แอนนา ลีโอโนเวนส์
แอนนา ลีโอโนเวนส์ Anna Leonowens | |
---|---|
เกิด | แอนนา แฮร์เรียต เอ็มมา เอ็ดเวิดส์ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2374 อะห์มัดนาการ์, อินเดีย |
เสียชีวิต | 19 มกราคม พ.ศ. 2458 (83 ปี) มอนทรีออล, รัฐควิเบก, แคนาดา |
สัญชาติ | สหราชอาณาจักร |
มีชื่อเสียงจาก | พระอาจารย์ฝรั่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
คู่สมรส | โทมัส ลีออน โอเวนส์ |
บุตร | เอวิส ฟิช หลุยส์ ลีโอโนเวนส์ |
บิดามารดา | โทมัส เอ็ดเวิดส์ แมรี แอนน์ กลาสคอตต์ |
แอนนา ลีโอโนเวนส์ (อังกฤษ: Anna Leonowens) หรือ แหม่มแอนนา มีชื่อจริงว่า แอนนา แฮร์เรียต เอ็มมา เอ็ดเวิดส์[1] (อังกฤษ: Anna Harriet Emma Edwards; 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2374 - 19 มกราคม พ.ศ. 2458)
แหม่มแอนนาเป็นที่รู้จักในฐานะเป็น "พระอาจารย์ฝรั่ง" ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่สำหรับชาวต่างชาติทั่วไปแหม่มแอนนาคือตัวละครเอกของนวนิยายและละครบรอดเวย์ชื่อดัง เรื่อง เดอะคิงแอนด์ไอ รวมทั้งภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง แอนนาแอนด์เดอะคิง ซึ่งสวมบทบาทโดยนักแสดงชั้นนำ คือโจดี ฟอสเตอร์
ประวัติ
[แก้]แอนนาเป็นเด็กกำพร้าพ่อตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เป็นลูกครึ่งแองโกล-อินเดีย[2] เกิดในประเทศอินเดีย เป็นบุตรของโทมัส เอ็ดเวิดส์ กับแมรี แอนน์ กลาสคอตต์
ตาของเธอชื่อ วิลเลียม วอเดรย์ กลาสคอตต์ (อังกฤษ: William Vawdrey (Vaudrey) Glascott) เป็นทหารสัญญาบัตรชาวอังกฤษประจำกองพลทหารราบที่ 4 ในค่ายทหารเมืองบอมเบย์ เขาอพยพเข้ามาสู่อินเดียตั้งแต่ปี ค.ศ. 1810[3] และสมรสในปี ค.ศ. 1815 กับสตรีไม่ปรากฏนาม[4] หากอ้างอิงตามงานเขียนของซูเซิน มอร์แกน ก็เป็นคำอธิบายที่ขาดความสมบูรณ์ ภรรยาของกลาสคอตต์ ตามบันทึกของทางการอังกฤษระบุว่านาง "ไม่ใช่ชาวยุโรป"[5] และมอร์แกนแสดงความเห็นว่า "มีแนวโน้มเป็นอย่างมากที่จะเป็น...แองโกล-อินเดีย (ลูกผสมจากหลายเชื้อชาติ) ที่เกิดในอินเดีย" (ในภายหลังได้ปกปิดตัวตนและเปลี่ยนนามสกุลเป็นโครวฟอร์ด (Crawford) และอ้างว่าตนเองมีเชื้อสายมาจากเวลส์ ในสหราชอาณาจักร และอ้างว่าบิดามียศเป็นร้อยเอก เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้แอนนาและลูก ๆ ของเธอได้รับการปฏิบัติอย่างชนผิวขาว)
พอมีอายุได้ 18 ปีแอนนาแต่งงานกับเจ้าหน้าที่เสมียนชาวอังกฤษ นามว่าโธมัส ลีออน โอเวนส์ (ภายหลังแอนนาได้รวบชื่อกลางและนามสกุลของสามีเข้าด้วยกัน กลายเป็น "ลีโอโนเวนส์") ทั้งคู่มีบุตรธิดารวม 4 คน สองคนแรกเสียชีวิตตั้งแต่เล็ก คนที่ 3 เป็นหญิงชื่อเอวิส และคนสุดท้องเป็นชายชื่อ หลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ (ซึ่งต่อมาได้ตั้งบริษัท หลุยส์ ลีโอโนเวนส์ ในเมืองไทย)
แอนนาได้รับการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาได้ย้ายตามสามีไปอยู่ที่เกาะปีนังในมาเลเซีย ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษเช่นกัน
เมื่อสามีของนางเสียชีวิตแอนนาจึงเดินทางต่อไปที่สิงคโปร์ และได้มาเปิดโรงเรียนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่สิงคโปร์ ประกอบอาชีพเป็นครูสอนหนังสือ รับสอนพวกลูกหลานนายทหาร
รัชกาลที่ 4 กำลังทรงเสาะหาครูสอนภาษาอังกฤษแก่พระราชโอรส และ ธิดา มร.อดัมซัน ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวที่สิงคโปร์ ได้แจ้งให้ทรงทราบว่า มีแหม่มสอนภาษาอังกฤษที่มีความสามารถเหมาะสม จึงได้ทรงทาบทามให้เข้ามาสอน ตัวนางกับหลุยส์ ลูกชายวัย 7 ขวบ ตัดสินใจเดินทางมายังประเทศสยาม เพื่อถวายการสอนหนังสือแก่พระราชโอรสธิดาและเจ้าจอมหม่อม
ข้อตกลงในการว่าจ้าง มีดังนี้
- แอนนา จะต้องสอนภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์เบื้องต้น วรรณคดีอังกฤษ ขนบธรรมเนียมอังกฤษ แต่ไม่ต้องสอนศาสนาคริสต์
- พระราชทานบ้าน สร้างด้วยอิฐแบบฝรั่งให้แอนนาอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง
- พระราชทานเงินเดือนให้ เดือนละ 100 เหรียญสิงคโปร์
- การสอน แบ่งเป็น 2 ผลัด ผลัดเช้า สอนพระราชโอรสและพระราชธิดา ผลัดบ่าย สอนเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมที่ยังสาว
แหม่มแอนนา รับราชการอยู่ 4 ปี 6 เดือน ก็กลับถวายบังคมลาออกจากหน้าที่เนื่องจากสุขภาพทรุดโทรม ได้เขียนหนังสือ 2 เล่ม คือ The English Governess at the Siamese Court และ The Romance of the Harem ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นหนังสือขายดีและสร้างชื่อเสียงให้กับนางเป็นอย่างมาก จนเป็นที่มาของนวนิยายและละครเพลงชื่อดังในที่สุด
สู่ตะวันตก
[แก้]ปี พ.ศ. 2410 แอนนาในวัย 36 ปีได้ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปสหรัฐอเมริกา โดยระหว่างทางแวะพักที่อังกฤษและไอร์แลนด์ แอนนาใช้ชีวิตอยู่ที่รัฐนิวยอร์กรวมเป็นเวลา 11 ปี ซึ่งที่นี่เองนางได้เริ่มต้นชีวิตของการเป็นนักเขียนด้วยการส่งต้นฉบับไปลงเป็นตอน ๆ ในนิตยสารชื่อ Atlantic Monthly จนผลสุดท้ายได้รับการตีพิมพ์ กลายเป็นหนังสือรวมเล่มเกี่ยวกับชีวิตแอนนาในพระราชสำนักสยาม
เมื่อมีอายุได้ 47 ปี แอนนาย้ายถิ่นฐานจากสหรัฐอเมริกา ตามลูกสาวคือเอวิสและลูกเขย โธมัส ฟิช ไปยังเมืองแฮลิแฟกซ์ ประเทศแคนาดา ซึ่งในเวลาต่อมานางมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสถาบันการศึกษา Victoria School of Art and Design (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Nova Scotia College of Art and Design) เพื่อเฉลิมฉลองพระราชวโรกาสเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบ 50 ปีของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ นอกจากนี้นางยังมีบทบาทด้านสตรีภายในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
ช่วงเวลานั้นเองแอนนามีโอกาสได้เดินทางไปยังประเทศรัสเซีย เพื่อบันทึกเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงซึ่งกำลังก่อตัวขึ้นบนแผ่นดินของพระเจ้าซาร์ ในฐานะนักเขียนบทความสารคดีให้กับนิตยสาร Youth"s Companion หลังจากนั้นนางยังเดินทางต่อไปที่ยุโรปและพำนักอาศัยอยู่ประเทศเยอรมนีเป็นเวลาช่วงหนึ่งด้วย
ในวัย 53 ปี แอนนาเขียนหนังสือเล่มที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของตนเอง โดยเฉพาะชีวิตในวัยเด็ก ชื่อว่า Life and Travel in India ก่อนจะเขียนเล่มที่ 4 ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายในอีก 5 ปีต่อมา เรื่อง Our Asiatic Cousins ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชาวจีนที่อพยพไปอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ อย่างไรก็ดี หนังสือ 2 เล่มสุดท้ายดังกล่าวนี้ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก หากเทียบกับผลงานเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม
เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 5 อีกครั้ง
[แก้]ในปี พ.ศ. 2427 แอนนามีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์หรือพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร" พระราชโอรสองค์ที่ 17 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และทรงเคยเรียนหนังสือกับแอนนาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์
แอนนามีความปลาบปลื้มใจที่ได้มีโอกาสพบกับกรมพระนเรศร์วรฤทธิ์อีกครั้ง ซึ่งนอกจากพระองค์จะเคยเป็นศิษย์แล้ว ดูเหมือนว่าแอนนาจะสนิทสนมกับเจ้าจอมมารดากลิ่น พระมารดาของกรมพระนเรศร์ฯ มากเป็นพิเศษอีกด้วย
ต่อมา พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสยุโรป แอนนาซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 66 ปี ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินจากกรุงสยาม ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ นับเป็นระยะเวลา 30 ปีพอดี หลังจากที่นางได้เดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร
แอนนาเสียชีวิตที่เมืองมอนทรีออล ในรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา เมื่อปี พ.ศ. 2458 รวมมีอายุ 84 ปี
ผลงานการประพันธ์
[แก้]- The English Governess at the Siamese Court
- The Romance of the Harem (ฉบับแปลไทยว่า นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน)
- Life and Travel in India
- Our Asiatic Cousins
แอนนา ในบทประพันธ์และภาพยนตร์
[แก้]ปี พ.ศ. 2487 มากาเร็ต แลนดอนได้ประพันธ์ บทประพันธ์เรื่อง แอนนาและพระเจ้าแห่งกรุงสยาม (Anna and the King of Siam) โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือที่แอนนาแต่ง และได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2489 กำกับโดย จอห์น ครอมเวลล์ นำแสดงโดย เร็กซ์ แฮร์ริสัน[6]
ต่อจากนั้นได้มีละครเพลง เดอะคิง แอนด์ ไอ หรือ พระเจ้าแผ่นดินกับตัวฉัน ที่สร้างโดย ริชาร์ด ร็อดเจอร์ และ ออสการ์ แฮมเมอร์สไตน์ที่ 2 เปิดแสดงเป็นครั้งแรกในโรงละครเซนท์ เจมส์ ในปี พ.ศ. 2494 ที่โดยมี ยูล เบรียนเนอร์ รับบทบาทเป็นพระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) และเกอทรูด ลอว์เรนซ์ แสดงเป็นแอนนา ต่อมาภาพยนตร์เรื่อง เดอะคิงแอนด์ไอ ออกฉายในปี พ.ศ. 2499 โดยยึดมาจากละครบรอดเวย์ของ ริชาร์ด ร็อดเจอร์ กำกับโดย วอลเตอร์ แลง ได้รับรางวัลออสการ์ 5 สาขา
ในปี พ.ศ. 2515 ได้ถูกสร้างเป็นละครชุดทางโทรทัศน์ โดยซามานธา เอ็ดการ์รับบทเป็นแอนนา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2542 บริษัทฟอกซ์ คอร์ปอเรชันได้สร้างภาพยนตร์ขึ้นมาใช้ชื่อเรื่องว่า แอนนาแอนด์เดอะคิง แสดงนำโดย โจดี ฟอสเตอร์ และโจว เหวินฟะ แต่ก็ถูกห้ามฉายในประเทศไทยหลังเป็นข้อถกเถียงกันอย่างหนักกรณีเนื้อหาของเรื่องบิดเบือนประวัติศาสตร์
การถูกวิพากษ์วิจารณ์
[แก้]จากละครและภาพยนตร์นั้น ทำให้แหม่มแอนนาถูกโจมตี ผู้ที่โจมตี แอนนาในเรื่องนี้อย่างชัดเจนที่สุดคือ W.S. Bristowe ในหนังสือเรื่อง ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์ (แปลจาก Louis and the King of Siam) รวมถึงมัลคอล์ม สมิธ (Malcolm Smith) และ เอ.บี. กริสโวลด์ (A.B. Griswold)
บทบาทในราชสำนัก
[แก้]ภาพลักษณ์ของแอนนาในฐานะ "ครูฝรั่งวังหลวง" มีหน้าที่ในการถวายพระอักษรภาษาอังกฤษให้กับพระราชโอรส พระราชธิดา และเจ้าจอมหม่อมห้าม ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมาย แต่ยังมีงานรองอีกอย่างหนึ่งคือเป็นเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[7]
โดยมีข้อสงสัยในหมู่นักวิชาการว่า แอนนามีบทบาทอย่างไรในราชสำนักสยาม แอนนาผลักดันหรือชี้แนะอะไรบ้าง และทำจริงตามที่เขียนไว้ในหนังสือหรือไม่ เมื่อมีการสอบสวนเรื่องนี้โดยนักวิชาการ ก็ได้บทสรุปที่เชื่อกันว่าแอนนาแท้จริงแล้วไม่ได้มีบทบาทอะไรมากไปกว่าครูสอนภาษาอังกฤษ[7]
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความเห็นเกี่ยวกับหนังสือ 2 เล่มนี้ว่า
แหม่มแอนนาอาจมีความจำเป็นต้องหาเงินมาเลี้ยงลูก จึงปรุงแต่งเรื่องราวขึ้นให้มีรสชาติพอที่จะขายสำนักพิมพ์ได้ ตอนที่นางสอนหนังสืออยู่ในราชสำนักก็มิได้มีอิทธิพลมากมายถึงขนาดที่พระเจ้าอยู่หัวจะต้องไปใส่พระทัยรับฟัง เป็นไปได้ว่าสิ่งที่นางเขียนออกมานั้น ก็คือเรื่องที่ต้องการถวายความเห็นเป็นการย้อนหลัง เพราะจริง ๆ แล้วไม่เคยมีโอกาสได้พูดออกมาเลย
เรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ
[แก้]แอนนาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าโป้ปดมดเท็จ บิดเบือนเรื่องที่เขียนในหนังสือทั้ง 2 เล่ม นักวิชาการหลายท่านได้ตรวจสอบความจริงหลักฐาน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงหนังสือ 2 เล่มเท่านั้น ยังลุกลามไปถึงสิ่งที่แอนนาไม่ได้เขียน จากนิยายที่มาร์กาเร็ตแต่งขึ้นเพิ่มเติมภายหลัง ทำให้แหม่มแอนนาถูกโจมตีอย่างหนักว่าปั้นแต่งเรื่องราวโกหกเกี่ยวกับราชสำนักสยาม หมิ่นพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย รวมทั้งสร้างประวัติเท็จให้ตนเองทั้งทางด้าน สถานที่เกิด สีผิว และอื่น ๆ
ชีวประวัติของแหม่มแอนนาที่ W.S. Bristowe กล่าวหาว่าโป้ปดขึ้นนั้น ปรากฏอยู่ในนวนิยายเรื่อง The King and I ซึ่งเป็น "นิยาย" ที่มาร์กาเร็ตแต่งขึ้นเพิ่มเติมภายหลัง ดังที่ Bristowe เขียนไว้ว่า "ประวัติแหม่มแอนนาที่เล่ามา ล้วนได้จากบันทึกของเธอเอง ซึ่งมาร์กาเร็ต แลนดอน นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่" มิได้มีอยู่ในหนังสือทั้ง 2 เล่มของแหม่มแอนนาแต่อย่างใด ในหนังสือของแหม่มแอนนาเองแทบจะไม่มีข้อความที่กล่าวถึงชีวประวัติของตนเองเลย [9]
หากย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของหนังสือ The English Governess at the Siamese Court ซึ่งแอนนาเขียนเป็นบทความลงในนิตยสาร The Atlantic Montly ตั้งแต่ปี 2411 ก็จะพบว่าสิ่งที่แอนนารู้เห็นในราชสำนักสยามนั้นอยู่ในระดับ "หลักฐานทางประวัติศาสตร์" ได้[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Susan Morgan, Bombay Anna: The Real Story and Remarkable Adventures of The King and I Governess, Berkeley, University of California Press, p29
- ↑ Morgan, Bombay Anna, pp23-25, 240-242.
- ↑ Morgan, Bombay Anna, pp20, 241.
- ↑ Morgan, Bombay Anna, pp23-24, 28.
- ↑ Morgan, Bombay Anna, p23.
- ↑ แอนนากับพระเจ้าแผ่นดินของไทย ราชบัณฑิตยสถาน
- ↑ 7.0 7.1 7.2 ศิลปวัฒนธรรม: แอนนา เลียวโนเวนส์ ใครว่าหล่อนตอแหล?
- ↑ จีระนันท์ พิตรปรีชา. ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์. ประพันธ์สาส์น, 2542.
- ↑ ศิลปวัฒนธรรม: ปอกเปลือกชีวิต แอนนา เลียวโนเวนส์ ใครว่าหล่อนตอแหล
บรรณานุกรม
[แก้]- ส.พลายน้อย. ชาวต่างชาติในประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพมหานคร : รวมสาส์น, 2538
- แอนนา หลังออกจากกรุงสยาม
- ก่อนหน้านี้: ปฐมฤกษ์ละครบรอดเวย์ “เดอะคิงแอนด์ไอ”[ลิงก์เสีย]
- ภาพยนตร์เดอะคิงแอนด์ไอจาก Imdb.com
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แอนนา ลีโอโนเวนส์. นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน. แปลโดย อบ ไชยวสุ. กรุงเทพฯ: ดับเบิ้ลนายน์ พริ้นติ้ง, 2543.
- แอนนา ลีโอโนเวนส์. ต้นฉบับ แอนนา แอนด์ เดอะ คิง (จากเรื่องครูสอนภาษาอังกฤษแห่งราชสำนักประเทศสยาม). กรุงเทพฯ: เฉลิมนิจ, 2544?.
- จิระนันท์ พิตรปรีชา. ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์. กรุงเทพฯ: สยามบันทึก, 2552.
- ซูซาน มอร์แกน. บอมเบย์ แอนนา. แปลโดย วีระยุทธ เลิศพูลผล และพัณณิดา ภูมิวัฒน์. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม, 2554.
- เฉลิมศรี จันทสิงห์. โครงการชำแหละแอนนา (กระบวนการแปลงโฉมครูสาวชาวอังกฤษให้เป็นวีรสตรีอเมริกัน) : รายงานฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2543.
- หนังสือ The English Governess at the Siamese Court โดย แอนนา ลีโอโนเวนส์
- หนังสือ The Romance of the Harem โดย แอนนา แฮร์เรียต ลีโอโนเวนส์
- The Real Anna Leonowens เก็บถาวร 2007-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- นางแอนนา เลียวโนเวนส์ หญิงฝรั่งที่ตอแหลเรื่องเมืองไทย เก็บถาวร 2008-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน