ข้ามไปเนื้อหา

พระเยซู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เยซูคริสต์)
พระเยซู
ภาพพระเยซูที่ทำจากโมเสก แนวศิลปะไบแซนไทน์ จากอาสนวิหารเซฟาลู, ซิซิลี ป. ค.ศ.1130
ประสูติประมาณ 4 ปีก่อนคริสตกาล[a]
ยูเดีย, จักรวรรดิโรมัน[5]
สิ้นพระชนม์ประมาณ ค.ศ. 30 / 33[b]
(อายุ 33–36 ปี)
เยรูซาเลม, ยูเดีย, จักรวรรดิโรมัน
พระบิดาโยเซฟ[c]
พระมารดามารีย์

พระเยซู (อังกฤษ: Jesus) หรือ เยซูชาวนาซาเร็ธ (อังกฤษ: Jesus of Nazareth; 4-2 ปีก่อนคริสตกาล - ค.ศ. 30-33[7]) เป็นชาวยิวผู้เป็นศาสดาของศาสนาคริสต์ คริสต์ศาสนิกชนเรียกพระองค์ว่า พระเยซูคริสต์ เพราะถือว่าพระองค์เป็นพระคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอด เป็นพระบุตรพระเป็นเจ้า และเป็นพระเจ้าพระบุตรซึ่งเป็นพระบุคคลหนึ่งในพระตรีเอกภาพ นอกจากนี้ในคัมภีร์ไบเบิลยังบันทึกว่าพระเยซูทรงแสดงปาฏิหาริย์ทรงรักษาคนตาบอดให้หายขาด รักษาคนพิการ โดยตรัสว่า บาปของเจ้าได้รับการให้อภัยแล้ว หลังพระเยซูสิ้นพระชนม์ ก็ได้ทรงฟื้นขึ้นจากความตายหลังสิ้นพระชนม์ได้เพียง 3 วัน และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์

ชาวมุสลิมก็ให้ความเคารพพระเยซูเช่นกัน แต่เชื่อต่างจากชาวคริสต์ โดยชาวมุสลิมเรียกพระเยซูว่านบีอีซา คัมภีร์อัลกุรอานระบุว่าพระเยซูไม่ใช่ทั้งพระเจ้าและพระบุตรของพระเจ้า[8] แต่เป็นบ่าวคนหนึ่งของพระเจ้า[9] และเป็นเราะซูลที่พระเจ้าส่งมาเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมให้แก่ชาวอิสราเอล[10]เช่นเดียวกับเราะซูลอื่น ๆ นอกจากนี้กุรอานยังอ้างว่าพระเยซูได้ทำนายถึงเราะซูลอีกท่านหนึ่งที่จะมาในอนาคตด้วยว่าชื่ออะหมัด[11]

คำว่า "เยซู" มาจากคำในภาษากรีกคือ "เยซุส" Ιησους [Iēsoûs] ซึ่งมาจากการถ่ายอักษรชื่อ Yeshua [เยชูวา] ในภาษาแอราเมอิกหรือฮีบรูอีกทอดหนึ่ง คริสตชนอาหรับเรียกเยซูว่า "ยาซูอฺ" ตามภาษาซีรีแอก ส่วนชาวอาหรับมุสลิมเรียกว่า "อีซา" ตามอัลกุรอาน ความหมายคือ "ผู้ช่วยให้รอด" เป็นชื่อที่ใช้กันมากในหมู่ชาวยิวตั้งแต่สมัยโยชูวาเป็นต้นมา ภาษาละตินแผลงเป็นเยซูส ภาษาโปรตุเกสแผลงต่อเป็นเยซู ภาษาไทยทับศัพท์ภาษาโปรตุเกสมาจนทุกวันนี้ ส่วนคำว่า "คริสต์" เป็นสมญาซึ่งมาจากคำในภาษากรีกว่า "คริสตอส" Χριστός [Christos] ซึ่งเป็นคำแปลของคำภาษาฮีบรู Messiah อันหมายถึง "ผู้ได้รับการเจิม" ชาวอาหรับเรียกว่า "มะซีฮฺ" ซึ่งหมายถึงการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่สูงส่ง เช่น พระมหากษัตริย์ ปุโรหิต ผู้เผยพระวจนะ เป็นต้น

เมื่อราชอาณาจักรยูดาห์เสียแก่บาบิโลน ก็สิ้นกษัตริย์ที่ได้รับการเจิม ต่อจากนั้นชาวยิวก็โหยหาพระเมสสิยาห์ที่จะมาสร้างอาณาจักรใหม่ของพระเจ้า "พระคริสต์" จึงเป็นชื่อตำแหน่ง ไม่ใช่ชื่อตัวบุคคล ผู้นิพนธ์พระวรสารสี่ท่านมักเรียกพระองค์ว่า "พระเยซู" และเพื่อให้แตกต่างจากคนอื่น ๆ ที่ชื่อเหมือนกัน ก็เรียกเป็น "พระเยซูชาวนาซาเรธ" หรือ "พระเยซูบุตรของโยเซฟ" แต่นักบุญเปาโลหรือเปาโลอัครทูตมักเรียกพระองค์ว่า "พระคริสต์" หรือ "พระเยซูคริสต์" ที่เรียกว่า "พระคริสต์เยซู" ก็มี

ประวัติของพระเยซู

ปฐมวัย

ประสูติเมื่อ 4 ปีก่อนคริสตกาล ในเมืองนาซาเรธ แคว้นกาลิลี หญิงพรหมจารีคนหนึ่งชื่อมารีย์ ได้หมั้นหมายไว้แล้วกับชายคนหนึ่งชื่อโยเซฟ ก่อนที่จะได้อยู่กินด้วยกัน ได้มีทูตสวรรค์กาเบรียลเข้าบ้านมาหามารีย์แล้วว่า “เธอจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย จงตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซู” [12] ฝ่ายโยเซฟเมื่อทราบว่ามารีย์ตั้งครรภ์แล้ว ก็ไม่คิดจะแพร่งพรายเรื่องนี้ จึงคิดจะถอนหมั้นอย่างลับ ๆ แต่มีทูตองค์หนึ่งปรากฏแก่โยเซฟในความฝันว่า “โยเซฟบุตรดาวิด อย่ากลัวที่จะรับมารีย์มาเป็นภรรยาของเจ้าเลย เพราะว่าผู้ซึ่งปฏิสนธิ์ในครรภ์ของเธอเป็นโดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์” [13] โยเซฟจึงทำตามคำนั้น คือได้รับมารีย์มาเป็นภรรยา แต่มิได้สมสู่กับเธอ

ขณะที่มารีย์กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้น จักรพรรดิออกัสตัสได้มีรับสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน คนทั้งปวงต่างต้องเดินทางกลับไปขึ้นทะเบียนยังเมืองของตน โยเซฟกับมารีย์จึงต้องเดินทางจากเมืองนาซาเร็ธ แคว้นกาลิลีไปยังเมืองของดาวิดเมืองหนึ่งชื่อเบธเลเฮม ในแคว้นยูเดีย เพราะโยเซฟเป็นเชื้อสายของดาวิด เมื่อเขาทั้งสองอยู่ที่นั่น ก็ถึงเวลาที่มารีย์ประสูติ “นางจึงประสูติบุตรชายหัวปี เอาผ้าอ้อมพันและวางไว้ในรางหญ้า เพราะว่าไม่มีที่ว่างให้เขาในโรงแรม” [14]

ต่อมามีทูตองค์หนึ่งปรากฏแก่โยเซฟในความฝันแล้วบอกว่า “จงลุกขึ้นพากุมารกับมารดาหนีไปประเทศอียิปต์ และคอยอยู่ที่นั่นจนกว่าเราจะบอกเจ้า เพราะว่าเฮโรดจะแสวงหากุมาร เพื่อจะประหารชีวิตเสีย” [15] โยเซฟจึงพากุมารและมารดาหนีไปยังประเทศอียิปต์ เนื่องจากกษัตริย์เฮโรดทราบว่าได้มีกุมารผู้ที่บังเกิดมาเพื่อจะเป็นกษัตริย์ของชนชาติยิว และทราบจากบรรดามหาปุโรหิตและพวกธรรมาจารย์ว่า กุมารนั้นอยู่ที่เบธเลเฮม จึงใช้ให้คนไปฆ่าเด็กผู้ชายทั้งหลายในบริเวณนั้นที่มีอายุตั้งแต่สองขวบลงมา ครั้นเฮโรดสิ้นพระชนม์แล้ว ทูตองค์หนึ่งปรากฏแก่โยเซฟในความฝันว่า “จงลุกขึ้นพากุมารกับมารดามายังแผ่นดินอิสราเอล เพราะผู้ที่เป็นภัยต่อชีวิตของกุมารนั้นตายแล้ว” [16] โยเซฟจึงพากุมารกับมารดากลับมาอยู่เมืองนาซาเร็ธ

เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ ที่บันทึกเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูในช่วงระยะเวลาตั้งแต่อายุ 12 ปีจนพระเยซูทรงรับบัพติศมาที่แม่น้ำจอร์แดนไม่ได้ถูกบันทึกไว้มากนัก ชาวคริสต์เรียกช่วงเวลานี้ว่าพระชนม์ชีพเร้นลับของพระเยซู แต่เรื่องราวของพระเยซูตั้งแต่รับบัพติสมาจนสิ้นพระชนม์ที่กางเขน แล้วกลับฟื้นคืนพระชนม์ชีพอีกครั้งถูกบันทึกไว้อย่างละเอียด

ประกอบพระภารกิจ

พระเยซูทรงรับบัพติศมาเมื่ออายุได้ 30 ปีจากยอห์นผู้ให้บัพติศมาที่แม่น้ำจอร์แดน “ครั้นพระองค์ทรงรับพิธีบัพติศมาในน้ำแล้วในทันใดนั้นก็เสด็จขึ้นจากน้ำ และท้องฟ้าก็แหวกออก และพระองค์ได้ทรงเห็นพระวิญญาณของพระเจ้าดุจนกพิราบ ลงมาสถิตอยู่บนพระองค์” [17] หลังจากนั้นพระเยซูเสด็จไปในถิ่นทุรกันดาร เป็นเวลาถึงสี่สิบวันสี่สิบคืนโดยไม่ได้เสวยอะไรเลย แต่กลับมีมารมาผจญพระองค์โดยการล่อลวงต่าง ๆ นา ๆ เพื่อหวังให้พระเยซูกราบลงนมัสการมาร แต่พระเยซูได้ตอบโต้มารด้วยพระธรรมจากคัมภีร์ฮีบรู จนมารเห็นว่ามิอาจล่อลวงพระองค์ได้จึงละพระองค์ไป [18]

พระองค์ทรงเริ่มพระกิจจานุกิจโดยออกสั่งสอนชนทั้งปวงให้กลับใจจากความบาป แล้วเดินตามทางของพระเจ้าอย่างแท้จริง อย่าแสร้งทำเป็นนับถือพระเจ้าแต่ปาก “ประชาชนนี้ให้เกียรติเราแต่ปาก ใจของเขาห่างไกลจากเรา” [19] ทรงสอนมิให้ทำตนเป็นเหมือนพวกหน้าซื่อใจคด “เหตุฉะนั้น ทุกสิ่งซึ่งเขาสั่งสอนพวกท่าน จงถือประพฤติตาม เว้นแต่การประพฤติของเขาอย่าได้ทำตามเลย เพราะเขาเป็นแต่ผู้สั่งสอน แต่เขาเองหาทำตามไม่” [20] พระองค์ยังตรัสพระธรรมคำสั่งสอนและทรงพระราชกิจไว้อีกมากมาย ซึ่งถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังสือ 4 เล่มแรก ได้แก่ มัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์น

ในการทรงพระราชกิจของพระเยซูนั้น พระองค์ได้ทรงเรียกบุคคลต่าง ๆ เข้ามาเป็นสาวก เพื่อสั่งสอนและมีส่วนช่วยพระองค์อีก 12 คน ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่าอัครทูต ได้แก่ ซีโมนเปโตร อันดรูว์ (น้องชายของซีโมน) ยากอบ บุตรเศเบดี ยอห์น (น้องชายของยากอบ) ฟีลิป บารโธโลมิว โธมัส มัทธิวผู้นิพนธ์พระวรสาร ยากอบ บุตรอัลเฟอัส เลบเบอัส (ที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า ธัดเดอัส) ซีโมนเศโลเท และยูดาส อิสคาริโอท (ผู้ที่อายัดพระเยซู) [21]

สิ้นพระชนม์

ผลของการที่พระเยซูออกประกาศ, สั่งสอน, รักษาโรค และทำการต่าง ๆ มากมาย ทำให้มีคนเป็นจำนวนมากติดตามพระองค์ไป “กิตติศัพท์ของพระองค์ก็เลื่องลือไปทั่วประเทศซีเรีย เขาจึงพาคนป่วยเป็นโรคต่างๆ คนที่ทนทุกข์เวทนา คนผีเข้า คนเป็นลมบ้าหมูและคนเป็นอัมพาตมาหาพระองค์ พระองค์ก็ทรงรักษาเขาให้หาย และมีคนหมู่ใหญ่มาจากแคว้นกาลิลี และแคว้นทศบุรีและกรุงเยรูซาเล็ม และแคว้นยูเดีย และแม่น้ำจอร์แดนฟากตะวันออกติดตามพระองค์ไป” [22] “ครั้นพระเยซูเสด็จขึ้นจากเรือแล้ว ก็ทรงเห็นประชาชนหมู่ใหญ่ พระองค์ทรงสงสารเขา จึงได้ทรงรักษาคนป่วยของเขาให้หาย” [23] “และประชาชนเป็นอันมากมาเฝ้าพระองค์ พาคนง่อย คนแขนขาพิการ คนตาบอด คนใบ้ และคนเจ็บอื่นๆหลายคน มาวางแทบพระบาทของพระเยซู แล้วพระองค์ทรงรักษาเขาให้หาย” [24] ในทางตรงกันข้ามคำสั่งสอนของพระองค์ต่อว่าพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์โดยตรง “เขาชอบที่อันมีเกียรติในการเลี้ยงและในธรรมศาลา กับชอบรับการคำนับที่กลางตลาด และชอบให้เขาเรียกว่า ‘ท่านอาจารย์’” [25] “วิบัติแก่เจ้า คนนำทางตาบอด เจ้าสอนว่า ‘ผู้ใดจะสาบานอ้างพระวิหาร คำสาบานนั้นไม่ผูกมัด แต่ผู้ใดจะสาบานอ้างทองคำของพระวิหาร ผู้นั้นจะต้องกระทำตามคำสาบาน’ โอ คนโฉดเขลาตาบอด สิ่งไหนจะสำคัญกว่า ทองคำหรือพระวิหารซึ่งกระทำให้ทองคำนั้นศักดิ์สิทธิ์” [26] “วิบัติแก่เจ้า พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี คนหน้าซื่อใจคด เพราะว่าเจ้าเป็นเหมือนอุโมงค์ฝังศพซึ่งฉาบด้วยปูนขาว ข้างนอกดูงดงาม แต่ข้างในเต็มไปด้วยกระดูกคนตาย และสารพัดโสโครก เจ้าทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้นแหละ ภายนอกแลดูเหมือนว่าเป็นคนชอบธรรม แต่ภายในเต็มไปด้วยความเท็จเทียมและอธรรม”[27] พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีจึงคิดหาช่องทางจะฆ่าพระองค์เสีย “ฝ่ายพวกฟาริสีก็ออกไปปรึกษากันว่า จะทำอย่างไรจึงจะฆ่าพระองค์ได้”เพราะเขาไม่รู้ว่าพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอด[28]

อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงทราบว่า พระองค์จะต้องทนทุกข์ทรมานจากพวกมหาปุโรหิตและพวกธรรมาจารย์ จนต้องถูกประหารชีวิต แต่ในวันที่สามพระองค์จะทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาใหม่ ดังที่พระองค์ได้ทรงทำนายถึงเหตุการณ์ดังกล่าวล่วงหน้าไว้สามครั้ง [29] หลังจากนั้นหนึ่งในสาวกสิบสองคน ชื่อยูดาสอิสคาริโอท ได้ไปหาพวกมหาปุโรหิตแล้วตกลงว่าจะคอยหาช่องที่จะชี้พระองค์ให้จับ เพื่อแลกกับสามสิบเหรียญเงิน ซึ่งเรื่องที่ยูดาสคิดจะทรยศต่อพระองค์นั้น พระองค์ก็ทรงทราบเช่นกัน[30]

เมื่อถึงวันต้นเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ พระองค์กับเหล่าสาวกได้เข้าไปในบ้านหลังหนึ่งในกรุงเยซูซาเล็ม เพื่อร่วมเสวยปัสกาด้วยกัน อาหารที่พระองค์ได้เสวยในคืนนั้นประกอบด้วยขนมปังและน้ำองุ่น ซึ่งก็เป็นอาหารค่ำมื้อสุดท้ายที่พระองค์ได้เสวยก่อนสิ้นพระชนม์ เพราะหลังจากที่ได้เสวยอาหารแล้ว ยูดาสสาวกคนหนึ่งในสิบสองคนนั้นได้ออกจากบ้านไป พวกสาวกที่เหลือไม่ทราบว่ายูดาสไปไหน แต่พระเยซูทราบว่ายูดาสจะไปหาพวกปุโรหิตและพวกฟาริสี เพื่อพาทหารมาจับพระองค์

หลังจากยูดาสออกไปจากบ้านแล้ว พระองค์ตรัสคำสอนแก่พวกสาวกอีกหลายข้อ ก่อนที่จะเสด็จพาพวกเขาออกจากบ้านข้ามห้วยขิดโรนไปยังสวนเกทเสมนี ในขณะนั้นเป็นเวลากลางคืนพระองค์เสด็จห่างจากพวกสาวกออกไปไกลประมาณขว้างหินตกแล้วอธิษฐานต่อพระเจ้า เมื่อกลับมาพบว่าพวกสาวกต่างหลับกันหมด พระองค์จึงปลุกพวกเขาให้ตื่นขึ้นอธิษฐาน แล้วพระองค์ทรงกลับไปอธิษฐานอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกลับมาทรงเห็นสาวกนอนหลับกันอีก พระองค์จึงเสด็จกลับไปอธิษฐานอีกเป็นครั้งที่สาม เมื่อกลับมาครั้งนี้พระเยซูทรงปลุกพวกสาวกให้ตื่นขึ้น ทันใดนั้น ยูดาสได้พาทหารกับเจ้าหน้าที่ของพวกปุโรหิตและฟาริสีพร้อมอาวุธเข้ามา ยูดาสตรงมาหาพระเยซูแล้วจูบคำนับพระองค์ คนเหล่านั้นก็เข้ามาจับพระองค์ เปโตรมีดาบจึงชักออกฟันถูกหูข้างขวาของมัลคัส ซึ่งเป็นทาสคนหนึ่งของมหาปุโรหิต พระเยซูตรัสว่า “จงเอาดาบของท่านใส่ฝักเสีย ด้วยว่าบรรดาผู้ถือดาบจะต้องพินาศเพราะดาบ ท่านคิดว่าเราจะขอพระบิดาของเราไม่ได้หรือ และในครู่เดียวพระองค์จะประทานทูตสวรรค์แก่เรากว่าสิบสองกอง แต่ถ้าเช่นนั้นพระคัมภีร์ที่ว่า จำจะต้องเป็นอย่างนี้ จะสำเร็จได้อย่างไร” [31] แล้วสาวกทั้งหมดก็ได้พากันหนีไป

พระเยซูถูกพาไปบ้านของคายาฟาสซึ่งเป็นมหาปุโรหิตประจำการ ทั้งพวกธรรมาจารย์และมหาปุโรหิตต่างพยายามหาพยานเท็จมาปรักปรำพระองค์ แต่ถึงแม้มีพยานเท็จหลายคนให้การก็ไม่สามารถหาหลักฐานได้ ในที่สุดมหาปุโรหิตจึงถามถึงความเป็นพระคริสต์ของพระองค์ เมื่อพระองค์ยอมรับว่าเป็นพระคริสต์ มหาปุโรหิตจึงยุยงคนทั้งปวงว่า พระเยซูพูดหมิ่นประมาทพระเจ้าเพราะยกตนเองขึ้นเป็นพระคริสต์ คนทั้งปวงจึงต้องการให้ปรับโทษพระเยซูถึงตาย

เมื่อยูดาสเห็นว่าตนเองทำบาป โดยอายัดพระเยซูผู้บริสุทธิ์ให้ถึงแก่ความตาย ยูดาสก็เกิดสำนึกกลับใจนำเงินที่ได้ไปคืนให้พวกมหาปุโรหิต แต่คนเหล่านั้นไม่สนใจ ยูดาสจึงทิ้งเงินไว้แล้วออกไปผูกคอตาย

พอรุ่งเช้า พวกเขาได้พาพระเยซูไปหาปีลาต ซึ่งเป็นเจ้าเมืองในขณะนั้น พวกเขาได้ฟ้องพระเยซูด้วยข้อกล่าวหาต่างๆ แต่หลังจากปีลาตได้สอบถามพระองค์แล้ว ไม่พบว่ามีความผิดประการใดจึงคิดจะปล่อยพระองค์ แต่พวกเขายืนยันว่า คนนี้ยุยงพลเมืองให้วุ่นวาย [32] เมื่อปีลาตทราบว่าพระองค์เป็นชาวกาลิลี ซึ่งอยู่ในท้องที่ของกษัตริย์เฮโรด ปีลาตจึงส่งพระเยซูไปหาเฮโรดเพื่อให้ตัดสินความแทน ฝ่ายเฮโรดมีความยินดีเป็นอันมากที่จะได้พบพระเยซูเพราะเคยได้ยินกิตติศัพท์มานาน หวังว่าพระเยซูจะแสดงอิทธิฤทธิ์หรือปาฏิหาริย์ให้ชมบ้าง แต่เมื่อพระเยซูไม่ได้ทำการใด เฮโรดและพวกทหารจึงได้แต่ดูหมิ่นเยาะเย้ยและส่งพระองค์กลับมาหาปีลาตอีก ปีลาตจึงสั่งมหาปุโรหิต พวกขุนนางและราษฎรให้ประชุมพร้อมกัน และกล่าวแก่เขาว่า “ท่านทั้งหลายได้พาคนนี้มาหาเรา ฟ้องว่าเขาได้ยุยงราษฎร ดูเถิด เราได้สืบถามต่อหน้าท่านทั้งหลาย และไม่เห็นว่าคนนี้มีความผิดในข้อที่ท่านทั้งหลายฟ้องเขานั้น และเฮโรดก็ไม่เห็นว่าเขามีความผิดด้วย เพราะเฮโรดได้ส่งตัวเขากลับมายังเราอีกแล้ว ดูเถิด คนนี้ไม่ได้ทำผิดอะไรซึ่งสมควรจะมีโทษถึงตาย เหตุฉะนั้นเมื่อเราเฆี่ยนเขาแล้ว เราก็จะปล่อยเสีย” [33]

ในตอนนั้นเป็นช่วงเทศกาลปัสกา เป็นธรรมเนียมที่เจ้าเมืองจะปล่อยนักโทษคนหนึ่งให้แก่หมู่ชนตามใจชอบ คราวนั้นมีนักโทษคนหนึ่งชื่อ บารับบัส ต้องโทษเพราะฆ่าคน ปีลาตถามพวกเขาว่า ต้องการให้ปล่อยผู้ใดระหว่างพระเยซูกับบารับบัส มหาปุโรหิตก็ยุยงหมู่ชนให้ขอให้ปล่อยบารับบัส พวกเขาจึงตอบว่า บารับบัส และให้ตรึงพระเยซูที่กางเขน ส่วนปีลาตยังพยายามจะปล่อยพระเยซูอีกถึงกับถามพวกเขาซ้ำอีกสามครั้ง เมื่อพวกเขายืนยันตามเดิม ปีลาตก็เอาน้ำล้างมือต่อหน้าหมู่ชน เพื่อแสดงว่าเขาไม่มีส่วนรับผิดชอบด้วยกับการประหารพระเยซู แล้วปีลาตได้สั่งปล่อยบารับบัสและให้โบยตีพระเยซูก่อนนำไปตรึงที่กางเขน

พระเยซูทรงถูกพวกทหารของปีลาตโบยตีและหยามพระเกียรติหลายประการ [34] พระวรสารสหทรรศน์กับพระวรสารนักบุญยอห์นระบุเหตุการณ์จากนี้ต่างกันคือ พระวรสารสหทรรศน์ต่างระบุว่าเมื่อพระเยซูถูกตัดสินโทษแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ให้ซีโมนชาวไซรีนมาแบกกางเขนของพระเยซูตั้งแต่ต้น[35][36][37] แต่พระวรสารนักบุญยอห์นกลับระบุว่าพระเยซูเป็นผู้แบกกางเขนโดยไม่เอ่ยถึงซีโมนชาวไซรีนเลย[38] เมื่อมาถึงกลโกธาพระองค์ทรงถูกตรึงที่กางเขนพร้อมกับผู้ร้ายสองคน ข้างขวาคนหนึ่งและข้างซ้ายอีกคนหนึ่ง พวกขุนนางต่างกล่าวคำเยาะเย้ยพระองค์ ฝ่ายพวกทหารจับฉลากกันว่า ใครจะได้ฉลองพระองค์ไป (ยอห์น 19:24) หลังจากนั้น พระเยซูทรงทราบว่าทุกสิ่งสำเร็จแล้ว จึงตรัสว่า 'พระบิดาเจ้าข้า ข้าพระองค์ฝากวิญญาณจิตของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์' ตรัสอย่างนั้นแล้วก็สิ้นพระชนม์" [39]

ในวันนั้นเป็นวันศุกร์ พวกยิวไม่ต้องการให้ศพค้างอยู่บนกางเขนจนถึงวันอาทิตย์ เพราะเป็นวันสะบาโต จึงมาขอให้ปีลาตทุบขาของผู้ที่ถูกตรึงให้หัก แล้วจะได้เอาศพลงจากกางเขน พวกทหารจึงมาทุบขาของผู้ร้ายทั้งสองคนที่ถูกตรึงอยู่กับพระเยซูจนเสียชีวิต เมื่อมาถึงพระเยซูและเห็นว่าเสียชีวิตแล้ว พวกทหารไม่ได้ทุบขาพระองค์ แต่ใช้ทวนแทงที่สีข้างของพระองค์ โลหิตและน้ำก็ไหลออกจากร่างกายของพระองค์

โยเซฟแห่งอาริมาเธียได้ขอพระศพพระเยซูจากปีลาต เอาผ้าป่านกับเครื่องหอมพันพระศพของพระองค์ตามธรรมเนียมชาวยิว แล้วเชิญพระศพไปประดิษฐานไว้ในอุโมงค์ฝังศพใหม่ที่ยังไม่ได้ฝังศพผู้ใดเลย ซึ่งอยู่ในสวนแห่งหนึ่งในตำบลที่พระองค์ถูกตรึงนั้น แล้วกลิ้งก้อนหินขนาดใหญ่ปิดปากอุโมงค์ไว้ [40] ส่วนพวกมหาปุโรหิตและพวกฟาริสีไปหาปีลาต ขอให้วางยามเฝ้าหน้าอุโมงค์ให้แข็งแรง เพราะกลัวว่าสาวกจะมาลักพระศพพระเยซูไป ปีลาตจึงสั่งให้ทหารไปประทับตราที่หินและเฝ้ายามหน้าอุโมงค์ไว้ [41]

กลับคืนพระชนม์

ครั้นวันที่สามผ่านไป เหล่าพวกผู้หญิงได้มาที่อุโมงค์ ทันใดนั้นเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ยิ่งนัก ทูตของพระเจ้าองค์หนึ่งได้กลิ้งก้อนหินออกจากปากอุโมงค์ แล้วกล่าวแก่หญิงนั้นว่า พระเยซูฟื้นคืนพระชนม์ชีพจากความตายแล้ว และให้ไปยังแคว้นกาลิลีจะได้พบพระองค์ที่นั่น หญิงเหล่านั้นจึงไปจากอุโมงค์โดยเร็ว วิ่งไปบอกสาวกของพระเยซู ฝ่ายทหารที่เฝ้าอุโมงค์ได้เข้าไปในเมืองแล้วเล่าเหตุการณ์นั้นให้มหาปุโรหิตฟัง เมื่อพวกเขาปรึกษากันแล้วก็แจกเงินเป็นอันมากให้พวกทหาร โดยสั่งให้พูดกันทั่วไปว่า พวกสาวกแอบมาลักเอาศพไปในตอนกลางคืน ครั้นพวกทหารได้รับเงินแล้วก็ทำตามนั้น บรรดาพวกยิวจึงเชื่อตามคำของทหารเหล่านั้น

หลังจากการคืนพระชนม์ของพระเยซูแล้ว พระองค์ทรงปรากฏให้เหล่าสาวกและคนเป็นจำนวนมากได้เห็นเพื่อจะได้เชื่อ เป็นพยานและวางใจในพระองค์ ก่อนที่จะเสด็จขึ้นสวรรค์ต่อหน้าพวกเขา "เมื่อพระองค์ตรัสเช่นนั้นแล้ว พระเจ้าก็ทรงรับพระองค์ขึ้นไปต่อหน้าต่อตาเขา และมีเมฆคลุมพระองค์ให้พ้นสายตาของเขา" [42]

การอัศจรรย์ของพระเยซู

คัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ได้บันทึกว่าพระเยซูได้แสดงปาฏิหาริย์หลายครั้ง ในจำนวนนั้นคือ การรักษาคนเป็นโรคเรื้อนให้หาย [43], การรักษาคนตาบอด [44], รักษาคนง่อยให้เดินได้[45], รักษาคนหูหนวกให้ได้ยิน [46], รักษาหญิงตกโลหิตให้หาย [47], ทรงขับผีออก (มาระโก 7:24-30), การชุบชีวิตคนตาย [48], การทวีขนมปังและปลา [49], เปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นในงานแต่ง [50], การเดินบนน้ำ [51], การทรงทราบล่วงหน้าถึงอนาคตและสิ่งต่างๆ และการกลับคืนพระชนม์ชีพหลังสิ้นพระชนม์ไปครบ 3วัน

การตรึงที่กางเขนและการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์

คัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ระบุว่าการตรึงพระเยซูที่กางเขนเกิดขึ้นตอนเช้า "เมื่อเขาตรึงพระองค์ไว้นั้นเป็นเวลาเช้าสามโมง" [52] และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนในเวลาบ่าย "เวลานั้นประมาณเวลาเที่ยง ก็บังเกิดมืดมัวทั่วแผ่นดิน จนถึงบ่ายสามโมง ดวงอาทิตย์ก็มืดไป ม่านในพระวิหารก็ขาดตรงกลาง พระเยซูทรงร้องเสียงดังตรัสว่า 'พระบิดาเจ้าข้า ข้าพระองค์ฝากวิญญาณจิตของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์' ตรัสอย่างนั้นแล้วก็สิ้นพระชนม์" [53] หลังจากนั้นพระองค์เสด็จกลับฟื้นคืนพระชนม์ในวันที่ 3 "แต่เช้ามืดในวันต้นสัปดาห์ ผู้หญิงเหล่านั้นจึงนำเครื่องหอมที่เขาได้จัดเตรียมไว้มาถึงอุโมงค์ เขาเหล่านั้นเห็นก้อนหินกลิ้งพ้นจากปากอุโมงค์แล้ว และเมื่อเข้าไปมิได้เห็นพระศพของพระเยซูเจ้า" [54] "หญิงเหล่านั้นก็ไปจากอุโมงค์โดยเร็ว ทั้งกลัวทั้งยินดีเป็นอันมาก วิ่งไปบอกพวกสาวกของพระองค์ ดูเถิด พระเยซูได้เสด็จพบเขาและตรัสว่า 'จงจำเริญเถิด' หญิงเหล่านั้นก็มากอดพระบาทนมัสการพระองค์ พระเยซูจึงตรัสกับเขาว่า 'อย่ากลัวเลย จงไปบอกพวกพี่น้องของเราให้ไปยังกาลิลี จะได้พบเราที่นั่น'" [55] บุคคลที่พระเยซูทรงปรากฏให้เห็นก่อนที่จะเสด็จขึ้นสู่ฟ้าสวรรค์ ได้แก่ มารีย์ชาวมักดาลา [56], เคลโอปัสและศิษย์อีกคนหนึ่งซึ่งในพระคัมภีร์ไม่ได้ระบุชื่อ [57], สาวกทั้งสิบเอ็ดคน [58], สาวกเจ็ดคน [59] พระเยซูทรงประทับอยู่กับเหล่าสาวกราว 40 วัน และเสด็จขึ้นสวรรค์ต่อหน้าพวกเขา "เมื่อพระองค์ตรัสเช่นนั้นแล้ว พระเจ้าก็ทรงรับพระองค์ขึ้นไปต่อหน้าต่อตาเขา และมีเมฆคลุมพระองค์ให้พ้นสายตาของเขา" [60]

ทัศนะของศาสนาอื่น

ศาสนาอิสลาม

มุสลิมถือว่าอีซาไม่ใช่บุตรของพระเจ้า แต่เป็นวิญญาณหนึ่งซึ่งพระเป็นเจ้าบันดาลให้บังเกิดในครรภ์มารีย์โดยมิได้มีความสัมพันธ์กับบุรุษ

ในวัยเด็กของพระเยซู คัมภีร์อัลกุรอานเล่าเพียงช่วงที่มะลักตนหนึ่งจำแลงกายเป็นบุรุษเข้ามาพบกับมัรยัม และบอกนางว่านางจะได้บุตรโดยปราศจากบิดา เมื่อนางจะคลอดก็ได้หนีออกไปคลอดนอกเมือง ไปที่โคนต้นอินทผลัม เมื่อคลอดเสร็จแล้ว พระเป็นเจ้าทรงบันดาลให้มีตาน้ำไหลออกมาให้มัรยัมได้ดื่ม เมื่อพาบุตรกลับมา นางก็ถูกถามและกล่าวหาว่านางได้ผิดประเวณีได้บุตรไร้บิดา นางไม่ยอมพูดแต่อีซาพูดออกมาว่า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระเป็นเจ้า พระองค์ได้ประทานคัมภีร์ และแต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นนบี อัลกุรอานไม่ได้บอกเล่าชีวประวัติในวัยเด็กอีกเลย

คัมภีร์อัลกุรอานและพระวรสารนักบุญบารนาบัสได้บันทึกว่าเยซูได้แสดงปาฏิหาริย์หลายครั้ง ในจำนวนนั้นคือการรักษาคนเป็นโรคเรื้อน การชุบชีวิตคนตาย การเรียกสำรับอาหารจากฟ้า และการเป่าก้อนดินเหนียวให้เป็นสัตว์มีปีกบินได้

คัมภีร์ไบเบิลบันทึกว่าพระเยซูสิ้นพระชนม์บนกางเขนและกลับคืนพระชนม์ชีพ ในขณะที่อัลกุรอานและพระวรสารนักบุญบารนาบัสระบุว่าเยซูยังไม่ตาย ผู้ที่ถูกตรึงทีไม้กางเขนเป็นผู้อื่น พระวรสารนักบุญบารนาบัสระบุว่าผู้ที่ถูกตรึงนั้นคือเยฮูดาห์

ศาสนาบาไฮ

พระบะฮาอุลลอฮ์ ศาสดาของศาสนาบาไฮ กล่าวถึงพระเยซูว่าเป็นผู้เผยพระวจนะที่พระเป็นเจ้าทรงส่งมาเพื่อทำหน้าที่นำพาและให้ความรู้แก่มนุษย์ในยุคสมัยหนึ่ง เช่นเดียวกับผู้เผยพระวจนะท่านอื่น ๆ คือ พระกฤษณะ โมเสส ซาราธุสตรา พระพุทธเจ้า นบีมุฮัมมัด พระบาบ[61] โดยพระบะฮาอุลลอฮ์อ้างว่าตนเองคือ "พระวิญญาณแห่งความจริง" (ยอห์น 16:13) และเป็นพระคริสต์ผู้มาเป็นครั้งที่สอง "ด้วยรัศมีของพระบิดา" (มัทธิว 16:27) ตามที่พระเยซูได้ทำนายไว้[62]

ลัทธิอนุตตรธรรม

ลัทธิอนุตตรธรรมถือว่าอนุตตรธรรมเป็นรากเหง้าของทุกศาสนารวมทั้งศาสนาคริสต์ โดยพระเยซูเป็นศาสดาองค์หนึ่งที่พระแม่องค์ธรรมทรงส่งมาเพื่อโปรดเวไนยในช่วงธรรมกาลยุคแดง เช่นเดียวกับพระโคตมพุทธเจ้าและนบีมุฮัมมัด และยุคแดงได้สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1912 ปัจจุบันจึงเป็นธรรมกาลยุคขาวซึ่งมีลู่ จงอี เป็นผู้ปกครอง[63]

ลัทธิอนุตตรธรรมได้จัดพิธีกรรมหลายครั้งที่อ้างว่ามีพระเยซูมาประทับทรงเพื่อประกาศรับรองว่าลัทธิอนุตตรธรรมเป็นทางสวรรค์ที่แท้จริง ที่สำคัญเช่นปี ค.ศ. 1941 ซุน ฮุ่ยหมิง เจ้าลัทธิอนุตตรธรรมได้เชิญวิญญาณพระเยซูมาประทับทรงที่กระบะทรายเพื่อประทานพระโอวาท เนื้อความสำคัญที่ถูกถ่ายทอดคือประกาศว่าซุน ฮุ่ยหมิง เป็นพระผู้ช่วยให้รอดในยุคนี้ และให้คริสตชนนมัสการบูชาเธอยิ่งกว่าพระเยซูเอง เพราะมีเธอคนเดียวที่จะประทานความรอดให้แก่มวลมนุษย์ได้[64]

สมัญญาของพระเยซู

หมายเหตุ

  1. ไมเออร์เขียนว่าวันเกิดของพระเยซูอยู่ประมาณ 7 หรือ 6 ปีก่อนคริสตกาล[1] Rahner และแซนเดอร์ส ได้บอกว่าพระเยซูเกิดในช่วง4 ปีก่อนคริสตกาล.[2] [3]ไฟน์แกน ได้ศึกษาว่าชาวคริสต์ช่วงแรกบอกว่าพระเยซูเกิดในช่วง 3 หรือ 2 ปีก่อนคริสตกาล[4]
  2. นักวิชาการส่วนใหญ่ได้นิยามว่าพระเยซูถูกตรึงกางเขนประมาณปีค.ศ. 30 หรือ 33 [6]
  3. ตามธรรมเนียมของชาวคริสต์ มารีย์ตั้งครรภ์ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ส่วนชาวมุสลิมเชื่อว่าเธอตั้งท้องด้วยพระประสงค์ของพระเจ้า

อ้างอิง

  1. Meier, John P. (1991). A Marginal Jew: The roots of the problem and the person. Yale University Press. p. 407. ISBN 978-0-300-14018-7.
  2. Rahner 2004, p. 732.
  3. Sanders 1993, pp. 10–11.
  4. Finegan, Jack (1998). Handbook of Biblical Chronology, rev. ed. Hendrickson Publishers. p. 319. ISBN 978-1-56563-143-4.
  5. Brown, Raymond E. (1977). The birth of the Messiah: a commentary on the infancy narratives in Matthew and Luke. Doubleday. p. 513. ISBN 978-0-385-05907-7.
  6. Humphreys, Colin J.; Waddington, W. G. (1992). "The Jewish Calendar, a Lunar Eclipse and the Date of Christ's Crucifixion" (PDF). Tyndale Bulletin. 43 (2): 340. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-09-30. สืบค้นเมื่อ 2018-11-10. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |death_type= ถูกละเว้น (help)
  7. Sanders (1993).
  8. กุรอาน 9:30
  9. กุรอาน 19:27
  10. กุรอาน 43:59
  11. กุรอาน 61:6
  12. ลูกา 1:26-31
  13. มัทธิว 1:18-25
  14. ลูกา 2:1-7
  15. มัทธิว 2:13-15
  16. มัทธิว 2:19-23
  17. มัทธิว 3:13-17
  18. ลูกา 4:1-13
  19. มัทธิว 15:7-9
  20. มัทธิว 23:3
  21. มัทธิว 10:1-4
  22. มัทธิว 4:24-25
  23. มัทธิว 14:14
  24. มัทธิว 15:30
  25. มัทธิว 23:6-7
  26. มัทธิว 23:16-17
  27. มัทธิว 23:27-28
  28. มัทธิว 12:14
  29. มัทธิว 16:21-23, มัทธิว 17:22-23, มัทธิว 20:17-19
  30. มัทธิว 26:20-25
  31. มัทธิว 26:52-54
  32. ลูกา 23:4-5
  33. ลูกา 23:13-16
  34. มัทธิว 27:27-31
  35. มัทธิว 27:32
  36. มาระโก 15:21
  37. ลูกา 23:26
  38. ยอห์น 19:17
  39. ลูกา 23:44-46
  40. มัทธิว 27:60
  41. มัทธิว 27:65
  42. กิจการของอัครทูต1:9
  43. ลูกา 5:12-16
  44. มาระโก 8:22-26
  45. ลูกา 5:17-26
  46. มาระโก 7:31-37
  47. ลูกา 8:40-48
  48. ลูกา 8:49-56
  49. ยอห์น 6:1-14
  50. ยอห์น 2:1-11
  51. มัทธิว 14:22-33
  52. มาระโก 15:25
  53. ลูกา 23:44-46
  54. ลูกา 24:1-3
  55. มัทธิว 28:8-10
  56. มาระโก 16:9
  57. ลูกา 24:13-31
  58. ยอห์น 20:19-29
  59. ยอห์น 21:1-14
  60. กิจการของอัครทูต1:9
  61. Smith, Peter (2000). "Manifestations of God". A concise encyclopedia of the Bahá'í Faith. Oxford: Oneworld Publications. p. 231. ISBN 1-85168-184-1.
  62. Buck, Christopher (2004). "The eschatology of Globalization: The multiple-messiahship of Bahā'u'llāh revisited". ใน Sharon, Moshe (บ.ก.). Studies in Modern Religions, Religious Movements and the Bābī-Bahā'ī Faiths. Boston: Brill. pp. 143–178. ISBN 90-04-13904-4. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  63. ปฐมธรรมาจารย์แห่งธรรมกาลยุคขาว, ศุภนิมิต แปลและเรียบเรียง, กรุงเทพฯ : ส่งเสริมคุณภาพชีวิต, ม.ป.ป.
  64. Philip Clart, Jesus in Chinese Popular Sects, 2007, 1323-4

บรรณานุกรม

  • Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998.
  • Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997.
  • Sanders, E.P. The Historical Figure of Jesus. London: Allen Lane Penguin Press, 1993. ISBN 978-0-7139-9059-1

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น