พระสุนทรราชวงศาฯ (เจ้าฝ่ายบุต)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระสุนทรราชวงศาฯ
(ท้าวฝ่ายบุต)
พระประเทศราช
ครองราชย์พ.ศ. 2370
รัชสมัย31 ปี
รัชกาลก่อนหน้าพระสุนทรราชวงศา (ท้าวสีชา)
รัชกาลถัดไปพระสุนทรราชวงศาฯ (ท้าวเหม็น)
พิราลัยพ.ศ. 2400
พระมเหสีพระนางพรหมา
พระสุนทรราชวงศา มหาขัติยชาติ ประเทศราชวงศ์เวียง ดำรงรักษ์ภักดียศฦๅไกร ศรีพิไชยสงคราม
พระบุตรท้าวเหม็น
ราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว
พระบิดาพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช
พระมารดาไม่ปรากฏพระนาม

พระสุนทรราชวงศาฯ หรือ ท้าวฝ่ายบุต พระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทรประเทศราช องค์ที่ 3 และเป็นพระโอรสของพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช พระประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 อีกทั้งยังสืบเชื้อสายมาจากพระอัยกา (ปู่) คือ พระวรราชปิตา พระอัยยิกา (ย่า) คือ พระนางบุสดีเทวี และพระปัยกา (ปู่ทวด) คือ เจ้านอง ทรงเป็นปฐมราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว ปฐมเจ้าผู้สร้างนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (จังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน) ส่วนพระมารดาเป็นหญิงชาวลาวเวียงจันทน์

ประวัติ[แก้]

พระพุทธบุษรัตนปฏิมากร (พระแก้วหยดน้ำค้าง) ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่พระสุนทรราชวงศาฯ (ท้าวฝ่ายบุต)

พระสุนทรราชวงศาฯ หรือ ท้าวฝ่ายบุต เป็นพระโอรสของพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช พระประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 สมภพที่นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ทรงอภิเสกสมรสกับเจ้านางพรหมมา มีพระโอรส 2 องค์ คือ ท้าวเหม็น และท้าวพระเมือง

พ.ศ. 2334 เกิดเหตุกบฏอ้ายเชียงแก้วที่อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ทางฝ่ายนครจำปาศักดิ์ไม่สามารถรับมือได้ เนื่องจากพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ในเวลานั้น ถึงแก่พิราลัยกะทันหันหลังจากได้รับทราบข่าวศึก (ก่อนหน้านั้นพระเจ้าองค์หลวงฯ เองก็ประชวรเรื้อรังมานานแล้ว) ท้าวฝ่ายหน้า ได้นำท้าวคำสิงห์ และท้าวฝ่ายบุต พระโอรสทั้งสองไปร่วมมือกับพระประทุมราชวงศา (ท้าวคำผง) พระประเทศราชผู้ครองเมืองอุบล ผู้เป็นพระเชษฐา ยกทัพไปปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วจนราบคาบ และท้าวฝ่ายหน้าได้จับตัวอ้ายเชียงแก้วประหารชีวิตที่แก่งตะนะ (อยู่ในแม่น้ำมูล ระหว่างอำเภอพิบูลมังสาหารกับอำเภอสิรินธรในปัจจุบัน) ก่อนหน้าที่กองทัพเมืองนครราชสีมาจะยกมาถึงตามรับสั่งจากกรุงเทพฯ ด้วยความดีความชอบในครั้งนี้ ทำให้เจ้าหน้าได้รับพระราชทานสุพรรณบัฎแต่งตั้งเป็น "พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช"[1] พระประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 แลพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชก็ยังให้ท้าวฝ่ายบุต ผู้เป็นพระโอรสลงไปรับราชการสนองที่นครจำปาศักดิ์อีกด้วย

พ.ศ. 2370 พระยาราชสุภาวดีจึงกราบบังคมทูลความดีความชอบของท้าวฝ่ายบุตในคราวปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร แต่งตั้งท้าวฝ่ายบุตเป็นพระสุนทรราชวงศา มหาขัตติยชาติ ประเทศราชทวาเวียง ดำรงรักษศักดิยศทฤาไกร ศรีพิไชยสงคราม[2] พระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทร องค์ที่ 3 (พ.ศ. 2370-2400) พร้อมพระราชทานพระพุทธรูปสำคัญคือ พระพุทธปฏิมาบุษยรัตน์ หรือ พระแก้วหยดน้ำค้าง อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองยโสธรในปัจจุบัน , พระราชทานเชลยศึกจากนครเวียงจันทน์ จำนวน 500 ครอบครัว และพระราชทานปืนใหญ่ไว้สำหรับเมืองยศสุนทร 1 กระบอก อันมีชื่อว่า "ปืนนางป้อง" ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ที่ศาลหลักเมืองยโสธรมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อท้าวฝ่ายบุตได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเป็นพระประเทศราชผู้ครองเมืองแล้ว ได้ให้ไพร่พลนำหินศิลาจากบ้านแก้งหินโงม มาสร้างพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานที่มณฑปวัดป่ามะม่วง สร้างวัดขึ้นที่ท่าน้ำริมฝั่งแม่น้ำชี เรียกว่า วัดท่าแขก (หรือวัดศรีธรรมารามในปัจจุบัน) และสร้างวัดขึ้นที่กลางเมือง เรียกว่า วัดกลางศรีไตรภูมิ ไว้เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสืบมา

ครองเมืองนครพนม[แก้]

ปี พ.ศ. 2378 เมื่อพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมได้หลบหนีไปกับเจ้าอนุวงศ์ แล้วพระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น) จึงได้มอบให้พระสุนทรราชวงศาฯ (ท้าวฝ่ายบุต) พระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทร มาว่าราชการเป็นเจ้าเมืองนครพนมเป็นที่พระประเทศราชครองเมืองนครพนมอีกตำแหน่งหนึ่ง

ปี พ.ศ. 2381 พระสุนทรราชวงศาฯ พระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทร ได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้พระบรมราช (มัง) อดีตเจ้าเมืองนครพนมพร้อมด้วยกรมการเมืองบางคน และบุตรหลานที่อพยพหลบหนีไปกับเจ้าอนุวงศ์ที่เมืองมหาชัยก่องแก้วทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กลับมาอยู่ที่เมืองนครพนมตามเดิม รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชดำริว่าพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมก็ชราภาพ และป่วยเป็นคนพิการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสุนทรราชวงศาฯ เป็นผู้ครองเมืองนครพนมและครองเมืองยศสุนทรทั้งสองเมือง แม้จะได้ครองทั้ง2เมืองแต่ทรงพระราชทานนามบรรดาศักดิ์เท่าเดิมคือตำแหน่งพระประเทศราชพร้อมเครื่องยศ คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระโถนทองคำหนึ่ง โต๊ะเงิน คาวหวาน กระบี่บั้งทองหนึ่ง ปืนคาบศิลาคอลาย 2 กระบอก เสื้อกำมะหยี่ติดขลิบแถบทองตัวหนึ่ง หมวกตุ้มปี่ยอดทองคำประดับพลอยหนึ่ง เสื้อเข้มขาบริ้วตัวหนึ่ง เสื้อญี่ปุ่นลายเขียนตัวหนึ่ง แพรโล่ผืนหนึ่ง ผ้าปูมผืนหนึ่ง และสัปทนสักหลาดคันหนึ่ง เป็นเครื่องยศบรรดาศักดิ์ [3] นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ในเมืองนครพนม ดังนี้ ท้าวจันโท น้องพระบรมราชา (มัง) เป็นอุปราช ท้าวอรรคราช บุตรพระบรมราชา (มัง) เป็นราชวงศ์ ท้าวอินทวงศ์ เมืองยศสุนทร เป็นราชบุตร

ในระหว่างที่พระสุนทรราชวงศาฯ ดำรงตำแหน่งพระประเทศราชผู้ครองเมืองนครพนม อยู่นานถึง 22 ปี ได้มีเหตุการณ์และตั้งเมืองขึ้นใหม่โดยยกกองทัพออกไปกวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้าย แม่น้ำโขง (ดินแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวปัจจุบัน) คือจากเมืองวัง เมืองพิณ เมืองนอง เมืองเซโปน เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองคำอ้อคำเขียว เมืองแสก เมืองเชียงฮ่ม เมืองผาบัง ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ คือ ผู้ไท ข่า กะโซ่ กะเลิง แสก ย้อ โย้ย ให้มาตั้งขึ้นเป็นเมืองต่าง ๆ ในท้องที่เมืองนครพนม เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร และเมืองกาฬสินธุ์ เกิดขึ้นเป็นเมืองเรณูนคร [4] เมืองอาทมาต ต่อมาถูกยุบลงเป็นตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม เมืองรามราช[5] ต่อมาถูกยุบลงเป็นตำบลรามราช อำเภอท่าอุเทน เมืองอากาศอำนวย[6] เมืองท่าอุเทน[7] เมืองไชยบุรี[8][9]

การสงคราม และคุณูปการณ์[แก้]

พระเจดีย์เก้ายอด ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ ณ จุดที่เคยเป็นค่ายทหารเพื่อระดมพลไปทำสงครามกับเจ้าอนุวงศ์ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่วัดทุ่งสว่างชัยภูมิ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร

พ.ศ. 2369 เกิดสงครามเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์กับกรุงเทพมหานคร ท้าวฝ่ายบุตพร้อมกับท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) (ต่อมาได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นพระปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคายคนแรก) และท้าวเคน บุตรชายของท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) ได้นำกองกำลังเมืองยศสุนทรเข้าร่วมกองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดี เข้าตีค่ายเวียงคุกที่เมืองยโสธรแตก เจ้าราชบุตร (โย้) โอรสของเจ้าอนุวงศ์และเป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ยกทัพมาตั้งมั่นที่เมืองอุบล พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ยกทัพจากยโสธรเข้าโจมตีเมืองอุบล ชาวลาวเมืองอุบลลุกฮือขึ้นขับไล่เจ้าราชบุตรออกจากเมือง เจ้าราชบุตรหลบหนีกลับไปยังเมืองจำปาศักดิ์แต่ไม่สามารถเข้าเมืองได้เนื่องจากความวุ่นวายในเมือง พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) จึงสามารถเข้ายึดเมืองจำปาศักดิ์ และจับกุมตัวเจ้าราชบุตรได้

พ.ศ. 2371 เจ้าอนุวงศ์ซึ่งได้หลบหนีไปยังเวียดนามราชวงศ์เหงียน และได้กลับมายังเมืองเวียงจันทน์พร้อมคณะทูตของพระจักรพรรดิมิญหมั่ง เจ้าอนุวงศ์เข้าลอบสังหารกองกำลังฝ่ายไทยและเข้าครองเมืองเวียงจันทน์อีกครั้ง เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ซึ่งยกทัพมาตั้งมั่นที่เมืองพันพร้าว (ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) จึงล่าถอยไปทางใต้ไปยังเมืองยโสธร เจ้าอนุวงศ์จึงส่งพระโอรสเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ยกทัพลาวจากเวียงจันทน์ข้ามแม่น้ำโขงลงมาทางใต้เพื่อตามทัพของเจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ได้ยกทัพขึ้นมาตั้งรับที่ค่ายบกหวาน (ตำบลบกหวาน อำเภอเมืองจังหวัดหนองคาย) เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ต่อสู้ตัวต่อตัวกับเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เจ้าพระยาราชสุภาวดีตกจากม้าล้มลง เจ้าราชวงศ์ใช้หอกแทกถูกเฉียดตัวเจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นแผลถลอก[10] เจ้าราชวงศ์จะให้ดาบฟันซ้ำหลวงพิพิธน้องชายของเจ้าพระยาราชสุภาวดีเข้ารับแทนทำให้หลวงพิพิธถูกฟันเสียชีวิต เจ้าพระยาราชสุภาวดีอาศัยจังหวะใช้มีดแทงที่ต้นขาของเจ้าราชวงศ์ประกอบกับฝ่ายไทยยิงปืนถูกเข่าของเจ้าราชวงศ์ล้มลงเสียโลหิตมาก ฝ่ายลาวจึงนำเจ้าราชวงศ์ขึ้นแคร่หามหนีไป เจ้าพระยาราชสุภาวดีแม้ว่าจะได้รับบาดเจ็บยังคงติดตามเจ้าราชวงศ์ไปแต่ไม่สำเร็จ

หลังจากชัยชนะของเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ที่ค่ายบกหวานทำให้เจ้าอนุวงศ์หลบหนีออกจากเวียงจันทน์อีกครั้งไปยังเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวาง เจ้าพระยาราชสุภาวดียกทัพกลับไปพันพร้าวอีกครั้งและเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ได้เผาทำลายเมืองเวียงจันทน์ลงอย่างสิ้นเชิง ฝ่ายพระจักรพรรดิมิญหมั่งส่งทูตมาอีกครั้งแต่เจ้าพระยาราชสุภาวดีไม่ไว้วางใจฝ่ายเวียดนามจึงออกอุบายให้จัดงานเลี้ยงให่แก่คณะทูตเวียดนามและสังหารคณะทูตเวียดนามเกือบหมดสิ้น[11] เจ้าน้อยเมืองพวน ได้จับกุมตัวเจ้าอนุวงศ์ส่งมาให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้สำเร็จ

พ.ศ. 2395 พระสุนทรราชวงศาฯ (ท้าวฝ่ายบุต) ได้ติดต่อค้าขายกับเมืองนครราชสีมาและได้รับรองให้ชาวจีนเข้ามาตั้งร้านค้าขายที่เมืองยโสธรเป็นครั้งแรก โดยใช้เกวียนในการขนส่งสินค้า กองเกวียนของพ่อค้าจีนน่าจะใช้เส้นทางนางอรพิม ทางช้างเผือกในการขนส่งสินค้าระหว่างทั้งสองเมืองนี้ ดังนั้นทางสายนี้จึงมีความสำคัญทั้งทางด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อหัวเมืองในแถบนี้ ต่อมาในปีเดียวกัน ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 พระสุนทรราชวงศาฯ (ท้าวฝ่ายบุต) ถูกครหาว่าได้มีการสมคบคิดกับชาวญวน ซึ่งมีความผิดจริง ความผิดนั้นมาจากการที่พระสุนทรราชวงศาได้มีการรับจดหมายจากญวนซึ่งเป็นศัตรูกับทางการสยามในขณะนั้น เเต่พระสุนทรราชวงศาไม่ได้นำไปทูลเกล้าถวายเเด่พระมหากษัตริย์เเห่งกรุงรัตนโกสินทร์ให้ได้ทรงรับทราบ จึงเป็นสาเหตุที่เเท้จริงที่ส่งผลให้พระสุนทรราชวงศาฯ (ท้าวฝ่ายบุต) ถูกปลดออกจากตำเเหน่งเจ้าเมืองนครพนมเเละเมืองยศสุนทร เเละส่วนกลางมีความประสงค์จะให้ส่งตัวท้าวฝ่ายบุตที่พ้นตำเเหน่งเจ้าเมืองเเล้วไปไว้ที่เมืองนครราชสีมา เเต่เนื่องด้วยท้าวฝ่ายบุต ตอนนั้น มีอายุ 78 ปี ซึ่งมีความชราภาพมากเเล้ว ส่วนกลางจึงให้ท้าวฝ่ายบุตกลับมาอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องที่เมืองยศสุนทร ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการเเต่งตั้งเจ้าเมืองยศสุนทรคนใหม่ เเต่ยังคงให้พระศรีวรราช (ท้าวเหม็น) บุตรท้าวฝ่ายหน้า เเลกรมการเมืองปกครองเมืองสืบต่อมา[12]


การก่อตั้งบ้านเมืองขึ้นในภาคอีสาน[แก้]

ในระหว่างที่พระสุนทรราชวงศาฯ เป็นพระประเทศราชผู้ครองเมืองนครพนม ท่านได้ยกกำลังออกไปกวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนขึ้นเป็นชุมชนจนพัฒนากลายเป็นเมืองในเขตเมืองนครพนม เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร และเมืองกาฬสินธุ์ ดังนี้

  • ชาวผู้ไท จากเมืองวัง จำนวน 2,647 คน ตั้งเป็นเมืองขึ้นที่บ้านดงหวาย ซึ่งต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองเรณูนคร ให้ท้าวสายนายครัวเป็นพระแก้วโกมล เจ้าเมืองเรณูนครคนแรก เมื่อปี พ.ศ. 2387 ขึ้นกับเมืองนครพนม
  • ชาวแสก ซึ่งอพยพจากเมืองแสก อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านนาลาดควาย จำนวน 1,170 คน เมื่อปี พ.ศ. 2380 ต่อมาให้ตั้งขึ้นเป็นกองอาทมาต คอยลาดตระเวนชายแดน ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองอาทมาตขึ้นกับเมืองนครพนม ให้ฆานบุดดีเป็นหลวงเอกสาร เจ้าเมืองอาทมาต จนถึงปี พ.ศ. 2450 จึงยุบลงเป็นตำบลอาจสามารถ อยู่ในอำเภอเมืองนครพนม
  • ชาวกะโซ่ จากเมืองฮ่ม เมืองผาบังทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จำนวน 449 คน เมื่อปี พ.ศ. 2380 ตั้งเป็นเมืองที่บ้านเมืองราม และพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองรามราช ขึ้นกับเมืองนครพนม ให้ท้าวบัวจากเมืองเชียงฮ่ม เป็นพระอุทัยประเทศเจ้าเมืองรามราช เมื่อปี พ.ศ. 2388 ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ได้ยุบลงเป็นตำบลรามราช อยู่ในอำเภอท่าอุเทน
  • ชาวโย้ย จากบ้านหอมท้าวทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จำนวน 1,339 คน ไปตั้งเมืองอยู่ที่บ้านม่วงริมน้ำยาม เมื่อปี พ.ศ. 2380 ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองอากาศอำนวยขึ้นกับเมืองนครพนม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2396 ให้ท้าวศรีนุราชเป็นหลวงพลานุกูล เจ้าเมืองอากาศอำนวยคนแรก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2457 ได้โอนไปขึ้นกับเมืองสกลนครคือ ท้องที่อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
  • ชาวไทย้อ เดิมอยู่ที่ปากน้ำสงครามริมฝั่งแม่น้ำโขง ต่อมาได้อพยพหลบหนีไปกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2369 ไปตั้งอยู่ที่เมืองหลวงปุเลง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พระสุนทรราชวงศาฯ พระประเทศราชผู้ครองเมืองนครพนมได้เกลี่ยกล่อมให้กลับมาตั้งเมืองอยู่ที่บ้านท่าอุเทนร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2375 และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองท่าอุเทนขึ้นกับเมืองนครพนมในปีเดียวกัน และตั้งให้ท้าวพระปทุมเป็นพระศรีวรราช เจ้าเมืองท่าอุเทนคนแรก

การศาสนา[แก้]

พระสุนทรราชวงศาฯ ผู้นี้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอันมาก นำไพร่พลสร้างพระอารามขึ้นหลายแห่ง ดังนี้

พ.ศ. 2378 พระสุนทรราชวงศาฯ ขึ้นไปครองเมืองนครพนม ได้ขอเวนคืนที่ดินแล้ว มีรับสั่งให้เมืองแสน เมืองจันทร์ ท้าวเพียกรมการเมืองนำไพร่พลชาวเมืองนครพนมสร้างวัดขึ้น 1 แห่ง และพระเจดีย์อีก 1 องค์ ก็เป็นที่สง่างามแก่เมืองนครพนมเท่าทุกวันนี้ (ยังไม่ทราบชัดเจนว่าคือวัดใด)

พ.ศ 2395 หลังจากที่ท้าวฝ่ายบุต กลับลงมาอาศัยอยู่ที่เมืองยศสุนทร มีรับสั่งให้เมืองแสน เมืองจันทร์ ท้าวเพียกรมการเมืองนำไพร่พลสร้างวัดขึ้นตรงบริเวณประหารชีวิตเจ้าอุปราชบุตร และเจ้าคำม่วน ซึ่งทั้งสองมีศักดิ์เป็นหลานอาว์ของพระสุนทรราชวงศาฯ (เจ้าฝ่ายบุต) ด้วยความอาลัยรันทดในวิบากกรรมของท่านทั้งหลายที่ได้สิ้นชีวิตโดยการถูกประหารใน "คุกเพลิง" และปักเขตสร้างพระอุโบสถครอบตรงที่คุกเพลิงนั้นเสีย ปักเขตวัดตั้งแต่หนองแห้วข้างเมือง หนองแกอยู่กลางวัด เกณฑ์ไพร่พลขุดดืนถมเป็นลานวัดให้ราบเสมอกันดี ทิศใต้วัดล้อมด้วยเสาไม้แก่น ทิศตะวันออก ทิศเหนือ แลทิศใต้ล้อมด้วยกำแพงก่อดินอิฐ พร้อมปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ จำนวน 8 ต้น เรียงรายเป็นระยะ สร้างเสนาสนะสำหรับเป็นที่อาศัยแก่พระภิกษุสามเณร และนิมนต์พระครูเผือกมาจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาส พระสุนทรราชวงศาฯ สละข้าไพร่ชายหญิง จำนวน 10 ครัวเรือน ให้เป็นข้าโอกาส (เลขวัด) ดูแลวัดสืบไป และประทานนามวัดว่า วัดท่าชี แต่ประชาชนชาวเมืองนิยมเรียกว่า วัดท่าแขก หรือ วัดนอก

ทูลเกล้าถวายช้างเผือก[แก้]

ในขณะที่ท้าวฝ่ายบุต ซึ่งขณะนั้นหลังถูกปลดจากตำเเหน่งเจ้าเมือง ได้พำนักอยู่ที่เมืองยศสุนทร โดยมีพระศรีวรราช (ท้าวเหม็น) บุตรชาย รักษาราชการเมืองเเทน ก็ได้แต่งหมอช้างควาญช้างจากบ้านเมืองไพร แขวงเมืองยศสุนทรไปแทรกโพนช้างทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงได้ช้างสีประหลาดมา 2 ครา ภายในระยะเวลา 2 ปีติดต่อกัน และได้ฝึกหัดช้างสีประหลาดจนชำนาญ จึงนำลงไปทูลเกล้าฯ ที่กรุงเทพมหานคร ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ความว่า

  • พระวิมลรัตนกิริณี ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นช้างพังลูกเถื่อนเผือกโท คล้องได้ที่เขากะยอ ดงชมาดชบา แขวงระแด พระสุนทรราชวงศา อดีตเจ้าเมืองยโสธร นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย โปรดเกล้าฯ ให้สมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันพุธ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีฉลู จุลศักราช 1215 ตรงกับวันที่ 10 สิงหาคม พุทธศักราช 2396 พระราชทานนามว่า พระวิมลรัตนกิริณี สุทธศรีสรรพางค์พิเศษ ทุติยเศวตวรรโณภาษ ​พงศ์กมลาศน์รังสฤษดิ ราชบุญฤทธิ์สมาหาร โสภาจารจุฬาหล้า มหาอุดมมงคล พรรษผลพิบูลย์ประสิทธิ์ ศุภสนิทพาหนนารถ ลักษณะวิลาศเลิศฟ้า และโปรดเกล้าฯ พระราชทานเสื้อผ้าเงินตราพระสุนทรราชวงศาฯ และพระราชทานสัญญาบัตรแก่หมอควาญเป็นที่ ขุนนาเคนทร์บรรจบ พร้อมเงินจำนวน 5 ชั่ง ให้ผูกโรงไว้ที่โรงพระเทพกุญชร
  • พระวิสูตรรัตนกิริณี ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นช้างพังลูกเถื่อนเผือกโท คล้องได้ที่เขาถ้ำพระ แขวงระแด พระสุนทรราชวงศา อดีตเจ้าเมืองยโสธร นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย โปรดเกล้าฯ ให้สมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันเสาร์ เดือน 4 แรม 8 ค่ำ ปีขาล จุลศักราช 1216 ตรงกับวันที่ 10 มีนาคม พุทธศักราช 2397 พระราชทานนามว่า พระวิสูตรรัตนกิริณี โมกษรหัศดีตระกูล สกลบริบูรณ์บริสุทธเศวต คชพิเศษวรลักษณ์ เฉลิมราชศักดิสยามโลกยาธิเบนทร์ บรเมนทรมหาราชาธิราชบุญ วรดุลยฤทธิสมาหาร สรรพการศุภโสภณ มงคลคุณประเสริฐเลิศฟ้า และโปรดเกล้าฯ พระราชทานเสื้อผ้าพระสุนทรราชวงศาฯ และเงินตราจำนวน 3 ชั่ง และพระราชทานสัญญาบัตรแก่หมอควาญเป็นที่ ขุนประสพคชเสวตร พร้อมเงินตราแก่หมอควาญคนเลี้ยงจำนวน 4 ชั่ง ให้ผูกโรงไว้ที่โรงยอดหน้าพระคลังมหาสมบัติ

ครั้นแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราความชอบให้แก่ท้าวฝ่ายบุต คือ เหรียญชั้นตริยาภรณ์ และเครื่องยศอื่นสมควรแก่อดีตท่านเจ้าเมืองนครพนมเเละเมืองยศสุนทร [12][13]

พระญาติวงศ์[แก้]

พระสุนทรราชวงศาฯ (ท้าวฝ่ายบุต) มีพระญาติวงศ์ทั้งหมด 5 พระองค์ เป็นพระเชษฐา 1 พระองค์ คือ

  1. พระสุนทรราชวงศา (ท้าวคำสิงห์) พระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทรประเทศราชองค์แรก

และมีพระอนุชา พระขนิษฐา อีก 4 พระองค์ คือ

  1. ท้าวสุดตา
  2. เจ้านางแดง
  3. เจ้านางไทย
  4. เจ้านางก้อนแก้ว

พิราลัย[แก้]

พ.ศ. 2400 พระสุนทรราชวงศาฯ (ท้าวฝ่ายบุต) ได้ถึงแก่อนิจกรรม แลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบศิลาปลงศพ

พระอิสริยยศ[แก้]

  • ไม่ปรากฏ พ.ศ. - 2370 : ท้าวฝ่ายบุต
  • พ.ศ. 2370 - 2378 : พระสุนทรราชวงศา พระประเทศราช
  • พ.ศ. 2381 - 2395 : พระสุนทรราชวงศา มหาขัตติยชาติ ประเทศราชทวาเวียง ดำรงรักษศักดิยศทฤาไกร ศรีพิไชยสงคราม พระประเทศราช

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

สกุลที่สืบเชื้อสาย[แก้]

  • ปะทุมชาติ สกุลนี้สืบเชื้อสายผ่านทางท้าวจันทร์ชมภู (ทุน) ผู้ขอรับพระราชทานนามสกุลคือ พระสุนทรราชเดช (แข้ ปะทุมชาติ) อดีตผู้ว่าราชการเมืองยะโสธร คนที่ 3 และกรมการพิเศษอำเภอยะโสธร จังหวัดอุบลราชธานี
  • ยโสธรรัตน์ สกุลนี้สืบเชื้อสายผ่านทางเจ้าราชวงศ์ (พุฒ) ผู้ขอรับนามสกุลคือ อัญญาแม่นางกา ยโสธรรัตน์

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ชื่อตาม พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร
  2. พระราชพงศาวดาร-กรุงรัตนโกสินทร์-รัชชกาลที่-๔/๒๑๑-ทรงตั้งและแปลงนามเจ้าเมืองกรมการ
  3. เอกสารสมัย ร. 3 จ.ศ.1200 เลขที่ 20 หอสมุดแห่งชาติ
  4. เอกสารจดหมายเหตุ ร. 3 จ.ศ.1207 เลขที่ 58 หอสมุดแห่งชาติ
  5. จดหมายเหตุ ร. 3 จ.ศ. 1207 เลขที่ 58 หอสมุดแห่งชาติ
  6. เอกสารจดหมายเหตุสมัย ร.4 จ.ศ. 1215 เลขที่ 38 หอสมุดแห่งชาติ
  7. เอกสาร ร.4 จ.ศ. 1215 เลขที่ 65 หอสมุดแห่งชาติ
  8. เอกสาร ร. 3 จ.ศ. 1203 เลขที่ 69 หอสมุดแห่งชาติ
  9. ราชอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์
  10. เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รอดตายเพราะ “แขม่วพุง” !? ครั้งสยามปราบเจ้าอนุวงศ์ ศิลปวัฒนธรรม สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2564
  11. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  12. 12.0 12.1 จดหมายเหตุ ร.4 จ.ส. 1216 ชื่อร่างสารตราถึงพระสุนทรราชวงส์ เลขที่ 4 หอสมุดเเห่งชาติ
  13. หนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับพงศาวดารเมืองยโสธร
ก่อนหน้า พระสุนทรราชวงศาฯ (เจ้าฝ่ายบุต) ถัดไป
พระสุนทรราชวงศา (เจ้าสีชา)
พ.ศ. 2366 (3 เดือน)

เจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทรประเทศราช
(พ.ศ. 2370 - พ.ศ. 2395)
พระสุนทรราชวงศาฯ (เจ้าเหม็น)
พ.ศ. 2403 - พ.ศ. 2412
ก่อนหน้า พระสุนทรราชวงศาฯ (เจ้าฝ่ายบุต) ถัดไป
พระบรมราชา (มัง)
พ.ศ. 2348 - พ.ศ. 2369

เจ้าผู้ครองเมืองนครพนม
(พ.ศ. 2378 - พ.ศ. 2395)
พระพนมนครานุรักษ์ สิทธิศักดิ์เทพฤๅยศ ทศบุรีศรีโคตรบูรหลวง (เจ้าบุญมาก)
พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2426