การนมัสการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การนมัสการ (โปรเตสแตนต์) หรือ คารวกิจ (โรมันคาทอลิก) เป็นการบูชาพระเป็นเจ้าของคริสต์ศาสนิกชน ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “worship” มาจากภาษา Anglo-Saxon ว่า “worthscipe” หรือ “worthship” หมายถึง การตอบสนองภายในจิตใจด้วยการแสดงออกมา อันเนื่องมาจากการที่เห็นความสำคัญและคุณค่าของสิ่งนั้น หรือคนนั้น

หนังสือสดุดี บทที่ 96 ข้อ 8 กล่าวว่า “จงถวายพระสิริ ซึ่งควรแก่พระนามของพระองค์แด่พระเจ้า จงนำเครื่องบูชาและมายังบริเวณพระนิเวศของพระองค์” นั่นคือภาพในสมัยก่อนการเสด็จมากำเนิดของพระเยซูคริสต์ คนที่เห็นคุณค่าพระเจ้าจะนำเครื่องบูชามาถวายแด่พระเจ้าเป็นการนมัสการ

นมัสการในภาษาฮีบรู[แก้]

ถูกใช้ด้วยคำ 2 คำคือ

  1. Shachah (ชา-ช่า) แปลว่า ก้มกราบ หมอบราบลงกับพื้น
  2. Abodah (อะ-โบ-ด้า) แปลว่า การปรนนิบัติรับใช้ผู้ที่อยู่สูงกว่าตน แปลความว่าถ้าเรานำเอาสองคำนี้มารวมกัน คนที่นมัสการพระเจ้าก็คือ คนที่ยกชูพระเจ้าในชีวิต ให้เป็นเจ้าชีวิต มีสิทธิอำนาจสูงกว่าตนเอง และแสดงออกมาภายนอกด้วยการกราบไหว้บูชา พร้อมทั้งยอมปรนนิบัติรับใช้พระองค์

นมัสการในภาษากรีก[แก้]

มีคำหลักสองคำด้วยกันคือ

  1. Proskuneo (พอส-คูเน-โอ) แปลว่า เข้ามาอยู่ข้างหน้าเพื่อจูบที่มือ อันเป็นการแสดงถึงการยกย่องเทิดทูนบูชา
  2. Latruo (เลส-ทรู-โอ) แปลว่า ปรนนิบัติรับใช้เจ้านาย ในที่นี้จึงอาจมใช้กับพระเจ้าได้

นมัสการของคริสตชน[แก้]

มีความหมาย 2 นัยคือ

  1. เป็นท่าทีในจิตใจของเรา ที่มีความรักใคร่เทิดทูน เคารพยำเกรง
  2. เป็นการแสดงออกด้วยการรับใช้ปรนิบัติ

คริสต์ศาสนิกชนแสดงออกถึงการตอบสนองต่อพระเยซูด้วยการนมัสการ ซึ่งเป็นการแสดงความรักต่อพระองค์อย่างที่สุด