหมาะสำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และปฏิบัติธรรม

วัดไทรใหญ่

ตั้งอยู่ หมู่ที่5 บ้านไทรใหญ่ ตำบลควนรู การเดินทางจาก ถนนยนตรการกำธรแยกคูหาเลี้ยวไปทาง อำเภอควนเนียง ระยะทาง 5 กม. หลวงพ่อสีแก้ว กุลคุโณ อดีตเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดไทรใหญ่ ตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา สุดยอดเกจิอาจารย์รูปหนึ่งในจังหวัดสงขลา

ตลาดน้ำท่าชะมวง

ตั้งอยู่ ตำบลท่าชะมวง การเดินทาง จากหาดใหญ่เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกคูหา ผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอรัตภูมิ เลี้ยวขวาตรงยูเทิร์นหน้าตลาดท่าชะมวงตรงเข้าไปไม่ไกลจะมีป้ายทางไป อบต.ท่าชะมวงบอกอยู่ หรือจะเลยไฟแดงสามแยกท่าชะมวง มาเลี้ยวขวาที่ยูเทิร์นแรกเข้าทางชลประทานท่าชะมวง ก็ได้เช่นกัน