นักบุญสเทเฟน
สเทเฟน | |
---|---|
“นักบุญสเทเฟน” - ค.ศ. 1476 โดยการ์โล กรีเวลลี (Carlo Crivelli) แสดงหินสามก้อนและใบปาล์ม ตัดผมทรงและใส่เสื้อนักบวชและถือพระวรสาร | |
ดีกันและปฐมมรณสักขี | |
เสียชีวิต | ราว ค.ศ. 34 เยรูซาเลม ในประเทศอิสราเอล |
นิกาย | โรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ |
วันฉลอง | 26 และ 27 ธันวาคม |
สัญลักษณ์ | หิน ชุดดัลมาติก โบสถ์จำลอง พระวรสาร ใบปาล์ม, |
องค์อุปถัมภ์ | ช่างทำโลง ดีกัน ปวดหัว ม้า ช่างหิน และเมืองและประเทศต่างๆ |
นักบุญสเทเฟน[1] (อังกฤษ: Saint Stephen; กรีก: Στέφανος Stephanos) เป็นนักบุญและมรณสักขีในศาสนาคริสต์ เสียชีวิตเมื่อราว ค.ศ. 34 ที่กรุงเยรูซาเลม ในประเทศอิสราเอลปัจจุบัน นักบุญสเทเฟนเป็นที่รู้จักกันในฐานะ "ปฐมมรณสักขี" (อังกฤษ: Protomartyr) เพราะเป็นคนแรกสุดที่พลีชีพเพื่อเพราะศรัทธาในศาสนาคริสต์[2] ชื่อภาษากรีกของเขาแปลว่ามงกุฎใบลอเรล หรือ มงกุฎ
ชีวิต
[แก้]ตามหนังสือกิจการของอัครทูต ในช่วงศาสนาคริสต์ยุคแรกในกรุงเยรูซาเลม สเทเฟนเป็นหนึ่งในบุรุษเจ็ดคนซึ่งอาจจะเป็นชาวยิวหรือกรีกที่ถูกเลือกให้ช่วยในการจัดการการแจกทานของแม่ม่ายภายในพระวิหาร หน้าที่นี้มาเรียกกันภายหลังว่า "ดีกัน" (Deacon) นอกจากนั้นสเทเฟนยังมีชื่อเสียงว่าเก่งเรื่องเทศนาเกี่ยวกับพระเยซูต่อชาวเยรูซาเลม รวมทั้งต่อสมาชิกของธรรมศาลา (โบสถ์ยิว) [ต้องการอ้างอิง]
เมื่อนักบุญสเทเฟนถูกพิจารณาในศาลและถูกลงโทษโดยการขว้างด้วยก้อนหินให้ตาย ก่อนที่จะเสียชีวิตก็เห็นนิมิตทั้งพระเจ้าพระบิดาและพระเยซูยืนอยู่ทางขวาของพระเจ้า[3]
ลัทธิบูชานักบุญสเทเฟน
[แก้]โบสถ์คริสต์ศาสนาหลายแห่งตั้งตามชื่อนักบุญสเทเฟน แต่นักบุญสเทเฟนไม่มีที่ฝังศพอย่างเป็นทางการจนกระทั่งปี ค.ศ. 415 เมื่อนักแสวงบุญเดินทางไปเยรูซาเลมกันเป็นจำนวนมาก พระชื่อลูเซียนกล่าวว่าได้เห็นนิมิตหลุมศพของนักบุญสเทเฟนที่เคฟาร์ กามาลา (Caphar Gamala) ทางเหนือของเยรูซาเลม นักบุญเกรกอรีแห่งตูร์กล่าวว่าเมื่อชาวฮันมารุกรานและเผาเมืองเม็ทซ (Metz) ก็ไม่สามารถเผาชาเปลของนักบุญสเทเฟนที่เป็นที่เก็บเรลิกของท่านได้ เชื่อว่าเพราะท่านมีบารมีคุ้มกัน[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กิจการ 7:2, พระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับมาตรฐาน, สมาคมพระคริสตธรรมไทย
- ↑ กิจการ 7:60
- ↑ กิจการ 7:56
- ↑ "Historia Francorum ii.6". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-14. สืบค้นเมื่อ 2008-02-21.
ดูเพิ่ม
[แก้]