วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
College of Medicine, Rangsit University | |
ชื่อย่อ | MDRSU |
---|---|
สถาปนา | 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 (ในชื่อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต) 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 (ในชื่อ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต) |
อธิการ | ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ เจษฎา โชคดำรงสุข |
ที่อยู่ | อาคารสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต เลขที่ 2 โรงพยาบาลราชวิถี ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 |
สี | ███ สีเขียวหัวเป็ดแมนดารินเพศผู้ |
มาสคอต | งูพันเลื้อยรอบคบเพลิง ภายใต้โลกุตระ และดวงอาทิตย์ |
สถานปฏิบัติ | โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลเลิดสิน |
เว็บไซต์ | วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต |
วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (อังกฤษ: College of Medicine, Rangsit University) เป็นสถาบันแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเป็นสถาบันแพทยศาสตร์ลำดับที่ 9 ในจำนวนโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศ 21 สถาบัน ได้รับการรับรองจากแพทยสภาเปิดเป็นโรงเรียนแพทย์โดยสมบูรณ์[1]
ด้วยปณิธานของมหาวิทยาลัยรังสิตที่จะผลิตผลิตบัณฑิตในสาขาที่ประเทศขาดแคลนต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อเพิ่มจำนวนแพทย์ให้เพียงพอโดยการร่วมกันผลิตแพทย์ระหว่างภาครัฐคือ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และเอกชน คือมหาวิทยาลัยรังสิต ในปัจจุบันวิทยาลัยนี้มีนักศึกษาจบไปแล้วทั้งสิ้น 29 รุ่น
ประวัติ
[แก้]วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตก่อตั้งโดยมติที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2532 และทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุญาตให้ดำเนินการรับนักศึกษาและเปิดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2532 จึงถือเป็นคณะ/วิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 12 ของมหาวิทยาลัยรังสิต และเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 9 ของประเทศไทย เริ่มเปิดรับนักศึกษาแพทย์ รุ่นที่ 1 ปีการศึกษา 2532 ซึ่งต่อมาแพทยสภาได้รับรองหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตในการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา ครั้งที่ 2/2537 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2537 โดยกำหนดหลักการให้มีการจัดตั้งมูลนิธิเป็นเงื่อนไขในการเปิดดำเนินการของโรงเรียนแพทย์เอกชน โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ให้ผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีคุณภาพตามที่กำหนด เป็นผลให้ในเวลาต่อมา ได้มีการลงนามข้อตกลงการร่วมผลิตแพทย์ภาคคลินิก ระหว่างกรมการแพทย์ และมหาวิทยาลัยรังสิต ในวันที่ 15 มีนาคม 2537 โดยร่วมกันจัดตั้งสถาบันร่วมผลิตแพทย์ระหว่างกรมการแพทย์ และมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนในภาควิชาคลินิก (นักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชั้นปีที่ 4, 5 และ 6) ทั้งหมด และการจัดตั้งมูลนิธิสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์และมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อเป็นกองทุนรับผิดชอบในการดำเนินการร่วมผลิตแพทย์ ของมหาวิทยาลัยรังสิต [2]จึงถือเป็นสถาบันแพทยศาสตร์ของประเทศไทยโดยสมบูรณ์
เดือนกุมภาพันธ์ 2539 มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำสัญญาความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และได้จัดสัมมนาเรื่อง "การประกันคุณภาพแพทยศาสตรศึกษา" ระหว่างคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กับคณะแพทยศาสตร์ ทุกคณะในประเทศไทย
เดือนตุลาคม 2539 ได้มีการปรับปรุงการเรียนการสอนตามหลักสูตร เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาการของวิชา และความก้าวหน้าของวิทยากร ทบวงมหาวิทยาลัยจึงอนุญาตให้รับนักศึกษาเพิ่มจากปีละ 48 คน เป็นปีละ 100 คน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2539
พ.ศ. 2541 มหาวิทยาลัยรังสิต มีนโยบายปรับปรุงวิชาในหมวดการศึกษาทั่วไปของหลักสูตรระดับปริญญาบัณฑิตให้อยู่ในโครงสร้างอันเดียวกัน และปรับปรุงระบบการศึกษาจากระบบทวิภาคเป็น ระบบไตรภาค วิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงได้ปรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตใหม่จากระบบทวิภาคเป็นระบบไตรภาคตามโครงการที่มหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อให้เป็นแนวทางจัดการเรียนการสอนในหลักสูตร ในปีการศึกษา 2542 ได้รับอนุมัติตลอดหลักสูตร 6 ปี เท่ากับ 263 หน่วยกิต ตามระบบทวิภาคซึ่งจะเท่ากับ 328 หน่วยกิต ตามระบบไตรภาค
พ.ศ. 2544 มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ปรับระบบการศึกษาจากระบบไตรภาคเป็นระบบทวิภาค วิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงได้ปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตใหม่จากระบบ ไตรภาคเป็นทวิภาคตามเดิมคือ 263 หน่วยกิต ตั้งแต่ปีการศึกษา 2544 เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 คณะแพทยศาสตร์ ได้ยกระดับเป็น วิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อให้มีการบริหารงาน การจัดการและการพัฒนาเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนระดับโลก ตามประกาศของมหาวิทยาลัยรังสิต เรื่อง ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารและการบังคับบัญชา
ในปีการศึกษา 2549 ได้ปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2548 และมีหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 251 หน่วยกิต
ปีการศึกษา 2550 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้เพิ่มแนวทางการรับนักศึกษาแพทย์จากจากเดิมเพียงผ่านระบบการคัดเลือกส่วนกลาง โดยเข้าร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) เก็บถาวร 2008-09-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน และยังคงมีสัดส่วนจำนวนรับร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)เช่นเดิม
ปีการศึกษา 2556 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันสมทบแห่งที่ 2 ในการผลิตบัณฑิตแพทย์ภาคคลินิก ในโอกาสครบรอบ 25 ปี แพทย์รังสิต และเปิดรับนักศึกษาแพทย์รุ่นละ 30 คน
ปีการศึกษา 2564 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันสมทบแห่งที่ 3 ในการผลิตบัณฑิตแพทย์ภาคคลินิก และมีความพร้อมในการเปิดรับนักศึกษาแพทย์รุ่นละ 30 คน (นักศึกษาแพทย์รุ่นแรกของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จะเริ่มศึกษาในชั้นคลินิกปีการศึกษา 2567 สำหรับรุ่นปีการศึกษา 2564)
ปัจจุบัน มีบัณฑิตแพทย์จำนวนมากมายที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งปฏิบัติงานในการสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ ในหน่วยงานต่างๆ ดังนี้ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ทหารบก โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ทหารเรือ โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ทหารอากาศ โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โรงพยาบาลในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน
หลักสูตร
[แก้]ชื่อหลักสูตร
[แก้]- หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาแพทยศาสตร์ (Doctor of Medicine Program)
ชื่อปริญญา
[แก้]- แพทยศาสตรบัณฑิต : พ.บ.
- Doctor of Medicine : M.D.
โครงสร้างหลักสูตร
[แก้]- ระยะเวลาศึกษาตลอดหลักสูตร 6 ปี
- จำนวนหน่วยกิต รวม 260 หน่วยกิต
หมวดวิชาศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต
หมวดวิชาเฉพาะ 223 หน่วยกิต
หมวดวิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิต
สำนักงานวิทยาลัยแพทยศาสตร์
[แก้]ทำเนียบคณบดี และ อธิการ
[แก้]รายนามคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีดังนี้
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต | |
รายนามอธิการ | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|
1. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา | พ.ศ. 2532 - 1 พฤษภาคม 2545
คณบดีคนแรก ผู้วางรากฐานคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล |
คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต | |
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|
1.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา | 1 พฤษภาคม 2545 - พ.ศ. 2548 มีการยกฐานะคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ขึ้นเป็นวิทยาลัย |
2. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กิจประมุข ตันตยาภรณ์ | มกราคม พ.ศ. 2548 - พฤษภาคม พ.ศ. 2548 |
3. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ แพทย์หญิงบุญเชียร ปานเสถียรกุล | 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 - 14 กันยายน พ.ศ. 2551 ร่วมกับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ |
4. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์สุรวิทย์ เตชธุวานันท์ | 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2561 อดีตรองอธิบดีกรมการแพทย์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี |
อธิการวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต | |
รายนามอธิการ | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|
1. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์สุรวิทย์ เตชธุวานันท์ | พ.ศ. 2561 - 2564 (อธิการวิทยาลัยคนแรก เนื่องจากมีการเปลี่นชื่อตำแหน่งจากคณบดี มาเป็น อธิการ) |
2.ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข | พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน |
ผู้บริหาร วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
[แก้]รายนามผู้บริหารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตปัจจุบันมีดังนี้
ผู้บริหาร วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต | |
นาม | ตำแหน่ง |
---|---|
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข | อธิการ |
ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงยุพิน ไทยพิสุทธิกุล | รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาคุณภาพ |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงทัศนีย์ กิจอำนวยพงศ์ | รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา |
ผู้ช่วศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม เสรีพรเจริญกุล | รองคณบดีฝ่ายการศึกษา |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัยสิทธิ์ แสงทวีสิน | รองคณบดีฝ่ายปรีคลินิก |
การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต
[แก้]การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ของทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีจำนวนทั้งสิ้น 4 โครงการ และอีก 1 โครงการย่อย ดังนี้
- โครงการสอบตรงผ่านการสอบคัดเลือกของมหาวิทยาลัยรังสิต ครั้งที่ 1
เป็นการสอบเข้าโดยใช้ข้อสอบที่มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นผู้ออกข้อสอบเอง และจัดสอบเอง ไม่เกี่ยวข้องกับส่วนกลาง โดยจะเปิดรับสมัครประมาณเดือนกันยายน และจะทำการสอบในปลายเดือนตุลาคม ของทุกปี
- โครงการรับตรงสำหรับนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ
เป็นโครงการย่อยที่อยู่ในโครงการรับตรง ครั้งที่ 1 โดยจะรับสมัครนักเรียนที่จบหลักสูตรจากโรงเรียนนานาชาติ หรือต่างประเทศ โดยใช้ผลการเรียน การสัมภาษณ์ และการทำข้อสอบวิชาเฉพาะแพทย์ เพื่อคัดบุคคลเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัย
- ระบบแอดมิดชันตรง ร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.)[3]
เป็นโครงการที่เปิดเพิ่มเติมขึ้นมาอีกโครงการรบนักศึกษาแพทย์ ในปีการศึกษา 2550 โดยจะใช้คะแนน TCAST เป็นหลักในการคำนวณคะแนน และใช้คะแนน O-Net เป็นข้อบังคับพื้นฐาน 60% จากนั้นจะยื่นผ่าน กสพท. เข้ามา
- โครงการสอบตรงผ่านการสอบคัดเลือกของมหาวิทยาลัยรังสิต ครั้งที่ 2
ลักษณะของโครงการรับนักศึกษาจะเหมือนกัน โครงการรับตรงผ่านการสอบเข้าของมหาวิทยาลัยรังสิต ครั้งที่ 1 แต่จะเปิดรับสมัครในเดือนพฤศจิกายน และทำการสอบในเดือนพฤษภาคม ของทุกปี
การศึกษา
[แก้]การเรียนการสอนในวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ดังนี้
การเรียนในภาคปรีคลินิก
[แก้]ชั้นปีที่ 1 ถึง ชั้นปีที่ 3 เทอม 1 การเรียนการสอนส่วนใหญ่จะเน้นด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน เป็นการปูพื้นฐานเพื่อจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในภาคคลินิก ซึ่งรับผิดชอบโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์สอนเป็นหลัก โดยอาจารย์แพทย์จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ ซึ่งเป็นแพทย์ของโรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมสอนด้วย นอกจากนี้ยังมีอาจารย์พิเศษจากโรงเรียนแพทย์ต่างๆมาบรรายายในหัวข้อต่างๆ ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่เรียนในอาคารรังสิตประยูรศักดิ์ (อาคาร 12) และอาคารวิทยาศาสตร์ (อาคาร 4, 4/1, 4/2) ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยรังสิต
ชั้นปีที่ 3 เทอม 2 นักศึกษาแพทย์จะย้ายมาเรียนที่อาคารสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต ภายในพื้นที่โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นชั้นคลินิก
การเรียนในภาคคลินิก
[แก้]การเรียนในภาคคลินิกรับผิดชอบโดย สถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต ในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขทั้ง ซึ่งเดิมเป็นสถาบันฝึกอบรมแต่เพียงแพทย์ประจำบ้าน (แพทย์เฉพาะทาง) ทั้ง 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) โรงพยาบาลเลิดสิน เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนทางวิชาการและฝึกปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย ภายใต้การดูแลของคณาจารย์แพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขาในโรงพยาบาล
นอกจากนี้นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 จะได้ฝึกประสบการณ์เพิ่มเติม ในต่างจังหวัด เสมือนการฝึกภาคสนาม ซึ่งทำให้ได้ประสบการณ์ การตัดสินใจ การแก้ปัญหา โดยแบ่งการเรียนเป็น 2 ระดับคือ การฝึกระดับในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ (รพศ./รพท./รพช.ขนาดใหญ่) ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว จังหวัดสระแก้วและ โรงพยาบาลกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี การฝึกในระดับโรงพยาบาลชุมชน ได้แก่ โรงพยาบาลสนามชัยเขต โรงพยาบาลบางน้ำเปรี้ยว โรงพยาบาลแปลงยาว โรงพยาบาลพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และโรงพยาบาลกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
สถานที่จัดการเรียนการสอน
[แก้]วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีพื้นที่ในส่วนต่างๆ ดังนี้ ้
สถานที่ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต
[แก้]- ห้องสโมสรนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยรังสิต
ห้องสโมสรนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยรังสิต อยู่ภายในอาคารรูปสี่เหลี่ยมที่ตั้งระหว่างอาคารวิทยาศาสตร์ (ตึก 4) และอาคารวิษณุรัตน์ (ตึก 5) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาคารวิษณุรัตน์ (ตึก 5/1) โดยอาคารแห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อปีการศึกษา 2550 เพื่อใช้เป็นห้องสโมสรของนักศึกษาคณะต่างๆ ทั้งสิ้น 4 คณะ โดยที่ทางมหาวิทยาลัยได้มอบห้องสโมสรนักศึกษาให้แก่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ทั้งหมด 3 ห้อง เพื่อใช้ทำกิจกรรม, ประชุมงาน หรือเป็นที่อ่านหนังสือสำหรับนักศึกษาแพทย์โดยเฉพาะ
ปัจจุบัน วิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้ส่งคืนพื้นที่ดังกล่าวคืนให้กับมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อใช้ประโยชน์เป็นห้องพักของตำรวจมหาวิทยาลัยรังสิต
- อาคารรังสิตประยูรศักดิ์ (อาคาร 12)
เป็นอาคารที่ใช้ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้พื้นที่ในส่วนด้านตะวันออก อาคารนี้สร้างเสร็จเมื่อปลายปีการศึกษา 2550 และพร้อมใช้งานได้ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์วางแผนที่จะเปิดสำนักงานถาวรของวิทยาลัยฯ ในอาคารนี้ และนอกจากนี้จะมีห้องไว้สำหรับอ่านหนังสือ, ประชุม, สืบค้นข้อมูล และอื่นๆ สำหรับนักศึกษาแพทย์
สถานที่ภายในโรงพยาบาลราชวิถี
[แก้]อาคารสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ หรือ อาคารประสิทธิ์ อุไรรัตน์ เป็นสถานที่ของสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ ไม่ได้ถือเป็นสถานที่ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์โดยตรง แต่สร้างโดยงบประมาณของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่มอบเป็นทุนประเดิมให้แก่ มูลนิธิสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดการเรียนการสอน และประสานงานระหว่างกรมการแพทย์และมหาวิทยาลัยรังสิตเพื่อพัฒนาคุณภาพนักศึกษาแพทย์ ในระยะยาวที่ส่งเข้ามาเรียนในความรับผิดชอบของสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในเขต โรงพยาบาลราชวิถีบริเวณด้านฝั่งถนนพญาไท ติดกับทางด้านสถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีลักษณะโครงสร้างเป็นอาคารสูง 6 ชั้น หลังก่อสร้างเสร็จคุณพ่อประสิทธิ์ อุไรรัตน์ ได้มอบ พระพุทธรูปปางป่าเรไรประทานพร ประดิษฐานเป็นศูนย์รวมจิตใจของนักศึกษาแพทย์ ที่โถงชั้นล่างของอาคาร แต่ละชั้นแบ่งพื้นที่การใช้สอยโดยโดยแบ่งดังนี้
- ชั้นที่ 1 เป็นห้องเรียนภาคบรรยาย จำนวน 3 ห้องเรียน และมีห้องเรียนภาคปฏิบัติ "ห้องปฏิบัติการ ศ.นพ.ประสงค์ ตู้จินดา"จำนวน 1 ห้อง และร้านถ่ายเอกสาร
- ชั้นที่ 2 เป็นสำนักงานของสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ และห้องประชุมย่อย จำนวน 1 ห้อง
- ชั้นที่ 3 เป็นสำนักงานวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, ห้องสมุดสถาบันร่วมฯ และห้องประชุมอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นห้องประชุมพื้นยกระดับขนาดใหญ่ เพื่อใช้ในการเรียนการสอน การประชุมต่างๆ ของสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ
- ชั้นที่ 4 เป็นห้องสำนักงาน และห้องประชุมวิทยาลัยแพทศาสตร์, ห้องอธิการวิทยาลัย, ห้องผู้อำนวการสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ
- ชั้นที่ 5 เป็นบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ห้องอ่านหนังสือ และหอพักชาย
- ชั้นที่ 6 เป็นหอพักหญิง
สถานที่ภายในโรงพยาบาลเลิดสิน
[แก้]- อาคารศูนย์แพทศาสตร์ชั้นคลินิก
อาคารอาคารศูนย์แพทศาสตร์ชั้นคลินิก อยู่ติดกับอาคาร 33 ปีโรงพยาบาลเลิดสิน ซึ่งเป็นส่วนแยกจากพื้นที่โรงพยาบาลเลิดสิน จัดสร้างโดยงบประมาณของมหาวิทยาลัยรังสิต โดยใช้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษาแพทย์ทั้งห้องเรียนบรราย และห้องปฏิบัติการ Skill Lab รวมถึงห้องสำนักงานศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิกโรงพยาบาลเลิดสิน สถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต และห้องสมุด
เป็นหน่วยงานราชการสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อจัดการศึกษาในชั้นคลินิกให้แก่นักศึกษาแพทย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ประวัติการจัดตั้ง [4] วิทยาลัยรังสิต มีหนังสือที่ วรส 595/2531 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2531 ถึงทบวงมหาวิทยาลัย ขออนุญาตเปิดดำเนินการหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และได้มีหนังสือที่ วรส. 216/2531 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2531 ถึงสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือ ให้นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เข้าฝึกปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลเด็ก (ปัจจุบันเป็น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี) โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน และสถานีอนามัยต่างๆ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาอนุมัติในหลักการให้สถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงาน สำหรับนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพได้ สำหรับโรงพยาบาลเด็ก และโรงพยาบาลราชวิถี นั้น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือไปยังกรมการแพทย์ ในการอนุมัติสถานที่ดังกล่าวแล้ว โดยแจ้งให้มหาวิทยาลัยรังสิตทราบ ตามหนังสือ ที่ สธ 0212/4 - 4/636 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2531 ทบวงมหาวิทยาลัยอนุมัติให้วิทยาลัยรังสิต (ต่อมาได้รับการเปลี่ยนประเภทเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2533) เปิดดำเนินการหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ในปีการศึกษา 2532 ต่อมา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือถึงมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ สธ 0301/5339 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2532 แจ้งให้ทราบโดยสรุปว่า
1.ควรให้โรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลเด็ก (ปัจจุบันเป็น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี) เป็นสถานที่สมทบในการศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิต
2.โรงพยาบาลทั้งสองของกรมการแพทย์ มีความสามารถเฉพาะในการให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานทางคลินิกของนักศึกษา
3.กรมการแพทย์ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ ให้ข้าราชการของกรมการแพทย์ ไปบรรยายนอกสถานที่ให้แก่ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ ตามมติของคณะรัฐมนตรี ที่ สร 0201/ว 144 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2518 โดยจะอนุญาตให้ข้าราชการไปสอนพิเศษในมหาวิทยาลัยเอกชนในเวชาราชการได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมงสอนต่อสัปดาห์
4.กรมการแพทย์ได้มีหนังสือที่ สธ 0305/8385 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2534 ถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี มอบหมายให้โรงพยาบาลราชวิถี ให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ในหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าว
เมื่อแรกเริ่มมีการเรียนในภาคคลินิกในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการประชุมเพื่อแก้ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนในภาคคลินิก และจัดประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งประเทศไทยขึ้น ซึ่งในสมัยนั้น มี นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สุจินต์ ผลากรกุล อธิบดีกรมการแพทย์ ได้มีแนวคิดในการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อจัดการประสานความมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการผลิตแพทย์ตามรูปแบบแนวคิดการผลิตแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์เอกชนที่ร่วมมือในการผลิตแพทย์กับภาครัฐ และได้มีการประชุมประสานงานอีกหลายครั้ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2536 กรมการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขมีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง สถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต ในขณะนั้น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. 2536-2538) และได้มีการร่วมลงนามในข้อตกลงการร่วมผลิตแพทย์ระหว่างกรมการแพทย์ (โดย พล.รต.ศ.นพ.วิทุร แสงสิงแก้ว อธิบดีกรมการแพทย์ในสมัยนั้น) กับมหาวิทยาลัยรังสิต (โดยนายประสิทธิ์ อุไรรัตน์ นายกสภามหาวิทยาลัยรังสิต และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเป็นผู้ลงนาม) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2537 ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาและเปิดดำเนินนการเรียนกการสอนในภาคคลินิกได้อย่างสมบูรณ์และผลิตแพทย์เอกชน ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพจากอาจารย์ของกรมการแพทย์
ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการร่วมกันระหว่างกรมการแพทย์ และมหาวิทยาลัยรังสิต จัดตั้งเป็นสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต โดยโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง ซึ่งสังกัดกรมการแพทย์ จึงเป็นสถานที่เรียนในภาคทฤษฎีและหัตถการต่างๆ ในภาคคลินิก พร้อมทั้งอาจารย์แพทย์ของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งจำนวนกว่า 258 ท่าน ได้อุทิศทุ่มเทกำลังเป็นหลักในการสอนนักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะที่บุคลากรของกรมการแพทย์ด้วยใจและจิตวิญญาณของความเป็นอาจารย์แพทย์ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลอีก 4 แห่ง ที่ร่วมเป็นสถานที่ฝึกภาคสนามเฉพาะของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 (extern) ในต่างจังหวัด พร้อมทั้งมีอาจารย์แพทย์คอยถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาแพทย์ด้วยประสบการตรง ชึ่งจะเวียนออกฝึกภาคสนามเป็นผลัด ผลัดละ 2 เดือน ในปีการศึกษาสุดท้าย
ปัจจุบันมีศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก รวมทั้งสิ้น 3 แห่ง ประกอบด้วย
ศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก | จังหวัด | สังกัด |
---|---|---|
ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี | กรุงเทพมหานคร | กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข |
ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลเลิดสิน | กรุงเทพมหานคร | กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข |
ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี | กรุงเทพมหานคร | กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข |
ผู้บริหาร สถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต
[แก้]รายนามผู้บริหารสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันมีดังนี้
ผู้บริหาร สถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต | |
นาม | ตำแหน่ง |
---|---|
นายแพทย์ ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ (รองอธิบดี กรมการแพทย์) | ผู้อำนวยการสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ธีระชัย อุกฤษฎ์มโนรถ | รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร |
นายแพทย์มนต์ชัย ศิริบำรุงวงศ์ | ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายหลักสูตร |
แพทย์หญิงศิริพร ฐิติสกุลวงษ์ | ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการสอบประมวลความรอบรู้ |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ธีระชัย อุกฤษฎ์มโนรถ | ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ |
ผู้บริหารศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี | |
นาม | ตำแหน่ง |
---|---|
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ธีระชัย อุกฤษฎ์มโนรถ | ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี |
นายแพทย์จีรศักดิ์ วรรณประเสริฐ | รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร |
นายแพทย์สมชาย ศิริเจริญไทย | รองผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา |
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ | รองอำนวยการฝ่ายพัฒนาอาจารย์ |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ แพทย์หญิง เด่นนพพร สุดใจ | รองผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ |
แพทย์หญิงกรทิพย์ ผลโภค | รองอำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษา |
ผู้บริหารศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลเลิดสิน | |
นาม | ตำแหน่ง |
---|---|
นายแพทย์ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ | ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลเลิดสิน |
นพ.ชัยโรจน์ เอื้อไพโรจน์กิจ | รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร |
แพทย์หญิงเสาวนินทร์ อินทรภักดี | รองผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา |
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ | รองผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ |
นายแพทย์มนต์ชัย ศิริบำรุงวงศ์ | รองอำนวยการฝ่ายพัฒนาอาจารย์ |
นายแพทย์คุณากร ภูรีเสถียร | รองอำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษา |
กิจกรรมและประเพณีของวิทยาลัย
[แก้]คณะกรรมการนักศึกษา วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการประจำชั้นปี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของวิทยาลัย ซึ่งมีทั้งกิจกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้จัด โดยมีวิทยาลัยแพทยศาสตร์เข้าร่วม, กิจกรรมและประเพณีอื่นๆ ที่จัดขึ้นโดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์เอง และกิจกรรมที่เข้าร่วมกับสถาบันแพทยศาสตร์อื่นในประเทศไทย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ค่ายและการรับน้องใหม่
[แก้]- งานแรกพบ สพท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย)
เป็นงานที่จัดโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะจัดประมาณเดือนกรกฎาคมของทุกปี ภายหลังจากเสร็จสิ้นการรับสมัครนักศึกษาแพทย์เรียบร้อยแล้ว โดยจะรวมเอานิสิตนักศึกษาแพทย์จากทุกสถาบันของประเทศไทย มาทำกิจกรรมสันทนาการและวิชาการร่วมกัน เพื่อให้รู้จักกันระหว่างสถาบันมากยิ่งขึ้น โดยครั้งล่าสุด (พ.ศ. 2562) จัดที่ศูนย์กีฬาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
- กิจกรรมรับน้องใหม่
กิจกรรมนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมแรกหลังจากที่นักศึกษาแพทย์ได้เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งปกติจะจัดในช่วง 1 เดือนแรกของภาคเรียน โดยจะมีพี่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 เป็นหัวหน้าหลักในการทำกิจกรรมครั้งนี้ กิจกรรมส่วนใหญ่เน้นในด้านสันทนาการ อาจมีการแทรกวิชาการเข้ามาบ้างตามสมควร
- กิจกรรมเฟรชชี่เดย์ และ เฟรชชี่ไนท์ (Freshy Day & Freshy Night)
เป็นกิจกรรมที่จะจัดในวันสุดท้ายของกิจกรรมรับน้องใหม่ โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคนจะไม่มีการเรียนการสอน เพื่อที่จะไปรับน้องทั้งมหาวิทยาลัยในตอนกลางวัน ซึ่งจะเป็นฐานกิจกรรมต่างๆ มากมาย ส่วนในตอนกลางคืนจะเป็นคอนเสิร์ตของศิลปินและดาราต่างๆ และจัดการประกวดดาว-เดือนของมหาวิทยาลัย
- ค่ายพันธกิจทางการแพทย์
ค่ายนี้จะเป็นค่ายที่พี่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 จัดขึ้นเพื่อรับน้องนอกสถานที่ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ซึ่งค่ายนี้ได้รับอนุญาตจากคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ อย่างถูกต้อง จุดประสงค์หลักของค่ายนี้ คือ จัดเพื่อให้น้องได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ก่อให้เกิดสามัคคีขึ้นภายในชั้นปี อีกทั้งเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ทุกชั้นปีได้ทำความรู้จักกันผ่านทางกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นภายในค่าย และนอกจากนี้ค่ายพันธกิจฯ ยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเวชศาสตร์การป้องกัน (Preventive Medicine) อีกด้วย
- 11 วิทย์สัมพันธ์ (11 Health Sciences RSU)
ค่ายนี้นักศึกษามหาวิทาลัยรังสิต ในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ 11 คณะ ประกอบด้วย แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา เทคนิคการแพทย์ การแพทย์แผนตะวันออก ทัศนมาตรศาสตร์ รังสีเทคนิค และวิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้มาจัด Day-camp ร่วมกันในภาคเรีนยที่ 1 เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ คณะในสายเดียวกัน และเป็นคณะที่ต้องใช้อาคาร 4 ในการเรียนการสอนร่วมกัน
- งานเปิดรั้วโรงเรียนแพทย์ (Open House)
เป็นงานที่สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย หรือ สพท. ได้จัดขึ้นเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนชั้นมัธยมที่สนใจจะเข้าศึกษาต่อในสาขาแพทยศาสตร์ ได้เข้ามารับประสบการณ์ตรงจากพี่ๆ จากทุกสถาบัน อีกทั้งยังมีการเปิดฉายวีดิทัศน์แนะนำแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งในปีนี้งานจัดที่โรงพยาบาลราชวิถีอีกด้วย[5]
- งานเมดไนท์ (Med Night)
งานนี้เป็นงานที่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 จัดขึ้นเพื่อขอบคุณพี่ๆ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีอื่นๆ ที่ช่วยกันรับน้องใหม่เข้าสู่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยภายในงานจะมีกิจกรรมต่างๆ อาทิเช่น การแสดงจากน้องปี 1 การแต่งชุดแฟนซี ตามคอนเซปต์หรือธีมที่กำหนดขึ้นในปีนั้นๆ การสังสรรไร้แอลกอฮอล์ และที่ขาดไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นไฮไลท์ของงานคือ การประกวดมิสเมด (Miss Med) โดย ผู้เข้าประกวดจะเป็นน้องปี 1 ที่เป็นชาย แล้วแต่งกายเป็นหญิง มาแสดงความสามารถพิเศษให้พี่ๆ ได้เพลิดเพลินกัน โดยงานนี้จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ของทุกปี
- ค่ายเวชศาสตร์ชุมชน (Community Medicine)
ค่ายนี้จัดขึ้นในภาคฤดูร้อน ของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 และเป็นภาคปฏิบัติของวิชาเวชศาสตร์ชุมชน หนึ่งในวิชาเฉพาะของนักศึกษาแพทย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับชุมชน เรียนรู้วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น และเข้าใจความรู้สึก/ความคิดของคนในชุมชนทั่วๆ ไปเกี่ยวกับระบบการสาธารณสุขของไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้ศึกษาดูงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขมูลฐานในระดับหมู่บ้านและตำบลอีกด้วย
กิจกรรมกีฬา
[แก้]- เฟรชชี่ เกม (Freshy Games)
เป็นงานกีฬาที่มหาวิทยาลัยรังสิตจัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มาร่วมแข่งขันกีฬา โดยมีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะ/วิทยาลัยต่างๆ และนอกจากนี้ยังมีการแข่งขันประกวดสแตนเชียร์จากคณะต่างๆ อีกด้วย ซึ่งปกติจะจัดในช่วงของการรับน้องใหม่ในเดือนมิถุนายนของทุกปี
- กีฬาเมดคัพ (Med Cup)
งานกีฬาที่จัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ภายในวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จัดขึ้นในภาคการศึกษาที่ 1 ของทุกปี
- กีฬาเดนท์เมดฟาร์ม (Dent-Med-Pharm)
เป็นงานกีฬาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กันระหว่างวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กับวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ และวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตซึ่งเป็นคณะในสายงานเดียวกัน โดยจะจัดในช่วงภาคการเรียนที่ 1 ของทุกปี
- กีฬาเข็มสัมพันธ์ (Syringe Games)
มหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของนักศึกษาแพทย์ เพราะเป็นการรวมนักศึกษาแพทย์จากทุกสถาบันมาแข่งกีฬา เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กันระหว่างมหาวิทยาลัย โดยที่เจ้าภาพการจัดการแข่งขันจะสลับเปลี่ยนหมุนเวียนไปทุกปี ซึ่งในปีการศึกษา 2553 จะมีวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าและวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นเจ้าภาพ
กิจกรรมวิชาการ
[แก้]- งานโอเพ่นเฮาส์ของมหาวิทยาลัย (Open House)
จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยรังสิตช่วงเดือนมกราคม เป็นงานที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ รวมทั้งผู้ประกอบการ เยี่ยมชมกิจกรรมทางวิชาการ งานวิจัยนวัตกรรม และผลงานต่างๆ โดยมุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลทางการศึกษา พร้อมกิจกรรมเสริมทักษะที่มีสีสันหลากหลายแนวทางของสาขาวิชาชีพ รวมทั้งปูพื้นฐานพร้อมสร้างทางเลือกให้แก่นักเรียนที่จะก้าวสู่ระดับอุดมศึกษาในอนาคต
กิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
[แก้]- พิธีถวายราชสักการะพระบิดาแห่งการแพทย์
พิธีไหว้พระบิดาหรือพระบรมราชชนกเป็นพิธีที่สำคัญที่สุดพิธีหนึ่งของการมาเป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งพระบรมราชชนกถือว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้นักศึกษาแพทย์ให้ความเคารพนับถือพระบิดาเป็นอย่างมาก โดยพิธีนี้จะจัดในวันพฤหัสช่วงการรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัย
- งานทำบุญและพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่
งานนี้ก็ถือว่าเป็นงานที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งของการมาเป็นนักศึกษาแพทย์เช่นกัน โดยนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 ที่เรียนในวิชามหกายวิภาคศาสตร์ (หรือ Gross Anatomy) จะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้ โดยที่งานทำบุญอาจารย์ใหญ่จะจัดในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ส่วนพิธีพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่จะจัดภายหลังจากเรียนวิชามหกายวิภาคศาสตร์จบแล้ว หรือประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สถาบันแพทยศาสตร์ในประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-10. สืบค้นเมื่อ 2008-07-24.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-22. สืบค้นเมื่อ 2009-03-24.
- ↑ "กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-15. สืบค้นเมื่อ 2008-07-20.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-22. สืบค้นเมื่อ 2009-03-24.
- ↑ "งานเปิดรั้วโรงเรียนแพทย์ ครั้งที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2551". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-22. สืบค้นเมื่อ 2008-07-20.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- มหาวิทยาลัยรังสิต
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เก็บถาวร 2008-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บบอร์ดวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เก็บถาวร 2008-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Facebook : คณะกรรมการนักศึกษาวิทยาลัยแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต
- Facebook : College of Medicine Rangsit University.
- สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2007-03-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน