ข้ามไปเนื้อหา

ชินกาลมาลีปกรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชินกาลมาลีปกรณ์  
ผู้ประพันธ์พระรัตนปัญญาเถระ
ประเทศอาณาจักรล้านนา
ภาษาภาษาบาลี
ชุดพงศาวดารพม่า, พงศาวดารเชียงใหม่
ประเภทพงศาวดาร, ประวัติศาสตร์
วันที่พิมพ์พ.ศ. 2071 (แต่งเสร็จ)
ค.ศ. 1788 (บันทึกแรกสุดในอักษรขอมไทย)
พิมพ์ในภาษาอังกฤษ
พ.ศ. 2511

ชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นวรรณกรรมพุทธศาสนาภาษาบาลี ผู้แต่งคือพระรัตนปัญญาเถระ พระสังฆราชาในรัชสมัยของพระเมืองแก้วหรือพระติลกปนัดดาธิราชแห่งอาณาจักรล้านนา มีเนื้อหาเป็นพงศาวดารหรือประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนา เนื้อหากว่าครึ่งเล่มเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าองค์ต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่พระโคตมพุทธเจ้ายังทรงเป็นพระโพธิสัตว์จนถึงปัจจุบันชาติ เรื่องอัครสาวกนิพพาน พุทธปรินิพพาน พระบรมสารีริกธาตุ จนการสังคายนาในชมพูทวีปและในศรีลังกา ทั้งยังพูดถึงการสร้างเมืองหริภุญไชย เชียงใหม่ ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนา[1] สิ้นสุดเรื่องที่ประวัติราชวงศ์มังรายในสมัยของผู้แต่ง คือ สมัยพระเมืองแก้ว โดยมีบันทึกลงปีที่รจนาจบตรงกับปี พ.ศ. 2060 แต่มีการแต่งเพิ่มเติมต่อจนจบบริบูรณ์ในปี พ.ศ. 2071[2] เรียบเรียงเป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง เรียกว่า "ปัชชพันธ์" มีการเรียบเรียงภาษาได้อย่างงดงาม มีการแปลงชื่อเฉพาะในสมัยนั้นเป็นภาษาบาลี เช่น ชื่อเมือง กษัตริย์ บุคคล สถานที่ และแม่น้ำ[3]

ชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นวรรณกรรมบาลีที่ใช้อ้างอิงในฐานะเอกสารตำนานพงศาวดารบ่อยครั้งที่สุดเคียงคู่ไปกับ จามเทวีวงศ์ และ ตำนานมูลศาสนา[4]

ต้นฉบับ

[แก้]

ชินกาลมาลีปกรณ์ ได้รับการคัดลอกต่อ ๆ กันมาหลายฉบับ ต้นฉบับที่พบมี 11 ฉบับ จารด้วยตัวอักษรขอม 10 ฉบับ อักษรมอญ 1 ฉบับ[5]

  • ฉบับที่ 1 เป็นใบลานที่สันนิษฐานว่าเก่าแก่ที่สุด ทำขึ้นในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า ใบลานเดิม มีผูก 1-2, 4-5 แต่ไม่มีผูก 3 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ
  • ฉบับที่ 2 ใบลาน ฉบับครูเดิม เดิมทีอยู่ที่หอพระมณเฑียรธรรม ในพระบรมมหาราชวัง ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ
  • ฉบับที่ 3 ใบลาน ฉบับทองใหญ่ อยู่ที่หอพระมณเฑียรธรรม
  • ฉบับที่ 4 ใบลาน ฉบับรองทรง เป็นฉบับที่คัดลอกสำเนาจาก ฉบับทองใหญ่ เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ
  • ฉบับที่ 5–7 ใบลาน ฉบับล่องชาด, ฉบับรดน้ำดำโท (จารสมัยรัชกาลที่ 3) และ ฉบับทองน้อย (เหลือแต่ผูก 3) อยู่ที่หอพระมณเฑียรธรรม
  • ฉบับที่ 8–10 เป็นใบลานฉบับซ้ำ มีหมายเลขกำกับไว้คือ ฉบับรดน้ำดำโท 2, ฉบับล่องชาด 2 และ ฉบับล่องชาด 3
  • ฉบับที่ 11 ฉบับภาษามอญ สันนิษฐานว่าสร้างปี 2321 สมัยกรุงธนบุรี มีครบผูก 1-6

การแปล

[แก้]

สำหรับการแปลเป็นภาษาไทยนั้น ครั้งแรก พระพิมลธรรมและคณะแปลจากคัมภีร์ใบลานอักษรขอมในสมัยรัชกาลที่ 1 ใช้ชื่อว่า ชินกาลมาลินี และรัชกาลที่ 5 ทรงให้พิมพ์เป็นครั้งแรกเพื่อแจกในงานพระศพของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์วัฒนเดช ภายหลัง แสง มนวิทูร ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ อดีตข้าราชการกรมศิลปากร แปลใหม่ และใช้ชื่อ ชินกาลมาลีปกรณ์[6] นอกจากนี้ N.A. Jayawickrama ยังแปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2511[7] และยอร์ช เซเดส์ แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโดยตีพิมพ์คู่กับภาษาบาลีลงในวารสารวิชาการของฝรั่งเศสที่ชื่อ Bulletin de l’ Ecole Francaise d’ Extreme orient, tome xxv ตั้งแต่ฉบับเดือนมกราคมถึงมิถุนายน พ.ศ. 2468 รวม 6 ฉบับ อนึ่ง สมาคมบาลีปกรณ์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตีพิมพ์ฉบับภาษาบาลีด้วยตัวอักษรโรมัน และในประเทศศรีลังกา พระภิกษุชื่อ พุทธทัตตะ ได้แปลเป็นภาษาสิงหล พิมพ์คู่กับภาษาบาลีเมื่อ พ.ศ. 2498[8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. เพ็ญสุภา สุขคตะ (10 มิถุนายน พ.ศ. 2559). "ปริศนาโบราณคดี : โคมปราสาท ของ "พระรัตนปัญญาเถระ" ผู้รจนา "ชินกาลมาลีปกรณ์"". มติชนสุดสัปดาห์. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  2. สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุล. "การสืบทอดพระไตรปิฎกใบลานอักษรขอม ในประเทศไทยและกัมพูชา".
  3. พระครูสุธีสุตสุนทร ดร., ดร.ฤทธิชัย แกมนาคและนางสุภัชชา พันเลิศพาณิชย์. "การวิเคราะห์เนื้อหาเกี่ยวกับสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์" (PDF).
  4. "หนังสือ ... "ชินกาลมาลีนี" จัดพิมพ์ ... สำนักพิมพ์ศรีปัญญา ราคา 180 บาท". ข่าวสดรายวัน. 14 เมษายน พ.ศ. 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  5. เพ็ญสุภา สุขคตะ (27 ธันวาคม พ.ศ. 2560). "เพ็ญสุภา สุขคตะ : "ล้านนาศึกษา" ใน "ไทศึกษา" ครั้งที่ 13 (11) ต้นฉบับชินกาลมาลีปกรณ์และจามเทวีวงส์ : จากล้านนาสู่อยุธยาและรัตนโกสินทร์ (จบ)". มติชนสุดสัปดาห์. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  6. เพ็ญสุภา สุขคตะ (21 ธันวาคม พ.ศ. 2560). "เพ็ญสุภา สุขคตะ : "ล้านนาศึกษา" ใน "ไทศึกษา" ครั้งที่ 13 (11)". มติชนสุดสัปดาห์. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  7. Aung-Thwin, Michael A. (2005). The Mists of Rāmañña: The Legend that was Lower Burma (illustrated ed.). Honolulu: University of Hawai'i Press. ISBN 9780824828868.
  8. พระมหาสุทิตย์ อาภากโร (อบอุ่น). การศึกษาองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ปรากฏในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาเรื่องอานิสงส์และคัมภีร์ที่ใช้เทศน์ในเทศกาลต่างๆ ของล้านนา (PDF). มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-09-18. สืบค้นเมื่อ 2019-06-28.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]