ไบเทคบุรี
ไบเทคบุรี | |
---|---|
Bitec Buri | |
ชื่อเดิม | ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติกรุงเทพ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
ประเภท | ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์มหรสพ และสนามกีฬาในร่ม |
เมือง | 88 ถนนเทพรัตน กม.1 แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ไทย |
เริ่มสร้าง | 17 สิงหาคม พ.ศ. 2538 |
เปิดใช้งาน | 16 กันยายน พ.ศ. 2540 |
ผู้สร้าง | บริษัท ภิรัชบุรี จำกัด |
เว็บไซต์ | |
เว็บไซต์ทางการ |
ไบเทคบุรี[1] (หรือเรียกอีกชื่อว่า ไบเทค บางนา) เป็นศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าขนาด 70,000 ตารางเมตร[2] เปิดให้บริการเมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2540 ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 88 ถนนเทพรัตน แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร
ในปี พ.ศ. 2549 ไบเทคได้รับการจัดลำดับจากผู้จัดงานทั่วโลกให้เป็น 1 ใน 5 ของศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมที่ดีที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก (ผลสำรวจในนิตยสารซีอีไอฉบับ Industry Survey 2549) และในปี พ.ศ. 2550 ไบเทคได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการปฏิบัติการระดับโลก จากสมาพันธ์อุตสาหกรรมการแสดงสินค้าโลก (UFI)
ประวัติ
[แก้]ไบเทคบุรี เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2538 โดย ประสาน ภิรัช บุรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทภิรัชบุรีที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากว่า 30 ปี โดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ขนาดใหญ่ในระดับนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากในยุคนั้นประเทศไทยยังไม่มีศูนย์จัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่แบบครบวงจร แม้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เปิดทำการก่อนหน้าใน พ.ศ. 2534 แต่ก็ไม่ตอบโจทย์การใช้งานได้เพียงพอ โดยโครงการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ 16 กันยายน พ.ศ. 2540 ถือเป็นศูนย์จัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่ในระดับนานาชาติแห่งแรกในประเทศไทย และมีการจัดงานครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนปีเดียวกัน
ด้วยความนิยมในการใช้สถานที่จัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่อย่างมาก ทำให้ภิรัชบุรีตัดสินใจขยายอาคารเพิ่มอีกสามหลังคือฮอลล์ 105 ฮอลล์ 106 และฮอลล์ 107 ที่เป็นอาคารกลางแจ้ง ต่อมาเมื่อกรุงเทพมหานครก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส ไบเทคได้ก่อสร้างสกายวอล์กต่อจากโถงต้อนรับชั้น 2 มายังทางเข้าออกบริเวณถนนสุขุมวิท แต่เพราะไม่ได้รับการอนุญาตในการเชื่อมต่อสถานี ภิรัชบุรีจึงก่อสร้างบันไดทางออกมายังประตูด้านข้างเพื่อให้ผู้เข้าชมงานใช้งานชั่วคราว จากนั้นใน พ.ศ. 2557 ภิรัชบุรีได้ก่อสร้างอาคารจัดนิทรรศการเพิ่มอีก 3 หลัง 6 ห้องย่อย พื้นที่รวม 32,000 ตารางเมตร ต่อขยายจากอาคารเดิมที่มีพื้นที่อยู่แล้ว 38,000 ตารางเมตร เป็น 70,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารสำนักงานภิรัชทาวเวอร์ และก่อสร้างสกายวอล์กต่อขยายเข้าไปยังสถานีบางนาจนสำเร็จ
โครงสร้างและพื้นที่
[แก้]ไบเทคบุรี ตั้งอยู่บนพื้นที่รวม 170 ไร่ (275,000 ตารางเมตร) ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่จัดงาน 31.5 ไร่ (50,400 ตารางเมตร) ประกอบด้วย
- พื้นที่แสดงสินค้านอกอาคาร 4,800 ตารางเมตร สำหรับจัดกิจกรรมนอกอาคารหรือการแสดงสินค้าที่มีความสูงเป็นพิเศษ
- อาคาร "ไบเทคบุรี" เป็นอาคารศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่ ประกอบด้วย
- พื้นที่โถงรับรองกว่า 8,000 ตารางเมตรอยู่บริเวณด้านหน้าติดกับโถงนิทรรศการ
- "สมา ฟู้ดทอรี่" ร้านค้าและร้านอาหารในอาคารหลัก ประกอบด้วยลอว์สัน 108, เซเว่น-อีเลฟเว่น, ออฟฟิศเมท และศูนย์อาหาร
- "ไบเทค อีเวนต์" พื้นที่โถงนิทรรศการชั้นเดียวแบบไร้เสาค้ำยัน 7 ห้อง (EH 98-104)
- "ไบเทค คอนเนคท์" ห้องประชุมและห้องนิทรรศการย่อย สามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้ตามความเหมาะสม พร้อมด้วยระบบแสง-เสียง รองรับผู้เข้าร่วมการประชุมได้ 20,000 คน และผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 100,000 คนต่อวัน ประกอบด้วย
- ห้องแกรนด์ฮอลล์ 3 ห้อง และภิรัช คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ 3 ห้อง ซึ่งสามารถรวมเป็น 1 ห้องใหญ่
- ห้องประชุมสัมมนาขนาดเล็ก จำนวน 28 ห้อง สามารถจัดที่นั่งได้ตั้งแต่ 60 ถึง 480 ที่นั่ง
- "บีท แอ็คทีฟ" (ห้องโถงนิทรรศการ EH 105 เดิม) ศูนย์กีฬาในร่มขนาดใหญ่ โดยความร่วมมือกับ ไทยไฟต์
- "ไบเทค ไลฟ์" (ห้องโถงนิทรรศการ EH 106 เดิม) พื้นที่รวม 10,270 ตารางเมตร รองรับผู้ชมสูงสุด 10,000 คน สำหรับใช้จัดงานมหรสพ เช่น คอนเสิร์ต ละครเวที การแข่งขันกีฬา อีสปอร์ต การเปิดตัวสินค้า งานประกวดต่าง ๆ พร้อมติดตั้งที่นั่งแบบอัฒจันทร์ ระบบแสง-เสียงแบบครบวงจร
- "สมา การ์เดน" (ห้องโถงนิทรรศการ EH 107 เดิม) พื้นที่สวนและร้านอาหาร
- อาคารสำนักงานภิรัชทาวเวอร์ แอท ไบเทค ความสูง 29 ชั้น โดยอาคารนี้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ ฮอนด้า ประเทศไทย
- ศูนย์บริการธุรกิจ ให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย ถ่ายเอกสาร พิมพ์เอกสาร ไปรษณีย์ จองที่พักและตั๋วเครื่องบิน รับฝากกระเป๋า ให้เช่าห้องประชุมย่อย บริการอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น
- ห้องผู้สื่อข่าว สำหรับเขียนและส่งข่าว
ลานจอดรถ
[แก้]ไบเทคบุรี มีพื้นที่จอดรถทั้งภายในและภายนอกรวมกันทั้งสิ้นจำนวน 5,000 คัน แบ่งเป็นภายในอาคารจำนวน 1,500 คัน และภายนอกอาคารจำนวน 3,000 คัน และมีพื้นที่จอดรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่และรถบรรทุกอีก 500 คัน
การเดินทาง
[แก้]ทางเข้า-ออกไบเทคมี 3 ช่องทาง ได้แก่ ฝั่งถนนเทพรัตน (กม.1) 2 ช่องทาง และฝั่งถนนสุขุมวิท 1 ช่องทาง สามารถเดินทางมาไบเทคได้หลายวิธี ดังนี้
- รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ลงที่สถานีบางนา หรือสถานีอุดมสุข แล้วต่อรถ Shuttle Bus เข้าอาคาร
- รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ลงที่สถานีศรีเอี่ยม แล้วต่อรถ Shuttle Bus เข้าอาคาร
- รถ Shuttle Bus "ALIVE MOVE" ซึ่งให้บริการโดยโตโยต้า ประเทศไทย รับส่งผู้โดยสารจากสถานีรถไฟฟ้าเข้าสู่โครงการ แบ่งเป็นสองเส้นทางคือ
- สายสีเขียว ให้บริการจาก เซ็นทรัล บางนา ผ่าน โตโยต้า ประเทศไทย - โรงพยาบาลไทยนครินทร์ - ป้ายรถเมล์บางนา-ตราด 35 (เชื่อมต่อสถานีศรีเอี่ยม) จากนั้นขึ้นเกือกม้า กม. 5 เข้ารับ-ส่งที่บริเวณชั้น B1 ห้อง 103 ออกถนนสุขุมวิท และรับส่งที่สถานีบางนา-สถานีอุดมสุข
- สายสีเหลือง ให้บริการจาก เซ็นทรัล บางนา ผ่าน โตโยต้า ประเทศไทย - โรงพยาบาลไทยนครินทร์ - สถานีศรีเอี่ยม - สถานีศรีอุดม จากนั้นขึ้นเกือกม้า กม. 5 เข้ารับ-ส่งที่บริเวณชั้น B1 ห้อง 103 ออกถนนสุขุมวิท และรับส่งที่สถานีบางนา
- รถยนต์ส่วนตัว ทางเส้นบางนา-ตราด หรือลงจากทางด่วนบางนาแล้วกลับรถที่สะพานกลับรถ
- รถโดยสารประจำทาง ทางเข้า-ออกที่ 1 และ 2 สามารถเดินทางโดยรถประจำทางสาย 180, 365, 1141 ซึ่งรถจะจอดที่ถนนบางนา-ตราด ส่วนทางเข้า-ออกที่ 3 สามารถเดินทางโดยรถประจำทางสาย 2, 23, 45, 102, 116, 129, 142, 507, 508, 511, 536 ซึ่งรถจะจอดที่ถนนสุขุมวิท
รางวัลที่ได้รับ
[แก้]- พ.ศ. 2552 - เข้าร่วมโครงการ Green Meeting ของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
- พ.ศ. 2550 - รางวัลชนะเลิศระดับโลกด้านปฏิบัติการยอดเยี่ยมจากสมาพันธ์การแสดงสินค้าระดับโลก จาก UFI : The Global Association of the Exhibition industry.
- พ.ศ. 2549 - ได้รับการลงคะแนนเสียงให้เป็นหนึ่งในห้าของศูนย์การประชุมนิทรรศการที่ดีที่สุดในเอเชียแปซิฟิค จาก CEI : Magazine industry survey 2006
- พ.ศ. 2547 - รางวัลสถานที่จัดงานยอดเยี่ยม จากนิตยสารประเทศออสเตรเลีย CIM : Convention and Incentive Marketing magazine
- พ.ศ. 2547 - รางวัลสถานที่จัดงาน Incentive ยอดเยี่ยมประจำปี จาก TICA (Thailand Incentive and Convention Association)
- พ.ศ. 2545 - ได้รับการลงคะแนนเสียงให้เป็นหนึ่งในสามของศูนย์การประชุมนิทรรศการที่ดีที่สุดในเอเชียแปซิฟิค จาก CEI : Magazine industry survey 2002
- พ.ศ. 2549 - ได้รับรองตราสัญลักษณ์ Q-Mark ทางด้านการให้บริการสถานที่อาคารศูนย์นิทรรศการและการประชุมศูนย์แสดงสินค้า รวมทั้งการบริการ อาหารและเครื่องดื่ม และการบริการสนับสนุนต่าง ๆ ในบริเวณศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ทั้งองค์กร จาก คณะกรรมการร่วม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ชื่อภาษาไทยจากเว็บไซต์ทางการ พบได้ทั่วไปเช่นหน้าติดต่อสอบถาม เก็บถาวร 2011-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เดิมใช้ชื่อว่า ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติกรุงเทพ
- ↑ อ้างอิงจากเว็บไซต์ [1] เก็บถาวร 2011-06-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ทางการของศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค
- เว็บไซต์ทางการของไบเทคบุรี
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ไบเทคบุรี
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์