หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน | |
---|---|
กองทัพอากาศไทย | |
ประจำการ | พ.ศ. 2480–ปัจจุบัน |
ประเทศ | ไทย |
เหล่า | กองทัพอากาศ |
รูปแบบ | กองกำลังภาคพื้นดินและกองกำลังพิเศษกองทัพอากาศ |
บทบาท | การป้องกันฐานทัพอากาศ การสงครามต่อสู้อากาศยาน การรักษาความปลอดภัยฐานทัพอากาศและให้การสนับสนุนภาคพื้นดินสำหรับการปฏิบัติงานทางอากาศ |
กำลังรบ | 20,000 |
กองบัญชาการ | ฐานทัพอากาศดอนเมือง กรุงเทพมหานคร |
เว็บไซต์ | https://sfc.rtaf.mi.th/ |
หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน เป็นหน่วยรบหลักทางภาคพื้นดินของกองทัพอากาศ "มีหน้าที่เตรียมและและดำเนินการใช้กำลังทางภาคพื้นเกี่ยวกับการป้องกันฐานทัพอากาศและที่ตั้งทางทหารอากาศ การต่อสู้อากาศยาน การปฏิบัติการพิเศษ การดุริยางค์ กับมีหน้าที่กำหนดแนวทาง ควบคุม ประเมินผล การฝึกศึกษา และการตรวจตรากิจการในสายวิทยาการด้านอากาศโยธิน ทหารต่อสู้อากาศยาน ทหารพลร่ม การสุนัขทหาร และทหารดุริยางค์ มีผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ"
โดยเหตุที่กองทัพอากาศมีหน้าที่ในการเตรียมและใช้กำลังทางอากาศเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางการทหารของกองทัพ เพื่อสนับสนุนรัฐบาล ดังนั้นที่ตั้งของหน่วยบินรบและหน่วยบินสนับสนุนกองทัพอากาศหรือกองบินต่าง ๆ ได้กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ในทุกภาคทั่วประเทศไทย อาทิเช่น จังหวัดนครราชสีมา , จังหวัดนครสวรรค์ , จังหวัดสุราษฎร์ธานี , จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น และโดยที่ยุทโธปกรณ์หลักของกองทัพอากาศซึ่งประกอบด้วย เครื่องบิน อาวุธ และเครื่องสนับสนุนต่างๆ เป็นเครื่องมือที่มีอำนาจการทำลายล้างสูงและมีราคาแพง หน่วยบัญชาการอากาศโยธินจึงมีหน้าที่ในการจัดกำลังในการป้องกันและรักษาความปลอดภัยที่ตั้งกองบินทุกกองบินทั่วประเทศให้พ้นจากการคุกคามของผู้ไม่ประสงค์ดีทุกรูปแบบ
อีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญยิ่งของหน่วยบัญชาการอากาศโยธินคือ การฝึกและการประเมินผล บุคลากรเหล่าอากาศโยธิน ในสายงานทุกสายงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กำลังพลมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติภารกิจที่กล่าวมาแล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2567 พลอากาศโท ขจรฤทธิ์ แก้วอำไพ [1] ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน โดยมีรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน สองรายได้แก่ พลอากาศตรี พันเทพ เนียมพลอย [2] และ พลอากาศตรี จเร แสงธาราทิพย์ [3]
ประวัติ
[แก้]พ.ศ. 2480 ทหารอากาศโยธิน หรือขณะนั้นเรียกว่า '' ทหารราบ'' จัดขึ้นตามอัตราการจัดส่วนราชการของกองทัพอากาศ พ.ศ. 2480 ซึ่งเรียกว่า '' ข้อบังคับทหารว่าด้วยการกำหนดกำลังเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศเวลาปกติ 80'' ประเภทใช้เมื่อ 6 กันยายน 2480 ในอัตรากองทัพอากาศดังกล่าว กำหนดให้มีหมวดทหารราบขึ้น ซึ่งมีนายทหารสัญญาบัตร, นายทหารประทวน และพลทหารจำนวนหนึ่งขึ้นในกองทัพอากาศ หมวดทหารราบนี้ขึ้นตรงต่อผู้บังคับกองบินน้อย และหมวดทหารราบดังกล่าว ได้มีประจำอยู่ในกองบินน้อยที่ 1, 2, 3, 4,และ 5 หมวดทหารราบทั้ง 5 หน่วยนี้ นับว่าเป็นการเริ่มแรกที่กองทัพอากาศได้มีทหารราบขึ้น (ทั้งนี้หมายความว่า ''ทหารเหล่าอากาศโยธินได้ถือกำเนิดขึ้นแล้วในกองทัพอากาศ'')
การจัดกำลังของหมวดทหารราบใน พ.ศ. 2480 มีการจัดเหมือนกันทั้งหมดทั้ง 5 กองบินคือ หมวดทหารราบขึ้นตรงต่อผู้บังคับกองบินน้อย ในหมวดทหารราบนั้นประกอบด้วยผู้บังคับหมวด ผู้ช่วยผู้บังคับหมวด ผู้บังคับหมู่ ผู้ช่วยผู้บังคับหมู่ และลูกแถวปีที่ 1 และปีที่ 2 สำหรับผู้บังคับหมวดนั้น ใช้นายทหารสัญญาบัตรนักบิน ประจำหมวดเป็นผู้บังคับหมวดทหารราบ
พ.ศ. 2481-2482 ได้กำหนดการจัดกำลังของหมวดทหารราบตามข้อบังคับทหาร ว่าด้วยกำหนดกำลังเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศในเวลาปกติ 81 ได้กำหนดให้มีหมวดทหารราบประจำโรงเรียนการบินขึ้นอีก 1 หมวด พร้อมทั้งมีพลขลุ่ยกลองเพิ่มขึ้นในหมวดทหารราบ ฉะนั้นในปี พ.ศ. 2481-2482 จึงมีหมวดทหารราบประจำกองบินน้อยที่ 1,2,3,4,5 และ โรงเรียนการบิน รวมทั้งสิ้นเป็น 6 หมวดนับว่าทหารราบได้ขยายกิจการเพิ่มขึ้นในกองทัพอากาศอีก 1 หมวด ส่วนการจัดกำลังนั้นยังคงเป็นไปตามแบบเดิมคือไม่มีการเปลี่ยนแปลง
พ.ศ. 2483-2490 ได้ยกเลิกข้อบังคับทหาร ว่าด้วยกำหนดกำลังเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศในเวลาปกติ 81 ใช้ข้อบังคับทหารว่าด้วยการกำหนดเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศในเวลาปกติ 83 การจัดกำลังและเจ้าหน้าที่ต่างๆ ในหมวดทหารราบกองบินน้อยที่ 1, 2, 3, 4, 5, และโรงเรียนการบินคงเป็นไปในรูปเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใด
ในระหว่างมหาสงครามเอเชียบูรพา กองทัพอากาศได้จัดตั้งกองพันทหารราบของกองทัพอากาศสนามขึ้นเป็นพิเศษมีภารกิจเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว โดยมี นาวาอากาศตรี ถนอม ปิณฑะแพทย์ เป็นผู้บังคับกองพันและได้ยุบเลิกไปภายหลังสงคราม
พ.ศ. 2491-2492 ทางราชการได้ยกเลิกอัตรากองทัพอากาศ 83 และได้ประกาศอัตรากองทัพอากาศ 91 ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม(พิเศษ)ที่ 49/19127 ลง 9 พฤศจิกายน 2491 เรื่อง การจัดส่วนราชการตามอัตรากองทัพอากาศ ได้มีส่วนกำลังรบในกองทัพอากาศเกิดขึ้นอีกส่วนหนึ่งคือ '' กรมอากาศโยธิน'' มีส่วนราชการขึ้นตรง คือ
- กองทหารสื่อสาร กรมอากาศโยธิน
- หมวดเสนารักษ์ กรมอากาศโยธิน
- กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 1 กรมอากาศโยธิน
- กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 2 กรมอากาศโยธิน
- กองพันทหารราบ กรมอากาศโยธิน
- กองศึกษาทหารส่งทางอากาศ กรมอากาศโยธิน
ถึงแม้ว่าอัตรากองทัพอากาศจะได้กำหนดกรมอากาศโยธินไว้ในอัตราแล้วก็จริง ในปี 2491 และปี 2492 ทางราชการก็ยังมิได้บรรจุเจ้าหน้าที่ต่างๆ เข้าปฏิบัติงานในกรมอากาศโยธินแต่อย่างใด ฉะนั้น กรมอากาศโยธิน ใน พ.ศ. 2491 - 2492 ก็มีเพียงแต่โครงร่างเท่านั้น
พ.ศ. 2493 ทางราชการกองทัพอากาศได้มีคำสั่งให้บรรจุเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ เข้าปฏิบัติงานในกรมอากาศโยธิน เมื่อ 1 เมษายน 2493 โดยมี พลอากาศตรี หลวงเจริญจรัมพร เป็นผู้รักษาการ สถานที่ตั้งกองบังคับการ ณ อาคารด้านทิศเหนือของกองบินน้อยที่ 6 การบรรจุเจ้าหน้าที่ต่างๆนั้น กรมอากาศโยธินได้รับการโอนกิจการด้านทหารอากาศโยธินจากกองบินน้อยที่ 1 และกองบินน้อยที่ 6 ซึ่งในปีนี้ได้จัดตั้งกองพันทหารราบ และกองพันทหารต่อสู้อากาศยาน หรือเรียกย่อๆว่า อย.พัน.ร.และ อย.ตอ.พัน 1 ตามคำสั่งกองทัพอากาศที่ 386/16795 ลง 17 ตุลาคม 2493 เลิกกิจการ ทหารราบของกองบินน้อยที่ 1 และกองบินน้อยที่ 6 โอนกิจการให้แก่กรมอากาศโยธิน แต่กิจการทหารราบที่กรมอากาศโยธินได้รับโอนจากกองบินน้อยที่ 1 นั้นเรียกชื่อว่ากองพันทหารราบกรมอากาศโยธิน ส่วนที่ได้รับการโอนจากกองบินน้อยที่ 6 นั้นเรียกว่า กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 1 การรับโอนกิจการนี้ได้กระทำสำเร็จเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2493
พ.ศ. 2494 นับตั้งแต่กรมอากาศโยธินได้นำเนินการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายด้วยดี เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายก็พยายามปฏิบัติงานกันโดยสุดความสามารถ เพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายตามที่ทางราชการมอบให้ แต่ในปี 2494 นี้ทางราชการได้มี คำสั่งเฉพาะผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่ 13234 / 2494 ลง 16 กรกฎาคม 2494 ให้ยุบเลิกกิจการของกรมอากาศโยธิน และคำสั่งเฉพาะผู้บัญชาการทหารอากาศ ลับด่วนที่ 12430 / 2494 ลง 4 กรกฎาคม 2494 ให้กรมอากาศโยธินโอนการบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ต่างๆ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้แก่ส่วนราชการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ คือ .-
- กองพันทหารราบ กรมอากาศโยธินไปขึ้นกองบินน้อยที่ 1
- กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 1 กรมอากาศโยธินไปขึ้นกองบินน้อยที่ 6
- สิ่งของเครื่องใช้ของกองบัลคับการกรมอากาศโยธินให้มอบให้กรมการบำรุงทหารอากาศ
- ยานพาหนะสำหรับใช้ประจำกองบังคับการ กรมอากาศโยธิน ให้มอบให้แผนกโยธาพาหนะทหารอากาศ
- อาวุธกระสุน ตลอดจนเครื่องประกอบของอาวุธ ที่กรมอากาศโยธินเก็บรักษาไว้ ให้มอบให้กรมสรรพวุธทหารอากาศ
ฉะนั้นกรมอากาศโยธินใน พ.ศ. 2494 ได้สลายตัวไปจากกองทัพอากาศ แต่การยุบเลิกกิจการตามคำสั่งฯ ดังกล่าวนั้นเป็นเพียงแต่กิจการ ส่วนอัตรากำหนดเจ้าหน้าที่ของกรมอากาศโยธินตามอัตราการจัดกำลังกองทัพอากาศ พ.ศ. 2491 ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม โดยมิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดถึงแม้ฉะนั้นทางราชการก็ได้แก้ไขอัตรากองทัพอากาศ 91 (ครั้งที่ 8) ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (พิเศษ) ที่ 63/17935 ลง 26 กันยายน 2494 โดยมีผลบังคับตั้งแต่ กรกฎาคม 2494 ฉะนั้นกรมอากาศโยธินที่ล้มเลิกกิจการไปขึ้นอยู่กับกองบินน้อยที่ 1 และกองบินน้อยที่ 6 จึงมีชื่อเรียกว่า '' กองทหารอากาศโยธิน กองบินน้อยที่ 1 และกองบินน้อยที่ 6'' และต่อจากนั้นบรรดาเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ทุกฝ่ายในกรมอากาศโยธินทางราชการได้มีคำสั่งย้ายเข้าปฏิบัติในส่วนราชการต่างๆ ในกองทัพอากาศตามฐานานุรูป ตามความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล
พ.ศ. 2495-2496 ทางราชการได้ประกาศยกเลิกข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วย กำหนดกำลังเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศในเวลาปกติ พ.ศ. 2491 และได้ประกาศใช้อัตรากองทัพอากาศ 95 ซึ่งเรียกว่า ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยกำหนดกำลังเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศในเวลาปกติ พ.ศ. 2495 ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (พิเศษ) ที่ 12/2009 ลง 28 มกราคม 2496 การจัดส่วนราชการของกรมอากาศโยธินตามอัตรากองทัพอากาศ 95 นั้น ซึ่งแบ่งเป็นส่วนใหญ่ ๆ คือ.-
- กองบังคับการ กรมอากาศโยธิน
- แผนกบริการ กรมอากาศโยธิน
- แผนกต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน
- กองพันต่อสู้อากาศยาน ที่ 1, 2 กรมอากาศโยธิน
- กองพันทหารราบ กรมอากาศโยธิน
พ.ศ. 2495 ทางราชการได้เล็งเห็นความสำคัญของทหารอากาศโยธิน ซึ่งต้องมีในกองทัพอากาศไทย ฉะนั้นทางราชการจึงได้จัดตั้งกรมอากาศโยธินขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งโดยมี พลอากาศโท บุญชู จันทรุเบกษา เป็นผู้บังคับการกรม การปฏิบัติงานของกรมอากาศโยธิน ใน พ.ศ. 2495-2496 เป็นไปอย่างไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก เพราะยังไม่ได้โอนกิจการคืน ต่อมาได้มีคำสั่งกองทัพอากาศให้บรรจุเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ปฏิบัติงานในกรมอากาศโยธินบางส่วน
พ.ศ. 2497 การดำเนินการของกรมอากาศโยธินในปีนี้เป็นรากฐานอย่างมั่นคง คือราชการกองทัพอากาศ ได้มีคำสั่งกองทัพอากาศ (พิเศษ) ที่ 94/5591 ลง 5 มีนาคม 2497 ให้จัดตั้งกองบังคับการกรมอากาศโยธิน และโอนการบังคับบัญชาต่าง ๆ คือ
- ให้กรมอากาศโยธินตั้งกองบังคับการขึ้น ณ ตึกกองบินพลเรือนชั้นล่าง (กรมจเรทหารอากาศปัจจุบัน) ในการจัดตั้งกองบังคับการกรมขึ้นนี้ ให้บรรจุเจ้าหน้าที่ในอัตราของกองบังคับการได้ตามความจำเป็น
- สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของกองบังคับการกรมอากาศโยธิน ทางราชการก็ได้สั่งให้กรมการบำรุงทหารอากาศ มอบคืนให้แก่กองบังคับการกรมอากาศโยธิน
- บรรดาอาวุธ กระสุน ตลอดจน เครื่องประกอบต่าง ๆ ของอาวุธ ให้กรมสรรพาวุธทหารอากาศมอบคืนให้แก่กองบังคับการกรมอากาศโยธิน
เพื่อให้รัดกุมและเหมาะสมกับสถานการณ์ ทางราชการจึงให้โอนการบังคับบัญชา คือ
- กองพันทหารราบ กองบินน้อยที่ 1 และกองพันต่อสู้อากาศยานที่ 1 กองบินน้อยที่ 6 ขาดจากการบังคับบัญชาจากกองบินน้อยที่ 1 และกองบินน้อยที่ 6 ไปขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของผู้บังคับการกรมอากาศโยธิน
- ทหารกองประจำการที่เรียกไว้ในอัตรากองบินน้อยที่ 1 และกองบินน้อยที่ 6 เพื่อใช้ในหน้าที่ต่าง ๆ ให้ฝากการบังคับบัญชากับกองพัน?หารราบ และกองพันต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน
- การรักษาการณ์ด้านกองบินน้อยที่ 1 และกองบินน้อยที่ 6 ให้กองพันทหารราบ และกองพันต่อสู้อากาศยานที่ 1 กรมอากาศโยธิน เป็นผู้รับผิดชอบ
ในปีนี้ กรมอากาศโยธิน จึงได้ดำเนินการบรรจุเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ เพิ่มเติมเข้าปฏิบัติงานโดยเร่งรีบ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันตามภารกิจ
พ.ศ. 2498 ได้มีการปรับปรุงอัตรากำลังพลกองทัพอากาศอีกครั้งหนึ่ง ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 14/3963 ลง 22 กุมภาพันธ์ 2498 ให้กำหนดกำลังเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศในเวลาปกติ พ.ศ. 2498 เฉพาะกรมอากาศโยธินได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น 10 ส่วนคือ
- กองบริการ
- แผนกแพทย์
- กองต่อสู้อากาศยาน
- กองทหารราบ
- กองร้อยทหารสื่อสาร
- แผนกศึกษาทหารส่งทางอากาศ
- โรงเรียนจ่าอากาศกองประจำการ
- กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 1, 2
- กองพันทหารราบ
- สำนักงานผู้บังคับทหารอากาศดอนเมือง
กรมอากาศโยธิน ในฐานะมีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาฝึกอบรมทหารอากาศโยธินให้มีสมรรถภาพสูงในการรบ และสนับสนุนกำลังทางทหารอากาศ ป้องกันสนามบินและสถานที่ราชการของกองทัพอากาศ การจัดส่วนราชการของกองทัพอากาศตามกระทรวงกลาโหมดังกล่าวแล้วเบื้องต้น จึงจัดกรมอากาศโยธินไว้ในส่วนกำลังรบของกองทัพอากาศ โดยมี พลอากาศโท บุญชู จันทรุเบกษา เป็นผู้บังคับการกรม และมี พลอากาศโทจัตวา หาญ ขำพิพัฒน์ เป็นรองผู้บังคับการกรม
พ.ศ. 2499-2504 การจัดส่วนราชการและอัตรากำลังพล ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ยังคงใช้อัตราเดิมเช่นเดียวกับปี พ.ศ. 2498
แต่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งกรมอากาศโยธิน คือ.-
พ.ศ. 2502 ประมาณเดือน มิถุนายน กรมอากาศโยธินได้ย้ายกองบังคับการมาตั้ง ณ ตึกโรงเรียนนายเรืออากาศปีที่ 5 ทางด้านทิศตะวันออกของกองทัพอากาศ ซึ่งกรมอากาศโยธินได้รับการโอนจากกรมยุทธศึกษาทหารอากาศ
พ.ศ. 2505 กรมอากาศโยธินมีการเปลี่ยนแปลง คือ สำนักงานผู้บังคับทหารอากาศดอนเมืองได้แยกออกจากกรมอากาศโยธิน ไปขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการทหารอากาศ ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ และกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพอากาศ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2505
พ.ศ. 2506 กรมอากาศโยธินได้เปลี่ยนการจัดส่วนราชการ ตามอัตราสกองทัพอากาศ พ.ศ. 2506 ซึ่งมีการจัดส่วนราชการดังนี้.-
- กองบริการ
- กองวิทยาการ
- กองพันทหารอากาศโยธน 1, 2, 3
- กองร้อยทหารสื่อสาร
พ.ศ. 2507-2508 การจัดส่วนราชการและการจัดอัตรากำลังพลของกรมอากาศโยธิน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคงเหมือนกับปี พ.ศ. 2506 ทุกประการ
พ.ศ. 2509 กรมอากาศโยธิน มีการเปลี่ยนแปลงการจัดส่วนราชการ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ 75/09 ลง 16 พฤศจิกายน 2509 โดยเพิ่มกองพันทหารอากาศโยธิน 4 อีกหน่วยหนึ่ง ส่วนการจัดอื่นๆ คงเดิม
พ.ศ. 2510-2516 การจัดส่วนราชการและการจัดอัตรากำลังพล ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงการย้ายสถานที่ตั้งหน่วย ของกรมอากาศโยธิน คือ.-
1. ในปี พ.ศ. 2510 มีการย้ายที่ตั้งกองพันทหารอากาศโยธิน 1 ไปอยู่ทางทิศตะวันตกของหัวสนามบินดอนเมืองด้านทิศใต้ ติดถนนวิภาวดีรังสิต เนื่องจากสถานที่เดิมซึ่งเป็นอาคารเก่าอยู่ทางทิศใต้ของกรมการเงินทหารอากาศ ติดกับโรงเก็บเครื่องบินของโรงงานการซ่อมกรมช่างอากาศ และพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศนั้น ต้องรื้อเพื่อให้พื้นที่แก่กระทรวงคมนาคม สำหรับสร้างลานจอดเครื่องบินจับโบ้เจ็ท
2. ในปี พ.ศ. 2513 มีการย้ายสถานที่ทำการ ส่วนบังคับบัญชาของกรมอากาศโยธิน (เดิมอยู่รวมกับกองพันทหารอากาศโยธิน 2 ซึ่งตั้งอยู่ด้านพหลโยธิน) ไปอยู่รวมกันกับกองพันทหารอากาศโยธิน 1 ซึ่งเป็นอาคารสร้างใหม่ตั้งอยู่ด้านถนนวิภาวดีรังสิต การย้ายที่ทำการส่วนบังคับบัญชากรมอากาศโยธินนี้ ย้ายเฉพาะบางส่วนเท่านั้น ได้แก่ ฝ่ายอำนวยการ, แผนกการเงิน, แผนกแพทย์, แผนกสารบรรณ, กองวิทยาการ และห้องทำงานของผู้บังคับบัญชา สำหรับสถานที่เดิมได้ใช้เป็นที่ทำการของกองพันทหารอากาศโยธิน 2 เพื่อขยายสถานที่ทำงานให้กว้างขึ้น
พ.ศ. 2517 การจัดส่วนราชการและการจัดอัตราส่วนกำลังพลของกรมอากาศโยธินได้มีการเปลี่ยนแปลง คือมีกองร้อยสุนัขทหารเพิ่มขึ้นอีกหน่วยหนึ่ง โดยจัดตั้งขึ้นเป็นอัตราเพื่อพลาง เมื่อ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ตามคำสั่งกองทัพอากาศ (เฉพาะ) ที่ 167/17 ลง 14 มิถุนายน 2517 และต่อมาได้พิจารณาให้เป็นอัตราปกติ เมื่อ 25 ธันวาคม 2517 ตามคำสั่งกองทัพอากาศ (เฉพาะ) ที่ 303/17 ลง 25 ธันวาคม 2517 เรื่องแก้อัตรากองทัพอากาศ พ.ศ. 2506 (ครั้งที่ 69) เดิมกิจการสุนัขทหาร กองทัพอากาศได้เริ่มมีตั้งแต่ ปี 2514 โดยมีสุนัขทหารประจำอยู่ตามฐานบินต่าง ๆ และในปี 2517 กองร้อยสุนัขทหารได้มีขึ้นที่กรมอากาศโยธินเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นศูนย์กลางในการควบคุมสุนัขทหารทั้งหมดในกองทัพอากาศ
พ.ศ. 2518-2519 การจัดส่วนราชการและการจัดอัตรากำลังพลของกรมอากาศโยธินไม่มีการเปลี่ยนแปลงคงเหมือนกับปี 2517 ทุกประการ
พ.ศ. 2520 การจัดส่วนราชการของกรมอากาศโยธินไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการจัดอัตรากำลังพล ตามคำสั่ง ทอ. (เฉพาะ) ลับที่ 151/20 ลง 26 กันยายน 2520 ให้แก้ไขอัตรากองทัพอากาศปี 2506 ดังนี้.-
- ตำแหน่งผู้บัญชากรมอากาศโยธิน เดิมอัตรา พลอากาศตรี แก้เป็นอัตรา พลอากาศโท
- ตำแหน่ง รองผู้บัญชากรมอากาศโยธิน เดิมอัตรา นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แก้เป็น อัตรา พลอากาศตรี
- ตำแหน่งหัวหน้ากอง กองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน เดิมอัตรา นาวาอากาศเอก แก้เป็น ตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน อัตรา นาวาอากาศเอกพิเศษ
- ตำแหน่ง รองหัวหน้ากอง กองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน เดิมอัตรา นาวาอากาศโท แก้เป็นตำแหน่ง รองผู้อำนวยการกองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน อัตรา นาวาอากาศเอก
พ.ศ. 2521 มีการเปลี่ยนแปลงการจัดส่วนราชการของกรมอากาศโยธิน ดังนี้.-
1. เพิ่มหมวดเป้าบินขึ้นในกองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน โดยยุบเลิกตำแหน่งต่าง ๆ ในกรมอากาศโยธินที่ไม่สำคัญมาตั้งเป็น '' หมวดเป้าบิน'' ขึ้นตรงต่อ กองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน เดิมโครงการจัดตั้งตามหมวดเป้าบินนี้ ได้เริ่มตั้งแต่ ปี 2519 เป็นนโยบายของ พลอากาศตรี อัมพร คอนดี ผู้บัญชาการกรมอากาศโยธิน ในขณะนั้น ซึ่งได้เริ่มขึ้นทดรองก่อนโดย กรมช่างอากาศ เป็นผู้ดำเนินการให้ สำหรับภารกิจของหมวดเป้าบิน คือ ทำเครื่องบินเล็กใช้ในการฝึกเล็งและยิงปืนต่อสู้อากาศยานด้วยกระสุนจริง
2. เริ่มใช้อัตรากองร้อยรถเกราะ (เพื่อพลาง) เป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อกรมอากาศโยธิน มีภารกิจในการเตรียมกำลังกองร้อยรถเกราะ เพื่อปฏิบัติภารกิจการลาดตระเวน ระวังป้องกันและสนับสนุนการป้องกันฐานที่ตั้งของกองทัพอากาศตลอดทั้งการปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
พ.ศ. 2522 การจัดส่วนราชการ และการจัดอัตรากำลังพลของกรมอากาศโยธิน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คงเหมือนกับปี 2521 ทุกประการ
พ.ศ. 2523-2524 การจัดส่วนราชการ และการจัดอัตรากำลังพลของกรมอากาศโยธิน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ในปี 2523 ได้มีการสถาปนากองพันทหารอากาศโยธิน 1 กรมอากาศโยธินเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ ตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีที่ สร 1201/24895 ลง 10 กันยายน 2523
พ.ศ. 2525 มีการเปลี่ยนแปลงการจัดส่วนราชการ และการจัดอัตรากำลังพลของกรมอากาศโยธินใหม่ เนื่องจากกองทัพอากาศมีนโยบายรวมกิจการสำนักงานผู้บังคับทหารอากาศดอนเมือง ให้เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกรมอากาศโยธิน (เดิมสำนักงานผู้บังคับทหารอากาศดอนเมือง เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกรมอากาศโยธินตังแต่ปี 2498 ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 14/3963 ลง 22 กุมภาพันธ์ 2498 ต่อมาได้แยกจากกรมอากาศโยธิน ไปขึ้นตรงของกองทัพอากาศเมื่อปี 2505) จาการแก้ไขอัตรากองทัพอากาศ ตามพระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการ และกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพอากาศ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2525 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 210 ลง 23 ธันวาคม 2524 และคำสั่งกองทัพอากาศ (เฉพาะ) ลับที่ 99/25 ลง 12 เมษายน 2525 เรื่องแก้อัตรากองทัพอากาศ 06 (ครั้งที่ 332) ให้สำนักงานผู้บังคับทหารอากาศดอนเมือง เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกรมอากาศโยธินตั้งแต่ 9 มีนาคม 2525 เป็นต้นไป กรมอากาศโยธิน จึงมีการจัดส่วนราชการใหม่ ดังนี้
- กองบัญชาการ
- กรมทหารราบ
- กรมทหารต่อสู้อากาศยาน
- กรมปฏิบัติการพิเศษ
- กองทหารสื่อสาร
- สำนักงานผู้บังคับทหารอากาศดอนเมือง
- กองวิทยาการ
- กองดุริยางค์ทหารอากาศ
- กองสนับสนุน
- เรือนจำทหารอากาศ
สำหรับการย้ายที่ตั้ง กรมอากาศโยธินในปี 2525 มีการเปลี่ยนแปลงตามโครงการย้ายที่ตั้ง กองบัญชาการกองทัพอากาศหลายประการ กล่าวคือ
1. เรือนจำทหารอากาศ ได้ย้ายจากหน่วยที่ตั้งเดิม ซึ่งอยู่หลังพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ ฝั่งตะวันออกของสนามบินดอนเมือง เข้าที่ตั้งใหม่บริเวณทุ่งสีกัน และกองร้อยสุนัขทหารได้ย้ายจากหน่วยที่ตั้งเดิม ซึ่งอยู่ตรงโค้งตะวันออกของสนามบินดอนเมือง ไปอยู่บริเวณเดียวกันกับเรือนจำทหารอากาศ โดยย้ายเสร็จเรียบร้อยเมื่อ 3 พฤษภาคม 25625 สำหรับสิ่งก่อสร้างใหม่ได้แก่ อาคารกองร้อยสุนัขทหาร, อาคารเรือนจำทหารอากาศ, บ้านพักข้าราชการชั้นเรืออากาศ 2 หลัง ตึกแถว 10 ครอบครัว 2 แถว, รั้ว - ถนน, ระบบผลิตน้ำประปาจากบ่อบาดาล และระบบไฟฟ้า
2. กรมทหารต่อสู้อากาศยาน (กองพันทหารอากาศโยธิน 2 เดิม) ได้ย้ายเข้าที่ตั้งใหม่ที่ลาดเป็ด ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของกองทัพอากาศ อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของถนนพหลโยธิน ติดกับถนนวิภาวดีรังสิต โดยย้ายเสร็จเรียบร้อยเมื่อ 17 ธันวาคม 2525 สิ่งก่อสร้างใหม่ของกรมต่อสู้อากาศยาน ได้แก่ อาคารกองบังคับการ, กองพันทหารต่อสู้อากาศยาน 1, บ้านพักข้าราชการชั้นเรืออากาศ 2 หลัง, ตึกแถว 10 ครอบครัว 7 แถว, สถานีและหอฝึกกระโดดร่ม, รั้ง - ถนน, ระบบผลิตน้ำประปาจากบ่อบาดาล, ระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสาร
3. กรมทหารราบ (กรมทหารอากาศโยธิน 1 เดิม) ได้ย้ายที่ตั้งหน่วยจากพพื้นที่ฝั่งตะวันตกของสนามบินดอนเมืองด้านถนนวิภาวดีรังสิต มาอยู่แทนที่กรมทหารต่อสู้อากาศยาน (กรมทหารอากาศโยธิน 2 เดิม) ด้านถนนพหลโยธินฝั่งตะวันออก เมื่อ 23 ธันวาคม 2525 เนื่องจากต้องส่งมอบอาคารและพื้นที่ให้แก่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เพื่อเข้าไปใช้ประโยชน์แทน จาการย้ายที่ตั้งหน่วยตามโครงการย้ายที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพอากาศดังกล่าว กรมอากาศโยธินจึงได้รับงบประมาณ เพื่อก่อสร้างอาคารกองบังคับการกรมอากาศโยธินเป็นการถาวร โดยใช้พื้นที่ว่างระหว่าง แผนกอำนวยการกองบิน 6 กับกรมทหารราบ เป็นสถานที่ก่อสร้าง และได้กำหนดการก่อสร้างในปีต่อไป
พ.ศ. 2526-2530 การจัดส่วนราชการและการจัดอัตรากำลังของกรมอากาศโยธิน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คงเหมือนกับปี 2525 ทุกประการ[4][5]
หน่วยขึ้นตรง หน่วยบัญชาอากาศโยธิน
[แก้]- ศูนย์การทหารอากาศโยธิน
- กรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์
- กรมทหารต่อสู้อากาศยาน
- กรมปฏิบัติการพิเศษ
- กองดุริยางค์ทหารอากาศ
- สหกรณ์ออมทรัพย์หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ศูนย์การทหารอากาศโยธิน เก็บถาวร 2020-08-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- กรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์ เก็บถาวร 2020-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- กรมทหารต่อสู้อากาศยาน รักษาพระองค์ เก็บถาวร 2020-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- กรมปฏิบัติการพิเศษ เก็บถาวร 2017-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- กองดุริยางค์ทหารอากาศ
- สหกรณ์ออมทรัพย์หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน เก็บถาวร 2014-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 262 ง 21 กันยายน พ.ศ. 2567
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 262 ง 21 กันยายน พ.ศ. 2567
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 262 ง 21 กันยายน พ.ศ. 2567
- ↑ หนังสือที่ระลึก "กรมอากาศโยธิน ครบรอบ 40 ปี
- ↑ http://www.sfc.rtaf.mi.th/inside.html[ลิงก์เสีย]