ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล
เครื่องหมายศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล
ประจำการ1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526; 41 ปีก่อน (2526-02-01)
ประเทศ ไทย
เหล่าผสมเหล่าทัพ
รูปแบบหน่วยรบพิเศษ
กำลังยุทธการพิเศษ
บทบาทหน่วยบัญชาการรบตามหน้าที่
การต่อต้านการก่อการร้าย
ขึ้นกับไทย กองบัญชาการกองทัพไทย
ที่ตั้งหน่วยเลขที่ 106 ถนนนาวงประชาพัฒนา
แขวงสีกัน เขตดอนเมือง
กรุงเทพมหานคร 10210
สมญาศตก. / CTOC
คำขวัญWe are one we win
เว็บไซต์ctoc.rtarf.mi.th
ผู้บังคับบัญชา
ผู้บัญชาการพลโท ทนงศักดิ์ ตันนารัตน์

ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล (อังกฤษ: Counter Terrorist Operations Center: CTOC คำย่อ ศตก.) เป็นส่วนปฏิบัติการ ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการกองทัพไทย[1] มีหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นตรงการควบคุมด้านยุทธการ[2]

ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีคำขวัญว่า We are one we win

ประวัติ[แก้]

หน่วยรบพิเศษกองทัพบกสหรัฐพร้อมด้วยกองรบพิเศษที่ 1 (ส่งทางอากาศ) สหรัฐ ฝึกทักษะพลรบแม่นปืนร่วมกับสมาชิกของ ศตก.

ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526[3] ตามมติคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นที่สภาความมั่นคงแห่งชาติได้เสนอไป ขณะนั้นใช้ชื่อว่า ศูนย์ปฏิบัติการข่าวการต่อต้านการก่อการร้ายสากล อยู่ภายใต้สังกัดกองกำลังรักษาพระนคร มีภารกิจหลักในด้านข่าวกรองโดยการต่อต้านการก่อการร้ายสากลทั้งทางยุทธศาสตร์และทางยุทธวิธี โดยมีกองกำลังรักษาพระนครเป็นหน่วยประสานงานส่วนที่เกี่ยวข้อง[4]

หน่วยรบพิเศษกองทัพบกไทยในนาม ศตก. ฝึกร่วมกับทหารจากกองพันที่ 1 กองรบพิเศษที่ 1 สหรัฐ ในการฝึกร่วมผสมรหัส Balance Torch 17-7

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2540 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้โอนศูนย์ปฏิบัติการข่าวการต่อต้านการก่อการร้ายสากลมาอยู่ในสังกัดของกองบัญชาการทหารสูงสุด (กองบัญชาการกองทัพไทยในปัจจุบัน) โดยจัดหน่วยรองรับชื่อว่า ศูนย์อำนวยการร่วม 106 (ศอร.106) ศูนย์อำนวยการร่วม กองบัญชาการกองทัพไทย[4] เพื่อให้เกิดเอกภาพในการทำงานของศูนย์[2][4] พร้อมกันกับศูนย์อำนวยการร่วม 107 (ศอร.107) ดูแลการดำเนินการตามอนุสัญญาออตตาวาเกี่ยวกับการห้ามใช้ทุ่นระเบิดบุคคล ปัจจุบันคือศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการร่วม 108 (ศอร.108) ดูแลด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด[5] และมีมติเห็นชอบอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2540 มอบหมายให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับงบประมาณประจำปีของศูนย์[2] ในปี พ.ศ. 2546 ศูนย์อำนวยการร่วม 106 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล[6]

จากนั้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 หน่วยงานได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นจากศูนย์อำนวยการร่วมเป็นหน่วยปกติ ใช้ชื่อว่า ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล มีบทบาทและภารกิจในการประสานงาน อำนวยการ วางแผน และดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันปราบปราบการก่อการร้าย และมีหน้าที่ควบคุมทางยุทธการต่อหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และชุดปฏิบัติการพิเศษอื่น ๆ ที่มีการมอบหมาย[4]

การทำงานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากลมีการพัฒนามาจากระบบบัญชาการเหตการณ์ (Incident command system) สำหรับการควบคุม อำนวยการ และสั่งการบุคลากรและชุดปฏิบัติการที่มาจากต่างหน่วยงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ตามพื้นฐานจากการฝึกทีมเผชิญสถานการณ์วิกฤต (Crisis response team) ซึ่งมาจากโครงการความช่วยเหลือหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ (Anti-Terrorism Assistance Program, Department of State) ในช่วงปี พ.ศ. 2540 จนประเทศไทยสามารถที่จะออกเอกสารชื่อว่า คู่มือการปฏิบัติการร่วมในการต่อต้านการก่อการร้าย พ.ศ. 2547 ขึ้นมาเพื่อเป็นแนวปฏิบัติภายในประเทศไทย และได้นำแนวคิดเกี่ยวกับระบบบัญชาการเหตุการณ์มาใส่ไว้ใน แผนแม่บทการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 รวมถึงยังมีการประมวลองค์ความรู้ต่าง ๆ ออกมาเป็น คู่มือระบบบัญชาการเหตุการณ์ กับการจัดการในสภาวะฉุกเฉินของประเทศไทย พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล[4]

นอกเหนือจากการควบคุมทางยุทธการต่อหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว บุคลากรของศูนย์เองยังได้รับการฝึกให้สังกัดในหน่วยย่อยของศูนย์ในการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย เช่น หน่วยปฏิบัติการพิเศษ, หน่วยปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์, หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด, หน่วยแพทย์ และหน่วยอื่น ๆ ที่สนับสนุนภารกิจ[4]

บทบาทหน้าที่[แก้]

หน่วยรบพิเศษกองทัพบกไทย ประดับแถบป้ายชื่อ CTOC บริเวณต้นแขนระหว่างการฝึกร่วมผสมรหัส Balance Torch 17-7 กับกองพันที่ 1 กองรบพิเศษที่ 1 สหรัฐ

ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล มีหน้าที่ในการควบคุมบังคับบัญชาและประสานการปฏิบัติกองกองทัพ ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อปฏิบัติการในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ โดยใช้ศูนย์เป็นกลไกในการดำเนินการแก้ไขปัญหาจากการก่อการร้ายสากล ซึ่งมีคณะกรรมการในการรับผิดชอบ 2 ระดับ ได้แก่[6]

  • คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากล (นอก.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
  • คณะอนุกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากล (อกรส.) มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน

ในระดับปฏิบัติการ มีศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล (ศตก.) รับหน้าที่ในการวางแผน อำนวยการ ประสานการปฏิบัติการและกำกับดูแลหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่มีความพร้อมสูง[7] รวมไปถึงส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุภารกิจคือการต่อต้านการก่อการร้ายสากลทุกรูปแบบ[6]

โครงสร้าง[แก้]

ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ประกอบด้วยโครงสร้างหน่วยงาน[8] ดังนี้

  • กองกลาง (กกล.)
  • กองแผนและโครงการ (กผค.)
  • กองข่าว (กขว.)
  • กองการฝึก (กกฝ.)
  • กองปฏิบัติการพิเศษ (กปษ.)
    • แผนกปฏิบัติการพิเศษ
    • แผนกสนับสนุนทางยุทธวิธี[9]
      • ชุดปฏิบัติการวิทยาศาสตร์
      • ชุดเก็บกู้ และทำลายล้างวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง
      • ชุดเครื่องมือพิเศษ และหาข่าวทางยุทธวิธี
      • ชุดสื่อสารทางยุทธวิธี

ด้านยุทธการ[แก้]

หน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ขึ้นตรงในด้านยุทธการต่อศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล[10][a] มีดังนี้

กองทัพบก[แก้]

กองทัพเรือ[แก้]

กองทัพอากาศ[แก้]

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ[แก้]

การฝึก[แก้]

หน่วยรบพิเศษกองทัพบกในนาม ศตก. โรยตัวจากเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กของสหรัฐในการฝึกร่วมผสมรหัส Balance Torch 17-7 กับทหารจากกองพันที่ 1 กองรบพิเศษที่ 1 สหรัฐ

การฝึกของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล เป็นการฝึกในรูปแบบของการฝึกร่วมผสมในการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งส่วนของหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง และการฝึกร่วมเผชิญเหตุกับหน่วยราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้จากภัยการก่อการร้ายสากล ในชื่อว่า การฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ (National Crisis Management Exercise: C-MEX) ซึ่งมีการจัดการฝึกเป็นประจำในทุก ๆ ปี[11] แต่ละปีจะมีโจทย์การฝึกจากรูปแบบภัยคุกคามที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์โลกในขณะนั้น[12]

นอกจากนี้ยังมีการฝึกร่วมผสมกับหน่วยรบพิเศษของชาติพันธมิตรทางการทหารกับประเทศไทย เช่น สหรัฐ มีการฝึกร่วมกันกับกองพันที่ 1 กองรบพิเศษที่ 1 สหรัฐ ในรหัสบาลานซ์ทัช (Balance Torch)[13] และหน่วยรบพิเศษกองทัพบกสหรัฐ (กรีนเบอเรต์)[14] การฝึกร่วมกันกับชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[15] ในการการฝึกภาคสนามของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ณ ประเทศจีนโดยมีกำลังจาก 18 ประเทศในชาติอาเซียนและคู่เจรจารวมกว่า 855 นายเข้าร่วมการฝึก[16]

หมายเหตุ[แก้]

  1. มีการประดับเครื่องหมายหน่วยปฏิบัติการพิเศษหลักของทั้ง 3 เหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่บริเวณหน้าอาคารที่ทำการหลัก[3] และธงปักสัญลักษณ์ประจำหน่วยประดับอยู่ในห้องประชุม[7] มีการเผยแพร่ทางช่องทางต่าง ๆ ของศูนย์ฯ

อ้างอิง[แก้]

  1. "RTARF: กองบัญชาการกองทัพไทย". www.rtarf.mi.th.
  2. 2.0 2.1 2.2 มีนาคม 2540--. "การโอนศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล". ryt9.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. 3.0 3.1 dsi.go.th. "กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมแสดงความยินดีศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ครบรอบปีที่ 39". dsi.go.th (ภาษาอังกฤษ).
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 RSUIR at Rangsit University: ความเครียดและแนวทางจัดการความเครียด : กรณีศึกษาศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล กองบัญชาการกองทัพไทย. มหาวิทยาลัยรังสิต.
  5. "การแปรสภาพเป็น ศอร.บก.ทหารสูงสุด". tncbcc.rtarf.mi.th. กรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-09-28. สืบค้นเมื่อ 2023-12-21.
  6. 6.0 6.1 6.2 รายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร โครงการศึกษาจัดทำแผนหลักด้านความมั่นคงในภาคการขนส่ง ระยะที่ 1 (PDF). สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม. 2558.[ลิงก์เสีย]
  7. 7.0 7.1 "6 ธันวาคม 2566 พลเอก โดมศักดิ์ คำใสแสง รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล - RTARF: กองบัญชาการกองทัพไทย". www.rtarf.mi.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "กรมกำลังพลทหาร - ระเบียบ / คำสั่ง - ระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยคำย่อ พ.ศ.๒๕๕๕". j1.rtarf.mi.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-15. สืบค้นเมื่อ 2023-12-21.
  9. "ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล - Knowledge Management". ctoc.rtarf.mi.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  10. "รถหุ้มเกราะสัญชาติไทย ร่วมสาธิตต่อต้านก่อการร้าย". THE STANDARD. 2019-11-18.
  11. "สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ จัดฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้รหัสการฝึก C – MEX 23". thainews.prd.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-21. สืบค้นเมื่อ 2023-12-21.
  12. "การฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี ๒๕๖๖ (C - MEX 23) ในประเด็นการฝึกการต่อต้านการก่อการร้าย ประจำปี ๒๕๖๖". สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ. 2023-08-23.
  13. "1st SFG (A) Balance Torch 17-7". DVIDS (ภาษาอังกฤษ).
  14. "1st SFG (A), CTOC train combined arms skills". DVIDS (ภาษาอังกฤษ).
  15. "ศตก.รับถกผู้เชี่ยวชาญต้านก่อการร้าย 18 ชาติคืบหน้า จับมือ 3 มหาอำนาจฝึกร่วมจีน". mgronline.com. 2019-04-26.
  16. "ฝึกต่อต้านก่อการร้ายไทย-จีน ครั้งประวัติศาสตร์". Thai PBS.