แมวดาว
แมวดาว | |
---|---|
แมวดาวอินเดีย (P. b. bengalensis) | |
แมวดาวอามูร์ (P. b. euptilura) ทั้งสองตัวอยู่ในParc des Félins | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม Mammalia |
อันดับ: | สัตว์กินเนื้อ Carnivora |
อันดับย่อย: | เฟลิฟอเมีย Feliformia |
วงศ์: | เสือและแมว Felidae |
วงศ์ย่อย: | แมว Felinae |
สกุล: | สกุลแมวดาว Prionailurus (Kerr, 1792) |
สปีชีส์: | Prionailurus bengalensis |
ชื่อทวินาม | |
Prionailurus bengalensis (Kerr, 1792) | |
แผนที่แสดงที่อยู่อาศัยของแมวดาวใน ค.ศ. 2015[1] |
แมวดาว (อังกฤษ: leopard cat; ชื่อวิทยาศาสตร์: Prionailurus bengalensis) เป็นแมวป่าขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในเอเชียใต้ ตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออก บัญชีแดงไอยูซีเอ็นจัดให้อยู่ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์มาตั้งแต่ ค.ศ. 2002 เนื่องจากมีการกระจายอย่างกว้างขวางแม้ว่าจะถูกคุกคามจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและการล่าสัตว์ในบางพื้นที่[1]
ในอดีต แมวดาวในเอเชียภาคพื้นทวีปถือเป็นสัตว์ชนิดเดียวกันกับแมวป่าซุนดา ต่อมาใน ค.ศ. 2017 แมวป่าซุนดาได้รับการจัดเป็นชนิดต่างหาากภายใต้ชื่ออนุกรมวิธาน Prionailurus javanensis[2]
ชนิดย่อยของแมวดาวมีสีขน ความยาวหาง รูปร่างกะโหลก และขนาดฟันกรามที่หลากหลาย[3] หลักฐานทางโบราณคดีระบุว่าแมวดาวเป็นแมวชนิดแรกที่ถูกปรับเป็นสัตว์เลี้ยงในจีนยุคหินใหม่ประมาณ 5,000 ปีที่แล้วในมณฑลฉ่านซีและมณฑลเหอหนาน[4]
ลักษณะทั่วไป
[แก้]แมวดาวเป็นแมวป่าที่พบได้ง่ายที่สุดในเมืองไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดเล็กใกล้เคียงแมวบ้าน แต่ขายาวกว่าเล็กน้อย มีลายจุดทั่วทั้งตัว สีลำตัวต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ มีตั้งแต่สีเทาซีด น้ำตาล เหลืองทอง จนถึงสีแดง ด้านใต้ลำตัวสีขาว จุดข้างลำตัวเป็นจุดทึบหรือเป็นดอก ส่วนบริเวณขาและหางเป็นจุดทึบ มีเส้นดำหลายเส้นพาดขนานกันตั้งแต่หน้าผากจนถึงท้ายทอยและเริ่มขาดท่อนกลายเป็นจุดรี ๆ ที่บริเวณหัวไหล่ บางตัวมีเส้นยาวนี้พาดยาวตลอดแนวสันหลัง มีแถบสีขาว 2 แถบและแถบดำ 4 แถบพาดจากหัวตาไปที่หู ขนมีความยาวต่างกันตามเขตที่อยู่ พันธุ์ที่อาศัยอยู่ทางเหนือจะมีขนยาวและแน่นกว่าพันธุ์ที่อยู่ทางใต้ หัวค่อนข้างเล็ก กรวยปากแคบและสั้น คางสีขาว มีแต้มสีขาวที่มีแถบสีดำแคบ ๆ ล้อมรอบที่บริเวณแก้ม ม่านตาลึก หูยาวและมน ขอบหูดำและกลางหลังหูสีขาว หางด้านบนมีลายจุด ปลายหางสีเนื้อ ส่วนใกล้ปลายหางเป็นปล้องที่ไม่ชัดนัก แมวดาวตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมีย
การจำแนก
[แก้]ในปี ค.ศ. 2009 มีการจำแนกชนิดย่อยของแมวดาวไว้ดังนี้[1][5]
- P. b. bengalensis (Kerr, 1792) — พบในอินเดีย, บังกลาเทศ, พม่า, ไทย, คาบสมุทรมลายู, อินโดนีเซีย และมณฑลยูนนานในประเทศจีน;[6]
- P. b. javanensis (Desmarest, 1816) — พบบนเกาะชวา และเกาะบาหลี;[3]
- P. b. sumatranus (Horsfield 1821) — พบบนเกาะสุมาตรา และเตบิงติงกิ;[3]
- P. b. chinensis (Gray 1837) — พบบนเกาะไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่ ยกเว้นมณฑลยูนนาน;[6]
- P. b. horsfieldi (Gray 1842) — พบในรัฐชัมมูและกัศมีร์, รัฐปัญจาบ, คูมอน, เนปาล, รัฐสิกขิม และภูฏาน;[6]
- แมวดาวอามูร์, P. b. euptilurus/euptilura (Elliott 1871) — พบในภาคตะวันออกของไซบีเรีย, แมนจูเรีย, คาบสมุทรเกาหลี[6] และบนเกาะสึชิมะ;[7]
- P. b. borneoensis (Brongersma 1936) — พบบนเกาะบอร์เนียว;[3]
- P. b. trevelyani (Pocock 1939) — พบในตอนเหนือของแคชเมียร์ และปัญจาบ และทางตอนใต้ของบาลลูชิตสถาน;[6]
- P. b. alleni (Sody, 1949) — พบบนเกาะไหหลำ;
- แมวอิริโอะโมะเตะ, P. b. iriomotensis (Imaizumi, 1967) — พบเฉพาะบนเกาะอิริโอะโมะเตะ ซึ่งเป็นเกาะหนึ่งของหมู่เกาะริวกิว ในหมู่เกาะญี่ปุ่น;[8]
- P. b. heaneyi (Groves 1997) — พบบนเกาะปาลาวันในหมู่เกาะฟิลิปปิน[3]
- แมวดาววิซายัน, P. b. rabori (Groves 1997) — พบบนเกาะเนกรอส, ซีบู, และพาเนย์ในหมู่เกาะฟิลิปปิน[3]
แมวอิริโอโมเตะนั้นเคยถูกจัดเป็นแมวชนิดหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับแมวดาว นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 แต่จากการวิเคราะห์ไมโตคอนเดรียดีเอ็นเอในช่วงทศวรรษที่ 1990 พบว่าเป็นชนิดย่อยหนึ่งของแมวดาว[1][9]
ถิ่นที่อยู่อาศัย
[แก้]แมวดาวเป็นแมวป่าในเอเชียที่มีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางที่สุดชนิดหนึ่ง พบใน 21 ประเทศตั้งแต่ตะวันตกของปากีสถาน ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงตะวันออกของเกาะชวา บอร์เนียว และกลางหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และเหนือสุดถึงแมนจูเรีย
แมวดาวอาศัยได้ในพื้นที่หลายชนิด เช่นป่าละเมาะ ที่ราบกึ่งทะเลทราย ป่าชั้นสอง ป่าทึบ และพื้นที่เพาะปลูก ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมักพบตามป่าสน โดยเฉพาะป่าเปิดที่มีไม้ล้มจำนวนมาก แมวดาวค่อนข้างชอบป่าชั้นสองมากกว่าป่าดึกดำบรรพ์ ทนการรบกวนจากมนุษย์ได้ดี จึงพบได้แม้ในป่าที่มีการทำไม้ บริเวณใกล้หมู่บ้าน และพื้นที่การเกษตรอย่างสวนยาง สวนปาล์ม หรือไร่กาแฟ ชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ไม่ชอบอาศัยในพื้นที่ที่มีหิมะปกคลุมหนาเกินกว่า 10 เซนติเมตร และไม่พบในทุ่งหญ้าสเต็ปป์ที่หนาวเย็น และไม่ชอบที่ ๆ แห้งแล้งมาก ๆ อยู่ได้ตั้งแต่ที่ราบต่ำจนถึงบนเทือกเขาหิมาลัยที่ระดับความสูงถึง 3,000 เมตร
แมวดาวพบได้แม้ในเกาะที่อยู่ห่างไกล เช่นที่เกาะเชจู และเกาะเล็ก ๆ ของเกาหลีใต้ เกาะสึชิมะของญี่ปุ่น และเกาะเล็ก ๆ ของสุมาตรา ไทย เวียดนาม จีน และอินเดีย แมวดาวที่อาศัยอยู่ในเกาะเหล่านี้มักมีสีคล้ำกว่าที่อื่น
ในเกาะสึชิมะของญี่ปุ่น แมวดาวมีพื้นที่หากิน 0.83 ตารางกิโลเมตร ส่วนในป่าที่แห้งแล้งในเมืองไทย มีพื้นที่หากินระหว่าง 1.5-7.5 ตารางกิโลเมตร แต่จะใช้พื้นที่หากินหลักอยู่ระหว่าง 0.7-2 ตารางกิโลเมตร
อุปนิสัย
[แก้]แมวดาวหากินได้ทั้งบนดินและบนต้นไม้ ว่ายน้ำเก่งมาก ไม่ค่อยกลัวมนุษย์ จึงพบได้บ่อยใกล้หมู่บ้าน ชาวบ้านในบางพื้นที่ก็เลี้ยงแมวดาวไว้เพื่อจับหนู เช่นเดียวกับแมวชอฟรัว (Geoffroy's Cat) ในอเมริกาใต้ อาหารหลักของแมวดาวคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ นอกจากนี้ยังกิน นก สัตว์เลื้อยคลาน ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และแมลง และเคยมีผู้พบเห็นแมวดาวกินซากสัตว์ด้วย
แมวดาวปีนต้นไม้ได้เก่ง ในประเทศไทย เคยพบแมวดาวพักผ่อนอยู่บนต้นไม้สูงถึงกว่า 20 เมตร มีเรื่องเล่าว่าแมวดาวจับนกโดยการทิ้งตัวลงมาจับจากข้างบน
แมวดาวหากินเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พบตอนกลางวันได้บ่อย จากการติดตามแมวดาวด้วยปลอกคอวิทยุในประเทศไทย 4 ตัว พบว่ามีการออกหากินเวลากลางวันบ่อยครั้ง และแต่ละตัวมีช่วงเวลาหากินประจำต่างกันไป
ชีววิทยา
[แก้]แม่แมวดาวตั้งท้องนานประมาณ 56-70 วัน ส่วนใหญ่ออกลูก 2-3 ตัว แต่เคยพบกรณีที่มีถึง 8 ตัว เลี้ยงลูกในโพรงไม้ หลืบหินหรือถ้ำ น้ำหนักแรกเกิด 80 กรัม ตาเปิดเมื่ออายุได้ 5-15 วัน แมวดาวที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือมีฤดูผสมพันธุ์ปีละครั้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมและออกลูกในเดือนพฤษภาคม แต่แมวดาวในเขตใต้จะออกลูกได้ตลอดปี เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 8-18 เดือน แมวดาวในธรรมชาติมีอายุขัยประมาณ 10-15 ปี ส่วนแมวดาวในสถานที่เพาะเลี้ยงมีอายุกว่า 15 ปี แต่ฟันจะหักหายไปหมดเมื่ออายุ 8-10 ปี
ภัยที่คุกคาม
[แก้]แมวดาวเป็นแมวป่าที่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและการเสื่อมโทรมของป่าได้ดี หากเทียบกับแมวและเสือชนิดอื่น ๆ ในเอเชียแล้วก็เป็นรองเพียงแมวป่า (เสือกระต่าย) เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าแมวดาวจะไม่ถูกคุกคามเลย ดังจะเห็นได้ว่าจำนวนประชากรลดลงในหลายพื้นที่โดยเฉพาะตามเกาะต่าง ๆ จนต้องมีศูนย์เพาะพันธุ์เกิดขึ้นหลายแห่ง เช่นที่เกาะสึชิมะในญี่ปุ่น และที่เกาะ Negros ในฟิลิปปินส์
ในประเทศจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางเขตกระจายพันธุ์ของแมวดาว มีล่าและค้าขายอวัยวะสัตว์ป่ากันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะทางตะวันตกเฉียงใต้ ก่อนหน้าปี 2527 มีการส่งออกหนังแมวดาวเฉลี่ยปีละประมาณ 200,000 ผืน แต่หลังจากนั้นจนถึงปี 2532 ได้เพิ่มจำนวนขึ้นมาก จากการสำรวจคลังเก็บขนสัตว์ของบริษัทขนสัตว์ยักษ์ใหญ่ของจีนในปี 2532 พบว่ามีมากกว่า 800,000 ผืน ในช่วงปี 2498-2524 มีการล่าเฉลี่ย 150,000 ตัวต่อปี ส่วนในปี 2528-2531 คาดว่ามีมากถึง 400,000 ตัวต่อปี
เดิมยุโรปเคยเป็นตลาดหลักของจีนในการส่งออกหนังแมวดาว แต่หลังจากมีการห้ามการนำเข้าในปี 2531 ตลาดหลักของจีนก็เปลี่ยนมาเป็นญี่ปุ่นแทน เฉพาะปี 2532 มีการส่งออกหนังแมวดาวจากจีนไปญี่ปุ่น 50,000 ผืน นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีการนำเขาเนื้อแมวดาวเพื่อทำเป็นอาหารด้วย เพราะที่ญี่ปุ่นมีคนนิยมกินเนื้อแมวดาวมาก
เมื่อไม่นานมานี้[เมื่อไร?] เคราะห์กรรมของแมวดาวสัญชาติจีนก็ยิ่งแย่ขึ้นไปอีก เมื่อรัฐสภาจีนได้มีการเสนอให้เพิ่มโควตาส่งออกหนังแมวดาวมากขึ้น 500% เพื่อเพิ่มผลกำไรให้ประเทศ
มีภัยที่คุกคามแมวดาวอีกอย่างหนึ่งเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน เป็นภัยจากคนที่บอกว่าเป็นคนรักแมว ความต้องการแมวบ้านพันธุ์ใหม่ ๆ ของคนนิยมเลี้ยงแมว ทำให้นักผสมพันธุ์แมวบางกลุ่มลองนำแมวดาวมาผสมกับแมวบ้านหลายพันธุ์เพื่อให้เกิดลูกผสมพันธุ์ใหม่ที่สวยงามและราคาดี เช่น แมวเบงกอล และแมวซาฟารี การกระทำเช่นนี้เป็นการทำให้พันธุกรรมของแมวดาวอ่อนแอลง และตัดโอกาสแมวดาววัยเจริญพันธุ์ที่จะผสมพันธุ์ให้กำเนิดลูกแมวดาวทายาทเผ่าพันธุ์ตนเองลงไป
ในไทยมีรายงานว่าเป็นหนึ่งในอาหารป่าโดยนำเนื้อมาผัดกับเครื่องแกงทำคั่วกลิ้ง[ต้องการอ้างอิง]
สถานภาพ
[แก้]ปัจจุบันสถานภาพของแมวดาวยังถือว่าปลอดภัยหากเทียบกับแมวและเสือชนิดอื่น ๆ แต่พวกที่อาศัยอยู่ในเกาะต่าง ๆ กำลังลำบาก แมวดาวในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งสถานการณ์ป่าไม้จัดว่าย่ำแย่ที่สุดในเอเชียเขตร้อนอาจเป็นกลุ่มที่เผชิญเคราะห์กรรมหนักที่สุด เกาะเกือบทั้งหมดในประเทศนี้ที่เคยมีแมวดาวอยู่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วนที่เกาะสึชิมะซึ่งเคยมีแมวดาวอยู่ 200-300 ตัวในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยตัว
แม้จำนวนประชากรลดลง ไอยูซีเอ็นยังจัดสถานภาพของแมวดาวไว้ในระดับมีความเสี่ยงน้อย (LC) ไซเตสจัดให้แมวดาวอยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ยกเว้นพันธุ์ F.b. bengalensis อยู่ในบัญชีหมายเลข 1
ประเทศที่ห้ามล่า
[แก้]บังกลาเทศ ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย (ยกเว้นซาบะฮ์) พม่า เนปาล ปากีสถาน รัสเซีย ไทย ไต้หวัน(ไม่ควรมีการล่าเกิดขึ้น)
ประเทศที่ควบคุมการล่าและการซื้อขาย
[แก้]เกาหลีใต้ ลาว สิงคโปร์
ประเทศที่ไม่มีการคุ้มครองนอกเขตอนุรักษ์
[แก้]ภูฏาน บรูไนดารุสซาราม จีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม
ไม่มีข้อมูล
[แก้]อัฟกานิสถาน กัมพูชา เกาหลีเหนือ
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ Prionailurus bengalensis bengalensis จัดอยู่ใน Appendix I.
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Ghimirey, Y.; Petersen, W.; Jahed, N.; Akash, M.; Lynam, A.J.; Kun, S.; Din, J.; Nawaz, M.A.; Singh, P.; Dhendup, T.; Marcus, C.; Gray, T.N.E. & Phyoe Kyaw, P. (2022). "Prionailurus bengalensis". IUCN Red List of Threatened Species. 2022: e.T18146A212958253. doi:10.2305/IUCN.UK.2022-1.RLTS.T18146A212958253.en. สืบค้นเมื่อ 22 July 2022.
- ↑ Kitchener, A. C.; Breitenmoser-Würsten, C.; Eizirik, E.; Gentry, A.; Werdelin, L.; Wilting, A.; Yamaguchi, N.; Abramov, A. V.; Christiansen, P.; Driscoll, C.; Duckworth, J. W.; Johnson, W.; Luo, S.-J.; Meijaard, E.; O’Donoghue, P.; Sanderson, J.; Seymour, K.; Bruford, M.; Groves, C.; Hoffmann, M.; Nowell, K.; Timmons, Z.; Tobe, S. (2017). "A revised taxonomy of the Felidae: The final report of the Cat Classification Task Force of the IUCN Cat Specialist Group" (PDF). Cat News. Special Issue 11: 26–29.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Groves, C. P. (1997). "Leopard-cats, Prionailurus bengalensis (Carnivora: Felidae) from Indonesia and the Philippines, with the description of two new subspecies". Zeitschrift für Säugetierkunde. 62: 330–338. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "groves97" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน - ↑ Vigne, J.D.; Evin, A.; Cucchi, T.; Dai, L.; Yu, C.; Hu, S.; Soulages, N.; Wang, W.; Sun, Z.; Gao, J.; Dobney, K.; Yuan, J. (2016). "Earliest "Domestic" Cats in China Identified as Leopard Cat (Prionailurus bengalensis)". PLOS ONE. 11 (1): e0147295. Bibcode:2016PLoSO..1147295V. doi:10.1371/journal.pone.0147295. PMC 4723238. PMID 26799955.
- ↑ Wilson, D. E., Mittermeier, R. A. (eds.) (2009). Handbook of the Mammals of the World. Volume 1: Carnivores. Lynx Edicions. ISBN 978-84-96553-49-1
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 Ellerman, J. R., Morrison-Scott, T. C. S. (1966). Checklist of Palaearctic and Indian mammals 1758 to 1946. Second edition. British Museum of Natural History, London. Pp. 312–313
- ↑ Tamada, T., Siriaroonrat, B., Subramaniam, V., Hamachi, M., Lin, L.-K., Oshida, T., Rerkamnuaychoke, W., Masuda, R. (2006). "Molecular Diversity and Phylogeography of the Asian Leopard Cat, Felis bengalensis, Inferred from Mitochondrial and Y-Chromosomal DNA Sequences" (PDF). Zoological Science. 25: 154–163. doi:10.2108/zsj.25.154. PMID 18533746.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Imaizumi, Y. (1967). A new genus and species of cat from Iriomote, Ryukyu Islands. Journal of Mammalian Society Japan 3(4): 74.
- ↑ Masuda, R.; Yoshida, M. C. (1995). "Two Japanese wildcats, the Tsushima cat and the Iriomote cat, show the same mitochondrial DNA lineage as the leopard cat Felis bengalensis". Zoological Science. 12: 655–659. doi:10.2108/zsj.12.655.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "Leopard Cat Prionailurus bengalensis". Cat Specialist Group.