ข้ามไปเนื้อหา

ศาสนาคริสต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คริสต์ศาสนา)

ศาสนาคริสต์ (อังกฤษ: Christianity) ราชบัณฑิตยสถานเรียกว่า คริสต์ศาสนา[1] เป็นศาสนาประเภทเอกเทวนิยมแบบอับราฮัม ที่มีพื้นฐานมาจากชีวิตและการสอนของพระเยซูตามที่ปรากฏในพระวรสารในสารบบ (canonical gospel) และงานเขียนพันธสัญญาใหม่อื่น ๆ [2] ผู้นับถือศาสนาคริสต์เรียกว่าคริสต์ศาสนิกชนหรือคริสตชน

ศาสนาคริสต์
ศาสนิกชนรวม
2.4 พันล้านคน
ศาสดา
พระเยซูคริสต์
ภูมิภาคที่มีศาสนิกชนจำนวนมาก
ทั่วโลก
ศาสนา
แยกมาจากยูดาห์
คัมภีร์
ไบเบิล
ภาษา
ฮีบรู, กรีก, อาราเมค

พระเยซูเป็นพระบุตรพระเป็นเจ้า และเป็นพระเจ้าผู้มาบังเกิดเป็นมนุษย์และเป็นพระผู้ไถ่ เพื่อมนุษย์ซึ่งเป็นคนบาป คริสตชนจึงเรียกพระเยซูว่า "พระคริสต์" หรือ "พระเมสสิยาห์"[3] ศาสนาคริสต์ปัจจุบันแบ่งเป็นสามนิกายใหญ่ คือ โรมันคาทอลิก ออร์ทอดอกซ์ และโปรเตสแตนต์ ซึ่งยังแบ่งนิกายย่อยได้อีกหลายนิกาย เขตอัครบิดรโรมันคาทอลิกและออร์ทอดอกซ์แยกออกจากกันในช่วงศาสนเภทตะวันออก-ตะวันตก (East–West Schism) ใน ค.ศ. 1054 และนิกายโปรเตสแตนต์เกิดขึ้นหลังการปฏิรูปศาสนาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งแยกตัวออกจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก[4]

ศาสนาคริสต์ในช่วงแรกถือเป็นนิกายหนึ่งของศาสนายูดาห์เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 1[5][6] โดยถือกำเนิดขึ้นในชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออกของตะวันออกกลาง (ปัจจุบัน คือ อิสราเอลและปาเลสไตน์) ไม่นานก็เผยแพร่ไปยังซีเรีย เมโสโปเตเมีย เอเชียไมเนอร์ และอียิปต์ ศาสนาคริสต์มีขนาดและอิทธิพลเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษ และจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4 ได้กลายมาเป็นศาสนาประจำชาติจักรวรรดิโรมัน[7] ระหว่างสมัยกลาง ในดินแดนยุโรปที่เหลือส่วนมากรับศาสนาคริสต์แล้ว แต่บางภูมิภาค เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ เอธิโอเปีย และบางส่วนของประเทศอินเดีย คริสตชนยังถือเป็นศาสนิกชนกลุ่มน้อย[8][9] หลังยุคสำรวจ ศาสนาคริสต์ได้แผ่ขยายไปยังทวีปอเมริกา ออสตราเลเซีย แอฟริกาใต้สะฮารา และส่วนที่เหลือของโลกผ่านงานมิชชันนารีและลัทธิอาณานิคม

พระเยซูคือพระเมสสิยาห์ที่พยากรณ์ไว้ในคัมภีร์ฮีบรู ซึ่งในศาสนาคริสต์เรียกว่า "พันธสัญญาเดิม" พื้นฐานเทววิทยาศาสนาคริสต์นั้นแสดงออกมาในหลักข้อเชื่อสากล (ecumenical creed) ที่มีมาตั้งแต่ศาสนาคริสต์ยุคแรก และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในบรรดาคริสต์ศาสนิกชน การประกาศข่าวประเสริฐนี้มีอยู่ว่า พระเยซูทรงรับพระทรมาน สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนและถูกฝังพระศพไว้ ก่อนจะคืนพระชนม์เพื่อให้ชีวิตนิรันดร์แก่ผู้ที่เชื่อในพระองค์และวางใจว่าพระองค์เป็นผู้ไถ่บาป[10] พระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ ที่ซึ่งพระองค์ทรงควบคุมและปกครองรวมกับพระเจ้าพระบิดา พระเยซูจะทรงเสด็จกลับมาพิพากษามนุษย์ทุกคน ทั้งคนเป็นและคนตาย และให้ชีวิตนิรันดร์แก่ผู้ที่เชื่อและวางใจในพระองค์[11] พระองค์ทรงถูกมองว่าเป็นแบบอย่างของชีวิตอันดีงาม และทรงเป็นทั้งผู้เผยพระวจนะเหนือผู้เผยพระวจนะและเป็นพระเจ้าลงมารับสภาพมนุษย์[12]

ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ศาสนาคริสต์มีศาสนิกชนประมาณ 2.4 พันล้านคนทั่วโลก[13][14] คิดเป็นประมาณ 33% หรือหนึ่งในสี่ถึงหนึ่งในสามของประชากรโลก และเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในโลก[15][16] ทั้งยังเป็นศาสนาประจำชาติในหลายประเทศ

นิกาย

[แก้]
(ไม่ได้แสดงนิกายที่มิใช่ไนซีน, ไม่ถือตรีเอกานุภาพ, และนิกายฟื้นฟูบางนิกาย)

มนุษย์ได้แบ่งศาสนาคริสต์ให้เป็นนิกายต่าง ๆ ซึ่งแปรไปตามพื้นที่, วัฒนธรรม และความคิดของตน นิกายที่สำคัญมี 3 นิกายคือ

  • โรมันคาทอลิก แปลว่าสากล เป็นนิกายดั้งเดิมที่ยึดมั่นในหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์เคารพพระนางมารีย์และนักบุญต่าง ๆ ภายในโบสถ์ของนิกายนี้จะมีรูปเคารพพระเยซูคริสต์ พระแม่มารีย์ และนักบุญต่าง ๆ มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่สันตะสำนัก มีพระสันตะปาปาเป็นประมุข โดยสืบทอดมาตั้งแต่สมัยอัครทูตกลุ่มแรก โดยถือว่านักบุญซีโมนเปโตรคือพระสันตะปาปาพระองค์แรก ซึ่งได้รับการยินยอมจากพระเจ้าให้ปกครองศาสนจักรทั้งมวลและสืบทอดมาถึงสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน คาทอลิกมีนักบวชเรียกว่าบาทหลวง และสมาชิกคณะนักบวชคาทอลิก ถ้าเป็นชายเรียกว่าภราดา (brother) หญิงเรียกว่าภคินี (sister) ชาวไทยจะเรียกผู้นับถือนิกายนี้ว่า "คริสตัง" ตามเสียงอ่านภาษาโปรตุเกส มีผู้นับถือนิกายนี้ประมาณ 1200 ล้านคน[17] นิกายนี้ถือว่าบาทหลวงเป็นสื่อกลางระหว่างพระเจ้าและมนุษย์ (ตัวแทนพระเจ้าในโลกนี้)
  • ออร์ทอดอกซ์ แปลว่าถูกต้องและดั้งเดิม นิกายออทอดอกซ์ยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าศาสนาคริสต์ตะวันออก เป็นนิกายดั้งเดิม ปฏิบัติตามหลักการทางเทววิทยาอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่สมัยศาสนาคริสต์ยุคแรก ศาสนจักรนี้เชื่อว่าคริสตจักรออร์โธด็อกซ์เป็นคริสตจักรแท้จริงเพียงหนึ่งเดียวที่ก่อตั้งโดยพระเยซูคริสตเจ้า โดยสืบเนื่องมาจากอัครทูตของพระเยซูคริสต์ โดยนับถือมากในประเทศทางฝั่งยุโรปตะวันออก เช่น กรีซ รัสเซีย โรมาเนีย ยูเครน บัลแกเรีย ฟินแลนด์ สโลวาเกีย มาซิโดเนีย ฯลฯ คริสตจักรออร์ทอดอกซ์แบ่งการปกครองเป็นคริสตจักรย่อย ๆ แต่ละคริสตจักรมีอัครบิดร (หรือชาวอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ในประเทศไทยเรียกว่า พระสังฆราช)เป็นประมุข ผู้มีหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ประเพณีของศาสนจักร และสามารถสืบสายกลับไปได้ถึงอัครทูตของพระเยซูโดยเฉพาะนักบุญอันดรูว์ และออร์ทอดอกซ์มีนักบวชเรียกว่าบาทหลวง ส่วนนักบวชหญิงเรียกว่าภคินี หรือซิสเตอร์ มีผู้นับถือนิกายนี้ประมาณ 225–300 ล้านคน[18]
  • โปรเตสแตนต์ แปลว่าคัดค้าน แยกตัวมาจากนิกายโรมันคาทอลิกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นนิกายที่ถือว่าศรัทธาของแต่ละคนที่มีต่อพระเจ้าสำคัญกว่าพิธีกรรม ซึ่งยังแตกย่อยออกเป็นหลายร้อยคณะ เนื่องจากมีความเห็นแตกต่างในประเด็นปลีกย่อยที่กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล และการปฏิบัติในพิธีกรรม นิกายนี้ไม่มีนักบวชเพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพระเจ้าได้โดยมิต้องอาศัยบาทหลวง มีเพียงศิษยาภิบาล ที่คอยให้คำปรึกษากับผู้เชื่อ และถือว่าพระเยซูได้ทรงไถ่บาปแก่ศาสนิกทุกคนไปเมื่อถูกตรึงกางเขนแล้ว นิกายนี้มีเพียงไม้กางเขนเป็นเครื่องหมายแห่งศาสนาเท่านั้น ชาวไทยจะเรียกผู้นับถือนิกายนี้ว่า "คริสเตียน" ตามเสียงอ่านภาษาอังกฤษ มีผู้นับถือรวมกันทุกนิกายย่อยประมาณ 850 ล้านคน[19] นิกายนี้ถือว่าพระคัมภีร์เป็นถ้อยคำที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า ซึ่งพระเจ้าได้เปิดเผยแก่มนุษย์ให้รู้จักพระองค์และรู้จักแผนการของพระเจ้าที่มีต่อมวลมนุษยชาติ

พิธีกรรมสำคัญในศาสนาคริสต์

[แก้]

พิธีกรรมสำคัญในศาสนานี้เรียกว่า "พิธีศักดิ์สิทธิ์" มีดังนี้

  • พิธีบัพติศมา หรือศีลล้างบาป เป็นพิธีกรรมแรกที่รับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชนอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน เป็นการแสดงตัวว่ามอบชีวิตให้กับพระเจ้า เสมือนชีวิตเก่านั้นได้ตายแล้วและจากนี้ไปจะมีชีวิตใหม่ในพระเยซูคริสต์ ซึ่งยอห์นผู้ให้บัพติศมาเป็นผู้ริเริ่มทำพิธีเป็นครั้งแรกในสมัยที่พระเยซูคริสต์ยังมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ ในนิกายโรมันคาทอลิกบาทหลวงจะใช้น้ำเสกเทลงบนศีรษะพร้อมเจิมน้ำมันคริสมาที่หน้าผาก ในนิกายออร์ทอดอกซ์ ก่อนทำพิธีล้างจะมีการแต่งตั้งนักบุญและสวดมนต์เพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากตัวของผู้ที่เข้ารับศีลล้างบาปโดยบาทหลวงจะเป็นผู้ทำพิธี และสุดท้ายจะจุ่มตัวของผู้ล้างลงในน้ำสามครั้ง ในนิกายโปรเตสแตนต์ใข้น้ำเป็นสัญลักษณ์ว่าได้ตายจากชีวิตเก่าและถือกำเนิดใหม่ในพระคริสต์แล้วโดยอาจจุ่มทั้งตัวผู้รับบัพติศมาแล้วจึงขึ้นจากน้ำ หรืออาจประพรมด้วยน้ำลงบนศีรษะก็ได้
  • พิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ หรือศีลมหาสนิท เป็นพิธีกรรมที่แสดงถึงการร่วมสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระเยซู มีการปฏิบัติครั้งแรกโดยพระเยซูคริสต์ในคืนวันที่จะถูกจับไปเป็นนักโทษเพื่อเข้าสู่ การตรึงกางเขน ซึ่งมีบันทึกไว้โดยเปาโลอัครทูตในจดหมายที่เขียนฝากไปยังคริสตชนที่เมืองโครินธ์ ซึ่งอยู่ใน พันธสัญญาใหม่ ของพระคัมภีร์ไบเบิล ความว่า

คือ​ใน​คืน​ที่​เขา​อายัด​พระ​เยซู​เจ้า​นั้น ​พระ​องค์​ทรง​หยิบ​ขนม​ปัง ครั้น​ขอบ​พระ​คุณ​แล้ว​จึง​ทรง​หัก แล้ว​ตรัส​ว่า “นี่​เป็น​กาย​ของ​เรา ซึ่ง​ให้แก่​ท่าน​ทั้ง​หลาย จง​กระทำ​อย่าง​นี้​ให้​เป็น​ที่​ระลึก​ถึง​เรา"

เมื่อ​รับประทาน​แล้ว ​พระ​องค์​จึง​ทรง​หยิบ​ถ้วย​ด้วย​อาการ​อย่าง​เดียว​กัน ตรัส​ว่า “ถ้วย​นี้​คือ​พันธสัญญา​ใหม่ โดย​โลหิต​ของ​เรา เมื่อ​ท่าน​ดื่ม​จาก​ถ้วย​นี้​เวลา​ใด จง​ดื่ม​เป็น​ที่​ระลึก​ถึง​เรา”

เพราะ​ว่า​เมื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​กิน​ขนม​ปัง​นี้​และ​ดื่ม​จาก​ถ้วย​นี้​เวลา​ใด ท่าน​ก็​ประกาศ​การ​วาย​พระ​ชนม์​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า จนกว่า​พระ​องค์​จะ​เสด็จ​มา

และทางนิกายโรมันคาทอลิกและออร์ทอดอกซ์จะถือว่าเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์มาก โดยจะรับประทานขนมปังและไวน์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความเชื่อแทนพระกายและพระโลหิตของพระเยซู (ทางศาสนจักรโรมันคาทอลิก และออร์ทอดอกซ์จะถือว่าขนมปังและไวน์ในทางอัศจรรย์จะกลายเป็นพระมังสาและพระโลหิตของพระเยซูคริสต์) และเป็นพิธีกรรมที่สืบเนื่องมาจากพิธีปัสคาของศาสนายูดาห์

  • ศีลอภัยบาป เป็นการสารภาพบาปกับพระเจ้าโดยผ่านบาทหลวง บาทหลวงจะเป็นผู้ตักเตือนสั่งสอนไม่ให้ทำบาปนั้นอีก และทำการอภัยบาปให้ในนามพระเจ้า
  • ศีลกำลัง เป็นพิธีรับศีลโดยการเจิมหน้าผาก เพื่อยืนยันความเชื่อว่าจะนับถือศาสนาคริสต์ตลอดไปและได้รับพระพรของพระจิต ทำให้เข้มแข็งในความเชื่อมากขึ้นโดยทางศาสนจักรออร์ทอดอกซ์จะเรียกพิธีนี้ว่า "พิธีกรรมแห่งศีลการเจิมน้ำมันอันศักดิ์สิทธิ์"
  • ศีลสมรส เป็นพิธีประกอบการแต่งงาน โดยบาทหลวงเป็นพยาน เป็นการแสดงความสัมพันธ์ว่าจะรักกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่
  • ศีลอนุกรม เป็นพิธีสำหรับการบวชเป็นนักบวช ได้แก่ มุขนายก (พระสังฆราช) บาทหลวง และพันธบริกร (สังฆานุกร)
  • ศีลเจิมคนไข้ เป็นพิธีเจิมคนไข้โดยบาทหลวงจะเจิมน้ำมันลงบนหน้าผากและมือทั้งสองข้างของผู้ป่วย ให้ระลึกว่าพระเจ้าจะอยู่กับตนและให้พลังบรรเทาอาการเจ็บป่วย โดยทางศาสนจักรออร์ทอดอกซ์จะเรียกว่า "พิธีกรรมศีลเสกเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์" [20] [21]

สำหรับนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายออร์ทอดอกซ์ จะมีพิธีกรรมทั้ง 7 พิธี แต่สำหรับนิกายโปรเตสแตนต์ จะมีเพียง 2 พิธี คือ พิธีบัพติศมาและพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 156
  2. BBC, BBC—Religion & Ethics—566, Christianity
  3. Briggs, Charles A. The fundamental Christian faith: the origin, history and interpretation of the Apostles' and Nicene creeds. C. Scribner's sons, 1913. Books.Google.com
  4. S. T. Kimbrough, บ.ก. (2005). Orthodox and Wesleyan Scriptural understanding and practice. St Vladimir's Seminary Press. ISBN 9780881413014.
  5. Robinson, Essential Judaism: A Complete Guide to Beliefs, Customs and Rituals, p. 229.
  6. Esler. The Early Christian World. p. 157f.
  7. Religion in the Roman Empire, Wiley-Blackwell, by James B. Rives, page 196
  8. Catholic encyclopedia New Advent
  9. McManners, Oxford Illustrated History of Christianity, pp. 301–03.
  10. Sheed, Frank. Theology and Sanity. (Ignatius Press: San Francisco, 1993), pp. 276.
  11. "Christianity". Knowledge Resources. Berkley Center for Religion, Peace, and World Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-15. สืบค้นเมื่อ 2011-11-22.
  12. McGrath, Christianity: An Introduction, pp. 4–6.
  13. "Christianity_by_country". wikipedia.org. สืบค้นเมื่อ 2015-06-08.
  14. "Major Religions Ranked by Size". Adherents.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-15. สืบค้นเมื่อ 2009-05-05.
  15. Hinnells, The Routledge Companion to the Study of Religion, p. 441.
  16. Zoll, Rachel (December 19, 2011). "Study: Christian population shifts from Europe". Associated Press. สืบค้นเมื่อ 19 December 2011.
  17. "Catholic_Church_by_country". wikipedia.org. สืบค้นเมื่อ 2015-06-08.
  18. https://en.wikipedia.org/wiki/Eastern_Orthodoxy_by_country
  19. "Protestantism_by_country". wikipedia.org. สืบค้นเมื่อ 2015-06-08.
  20. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-12. สืบค้นเมื่อ 2016-06-19.
  21. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-04. สืบค้นเมื่อ 2016-06-19.
  • Gill, Robin (2001). The Cambridge companion to Christian ethics. Cambridge, UK: Cambridge University Press. ISBN 0521779189. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  • Gunton, Colin E. (1997). The Cambridge companion to Christian doctrine. Cambridge, UK: Cambridge University Press. ISBN 0-521-47695-X. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  • MacMullen, Ramsay (2006). Voting About God in Early Church Councils. New Haven, CT: Yale University Press. ISBN 0300115962. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  • Padgett, Alan G.; Sally Bruyneel (2003). Introducing Christianity. Maryknoll, N.Y.: Orbis Books. ISBN 1570753954. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  • Price, Matthew Arlen; Collins, Michael (1999). The story of Christianity. New York: Dorling Kindersley. ISBN 0-7513-0467-0.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  • Ratzinger, Joseph (2004). Introduction To Christianity (Communio Books). San Francisco: Ignatius Press. ISBN 1586170295. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  • Tucker, Karen; Wainwright, Geoffrey (2006). The Oxford history of Christian worship. Oxford [Oxfordshire]: Oxford University Press. ISBN 0-19-513886-4. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  • Wagner, Richard (2004). Christianity for Dummies. For Dummies. ISBN 0764544829. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  • Webb, Jeffrey B. (2004). The Complete Idiot's Guide to Christianity. Indianapolis, Ind: Alpha Books. ISBN 159257176X. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  • Woodhead, Linda (2004). Christianity: a very short introduction. Oxford [Oxfordshire]: Oxford University Press. ISBN 0192803220. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]