ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
ชวลิต ประกอบสุข (คุย | ส่วนร่วม)
ป้ายระบุ: แก้ไขจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขจากเว็บสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่
Narutzy (คุย | ส่วนร่วม)
บรรทัด 114: บรรทัด 114:
}}
}}
{{จบกล่อง}}
{{จบกล่อง}}

{{กษัตริย์ลาว}}


{{เกิดปี|2269}}
{{เกิดปี|2269}}

รุ่นแก้ไขเมื่อ 19:09, 5 พฤษภาคม 2564

เจ้าพระวิไชยราชสุริยวงศ์ขัติยราช
เจ้าประเทศราช
ครองราชย์พ.ศ. 2335
รัชสมัย19 ปี
รัชกาลก่อนหน้าสมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร
รัชกาลถัดไปเจ้านู
ประสูติพ.ศ. 2269
พิราลัยพ.ศ. 2354
พระมเหสีไม่ปรากฏพระนาม
เจ้าพระวิไชยราชสุริยวงศ์ขัตติยราช
พระบุตร5 องค์
ราชวงศ์สุวรรณปางคำ
พระบิดาเจ้าพระวรราชปิตา
พระมารดาพระนางบุศดี

เจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช[1] หรือเรียกกันทั่วไปในเอกสารต่างๆ ว่า "พระวิไชยราชขัติยวงศา" เป็นเจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 (พ.ศ. 2335 - 2354) พระองค์สืบเชื้อสายเจ้านายลาวจากราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์อันเก่าแก่ อันเนื่องมาจากพระอัยยิกา (ย่า) ของพระองค์ซึ่งเป็นพระมเหสีของเจ้าปางคำ (ปู่) มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ จึงเป็นเหตุให้มีสร้อยราชทินนามมีคำว่า สุริยวงศ์ ต่อท้ายนาม

อีกทั้งยังสืบเชื้อสายมาจากพระอัยกา (ปู่) คือ พระเจ้าสุวรรณปางคำ ทรงเป็นเจ้านายเชื้อสายไทลื้อแห่งราชวงศ์เชียงรุ่งแสนหวีฟ้า อาณาจักรหอคำเชียงรุ่ง และสืบเชื้อมาแต่สายราชวงศ์สุวรรณปางคำ ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (จังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน) สืบมาแต่สายราชวงศ์สุวรรณปางคำ นครเชียงรุ่งแสนหวีฟ้าสิบสองปันนา

พระประวัติ

"ธาตุหลวงเฒ่า" เจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (ท้าวฝ่ายหน้า หรือ เจ้าหน้า) เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ลำดับที่ 3 ที่วัดเหนือในเมืองเก่าคันเกิง แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว

เจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช มีพระนามเดิมว่า เจ้าฝ่ายหน้า หรือ เจ้าหน้า (ตามเอกสารของราชการไทย) สมภพเมื่อปี พ.ศ. 2269 ที่นครเวียงจันทน์ เป็นพระโอรสของเจ้าพระวรราชปิตา (เจ้าพระตา) แห่งนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) กับพระนางบุศดี ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าปางคำแห่งเมืองเชียงรุ้ง และเป็นพระอนุชาของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าผู้ครองเมืองอุบลราชธานีองค์แรก

และต่อมาได้อพยพหนีราชภัยจากพระเจ้าสิริบุญสาร แห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ มาพร้อมกันกับกลุ่มของเจ้าพระวอและเจ้าคำผง หลังสิ้นสงครามกับนครเวียงจันทน์ ใน พ.ศ. 2318 แล้ว พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระปทุมราชวงศา ได้พาไพร่พลของตนเองจากเวียงดอนกองไปตั้งเมืองอุบลที่บ้านห้วยแจระแม

ในปี พ.ศ. 2329 เจ้าฝ่ายหน้าพร้อมกับเจ้านางอูสา แลเจ้าคำสิงห์ พระโอรสคนโต นำไพร่พลส่วนหนึ่งไปตั้งมั่นเป็นกองนอกอยู่ที่บ้านสิงห์ท่า (ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองยศสุนทรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 หรือคือ จังหวัดยโสธรในปัจจุบัน)

ในปี พ.ศ. 2334 เกิดเหตุกบฏอ้ายเชียงแก้วที่อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ทางฝ่ายนครจำปาศักดิ์ไม่สามารถรับมือได้ เนื่องจากพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ในเวลานั้น ถึงแก่พิราลัยกะทันหันหลังจากได้รับทราบข่าวศึก (ก่อนหน้านั้นพระเจ้าองค์หลวงฯ เองก็ประชวรเรื้อรังมานานแล้ว) เจ้าหน้าได้ร่วมมือกับพระประทุมราชวงศา (เจ้าคำผง) เจ้าผู้ครองเมืองอุบล ผู้เป็นพี่ชาย ยกทัพไปปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วจนราบคาบ และเจ้าฝ่ายหน้าได้จับตัวอ้ายเชียงแก้วประหารชีวิตที่แก่งตะนะ (อยู่ในแม่น้ำมูล ระหว่างอำเภอพิบูลมังสาหารกับอำเภอสิรินธรในปัจจุบัน) ก่อนหน้าที่กองทัพเมืองนครราชสีมาจะยกมาถึงตามรับสั่งจากกรุงเทพฯ

ใน พ.ศ. 2335 ด้วยความดีความชอบในครั้งนี้ ทำให้เจ้าหน้าได้รับการแต่งตั้งเป็น "เจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช"[2] เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ลำดับที่ 3

พระกรณียกิจ

เมื่อ พ.ศ. 2335 เจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชจึงแบ่งไพร่พลเข้ามาอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์ และตั้งให้เจ้าคำสิงห์เป็นเจ้าราชวงศ์เมืองโขง (สีทันดร) (ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้ามีราชทินนามที่พระสุนทรราชวงศา ดำรงฐานะเจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทร)

เมื่อ พ.ศ. 2339 เจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชได้ย้ายเมืองจำปาศักดิ์จากที่เดิมซึ่งอยู่ที่บ้านศรีสุมัง ริมฝั่งแม่น้ำโขง มาตั้งอยู่ในบริเวณบ้านคันเกิง อยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามปากแม่น้ำเซโดน (ปัจจุบันเรียกว่า เมืองเก่าคันเกิง อยู่ที่บ้านเมืองเก่า เมืองโพนทอง แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว)

ปี พ.ศ. 2348 เจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชได้มีใบบอกมายังกรุงเทพฯ เพื่อขอโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านนายอนเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านนายอนขึ้นเป็นเมืองสพาดตามคำขอนั้น

พ.ศ. 2353 มีครัวชาวเขมรภายใต้การนำของพระยาเดโช เจ้าเมืองกำปงสวาย กับนักปรัง ผู้น้องชาย อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบเมืองโขง เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวเกิดความขัดแย้งกับสมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจัน) พระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา เจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชได้มีใบบอกแจ้งเรื่องมายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากลาโหมราชเสนา คุมกำลังมาคุมครัวเขมรของพระยาเดโชมาตั้งอยู่ที่บ้านลงปลา ส่วนครัวของนักปรังให้แยกมาตั้งอยู่ที่เมืองเซลำเภา[3] "จึ่งมีเขมรแทรกปนอยู่ในแขวงเมืองโขงแต่นั้นมา"[4]

พระโอรส และพระธิดา

กู่เจ้านคร ซึ่งภายในบรรจุอัฐิของเจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (เจ้าฝ่ายหน้า) ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร

ในสำเนาฉบับพงศาวดารอีสานยังอธิบายไว้ว่า เจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช มีพระโอรสและพระธิดา ทั้งหมด 5 พระองค์ มีปรากฏรายพระนามดังนี้

  1. เจ้าคำสิงห์ (ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระสุนทรราชวงศา เจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทรองค์แรก)
  2. เจ้าบุตร หรือเจ้าฝ่ายบุต (ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระสุนทรราชวงศาฯ เจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทร องค์ที่ 3)
  3. เจ้านางแดง
  4. เจ้านางไทย
  5. เจ้านางก้อนแก้ว 

พิราลัย

เจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชถึงแก่พิราลัย เมื่อวันอังคาร ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 10 ปีมะแมตรีศก จุลศักราช 1173 (พ.ศ. 2354) สิริรวมพระชนม์ 85 ปี ครองนครจำปาศักดิ์ ได้ 19 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากลาโหมราชเสนา เป็นข้าหลวงแทนพระองค์ นำหีบศิลาหน้ามาพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษ์ขัติยราช อันเป็นเกียรติยศสูงสุดที่พระมหากษัตริย์สยามพระทานแก่เจ้าประเทศราช และจัดการราชการบ้านเมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อทำการปลงศพของเจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชเสร็จแล้ว พระยากลาโหมราชเสนาพร้อมด้วยแสนท้าวพระยาในเมือง จึงก่อเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้ที่วัดเหนือ (ปัจจุบันคือวัดหอพระแก้ว) ในเมืองเก่าคันเกิง เรียกกันทั่วไปในเวลานั้นว่า "ธาตุหลวงเฒ่า" [4] ปัจจุบันไม่มีใครรู้จักและเรียกเช่นนี้

อนึ่งภายหลังเสร็จการพระราชทานเพลิงศพ และการจัดการราชการบ้านเมืองในนครจำปาศักดิ์แล้ว พระยากลาโหมราชเสนาจึงได้อัญเชิญพระแก้วขาว ซึ่งมีการค้นพบมาตั้งแต่สมัยเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร เป็นเจ้าครองนครจำปาศักดิ์ ลงมายังกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชพระแก้วขาวองค์นี้ จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมช่างเพื่อทำการปฏิสังขรณ์พระแก้วขาว และพระราชทานนามว่า "พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย"[4]

พระนามในจารึกท้องถิ่นและเอกสารประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุ ร.๑

จดหมายเหตุ ร.1 จ.ศ. 1153 (พ.ศ. 2335) เรื่องตั้งให้เจ้าหน้าเป็นพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช เมืองนครจำปาศักดิ์ ได้ปรากฏพระนามของพระองค์ ดังนี้

"...ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ผ่านพิภพกรุงเทพพระมหานครศรีอยุทธยา มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เจ้าหน้าเป็นพระวิไชยราชสุริยวงษ์ขัตติยราช ครองเมืองนครจำปาศักดิ์ประเทศราช เสกให้ ณ วันพฤหัสบดี แรม 11 ค่ำ เดือน 10 จุลศักราช 1153 ปีกุนตรีศก เพลาเช้า 2 โมง..."

พระญาติวงศ์

เจ้าพระตา (เจ้าพระวรราชปิตา) กับพระนางบุศดีเทวีทรงมีพระโอรส และพระธิดา รวมทั้งหมด 11 พระองค์ ดังมีรายพระนาม

  1. เจ้านางอูสา
  2. เจ้านางแสนสีชาติ
  3. เจ้าพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าผู้ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทศราช องค์ที่ ๑
  4. เจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (เจ้าฝ่ายหน้า) เจ้าผู้ครองนครกาลจำบากนัคบุรีศรีจำปาศักดิ์ องค์ที่ ๓
  5. เจ้าพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าทิดพรหม) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช องค์ที่ ๒ (ต้นสกุลพระราชทาน พรหมวงศานนท์)
  6. เจ้าโคต (เจ้าโคตร) พระบิดาของท้าวสีหาราช (พลสุข บุตโรบล) ปู่ของเจ้าราชบุตร (สุ่ย บุตโรบล) ทวดของท้าวสุรินทรชมภู (หมั้น บุตโรบล) ผู้เป็นบิดาของอัญญานางเจียงคำ บุตโรบล (หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา) ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
  7. เจ้านางมิ่ง
  8. เจ้าซุย
  9. พระศรีบริบาล
  10. เจ้านางเหมือนตา
  11. เจ้าสุ่ย

พงศาวลี

เชิงอรรถ

  1. ชื่อตามหนังสือ ประวัติศาสตร์อีสาน ของ เติม วิภาคย์พจนกิจ และ ลำดับกษัตริย์ลาว ของ สุรศักดิ์ ศรีสำอาง
  2. ชื่อตาม พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร
  3. ปัจจุบันคือเมืองธาราบริวัตร อยู่ในเขตจังหวัดสตึงแตรง ประเทศกัมพูชา
  4. 4.0 4.1 4.2 พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร

อ้างอิง

ก่อนหน้า พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช ถัดไป
พระเจ้าองค์หลวงไขยกุมาร
พ.ศ. 2280 - 2334

เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์
(พ.ศ. 2335 - 2354)
เจ้านู
(ถึงแก่พิราลัยหลังรับสุพรรณบัตร 3 วัน)