พระสุนทรราชวงศา (เจ้าคำสิงห์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระสุนทรราชวงศา)
พระสุนทรราชวงศา (ท้าวคำสิงห์)
พระประเทศราชผู้ครองเมือง
ครองราชย์พ.ศ. 2357
รัชกาลก่อนหน้าท้าวคำม่วง
รัชกาลถัดไปพระสุนทรราชวงศา (ท้าวสีชา)
พิราลัยพ.ศ. 2366
พระมเหสีไม่ปรากฏพระนาม
พระบุตรท้าวบุตร และท้าวคำ
ราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว
พระบิดาพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช
พระมารดาไม่ปรากฏพระนาม

พระสุนทรราชวงศา (ท้าวคำสิงห์) ดำรงตำแหน่งพระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทรประเทศราชคนแรก (ปัจจุบันคือจังหวัดยโสธรในภาคอีสานของประเทศไทย) นามเดิมว่า ท้าวคำสิงห์ หรือ ท้าวราชวงศ์สิงห์ เป็นพระโอรสในพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (ท้าวฝ่ายหน้า) พระประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 และเป็นพระนัดดาพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง ณ อุบล) พระประเทศราชผู้ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทศราชองค์แรก สมภพที่นครเวียงจันทน์ สืบเชื้อสายเจ้านายราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว อันมีเจ้าอุปราชนอง (เจ้านอง) เป็นปฐมราชวงศ์ผู้สร้างนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (จังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน)

ประวัติ[แก้]

พ.ศ. 2314 พระเจ้าสิริบุญสาร เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์เกิดหวาดระแวงในพระตา และพระวอ จึงยกกองทัพจากนครเวียงจันทน์มาปราบปราม พระตาถูกข้าศึกยิงด้วยอาวุธปืน และฟันด้วยดาบจนถึงแก่พิราลัยในที่สนามรบ ส่วนพระวอ ท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม ท้าวก่ำ และท้าวคำสิงห์ได้ยกทัพฝ่าหนีออกจากนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานลงมาตามลำน้ำชีมาพักกับท้าวคำสูผู้ปกครองบ้านสิงห์ท่าสิงห์โคก ภายหลังต่อมาพระวอดำริว่าหากอยู่กับท้าวคำสูแล้ว ถ้าเวียงจันทน์ยกทัพมาก็จะเป็นการลำบากแก่บ้านสิงห์ท่าสิงห์โคก และจะเกิดศึกสงครามกันต่อไป เมื่อประชุมตกลงกันแล้วจึงได้พาไพร่พลอพยพลงไปตามลำน้ำมูล และสร้างเมืองใหม่ที่เวียงดอนกองเขตนครจำปาศักดิ์ ตามรับสั่งของพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ โดยพระวอให้สร้างค่ายขุดคูประตูหอรบขึ้นเรียกว่า "ค่ายบ้านดู่บ้านแก"

พ.ศ. 2321 เมื่อพระเจ้าสิริบุญสารทราบเรื่อง จึงได้ยกทัพมาปราบอีกครั้งจนทำให้พระวอถึงแก่พิลาลัยในสนามรบ ท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม ท้าวก่ำ และท้าวคำสิงห์จึงพร้อมบริวารจึงได้อพยพต่อไปยังเกาะกลางลำน้ำมูลซึ่งเรียกว่า "ดอนมดแดง" แต่เนื่องจากเป็นที่ต่ำไม่เหมาะสมที่จะสร้างเมืองใหม่จึงอพยพขึ้นมาตามลำน้ำมูลถึงห้วยแจระแม แล้วมาสร้างเมืองขึ้นที่ดงอู่ผึ้ง เมื่อปีกุน พ.ศ. 2322 แล้วมีหนังสือกราบบังคมทูลขอขึ้นอยู่ในขอบขัณฑสีมาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองที่ตั้งว่าเมืองอุบล เพื่อเป็นการรำลึกถึงบ้านเมืองเดิมของตนคือเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลุ่มภู) จากนั้นท้าวคำผงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระประเทศราชผู้ครองเมืองคนแรก และได้รับพระราชทานพระราชทินนามว่า "พระปทุมสุรราช"

พ.ศ. 2323 ท้าวคำสิงห์ได้ติดตามท้าวฝ่ายหน้า พร้อมพระประทุมสุรราช เจ้าเมืองอุบล ลงไปช่วยราชการกองทัพกรุงธนบุรีปราบปรามการจราจลเขมร

พ.ศ. 2329 ท้าวฝ่ายหน้า พร้อมกับนางอูสา และท้าวคำสิงห์ ได้นำไพร่พลญาติวงศาอีกส่วนหนึ่งขอแยกตัวกลับมาอยู่ที่บ้านสิงห์ท่าซึ่งท้าวคำสูปกครองอยู่ ตั้งมั่นเป็นกองนอกหวังจะตั้งบ้านเมืองขึ้นให้ใหญ่โตสมฐานะดั่งเมืองอุบล และพระปทุมสุรราช (ท้าวคำผง) ก็เห็นสมควรด้วยกับท้าวฝ่ายหน้า ไม่ขัดข้องประการใด จึงได้แยกย้ายกันไปทำมาหากินที่บ้านสิงห์ท่า ได้ปรับปรุงและสร้างบ้านสิงห์ท่าจนเจริญรุ่งเรืองต่อจากท้าวคำสู

พ.ศ. 2334 เกิดกบฏอ้ายเชียงแก้วได้พาพรรคพวกเข้ายึดนครจำปาศักดิ์ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เมื่อครั้งเป็นพระพรหม ยกกระบัตร ยกกองทัพเมืองนครราชสีมา มาปราบกบฏอ้ายเชียงแก้ว ขณะที่กองทัพนครราชสีมายกมาไม่ถึงนั้น พระประทุมสุรราช (ท้าวคำผง) และท้าวฝ่ายหน้า ผู้น้องซึ่งเป็นนายกองนอกที่บ้านสิงห์ท่า พร้อมท้าวคำสิงห์ พระโอรสคนโตได้ร่วมกันยกกำลังไปปราบกบฎอ้ายเชียงแก้วก่อน ทั้งสองฝ่ายได้สู้รบกันที่บริเวณแก่งตะนะ จนกองกำลังอ้ายเชียงแก้วแตกพ่ายไป ท้าวฝ่ายหน้าจับตัวอ้ายเชียงแก้วไว้ได้ และประหารชีวิตที่แก่งตะนะปากด่านแม่น้ำมูล เมื่อกองทัพเมืองนครราชสีมายกมาถึงนครจำปาศักดิ์เหตุการณ์ก็สงบเรียบร้อยแล้ว จึงพากันยกกองทัพไปตีพวกข่า ชาติกระเสงสวาง จะรายระแดร์ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง จับพวกข่าเป็นเชลยได้เป็นจำนวนมาก

จากคุณความดีความชอบในการปราบปรามกบฏอ้ายเชียงแก้วครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ท้าวฝ่ายหน้าเป็นพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช ดำรงฐานะเป็นพระประเทศราชผู้ครองอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 แทนพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารที่ถึงแก่พิราลัยไป และตั้งให้ท้าวคำสิงห์เป็นราชวงศ์เมืองโขง (สีทันดอน) พร้อมกันนั้นได้ย้ายไพร่พลส่วนหนึ่งของบ้านสิงห์ท่าลงไปที่นครจำปาศักดิ์ ส่วนทางบ้านสิงห์ท่าตั้งให้ท้าวคำม่วงเป็นผู้ปกครองแทนต่อมา

ปี พ.ศ. 2354 พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชได้ถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านู ซึ่งเป็นหลานพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์องค์ก่อน เป็นเจ้าผู้ครองนครจำปาาสักสืบต่อไป จึงทำให้เจ้าราชวงศ์เมืองโขง (ท้าวคำสิงห์) ไม่เป็นที่พอใจที่จะทำราชการกับเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์องค์ใหม่ จึงได้พาครอบครัว และไพร่พลอพยพมาอยู่ที่บ้านสิงท่าดังเดิม พร้อมนำอัฐิพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชมาก่อเจดีย์บรรจุไว้ข้างองค์พระธาตุอานนท์ที่วัดมหาธาตุ ด้วยเกรงว่าเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์องค์ใหม่ จะไม่เคารพอัฐิพระบิดาของตน และได้ปรับปรุงพัฒนาบ้านสิงห์ท่าให้ใหญ่โตรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก

พ.ศ. 2357 ราชวงศ์คำสิงห์ได้มีใบกราบบังคมทูลขอยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง พระราชทานนามว่า เมืองยศสุนทร มีฐานะเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ให้ราชวงศ์คำสิงห์เป็นที่พระสุนทรราชวงศา พระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทรคนแรก (พ.ศ. 2357-2366) ตั้งท้าวสีชา (บุตรผู้ครองนครจำปาศักดิ์) เป็นอุปราช ตั้งท้าวบุตร (บุตรพระสุนทรราชวงศา) เป็นราชวงศ์ และตั้งให้ท้าวเสน (บุตรพระวอ) เป็นเฝราชบุตร ปกครองเมืองยศสุนทรส่งส่วยบำรุงราชการของหลวงคือ น้ำรักสองเลขต่อเบี้ย ป่านสองเลขต่อขอด

กรณียกิจที่สำคัญ[แก้]

พระสุนทรราชวงศา (ท้าวคำสิงห์) ได้กอปรกรณียกิจสำคัญ ดังนี้

  1. ศึกนครเวียงจันทน์
  2. ปราบจราจลเขมร
  3. ปราบกบฏอ้ายเชียงแก้ว
  4. ดูแลเก็บส่วยด่านเมืองโขง
  5. ได้ให้ไพร่พลก่อสร้างโฮงคำไว้สำหรับออกว่าราชการบ้านเมือง
  6. ก่อสร้างฉางข้าวหลวงไว้สำหรับเก็บเสบียงสำรองภายในเมือง

พระโอรสและพระธิดา[แก้]

พระสุนทรราชวงศา (ท้าวคำสิงห์) มีพระโอรสตามพงศาวดารกล่าวไว้เพียง 2 พระองค์ คือ

  1. ท้าวบุตร ต่อมาเป็นที่อุปราชเมืองยศสุนทร และถูกเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สั่งให้ประหารชีวิตในคุกเพลิง กรณีกบฎเจ้าอนุวงศ์
  2. ท้าวคำ ต่อมาถูกเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สั่งให้ประหารชีวิตในคุกเพลิง กรณีกบฎเจ้าอนุวงศ์

พิราลัย[แก้]

พ.ศ. 2566 พระสุนทรราชวงศา (ท้าวคำสิงห์) ได้ถึงแก่พิราลัย ตลอดสมัยที่ปกครองเมืองยสสุนทรประเทศราช บ้านเมืองสงบร่มเย็นผาสุข และเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด

พระญาติวงศ์[แก้]

พระสุนทรราชวงศา (ท้าวคำสิงห์)มีพระอนุชา และพระขนิษฐา รวมทั้งหมด 5 พระองค์ คือ

  1. พระสุนทรราชวงศาฯ (ท้าวฝ่ายบุต) พระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทรประเทศราช องค์ที่ 3
  2. ท้าวสุดตา
  3. เจ้านางแดง
  4. เจ้านางไทย
  5. เจ้านางก้อนแก้ว

อาณาเขตเมืองยศสุนทร[แก้]

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบริเวณเมืองยศสุนทรในสมัยเริ่มตั้งเมืองนั้นได้มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่พื้นที่บางส่วนของจังหวัดกาฬสินธุ์ และบางส่วนของจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

ก่อนหน้า พระสุนทรราชวงศา (เจ้าคำสิงห์) ถัดไป
บ้านสิงห์ท่า
เจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทรประเทศราช
(พ.ศ. 2357 - พ.ศ. 2366)
พระสุนทรราชวงศา (เจ้าสีชา)
พ.ศ. 2366 (3 เดือน)