เขื่อนคิรีธาร
เขื่อนคิรีธาร | |
---|---|
เขื่อนคิรีธาร | |
ชื่อทางการ | โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ที่ตั้ง | อำเภอขลุง และ อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี |
พิกัด | 12°44′40″N 102°20′46″E / 12.7444°N 102.3461°E |
วัตถุประสงค์ | เขื่อนอเนกประสงค์ |
เริ่มก่อสร้าง | 24 เมษายน พ.ศ. 2527 |
เปิดดำเนินการ | 21 มิถุนายน พ.ศ. 2531 |
งบก่อสร้าง | 515.099 ล้านบาท |
เจ้าของ | กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน |
เขื่อนและทางน้ำล้น | |
ปิดกั้น | ห้วยสะพานหิน |
ความสูง | 33 เมตร (108 ฟุต) |
ความยาว | 1,337.5 เมตร (4,388 ฟุต) |
ชนิดของทางน้ำล้น | ฝายน้ำล้น |
ความจุของทางน้ำล้น | 250 ลบ.ม./วินาที |
อ่างเก็บน้ำ | |
อ่างเก็บน้ำ | เขื่อนดิน |
ปริมาตรกักเก็บน้ำ | 75.8 ล้าน ลบ.ม. |
พื้นที่กักเก็บน้ำ | 8.9 ตารางกิโลเมตร |
โรงไฟฟ้า | |
พิกัด | 12°45′17″N 102°18′27″E / 12.7548°N 102.3074°E |
ผู้ดำเนินการ | กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน |
วันที่เริ่มดำเนินการ | 4 ธันวาคม พ.ศ. 2529 |
ไฮดรอลิกเฮด | 125 เมตร |
กังหันน้ำ | 2 × แบบฟรานซิสแกนนอน |
กําลังการผลิตติดตั้ง | 2 × 6,100 กิโลวัตต์ |
กำลังผลิตรายปี | 12,200 กิโลวัตต์ |
เขื่อนคิรีธาร[a] หรือ เขื่อนสะพานหิน[1] เป็นเขื่อนดินอเนกประสงค์ สำหรับกักเก็บน้ำไว้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ การชลประทาน และการประมง
เขื่อนคิรีธารมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร อยู่ภายใต้ความดูแลของ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน[2] ส่วนของเขื่อนตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ่อเวฬุ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี และส่วนโรงไฟฟ้าพลังน้ำตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลปัถวี อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
เขื่อนคิรีธาร มักถูกเขียนผิดเป็น เขื่อนคีรีธาร คำว่าคิ จากสระ อิ เป็นสระ อี ซึ่งผิดไปจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานให้ไว้[a]
ประวัติ
[แก้]จุดเริ่มต้น
[แก้]โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร แต่เดิมใช้ชื่อว่า โครงการห้วยสะพานหิน เป็นโครงการสำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำอเนกประสงค์ขนาดกลางของสำนักงานพลังงานแห่งชาติ (ปัจจุบันคือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า การประมง การเกษตร การป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำ และเป็นแหล่งน้ำจืดสำหรับใช้อุปโภคบริโภคในเขตเทศบาลเมืองจันทบุรี[3]
จังหวัดจันทบุรีในขณะนั้น ตั้งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดประมาณ 300 กิโลเมตร ถึงแม้จะมีการส่งไฟฟ้าผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูงก็ตาม แต่กระแสไฟฟ้าที่ส่งมาก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด ไม่เพียงพอต่อการเติบโตและความต้องการใช้งานไฟฟ้าของทั้งภาคเศรษฐกิจและประชาชนในพื้นที่ รวมถึงจากระยะห่างที่มาก ทำให้ระบบไฟฟ้านั้นขาดความมั่นคงในทางทฤษฎี เนื่องจากหากระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงมีปัญหาจะไม่สามารถจ่ายไฟในพื้นที่ได้ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง โครงการดังกล่าวจึงเป็นการตอบสนองในการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและใกล้เคียง[3]
ในขณะที่ปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ในฤดูแล้งก็เป็นอีกปัญหา แม่น้ำที่เคยเป็นแหล่งน้ำจืดเมื่อถึงฤดูแล้งกลับมีน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ประสบปัญหาน้ำเค็มไหลย้อนกลับ ก่อความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ใช้น้ำอันเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดสำหรับดูแลพืชผลทางการเกษตร รวมถึงทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำจืดสำหรับผลิตน้ำประปาในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองจันทบุรี ทำให้ต้องขนส่งน้ำจืดจากแหล่งอื่นมาใช้งานหรือใช้น้ำจากแหล่งน้ำตื้นในพื้นที่ เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ทำให้รัฐบาลขณะนั้นตัดสินใจก่อสร้างโครงการห้วยสะพานหินขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำจำนวน 76 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ข้างต้น[3]
สำรวจศึกษา
[แก้]จากการสำรวจด้านอุทกวิทยาและอุตุนิยมวิทยาของลำน้ำสายต่าง ๆ ในจังหวัดจันทบุรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 ของสำนักงานพลังงานแห่งชาติ พบว่าปริมาณน้ำผิวดินมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลเสียหายต่อด้านการเกษตรและแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค จึงได้มีการสำรวจพื้นที่และภูมิประเทศของห้วยสะพานหินในปี พ.ศ. 2517 พบว่าบริเวณดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ รวมถึงได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้แผนจัดการโคลัมโบในการพัฒนาแหล่งน้ำบริเวณห้วยสะพานหิน ระหว่างปี พ.ศ. 2519 - 2521 โดยทางการญี่ปุ่นได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานพลังงานแห่งชาติในการทำรายงานความเหมาะสม ซึ่งกลายมาเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาในลำดับต่อมา[3]
ในช่วง พ.ศ. 2521 - 2524 ได้เกิดภัยความแห้งแล้งอย่างมากในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2523 ไม่มีฝนตกลงมาเลยเป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่งผลเสียหายให้กับพื้นที่ทางการเกษตรของเกษตรกรมากกว่าแสนไร่ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนก็ได้รับผลกระทบ จึงได้มีการผลักดันจากหน่วยงานในพื้นที่นำโดยกระทรวงมหาดไทยให้มีการก่อสร้างโครงการห้วยสะพานหินขึ้นมาเป็นการเร่งด่วน จนโครงการได้รับความเห็นชอบให้ก่อสร้างเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการห้วยสะพานหิน[3]
การก่อสร้าง
[แก้]ตัวโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ของอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ตัวเขื่อนอยู่ในพิกัดเส้นรุ้ง 12 องศา 45 ลิปดาเหนือ เส้นแวง 102 องศา 21 ลิปดาตะวันออก (12°45′N 102°21′E / 12.750°N 102.350°E) ห่างจากตัวจังหวัดจันทบุรีไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 35 กิโลเมตร ผ่านเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 317 บริเวณกิโลเมตรที่ 19 เข้าไปทางตะวันออก 7 กิโลเมตร โดยที่ตั้งของเขื่อนเดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาสอยดาว โดยโครงการประกอบไปด้วยเขื่อนดินความสูง 33 เมตร สำหรับปิดกั้นลำน้ำห้วยสะพานหิน ซึ่งอยู่ตอนเหนือของบ้านห้วยสะพานหินประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งคำนวณว่าจะได้ปริมาณน้ำกักเก็บจำนวน 76 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยน้ำจะถูกผันผ่านอุโมงค์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปยังห้วยทับนคร ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำจันทบุรี โดยจากการผันน้ำดังกล่าวจะทำให้มีความแตกต่างระหว่างระดับน้ำในตัวเขื่อน และน้ำในท้องน้ำของห้วยทับนครประมาณ 125 เมตร สามารถใช้ไฮดรอลิกเฮดดังกล่าวในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำได้ 12,200 กิโลวัตต์ เฉลี่ยปีละ 27 ล้านกิโลวัตต์ เมื่อน้ำผ่านกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วก็จะไหลลงไปสู่แม่น้ำจันทบุรีและใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ได้ต่อไป[3]
การออกแบบโครงการ ได้ว่าจ้าบริษัทที่ปรึกษาคือ บริษัท National Engineering Consultants Co. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศไทย ร่วมกับบริษัท Snowy Mountains Engineering Corporation จากประเทศออสเตรเลีย ดำเนินการออกแบบรายละเอียดต่าง ๆ สัญญากำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีภายใต้งบประมาณ 17.5 ล้านบาท และได้ดำเนินการส่งงานเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2525 และได้เตรียมงบประมาณสำหรับก่อสร้างในช่วงต้นงบประมาณปี 2525 และขอเข้าดำเนินการทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติกับกรมป่าไม้ ก่อสร้างอาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกในการก่อสร้าง เช่น ถนนเข้าหัวงาน ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ดำเนินการโดยสำนักงานพลังงานแห่งชาติ เสร็จสมบูรณ์ช่วงปลายปีงบประมาณ 2526 งบประมาณ 11.91 ล้านบาท และว่าจ้างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยให้ทำหน้าที่บริษัทที่ปรึกษาในการควบคุมการก่อสร้างทั้งในส่วนของเขื่อน อาคารประกอบ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ภายใต้วงเงิน 16.94 ล้านบาท[3]
การก่อสร้างในส่วนของเขื่อน ได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2527 ดำเนินการโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งประกวดราคาและได้รับการคัดเลือกด้วยวงเงิน 162.29 ล้านบาท มีระยะเวลาในการก่อสร้าง 859 วัน ประกอบด้วยงานก่อสร้างเขื่อนดิน คันดินกั้นน้ำ ทางผันน้ำ ทางระบายน้ำล้น และถนนความยาว 21 กิโลเมตร โดยบริษัทได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2529 ส่วนของโรงไฟฟ้าได้มีการลงนามก่อสร้างเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2526 ดำเนินการโดยบริษัทเดียวกันกับการก่อสร้างเขื่อน ประกวดราคาได้ในวงเงิน 103.57 ล้านบาท ประกอบด้วยงานก่อสร้างทางรับน้ำ อาคารรับน้ำ อุโมงค์ผันน้ำ ถังระบายความดัน ท่อเหล็กสำหรับส่งน้ำ อาคารโรงไฟฟ้าบริเวณท้ายน้ำ และถนนความยาว 2.9 กิโลเมตร ก่อสร้างเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2529[3]
การก่อสร้างและจัดหาในส่วนของระบบไฟฟ้า ได้มีการประกวดราคาจัดซื้อเครื่องกังหันน้ำ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าย่อย ลานไกสวิทซ์ และอุปกรณ์เกี่ยวข้องอื่น ๆ ซึ่งผู้ชนะการประกวดราคาคือ บริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด ในราคา 130.0 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 1,100 วัน เริ่มต้นลงนามในสัญญาวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2526 และแล้วเสร็จในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2529 พร้อมทั้งก่อสร้างและวางระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 115 กิโลโวลต์ ตัวเสารับสายส่งโครงสร้างเหล็กอาบสังกะสี ระยะทาง 23.8 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างโรงไฟฟ้าห้วยสะพานหินกับสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยบริเวณบ้านหนองหว้า อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยผู้ชนะการประกวดราคาคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จารุภัณฑ์ก่อสร้าง ในวงเงิน 10.55 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 800 วัน และได้ส่งมอบงานเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2528[3] [1] ซึ่งโดยภาพรวม โครงการห้วยสะพานหินใช้งบประมาณการก่อสร้างไปทั้งสิ้น 515.099 ล้านบาท[3]
พิธีเปิด
[แก้]โครงการห้วยสะพานหิน ได้ประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2531 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราขกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิด[4] และได้พระราชทานชื่อใหม่ให้กับโครงการว่า "โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนคิรีธาร" และได้มีพระราชดำริให้ดำเนินการโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล (คือเขื่อนทุ่งเพล และเขื่อนบ้านพลวง) โดยตรัสกับนางศิริพร ไศละสูต อดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานว่า[5]
เมื่อถวายรายงานว่า หลังจากนี้กรมจะสร้างฝายยางเพื่อกั้นน้ำและปล่อยน้ำไปช่วยทางจังหวัดตราดพระองค์รับสั่งว่า "ยังไม่วิกฤติ ยังน้อย คนที่ต้องช่วยเขาก่อนจะอยู่ทางด้านทุ่งเพล เพราะขาดน้ำมากกว่า"...[5]
แสดงให้เห็นถึงสายพระเนตรที่ยาวไกลและมองถึงปัญหาต่าง ๆ ของประชาชนที่เร่งต้องแก้ไขในขณะนั้น[5]
คุณสมบัติ
[แก้]เขื่อนคิรีธาร หรือ โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำคิรีธาร เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอเนกประสงค์ขนาดกลางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งอยู่ในกลุ่มของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก[6] มีพื้นที่รองรับน้ำฝน 45 ตารางกิโลเมตร รองรับปริมาณน้ำสูงสุดได้ 124 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ต่ำสุด 74 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ปริมาณน้ำเฉลี่ย 97 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี[3] โดยตัวเขื่อนจ่ายน้ำสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าไปยังโรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธารผ่านอุโมงค์ และจ่ายน้ำลงไปยังห้วยทับนคร ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำจันทบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต่ำกว่า มีระดับน้ำที่ต่างกัน 125 เมตร ซึ่งมีความเหมาะสมในการเดินกังหันผลิตกระแสไฟฟ้า[7] โดยตัวเขื่อนมีรายละเอียด ดังนี้
อ่างเก็บน้ำ
[แก้]เขื่อนคิรีธาร สามารถกักเก็บน้ำที่ระดับความสูงสูงสุด 205 ม.รทก. กักเก็บปริมาณน้ำสูงสุดได้ 75.8 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างสูงสุด 8.9 ตารางกิโลเมตร มีระดับน้ำกักเก็บความสูงต่ำที่สุด 197.8 ม.รทก. กักเก็บปริมาณน้ำต่ำสุดได้ 24.8 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างต่ำสุด 4.4 ตารางกิโลเมตร[3]
เขื่อน
[แก้]เขื่อนคิรีธาร เป็นเขื่อนดินแบบถมบดอัดแน่น มีสันเขื่อนความยาว 1337.50 เมตร มีความสูงจากท้องน้ำ 33 เมตร สันเขื่อนอยู่ที่ระดับความสูง 209 ม.รทก. ปริมาตรเขื่อนคือ 1,420,000 ลูกบาศก์เมตร[8][3]
คันดินกั้นน้ำ
[แก้]เขื่อนคิรีธาร ประกอบด้วยคันดินกั้นน้ำแบบดินถมบริเวณช่องเขา จำนวน 2 แห่ง คันดินมีความสูง 7 เมตร และ 13 เมตร ความยาวของคันดิน 164 เมตร และ 343.5 เมตร ตามลำดับ[3]
ทางน้ำล้น
[แก้]เขื่อนคิรีธาร มีทางน้ำล้นแบบฝายน้ำล้น ความกว้างของทางน้ำล้น 50 เมตร ระดับสันของฝาย 205 ม.รทก. ระบายน้ำได้สูงสุด 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่ระดับความสูง 207.2 ม.รทก.[3]
ทางรับน้ำ
[แก้]เขื่อนคิรีธาร มีทางรับน้ำแบบรางดินที่หินเรียงด้านข้าง ความกว้าง 4 เมตร มีความลาดชันด้านข้าง 3:1 มีความยาว 1,000 เมตร[3]
อาคารรับน้ำ
[แก้]เขื่อนคิรีธาร มีอาคารรับน้ำแบบหอคอยอิสระ ใช้ประตูน้ำชนิดล้อเลื่อน มีขนาดกว้าง 2.61 เมตร สูง 2.75 เมตร[3]
อุโมงค์ผันน้ำ
[แก้]เขื่อนคิรีธาร มีอุโมงค์ผันน้ำแบบคอนกรีตรับแรงดันรูปเกือกม้า เส้นผ่าศูนย์กลางภายในกว้าง 2.4 เมตร สูง 2.2 เมตร มีความยาว 731.87 เมตร มีถังระบายความดันแบบถังคอนกรีตระบายความดันใต้ดิน ผ่านผ่านศูนย์กลางภายใน 4 เมตร ความสูง 44 เมตร[3]
ท่อส่งน้ำ
[แก้]เขื่อนคิรีธาร มีท่อส่งน้ำแบบท่อเหล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางภายใน 2.2 ถึง 1.2 เมตร มีความยาว 467.11 เมตร ลำเลียงน้ำเข้าสู่โรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร[3]
ทางท้ายน้ำ
[แก้]เขื่อนคิรีธาร มีทางท้ายน้ำแบบคลองเปิดคอนกรีต ความกว้างของฐาน 7 เมตร มีความลาดชันด้านข้าง 2.5:1 มีความยาว 430 เมตร รับน้ำออกจากระบบผลิตไฟฟ้าภายในโรงไฟฟ้าคิรีธารจ่ายเข้าสู่ลำห้วยทับนคร[3]
ระบบชลประทาน
[แก้]เขื่อนคิรีธาร มีพื้นที่ชลประทานซึ่งจ่ายน้ำด้วยระบบสถานีสูบน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 35,000 ไร่[3]
การผลิตไฟฟ้า
[แก้]โรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร ปัจจุบันมีการเซ็นสัญญาผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในประเภทของ ผู้ผลิตเอกชนขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตตามสัญญาคือ 12,200 กิโลวัตต์ (12.20 เมกะวัตต์)[9] ผลิตกระแสไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 27 ล้านกิโลวัตต์[8] ประกอบไปด้วยรายละเอียด ดังนี้
อาคารโรงไฟฟ้า
[แก้]โรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร มีตัวอาคารรูปแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความกว้าง 26 เมตร ความยาว 42 เมตร และความสูง 15 เมตร[3]
เครื่องกังหันน้ำ
[แก้]โรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร ประกอบไปด้วยเครื่องกังหันน้ำแบบฟรานซิลแกนนอน ขนาด 8,512 แรงม้า ปริมาณน้ำ 5.7 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 2 ชุด[3]
เครื่องกำเนิดไฟฟ้า
[แก้]โรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบซิงโครนัสกระแสสลับ 3 เฟส ขนาด 7,800 กิโลวัตต์แอมแปร์ แรงดันไฟฟ้า 6,600 โวลท์ ความเร็วรอบ 500 รอบต่อนาที จำนวน 2 ชุด[3] กำลังผลิตติดตั้งชุดละ 6,100 กิโลวัตต์ กำลังรวม 12,200 กิโลวัตต์ เริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2529[10]
สายส่งไฟฟ้าแรงสูง
[แก้]โรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร ใช้สายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงระบบระหว่างโรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธารกับสถานีย่อยจันทบุรี มีระยะทาง 23.8 กิโลเมตร แรงดันไฟฟ้า 115 กิโลโวลท์ โดยมีโครงสร้างเสาไฟฟ้าแบบโครงเหล็กชุบสังกะสี[3]
การท่องเที่ยว
[แก้]เขื่อนคิรีธาร เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดจันทบุรี ด้วยทิวทัศน์ที่สวยงามของตัวเขื่อนและธรรมชาติโดยรอบ เนื่องจากมีภูเขาโอบล้อมจากสามด้าน[11] เหมาะกับการเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจบริเวณริมเขื่อน ภายในตัวเขื่อนมีลักษณะเป็นเกาะแก่ง เมื่อถึงช่วงเวลาน้ำลด นักท่องเที่ยวมักจะลงไปตั้งเต็นท์บริเวณรอบ ๆ เขื่อนเพื่อชมความงามของธรรมชาติ และทำกิจกรรมตกปลา ซึ่งตัวเขื่อนมีจุดประสงค์สำหรับกักเก็บน้ำในด้านเกษตรกรรมและผลิตกระแสไฟฟ้า จึงไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากนัก[7] และมีถนนวนรอบอ่างเก็บน้ำของเขื่อนระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตร เป็นถนนแอสฟอลต์คอนกรีต สลับกับถนนลูกรัง นักท่องเที่ยวนิยมปั่นจักรยานรอบเขื่อน[11]
เขื่อนคิรีธารมีสวนสาธารณะอยู่ในบริเวณของเขื่อนคือ สวนห้วยสะพานหินจันทบุรี (เขื่อนพลังน้ำคิรีธาร) อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลบ่อเวฬุ ซึ่งพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมชมเขื่อนคิรีธาร ประกอบไปด้วยจุดชมวิว ศาลาพักผ่อน ลานกางเต็นท์ ห้องน้ำ และลานจอดรถ[12]
ผลกระทบ
[แก้]เนื่องจากตัวโครงการนั้นมีการก่อสร้างครอบคลุมไปยังที่ดินกรรมสิทธิ์ของเอกชนและราษฎรในพื้นที่ สำนักงานพลังงานแห่งชาติและจังหวัดจันทบุรีจึงได้ดำเนินการจ่ายค่าทดแทนให้กับราษฎรที่มีสิทธิได้รับการชดเชยเป็นเงินจำนวน 33.25 ล้านบาท โดยที่ทางราชการไม่ต้องจัดหาที่ทำกินใหม่ให้เพื่อชดเชย[3]
ในขณะที่ผลการศึกษาคุณภาพแหล่งน้ำหลังจากการก่อสร้างเขื่อนคิรีธารในปี พ.ศ. 2540 พบว่าคุณภาพน้ำหลังจากผ่านกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วนั้นมีคุณภาพที่ไม่แตกต่างจากก่อนผ่านกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งหากเปรียบเทียบกับมาตรฐานแล้วนั้นน้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้ามาแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ยังมีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้งานในการอุปโภคบริโภค การใช้งานในภาคการเกษตร และการประมง[13]
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 สะกดตามชื่อเดิมที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ คิรีธาร (คิ สะกดด้วย สระอิ) ซึ่งปัจจุบันหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี กรมศิลปากร ออกมาระบุว่ามีการใช้งานกันผิดอย่างแพร่หลายเป็น คีรีธาร (คี สะกดด้วย สระอี) ซึ่งไม่ถูกต้อง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "คิรีธาร - หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี". www.finearts.go.th.
- ↑ "องคมนตรี ไปติดตามการดำเนินงานโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร จังหวัดจันทบุรี". สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2023.
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 3.18 3.19 3.20 3.21 3.22 3.23 3.24 3.25 สำนักงานพลังงานแห่งชาติ. "ที่ระลึกเนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำห้วยสะพานหิน" (PDF). e-lib.dede.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 1 พฤษภาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2023.
- ↑ "มั่นใจ เอกสารเก่าล้ำค่าจันทบุรี ขึ้นแท่นเป็นมรดกความทรงจำโลกได้". Thai Post.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 "ประวัติความเป็นมา - โครงการในพระราชดำริ พลังงานชีวภาพ : พลังแห่งพระปรีชาญาณ". www.eppo.go.th.
- ↑ กระทรวงพลังงาน, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน. "โครงการด้านพัฒนาพลังงานทดแทน : โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก" (PDF). e-lib.dede.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2023.
- ↑ 7.0 7.1 "เขื่อนคีรีธาร". thai.tourismthailand.org.
- ↑ 8.0 8.1 ทิพย์โพธิ์, ชยพัทธ์ (2021). "รูปแบบกระบวนการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการเขื่อนที่ใช้งานไม่ได้". dspace.spu.ac.th. มหาวิทยาลัยศรีปทุม. p. 83.
- ↑ "กำลังผลิตโรงไฟฟ้าเอกชน เดือนมีนาคม 2566" (PDF). www.egat.co.th. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย.
- ↑ อนันตศาสนต์, อนุชา. "โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ" (PDF). สำนักพัฒนาพลังงานทดแทน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-05-02. สืบค้นเมื่อ 2023-05-03.
- ↑ 11.0 11.1 "เขื่อนคีรีธาร จันทบุรี - จุดพักผ่อนปิกนิก กางเต็นท์ บริเวณอ่างเก็บน้ำ". www.ceediz.com.
- ↑ "ประกาศเทศบาลตำบลบ่อเวฬุ เรื่องประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสวนห้วยสะพานหินจันทบุรี (เขื่อนคีรีธาร) หมู่ที่ 3 โดยปรับปรุงซ่อมแซมศาลา ห้องน้ำ และปรับปรุงภูมิทัศน์ เทศบาลตำบลบ่อเวฬุ". www.borwenlocal.go.th.
- ↑ เสนาลักษณ์, สุวิมล (1997). "ผลกระทบต่อคุณภาพน้ำจากการใช้น้ำของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร จังหวัดจันทบุรี". kukr.lib.ku.ac.th.