เธลีมา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แอลีสเตอร์ โครวลีย์ในปี ค.ศ. 1912

เธลีมา (อังกฤษ: Thelema) เป็นปรัชญาทางจิตวิญญาณและสังคมแบบรหัสยศาสตร์และคุยหลัทธิตะวันตก[1] รวมถึงเป็นขบวนการศาสนาใหม่ที่ก่อตั้งช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1900 โดยแอลีสเตอร์ โครวลีย์ (ค.ศ. 1875–1947) นักเขียน นักปรัชญาและรหัสยิกชาวอังกฤษ[2] เธลีมามีแนวคิดสำคัญคือการค้นหาและติดตามเจตจำนงแท้ของตนอันอยู่เหนือความปรารถนาทั่วไป เธลีมามีที่มาจาก คัมภีร์แห่งกฎ (The Book of the Law) ซึ่งโครวลีย์แต่งขึ้นในปี ค.ศ. 1909 หลังได้รับคำบอกจากไอวาส (Aiwass) "เสียง" ที่โครวลีย์ได้ยินในเดือนเมษายน ค.ศ. 1904[3][4][5] คัมภีร์นี้ได้วางรากฐานและสัจพจน์กลางที่ว่า "ทำตามเจตจำนงควรเป็นสิ่งสูงสุด"[6] ("Do what thou wilt shall be the whole of the Law")[7] มโนทัศน์นี้เน้นย้ำถึงเสรีภาพและการเดินตามวิถีทางของตน โดยได้รับการชี้นำจากความรักและการแสวงหาเจตจำนงแท้แห่งตน

จักรวาลวิทยาของเธลีมาประกอบด้วยเทพเจ้าหลายองค์จากศาสนาอียิปต์โบราณ เทพสำคัญ ได้แก่ นูอิต (Nuit) ท้องฟ้ายามราตรีที่แทนด้วยสตรีเปลือยที่ปกคลุมด้วยดวงดาว พระองค์ถือเป็นเทพีสูงสุดและ "พระแม่" ผู้เป็นบ่อเกิดของทุกสรรพสิ่ง[8] นูอิตมาจากนูต เทพีแห่งท้องฟ้าของอียิปต์ แฮดิต (Hadit) พระสวามีของนูอิตที่แทนด้วยจุดเล็กไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์เป็นตัวแทนของการสำแดง การเคลื่อนไหวและเวลา[8] และรา-ฮูร์-คูอิต (Ra-Hoor-Khuit) ร่างจำแลงของเทพฮอรัส พระองค์เกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์และเป็นพลังงานที่ไหลเวียนในพิธีกรรมของเธลีมา[8] เจตจำนงแท้เป็นแนวคิดหลักของเธลีมา โดยโครวลีย์เชื่อว่าการค้นพบและบรรลุเจตจำนงแท้เป็นหนทางสู่ความเข้าใจและเติมเต็มตนเอง หรือที่เรียกว่าเกรตเวิร์ก (Great Work)[9]

เซเรมอเนียลแมจิก (ceremonial magic หรือเรียกเพียง แมจิก (magick)) เป็นการปฏิบัติที่สำคัญในเธลีมา เป็นการฝึกฝนทางกาย จิตใจและจิตวิญญาณ เซเรมอเนียลแมจิกถือเป็นสื่อกลางในการเปิดเผยเจตจำนงแท้[10] และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับเจตจำนงแท้[11] นอกจากนี้ยังมีพิธีนอสติกมิสซา (Gnostic Mass)[12] การฝึกโยคะ การนั่งสมาธิและอื่น ๆ เพื่อช่วยในการสำรวจจิตใจ ผู้ปฏิบัติเธลีมาเฉลิมฉลองวันสำคัญช่วงวิษุวัต อายันและเทศกาลเพื่อระลึกถึงการแต่งคัมภีร์ของโครวลีย์[13]

เธลีมามาจากคำภาษากรีกโบราณ θέλημα (thélēma) หมายถึง "เจตจำนง"[14] แจ็ก พาร์สันส์ เคนเนธ แกรนต์ เจมส์ ลีสและเนมา อันนาฮัดนามีส่วนในการพัฒนาเธลีมาหลังโครวลีย์ โดยแนะนำแนวคิด การปฏิบัติและการตีความใหม่ พาร์สันส์ริเริ่มพิธีแบแบลอนเวิร์กกิง (Babalon Working) เพื่ออัญเชิญเทพีแบแบลอน[15] ขณะที่แกรนต์สังเคราะห์ธรรมเนียมต่าง ๆ เข้ากับคณะไทโฟเนียน (Typhonian Order) ของเขา[16] ด้านลีสค้นพบอิงลิชกอบอลลา (English Qaballa)[17] ส่วนอันนาฮัดนาพัฒนามะอัตแมจิก (Maat Magick) สิ่งเหล่านี้ทำให้เธลีมามีความหลากหลายและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

อ้างอิง[แก้]

  1. Crowley (1996), pp. 61–62.
  2. Kaczynski (2010).
  3. Gillavry 2014, pp. 33–42.
  4. Hayward 2017, pp. 137–140.
  5. Tully 2010, pp. 20–47.
  6. Orpheus (2005), p. 64.
  7. Crowley (1976), ch.1, v. 40.
  8. 8.0 8.1 8.2 Orpheus (2005), pp. 33–44.
  9. Kraig (1998), p. 44.
  10. Gardner (2004), p. 86.
  11. Crowley (1997), Introduction to Part III.
  12. Tau Apiryon (2010).
  13. Schubert (2020).
  14. "Aleister Crowley". Britannica. October 3, 2017. สืบค้นเมื่อ December 13, 2023.
  15. Pendle (2006), pp. 263–271.
  16. Hedenborg White (2020), p. 161.
  17. Lees (2018).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]