ฟาริสี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฟาริสี เป็นขบวนการทางสังคมและการเมืองในศาสนายูดาห์สมัยพระวิหารที่สอง หลังจากกรุงเยรูซาเลมถูกทหารโรมันยึดครองในปี ค.ศ. 70 วิถีของชาวฟาริสีได้กลายเป็นพื้นฐานของศาสนายูดาห์แบบรับบีในเวลาต่อมา

ชาวฟาริสีมีปัญหาขัดแย้งในเรื่องสังคมและศาสนากับชาวสะดูสีมายาวนาน และรุนแรงขึ้นในสมัยที่จักรวรรดิโรมันเข้าครอบครอง[1] ในด้านวัฒนธรรมชาวฟาริสีต่อต้านวัฒนธรรมกรีก จึงขัดแย้งกับชาวสะดูสีที่เป็นฝ่ายสนับสนุน โยเซพุสคาดคะเนว่าก่อนที่พระวิหารที่สองจะถูกทำลาย มีฟาริสีอยู่ราว 6 พันคน[2] และอ้างว่าได้รับการอุปถัมภ์อย่างดีจากสามัญชน ต่างจากชาวสะดูสีที่เป็นพวกชนชั้นสูง นอกจากนี้ชาวฟาริสียังอ้างว่าตนมีอำนาจหน้าที่แท้จริงในการวินิจฉัยตีความกฎหมายยิว

ชาวฟาริสีเชื่อเรื่องทูตสวรรค์ วันสิ้นโลก เมสสิยาห์เชื้อสายดาวิด และเชื่อว่าผู้ชอบธรรมจะมีชีวิตนิรันดร์ในสวรรค์ ส่วนคนบาปจะถูกลงโทษนิรันดร์ในนรก[3]

นอกจากนี้คัมภีร์พันธสัญญาใหม่ยังกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างชาวฟาริสีกับยอห์นผู้ให้บัพติศมาและพระเยซู แต่ฟาริสีที่เป็นมิตรกับคริสตชนก็มี เช่น กามาลิเอล และเปาโลอัครทูตซึ่งเคยเบียดเบียนคริสตชนมาก่อน

อ้างอิง[แก้]

  1. Jewishvirtuallibrary.org
  2. Josepheus. The Antiquities of the Jews. p. 17.42.
  3. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2552. 734 หน้า. หน้า 423. ISBN 978-616-7073-03-3