พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
วันที่14–19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
สถานที่พระเมรุ ท้องสนามหลวง
ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รัฐบาลไทยจัดขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดีและถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยรัฐบาลกำหนดวันพระราชพิธีฯ ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การเตรียมงานพระราชพิธีฯ ดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2551 และมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 การดำเนินการพระราชพิธีฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างพระเมรุ และอาคารประกอบ การบูรณปฏิสังขรณ์พระมหาพิชัยราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระราชพิธี รวมถึงการเตรียมงานมหรสพในงานออกพระเมรุ

การเตรียมงาน[แก้]

ภาพพระเมรุยามค่ำคืน


พระราชพิธีและพิธีสำคัญ[แก้]

ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ฝ่ายจัดการพระราชพิธีฯ รับทราบมติที่คณะกรรมการชุดใหญ่กำหนดวันพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ในระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 พร้อมทั้งพิจารณาหมายกำหนดการพระราชพิธีฯ โดยละเอียดเป็นที่เรียบร้อย[1][2] โดยรายละเอียดของพระราชพิธีครั้งนี้ มีดังนี้

 พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ[แก้]

วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เวลา 17.56 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ พระราชทานพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ผู้นำเหล่าทัพ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เฝ้ารับเสด็จ

เมื่อรถยนต์พระที่นั่งเทียบที่ประตูกำแพงแก้ว พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง​ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จเข้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางบันใดมุขกระสันพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร​ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช​ บรมนาถบพิตร​ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระศพ เสร็จแล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ปางถวายเนตร ประจำวันอาทิตย์) ซึ่งประดิษฐานบนพระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประเคนพัดรองที่ระลึกงานพระราชพิธีฯ[3] แก่สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ บรรพชิตจีนและญวนที่ร่วมในพระราชพิธีฯ จากนั้น เจ้าพนักงานเชิญพระพรหมเวที (สนิท ชวนปญฺโญ) วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ขึ้นนั่งธรรมาสน์เทศน์ แล้วพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรมและเครื่องทองน้อยสำหรับพระศพ จากนั้น พระพรหมเวทีถวายศีล และถวายพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ เสร็จแล้ว สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ 30 รูป สวดศราทธพรตคาถา

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ พระสงฆ์ 84 รูป สวดมาติกาบังสุกุล ทรงทอดผ้าไตรและย่ามที่ระลึกงานพระราชพิธีฯ แล้วพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา แล้วบรรพชิตจีนและญวณ 20 รูป สดับปกรณ์ [4] จากนั้นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชากระบะมุกที่แท่นมณฑลสวดพระอภิธรรม 2 แท่น ณ มุขทิศเหนือของพระที่นั่ง พระสงฆ์จำนวน 8 รูป ณ พระแท่นมณฑล เริ่มสวดพระอภิธรรม แล้วพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสักการะพระศพ ทรงกราบที่พระแท่นหน้าพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ[5][6]

พระราชพิธีเชิญพระโกศออกพระเมรุ[แก้]

วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เวลา 07.06 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์พร้อมด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ (ยศในขณะนั้น) และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ มายังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงประกอบพระราชพิธีเชิญพระโกศออกพระเมรุ เมื่อเสด็จขึ้นสู่พระที่นั่ง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยหน้าพระโกศ และเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสร็จแล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ 30 รูป สวดมาติกาบังสุกุล พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์สวดสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเปลื้องพระโกศ นำผ้าเยียรบับ (ผ้าตาด) หุ้มพระลองใน จากนั้นตำรวจหลวง 6 นาย ชะลอพระลองในลงจากพระแท่นสุวรรณเบญจดล ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 6 นาย ชะลอพระลองในลงจากพระที่นั่งขึ้นเสลี่ยงแว่นฟ้า

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จลงจากพระที่นั่ง พลหาม 8 นาย หามพระเสลี่ยงแว่นฟ้าทหารรักษาพระองค์อีก 5 นาย เชิญพระลองในออกทางประตูกำแพงแก้วทิศตะวันตกเพื่อเทียบเกย เจ้าพนักงานเปลื้องตาดคลุมพระลองใน ประกอบพระโกศทองใหญ่ แล้วเชิญพระโกศเทียบพระยานมาศสามลำคาน นายวัชรกิตติ วัชโรทัย กรมวังผู้ใหญ่ เจ้าพนักงานภูษามาลาประคองพระโกศ และพลแบกหาม 60 คนเข้าประจำพระยานมาศ เมื่อพระยานมาศเคลื่อน แตรวงบรรเลงเพลงมหาชัย ขบวนพระยานมาศยาตราออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูศรีสุนทร และประตูเทวาภิรมย์ (ตรงข้ามท่าราชวรดิษฐ์) เข้าสู่ริ้วขบวน แล้วเจ้าพนักงานยกสัปตปฎลเศวตฉัตรคันดาลกางกั้นพระโกศ นายจุลพล โตเมศ เจ้าพนักงานภูษามาลาประคองพระโกศอีกท่านหนึ่ง เข้าประจำพระยาน นายชุมพล ขำโสภณ เจ้าพนักงานคุมขบวน รัวกรับพวงให้สัญญาณเคลื่อนริ้วขบวนที่ 1

ริ้วขบวนพระอิสริยยศ[แก้]

ริ้วขบวนที่ 1[แก้]

ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระยานมาศสามลำคานออกจากพระบรมมหาราชวัง เคลื่อนออกไปตามถนนมหาราช เลี้ยวซ้ายเข้าถนนท้ายวัง ถนนสนามไชย โดยมีพระพรหมมุนี (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร นั่งบนเสลี่ยงกลีบบัวอ่านพระอภิธรรมนำขบวน ตามด้วยเจ้าพนักงานประโคมดนตรี พระยานมาศสามลำคานประดิษฐานพระโกศ ขนาบด้วยเครื่องอภิรุมชุมสาย และเครื่องสูงทองแผ่ลวด ขบวนเสด็จของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ขนาบด้วยผู้เชิญเครื่องสูง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อิสริยาภรณ์ เครื่องราชูปโภค และฉลองพระองค์ 4 พระองค์ กับ 13 ท่าน ซึ่งจะร่วมในขบวนเสด็จฯ ตลอดถึงริ้วขบวนที่ 3 ตามด้วยขบวนพระประยูรญาติ นอกจากนี้ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นอาทิ ได้เข้าร่วมในริ้วขบวนนี้ด้วย

เมื่อพระยานมาศสามลำคานเคลื่อนถึงบริเวณหน้าหน่วยบัญชาการกำลังสำรอง ที่พระมหาพิชัยราชรถจอดรออยู่ ขบวนพระยานมาศจะเวียนซ้าย ริ้วขบวนที่ 1 จะเข้ารวมกับริ้วขบวนที่รออยู่แล้ว โดยต้นขบวนอยู่ที่กระทรวงกลาโหม ส่วนท้ายขบวนอยู่ที่โรงเรียนราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปพักคอย ณ พลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เจ้าพนักงานเชิญพระโกศเทียบท้ายเกรินบันไดนาค และเชิญสัปตปฎลเศวตฉัตรคันดาลอีกองค์หนึ่งติดตั้งที่ท้ายเกรินเพื่อกางกั้นพระโกศ พระพรหมมุนีลงจากพระเสลี่ยงกลีบบัวขึ้นราชรถน้อย จากนั้นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลงจากพลับพลายก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทอดผ้าไตร ณ ท้ายเกริน พระสงฆ์ 20 รูป สดับปกรณ์ แล้วเจ้าพนักงานภูษามาลาเข้าประจำท้ายเกริน และด้านหน้าและหลังพระมณฑปพระมหาพิชัยราชรถ (นายประชุม เอี่ยมสะอาด และนายจุลพล โตเมศ) เจ้าพนักงานเชิญพระโกศขึ้นสู่พระมหาพิชัยราชรถ แตรวงบรรเลงเพลงมหาชัยเมื่อพระโกศเข้าประดิษฐานที่พระมหาพิชัยราชรถแล้ว เจ้าพนักงานเลื่อนเกรินออกจากพระมหาพิชัยราชรถ ร้อยตำรวจเอก ธงชัย วัฒนกีวงศ์ สารถีพระมหาพิชัยราชรถ เข้าประจำที่หน้าพระมณฑป พลฉุดชักราชรถถวายบังคมพระโกศ เจ้าพนักงานคุมขบวนรัวกรับพวงให้สัญญาณครั้งที่หนึ่ง ริ้วขบวนกลับหลังหัน พลฉุดชักนำห่วงคล้องที่บ่า สัญญาณกรับครั้งที่สองพร้อมแตรเป่า เตรียมเคลื่อนริ้วขบวน สัญญาณกรับครั้งที่สามพร้อมแตรเป่า เคลื่อนริ้วขบวนที่ 2

ริ้วขบวนที่ 2[แก้]

ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระมหาพิชัยราชรถทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคลื่อนจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ผ่านหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ไปยังมณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง

ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระมหาพิชัยราชรถทรงพระโกศ เคลื่อนไปตามถนนสนามไชย ถนนราชดำเนินใน ผ่านพลับพลายกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เฝ้าฯ ถวายบังคมพระโกศ จากนั้นริ้วขบวนจะผ่านกระทรวงกลาโหม เข้าสู่ถนนกลางท้องสนามหลวง และเคลื่อนเข้ามณฑลพระราชพิธี โดยมีนักเรียนเตรียมทหาร 180 นาย ยืนเป็นแถวเกียรติยศรายทาง ริ้วขบวนประกอบด้วย ม้านำ 2 ม้า วงโยธวาธิตกองดุริยางค์ทหารบก บรรเลงเพลงพญาโศกลอยลม ตามด้วยกองพันทหาร จัดจากกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ ตามลำดับ ตามด้วยราชรถพระนำ มีพลฉุดชักรวม 74 นาย นักเรียนเตรียมทหาร 280 นาย เป็นชาวพนักงานกลองชนะ พระมหาพิชัยราชรถ ขนาบด้วยเครื่องอภิรุมชุมสาย และเครื่องสูงทองแผ่ลวด มีพลฉุดชักจากกรมสรรพาวุธทหารบก 221 นาย ตามด้วยขบวนเสด็จฯ ขบวนข้าราชการ ทหาร ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พระประยูรญาติ สมาชิกในราชสกุลในราชวงศ์จักรี ข้าราชบริพารในพระองค์ฯ เจ้าหน้าที่มูลนิธิในพระองค์ฯ ตามด้วยขบวนนิสิต นักศึกษา นักเรียนจากสถาบันการศึกษา 8 สถาบัน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น ตามด้วยกองพันทหารอีก 5 กองพัน จัดจากกองพันทหารม้าที่ 1 กองพันทหารปืนใหญ่ ที่ 1 กองพันทหารช่างที่ 1 กองพันทหารราบที่ 9 รักษาพระองค์ กองพันทหารนาวิกโยธินที่ 1 และ กองพันที่ 1 กรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์ ปิดริ้วขบวน

เมื่อพระมหาพิชัยราชรถเคลื่อนมายังกลางท้องสนามหลวงแล้ว เจ้าพนักงานเคลื่อนเกรินเทียบ พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินยังพลับพลายก ณ มณฑลพระราชพิธี เพื่อทอดพระเนตรการเชิญพระโกศลงจากพระมหาพิชัยราชรถสับเปลี่ยนมายังพระยานมาศสามลำคาน เมื่อพระโกศประดิษฐานบนพระยานมาศแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลา และพลฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถ ถวายบังคมพระโกศ พลแบกหามเคลื่อนพระยานมาศสู่มณฑลพระราชพิธี แล้วเจ้าพนักงานคุมริ้วขบวนให้สัญญาณกรับ เพื่อเคลื่อนริ้วขบวนที่ 3 แตรวงบรรเลงเพลงมหาชัย

ริ้วขบวนที่ 3[แก้]

ริ้วขบวนที่ 3 เคลื่อนเวียนโดยอุตราวัฎ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุ 3 รอบ ริ้วขบวนนำโดยเสลี่ยงกลีบบัวเชิญพระสวดพระอภิธรรม พระยานมาศสามลำคาน ตามด้วยขบวนเสด็จฯ พระประยูรญาติ ข้าราชบริพารในพระองค์ฯ และสมาชิกราชสกุล ระหว่างเคลื่อนริ้วขบวน ทหารปืนใหญ่ยิงสลุดถวายนาทีละ 1 นัด เมื่อเคลื่อนขบวนครบสามรอบแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินยังพระที่นั่งทรงธรรม พลแบกหามเคลื่อนพระยานมาศเทียบสะพานเกรินทางทิศใต้ของพระเมรุ เจ้าพนักงานเคลื่อนพระโกศมายังท้ายเกริน แล้วเลื่อนเกรินเชิญพระโกศสู่พระจิตกาธานภายในพระเมรุ จากนั้นเจ้าพนักงานภายในพระเมรุปิดพระวิสูตร (ม่าน) และพระฉาก เปลื้องพระโกศทองใหญ่เพื่อถวายการประกอบพระโกศจันทน์ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นสู่พระเมรุ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระศพ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ[7]

พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ[แก้]

พระราชพิธีทางการ[แก้]

วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เวลา 16.52 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ยังมณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง ทรงประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ (พระราชพิธีทางการ) โดยเมื่อรถยนต์พระที่นั่งเทียบพระที่นั่งทรงธรรม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งโดยลิฟท์ ตำรวจหลวงและทหารราชองครักษ์ เชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธ และธงชัยพระครุฑพ่าห์นำหน้า เมื่อเสด็จเข้าสู่พระที่นั่ง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระศพทรงธรรม ที่ด้านทิศใต้ของพระจิตกาธาน จากนั้น พระพรหมมุนีจากวัดบวรนิเวศวิหาร ถวายศีล และถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่งจบ พระสงฆ์ชั้นพระราชาคณะ 50 รูป สวดศราทธพรตคาถา จบแล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สวดมาติกาบังสุกุล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา [8] จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินยังพระเมรุ

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงพระเมรุแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงวางเครื่องราชสักการะพระศพ กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ แตรเดี่ยวเป่าสัญญาณนอน จากนั้นทั้งสองพระองค์ทรงจุดดอกไม้จันทน์พระราชทานเพลิงและถวายบังคม ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตรฝรั่ง ปี่พาทย์ กลองชนะ กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงมหาชัย กองร้อยปืนใหญ่ยิงสลุตถวาย 21 นัด (ความเร็ว 4 วินาทีต่อนัด) กองทหารเกียรติยศยิงปืนเล็กถวาย 4 ชุด (ความเร็ว 10 วินาทีต่อชุด) จากนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ ถวายดอกไม้จันทน์และถวายบังคมทางทิศใต้ของพระจิตกาธาน ระหว่างนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับที่มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม จากนั้น คณะบุคคลต่างๆ[9] ถวายดอกไม้จันทน์ เสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินกลับ[10]

พระราชพิธีจริง[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (พระราชพิธีจริง)

วันเดียวกัน เวลา 21.42 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ยังมณฑลพระราชพิธีฯ เมื่อรถพระที่นั่งเทียบที่หน้าพระที่นั่งทรงธรรม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่เตาพระราชทานเพลิงทางทิศตะวันออกของพระจิตกาธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเปลื้องผ้าคลุมหีบพระศพ และทรงสรงน้ำมะพร้าวแก้วที่หีบพระศพ เจ้าพนักงานเชิญหีบพระศพเข้าสู่เตา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงจุดดอกไม้จันทน์พระราชทานเพลิงพระศพ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดา และร้อยเอกจิทัศ ศรสงคราม พระนัดดา ถวายดอกไม้จันทน์ เสร็จแล้วสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชทานดอกไม้จันทน์ และถวายดอกไม้จันทน์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินลงจากพระเมรุขึ้นสู่พระที่นั่งทรงธรรม เจ้าพนักงานปิดฉากบังเตา พระวิสูตร และฉากบังเพลิง เพื่อถวายการพระราชทานเพลิงพระศพ จากนั้น คณะนักแสดงที่จะแสดงหน้าพระเมรุ เข้าถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และถวายบังคมพระศพตามลำดับ

การแสดงเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ เป็นการแสดงโขนโดยกรมศิลปากร และหุ่นละครเล็กโดยมูลนิธินาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์) เรียกโดยลำลองว่า โขนหน้าไฟ และหุ่นละครเล็กหน้าไฟ โดยเริ่มจากการแสดงโขนเบิกโรงชุด ระบำวานรพงศ์ และรวมเหล่าอสุรา (หุ่นละครเล็ก) ต่อด้วยการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ขับพิเภก หนุมานจับนางเบญจกาย (หุ่นละครเล็ก) และสุครีพถอนต้นรัง ตามลำดับ เมื่อการแสดงเสร็จสิ้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินลงจากพระที่นั่งทรงธรรมขึ้นสู่พระเมรุอีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงทอดผ้าไตรที่หน้าเตาพระราชทานเพลิง พระสงฆ์ 10 รูป สดับปกรณ์ เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ[10]

พระราชพิธีเก็บพระอัฐิ เชิญพระอัฐิและพระสรีรางคารประดิษฐาน ณ พระบรมมหาราชวัง[แก้]

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เวลา 08.35 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ยังมณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง ทรงประกอบพระราชพิธีเก็บพระอัฐิ

การเก็บพระอัฐิและพระสรีรางคาร[แก้]

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินผ่านพระที่นั่งทรงธรรมข้นสู่พระเมรุทางทิศใต้ ณ ที่นั้น เจ้าพนักงานได้ประมวลพระอัฐิและพระสรีรางคารวางเป็นรูปองค์บนผ้าขาว มีผ้าเยียรบับคลุม เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง เจ้าพนักงานเปิดผ้าคลุม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายพระอัฐิ แล้วทรงสรงพระสุคนธ์พระอัฐิ ทรงกราบพระอัฐิ จากนั้นเจ้าพนักงานปิดผ้าคลุม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทอดผ้าไตรสามหาบบนผ้าเยียรบับ พระสงฆ์ 6 รูป สดับปกรณ์ เสร็จแล้ว เจ้าพนักงานเปิดผ้าคลุมพระอัฐิอีกครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสรงพระสุคนธ์ขันทองที่พระอัฐิ โดยจุ่มพระอัฐิแต่ละองค์ในขันพระสุคนธ์ทองคำ แล้วประมวลพระอัฐิลงในพระโกศทองทรงพระอัฐิ เสร็จแล้วเจ้าพนักงานปิดฝาพระโกศ เชิญพระโกศประดิษฐานที่บุษบกเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทองในพระที่นั่งทรงธรรม โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินตาม มีทหารมหาดเล็กเชิญธงเยาวราชใหญ่นำพระองค์ ระหว่างนั้นเจ้าพนักงานที่พระเมรุประมวลพระสรีรางคารลงในพระผอบทอง

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระอัฐิ แล้วทรงประเคนภัตตาหารสามหาบแก่พระสงฆ์ที่สดับปกรณ์ที่พระเมรุ เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประเคนเครื่องสังเค็ดงานพระราชพิธี ซึ่งในครั้งนี้เป็นสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน แก่พระสงฆ์ 30 รูป สดับปกรณ์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา[11] ระหว่างนั้น ริ้วขบวนเชิญพระอัฐิและพระสรีรางคารเคลื่อนมายังหน้าพระที่นั่งทรงธรรม เมื่อพระสงฆ์สวดครบ 30 รูปแล้ว เจ้าพนักงานเชิญพระโกศประดิษฐาน ณ พระที่นั่งราเชนทรยาน และเชิญพระสรีรางคารประดิษฐาน ณ พระวอสีวิกากาญจน์ (พระวอประเวศน์วัง) เสร็จแล้ว เจ้าพนักงานคุมริ้วขบวนรัวกรับสัญญาณครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนิน เสด็จพระดำเนิน และเดินร่วมริ้วขบวน ส่วนพระองค์เองเสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงรับพระโกศพระอัฐิ จากนั้น เจ้าพนักงานคุมริ้วขบวนรัวกรับสัญญาณอีก 2 ครั้ง เพื่อเคลื่อนริ้วขบวนที่ 4

ริ้วขบวนที่ 4[แก้]

ริ้วขบวนที่ 4 เชิญพระอัฐิและพระสรีรางคารประดิษฐาน ณ พระบรมมหาราชวัง โดยเคลื่อนจากมณฑลพระราชพิธี ถนนกลางท้องสนามหลวง ถนนราชดำเนินใน ถนนหน้าพระลาน เข้าสู่พระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี ริ้วขบวนเริ่มด้วยตำรวจม้า 2 นาย ธงสามชาย ประตูหน้า คู่แห่ทหารบก ทหารเรือ และ ทหารอากาศ รวม 276 นาย เครื่องประโคม ประกอบด้วยกลองชนะลายทอง ทอง และเงิน จ่าปี่ จ่ากลอง แตรฝรั่ง สังข์ เจ้าพนักงานประโคมกลองชนะจัดจากนักเรียนเตรียมทหาร 200 นาย พระที่นั่งราเชนทรยาน และพระวอประเวศวัง ขนาบด้วยเครื่องอภิรุมชุมสายและเครื่องสูงทองแผ่ลวด ขบวนเสด็จของพระบรมวงศ์ ขบวนเชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องราชูปโภค และเครื่องประกอบพระอิสริยยศ และขบวนของสมาชิกในราชสกุล

เมื่อริ้วขบวนถึงพระบรมมหาราชวังจะแยกเป็นสองสาย คือ สายพระราเชนทรยาน เคลื่อนผ่านประตูพิมานไชยศรี พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เข้าสู่เกยพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท และสายพระวอประเวศวัง เคลื่อนผ่านประตูกำแพงแก้ว วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อนำพระผอบพระสรีรางคารประดิษฐาน ณ พระศรีรัตนเจดีย์ เมื่อขบวนสายพระราเชนทรยานถึงเกยพระที่นั่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระที่นั่งสมทบกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงคอยอยู่ จากนั้น เจ้าพนักงานเชิญพระโกศพระอัฐิขึ้นสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยพระบรมวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินตาม จากนั้นเจ้าพนักงานเชิญประดิษฐานบนบุกษกทองบนพระแท่นสุวรรณเบญจดล พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องสักการะพระอัฐิ ทรงกราบพร้อมกับพระบรมวงศ์ที่ตามเสด็จ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ[12]

พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลและเชิญพระอัฐิประดิษฐาน[แก้]

วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เวลา 17.15 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ทรงจุดธุปเทียนเครื่องราขสักการบูชาพระโกศพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี[13] บนพระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร และพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บนบุษบกทองบนพระแท่นสุวรรณเบญจดล จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร สมเด็จพระบรมราชบุพการี[14] บนพระแท่นมณฑลมุก จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประเคนพัดรองงานพระราชพิธี[3] แก่พระสงฆ์ที่ร่วมในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ พระราชาคณะ 30 รูป สวดพระพุทธมนต์ เจ้าพนักงานทอดพระภูษาโยงจากหน้าพระแท่นสุวรรณเบญจดลสู่อาสนสงฆ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา[11] พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรมและเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมอัฐิและพระอัฐิ สมเด็จพระบรมราชบุพการี และพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงธรรม พระพรหมเมธี จากวัดเทพศิรินทราวาส ถวายศีล และถวายพระธรรมเทศนา เรื่อง สามัคคีธัมมกถา จบแล้วพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ 5 รูป ถวายอนุโมทนา จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ เจ้าพนักงานทอดพระภูษาโยงจากพระแท่นสุวรรณเบญจดล พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เจ้าพนักงานทอดพระภูษาโยงจากพระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก พระสงฆ์อีก 10 รูป สดับปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิ สมเด็จพระบรมราชบุพการี เสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงกราบที่พระแท่นหน้าพระบรมอัฐิและพระอัฐิ สมเด็จพระบรมราชบุพการี และพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ[15]

ต่อมาเมื่อวันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เวลา 10.52 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและเครื่องทองน้อยถวายพระอัฐิ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ที่ประดิษฐาน ณ บุษบกทองบนพระแท่นสุวรรณเบญจดล และเครื่องสักการะพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ณ พระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระสงฆ์ 30 รูป ที่สวดบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิเมื่อวันก่อนหน้า สวดพระพุทธมนต์ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประเคนภัตตาหาร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้านายผู้ใหญ่ ทรงประเคนภัตตาหาร และคณะองคมนตรี ประเคนภัตตาหาร เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแก่พระสงฆ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา แล้วเดินออกจากพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงกราบที่หน้าพระอัฐิ และที่หน้าพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร แล้วทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับ โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าฯ ส่งเสด็จ จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ โดยเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับเข้ามายังพระที่นั่ง ทรงจุดเทียนดูหนังสือเทศน์ เจ้าพนักงานเชิญเทียนยังธรรมาสน์เทศน์ พระธรรมกิตติวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ถวายศีล และถวายพระธรรมเทศนาเรื่อง สาธุกรรมกถา จบแล้วพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ 5 รูป ถวายอนุโมทนา เจ้าพนักงานทอดพระภูษาโยงจากหน้าพระแท่นสุวรรณเบญจดลมายังอาสนสงฆ์ แล้วพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา จากนั้นพระสงฆ์ 84 รูป เท่าพระชันษาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สดับปกรณ์ (กระบวนการเหมือนกับวันพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ) จากนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระโกศพระอัฐิลงจากบุกษกทองไปยังริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ 5 โดยพระที่นั่งราเชนทรยานเทียบเกยพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท แล้วพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินตามในขบวน

ริ้วขบวนที่ 5[แก้]

ริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน ไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ประกอบด้วยเจ้าพนักงานเครื่องประโคม จัดจากนักเรียนเตรียมทหาร พระที่นั่งราเชนทรยานทรงพระอัฐิ ขนาบด้วยเครื่องสูงหักทองขวางทั้งด้านหน้าและด้านหลังพระยาน ขบวนเชิญเครื่องประกอบพระอิสริยยศราชูปโภค เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ขบวนเสด็จพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระบรมวงศานุวงศ์ และสมาชิกราชสกุล เมื่อริ้วขบวนยาตราถึงหน้าอัฒจันทร์มุขหน้าด้านตะวันออก พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เจ้าพนักงานเชิญพระอัฐิจากพระที่นั่งราเชนทรยานขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน (ยอดพระมหาปราสาทองค์กลาง) ชั้น 3 พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ ตามพระโกศขึ้นสู่พระวิมาน เมื่ออัญเชิญพระโกศประดิษฐานแล้ว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินลงจากพระที่นั่ง เพื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับ[16]

พระราชพิธีเชิญพระสรีรางคารบรรจุ ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงบรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทรงร่วมในริ้วขบวนพระอิสริยยศเชิญพระสรีรางคารไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง เจ้าพนักงานเชิญพระผอบพระสรีรางคารออกจากพระศรีรัตนเจดีย์ขึ้นรถยนต์พระที่นั่งซึ่งเทียบที่หน้าประตูกำแพงแก้ว แล้วรถพระที่นั่งเคลื่อนเข้าริ้วขบวนที่ 6

ริ้วขบวนที่ 6[แก้]

ริ้วขบวนที่ 6 เชิญพระผอบพระสรีรางคารออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี ผ่านถนนหน้าพระลาน ถนนสนามไชย ถนนกัลยาณไมตรี ข้ามสะพานช้างโรงสี เข้าสู่ถนนอัษฎางค์ ถนนราชบพิธ เทียบที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ริ้วขบวนประกอบด้วยขบวนทหารม้านำรวม 44 ม้า รถยนต์พระที่นั่งเชิญพระสรีรางคาร รถยนต์พระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และขบวนม้าตาม 33 ม้า เมื่อขบวนเทียบที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามแล้ว เจ้าพนักงานเชิญพระผอบประดิษฐานที่โต๊ะหมู่บูชาทอง ข้างพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสในพระอุโบสถ โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินตาม

พระราชพิธีเชิญพระสรีรางคารบรรจุ ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม[แก้]

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเชิญห่อพระสรีรางคารจากพระผอบลงในถ้ำศิลาทรงพระสรีรางคาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องสักการะพระพุทธอังคีรส ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระสรีรางคาร สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระสงฆ์ 30 รูป สดับปกรณ์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ แล้วทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก จบแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญถ้ำศิลาทรงพระสรีรางคารออกจากพระอุโบสถไปยังอนุสรณ์สถานรังษีวัฒนา สุสานหลวง โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินตาม

จากนั้น เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ยังสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าฯ รับเสด็จ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินยังเจดีย์ทอง อนุสรณ์สถานรังษีวัฒนา ทรงเชิญพระสรีรางคารในช่องบรรจุ แล้วทรงวางพวงมาลาพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายพระสรีรางคาร เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ พลับพลาหน้าพระเจดีย์ทอง เมื่อได้เวลาอันสมควร จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ[17]

รายพระนามและรายนามผู้เชิญเครื่องพระอิสริยยศในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ[แก้]

รายพระนามและรายนามผู้เชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องราชูปโภค เครื่องประกอบพระอิสริยยศ และฉลองพระองค์ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เรียงพระนามและนามตามลำดับอักษร (วงเล็บหลังพระนามและนามคือลำดับพร้อมรายชื่อเครื่องประกอบพระอิสริยยศที่ทรงเชิญและเชิญ)

[แก้]

[แก้]

[แก้]

[แก้]

[แก้]

[แก้]

[แก้]

[แก้]

[แก้]

การจัดแสดงมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุ[แก้]

การจัดแสดงมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุ ถือว่าเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานออกทุกข์ และถือเป็นการแสดงแสนยานุภาพของพระมหากษัตริย์ การจัดแสดงมหรสพสมโภช งานออกพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กำหนดการแสดงรวม 3 เวที บริเวณท้องสนามหลวงด้านทิศเหนือ ในวันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เริ่มการแสดงเวลา 19.00 น. ถึงรุ่งขึ้น วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ดังนี้

สื่อมวลชนกับพระราชพิธีฯ[แก้]

ศูนย์สื่อมวลชน[แก้]

การนำเสนอข่าวและการแสดงความอาลัยของสื่อมวลชนไทย[แก้]

การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนต่างประเทศ[แก้]

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ณ มณฑลพระราชพิธีฯ[แก้]

ประชาชนชาวไทยและต่างประเทศเข้าชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ณ มณฑลพิธีพระเมรุ ท้องสนามหลวง

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ มณฑลพระราชพิธีฯ ท้องสนามหลวง จะมีขึ้นในวันที่ 18 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 โดยจัดแสดงเครื่องใช้ในพระราชพิธี เช่น บุษบกที่ประดิษฐานพระอัฐิ ณ พระที่นั่งทรงธรรม และเปิดให้ประชาชนได้ชมพระเมรุ ณ ชานชาลาพระเมรุ นอกจากนี้กระทรวงวัฒนธรรมได้มีการจัดให้ศิลปินต่างๆทั่วประเทศได้สร้างสรรค์ภาพวาดที่เกี่ยวกับพระประวัติและพระกรณียกิจลงบนผ้าใบ จำนวน 84 ภาพ ตามพระชันษา โดยเป็นภาพขนาดกว้าง 80 ซม. ยาว 100 ซม. จำนวน 80 ภาพ และภาพขนาด 1.80 เมตร ยาว 2.40 เมตร จำนวน 4 ภาพ โดยแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆดังนี้[18]

  1. พระโสทรเชษฐภคินี
  2. พระประวัติ
  3. ทรงเป็นครูและนักการศึกษา
  4. ยอดขัตติยกัลยาณี
  5. ทรงสืบสานโครงการสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและการแพทย์
  6. ทรงเกื้อกูลประชากรด้านสังคมสงเคราะห์
  7. ทรงสนับสนุนการดนตรี การแสดงและศิลปะทุกแขนง
  8. ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ
  9. เจ้าฟ้านักประพันธ์
  10. ทรงเมตตาสัตว์น้อยใหญ่
  11. พระเกียรติคุณสดุดี

โดยภาพวาดเหล่านี้ได้นำมาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการ ณ มณฑลพระเมรุ ท้องสนามหลวง

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

หมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2552/B/006/95.PDF

  1. "หมายกำหนดการ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-12. สืบค้นเมื่อ 2008-11-14.
  2. ข่าวประชาสัมพันธ์ เก็บถาวร 2008-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักข่าวแห่งชาติ
  3. 3.0 3.1 พัดรองงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ จัดทำขึ้น ๒ แบบ โดยพัดรองพื้นหลังสีดำ พระสงฆ์ที่ร่วมพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ จะได้รับพระราชทาน ส่วนพัดรองพื้นหลังสีแดง พระสงฆ์ที่ร่วมพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ จะได้รับพระราชทาน
  4. เนื่องด้วยพื้นที่อาสนสงฆ์ที่จำกัด เจ้าพนักงานจึงจัดพระสงฆ์เป็น ๗ ชุด ชุดละ ๑๒ รูป โดยพระสงฆ์ชุดแรกและชุดที่ ๔ จะสวดเต็มรูปแบบ ส่วนพระสงฆ์ชุดอื่นๆ จะรับพระราชทานผ้าไตร สวดมาติกาบังสุกุลอย่างย่อ แล้วเดินออกจากพระที่นั่ง ส่วนบรรพชิตจีนและญวณจะแบ่งเป็น ๒ ชุด ชุดละ ๑๐ รูป
  5. การถ่ายทอดสด พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ พระราชทานพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
  6. "ในหลวง-ราชินี" เสด็จฯพระราชพิธีพระราชกุศลออกพระเมรุ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน เรียกดูข้อมูลเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
  7. การถ่ายทอดสด พระราชพิธีเชิญพระโกศ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ออกพระเมรุ โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
  8. เนื่องด้วยพื้นที่อาสนสงฆ์มีจำกัด เจ้าพนักงานจึงจัดพระสงฆ์เป็น ๓ ชุด สองชุดแรกมี ๑๗ รูป ชุดที่สามมี ๑๖ รูป โดยชุดแรกจะสวดเต็มรูปแบบ ส่วนชุดที่สองและสามจะรับพระราชทานผ้าไตร สวดมาติกาบังสุกุลอย่างย่อ แล้วเดินออกจากพระที่นั่ง
  9. มีพระสงฆ์ พระราชาคณะ บรรพชิต สมาชิกราชสกุล ประธานองคมนตรี องคมนตรี นายกรัฐมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทูตานุทูต ผู้แทนผู้นำจากต่างประเทศ รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการทหาร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ข้าราชการ ตัวแทนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชน
  10. 10.0 10.1 การถ่ายทอดสด พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
  11. 11.0 11.1 เนื่องด้วยพื้นที่อาสนสงฆ์มีจำกัด เจ้าพนักงานจึงจัดพระสงฆ์เป็น ๓ ชุด ชุดละ ๓๐ รูป
  12. การถ่ายทอดสด พระราชพิธีเก็บพระอัฐิ เชิญพระอัฐิและพระสรีรางคาร สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประดิษฐาน ณ พระบรมมหาราชวัง โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
  13. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  14. เจ้าพนักงานเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวารคู่พระบรมอัฐิและพระอัฐิ ยกเว้นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ที่มิได้มีการสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของทั้งสองพระองค์
  15. การถ่ายทอดสด พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
  16. การถ่ายทอดสด พระราชพิธีเลี้ยงพระ และเชิญโกศพระอัฐิ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
  17. การถ่ายทอดสด พระราชพิธีเชิญพระสรีรางคาร สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บรรจุ ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
  18. หนังสือ "ศิลปกรรมพระประวัติและพระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์"

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]