ข้ามไปเนื้อหา

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทโรงจัดแสดงและการประชุม
เมืองแขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
พิกัด13°46′0″N 100°34′26″E / 13.76667°N 100.57389°E / 13.76667; 100.57389
วางศิลาฤกษ์1 เมษายน พ.ศ. 2528
พิธีเปิด9 ตุลาคม พ.ศ. 2530
การออกแบบและการก่อสร้าง
ผู้ออกแบบผู้อื่นญี่ปุ่น คุเมะ อาร์คิเทคต์-เอนจิเนียร์
ผู้รับเหมาก่อสร้างญี่ปุ่น บริษัท โอบายาชิ
เว็บไซต์
www.culture.go.th

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Thailand Cultural Centre) เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการและจัดการแสดงต่าง ๆ เช่น คอนเสิร์ต ละครเวที รวมไปถึงเป็นสถานที่จัดการประชุมต่าง ๆ ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 14 ถนนเทียมร่วมมิตร แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร มีณัฐภา บุญงาม เป็นผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน

ประวัติ

[แก้]

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น รับผิดชอบดำเนินการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530 โดยมีรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือในรูปของการให้เปล่าในด้านการก่อสร้างและการจัดหาอุปกรณ์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 638 ล้านบาท โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ได้คัดเลือกให้บริษัท คุเมะ อาร์คิเทคต์-เอนจิเนียร์ เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง โดยมีการทำงานร่วมกับกรมศิลปากรของไทย ส่วนรัฐบาลไทยรับผิดชอบในการจัดเตรียมสถานที่ในการก่อสร้าง จัดสาธารณูปโภค และงบประมาณในการดำเนินการ ซึ่งกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้รับมอบที่ดินจำนวน 21 ไร่ 3 งาน 2 ตารางวา จากเจ้าของที่ดินเดิม มาใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2527

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2528 ได้มีการประมูลราคาก่อสร้างอาคารดังกล่าว ซึ่งผลคือบริษัท โอบายาชิ ให้ราคาประมูลต่ำที่สุดจึงได้รับเลือกเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง จากนั้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน ปีเดียวกัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ และพระราชทานนามสถานที่แห่งใหม่นี้ว่า ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และชื่อภาษาอังกฤษว่า "Thailand Cultural Centre" โดยการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบอาคารและอุปกรณ์ให้แก่รัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2530 และได้ดำเนินการทดลองเปิดให้บริการตั้งแต่กลางเดือนเดียวกัน[1] จนกระทั่งวันที่ 9 ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ปัจจุบันศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นพื้นที่ภายใต้การดูแลของสถาบันวัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มีบทบาทหน้าที่สำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรม คือเป็นศูนย์กลางในการให้บริการทางการศึกษา ส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยสาขาต่าง ๆ แก่เยาวชนและประชาชนชาวไทย เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทย เกิดความรักหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และช่วยกันรักษาไว้เป็นศักดิ์ศรี และเกียรติภูมิของชาติสืบไป นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกันในบรรดาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นอกจากจะมีบทบาทหน้าที่อันสำคัญในการเป็นแหล่งกลาง ของการจัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นสถานที่สำหรับให้เช่าหรือบริการ เพื่อการแสดงออกซึ่งกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมที่เยาวชน และประชาชนสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งรวมถึงการจัดประชุมสัมมนาระดับชาติ และนานาชาติด้วย

สถานที่สำคัญ

[แก้]

ภายในศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ประกอบไปด้วย

  • หอประชุมใหญ่ - หอประชุมมาตรฐานสากล ขนาด 2,000 ที่นั่ง มีเวทียก และหลุมสำหรับวงดุริยางค์ สำหรับใช้งานทางด้านการแสดงทุกประเภท ตลอดจนการประชุมระดับนานาชาติ
  • หอประชุมเล็ก - หอประชุมอเนกประสงค์ ขนาด 2,000 ตารางเมตร สามารถจัดเป็นระบบอัฒจันทร์ชั่วคราว 240 ที่นั่ง ซึ่งสามารถพับเก็บได้ นอกจากนั้นยังสามารถตั้งเก้าอี้เพิ่มเติม หากตั้งเต็มพื้นที่ หอประชุมนี้จุได้ทั้งสิ้น 500 ที่นั่ง สามารถปรับแต่งใช้งานได้หลายลักษณะ ตั้งแต่จัดการแสดง จัดการประชุมประเภทต่าง ๆ จัดนิทรรศการ และการเลี้ยงรับรอง
  • โรงละครกลางแจ้ง - ลานกลางแจ้งแบบมีที่นั่งสำหรับผู้ชมจำนวน 1,000 ที่นั่ง ใช้สำหรับจัดการแสดงกลางแจ้งประเภทต่าง ๆ เช่น การแสดงดนตรี การแสดงการละเล่นพื้นเมือง และอื่น ๆ
  • อาคารนิทรรศการ และบริการทางการศึกษา

การเดินทาง

[แก้]

การเดินทางไปศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถเดินทางด้วย

  • รถส่วนบุคคลหรือรถแท็กซี่
  • รถโดยสารประจำทาง
    • จากถนนรัชดาภิเษกมีสาย 36, 73 (2-46), 136, 137, 206, 514
    • จากถนนพระราม 9 มีสาย 137, 168, 529E, 1-56, 3-26E
    • จากถนนเทียมร่วมมิตรมีสาย 73 (2-45), 122
    • จากถนนรามคำแหงมีสาย 122, 137
  • รถไฟฟ้ามหานคร (รถไฟฟ้าใต้ดิน) ลงที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (เดินเท้าจากทางออกสถานีเป็นระยะทาง 600 เมตร)

อ้างอิง

[แก้]
  1. จิตติวัฒนพงศ์, ประเสริฐ (1991). "ปัญหานโยบายความช่วยเหลือต่างประเทศของญี่ปุ่นต่อไทย : กรณีศึกษาโครงการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย". คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: 94–95. สืบค้นเมื่อ 2023-04-18.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]