ข้ามไปเนื้อหา

ศาลรัฐธรรมนูญ (ประเทศไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชอาณาจักรไทย
ศาลรัฐธรรมนูญ
Constitutional Court
ตราสัญลักษณ์ศาลรัฐธรรมนูญ
แผนที่
สถาปนา11 ตุลาคม พ.ศ. 2540
อำนาจศาลไทย ประเทศไทย
ที่ตั้งศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ
80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
(อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์)
เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ณ อาคารบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ เลขที่ 326 ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ที่มารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561
จำนวนตุลาการ9 คน
งบประมาณต่อปี174,491,700 บาท (พ.ศ. 2566)[1]
เว็บไซต์ConstitutionalCourt.or.th
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ปัจจุบันนครินทร์ เมฆไตรรัตน์[2]
ตั้งแต่19 มีนาคม พ.ศ 2567

ศาลรัฐธรรมนูญ (ย่อ: ศร.) เป็นองค์กรตุลาการที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แทนคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ยุบเลิกไป และมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ[3]

หน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญคือ การพิจารณาทบทวนโดยศาล โดยวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญก็เป็นอันตกไป อย่างไรก็ตาม บทบาทของศาลฯ ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยมีตั้งแต่การประกาศว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย การยุบพรรคการเมือง และการตัดสินให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่ง

นุรักษ์ มาประณีต อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เคยทำหน้าที่ภายใต้คณะรัฐประหารถึง 2 คณะ อยู่ในตำแหน่งรวม 13 ปี รับเงินเดือนรวมอย่างน้อย 20 ล้านบาท เคยตัดสินยุบพรรคอย่างน้อย 29 พรรค ได้รับการแต่งตั้งเป็นองคมนตรีในปี พ.ศ. 2563[4]

องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ

[แก้]
แผนผังแสดงโครงสร้างและที่มาของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรวม 15 คน[5] ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้

  1. ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 5 คน
  2. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีการลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา โดยการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 คน
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา โดยการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 คน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งกับและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน[5] ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้

  1. ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 3 คน
  2. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 200 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้[6]

  1. ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าขณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 3 คน
  2. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งได้รับสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน
  5. ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการ ในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตําแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จํานวน 2 คน

อำนาจและหน้าที่[7]

[แก้]

หน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ คือการเป็นองค์กรที่พิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ด้วยการทำหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือเรื่องการกระทำ การปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญขึ้น และเป็นคดีเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับกับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร

การพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายหรือกฎหมาย การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายก่อนมีการประกาศใช้ เช่น ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติ ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และการวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติมีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเงื่อนไขการตราพระราชกำหนด ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะหรือไม่ และตรวจสอบกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว ในกรณีที่ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร หรือคู่ความในคดี เห็นว่ากฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ากฎหมายมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้

การพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องเกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร

การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญยังให้สิทธิแก่ประชาชนในการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ขยายวัตถุแห่งคดีให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญจากเดิมที่ตรวจสอบเฉพาะ "บทบัญญัติแห่งกฎหมาย" ให้สามารถตรวจสอบ “การกระทำ” ซึ่งละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย รวมทั้งการวินิจฉัยกรณีที่บุคคลหรือชุมชน ซึ่งได้รับประโยชน์โดยตรงจากการทำหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และได้รับความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนหรือล่าช้าเกินสมควรของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้

การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ระบอบการปกครอง และความมั่นคงแห่งรัฐ รวมถึงการวินิจฉัยหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ได้แก่ การพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แก้ไขเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ต้องมีการออกเสียงประชามติ โดยมิได้จัดให้มีการออกเสียงประชามติหรือไม่ การวินิจฉัยว่าบุคคลใดกระทำการโดยใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ การพิจารณาว่าหนังสือสัญญาระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่

การพิจารณาว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี มีการกระทำใดที่มีผลต่อการใช้งบประมาณรายจ่าย ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการมีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนหรือไม่ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย

การวินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา และการวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

หน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่น ได้แก่ หน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้แก่ การพิจารณาวินิจฉัยคำร้องคัดค้านมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง การวินิจฉัยคำร้องคัดค้านมติให้เพิกถอนข้อบังคับพรรคการเมือง การวินิจฉัยคำร้องคัดค้านคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองพ้นจากตำแหน่ง การวินิจฉัยคำร้องคัดค้านประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง การวินิจฉัยขอให้ยุบพรรคการเมือง และการวินิจฉัยกรณีพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องที่บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล การพิจารณาวินิจฉัยว่า มติคณะรัฐมนตรีหรือการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 หรือไม่

การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเป็นระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ซึ่งแตกต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไปของศาลยุติธรรม

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

ในปี 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการกำหนดโทษ "วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ที่กระทำด้วยความไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยให้ศาลมีอำนาจตั้งแต่การตักเตือน การไล่ออกจากบริเวณศาล ไปจนถึงการลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[8]

คำวินิจฉัยที่สำคัญ

[แก้]
วันที่ คำสั่ง/คำวินิจฉัย/มติ
30 พฤษภาคม 2550 ยุบพรรคไทยรักไทยและ 3 พรรคเล็กจากคดีจ้างลงเลือกตั้งและตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค จำนวน 111 คน เป็นระยะเวลา 5 ปี[9]
9 กันยายน 2551 วินิจฉัยให้ นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเป็นลูกจ้างเอกชน[10]
2 ธันวาคม 2551 ยุบพรรคการเมือง 3 พรรค คือ
ยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค จำนวน 37 คน
ยุบพรรคชาติไทย และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค จำนวน 43 คน
ยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค จำนวน 29 คน
โดยรวมแล้วตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรครวม 109 คน เป็นระยะเวลา 5 ปี
จากคดีทุจริตเลือกตั้ง
ซึ่งมีผลทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ในฐานะหัวหน้าพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองและพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามไปด้วย[11]
29 พฤศจิกายน 2553 ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์
13 กรกฎาคม 2555 ยับยั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ของรัฐสภา 2555–2557[12]
24 มกราคม 2557 วินิจฉัยให้สามารถเลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไปได้[13]
24 มีนาคม 2557 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 2 ก.พ. 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
7 พฤษภาคม 2557 วินิจฉัยให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการที่โยกย้ายตำแหน่งของนายถวิล เปลี่ยนศรี[14]
7 มีนาคม 2562 ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นระยะเวลา 10 ปี จำนวน 13 คน เนื่องจากการที่นำเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคไทยรักษาชาติซึ่งถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายราชวงศ์ต้องอยู่เหนือการเมือง[15]
18 กันยายน 2562 วินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่ "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ"[16]
20 พฤศจิกายน 2562 มติให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ พ้นจากสมาชิกสภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเห็นว่ายังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทด้านสื่อมวลชนที่ยังไม่แจ้งยกเลิกกิจการ แม้ว่าจะยุติการผลิตสิ่งพิมพ์และจ้างพนักงานไปแล้ว[17]
21 มกราคม 2563 ยกคำร้อง คดีพรรคอนาคตใหม่ ล้มล้างการปกครอง หรือที่พรรคอนาคตใหม่เรียกว่า คดีอิลลูมินาติ[18]
21 กุมภาพันธ์ 2563 ยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นระยะเวลา 10 ปี จำนวน 16 คน เนื่องจากการที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ให้กู้ยืมเงินจำนวน 191 ล้านบาทซึ่งถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่โดนตัดสิทธิ์จำนวน 55 คน ย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นหัวหน้าพรรค[19]
2 ธันวาคม 2563 วินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านพักประจำตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกทั้งที่พ้นตำแหน่งไปแล้วไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ[20]
10 พฤศจิกายน 2564 ข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของแกนนำกลุ่มราษฎรในการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง โดยมีข้อความส่วนหนึ่งระบุว่าอำนาจการปกครองประเทศแต่โบราณเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด[21] ด้านเดอะการ์เดียนวิจารณ์ว่าเป็น "รัฐประหารโดยตุลาการ"[22]
17 พฤศจิกายน 2564 วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับสมรสซึ่งให้จดทะเบียนเฉพาะชายและหญิงเท่านั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญส่วนที่คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค และแนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรากฎหมายต่อไป โดยความเห็นส่วนตัวของตุลาการระบุว่า เพื่อป้องกันการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐโดยมิชอบ ทำลายสถาบันครอบครัวและกฎธรรมชาติ เป็นต้น[23]
30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชายุติปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หลังรับคำร้องเรื่องรัฐธรรมนูญห้ามบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมเกิน 8 ปี และให้ประยุทธ์ส่งคำชี้แจงภายใน 15 วัน[24] แต่ในวันที่ 30 กันยายน 2565 มีคำวินิจฉัย 6 ต่อ 3 ให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับ[25][26]
19 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคดีถือครองหุ้นสื่อ สถานีโทรทัศน์ ITV มาตรา 82 วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) เห็นว่า ข้อเท็จจริง ตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง
24 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่มีความผิดคดีถือครองหุ้นสื่อ สถานีโทรทัศน์ ITV และกลับมาปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญได้เหมือนเดิม ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1)
31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการหาเสียงแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้ยุติการกระทำทันที
7 สิงหาคม 2567 ยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นระยะเวลา 10 ปี จำนวน 11 คน เนื่องจากนโยบายหาเสียงของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลว่าให้แก้ไข ม.112 ซึ่งถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่โดนตัดสิทธิ์ที่จำนวน 143 คน ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชน โดยมีนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นหัวหน้าพรรค
14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ กรณีทูลเกล้าแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ว่าขาดคุณสมบัติ ส่งผลทำให้คณะรัฐมนตรีเศรษฐาทั้งหมด 33 คนที่ยังเหลืออยู่ต้องพ้นไปทั้งคณะ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4)

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

[แก้]
ที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญหลังเก่า ณ อาคารบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549

[แก้]

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุด พ.ศ. 2549 ได้สิ้นสภาพไปพร้อมกับศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 และได้บัญญัติขึ้นตามมาตรา 35 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่แทน

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

[แก้]

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566. เล่ม 139 ตอนที่ 57ก หน้า 139. วันที่ 19 กันยายน 2565.
  2. ราชกิจจานุเบกษา.ประกาศแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ. เล่ม 141 ตอนพิเศษ 83ง หน้า 1 วันที่ 22 มีนาคม 2567.
  3. "ชวนรู้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" คืออะไร มีหน้าที่ตรวจสอบ-วินิจฉัยอะไรบ้าง?". กรุงเทพธุรกิจ. 11 พฤศจิกายน 2021.
  4. เปิด 5 เรื่องเด่น นุรักษ์ มาประณีต อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ องคมนตรีคนล่าสุด
  5. 5.0 5.1 สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา (มกราคม–เมษายน 2008). "เปรียบเทียบองค์ประกอบ ที่มา และอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540" (PDF). วารสาร ศาลรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. 10 (28). ISSN 1513-1246.
  6. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. (2561). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. ISBN 978-616-8033-26-5.
  7. หน้าที่และอำนาจของ “ศาลรัฐธรรมนูญ”. ศาลรัฐธรรมนูญ. 10 ตุลาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2566.
  8. "วิจารณ์ศาล รธน.ระวังคุก! สนช. ผ่านกฎหมายลูกแล้ว". BBC News ไทย. 23 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2022.
  9. "30 พฤษภาคม 2550 - ศาลตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย". THE STANDARD. 29 พฤษภาคม 2019.
  10. มติชนสุดสัปดาห์ (23 ธันวาคม 2016). "ย้อนอ่านคำพิพากษาศาลรธน. ผลัก"สมัคร"ตกเก้าอี้นายกฯ ว่าด้วยปม"ลูกจ้าง-ค่าตอบแทน"". มติชนสุดสัปดาห์.
  11. "ย้อนอดีตอาถรรพ์ 2 ธ.ค. 'นายกรัฐมนตรี' ตกเก้าอี้". กรุงเทพธุรกิจ. 1 ธันวาคม 2020.
  12. "ศาลรัฐธรรมนูญกับสภาวะวิกฤติทางการเมือง (2549-2562)". ประชาไท. 14 กุมภาพันธ์ 2019.
  13. "8:0เลื่อนเลือกตั้งได้". กรุงเทพธุรกิจ. 25 มกราคม 2014.
  14. "ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ยิ่งลักษณ์พ้นนายกรัฐมนตรี". sanook.com. 7 พฤษภาคม 2014.
  15. "มติเอกฉันท์ศาล รธน. สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ "เซาะกร่อนบ่อนทำลาย" สถาบันฯ". BBC News ไทย. 7 มีนาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2021.
  16. "ศาลรัฐธรรมนูญชี้ หัวหน้า คสช. "ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ"". BBC ไทย. 18 กันยายน 2019. สืบค้นเมื่อ 8 ธันวาคม 2021.
  17. "อนาคตต่อไป ของ อนาคตใหม่ หลัง ศาล รธน. สั่ง ธนาธร พ้นสภาพ ส.ส." BBC News ไทย. 20 พฤศจิกายน 2019. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2021.
  18. "ศาลรธน.ยกคำร้อง อนาคตใหม่ ล้มล้างการปกครอง คดีอิลลูมินาติ". มติชนออนไลน์. 21 มกราคม 2020.
  19. "อนาคตใหม่ : มติศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ กก.บห. 10 ปี". BBC News ไทย. 21 กุมภาพันธ์ 2020. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2021.
  20. "สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กับ "ข้อต่อสู้หลัก" ที่ทำ พล.อ. ประยุทธ์ พ้นผิด "คดีพักบ้านหลวง"". BBC News ไทย. 2 ธันวาคม 2020.
  21. "คำวินิจฉัยฉบับเต็ม! ศาลรัฐธรรมนูญ คดีประวัติศาตร์ กับ มติ 8:1 'ล้มล้างการปกครอง'". ข่าวสด. 11 พฤศจิกายน 2021. สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2021.
  22. "Thai court rules calls for curbs on monarchy are 'abuse of freedoms'". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 10 พฤศจิกายน 2021.
  23. "เปิดเหตุผล ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรธน. ปมจำกัดสมรสแค่ชายหญิงไม่ขัดรธน". มติชนออนไลน์. 3 ธันวาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2021.
  24. "ด่วน! ศาลรธน.รับคำร้องปม 8 ปี นายกฯ สั่ง"บิ๊กตู่"หยุดปฏิบัติหน้าที่". ฐานเศรษฐกิจ. 24 สิงหาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2022.
  25. "บิ๊กตู่ พ้นบ่วง! มติ 6 : 3 ศาลรัฐธรรมนูญ ให้คัมแบ๊กทำเนียบ ชี้เป็นนายกฯมาไม่ถึง 8 ปี". มติชนออนไลน์. 30 กันยายน 2022.
  26. "มติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ชี้ "ประยุทธ์" เป็นนายกฯยังไม่ครบ 8 ปี". Thai PBS. 30 กันยายน 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]