ข้ามไปเนื้อหา

พระยาสุมังคละโพธิสัตว์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาสุมังคละโพธิสัตว์
พระเจ้าล้านช้าง
ครั้งที่ 1พ.ศ. 2114–2118
ก่อนหน้าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
ถัดไปพระเจ้าศรีวรวงษาธิราช
ครั้งที่ 2พ.ศ. 2123–2125
ก่อนหน้าพระเจ้าศรีวรวงษาธิราช
ถัดไปพระยานครน้อย
พระราชสมภพพ.ศ. 2055
หนองคาย อาณาจักรล้านช้าง
สวรรคตพ.ศ. 2125
เวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้าง
พระราชบุตร1 พระองค์
ราชวงศ์ราชวงศ์ล้านช้าง

พระยาสุมังคละโพธิสัตว์[1] หรือ พระยาสุมังคละโพธิสัตว์อัยการาชา[2] มีพระนามเดิมว่า พระยาแสนสุรินทร์ขว้างฟ้า[1] หรือ พระยาแสนสุรินทราชัย[1] เป็นพระมหากษัตริย์ลาวผู้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เอกสารลาวเรียกชื่อต่างๆ กัน เช่น พระยาแสนสุรินทร์ขว้างฟ้า พระสุมังคละโพธิสัตว์อัยการาชา จารึกบางหลักเรียกชื่อว่า พระสุมังคละไอยโกโพธิสัตว์

พระยาแสนสุรินทร์ลือชัยมีชื่อเดิมว่าจัน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2055 ในสกุลนายบ้านแห่งหนึ่งในเขตเมืองหนองคายซึ่งขณะนั้นเป็นขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรล้านช้าง เป็นคนที่เฉลียวฉลาดและกล้าหาญมาก เริ่มเข้ารับราชการในรัชกาลพระเจ้าโพธิสารราช จนได้อยู่ในตำแหน่งพระยายศลือเกียรติ์และพระยาแสนเมือง (ในบรรดาศักดิ์ "พระยาแสนสุรินทร์ลือชัย") ในรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ในคราวสงครามพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชร่วมมือกับสมเด็จพระมหินทราธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาตีเมืองพิษณุโลก (อันเนื่องจากกรณีพระเทพกษัตรีย์) พระยาแสนสุรินทร์ลือชัยผู้นี้ก็ได้เข้าร่วมทัพในสงครามครั้งนี้ด้วย

เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชหายสาบสูญไปใน พ.ศ. 2114 พระยาแสนสุรินทร์ลือชัยได้ขัดแย้งกับพระยาจันทสีหราช ซึ่งเป็นเสนาบดีคนสำคัญอีกคนหนึ่ง เนื่องจากต่างฝ่ายต่างต้องการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระหน่อแก้วกุมาร พระราชโอรสที่เหลืออยู่ของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จนก่อสงครามกลางเมืองขึ้น ผลปรากฏว่าฝ่ายพระยาแสนสุรินทร์ลือชัยเป็นฝ่ายชนะและได้สถาปนาตัวเองเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (แต่นักประวัติศาสตร์จัดให้เป็นกษัตริย์องค์หนึ่งด้วย) มีพระนามว่า "พระสุมังคละโพธิสัตว์อัยการาชา" ในปี พ.ศ. 2115 ขณะมีอายุได้ 60 ปี แต่คนทั่วไปเรียกว่า "พระเจ้าปู่หลาน"

เหตุที่พระยาแสนสุรินทร์ลือชัยใช้นามข้างต้นนี้ เพราะว่าพระยาแสนสุรินทร์ฯ มีความสัมพันธ์กับพระหน่อแก้วกุมารในฐานะ พระอัยกา (ตา) เนื่องจากได้ถวายลูกสาวของตนให้เป็นพระสนมของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช

พระสุมังคละโพธิสัตว์อัยการาชาครองราชสมบัติในกรุงเวียงจันทน์ได้เพียง 2-3 ปี ใน พ.ศ. 2118 กองทัพพม่าของพระเจ้าบุเรงนองสามารถตีกรุงเวียงจันทน์ได้สำเร็จเป็นครั้งที่ 2 พระองค์จึงหลบไปซ่อนตัวอยู่ในป่า ทางกองทัพพม่าจึงตั้งให้ เจ้ามหาอุปราชวรวงษา พระราชอนุชาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชปกครองกรุงเวียงจันทน์แทน

เมื่อกองทัพพม่าถอนทัพกลับไปแล้ว พระสุมังคละโพธิสัตว์อัยการาชาจึงออกจากป่ามาเข้าร่วมกับพระเจ้าศรีวรวงษาธิราช(เจ้ามหาอุปราชวรวงษา) แต่กลับถูกพระเจ้าศรีวรวงษาธิราชจับตัวส่งไปให้อาณาจักรตองอูแทน ซึ่งทางฝ่ายพม่าก็ให้การดูแลรับรองพระองค์เป็นอย่างดี ตราบจนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุวุ่นวายในอาณาจักรล้านช้างจนทำให้พระเจ้าศรีวรวงษาธิราชสวรรคตใน พ.ศ. 2123 พระเจ้านันทบุเรงจึงส่งตัวพระสุมังคละโพธิสัตว์อัยการาชาให้กลับมาปราบปรามเหตุวุ่นวายและปกครองอาณาจักรล้านช้างอีกครั้ง โดยมีกองทัพพม่าคอยกำกับดูแลด้วย ในครั้งนี้พระองค์อยู่ในราชสมบัติต่อมาเพียง 2 ปีก็สวรรคตใน พ.ศ. 2125

พระสุมังคละโพธิสัตว์อัยการาชามีพระราชโอรสที่สืบราชสมบัติ 1 พระองค์ คือ พระยานครน้อย

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. ลำดับกษัตริย์ลาว. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545, หน้า 123
  2. สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. ลำดับกษัตริย์ลาว. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545, หน้า 124
  • ดวงไซ หลวงพะสี. คู่มือพงสาวะดาน คนลาว แผ่นดินของลาว พิมพ์ครั้งที่ 3. เวียงจันทน์ : โรงพิมหนุ่มลาว, 2544.
  • สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. ลำดับกษัตริย์ลาว พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545.
ก่อนหน้า พระยาสุมังคละโพธิสัตว์ ถัดไป
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระมหากษัตริย์ลาว
แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง

(พ.ศ. 2114 - พ.ศ. 2118)
พระเจ้าศรีวรวงษาธิราช
พระเจ้าศรีวรวงษาธิราช พระมหากษัตริย์ลาว
แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง

(พ.ศ. 2123 - พ.ศ. 2125)
พระยานครน้อย