สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความนี้อาศัยการอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิมากเกินไป |
Thai Khadi Research Institute, Thammasat University | |
สถาปนา | 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 (โครงการไทยคดีศึกษา)[1] 3 มีนาคม พ.ศ. 2518 (สถาบันไทยคดีศึกษา)[2] |
---|---|
ผู้อำนวยการ | รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวธาร โพธิ์กลัด |
ที่อยู่ | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 2 ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 |
วารสาร | วารสารไทยคดีศึกษา |
เว็บไซต์ | สถาบันไทยคดีศึกษา |
สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันวิจัยในสังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีภารกิจหลักคือการศึกษาค้นคว้าเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทย การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และการเผยแพร่ความรู้สู่สังคม
ประวัติ
[แก้]สถาบันไทยคดีศึกษาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2514 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะอนุรักษ์ความเป็นไทยภายใต้กระแสวัฒนธรรมตะวันตก และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยโดยไม่ลอกตำราฝรั่ง การดำเนินงานในระยะแรกอยู่ในรูปของโครงการวิชาการ โดยมีศาสตราจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ และ อาจารย์ ดร.นิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นผู้อำนวยการ ศาสตราจารย์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้น ประทานชื่อโครงการว่า "ไทยคดีศึกษา"
ในการสัมมนาและสาธิตเรื่อง "นาฏศิลป์และดนตรีไทย" เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2515 ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวถึงภารกิจของโครงการไทยคดีศึกษา ดังนี้
... มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาซึ่งได้แสดงความสนใจและเอาใจใส่ในกิจการวิชา อันจะส่งเสริมความเข้าใจในหมู่คณาจารย์และนักศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทยโดยตรง ถึงแม้ว่าวิชาการสาขาต่างๆ ในปัจจุบันได้พัฒนาก้าวหน้ารวดเร็วขึ้นทุกที แต่ความก้าวหน้าเหล่านั้นมักเป็นผลของการค้นคว้ารวบรวมเป็นหลักทฤษฎีจากฝ่ายวัฒนธรรมตะวันตกทั้งสิ้น ฉะนั้น การจะนำแนวคิดและหลักการเหล่านั้นมาสอนหรือมาใช้ในบ้านเรานั้น จำเป็นที่จะต้องมีการเลือกสรรให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงและความต้องการของสังคมไทยโดยเฉพาะ อนึ่ง ศิลปวิทยาการของไทยเราเองซึ่งสืบเนื่องมาแต่บุพกาลนั้นเล่า เมื่อประสบความก้าวหน้าของวัฒนธรรมสมัยใหม่มักจะถูกละทิ้งให้เหี่ยวแห้งหรือผสมปนเปกับวัฒนธรรมภายนอกจนแปรเปลี่ยนลักษณะไป จริงอยู่วัฒนธรรมเป็นสิ่งไม่หยุดนิ่ง ต้องเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าอยู่เสมอ แต่การสร้างสรรค์ปรับปรุงวัฒนธรรมนั้นจำเป็นต้องมีแนวทางอันถูกต้อง เพื่อผดุงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยึดเหนี่ยวความรู้สึกร่วมกันของสมาชิกทุกฝ่ายของสังคมไทย...
โครงการไทยคดีศึกษาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "สถาบันไทยคดีศึกษา" ตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2518 มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและเรียบเรียงตำราในเรื่องเกี่ยวกับสังคมไทยเพื่อประโยชน์ในด้านการเรียนการสอนและการพัฒนาประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมติให้สถาบันไทยคดีศึกษาขยายขอบข่ายงานออกเป็นสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายวิจัยของมหาวิทยาลัย จัดสรรทุนวิจัยแก่อาจารย์และข้าราชการ ให้คำปรึกษาและเผยแพร่งานวิจัยในทุกสาขาวิชา จนถึงปี พ.ศ. 2548 บทบาทดังกล่าวจึงยุติลง
ในช่วงสามทศวรรษแรกของการดำเนินงาน สถาบันไทยคดีศึกษาได้ผลิตงานวิจัยมากกว่า 200 ชิ้น มีทั้งงานวิจัยของนักวิจัยประจำสถาบันและงานวิจัยของคณาจารย์สาขาต่างๆ ซึ่งสถาบันทำหน้าที่บริหารโครงการวิจัยและส่วนใหญ่เป็นเรื่องของไทย นอกจากนี้สถาบันยังได้ผลิตตำราที่มีคุณภาพออกสู่วงวิชาการอีกเป็นจำนวนมาก สำหรับงานวิจัยของสถาบันนั้น นับตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เป็นต้นมาได้มีการขยายขอบเขตงานวิจัยจากงานด้านมนุษยศาสตร์ ออกไปสู่งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ สังคมวิทยา และมานุษยวิทยา
ปัจจุบันสถาบันไทยคดีศึกษาทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยด้านไทยศึกษา มีบทบาทหน้าที่ในการค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทย ควบคู่ไปกับการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมและการเผยแพร่ความรู้สู่สังคมในรูปแบบต่างๆ ภายใต้ปรัชญา "เข้าใจอดีต รู้ทันปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต" พร้อมกันนั้นสถาบันมีนโยบายที่จะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และสมานฉันท์ ปลูกฝังคุณธรรม/จริยธรรมแก่เยาวชน ส่งเสริมการศึกษาศิลปวัฒนธรรมโดยเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกับไทย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและนานาชาติ
ที่มาและความหมายของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสถาบันไทยคดีศึกษา
[แก้]ชื่อ "ไทยคดีศึกษา"
[แก้] คำว่า "ไทยคดีศึกษา" เป็นศัพท์ที่ศาสตราจารย์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลานั้น ได้ทรงบัญญัติเป็นภาษาไทยขึ้นมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Thai Studies" เพื่อประทานแก่หน่วยงานแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กำลังจะก่อตั้งและยังไม่มีชื่อเรียก
สำหรับเรื่องที่มาของชื่อนั้น ตามบันทึกความเห็นของคณะที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของอธิการบดี เรื่อง การจัดตั้งสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2520 คณะกรรมการวิจัยหลายท่านมีความเห็นว่าคำนี้มีความหมายเฉพาะ หากเปลี่ยนชื่อสถาบันเป็นสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจผิดได้ นอกจากนี้ กรรมการบางท่านยังเห็นว่า ชื่อของสถาบันไทยคดีนั้น กว้างขวางและครอบคลุมพอสมควร เนื่องด้วยการวิจัยส่วนใหญ่กระทำอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือในประเทศไทยเป็นสำคัญ อีกทั้งยังเป็นชื่อที่เสด็จในกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ประทานมาให้อีกด้วย
ทั้งนี้ คำว่า "ไทยคดีศึกษา" ก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า "ไทยศึกษา" คือการศึกษาเรื่องของไทยในสาขาต่างๆ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ภาษา ฯลฯ ตัวอย่างหน่วยงานด้านไทยศึกษา เช่น สถาบันไทยศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Thai Studies Chulalongkorn University) อีกทั้งไทยคดีศึกษายังไปปรากฏเป็นชื่อหลักสูตรหรือรายวิชาที่อยู่ในหลักสูตรการเรียนในระดับอุดมศึกษาด้วย
ตราสัญลักษณ์
[แก้]"ตราอภิรุม" มีรูปทรงคล้ายรูปหยดน้ำ ประกอบด้วย รูปวงกลมที่ภายในมีภาพพานรัฐธรรมนูญวางอยู่กึ่งกลางของวงกลม เทียมจิตร์ พ่วงสมจิตร์ ได้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่า พานรัฐธรรมนูญนี้ น่าจะมีความหมายแทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใต้ภาพพานรัฐธรรมนูญ มีอักษรภาษาไทยเขียนไว้ว่า "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ด้านบนของภาพพานรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ว่า "สถาบันไทยคดีศึกษา" ส่วนภายนอกเส้นรอบวงกลม ครึ่งล่างล้อมไว้ด้วยอักษรภาษาอังกฤษว่า "Thai Khadi Research Institute" ส่วนบนของเส้นรอบวงกลมปกคลุมด้วยรูปฉัตรสามชั้น มียอดแหลม ประดับตกแต่งด้วยลายกนกไทยที่อ่อนช้อยงดงาม ให้ความรู้สึกและแรงบันดาลใจถึงศิลปะทางล้านนา จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันที่ศึกษาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องสังคมการเมืองไทย และความเป็นศิลปะ - วัฒนธรรม
โดยผู้ที่ออกแบบตราสัญลักษณ์ดังกล่าว รศ.กมล ฉายาวัฒนะ อดีตผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ผู้ที่ออกแบบคือ อาจารย์อวบ สาณะเสน อดีตอาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นกรรมการบริหารโครงการไทยคดีศึกษาในเวลานั้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายที่เป็นศิลปะของทางภาคเหนือ [3]
ตัวอักษร
[แก้]ตัวอักษรประดิษฐ์นาม "สถาบันไทยคดีศึกษา" เป็นฝีมือการออกแบบโดย "อังคาร กัลยาณพงศ์" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี พ.ศ. 2532 ซึ่งมีคุณูปการต่อสถาบันไทยคดีศึกษามาตลอด เช่น เมื่อสถาบันฯจัดกิจกรรมทางด้านวิชาการต่างๆ อาทิ ครบรอบ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน, ครบรอบ ๒๐๐ ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส ฯลฯ สถาบันฯขอให้ท่านอังคารแต่งบทประพันธ์สรรเสริญเกียรติคุณของบุคคลท่านนั้นๆ เมื่อแต่งเสร็จแล้ว ยังได้กรุณามาอ่านบทประพันธ์ที่ท่านประพันธ์ขึ้นมาในที่ประชุมสัมมนาด้วย
โดยท่านอังคารได้กล่าวถึงเบื้องหลังของการออกแบบตัวหนังสือนามสถาบันไว้ว่า[4]
ท่านเขียนตั้งแต่ตอนเย็นและไปเสร็จเอาย่ำรุ่งของวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ท่านคัดมาให้เลือกสิบกว่าแบบจากที่เขียนเป็นจำนวนมาก การเขียน Drawing สีถ่านนั้น กระดาษเป็นรีมประมาณสี่ห้าร้อยแผ่น บางครั้งเขียนได้ภาพที่ถูกใจเพียงไม่กี่ภาพ
ที่ทำการของสถาบันไทยคดีศึกษา
[แก้] ในระยะแรกของสถาบันไทยคดีศึกษา สำนักงานและห้องสมุดสถาบันไทยคดีศึกษา อยู่ที่ตึกห้องสมุดกลาง ชั้น 5 (ปัจจุบันคือ อาคารอเนกประสงค์ 3 ด้านติดกับคณะรัฐศาสตร์) ต่อมาใน พ.ศ. 2523 ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ชั้น 9 อาคารอเนกประสงค์ 1 ซึ่งบริเวณดังกล่าวเคยมีการปรับปรุงมาแล้วสองครั้งคือ พ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2553 ซึ่งมีการปรับปรุงห้องประชุมชั้น 9 โดยตั้งชื่อใหม่ว่า "ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช" [5] เพื่อเป็นเกียรติแด่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งสถาบันไทยคดีศึกษา ปัจจุบันที่ทำการของสถาบันไทยคดีศึกษา แบ่งออกเป็นฝั่งผู้บริหารกับนักวิจัย กับฝั่งสำนักงานเลขานุการสถาบันฯ ซึ่งประกอบด้วย เลขานุการ, งานบริการวิชาการ, งานส่งเสริมการวิจัย, งานบริหารและธุรการ และห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช
รายนามผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา
[แก้]ชื่อ | คณะ | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
อาจารย์ ดร.นิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา | ||
รองศาสตราจารย์ ยุทธ ศักดิ์เดชยนต์ | ||
รองศาสตราจารย์ ดร.หม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์ | ||
ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก | ||
ศาสตราจารย์ ดร.เมธี ครองแก้ว | ||
รองศาสตราจารย์ นิพัทธ์ จิตรประสงค์ | ||
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัช กิจธรรม | ||
รองศาสตราจารย์ สุมิตร ปิติพัฒน์ | ||
รองศาสตราจารย์ กมล ฉายาวัฒนะ | ||
รองศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ | ||
อาจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ | ||
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรรณี สำราญเวทย์ | ||
อาจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ | ||
รองศาสตราจารย์ โรจน์ คุณเอนก | ||
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวธาร โพธิ์กลัด | สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ | พ.ศ. 2565–ปัจจุบัน |
หมายเหตุ ตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น
โครงสร้างการบริหาร
[แก้] สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการแบ่งส่วนงาน ออกเป็นดังนี้
ผู้บริหาร
[แก้]- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวธาร โพธิ์กลัด (อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์) ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา
ฝ่ายวิจัย
[แก้]ประกอบด้วยนักวิจัยที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ การท่องเที่ยว ฯลฯ ตามความสนใจและเชี่ยวชาญเฉพาะบุคคล ภารกิจประกอบด้วยการวิจัย การเขียนบทความวิชาการ การจัดสัมมนาผ่านการจัดโครงการบริการวิชาการแก่สังคม ทั้งนี้ นักวิจัยจะขึ้นตรงต่อคณะผู้บริหารประจำสถาบันฯ การดำเนินงานมีทั้งที่ดำเนินการโดยทุนวิจัยภายในของสถาบันไทยคดีศึกษา ทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และความร่วมมือกับแหล่งทุนภายนอก เช่น ทุนจากงบประมาณแผ่นดิน ทุนจากหน่วยงานที่มีการทำข้อตกลงร่วมกัน เป็นต้น
สำนักงานเลขานุการสถาบันไทยคดีศึกษา
[แก้]แบ่งออกเป็น
งานบริหารและธุรการ ประกอบด้วย
- หน่วยสารบรรณ
- หน่วยการเจ้าหน้าที่
- หน่วยการประชุม
- หน่วยการเงินและบัญชี
- หน่วยงบประมาณ นโยบายและแผน
- หน่วยพัสดุ
- หน่วยอาคารสถานที่และยานพาหนะ
งานบริการวิชาการ ประกอบด้วย
- หน่วยสัมมนา/ประชุมทางวิชาการ
- หน่วยทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
- หน่วยจัดพิมพ์เอกสารประกอบโครงการบริการวิชาการแก่สังคมเพื่อการเผยแพร่
- หน่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
- หน่วยประกันคุณภาพ
- หน่วยบริหารจัดการข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กร สถาบัน ทั้งภายในและต่างประเทศ (MOU)
- งานส่งเสริมการวิจัย ประกอบด้วย
- หน่วยบริหารโครงการวิจัย
- หน่วยดำเนินการและจัดพิมพ์วารสารไทยคดีศึกษา
- หน่วยวางแผนและจัดพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยและบทความวิจัย
- หน่วยสารสนเทศเพื่อการวิจัย
- หน่วยพัฒนาบุคลากรทางการวิจัย
- หน่วยคลังสิ่งพิมพ์ของสถาบันฯ
สิ่งพิมพ์ประจำสถาบัน
[แก้]วารสารไทยคดีศึกษา
[แก้]เป็นวารสารทางวิชาการ ราย 6 เดือน ของสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าในระดับอุดมศึกษา และเพื่อเผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการเกี่ยวกับไทยศึกษา ในมิติทางด้านสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนประเด็นร่วมสมัยที่น่าสนใจ ทั้งนี้บทความหรือข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่ปรากฏในวารสารนี้ จะต้องผ่านกระบวนการการพิจารณาจากกองบรรณาธิการและผ่านกลั่นกรองคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง แต่รายละเอียดและเนื้อหาที่ปรากฏ ถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัวและความรับผิดชอบเฉพาะของผู้เขียน โดยไม่จำเป็นต้องตรงกับความคิดเห็นหรือเป็นความรับผิดชอบของคณะบรรณาธิการผู้จัดทำ
ปัจจุบันเนื้อหาของวารสารไทยคดีศึกษา แบ่งออกเป็น
- บทบรรณาธิการ
- บทความวิจัย – วิชาการ
- แนะนำหนังสือ
- วิจารณ์หนังสือ
- กิจกรรมทางวิชาการ – ศิลปะและวัฒนธรรม
รายชื่อเรื่องประจำวารสารไทยคดีศึกษา
[แก้]ปีที่ | ฉบับที่ | ระยะเวลา | ชื่อเรื่องประจำฉบับ |
---|---|---|---|
17 | 1 | มกราคม พ.ศ. 2563 – มิถุนายน พ.ศ. 2563 | |
17 | 2 | กรกฎาคม พ.ศ. 2563 – ธันวาคม พ.ศ. 2563 | |
18 | 1 | มกราคม พ.ศ. 2564 – มิถุนายน พ.ศ. 2564 | |
18 | 2 | กรกฎาคม พ.ศ. 2564 – ธันวาคม พ.ศ. 2564 | |
19 | 1 | มกราคม พ.ศ. 2565 – มิถุนายน พ.ศ. 2565 | ฉบับล่าสุด หน้าปก พระ ๕๐ ปี สถาบันไทยคดีศึกษา |
19 | 2 | กรกฎาคม พ.ศ. 2565 – ธันวาคม พ.ศ. 2565 | |
20 | 1 | มกราคม พ.ศ. 2566 – มิถุนายน พ.ศ. 2566 | อยู่ในระหว่างการพิจารณาบทความ |
20 | 2 | กรกฎาคม พ.ศ. 2566 – ธันวาคม พ.ศ. 2566 |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สถาบันไทยคดีศึกษา, “จุลสารไทยคดีศึกษา” , กรุงเทพมหานคร: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 14
- ↑ สถาบันไทยคดีศึกษา, “จุลสารไทยคดีศึกษา” , กรุงเทพมหานคร: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 23
- ↑ เทียมจิตร์ พ่วงสมจิตร์, "รูปแบบวัฒนธรรมองค์การของสถาบันไทยคดีศึกษา" ใน รวมบทความนักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา ในวาระ 42 ปี, กรุงเทพมหานคร: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 83-85
- ↑ อนันต์ วิริยะพินิจ, "อังคาร กัลยาณพงศ์กับสถาบันไทยคดีศึกษา" ใน วารสารไทยคดีศึกษา ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 "สืบค้นเรื่องไท(ย)", กรุงเทพมหานคร: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 244-245
- ↑ เทียมจิตร์ พ่วงสมจิตร์, "รูปแบบวัฒนธรรมองค์การของสถาบันไทยคดีศึกษา" ใน รวมบทความนักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา ในวาระ 42 ปี, กรุงเทพมหานคร: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 38-39
- ↑ บทบรรณาธิการ ใน วารสารไทยคดีศึกษา ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 "น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้", กรุงเทพมหานคร: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 4
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]หนังสือและบทความ
[แก้]- อัจฉราพร กมุทพิสมัย. “ต้นเหตุไทยคดีศึกษา.” ใน วิมลวรรณ ปีตธวัชชัย (บก.), ชีวิตและงาน อาจารย์ คุณนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา. น. 144-199. กรุงเทพฯ: มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, 2566.