พระเจ้าวรวงศาธรรมิกราช
พระเจ้าวรวงศาธรรมิกราช มีพระนามเดิมว่าเจ้าวรวงศา หรือ เจ้าวรวังโส เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เจ้าวรวงศาแห่งล้านช้าง พระบิดาเป็นสามัญชนซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อพระวรปิตา พระมารดามีนามว่านางคำไบหรือนางคำไคเป็นพระขนิษฐาร่วมมารดาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช[1][2] พระองค์นับเป็นกษัตริย์ยอดนักรบองค์หนึ่งของลาว แต่มักไม่ค่อยถูกกล่าวถึงเท่าไหร่ ทรงผ่านสงครามกลางเมืองหลายครั้ง รวมถึงการที่ทรงกรีฑาทัพเข้าทำสงครามกับนรธาเมงสอ พระเจ้าเชียงใหม่ เเละท่านยังสามารถยึดหัวเมืองล้านนาได้เกือบหมด และขับไล่ข้าหลวงสยามชาวยวนที่ปกครองเชียงแสน ซึ่งขึ้นมาปกครองล้านนาตอนเหนือตั้งแต่รัชกาลพระนเรศวร เป็นผลสำเร็จ เเละเป็นเหตุบีบให้เมืองเชียงใหม่ไปขอขึ้นตรงกับอยุธยาเพื่อขอกำลังพลของอยุธยาไปช่วยเกลี้ยกล่อมล้านช้างไม่ให้บุกตีเมืองเชียงใหม่ นับเป็นยุครุ่งเรืองยุคหนึ่งของล้านช้าง[3] พระองค์ได้ครองราชย์หลังจากพระหน่อแก้วกุมารสวรรคตในพ.ศ. 2139 สิ้นราชวงศ์ที่สืบมาตั้งแต่ขุนลอ ล้านช้างปกครองโดยมีพระวรปิตาเป็นผู้สำเร็จราชการ ต่อมาทรงมีปัญหาขัดแย้งกับพระวรปิตา เนื่องจากพระวรปิตาต้องการกำจัดพระองค์เพื่อขึ้นเป็นกษัตริย์เสียเอง แต่พระองค์มีพระยาแสนหลวงที่เป็นพระญาติฝ่ายมารดาช่วยคุ้มครอง พระองค์จึงได้ขึ้นครองราชย์ในที่สุด ต่อมา เมื่อพระองค์และพระยาแสนหลวงไปกวาดต้อนครัวลาวที่เชียงใหม่ พระวรปิตาก็ก่อกบฏปิดเมืองไม่ให้พระองค์เสด็จเข้า จนเกิดรบพุ่งกันใน พ.ศ. 2142 แต่คณะสงฆ์เข้าไกลเกลี่ยให้คืนดีกัน พระวรปิตาไปครองเมืองมรุกขนคร ส่วนพระเจ้าวรวงศาธรรมิกราชขึ้นครองราชย์ดังเดิม เริ่มราชวงศ์ล้านช้างสายเจ้าวรวงศา
ต่อมา ใน พ.ศ. 2145 กษัตริย์อังวะได้ยกทัพมารบกับไทใหญ่ พระเจ้าวรวงศายกทัพขึ้นไประวังเหตุที่หลวงพระบาง พระวรปิตาก่อกบฏยกทัพมายึดเวียงจันทน์ไว้ได้ พระยาแสนหลวงได้ยกทัพลงมาปราบปรามได้ พระวรปิตายอมออกบวชตลอดชีวิต พระยาแสนหลวงได้เป็นพระยานครหลวงพิชิตไปครองเมืองมรุกขนครแทน ต่อมา ใน พ.ศ. 2147 เกิดเหตุวุ่นวายในเชียงขวางเนื่องจากเจ้าคำลุน เจ้าเมืองสิ้นชีวิต ลูกหลานแย่งราชสมบัติกัน พระเจ้าวรวงศายกทัพไปไกล่เกลี่ยให้เจ้าสองแคว โอรสเจ้าคำลุนขึ้นเป็นกษัตริย์ ต่อมา ชาวเชียงขวางร้องเรียนว่าเจ้าสองแควปกครองไม่อยู่ในสัตย์ธรรม พระองค์สืบทราบว่าจริงจึงปลดเจ้าสองแควออก ตั้งเจ้าธานีเป็นเจ้าเมืองเชียงขวางแทนใน พ.ศ. 2149
ใน พ.ศ. 2155 มีเชื้อพระวงศ์จากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมากราบทูลว่ากรุงศรีอยุธยาถูกต่างชาติยึดครอง พระองค์จึงยกทัพลงไปถึงเมืองลพบุรี พบว่าไม่เป็นความจริง เพียงแต่เกิดเหตุวุ่นวายในกรงศรีอยุธยา เจ้าฟ้าสุทัศน์ถูกจับในข้อหากบฏและปลงพระชนม์แล้ว พระองค์จึงยกทัพกลับไป
ใน พ.ศ. 2165 พระเจ้าวรวงศาเสด็จไปหลวงพระบางมอบหมายให้พระอุปยุวราชรักษาเมือง พระยาเมืองจัน นามเดิมว่าเวียง ได้ถือโอกาสนี้ก่อกบฏ ยึดเมืองเวียงจันทน์และยกพระอุปยุวราชขึ้นเป็นกษัตริย์ พระเจ้าวรวงศาได้ให้เจ้าหม่อมไชยและพระยาอนุชิตยกทัพลงมายึดเมืองเวียงจันทน์คืนได้ พระยาเมืองจัน (เวียง) ไปตั้งมั่นที่เวียงคุก ฝั่งเดียวกับหนองคาย เมื่อพระเจ้าวรวงศาเสด็จกลับมาแล้ว บ้านเมืองยังคงวุ่นวายอยู่ พระยาเมืองจัน (เวียง) ได้ยกทัพเข้ามาตีเวียงจันทน์แตก พระเจ้าวรวงศาแตกพ่ายหนีไปทางเมืองเชียงแดง พระยาเมืองจันยกทัพตามไปทัน สังหารพระเจ้าวรวงศาและครอบครัวที่ตามไปด้วยจนหมดสิ้นแล้วยกพระอุปยุวราชขึ้นครองราชย์ต่อไป
อ้างอิง
[แก้]- มหาบุนมี เทบสีเมือง. ความเป็นมาของชนชาติลาว เล่ม 2 อาณาจักรลาวล้านช้างตอนต้น. แปลโดย ไผท ภูธา. กทม. สุขภาพใจ. 2554. หน้า 317 – 330
- ↑ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕, (๒๔๖๐). "พงศาวดารเมืองหลวงพระบาง ตามฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุน", วิกิซอร์ซ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://th.m.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87_%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%B8%E0%B8%99 [๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓].
- ↑ สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. ลำดับกษัตริย์ลาว. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545, หน้า 79
- ↑ https://www.facebook.com/100654875312609/posts/120231960021567/