หนังสือวิวรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หนังสือวิวรณ์[1] (อังกฤษ: Book of Revelation) เป็นหนังสือเล่มที่ 27 หรือเล่มสุดท้ายในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ ซึ่งในตอนที่สี่ที่เป็นการพยากรณ์ มีหนังสือเล่มนี้เพียงเล่มเดียว

ผู้เขียนระบุชื่อของตนเองอย่างชัดเจนว่าชื่อ ยอห์น และอาศัยอยู่ที่เกาะปัทมอส คริสต์ศาสนิกชนเชื่อว่าเป็นยอห์นเดียวกับยอห์นอัครทูตและยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสาร แต่จากการศึกษาด้านวิธีการประพันธ์ เนื้อหาทางเทววิทยา และการใช้ศัพท์ ที่ทั้งสามเล่มใช้แตกต่างกัน นักวิชาการจึงลงความเห็นว่าบุคคลทั้งสามไม่ใช่คนเดียวกัน[2] จึงเรียกผู้เขียนหนังสือวิวรณ์ว่ายอห์นแห่งปัทมอสตามที่ระบุในหนังสือนั้น ยอห์นแห่งปัทมอสระบุว่าได้เขียนขึ้นขณะที่อยู่บนเกาะปัทมอส[3] อันเป็นสถานที่ซึ่งได้ถูกเนรเทศมาและได้อยู่ที่นั่นจนสิ้นชีวิต ช่วงเวลาในการเขียนพระธรรมเล่มนี้น่าจะอยู่ในราวปีค.ศ. 95

ยอห์นแห่งปัทมอสขึ้นต้นหนังสือเล่มนี้ด้วยการอธิบายก่อนเลยว่า สิ่งที่ผู้อ่านจะได้อ่านต่อไปนี้เป็น วิวรณ์ ที่พระเจ้าได้ทรงประทานแก่ พระเยซู แล้วพระเยซูได้ทรงใช้ทูตสวรรค์ให้มาสำแดงแก่ท่านอีกที[4] สไตล์ในการเขียนพระธรรมเล่มนี้แปลกกว่าเล่มอื่น ๆ กล่าวคือ เนื้อหาในพระธรรมมีสองลักษณะปนกันอยู่ มีทั้งการเขียนในลักษณะของจดหมายที่ระบุผู้รับ (หากจะนับ พบว่ามีอยู่ถึง 7 ฉบับรวมอยู่ในพระธรรมเล่มนี้) และมีทั้งการเขียนในลักษณะบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วย

ในช่วงนั้นเป็นเวลาที่จักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ และเริ่มบังคับคนที่ถูกปกครองอยู่ภายใต้อำนาจให้กราบไหว้จักรพรรดิเหมือนเป็นพระเจ้า คริสเตียนซึ่งถือว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า ไม่ใช่ซีซาร์ จึงต้องเผชิญกับอันตรายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคริสตจักรเริ่มจะหาทางออกด้วยการประณีประนอม ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ยอห์นแห่งปัทมอสจึงเขียนพระธรรมเล่มนี้ขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้คริสเตียนยืนหยัดในความเชื่อ ต่อต้านการกราบไหว้จักรพรรดิในฐานะพระเจ้า และกล่าวถึงการต่อสู้กันครั้งสุดท้ายระหว่างพระเจ้ากับซาตานใกล้จะบังเกิดขึ้นแล้ว ซาตานจะกดขี่ข่มเหงคริสเตียนหนักขึ้น แต่พวกคริสเตียนจำเป็นต้องทน แม้จะต้องสังเวยด้วยชีวิตก็ตาม เพราะในไม่ช้าเมื่อถึงเวลาที่พระเยซูเสด็จกลับมา ฝ่ายซาตานจะถูกกำจัดและประชาชนของพระเจ้าจะเข้าสู่สันติสุขนิรันดร์

เนื้อหาในหนังสือแบ่งออกได้เป็นสามส่วน ส่วนแรกเป็นจดหมายเจ็ดฉบับที่ส่งถึงคริสตจักรทั้งเจ็ดในเอเชียไมเนอร์ ส่วนที่สองเป็นการบรรยายภาพต่าง ๆ ในนิมิตของยอห์นแห่งปัทมอส เช่น การนมัสการในสวรรค์[5] และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในตอนสิ้นยุค เป็นต้น ส่วนที่สามมีเนื้อหาในเชิงหนุนน้ำใจผู้อ่าน โดยกล่าวว่าเมื่อท้องฟ้าและแผ่นดินโลกเดิมได้สูญสิ้นไปแล้ว บรรดาประชากรของพระเจ้าจะเข้าสู่วิสุทธินครใหม่ ที่จะไม่มีความตาย การร้องไห้ และความเจ็บปวดอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยการใช้สัญลักษณ์เปรียบเทียบต่าง ๆ เช่น ต้นมะกอกเทศ[6] ผู้หญิงที่มีดวงอาทิตย์เป็นอาภรณ์[7] พญานาคใหญ่สีแดง[8] หญิงแพศยาคนสำคัญ[9] หรือการบรรยายภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสวรรค์ซึ่งได้ปรากฏแก่ยอห์นแห่งปัทมอสในนิมิตก็ตาม ล้วนแต่ทำให้หนังสือเล่มนี้เข้าใจยากที่สุดในคัมภีร์ไบเบิล

มีการตีความหนังสือเล่มนี้หลายมุมมองด้วยกัน เช่น มองว่าหนังสือเล่มนี้พูดถึงช่วงเวลาของยอห์นแห่งปัทมอส เท่านั้น (Preterist) บางกลุ่มมองว่าเป็นเรื่องสิ้นยุคเท่านั้น (Futurist) อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องของคริสตจักรทั้งยุค (Historicist) กลุ่มที่สี่มองว่าเป็นเรื่องความดีชนะความชั่ว (Mythological) แม้ว่ายังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ แต่สิ่งสำคัญที่ยอห์นแห่งปัทมอสต้องการให้ผู้อ่านตระหนักคือ คริสตชนจะต้องยึดมั่นในความเชื่อ ต่อต้านความชั่ว และอดทนจนถึงเวลาที่พระเยซูเสด็จกลับมาพิพากษา หลังจากนั้นจะเป็นเวลาแห่งสันติสุข


โครงร่าง[แก้]

แตรเจ็ด

1. จดหมายเจ็ดฉบับ 1:1 - 3:22

2. เหตุการณ์ที่นำไปสู่การกลับมาของ พระเยซู 4:1 - 19:21

3. การพิพากษาครั้งสุดท้าย 20:1 - 15

4. ฟ้าสวรรค์ใหม่และโลกใหม่ 21:1 - 22:21

อ้างอิง[แก้]

  • Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998
  • Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997
  1. "หนังสือวิวรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-28. สืบค้นเมื่อ 2012-08-29.
  2. Charles R. Erdman. Revelation of John: An Exposition. Westminster, 1936, p. 467ff
  3. วิวรณ์ 1:9
  4. วิวรณ์ 1:1
  5. วิวรณ์ 4:1 - 11
  6. วิวรณ์ 11:4
  7. วิวรณ์ 12:1
  8. วิวรณ์ 12:3
  9. วิวรณ์ 17:1

ดูเพิ่ม[แก้]