ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช
พระเจ้านครเมืองน่าน
เจ้าผู้ครองนครน่าน
องค์ที่ 63 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
ราชาภิเษก1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2437
ครองราชย์21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 - 5 เมษายน พ.ศ. 2461
รัชกาล24 ปี 1 เดือน 15 วัน
ก่อนหน้าเจ้าอนันตวรฤทธิเดช
ถัดไปเจ้ามหาพรหมสุรธาดา
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าอุปราชเจ้าอุปราช (สิทธิสาร) เจ้าอุปราชนครน่าน
(21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2442)
เจ้าอุปราช (มหาพรม) เจ้าอุปราชนครน่าน
(9 มกราคม พ.ศ. 2443 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2462)
เจ้าอุปราชนครน่าน
ดำรงพระยศ16 ตุลาคม พ.ศ. 2432 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437
รวมระยะเวลา4 ปี 4 เดือน 5 วัน
ก่อนหน้าเจ้าอุปราช (มหาพรหม) เจ้าอุปราชนครน่าน
ถัดไปเจ้าอุปราช (สิทธิสาร) เจ้าอุปราชนครน่าน
เจ้าผู้ครองนครพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช (เจ้าหลวง)
เจ้าราชวงศ์นครน่าน
ดำรงพระยศพ.ศ. 2398 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2432
รวมระยะเวลา34 ปี 10 เดือน 16 วัน
ก่อนหน้าเจ้าราชวงศ์ (อชิตวงษ์) เจ้าราชวงศ์นครน่าน
ถัดไปเจ้าราชวงศ์ (สิทธิสาร) เจ้าราชวงศ์นครน่าน
เจ้าผู้ครองนครพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช (เจ้าหลวง)
ประสูติ2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2374
ณ หอคำหลวง นครน่าน (เวียงเหนือ)
พิราลัย5 เมษายน พ.ศ. 2461
(87 ปี 2 เดือน 28 วัน)
ณ หอคำหลวง นครน่าน (เวียงใต้)
พระราชทานเพลิงพระศพ20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462
ณ พระเมรุชั่วคราว สุสานหลวงดอนชัย
นครน่าน
บรรจุพระอัฐิพระสถูป (ด้านทิศตะวันตก)
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
พระมเหสีแม่เจ้ายอดหล้าอรรคราชเทวี
พระชายา5 องค์
หม่อม2 ท่าน
พระนามเต็ม
พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุร มหาราชวงษาธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบุลยศักดิกิตติไพศาล ภูบาลบพิตร์ สถิตย์ณนันทราชวงษ์ พระเจ้านครเมืองน่าน
พระนามเดิม
เจ้าสุริยะ ณ น่าน
พระสมัญญานาม
พระเจ้าน่าน
พระบุตร41 องค์
ราชสกุลณ น่าน สายที่ 1[1]
ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
พระบิดาเจ้าอนันตวรฤทธิเดช
พระมารดาแม่เจ้าสุนันทาอรรคราชเทวี
ศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช[2] (2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2374 – 5 เมษายน พ.ศ. 2461)[3] ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 และองค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 – 5 เมษายน พ.ศ. 2461) เป็นพระโอรสองค์ที่สองในเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 และเป็นพระนัดดา (หลานปู่) ใน สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 และเป็นพระเชษฐาต่างเจ้ามารดากับ เจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 ชาวเมืองน่านเรียกพระนามอย่างลำลองว่า "พระเจ้าน่าน" และทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็น "พระเจ้าประเทศราช" องค์ที่ 7 (18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 – 5 เมษายน พ.ศ. 2461) ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5

พระประวัติ

[แก้]

 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช มีพระนามเดิมว่า เจ้าสุริยะ ประสูติเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2374 (ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีเถาะ จ.ศ. ๑๑๙๓) เป็นพระโอรสองค์ที่สองในเจ้าอนันตวรฤทธิเดชเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 ประสูติแต่แม่เจ้าสุนันทาอรรคราชเทวี (พระชายาที่ 1) ทรงเป็นพระนัดดา (หลานปู่/ย่า) ในสมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 กับแม่เจ้าขันแก้วราชเทวี (ชายาองค์ที่ 4) ราชธิดาในเจ้าฟ้าแว่นส่อย เจ้าฟ้าเมืองเชียงแขง พระองค์จึงมีเชื้อสายไทลื้อทางฝ่ายพระบิดา และทรงมีพระเชษฐาพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดา 6 พระองค์ มีรายพระนามตามลำดับ ดังนี้

  1. เจ้ามหาพรหม ภายหลังได้เป็น เจ้าอุปราช นครน่าน
  2. เจ้าสุริยะ ภายหลังได้เป็น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63
  3. เจ้าสิทธิสาร ภายหลังได้เป็น เจ้าอุปราช นครน่าน
  4. เจ้าบุญรังษี ภายหลังได้เป็น เจ้าราชบุตร นครน่าน
  5. เจ้านางหมอกแก้ว ณ น่าน
  6. เจ้านางคำทิพย์ ณ น่าน

  ตลอดรัชสมัยของ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระองค์ได้ทรงพัฒนานครน่านและเมืองบริวารในด้านต่างๆ เพื่อให้ทันกับกาลสมัยและการพัฒนาในส่วนกลาง ได้ทรงสร้างถาวรวัตถุทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และได้ทรงก่อสร้างสถานศึกษา ตลอดจนสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อความผาสุกแก่ประชาชนนครน่านอย่างแท้จริง

Mr.Herbert Warington Smyth อดีตเจ้ากรมเหมืองแร่ของประเทศสยาม กล่าวถึง พระเจ้าสุริยะพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครน่าน

... “ร่องรอยของความมีคุณธรรมซึ่งปรากฎบนใบหน้าที่เป็นผลจากการกรำศึกมาชั่วชีวิต ทั้งยังเปี่ยมล้นด้วยอุดมคตินั้น เห็นจะหาดูได้ยากในหมู่คนสูงอายุ อย่างดีที่สุดก็เห็นแต่เพียงความเป็นมิตรที่ดูอ่อนล้า แต่ในชายคนนี้นั้นริมฝีปากที่เป็นเส้นตรงอย่างเด็ดเดี่ยวกับแววตาครุ่นคิดดูจะเป็นลักษณะเฉพาะตัวของคนที่จริงจังกับชีวิตอยู่บ้างไม่มากก็น้อย สีหน้าที่รับรู้อย่างรวดเร็วและความกระตือรือล้นในการสนทนาของเขา ทำให้รู้สึกว่าการพูดคุยกับเขาเหมือนการพุดคุยกับชาวตะวันตกที่มีการศึกษา และข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชมด้วยความเพลิดเพลินแกมประหลาดใจ”...

ที่มาข้อมูล : หนังสือ Five year in Siam 1898

พระอิสริยยศ

[แก้]

 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 ทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยยศต่าง ๆ ดังนี้

  1. ในปี พ.ศ. 2398 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้ง เจ้าสุริยะ ขึ้นเป็น เจ้าราชวงษ์ นครเมืองน่าน
  2. เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2432 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าราชวงษ์ (สุริยะ) เจ้าราชวงษ์นครเมืองน่าน ว่าราชการในตำแหน่ง เจ้าอุปราช นครเมืองน่าน
  3. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนยศฐานันดรศักดิ์ เจ้าราชวงษ์ (สุริยะ) ว่าที่เจ้าอุปราช นครเมืองน่าน ขึ้นเป็น เจ้านครเมืองน่าน ได้รับการเฉลิมพระนามว่า "เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุร มหาราชวงษาธิบดี เจ้านครเมืองน่าน"[4]
  4. วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนยศฐานันดรศักดิ์ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน ขึ้นเป็น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน[5] มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า "พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุร มหาราชวงษาธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบุลยศักดิกิตติไพศาล ภูบาลบพิตร์ สถิตย์ณนันทราชวงษ์ พระเจ้านครเมืองน่าน"[6]

หมายเหตุ : ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านพระองค์แรกและพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่านที่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศสูงสุดถึง "พระเจ้านครเมืองน่าน" มีพระสถานะเป็น พระเจ้าประเทศราชล้านนา องค์ที่ 7 (องค์สุดท้าย)[7] นอกจากนี้พระองค์ยังทรงได้รับพระราชทานมหามงกุฎจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับว่าเป็นพระเจ้าประเทศราชล้านนา พระองค์เดียวที่ได้รับพระราชทานพระเกียรติยศนี้

ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช
การทูลไหว้สาพระบาทเจ้า
การแทนตนข้าบาทเจ้า
การขานรับบาทเจ้า

พระยศพลเรือน

[แก้]
  • วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2454 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "มหาอำมาตย์เอก"[8]

เครื่องอิสริยยศ

[แก้]

 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 ทรงได้รับพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศต่าง ๆ ดังนี้

  • เครื่องประกอบพระอิสริยยศครั้งที่ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "เจ้าผู้ครองนครน่าน" ทรงได้รับพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศ ดังนี้[9]
    1. พานหมากทองคำ (พร้อมเครื่องใน) 1
    2. ประคำทองคำ 1
    3. กระโถนทองคำ 1
    4. คนโททองคำ
    5. กระบี่บั้งทองคำ 1
    6. พระมาลากำมะหยี่เกี้ยวยอดทองคำ 1
    7. ปืนคาบศิลาคร่ำเงิน 1
    8. ปืนคาบศิลาตอลาย 2
    9. หอกตอทองคำ 1
    10. สัปทน 1
    11. โต๊ะเงินท้าวช้าง 1 คู่
    12. เสื้อผ้าต่าง ๆ
  • เครื่องประกอบพระอิสริยยศครั้งที่ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "พระเจ้าผู้ครองนครน่าน" ทรงได้รับพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศ ดังนี้[10]
    1. เสื้อครุย ปักอักษร จ.จ.จ. (ฝ่ายหน้า)
    2. พระชฎา 1
    3. สังข์เลี่ยมทองคำ 1
    4. หีบหมากไม้แดงหุ้มทองคำลงยา 1
    5. กากระบอกทองคำ 1
    6. กระบี่ฝักทองคำศีร์ษะนาคลงยา 1
    7. เสื้อเยียรบับ 2 เสื้อ
    8. ผ้านุ่งเยียรบับ 1
    9. ผ้านุ่งเขียนทอง 1
    10. เจียรบาต 1

พิราลัย

[แก้]

ถึงแก่พิราลัย

 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าผู้ครองนครน่าน ประชวรเป็นพระโรคชรา พระอาการทรงบ้างทรุดบ้างเสมอมา จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2461 พระอาการได้กำเริบมากขึ้น แพทย์หลวงและแพทย์ชเลยศักดิประกอบโอสถถวายการรักษาโดยเต็มกำลังพระอาการหาคลายไม่ ครั้นถึงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2461 (เวลา 10.50 น.) พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ก็ได้เสด็จถึงแก่พิราลัย ณ หอคำหลวงนครน่าน (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน) สิริพระชนมายุได้ 87 ปี 2 เดือน 28 วัน รวมระยะเวลาที่ทรงครองนครน่าน 24 ปี 1 เดือน 15 วัน[11]

พระราชทานเพลิงพระศพ

 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนำเครื่องพระราชทานเพลิงศพ ไปพระราชทานเพลิงศพ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าผู้ครองนครน่าน ที่วัดจังหวัดน่าน โดยพระราชทาน เงินสลึง 2 ชั่ง ไตร 15 ไตร ผ้าขาว 30 ผับ ร่มกระดาษ 100 คัน รองเท้า 100 คู่ เครื่องประโคมศพ แตรงอน 2 แตรฝรั่ง 2 กลองชนะ 10 จ่าปี่ 1 จ่ากลอง 1 กับภูษาโยงสาย 1 หีบศิลาน่าเพลิง 1 โกศไม้สิบสอง ฐานฝา 1 ฐาน ฐานเครื่องสูง 12 ฐาน ชั้นรองโกศ 2 ชั้น บัวรับผ้าภูษาโยง 2 เสลี่ยงหิ้ว 1[12]

ราชโอรส ราชธิดา

[แก้]

 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 มีพระชายา 7 องค์ และพระโอรสพระธิดา รวมทั้งสิ้น 41 พระองค์ (อยู่ในราชสกุล ณ น่าน สายที่ 1) มีรายพระนามตามลำดับ ดังนี้

 - ถึงแก่กรรมไปตั้งแต่เยาว์วัยทั้งหมด ไม่ปรากฏพระนาม
  • พระชายาที่ 3 แม่เจ้าจอมแฟงราชเทวี ประสูติพระโอรส/พระธิดา 3 พระองค์ ดังนี้
    1. เจ้านางบัวแว่น ณ น่าน เสกสมรสกับ เจ้าราชบุตร (อนุรศรังษี ณ น่าน) (พระโอรสองค์ที่ 1 ในเจ้าอนันตวรฤทธิเดชเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 กับแม่เจ้าสุคันธาเทวี (พระชายาที่ 8) มีโอรส/ธิดา 4 ท่าน ได้แก่
      1. เจ้าน้อยอินเขียน ณ น่าน
      2. ว่าที่รองอำมาตย์ตรี เจ้าวรญาติ (เจ้าขงขะวาฬ ณ น่าน)
      3. เจ้านางมอญดอกไม้ ณ น่าน
      4. เจ้านางรัศมี ณ น่าน
    2. เจ้านางแห้ว ณ น่าน
    3. เจ้าครุธ ณ น่าน
  • พระชายาที่ 4 แม่เจ้าคำเกี้ยวเทวี ประสูติพระธิดา 2 พระองค์ ดังนี้
    1. เจ้านางเกี๋ยงคำ ณ น่าน มีโอรส/ธิดา 4 ท่าน ได้แก่
      1. เจ้านางบัวนำ ณ น่าน
      2. เจ้านางอัมภา ณ น่าน
      3. เจ้านางอัมรา ณ น่าน
      4. เจ้าน้อยเฉลิม ณ น่าน
    2. เจ้านางคำอ่าง ณ น่าน มีโอรส/ธิดา 4 ท่าน ได้แก่
      1. เจ้านางบัวคลี่ ณ น่าน
      2. เจ้าน้องสิงห์หล ณ น่าน
      3. เจ้าน้อยสิงห์ทอง ณ น่าน
      4. เจ้านางขันคำ ณ น่าน
  • พระชายาที่ 5 แม่เจ้ายอดหล้าเทวี ประสูติพระโอรส/พระธิดา 7 พระองค์ ดังนี้
    1. เจ้านางเทพมาลา ณ น่าน เสกสมรสกับ เจ้าจำรัส มหาวงศนันทน์ มีธิดา 3 ท่าน ได้แก่
      1. เจ้านางดวงดารา ณ น่าน
      2. เจ้านางอัมพร ณ น่าน
      3. เจ้านางสุนันทา ณ น่าน
    2. เจ้านางเทพเกสร ณ น่าน เสกสมรสกับ เจ้าอินทร์แปลง เทพวงศ์ ราชโอรสองค์ที่ 7 ในเจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 27 กับแม่เจ้าบัวไหลราชเทวี (ชายาที่ 2) มีโอรส 2 ท่าน ได้แก่
      1. เจ้าอินทร์ศร เทพวงศ์
      2. เจ้าอินทร์ทรงรัศมี เทพวงศ์
    3. เจ้าอินทแสงสี ณ น่าน
    4. เจ้านางจันทวดี ณ น่าน
    5. เจ้านางศรีสุภา ณ น่าน
    6. เจ้านางดวงมาลา ณ น่าน
    7. เจ้านางประภาวดี ณ น่าน
  • ชายาที่ 6 หม่อมศรีคำ ชายา ประสูติพระโอรส/พระธิดา 5 พระองค์ ดังนี้
    1. เจ้านางบัวแก้ว ณ น่าน
    2. เจ้านางศรีพรหมา ณ น่าน ภายหลังได้เป็น หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา หม่อมในหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร มีโอรส 2 ท่าน ได้แก่
      1. หม่อมราชวงศ์เพ็ญศรี ประดิษฐพงศ์
      2. หม่อมราชวงศ์อนุพร กฤดากร
 - พระโอรส 3 พระองค์ ถึงแก่กรรมไปตั้งแต่เยาว์วัย
  • ชายาที่ 7 หม่อมบัว ชายา ประสูติพระโอรส/พระธิดา 7 พระองค์ ดังนี้
    1. เจ้านางต่อมแก้ว ณ น่าน
    2. เจ้าก่ำ ณ น่าน มีโอรส/ธิดา 6 ท่าน ได้แก่
      1. เจ้าสมบรูณ์ ณ น่าน
      2. เจ้าสองเมือง ณ น่าน
      3. เจ้านางจันทร ณ น่าน
      4. เจ้านางจันทร์หอม ณ น่าน
      5. เจ้าเกษม ณ น่าน
      6. เจ้าสนั่น ณ น่าน
    3. เจ้านางเกียรทอง ณ น่าน มีโอรส 2 ท่าน ได้แก่
      1. เจ้าอุทัย ณ น่าน
      2. เจ้าถนอน ณ น่าน
 - พระโอรส พระธิดา ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย 4 พระองค์

พระกรณียกิจ

[แก้]

ด้านการถวายความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรี

[แก้]

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน ได้เข้าเฝ้าทูลอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 รวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2416 ครั้งที่ยังดำรงตำแหน่ง เจ้าสุริยวงษ์ นครเมืองน่าน ได้คุมนางระมาดลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย ณ กรุงเทพฯ รวมระยะเวลาไปกลับ 4 เดือน
  • ครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2433 เจ้าสุริยวงษ์ว่าที่เจ้าราชวงษ์ นครเมืองน่าน ได้นำแสนท้าวพระยาเมืองเชียงแขง ซึ่งมีความยินดีและยอมเป็นขอบขันธสีมาของกรุงเทพฯ แล้วนั้น ลงมาถวายเครื่องราชบรรณาการ ณ กรุงเทพฯ
  • คร้งที่ 3 ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433 ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น เจ้าราชวงษ์ นครเมืองน่าน
  • ครั้งที่ 4 ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 ได้เข้าเฝ้าถวายต้นไม้ทอง ต้นไม้เงินและเครื่องราชบรรณาการ และในคราวนั้นก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน
  • ครั้งที่ 5 ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2437 ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานเครื่องประกอบอิสริยยศ เช่น พานหมากทองคำ, กระบี่บั้งทองคำ, มาลากำมะหยี่เกี๊ยวยอดองคำ, สัปทน ฯลฯ
  • ครั้งที่ 6 ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2440 ได้เข้าเฝ้าถวายต้นไม้ทอง ต้นไม้เงินและเครื่องราชบรรณาการ
  • ครั้งที่ 7 ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2440 ได้เข้าเฝ้าทูลพระขวัญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ
  • ครั้งที่ 8 ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ณ เมืองพิไชย
  • ครั้งที่ 9 ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2446 ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายต้นไม้ทอง ต้นไม้เงินและเครื่องราชบรรณาการ
  • ครั้งที่ 10 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 ได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า
  • ครั้งที่ 11 ในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 ได้เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานเครื่องยศและเลื่อนฐานันดรศักดิ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน
  • ครั้งที่ 12 ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 เวลาบ่าย 5 โมงเศษ ได้เข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา กลับนครเมืองน่าน

ถวายเครื่องราชบรรณาการ

 วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2440 เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน พร้อมด้วยเจ้านายบุตรหลานแสนท้าวพระยา ประกอบด้วย เจ้าราชบุตร (รัตนเรืองรังษี) เจ้าราชบุตรนครเมืองน่าน, เจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ (บัวลอง) เจ้าราชสัมพันธ์วงษ์นครเมืองน่าน, เจ้าราชภาคินัย (มหาวงษ์) เจ้าราชภาคินัยนครเมืองน่าน, นายน้อยวงษ์ พระยาเทพเสนา พระยาอินตปัญญา ท้าวแสนนายไพร่ 120 คน รวมเมืองนครน่าน 127 คน เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการ ดังนี้ .. ต้นไม้ทอง 1 ต้น สูง 3 ศอก 16 นิ้ว 9 ชั้น มีก้าน 27 ก้าน ดอก 83 ดอก ใบ 81 ใบ ทองคำหนัก 30 บาท 2 สลึง ต้นไม้เงิน 1 ต้น สูงต่ำมีก้านดอกใบเท่าต้นไม้ทอง เงินหนัก 34 บาท 1 สลึง เครื่องราชบรรณาการของหลวง นรมาต 1 ยอด หนัก 2 ชั่ง ขี้ผึ้งหนัก 2 หาบ ผ้าขาว 100 เพลา

จัดพิธีทูลพระขวัญ

 วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2440 เวลาบ่าย 4 โมงครึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกที่มุขเด็จพระที่นั่ง จักรีมหาปราสาท พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกัน และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าผู้ครองนครเจ้าบุตรหลานหัวเมืองประเทศราชฝ่ายเหนือเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จัดพิธีทูลพระขวัญตามธรรมเนียมล้านนา แล้วพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน เจ้าอุปราชผู้รักษาราชการเมืองนครลำปาง เจ้าอุปราชผู้รักษาราชการเมืองนครลำพูน เจ้าราชวงษ์เมืองนครเชียงใหม่ และพระยาพิริยวิไชย เจ้าเมืองแพร่ ถวายด้ายพระขวัญผูกข้อพระหัตถ์ ตามประเพณีลาวเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสแสดงความขอบใจ เจ้านายแลแสนท้าวพระยาลาว ตามสมควร [13]

ทูลเกล้าถวายหนังสือและสิ่งของสำหรับหอพุทธสาสนสังคหะ

 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 พร้อมด้วยเจ้านายบุตรหลานแลเค้าสนามหลวงกับพระภิกษุสงฆ์ในนครน่าน ทูลเกล้าฯ ถวาย หนังสือ พระวินัย 98 ผูก พระสูตร 148 ผูก พระอภิธรรม 95 ผูก รวม 330 ผูก และทูลเกล้าฯ ถวาย หีบพระธรรม 1 หีบ[14]

ด้านบ้านเมือง

[แก้]
  1. เมื่อปี พ.ศ. 2449 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 โปรดให้สร้างออฟฟิศไปรสนีย์โทรเลขประจำจังหวัดนครน่าน 1 หลัง ทำด้วยไม้สักเป็นรูปปั้นหยามีน่ามุขหนึ่งด้าน รวมเป็นเงิน 1,600 บาท เปิดใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2449[15]
  2. เมื่อปี พ.ศ. 2458 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 ได้สร้างสะพานขึ้นที่เมืองนครน่าน 1 สะพาน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอุทิศแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานชื่อสะพานทั้ง 4 สะพาน[16]ดังนี้
    • สะพานข้ามลำน้ำสา พระราชทานนามว่า "นันทสาระวดี"
    • สะพานข้ามลำห้วยเย็น พระราชทานนามว่า "นันทคีตาลัย"
    • สะพานข้ามลำห้วยไผ่ พระราชทานนามว่า "นัททไวณุวัต"
    • สะพานข้ามลำห้วยแก้ว พระราชทานนามว่า "นันทรัตนารม"


ดังหนังสือแจ้งความกระทรวงคมนาคม พแนกกรมทาง ระบุไว้ดังนี้ (สะกดตามต้นฉบับ)

แจ้งความกระทรวงคมนาคม
พแนกกรมทาง

 ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือที่ ๗๐/๙๔๑๑ ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์พ.ศ. ๒๔๕๘ นำส่งต้นใบบอกของเค้าสนามหลวงนครน่านมายังกระทรวงคมนาคมความว่า จำเดิมแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชได้เสด็จสวรรคตแล้ว เจ้านายข้าราชการตลอดจนสมณะอาณาประชาราษฎรในนครน่าน อาการเศร้าโศกโศกาลัยรภกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ได้โปรดเกล้าฯ ได้รับความร่มเย็นเปนศุขเสมอหน้า แลคำนึงถึงการที่จะสำแดงความจงรักภักดีให้ปรากฏ เพื่อเปนการสนองพระเดชพระคุณ จึงมหาอำมาตย์เอก พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้าผู้ครองนคร ๑ อำมาตย์เอก เจ้าอุปราช เสนามหาดไทย ๑ กับอำมาตย์เอก พระยารามราชเดช ปลัดมณฑลประจำนคร ๑ ได้เป็นหัวน่าคิดสร้างสะพานอันเปนถาวรวัตถุแลสาธารณประโยชน์ขึ้น แลได้ช่วยกันออกทุนทรัพย์พร้อมกับข้าราชการและประชาชนชาวนครน่านด้วยความศรัทธา ได้เงินรวมทั้งสิ้นเปนจำนวน ๑๐,๒๐๐ บาท ๖๒ สตางค์ จ้างเหมาช่างที่ชำนาญทำสพานด้วยไม้แดง ไม้ตะเคียน ไม้เต็ง ไม้รัง ตามแบบของคมนาคม ข้ามลำห้วยแลลำน้ำต่างๆ ที่อยู่ในถนนสายจากนครน่านผ่านอำเภอเมืองสา อำเภอศีร์ษะเกษแยกไปอำเภอท่าปลากับจังหวัดแพร่ ซึ่งเปนถนนสำคัญมีมหาชนไปมามิได้ขาดขึ้น ๔ สะพาน คือ
 1.) สพานข้ามลำน้ำสา มีขนาดกว้าง ๒ วา ยาว ๓๖ วา ทำเป็นรูปโค้งมีไม้ยืดยัน มีเขื่อนแลปีกกาทำด้วยไม้กระยาเลย สำหรับกันไม้ขอนสักที่ไหลตามสายน้ำ
 2.)สพานข้ามลำห้วยเย็น มีขนาดกว้าง ๒ วา ยาว ๘ วา
 3.) สพานข้ามลำห้วยไผ่ มีขนาดกว้าง ๒ วา ยาว ๕ วา
 4.) สพานข้ามลำห้วยแก้ว มีขนาดกว้าง ๒ วา ยาว ๕ วา
 สพานทั้ง ๓ นี้ทำเป็นรูปธรรมดา ได้จัดทำเปนการแล้วเสร็จทั้ง ๔ สพาน แต่เมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๗ นั้นแล้ว ครั้นเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๕๘ ได้กระทำพิธีฉลอง คือ ได้ปลูกปรำประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัตยุบัน ประดับประดาด้วยเครื่องสักการะบูชา อาราธนาพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์รุ่งขึ้นเช้าได้ถวายอาหารบิณฑบาตกับเครื่องไทยทาน แล้วอำมาตย์เอก เจ้าอุปราช เสนามหาดไทย ได้อ่านคำอุทิศขอพระราชทานถวายพระราชกุศลในการที่ได้สร้างสะพานนี้แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระปิยมหาราช กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัตยุบันนี้ นับว่าเปนการเปิดสะพานให้มหาชน สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ ใช้เปนทางสัญจรข้ามไปมาได้สดวกแล้ว บรรดาผู้มีจิตร์ศรัทธาบริจาคทรัพย์ตามบาญชีท้ายแจ้งความ มีความยินดีขอพระราชทานถวายพระราชกุศลและขอรับพระราชทานนามสพานทั้ง ๔ เพื่อเปนความสวัสดีแก่ผู้ที่สัญจรไปมานั้นด้วย
 กระทรวงคมนาคมได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงอนุโมทนาในส่วนกุศลที่เนื่องมาจากการสาธารณประโยชน์นี้ด้วยแล้ว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสพานทั้ง ๔ นั้นว่า
 1.) สพานข้ามลำน้ำสา พระราชทานนามว่า "นันทสาระวดี"
 2.) สพานข้ามลำห้วยเย็น พระราชทานนามว่า "นันทคีตาลัย"
 3.) สพานข้ามลำห้วยไผ่ พระราชทานนามว่า "นัททไวณุวัต"
 4.) สพานข้ามลำห้วยแก้ว พระราชทานนามว่า "นันทรัตนารม"

แจ้งความมา ณ วันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๕๙

ด้านการปกครอง

[แก้]
  1. พ.ศ. 2443 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครเมืองน่าน “ประกาศเลิกทาส” ดังปรากฎข้อความดังนี้

    “ส่วนทาสเชลยนั้นถึงจะเป็นสมบัติของเจ้าผู้ครองนครทั้งหลายอยู่บ้างก็ดี บัดนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานผลประโยชน์ให้กับเจ้าผู้ครองนครเพียงพอแล้ว เพราะฉนั้นเจ้าผู้ครองนครแลพญาท้าวแสนเมืองน่าน จึงพร้อมกันลดค่าตัวทาสเชลยทั้งปวงที่มีอายุกว่า 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม รัตนโกสินทร์ศก 116 ต่อไปเป็นค่าตัวคนละ 20 รูปี ส่วนบุตรทาสเชลยทั้งปวงซึ่งเกิดภายหลังวันที่ 16 ธันวาคม รัตนโกสินทร์ศก 116 สืบไป ขอยกให้เปนไทยพ้นจากการเป็นทาสเชลยสืบไปชั่วบุตรหลาน”

    — พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครน่าน ประกาศเลิกทาสในนครน่านทั้งปวง สนองพระราชบัญชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5
  2. กวาดต้อนและชักชวนให้ชุมชนไทลื้อในเมืองต่าง ๆ ของสิบสองปันนา ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานรกรากอยู่ในจังหวัดน่าน[17]
  3. ยกเลิกอำนาจโทษประหารทางอาญา
  4. จัดวางผังเมือง ขยายถนนให้กว้างขวาง สะดวกแก่การสัญจรไปมา
  5. เมื่อปี พ.ศ. 2440 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ โปรดให้สร้าง กองเรือนจำเมืองนครน่านขึ้น ดังปรากฏข้อความดังนี้ “การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งศาลต่างประเทศขึ้นที่นครเมืองน่านนั้น เจ้านครเมืองน่าน (พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ) มีความยินดีเปนอันมาก เจ้านครเมืองน่านได้จัดตั้งที่สำหรับขังนักโทษในที่ว่าการศาลต่างประเทศ 1 หลัง ขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายไว้สำหรับราชการสืบไป แลขอให้เจ้านายบุตรหลานมาฝึกหัดในศาลต่างประเทศด้วย”

ด้านการทหาร

[แก้]
  1. ทรงทำนุบำรุงกิจการทหาร โดยการรวบรวมกำลังพลเข้าสังกัดมูลนาย ฝึกกำลังพลการรบ จัดตั้งยุ้งฉาง สะสมเสบียงอาหาร กระสุนดินดำ
  2. โดยเมื่อปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรียกทัพไปปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่เจ้าราชวงศ์นครน่าน ได้ทรงนำกำลังไปสมทบกับทัพหลวง
  3. ครั้นปี พ.ศ. 2445 เกิดขบถเงี้ยวที่เมืองแพร่ โดยพวกขบถจะยกทัพมายึดนครน่าน พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ได้ทรงยกกำลังทหารไปขัดตาทัพต่อสู้กับขบถเงี้ยว และได้ร่วมกับกองทัพหลวงตามตีจนได้รับชัยชนะ

ด้านการศึกษา

[แก้]
  1. วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2450 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน ทรงสละทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือภาษาไทยเป็นแห่งแรกในนครน่าน ต่อมาในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานนามว่า “โรงเรียนสุริยานุเคราะห์” ปฐมของโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารในปัจจุบัน มี จีนซาง จีนอิ๋ว เปนสล่า 1 หลัง ทำด้วยไม้ตะเคียน รูปปั้นหยา มีหน้ามุข พื้นกระดาน ฝากระดาน หลังคามุงกระเบื้องไม้ยมกั้นเปนห้อง ห้อง 6 ห้อง โดยยาว 9 วา 2 ศอก กว้าง 6 วา มีเพไลยออกหนึ่ง ด้านยาวตามโรงเรียนทาสีขาว โรงเรียนนี้ตั้ที่วัดหลวงกลางเวียง (วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร) สิ้นเงิน 6,100 บาท

ด้านศาสนา

[แก้]
  1. พ.ศ. 2449 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน โปรดให้สร้างพระวิหาร วัดดอยธาตุเขาน้อย (หรือ วัดพระธาตุเขาน้อย ในปัจจุบัน) 1 หลัง 6 ห้อง ห้องไหนกว้าง 5 ศอก ยาว 8 วา 2 ศอก มีหน้ามุขออก 3 ด้าน ก่อฐานพระประธานไว้กลางพระวิหาร พระวิหารเครื่องไม้สักก่ออิฐโบกปูนหลังคามุงกระเบื้อง ไม้สักประกับแก้วแลปิดทองทำด้วยงดงาม พระสมุห์อิน วัดหัวข่วง เปนสล่า สิ้นเงิน 4,839 บาท
  2. พ.ศ. 2450 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน โปรดให้สร้างพระวิหารพระพุทธไสยาศน์ที่วัดแช่แห้ง (หรือ วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ในปัจจุบัน) 1 หลัง ยาว 10 วา 2 ศอก 10 นิ้ว กว้าง 4 วา 2 ศอก 10 นิ้ว แลซ่อมแซมฐานพระพุทธไสยาศน์พระวิหารก่ออิฐถือปูนมุงกระเบื้องไม้ยมเพดานลงรักปิดทอง แลก่อกำแพงแก้วรอบพระวิหาร 4 ด้าน ยาวด้านละ 18 วา 2 ศอก 10 นิ้ว หม่องจ่าปีน ชาติพม่า เปนสล่า สิ้นเงิน 4,000 บาท
  3. พ.ศ. 2451 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน โปรดให้สร้างกุฎีถวาย พระครูนันทสมณาจารย์ เจ้าคณะจังหวัด 1 หลัง 8 ห้อง ยาว 9 วากับ 2 ศอก กว้าง 6 วา พื้นกระดานฝากระดานไม้ตะเคียน แลไม้สักบ้าง หลังคามุงกระเบื้องไม้สักแลไม้ยม มีเพไลยยาวตามกุฎี 1 ด้าน มีน่ามุขออก 1 ข้าง แลมีเพดานตลอด กั้นฝาเปนห้อง ๆ 8 ห้อง สูงตั้งแต่พื้นดินถึงพื้น 4 ศอก ตั้งแต่พื้นถึงขื่อ 8 ศอก ตั้งแต่ขื่อถึงอกไก่ 10 ศอก ทำเปนรูปปั้นหยา สิ้นเงิน 2,500 บาท
  4. พ.ศ. 2451 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน โปรดให้สร้างพระเจดีย์แช่แห้งน้อย 1 หลัง และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์เข้าประดิษฐานในโกษฐทำด้วยทองคำ แล้วเอาประจุโกษฐแก้ว แล้วเอาเข้าบรรจุในหีบกำปั่นใหญ่ แลมีดอกไม้ทองคำทำเปนพวง ๆ มีเครื่องสักการบูชาหลายอย่างหลายประการ บรรจุในกำปั่น แล้วเอาเข้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์ดังนี้ ดังแจ้งในจาฤกนั้นแล้ว การก่อสร้างสิ้นเงิน 4,406 บาท 92 สตางค์
  5. พ.ศ. 2452 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน โปรดให้สร้างพระเจดีย์ในบริเวณพระวิหารพระพุทธไสยาศน์ วัดพระธาตุแช่แห้ง 1 หลัง ทำเป็นรูปพระปรางค์ แลก่อหลูบพระเจดีย์ซึ่งชำรุดอยู่ สิ้นเงิน 1,300 บาท
  6. พ.ศ. 2453 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน โปรดให้สร้างหอพระไตรปิฎก ในบริเวณวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร 1 หลัง 8 ห้อง ยาว 16 วา 1 ศอก กว้าง 5 วา 2 ศอก สูงตั้งแต่ดินถึงอกไก่ 13 วา หลังคาทำเปนซด ๆ ก่ออิฐทาสี เครื่องบนไม้สัก มุงกระเบื้องไม้สัก ทำอย่างแน่นหนา มีเพดานน่าจั่ว 2 ข้าง แลเพดานทำเปนลวดลายต่าง ๆ ลงรักปิดทอง แลประดับด้วยแก้วสีต่าง ๆ พระสมุหอินทร์ เจ้าอาวาสวัดหัวข่วง กับจีนอิ๋ว จีนซาง เปนสล่า สิ้นเงิน 12,558 บาท
  7. พ.ศ. 2453 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน โปรดให้สร้างพระอุโบสถวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง 1 หลัง เครื่องบนไม้สัก หลังคามุงกระเบื้องไม้สัก ก่ออิฐถือปูน จีนเลือด เปนสล่า ข้างในมีเพดานลงรักปิดทอง แลปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมากรในพระอุโบสถนั้นอีก 3 องค์ ลงรักปิดทองใหม่ สิ้นเงิน 4,000 บาท
  8. พ.ศ. 2455 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลังพระอุโบสถแช่แห้งน้อย 1 หลัง ก่ออิฐถือปูน สิ้นเงิน 800 บาท
  9. พ.ศ. 2455 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน โปรดให้สร้างพระวิหารวัดสวนตาล ตำบลหัวเวียง 1 หลัง ก่ออิฐถือปูน มีเพดานลงรักปิดทอง น้อยทะ เปนสล่า สิ้นเงิน 4,600 บาท[18]
  10. พ.ศ. 2455 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน โปรดให้ปฏิสังขรณ์พระวิหารใหญ่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร 1 หลัง เปลี่ยนเครื่องบนไม้สัก แลต่อน่ามุขออก 1 ห้อง รวมเปน 8 ห้อง ทำตามรูปเดิม เปนแต่น่ามุขแลเปลี่ยนเครื่องบน หลังคามุงกระเบื้องดิน ประดับตกแต่งเสาในพระวิหาร แลเพดานกันน่าจั่วทั้ง 2 ข้าง ทำเปนลวดลายลงรักปิดทอง แลประดับแก้วสีต่าง ๆ กับซ่อมแซมฐานพระประธานแลธรรมาศน์ ลงรักปิดทอง กับปิดทองพระประธานในพระวิหารนี้ แลมีการทำบุญฉลองเปนการใหญ่โตครึกครื้นมาก สิ้นเงิน 12,419 บาท 85 สตางค์ พระสมุห์อินทร์ วัดหัวข่วง เปนสล่า
  11. พ.ศ. 2457 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน โปรดให้สร้างกุฎีวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง 2 หลัง เสาก่ออิฐถือปูนเครื่องไม้กระยาเลย หลังคามุงกระเบื้องดิน หนานกัน เปนสล่า สิ้นเงิน 332 บาท 50 สตางค์
  12. พ.ศ. 2457 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน โปรดให้ซ่อมแซมหัวพญานาคทางขึ้นวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ซึ่งแตกหักลงทั้งสองหัว สิ้นเงิน 300 บาท หนานกัน น้อยธะ เปนสล่า
  13. พ.ศ. 2457 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน โปรดให้สร้างสระน้ำที่วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง หัวถนนที่จะขึ้นไปพระธาตุแช่แห้ง 1 สระ กว้าง 12 วา 4 ด้าน ด้านเท่า ๆ กัน ก่ออิฐถือปูน เพื่อให้สัตว์ได้อาไศรยน้ำ สิ้นเงิน 300 บาท
  14. พ.ศ. 2460 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน ได้ทรงบริจาคทุนทรัพย์จำนวน 23,325 บาท เพื่อสร้างหอพระไตรปิฎกขึ้นที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร หลังหนึ่ง กว้าง 5 วา 1 ศอก ยาว 12 วา 1 ศอก สูง 13 วา 1 ศอก ก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องไม้ แล้วเสร็จได้ทำการฉลองสิ้นเงินอีก 228 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 23,543 บาท เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดั่งปรากฎจารึกอักษรย่อที่หน้าบัน หอไตรฯ ว่า “พ.จ.น.พ.ร.ช.ก.ศ.ถ.พ.พ.ธ.จ.ล.ฯ” แปลความได้ว่า “พระเจ้าน่าน พระราชกุศลถวาย พระพุทธเจ้าหลวงฯ”

    หอไตรหลังนี้มีความพิเศษตรงบริเวณรวงผึ้ง ทำเป็นรูปพระครุฑพ่าห์อันเป็นตราแผ่นดินของสยาม เหนือครุฑมีอักษรย่อภาษาไทยในกรอบสี่เหลี่ยมข้อความว่า “พ.จ.น.พ.ร.ช.ก.ศ.ถ.พ.พ.ธ.จ.ลฯะ” แปลความได้ว่า “พระเจ้าน่านพระราชกุศลถวายพระพุทธเจ้าหลวง” หอไตรแห่งนี้สร้างขึ้นในปีเดียวกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดี ตลอดจนถึงความจงรักภักดีระหว่างนครน่านกับอาณาจักรสยามผ่านงานศิลปกรรม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาให้ความเห็นว่าไม่ได้มีการใช้อย่างสม่ำเสมอ เข้าใจว่าบางทีอาจเป็นเพราะต้องการประหยัดเนื้อที่หรือที่จะเขียนไม่พอ ดังนั้นการใช้ตัวย่อที่หอไตรวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารแห่งนี้ก็คงเกิดจากเหตุผลนี้เช่นกัน[19]

  15. พ.ศ. 2461 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน โปรดให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ในวัดสวนตาล เวลานี้ยังไม่สำเร็จ ก่อสำเร็จไปแล้ว ยังแต่ทาสทายแลโบกปูนเท่านั้น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ได้เสด็จถึงแก่พิราไลยเสียก่อน
  16. พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน ทรงสละทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ บูรณปฏิสังขรณ์วัดและบูชนียวัตถุเป็นอันมาก และเป็นองค์ประธานในการจัดสร้างคัมภีร์ใบลาน จารึกพระธรรมคำสั่งสอนไว้เป็นจำนวนมาก โปรดให้สร้างหอพระไตรปิฏกหลังใหญ่ที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร บูรณะวัดพระบรมธาตุแช่แห้ง เป็นต้น

เหตุการณ์สำคัญในเมืองนครน่าน

[แก้]

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองนครน่าน ในยุคสมัยที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน (พ.ศ. 2436 – พ.ศ. 2461) มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ดังนี้

1.) นครน่าน เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ประเทศไทยเสียดินแดน ครั้งที่ 11)

 ในปี พ.ศ. 2446 เมืองนครน่าน ได้เสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง (ประเทศไทยเสียดินแดน ครั้งที่ 11) รวมพื้นที่ 25,500 ตร.กม. ประกอบด้วย เมืองเงิน เมืองคอบ เมืองเชียงลม เมืองเชียงฮ่อน และเมืองหลวงภูคา (ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่ แขวงไชยบุรีทั้งหมด รวมถึงพื้นที่บางส่วนในแขวงหลวงน้ำทา, แขวงบ่อแก้ว และแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว) ให้กับจักรวรรดิฝรั่งเศส
 การเสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในอาณาเขตเมืองนครน่าน ให้กับจักรวรรดิฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2446 โดยในอดีตพื้นที่บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเป็นเขตอิทธิพลของล้านนา ซึ่งถือกันมาตั้งแต่โบราณว่าเป็นเขตแดนล้านนาจรดกับแม่น้ำโขงโดยมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นอาณาจักรล้านนากับอาณาจักรล้านช้าง (ลาว) หลักการข้างต้นยังปฏิบัติสืบมาถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เพราะมีหลักฐานกล่าวถึง เมืองเงิน หรือ (เมืองกุฎสาวดี) ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำโขงและอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครน่าน เมื่อปี พ.ศ. 2415 คนในบังคับของอังกฤษเดินทางเข้ามาค้าขายที่เมืองเงิน ถูกคนร้ายฆ่าตาย แล้วเหตุการณ์ในครั้งนั่น เจ้าหลวงเมืองนครน่าน เป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดให้กับคนในบังคับของอังกฤษ หัวเมืองชายแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงที่เป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครน่าน ประกอบด้วย เมืองเงิน (เมืองกุฎสาวดี), เมืองคอบ, เมืองเชียงลม, เมืองเชียงฮ่อน และเมืองหลวงภูคา แม้ว่าทั้ง 5 เมืองนี้จะเป็นเมืองชายขอบของเมืองนครน่าน แต่เจ้าผู้ครองนครน่าน ก็ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามเมื่อจักรวรรดินิยมมีความต้องการดินแดนในส่วนนี้ก็เข้าแทรกแซงด้วยกำลังที่เหนือกว่า จนกระทั่งได้ไปในที่สุด

  • สาเหตุของการเสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้แก่จักรวรรดิฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2446 นั้นสืบเนื่องมาจากปัญหา 2 ประการ คือ
    • ประการที่ 1 ผลของการตีความในสนธิสัญญาที่ลงนามเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในเขตพื้นที่ 25 กิโลเมตร
    • ประการที่ 2 สืบเนื่องมาจากปัญหาการแย่งชิงบ่อเกลือ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในบริเวณต้นแม่น้ำน่าน เมืองที่มีบ่อเกลือจำนวนมาก ได้แก่ เมืองเงิน (เมืองกุฎสาวดี) จึงเกิดปัญหาโต้เถียงกันบ่อยที่สุด และเป็นเมืองที่อยู่ในเขตพื้นที่ 25 กิโลเมตร ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยตั้งอยู่ริมแม่น้ำเงินซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขง ประกอบกับเป็นเมืองที่มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ราษฎรส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทลื้อ สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นสิ่งยั่วยุให้ฝรั่งเศสคิดเข้าครอบครองพื้นที่บริเวณส่วนนี้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามราษฎรส่วนใหญ่ในเมืองเงินมีความจงรักภักดีต่อ เจ้าผู้ครองนครน่าน เป็นอย่างมาก จึงเป็นอุปสรรคต่อการเกลี้ยกล่อมของฝรั่งเศสไม่น้อย นอกจากเมืองเงินซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในเขตพื้นที่ 25 กิโลเมตรแล้ว ยังมีเมืองคอบ เมืองเชียงลม และเมืองเชียงฮ่อน ล้วนต้องประสบปัญหาการเข้าแทรกแซงของฝรั่งเศสทั้งสิ้น
  • เหตุผลที่ไทยต้องยอมสูญเสียดินแดนดังกล่าวให้แก่ฝรั่งเศสในครั้งนั้น เพราะไทยต้องการยุติปัญหาการแย่งชิงเมืองเงิน ระหว่างเมืองนครน่าน กับเมืองหลวงพระบาง ซึ่งทั้งสองเมืองได้เข้ามาแย่งกันปกครองในพื้นที่จนเกิดการวิวาทถกเถียงกันเสมอ โดยทุกครั้งสยามต้องพยายามอดกลั้นไม่ใช้กำลังโต้ตอบตลอดมา เพราะไม่ปรารถนาประจัญหน้ากับฝรั่งเศส ผู้ที่สนับสนุนการกระทำของเมืองหลวงพระบาง ฉะนั้นเพื่อยุติปัญหาที่ยืดเยื้อสยามจึงต้องยอมยกเมืองเงินและเมืองอื่น ๆ ในเขต 25 กิโลเมตร (พื้นที่ 25,500 ตร.กม.) ให้แก่จักรวรรดิฝรั่งเตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นผลให้การคุกคามของจักรวรรดิฝรั่งเศสในหัวเมืองมณฑลพายัพ ด้านทิศตะวันออก ยุติลงด้วย จึงทำให้ฝ่ายสยามเห็นโอกาสที่จะผนวกหัวเมืองประเทศราชล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม จึงจัดการปฏิรูปการปกครองภายในมณฑลพายัพทั้งหมดในปี พ.ศ. 2458 นอกจากนั้นการสูญเสียดินแดนดังกล่าว เพื่อแลกกับการยึดครองเมืองจันทบุรีที่จักรวรรดิฝรั่งเศสยึดเอาไว้เป็นประกันซึ่งเป็นเมืองไทยแท้กว่าเมืองประเทศราช

2.) จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล

รับราชการพิเศษ

[แก้]

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ในวาระโอกาศต่าง ๆ ดังนี้

  1. เมื่อปี พ.ศ. 2395 ได้เป็นหัวหน้าสร้างพลับพลาประทับแรมที่ตำบลนาริน ท้องที่อำเภอเมืองน่าน จังหวัดนครเมืองน่าน รวมเวลาทำจนเสร็จ 1 เดือน แล้วลงไปรับเสด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ที่อำเภอท่าอิฐ เมืองพิไชย ที่เสด็จขึ้นมาเมืองนครน่าน คราวเสด็จไปราชการทัพเมืองเชียงตุง รวมระยะเวลา 10 วัน
  2. เมื่อปี พ.ศ. 2396 ได้ตามเสด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ไปราชการทัพเมืองเชียงตุง รวมระยะเวลา 7 เดือนเศษ
  3. เมื่อปี พ.ศ. 2398 ได้นำตัวพระยาหลวงบังคม พระยาเมืองเชียงรุ้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 4 ณ กรุงเทพฯ รวมระยะเวลา 4 เดือนเศษ
  4. เมื่อปี พ.ศ. 2399 ได้ยกทัพเมืองน่านขึ้นไปกวาดต้อนครอบครัว ชาวไทลื้อ เมืองพง เขตสิบสองปันนา ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในการบังคับของฮ่อ ให้เข้ามาอยู่ในเขตของเมืองนครน่าน คราวนั้นได้ครอบครัวชาวไทลื้อ ประมาณ 1,000 คน และทรงโปรดให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองเชียงม่วน และเมืองเชียงคำ (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดพะเยา) รวมระยะเวลา 5 เดือน
  5. เมื่อปี พ.ศ. 2406 ได้คุมนางรมาดลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 4 ณ กรุงเทพฯ รวมระยะเวลา 4 เดือน
  6. เมื่อปี พ.ศ. 2411 ได้คุมช้างพลายสีปลาดลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 4 ณ กรุงเทพฯ รวมระยะเวลา 4 เดือน
  7. เมื่อปี พ.ศ. 2416 ได้คุมนางรมาดลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 5 ณ กรุงเทพฯ รวมระยะเวลา 4 เดือน
  8. เมื่อปี พ.ศ. 2430 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปจัดรวบรวมเสบียงอาหารที่ เมืองเชียงคำ ส่งกองทัพของ นายพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อครั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ทรงเป็นแม่ทัพ นำกองทัพสยามขึ้นมาปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง และได้เข้าร่วมไปในกองทัพด้วย รวมระยะเวลาที่จัดการลำเลียงส่งเสบียงอาหาร 4 เดือน

ราชโอรส ราชธิดา

[แก้]

 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 มีพระชายา 7 องค์ และพระโอรสพระธิดา รวมทั้งสิ้น 41 พระองค์ (อยู่ในราชสกุล ณ น่าน สายที่ 1) มีรายพระนามตามลำดับ ดังนี้

 - ถึงแก่กรรมไปตั้งแต่เยาว์วัยทั้งหมด ไม่ปรากฏพระนาม
 - พระโอรส 3 พระองค์ ถึงแก่กรรมไปตั้งแต่เยาว์วัย
  • ชายาที่ 7 หม่อมบัว ชายา ประสูติพระโอรส/พระธิดา 7 พระองค์ ดังนี้
    1. เจ้านางต่อมแก้ว ณ น่าน
    2. เจ้าก่ำ ณ น่าน
    3. เจ้านางเกียรทอง ณ น่าน
 - ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย 4 พระองค์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ ดังนี้

เหรียญราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 ทรงได้รับพระราชทานเหรียญราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ ดังนี้

สถานที่อันเนื่องมาจากพระนาม

[แก้]
  1. โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร จังหวัดน่าน เดิมมีชื่อว่า “โรงเรียนสุริยานุเคราะห์” ด้วยความอุปถัมภ์ของ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าผู้ครองนครน่าน
  2. โรงพยาบาลค่ายสุริยพงษ์
  3. ค่ายสุริยพงษ์ หรือ มณฑลทหารบกที่ 38
  4. ถนนสุริยพงษ์

ราชตระกูล

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. นามสกุลคนไทย (ต้นสกุล (ต้นวงศ์), ต้นราชสกุล)
  2. ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช), หน้า 10[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  3. ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช), หน้า 10
  4. ราชกิจจานุเบกษา, เสด็จออกแขกเมืองประเทศราช เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2436
  5. ราชกิจจานุเบกษา,การตั้งพระเจ้านครเมืองน่าน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446
  6. ราชกิจจานุเบกษา,พระบรมราชโองการประกาศตั้งพระเจ้านครเมืองน่าน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446
  7. "เมืองน่านขึ้นกับอาณาจักรล้านนา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-25. สืบค้นเมื่อ 2007-11-20.
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระบรมราชโองการ พระราชทานยศแก่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2454
  9. เครื่องประกอบพระอิสริยยศครั้งที่ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น เจ้านครเมืองน่าน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2347 เล่ม 10 ตอนที่ 49 หน้า 523-525
  10. เครื่องประกอบพระอิสริยยศครั้งที่ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้านครเมืองน่าน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 เล่ม 20 ตอนที่ 35 หน้า 609-610
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวพิลาไลย เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2461
  12. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเพลิงศพ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 เล่ม 35 หน้า 3271
  13. ราชกิจจานุเบกษา,เสด็จออกแขกเมืองลาวประเทศราช เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐
  14. รายชื่อผู้ถวายหนังสือแลสิ่งของสำหรับหอพุทธสาสนสังคหะ เมื่อวันที่ ๑๖ ก.พ. ๒๔๔๓ เล่ม ๑๗ ตอนที่ ๔๗ หน้า ๖๗๖
  15. แจ้งความกระทรวงโยธาธิการ (เรื่อง พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช สร้างที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขถวายเป็นของรัฐบาล)
  16. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สร้างสพานที่อำเภอเมือง เมืองนครน่าน
  17. สิบสองปันนา ดินแดนบรรพบุรุษคนไทย หรือ?[ลิงก์เสีย]
  18. แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรมการ เรื่อง จัดการซ่อมแซมและปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ ในวัดสวนตาล แขวงเมืองนครน่าน
  19. การใช้อักษรย่อในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ (พระเจ้าน่าน)
  20. พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม เเสงชูโต) เชิญตราขึ้นไปพระราชทาน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2431
  21. ราชกิจานุเบกษา, เสด็จออกแขกเมืองประเทศราช เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2436
  22. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญดุษฎีมาลา เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2440 เก็บถาวร 2018-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  23. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2444
  24. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2444

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ถัดไป
เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63
และองค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์

(พ.ศ. 2436 – พ.ศ. 2461)
เจ้ามหาพรหมสุรธาดา