ข้ามไปเนื้อหา

หม่อมอมรวงษ์วิจิตร์ (หม่อมราชวงศ์ปฐม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หม่อมอมรวงศ์วิจิตร)
หม่อมอมรวงษ์วิจิตร์
(หม่อมราชวงศ์ปฐม)

เสียชีวิต23 มิถุนายน พ.ศ. 2451
มณฑลอีสาน ประเทศสยาม
สัญชาติสยาม
อาชีพข้าราชการฝ่ายปกครอง
มีชื่อเสียงจากผู้ริเริ่มรวบรวมประวัติศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสยาม
บุตรพระยานเรนทรราชา (หม่อมหลวงอุรา คเนจร)
บิดามารดา

หม่อมอมรวงษ์วิจิตร์ (หม่อมราชวงศ์ปฐม) เป็นอดีตข้าราชการในกระทรวงมหาดไทยสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นผู้แต่งหนังสือพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการศึกษาเรื่องราวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน

ประวัติ

[แก้]

หม่อมอมรวงษ์วิจิตร์ เป็นหม่อมราชนิกูล มีนามเดิมว่าหม่อมราชวงศ์ปฐม เป็นโอรสในหม่อมเจ้าเมฆิน คเนจร เป็นพระนัดดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ ต้นราชสกุล คเนจร และเป็นพระราชปนัดดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดเมื่อใดยังสืบหาหลักฐานไม่พบ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงระบุในพระนิพนธ์คำนำหนังสือประชุมพงศาวดารภาค 4 ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2458 ไว้ว่า หม่อมอมรวงษ์วิจิตร์ได้รับการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อศึกษาจนครบหลักสูตรแล้ว จึงเข้ารับราชการในหน่วยงานต่าง ๆ ก่อนจะย้ายเข้ามารับราชการในกระทรวงมหาดไทย โดยสมัครออกไปรับราชการในพื้นที่มณฑลอีสาน[1] ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ยังเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ ได้รับความก้าวหน้ามาเป็นลำดับจากตำแหน่งผู้ช่วยจนเป็นถึงปลัดมณฑลเป็นตำแหน่งสุดท้าย[2]

เมื่อตรวจสอบในราชกิจจานุเบกษา ปรากฏข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับประวัติการรับราชการของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร์ดังนี้ (หมายเหตุ: วันขึ้นปีใหม่ขณะนั้นคือวันที่ 1 เมษายน)

  • 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2441 หม่อมอมรวงศ์วิจิตร์ ราชินิกูล ถือศักดินา 800[3]
  • พ.ศ. 2444 ข้าหลวงมหาดไทยมณฑลอีสาน[4]
  • 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 ลาออกจากตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทยมณฑลอีสาน เพื่อย้ายกลับเข้ามารับราชการในพระนคร[5]
  • 4 มิถุนายน พ.ศ. 2447 รับราชการเป็นเลขานุการกระทรวงมหาดไทยในพระนคร[6]
  • 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 ย้ายไปรับราชการเป็นผู้รั้งตำแหน่งปลัดเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า[7] (นับรวมเข้าในทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
  • 6 ตุลาคม พ.ศ. 2448 ย้ายไปรับตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองสิงห์บุรี แทนพระพิศาลสงคราม ที่ไปเป็นปลัดมณฑลภูเก็ต[8]
  • 18 ธันวาคม พ.ศ. 2448 ย้ายจากตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสิงห์บุรี ไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง[9]
  • 31 ตุลาคม พ.ศ. 2450 ย้ายจากตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง ไปเป็นปลัดมณฑลอีสาน[10] (นับรวมเข้าในทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี)

หม่อมอมรวงษ์วิจิตรถึงแก่กรรมเนื่องจากป่วยเป็นไข้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2451[11] แต่ในคำนำหนังสือประชุมพงศาวดารภาค 4 ระบุว่าเป็นวันที่ 11 ตุลาคม ปีเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงการเสียชีวิตของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร์ไว้ว่า "เมื่อปีมะแมนพศก จุลศักราช 1269 พ.ศ. 2450 มีราชการเกิดขึ้นทางชายแดนซึ่งจำจะต้องส่งข้าราชการผู้รู้ราชการออกไปพบปะกับข้าหลวงฝรั่งเศส เวลานั้นเป็นฤดูฝน ทางที่จะไปต้องไปในดงที่ไข้ร้าย หม่อมอมรวงษ์วิจิตรรับอาสาออกไป ก็ไปเป็นไข้กลางทาง แต่ไม่ยอมกลับ ทำแคร่ให้คนหามออกไปราชการทั้งเป็นไข้จนสำเร็จราชการแล้ว ขากลับมาหมดกำลังทนพิษไข้ไม่ได้ สิ้นชีพในระหว่างทางที่มา"[2] ในหนังสือประวัติศาสตร์จังหวัดอ่างทอง จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2554 ระบุถึงราชการชายแดนของหม่อมอมรวงษ์วิจิตรในครั้งนั้นว่าเป็นการควบคุมการปักปันเขตแดนไม่ให้ฝรั่งเศสเอาเปรียบไทยจนเกินไป[12]

งานเขียน

[แก้]

หม่อมอมรวงษ์วิจิตรได้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพื้นที่มณฑลอีสานในเวลาว่างจากการปฏิบัติราชการด้วยรักในวิชาความรู้และเจตนาจะให้เป็นประโยชน์ต่อราชการ ปรากฏผลงานเท่าที่พบดังนี้

  • พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ตีพิมพ์ครั้งแรกในประชุมพงศาวดารภาคที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2458[2]
  • พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ตีพิมพ์ครั้งแรกในประชุมพงศาวดารภาคที่ 70 เมื่อ พ.ศ. 2484[13]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ลำดับสาแหรก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ครอบคลุมพื้นที่ปัจจุบันของจังหวัดอุบลราชธานี, จังหวัดอำนาจเจริญ, จังหวัดยโสธร, จังหวัดศรีสะเกษ, จังหวัดสุรินทร์, จังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์ ของประเทศไทย แขวงจำปาศักดิ์ ของประเทศลาว จังหวัดพระวิหาร และจังหวัดสตึงแตรง ของประเทศกัมพูชา
  2. 2.0 2.1 2.2 ดำรงราชานุภาพ. คำนำ ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 4 อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม. ท.ช. รัตน ว.ป.ร.4 พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. 2458. โบราณคดีสโมสร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2458. หน้า ญ - ท.
  3. ส่งสัญญาบัตรไปพระราชทาน
  4. ส่งสัญญาบัตรตำแหน่งหน้าที่ไปพระราชทาน
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หม่อมอมรวงษ์วิจิตร์ ลาออกจากตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทยมณฑลอีสานเข้ามารับราชการกรุงเทพฯ ให้ขุนภักดีรณชิตไปรับราชการในตำแหน่งว่าที่ข้าหลวงมหาดไทยมณฑลอีสาน, เล่ม 20, ตอน 46, 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446, หน้า 789
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้หม่อมอมรวงษ์วิจิตรเป็นเลขานุการกระทรวงมหาดไทย, เล่ม 21, ตอน 11, 12 มิถุนายน พ.ศ. 2447, หน้า 161
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้หม่อมอมรวงษ์วิจิตร ผู้แทนเลขานุการมหาดไทย เป็นผู้รั้งตำแหน่งปลัดเทศาภิบาล มณฑลกรุงเก่า ให้พระราชพินิจจัยเป็นผู้แทนเลขานุการต่อไป, เล่ม 21, ตอน 46, 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447, หน้า 844
  8. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงมหาดไทย [ให้หม่อมอมรวงษ์วิจิตรเป็นผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง ให้พระราชพินิจจัยเป็นผู้ว่าราชการเมืองสิงห์บุรี ให้พระมนตรีพจนกิจเป็นเลขานุการกระทรวงมหาดไทย ให้พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติปลัดบัญชี], เล่ม 22, ตอน 39, 24 ธันวาคม พ.ศ. 2448, หน้า 951
  10. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้หม่อมอมรวงษ์วิจิตรไปว่าที่ปลัดมณฑลอิสาน ให้พระทรงสุรเดชไปว่าที่ผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง ให้หลวงสาทรศุภกิจว่าที่ผู้ว่าราชการเมืองสิงห์บุรี ให้พระอินทรประสิทธิ์ศรไปว่าที่ผู้ว่าราชการเมืองชัยภูมิ], เล่ม 24, ตอน 28, 13 ตุลาคม พ.ศ. 2450, หน้า 675
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวตาย [หม่อมอมรวงษ์วิจิตร์ (ม.ร.ว. ปฐม), หลวงวิจารณ์สมบัติ (เริก), พระยาภักดีภูธร (นิล)], เล่ม 25, ตอน 14, 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2451, หน้า 435
  12. คณะกรรมการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์จังหวัดอ่างทอง. ประวัติศาสตร์จังหวัดอ่างทอง จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. พิมพ์ครั้งที่ 1. ม.ป.ท., ม.ป.ป. (เอกสารออนไลน์ เผยแพร่โดยสำนักงานจังหวัดอ่างทอง เข้าถึงเมื่อ 9 ธันวาคม 2558)
  13. กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2484.
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์