เคลอจี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เคลอจี

เคลอจี (อังกฤษ: clergy ไทย: อ่านว่า เคลอ-จี) คือ ผู้ได้รับศีลบวช ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติว่านักบวช[1] รูปเอกพจน์เรียกว่าเคลริก (cleric) ศาสนาคริสต์เริ่มใช้คำนี้เพื่อหมายถึงศาสนบุคคลที่ได้รับศีลบวช ได้แก่ ดีกัน บาทหลวง และบิชอป[2] ในปัจจุบันหมายถึง บุคคลในศาสนาใด ๆ ที่ผ่านพิธีบวชเพื่อปฏิบัติหน้าที่รับใช้ศาสนา[3]

ศาสนาคริสต์[แก้]

นิกายโรมันคาทอลิก[แก้]

เคลอจีในนิกายคาทอลิกได้แก่พันธบริกร บาทหลวง และมุขนายก (หรือทับศัพท์ว่าบิชอป) ในกลุ่มมุขนายกนี้รวมทั้งมุขนายกมหานคร อัครมุขนายก อัครบิดร ส่วนพระสันตะปาปาถือว่าเป็นบิชอปแห่งโรมด้วย พระคาร์ดินัลมักมีตำแหน่งเป็นมุขนายกเช่นกัน แต่ก็ไม่เสมอไปเพราะในอดีตมีพระคาร์ดินัลบางองค์เป็นฆราวาส ทางสันตะสำนักจะสนับสนุนกิจกรรมของเคลอจีผ่านทางสมณกระทรวงเพื่อผู้ได้รับศีลบวช

กฎหมายศาสนจักรของคริสตจักรคาทอลิก (มาตรา 207) ระบุว่า "โดยการกำหนดของพระเป็นเจ้า ในคริสตจักรมีคริสตชนที่เป็นศาสนบริกรศักดิ์สิทธิ์ (sacred minister) ซึ่งตามนัยของกฎหมายเรียกว่าผู้ได้รับศีลบวช (cleric) ส่วนคริสตชนอื่นเรียกว่าฆราวาส"[4] การจำแนกดังกล่าวนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ศาสนาคริสต์ยุคแรก ดังเห็นได้จากงานเขียนหลายชั้นของนักบุญอิกเนเชียสแห่งแอนติออก คำว่าเคลริกแต่เดิมหมายถึงเฉพาะมุขนายก (ได้แก่อัครทูตทั้งสิบสองคน) และพันธบริกร (ผู้ช่วย 70 คนของอัครทูต) ส่วนขั้นบาทหลวงจริง ๆ แล้วพัฒนามาเป็นประเภทกึ่งมุขนายก ในศาสนจักรคาทอลิกอนุญาตให้ผู้ชายเท่านั้นรับศีลบวชได้

องค์การของผู้ได้รับศีลบวชในนิกายคาทอลิกจะมีการแบ่งลำดับชั้นบังคับบัญชา ก่อนการปฏิรูปตามสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ผู้จะรับศีลบวชต้องเข้าพิธีโกน จากนั้นจึงรับอนุกรมน้อย (คือขั้นผู้เฝ้าประตู ผู้อ่านพระคัมภีร์ ผู้ขับไล่ปีศาจ และผู้ถือเทียน) และอนุกรมใหญ่ (คือขั้นอุปพันธบริกร พันธบริกร บาทหลวง และมุขนายก) ได้ ซึ่งฝ่ายคาทอลิกถือว่าขั้นมุขนายกเป็นขั้นสูงสุดและสมบูรณ์ของศีลอนุกรม (หรือศีลบวช) ปัจจุบันนี้อนุกรมน้อยและขั้นอุปพันธบริกรให้ฆราวาสทำหน้าที่แทนและยกเลิกพิธีโกนไปด้วย

ในคริสตจักรคาทอลิกและคาทอลิกตะวันออกมีข้อยกเว้นบ้างในกรณีที่พระสันตะปาปาทรงอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ฝ่ายคริสตจักรตะวันออกถือว่าเคลอจีคือทุกคนที่รับอนุกรมไม่ว่าจะเป็นอนุกรมน้อย (ซึ่งสายนี้ยังรักษาไว้อยู่) รวมถึงนักศึกษาเซมินารี ดังนั้นในคริสตจักรตะวันออก ทั้งพันธบริกร บาทหลวง และมุขนายก จะถูกเรียกว่า "คุณพ่อ" กันทั้งหมด ขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับอนุกรมจะเรียกว่า "ภราดา" (ในคริสตจักรตะวันตกหรือละติน เฉพาะบาทหลวงจะเรียกว่า "คุณพ่อ" ส่วนพันธบริกรก็เรียกว่า "พันธบริกร" ส่วนมุขนายกเรียกว่า "ฯพณฯ" "ท่านบิชอป" หรือ "พระคุณเจ้า")

นักพรตและนักบวชอื่น ๆ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเคลอจีเสมอไป ขึ้นอยู่ที่ว่าจะได้รับศีลอนุกรมหรือไม่ ดังนั้นนักพรตชาย นักพรตหญิง ไฟรเออร์ ภราดา และภคินี ซึ่งไม่ได้รับศีลบวชจึงไม่นับว่าเป็นเคลอจี เพราะศีลบวชเป็น 1 ใน 7 ศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตามข้อความเชื่อของชาวคาทอลิกถือว่าเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงตั้งไว้

กฎหมายศาสนจักรฉบับปัจจุบันกำหนดว่า ในการบวชบาทหลวง ผู้สมัครต้องเรียนปรัชญาอัสมาจารย์ 2 ปี และเทววิทยาอีก 4 ปี นอกจากนี้ยังต้องเรียนเทววิทยาสิทธันต์และศีลธรรม คัมภีร์ไบเบิล และกฎหมายศาสนจักรที่เซมินารีหรือที่วิทยาลัยในมหาวิทยาลัยของคริสตจักร หลักเกณฑ์นี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแนวคิดวิชาการในคริสตจักรละติน

ผู้ที่จะบวชเป็นพันธบริกรและบาทหลวงในจารีตละตินยังต้องปฏิญาณถือการเป็นโสดและน้อมน้อมเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา แต่กรณีพันธบริกรถาวรที่แต่งงานไปแล้วก็ไม่ห้าม แต่ถ้าภรรยาเสียชีวิตแล้วจะแต่งงานใหม่ไม่ได้ กฎนี้เป็นเรื่องของการปกครองและระเบียบมากกว่าจะเป็นไปตามสิทธันต์และข้อความเชื่อ การอยู่โสดมีอยู่หลายรูปแบบตามยุคสมัยและสถานที่ สังคายนาตรุลโลในปี 692 ห้ามไม่ให้มุขนายกแต่งงาน แต่ก็ไม่กีดกันชายที่แต่งงานแล้วไม่ให้เป็นบาทหลวง และได้ขับพวกพันธบริกรที่หย่าคู่สมรสเพื่อมาบวชออกจากศาสนจักร วินัยนี้จารีตละตินและคริสตจักรคาทอลิกตะวันออกยังรักษากันอยู่จนทุกวันนี้ บุรุษที่สมรสแล้วในจารีตละตินจะบวชเป็นบาทหลวงไม่ได้ แต่บาทหลวงนิกายแองกลิคันที่แต่งงานแล้วหากเปลี่ยนมาเข้านิกายคาทอลิกก็ยังเป็นบาทหลวงได้ต่อ[5] ส่วนจารีตตะวันออก เช่น คริสตจักรเมลไคต์กรีกคาทอลิก ปฏิบัติตามนิกายออร์ทอดอกซ์คือให้ชายที่สมรสแล้วบวชเป็นพันธบริกรและบาทหลวงได้

ผู้ได้รับศีลบวชยังได้รับสิทธิสำคัญดังนี้

  1. Right of Canon: ใครก็ตามที่กระทำความรุนแรงต่อผู้ได้รับศีลบวช เท่ากับละเมิดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กฤษฎีกาฉบับนี้มาจากสังคายนาลาเตรันปี 1097 (ตามที่สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ร้องขอ) แล้วรื้อฟื้นอีกครั้งในสังคายนาลาเตรันครั้งที่สอง (1139)
  2. Right of Forum: ผู้ได้รับศีลบวชจะรับการพิพากษาจากศาลยุติธรรมของคริสตจักรเท่านั้น จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราชให้สิทธิ์นี้แก่บิชอป ต่อมาจึงมีพระราชกฤษฎีกาให้ครอบคลุมถึงผู้รับศีลบวชทั้งหมดด้วย
  3. Right of Immunity: ผู้ได้รับศีลบวชจะไม่ถูกเกณฑ์ทหาร หรือทำหน้าที่อื่น ๆ ที่ขัดกับบทบาทของท่าน
  4. Right of Competence: รายได้บางส่วนซึ่งเกี่ยวกับการบริโภคของผู้ได้รับศีลบวชจะถูกผู้ให้กู้ริบเอาไปไม่ได้

ขอบเขตการยอมรับสิทธิ์เหล่านี้ขึ้นอยู่กับกฎหมายแพ่งซึ่งเปลี่ยนไปตามแต่ละประเทศ ถ้าเป็นประเทศคาทอลิกดั้งเดิมก็จะเคารพสิทธิ์เหล่านี้เป็นพิเศษ

ศาสนาพุทธ[แก้]

ดูบทความหลักที่ พระสงฆ์

ในพุทธศาสนาเคลอจีจะหมายถึงพระสงฆ์ ซึ่งประกอบด้วยภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ คณะสงฆ์นี้พระพุทธเจ้าทรงก่อตั้งขึ้นเมื่อราวศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช ตามที่คัมภีร์บันทึกไว้ ระบุว่าภิกษุและภิกษุณีในสมัยพุทธกาลจะต้องอยู่โสด ใช้ชีวิตสมถะเรียบง่าย เน้นการเจริญสมาธิภาวนา ถือพรตจาริกไปเรื่อย ๆ เป็นเวลา 9 เดือน และอยู่จำพรรษาอีก 3 เดือนในช่วงเข้าพรรษา แต่ในปัจจุบันบทบาทของคณะสงฆ์เปลี่ยนแปลงไปในบางประเทศ เช่น ในญี่ปุ่นและบางนิกายในเกาหลี อนุญาตให้นักบวชในพุทธศาสนาแต่งงานได้ นักบวชดังกล่าวจึงไม่ถือวัตรอย่างนักพรต (แต่ชีส่วนมากยังคงถือพรหมจรรย์) ส่วนนิกายเถรวาท เช่น พุทธศาสนาในประเทศไทย พม่า กัมพูชา และศรีลังกา ยังคงให้พระสงฆ์ใช้ชีวิตอย่างนักพรต (เรียกว่า ชีวิตอารามวาสี) โดยเฉพาะห้ามมิให้พระภิกษุแตะต้องกายสตรี หรือแม้แต่ทำงานอย่างทางโลก

ในหลาย ๆ ประเทศ ภิกษุณีสงฆ์ยังมีอยู่ แต่สายของเถรวาทนั้นสายภิกษุณีสงฆ์ซึ่งมีเฉพาะที่ลังกาได้ขาดช่วงสืบทอดไปตั้งแต่สมัยถูกโปรตุเกสยึดครอง[6] ทางฝ่ายทิเบตก็ไม่เคยมีสายภิกษุณีไปเผยแพร่ ยกเว้นสามเณรี สถานะและอนาคตของภิกษุณีสงฆ์ในดินแดนเหล่านี้จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ในประเทศที่ไม่มีภิกษุณีสงฆ์สตรีจึงเลือกบวชด้วยวิธีอื่น เช่น เป็นแม่ชี แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิ์และเอกสิทธิ์อย่างนักพรตหญิง

ความหลากหลายของนิกายในพุทธศาสนาทำให้การอธิบายเคลอจีทำได้ยาก ในสหรัฐ นักบวชญี่ปุ่นนิกายสุขาวดีจะมีลักษณะบทบาทคล้ายศาสนาจารย์ในนิกายโปรเตสแตนต์ ขณะเดียวกันพระป่าในประเทศไทยเน้นชีวิตด้านการเจริญจิตภาวนาและจำพรรษาในชุมชนเล็ก ๆ ห่างไกลเมือง ต่างจากพระบ้านที่เน้นงานสอน ศึกษาพระธรรม และปกครองคณะสงฆ์ (ซึ่งอยู่ภายใต้อุปถัมภ์ของรัฐ เช่น มหาเถรสมาคม) ในนิกายเซนในจีน เกาหลี และญี่ปุ่น การทำงานหัตถกิจถือเป็นระเบียบสำคัญของสำนัก ขณะที่นิกายเถรวาทไม่นิยมให้พระสงฆ์ทำงานอย่างผู้ใช้แรงงานหรือเกษตรกร

ปัจจุบันที่อเมริกาเหนือ มีทั้งพระสงฆ์ที่ถือและไม่ถือพรหมจรรย์จากนิกายต่าง ๆ จากทั่วโลก บางคณะเป็นพระป่าในนิกายเถรวาท บางคณะก็เป็นนักบวชมีคู่สมรสจากนิกายเซนจากญี่ปุ่นและอาจทำงานทางโลกด้วยนอกจากงานในพุทธศาสนา

อ้างอิง[แก้]

  1. "ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2011-05-23.
  2. บัญญัติศัพท์, สำนักมิสซังกรุงเทพ
  3. "Oxford Dictionaries". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-17. สืบค้นเมื่อ 2011-05-23.
  4. Code of Canon Law, Can. 207 §1.
  5. "Vatican seeks to lure disaffected Anglicans". The Associated Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-23. สืบค้นเมื่อ 2007-10-25.
  6. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 98