อินทผลัม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อินทผลัม
Phoenix dactylifera2.jpg
ต้นอินทผลัม
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
ไม่ได้จัดลำดับ: Commelinids
อันดับ: Arecales
วงศ์: Arecaceae
สกุล: Phoenix
สปีชีส์: P.  dactylifera
ชื่อทวินาม
Phoenix dactylifera
L.

อินทผลัม [อิน-ทะ-ผะ-ลำ][1] เป็นปาล์มชนิดหนึ่ง

ลักษณะทางกายภาพ[แก้]

อินทผลัมเป็นพืชตระกูลปาล์ม มีชื่อเรียกท้องถิ่นแตกต่างกันไป อาหรับ เรียก ตัมร มลายู เรียก กุรหม่า มีหลายสายพันธุ์ มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งแบบทะเลทราย ลำต้นมีความสูงประมาณ 21–23 เมตร มีขนาดลำต้นประมาณ 30–50 เซนติเมตร มีใบติดอยู่บนต้นประมาณ 40–60 ก้าน ทางใบยาว 3–4 เมตร ใบเป็นแบบขนนก ใบย่อยพุ่งออกหลายทิศทาง ช่อดอกจะออกจากโคนใบ ผลทรงกลมรี ยาวประมาณ 2–4 เซนติเมตร ออกเป็นช่อรสหวานฉ่ำ ทานได้ทั้งผลดิบและสุก ผลจะมีสีเหลืองจนถึงสีส้มและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้มเมื่อแก่จัด ผลสุกมักจะนำไปตากแห้ง สามารถเก็บไว้เป็นเวลาหลายปี มีรสชาติหวานจัด จึงมักถูกเข้าใจผิดว่ามีการนำไปเชื่อมด้วยน้ำตาล

ในภาษาไทย คำว่าอินทผลัมเป็นคำผสมสองคำในภาษาบาลีสันสกฤต คำบาลี "อินฺท" (inda) หรือ สันสกฤต "อินฺทฺร" (indra) หมายถึง พระอินทร์ และ คำสันสกฤต "ผลมฺ" (phalam) ที่มีความหมายว่า ผลไม้ จึงได้ชื่อว่า "ผลไม้ของพระอินทร์"

การขยายพันธุ์[แก้]

การขยายพันธุ์อินทผลัมสามารถทำได้ 3 วิธี คือ

  1. จากการเพาะเม็ด
  2. จากการแยกหน่อจากต้นแม่
  3. จากเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเม็ด[แก้]

การขยายพันธุ์จากการเพาะเม็ด ปัจจุปันไม่เป็นที่นิยมใช้กันในเชิงพานิชย์เชิงฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่เพื่อผลิตผลที่มีคุณภาพ นิยมใช้วิธีนี้สำหรับขุดล้อมต้นขายเป็นปาล์มประดับมากกว่า

ข้อดี[แก้]

  • ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ต้นทุนต่ำ เจริญเติบโตได้ดี

ข้อเสีย[แก้]

  • ไม่รู้เพศ ว่าเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย อินทผลัมเป็นพืชที่ไม่สมบูรณ์เพศ การขยายพันธุ์จากการเพาะเม็ดจึงไม่สามารถ บอกได้ว่าต้นไหนเพศผู้ ต้นไหนเพศเมีย และโดยปกติอัตราส่วนต้นเพศผู้ต่อเพศเมีย อยู่ที่ประมาณ 50:50 จึงอาจจะทำให้ได้ต้นตัวผู้ที่มีมากเกินจำเป็นในสวน ต้นตัวผู้ที่เหมาะสมเพียงพอในสวนควรมีประมาณ 25% ก็เพียงพอ
  • ต้นที่เกิดขึ้นมาจะมีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันไป บางต้นอาจจะโตช้า โตเร็ว ผลโต ลักษณะทางกายภาพ จะแตกต่างกันไปบ้าง เช่น ขนาดผล สีสัน รสชาติ ฝาดมาก หวานมาก หวานน้อย จะไม่เหมือนกันทั้งหมด ควบคุมการให้ผลผลิตได้ยาก แต่ละต้นจึง ต้องตั้งชื่อเฉพาะของต้นนั้นๆ ซ้ำกันไม่ได้

ดังนั้นการปลูกด้วยวิธีนี้ จึงเหมาะกับการปลูกที่ลดต้นทุน และพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมา ใช้เวลาในการปลูกกว่าจะให้ผลผลิต ประมาณ 3 ขึ้นไป

การขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ[แก้]

การขยายพันธุ์จากการแยกหน่อปลูก เป็นการขยายพันธุ์ที่นิยมใช้กันมาช้านาน จนถึงปัจจุบัน ทั้งการขยายแปลงปลูก การค้าต้นพันธุ์ อินทผลัมเมื่อต้นอายุ 2 ปีขึ้นไปจะเริ่มสร้างหน่อ แขนงขึ้นมา รอบๆต้น มี 2 ประเภท คือหน่อดิน และ หน่ออากาศ ทั้งสองประเภทสามารถแยกขยายไปปลูกต่อได้ คล้ายๆแยกหน่อกล้วย

ข้อดี[แก้]

  • หน่อที่แยกออกมาจะมีพันธุกรรมเหมือนต้นแม่ทุกประการ ทั้งทางกายภาพ และ พันธุกรรม (เหมือนต้นแม่ทุกประการ )
  • รู้เพศชัดเจน หน่อที่แยกมาจากต้นแม่ที่เป็นเพศอะไร หน่อก็จะเป็นเพศนั้น
  • ผลผลิตที่ได้จะเหมือนกันทุกต้น ชื้อพันธุ์สามารถใช้ชื่อเดียวกันได้ ควบคุมคุณภาพได้ง่าย
  • ให้ผลผลิตได้เร็ว เพราะหน่อที่แยกมาเป็นต้นที่โต พอสมควร เมื่อฟื้นตัวสมบูรณ์ จะสามารถให้ผลผลิตได้เลย

ข้อเสีย[แก้]

  • ราคาหน่อจะสูง ต้นทุนในการปลูกจะสูงตามไปด้วย เพราะหน่อที่ออกมามีจำนวนจำกัด ไม่พอเพียงกับความต้องการ
  • ต้องดูแลเอาใจใส่ในระยะแยกที่เพิ่งแยกหน่อมาปลูก เพราะจะเกิดเป็นเชื้อรา รากเน่าโคนเน่าได้ง่าย

การขยายพันธุ์ด้วยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ[แก้]

การขยายพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยใช้หน่อจากต้นแม่พันธ์ พันธุ์แท้(พันธุ์ที่เป็นที่ยอมรับเป็นสากล) มาทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นต้นกล้าคุณภาพขึ้นมาที่เป็นทางเลือกที่แก้ปัญหาจาก การเพาะเม็ด และ การแยกหน่อ เหมาะกับการขยายพันธุ์ เชิงคุณภาพได้อย่างดียิ่ง

ข้อดี[แก้]

  • ได้ต้นที่เกิดขึ้น พันธุกรรมจะเหมือนต้นแม่พันธุ์ทุกประการ (เหมือนการแยกหน่อ)
  • รู้เพศชัดเจน เป็นต้นเพศเมีย 100% ไม่มีการกลายพันธุ์
  • สายพันธุ์ที่ได้เป็นสายพันธุ์มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอยู่แล้ว
  • ผลผลิตที่ได้จะเหมือนกันทุกต้น ชื้อพันธุ์สามารถใช้ชื่อเดียวกันได้ ควบคุมคุณภาพได้ง่าย

ข้อเสีย[แก้]

  • ราคายังคงสูงอยู่ในปัจจุบัน สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้แล้วโดยโครงงานของนิสิตปริญญาเอกที่คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นแห่งแรกในประเทศไทย แต่ยังมีจำนวนไม่มาก และต้นกล้ายังไม่สูง จึงไม่สามารถทำในเชิงพาณิชย์ได้

ประโยชน์ของอินทผลัม[แก้]

สามารถแบ่งได้ 2 ด้านใหญ่คือ

  1. ด้านคุณค่าทางโภชนาการ สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของอินทผลัม เช่น แคลเซียม ซัลเฟอร์ เหล็ก โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส แมกนีเซียม และน้ำมันโวลาไตล์ ทั้งยังอุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร ซึ่งช่วยลดอาการท้องผูก รวมถึงให้พลังงานสูง บำรุงร่างกายที่อ่อนล้าให้กลับมีกำลัง นอกจากนี้ยังสามารถบำรุงกล้ามเนื้อมดลูกและสร้างน้ำนมแม่ด้วย
  2. ด้านการรักษาโรค อินทผลัมช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงสายตา ลดความหิว แก้กระหาย แก้โรควิงเวียนศีรษะ ช่วยลดเสมหะในลำคอ ทำให้กระดูกแข็งแรง นอกจากนี้ยังฆ่าเชื้อโรค พยาธิและสารพิษที่ตกอยู่ในลำไส้และระบบทางเดินอาหาร มีฤทธิ์ในการกำจัดสารพิษและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอันเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งในช่องท้อง

ในทางศาสนาอิสลาม[แก้]

ในทางศาสนาอิสลาม นบีมุฮัมมัด ศาสดาได้สอนว่า ผู้ใดที่จะลดศีลอดให้รับประทานอาหารมื้อแรกด้วยอินทผลัมและน้ำบริสุทธิ์ เนื่องจากในอินทผลัมมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์จำนวนมากต่อร่างกาย จึงเหมาะอย่างมากกับผู้ที่อดอาหารมาเป็นระยะเวลานาน

อ้างอิง[แก้]

  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้สะกดคำนี้ว่า อินทผลัม

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ อินทผลัม ที่วิกิสปีชีส์