ข้ามไปเนื้อหา

รัฐเชียงแขง

พิกัด: 21°21′N 100°52′E / 21.350°N 100.867°E / 21.350; 100.867
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เชียงแขง
รัฐเจ้าฟ้าของกลุ่มรัฐไทลื้อ
พุทธศตวรรษที่ 20 – พ.ศ. 2459

  อาณาเขตรัฐเชียงแขงในปี พ.ศ. 2432–2436
เมืองหลวง
  • เมืองเชียงแขง
  • (พุทธศตวรรษที่ 20 – พ.ศ. 2408)
  • เมืองยู้
  • (พ.ศ. 2408–2428)
  • เวียงน้ำแก้ว
  • (พ.ศ. 2428–2429)
  • เมืองสิงห์
  • (พ.ศ. 2429–2459)
ประวัติศาสตร์ 
• สถาปนา
พุทธศตวรรษที่ 20
พ.ศ. 2107
• เป็นประเทศราชของสยาม
พ.ศ. 2432
พ.ศ. 2439
• ยกเลิกตำแหน่งเจ้าฟ้า
พ.ศ. 2459
ก่อนหน้า
ถัดไป
อาณาจักรหอคำเชียงรุ่ง
2439:
รัฐเชียงตุง
ภายใต้บริติชราช
2459:
เมืองสิงห์
ภายใต้อินโดจีนของฝรั่งเศส

เชียงแขง หรือ เชียงแข็ง (จีน: 整謙[1],จีน: 整欠[2]) เป็นนครรัฐไทลื้อในลุ่มน้ำโขงตอนบน ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของประเทศพม่าและประเทศลาว นอกจากนี้เชียงแขงยังเป็นที่รู้จักในนาม เมืองสิงห์ อันเป็นศูนย์กลางการปกครองก่อนถูกผนวกเข้ากับอินโดจีนของฝรั่งเศส[3]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ประวัติศาสตร์ช่วงต้น

[แก้]

รัฐเชียงแขงถูกสันนิษฐานว่าถูกก่อตั้งขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20[4] ตำนานท้องถิ่นระบุว่า เจ้าฟ้าผู้ก่อตั้งมาจากเชียงรุ่งและเข้าปกครองแทนที่ผู้ปกครองดินแดนเดิม ซึ่งได้รับการสันนิษฐานว่า อาจมีเค้าโครงมาจากเรื่องราวของกษัตริย์เชียงรุ่ง[5] แม้ว่าเนื้อหาตำนานได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ายากต่อการยืนยันความถูกต้อง[6][7] ตำนานได้แสดงให้เห็นถึงการเข้ามามีอำนาจเหนือชนพื้นเมืองเดิมของชาวไทลื้อ และความสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับรัฐต่างๆในบริเวณใกล้เคียง[7]

เชียงแขงในช่วงต้นเป็นประเทศราชของเชียงรุ่ง ก่อนที่จะสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรล้านนาด้วยอีกแห่งหนึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21[4] เชียงแขงขาดส่งบรรณาการต่อเชียงรุ่งในรัชสมัยเจ้าเมืองยอด ทำให้เชียงรุ่งเข้าโจมตีเชียงแขงในปี พ.ศ. 2067/2068 ไทยสากล[note 1] (จ.ศ. 886) และปลงพระชนม์เจ้าเมืองยอด เป็นเหตุให้เชียงแขงตัดขาดความสัมพันธ์เชิงบรรณาการกับเชียงรุ่ง[5] อาณาจักรล้านนาตกเป็นประเทศราชของราชวงศ์ตองอูภายใต้การขยายอำนาจของพระเจ้าบุเรงนองในเดือนเมษายน พ.ศ. 2101 ไทยสากล ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า เจ้าเมืองเชียงแขงอยู่ที่เชียงใหม่และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองในช่วงเวลานั้น[8] ต่อมาในปี พ.ศ. 2107/2108 ไทยสากล (จ.ศ. 926) เชียงแขงให้ความช่วยเหลือในการจับตัวบุคคลที่พม่าต้องการตัว พระเจ้าบุเรงนองจึงโปรดให้ตั้งเชียงแขงเป็นหอคำน้อย[9] และพระราชทานดินแดนจำนวนมากให้เชียงแขง ตั้งแต่เมืองภงและเมืองหลวงพูคาทางตะวันออกไปจนถึงเมืองยองทางตะวันตก[5]

อำนาจของเชียงแขงคงอยู่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะถูกพม่าจัดให้อยู่ภายใต้การควบคุมของเมืองยองในปี พ.ศ. 2171/2172 ไทยสากล (จ.ศ. 990)[10] และภายใต้เชียงแสนหลังจากพระเจ้าตาลูนตีเมืองเชียงใหม่แตกในปี พ.ศ. 2175 ไทยสากล[11] ตำนานเมืองยองระบุว่า เชียงแขงขอไปยังเชียงรุ่งให้เมืองยองกลับมาขึ้นกับเชียงแขงอีกครั้ง ทว่าในปี พ.ศ. 2289/2290 ไทยสากล (จ.ศ. 1108)[5] เชียงแขงเกิดความขัดแย้งกับเมืองยองในกรณีโจรจากเชียงแขงลักขโมยควายจากเมืองยอง ความขัดแย้งยืดเยื้อนานถึง 3 ปี[10] และนำไปสู่สงครามตีเมืองเชียงแขงในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2291 ไทยสากล[11] หอคำเมืองเชียงแขงถูกเผาทำลาย[4] ชาวเชียงแขงได้หลบหนีเข้ามาในเขตของเชียงรุ่ง ทำให้แม่ทัพผู้ปกครองยูนนานและกุ้ยโจวทำการสืบสวนและถวายรายงานต่อราชสำนักจีนในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2292 ไทยสากล[1][12] เจ้าฟ้าเชียงแขงเสด็จไปเข้าเฝ้ากษัตริย์พม่าแต่ถูกตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายให้ฝ่ายเมืองยอง และเมืองยองถูกแยกออกจากการปกครองของเชียงแขง[10][4]

ราชวงศ์ตองอูล่มสลายลงในปี พ.ศ. 2295 และถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์โก้นบอง การขยายอำนาจของราชวงศ์ใหม่ผลักดันให้เหล่าเจ้าฟ้าไทใหญ่ขอความช่วยเหลือจากจีน นำไปสู่สงครามจีน–พม่า กองทัพจีนเข้าโจมตีเชียงแขงในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2309 ไทยสากล และสามารถยึดครองได้สำเร็จ จีนแต่งตั้งพญาแสนพง (จีน: 叭先捧[2]) เป็นถู่ซือแห่งเชียงแขง[13] อย่างไรก็ตาม เชียงแขงกลับไปอยู่ภายใต้อำนาจพม่าอีกครั้งในปีถัดมา รายงานการสืบสวนของราชสำนักจีนระบุว่า เจ้าแก้ว (จีน: 召教[14]) และเจ้ายวน (จีน: 召淵[14]) ซึ่งเป็นผู้นำของเชียงแขงได้สมคบคิดกับพม่าในการต่อต้านพญาแสนพง[13] ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนและเชียงแขงถูกตัดขาดลงอย่างสิ้นเชิง[15][16] แต่อิทธิพลของจีนยังคงหลงเหลืออยู่ในทางสัญลักษณ์ เช่น การใช้สำนวน ฮ่อเป็นพ่อ ม่านเป็นแม่ เช่นเดียวกับเชียงรุ่ง[5]

ภายใต้การอ้างสิทธิ์ของสยาม

[แก้]

ทัพผสมภายใต้การนำของสยามสามารถทำลายเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ. 2347 ไทยสากล เปิดโอกาสให้นครน่านขยายอำนาจสู่ลุ่มน้ำโขงตอนบน เชียงแขงยอมสวามิภักดิ์ต่อนครน่านในปี พ.ศ. 2348 เจ้าฟ้าเชียงแขงถูกพาลงไปถวายบรรณาการที่กรุงเทพฯ นครน่านอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนของเชียงแขงและเข้ารุกรานเชียงแขงหลายครั้งเพื่อกวาดต้อนผู้คนจนกระทั่งดินแดนเชียงแขงเหลือประชากรเบาบาง[17][18]

เชียงแขงพยายามฟื้นตัวโดยการสวามิภักดิ์ต่อเชียงตุง เจ้าฟ้าเชียงแขงส่งพระขนิษฐาไปอภิเษกกับเจ้ามหาขนานแห่งเชียงตุง เจ้ากองไตหนึ่งในพระโอรสได้สืบทอดราชบัลลังก์เป็นเจ้าฟ้าของทั้งเชียงตุงและเชียงแขง[19] ในระยะเวลานี้เชียงแขงย้ายศูนย์กลางการปกครองไปที่เมืองยู้และพยายามอ้างสิทธิ์เหนือเมืองสิงห์ ซึ่งเป็นดินแดนของเชียงแขงในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง แต่ได้รับการต่อต้านจากนครน่านที่อ้างสิทธิ์เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเชียงแขงก็ย้ายศูนย์กลางการปกครองไปฝั่งเมืองสิงห์ในปี พ.ศ. 2428 ในขณะที่สยามและนครน่านยังสงวนท่าที[4]

ในปีเดียวกัน อังกฤษเข้ายึดครองพม่าตอนบน และเจ้ากองไตสิ้นพระชนม์ เจ้าเสือซึ่งเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงพระองค์ใหม่เกิดความขัดแย้งกับเจ้าศรีหน่อผู้เป็นเจ้าฟ้าเชียงแขงเรื่องสิทธิ์เหนือดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง เช่น เชียงลาบ[20] สยามซึ่งเกรงว่าอังกฤษจะอ้างสิทธิ์เหนือเชียงตุงและเชียงแขงจึงเข้าแทรกแซง ในที่สุดเชียงแขงตัดสินใจสวามิภักดิ์ต่อสยามในปี พ.ศ. 2432 และต่อรองขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ โดยไม่ผ่านนครน่าน[17] อังกฤษเข้าควบคุมบรรดารัฐฉานในปีถัดมา และเปิดการเจรจากับสยามเกี่ยวกับเชียงแขงในต้นปี พ.ศ. 2434[20] ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2435[18] โดยสยามสละการอ้างสิทธิ์เหนือหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้าและหัวเมืองกะเหรี่ยงทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน แลกกับการที่อังกฤษยอมรับการอ้างสิทธิ์ของสยามเหนือเชียงแขง[21]

ภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศส

[แก้]

สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 ทำให้สยามต้องสละการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ซึ่งรวมถึงเมืองสิงห์ ในขณะที่ดินแดนของรัฐเชียงแขงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง เช่น เมืองยู้และเชียงลาบ ยังอาจถือได้ว่าเป็นของสยาม อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นยังไม่มีข้อตกลงอย่างชัดเจนเกี่ยวกับสถานะของเชียงแขง ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2436 อังกฤษยื่นข้อเสนอต่อฝรั่งเศสให้เชียงแขงเป็นรัฐกันชน โดยครอบคลุมพื้นที่ในระยะ 50 ไมล์จากแม่น้ำโขงทั้งสองฝั่ง การเจรจาประสบความล้มเหลวในปี พ.ศ. 2438[20] และอังกฤษนำกองกำลังเข้ายึดเมืองสิงห์ในวันที่ 19 มีนาคม[21] เจ้าฟ้าศรีหน่อเสด็จหนีออกจากเมืองสิงห์ไปร้องขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส[20][6] อังกฤษเปิดการเจรจาครั้งใหม่โดยบีบให้ฝรั่งเศสยอมตกลงในการเอกราชของสยามและใช้แม่น้ำโขงเป็นเขตแดนระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส[21] ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2439 เชียงแขงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงถูกรวมเข้ากับรัฐเชียงตุง และฝั่งตะวันออกกลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส[20]

เซอร์ จอร์จ สกอตต์กล่าวถึงเจ้าฟ้าเชียงแขงว่า:[22]

เจ้าศรีหน่อทรงปกครองเมืองสิงห์ภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศสจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2444 เจ้าองค์คำทรงขึ้นเป็นเจ้าฟ้าองค์ใหม่ เจ้าองค์คำไม่พอพระทัยต่อฝรั่งเศสจึงก่อกบฏในปี พ.ศ. 2457 แต่ไม่สำเร็จ เจ้าองค์คำจึงเสด็จหนีไปประทับอยู่ที่เชียงรุ่งตลอดพระชนมชีพ ฝรั่งเศสจึงยกเลิกตำแหน่งเจ้าฟ้าและผนวกเมืองสิงห์เป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนของฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2459[6]

รายพระนามเจ้าฟ้าเชียงแขง[5]

[แก้]
พระนาม เริ่ม (พ.ศ. ไทยสากล) สิ้นสุด (พ.ศ. ไทยสากล) หมายเหตุ
เจ้าฟ้าเด็กน้อย ไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏ หรือเจ้าหัวลอก, หรือเจ้าอินปัน, พระโอรสในเจ้าฟ้าเชียงรุ่ง
เจ้าอ้ายหน่อเมือง ไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏ พระโอรสในเจ้าฟ้าเด็กน้อย
เจ้าสุดอก ก่อน 1995/1996 ไม่ปรากฏ พระโอรสในเจ้าอ้ายหน่อเมือง
ยอดใจแพง 2044/2045 2067/2068 หรือเจ้าเมืองยอด, พระนัดดาในเจ้าสุดอก
เจ้าสองเมือง 2067/2068 2083/2084 หรือท้าวแสง, พระอนุชาในยอดใจแพง
เจ้าเมืองซ้าย 2083/2084 2101/2102 หรือพระยาซ้าย, หรือหมื่นซ้าย, เดิมครองเมืองสิง
หน่อแก้ว 2101/2102 2119/2120 หรือพระยาหลวง, พระโอรสในเจ้าเมืองซ้าย
หน่อคำ 2119/2120 2141/2142 หรือพระยาตนปู่, พระอนุชาในหน่อแก้ว
เจ้าแสนมุก 2141/2142 2155/2156 พระโอรสในหน่อคำ
มหาเทวี 2155/2156 4 เมษายน 2180 พระมารดาในเจ้าแสนมุก, ปกครองร่วมกับพญาเทพวงศาเชียงลาบเป็นระยะเวลาหนึ่ง
พระยากำพล 2180/2181 2181/2182
ไม่ปรากฏพระนาม 2181/2182 2197/2198 พระอนุชาในพระยากำพล
ว่างตำแหน่ง 2197/2198 (จ.ศ. 1016) – 2200/2201 (จ.ศ. 1019)
เจ้านาซ้าย 2200/2201 ไม่ปรากฏ พระโอรสในเจ้าฟ้าพระองค์ก่อนหน้า
เจ้าแก้ว ไม่ปรากฏ 2205/2206 พระโอรสในเจ้านาซ้าย
เจ้านนทะ 2205/2206 2222/2223 พระอนุชาในเจ้าแก้ว
เจ้าวงศา 2222/2223 2276/2277
เจ้าอินทะกุมาร 2276/2277 2294/2295 พระนัดดาในเจ้าวังสา
เจ้าขัตติยาราชวงสา 2294/2295 2324/2325 ครองราชย์ครั้งที่ 1, พระอนุชาในเจ้าอินทะกุมาร
เจ้าฟ้าแว่นส่อย 2324/2325 2326/2327 พระอนุชาในเจ้าขัตติยาราชวงสา
เจ้าขัตติยาราชวงสา 2326/2327 2339/2340 ครองราชย์ครั้งที่ 2
เจ้าไชยน้อย 2339/2340 2367/2368 พระโอรสในเจ้าขัตติยาราชวงสา
ว่างตำแหน่ง 2367/2368 (จ.ศ. 1186) – 10 มิถุนายน 2370
เจ้าอินปัน 10 มิถุนายน 2370 2372/2373 พระโอรสในเจ้าไชยน้อย
เจ้าขัตติยะราชวงสา ไม่ปรากฏ 2374 พระอนุชาในเจ้าอินปัน, ตำนานเมืองเชียงแขงฉบับวัดท่าพร้าวระบุปีครองราชย์คือ พ.ศ. 2358/2359 ไทยสากล (จ.ศ. 1177) ฉบับของ K. G. Izikowitz ระบุ พ.ศ. 2378/2379 ไทยสากล (จ.ศ. 1197)
เจ้านาซ้าย 5 กุมภาพันธ์ 2374 ไม่ปรากฏ หรือเจ้าเมืองเชียงแขงเถ้า[19] อาจเป็นเจ้าฟ้าพระองค์เดียวกันกับที่ปรากฏในเอกสารเมืองลอง พ.ศ. 2380[23]
เจ้าเทพพมณีคำ 2403/2404 2403/2404 หรือทิปนีคำ[19], พระภาคิไนย (ลูกของน้องสาว) ในเจ้านาซ้าย
ว่างตำแหน่ง 2403/2404 (จ.ศ. 1222) – 2405/2406 (จ.ศ. 1224)
เจ้าฟ้ากองไต 2405/2406 2429 พระอนุชาในเจ้าเทพพมณีคำ, ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงในปี พ.ศ. 2423 เจ้าศรีหน่อคำรักษาเมืองแทน
เจ้าฟ้าศรีหน่อคำ 2429 9 ตุลาคม 2444 หรือเจ้าฟ้าศรีหน่อ[6], หรือหม่อมสลิ[19], พระโอรสในเจ้านาซ้าย
ว่างตำแหน่ง 9 ตุลาคม 2444 – 1 กุมภาพันธ์ 2446
เจ้าองค์คำ 1 กุมภาพันธ์ 2446 เมษายน 2459 พระโอรสในเจ้าฟ้าศรีหน่อคำ

หมายเหตุ

[แก้]
  1. เทียบตามปฏิทินสุริยคติไทย โดยยึดวันปีใหม่คือ 1 มกราคม

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "高宗純皇帝實錄 卷之三百三十一 乾隆十三年 十二月 二十九日" [Veritable Records of Emperor Gaozongchun Volume 331 13th Year of Qianlong 12th Month 29th Day], ชิงสือลู่ [Veritable Records of the Qing] (ภาษาจีน), Academia Sinica, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-12, สืบค้นเมื่อ 2024-05-11
  2. 2.0 2.1 "高宗純皇帝實錄 卷之七百五十七 乾隆三十一年 三月 三十日" [Veritable Records of Emperor Gaozongchun Volume 757 31st Year of Qianlong 3rd Month 30th Day], ชิงสือลู่ [Veritable Records of the Qing] (ภาษาจีน), Academia Sinica, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-09-20, สืบค้นเมื่อ 2024-09-20
  3. Scott, James George; Hardiman, John Percy (1901). Gazetteer of Upper Burma and the Shan States (ภาษาอังกฤษ). Vol. 3. AMS Press. ISBN 978-0-404-16860-5.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Grabowsky, Volker (1999). "Introduction to the History of Müang Sing (Laos) prior to French Rule: The Fate of a Lü Principality" (PDF). Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient. 86: 233–291. JSTOR 43732577. สืบค้นเมื่อ 2024-08-17 – โดยทาง JSTOR.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 Grabowsky, Volker; Wichasin, Renoo (2008), Chronicles of Chiang Khaeng: A Tai Lü Principality of the Upper Mekong, Hawaii: Center for Southeast Asian Studies, University of Hawaii, pp. xvi–xvii, 21–28, 240, 244, 246–247, 317, ISBN 1-930734-02-6
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 เปรมจิตต์, สมหมาย; ปัญญาแก้ว, วสันต์ (2015), "ประวัติเมืองสิงห์", ตำนานเมืองลื้อ ประวัติศาสตร์พื้นถิ่น แดนดิน เชียงรุ่ง เมืองยอง เมืองสิงห์ (PDF), เชียงใหม่: โครงการล้านนาคดีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, pp. 157–222, ISBN 978-974-672-986-4, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-04-11, สืบค้นเมื่อ 2024-08-17
  7. 7.0 7.1 จิระนคร, ยรรยง; เศรษฐกุล, รัตนาพร (1998), ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมสิบสองปันนา: รายงานการวิจัย (PDF), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, pp. 13, 18–20
  8. สำนักนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, บ.ก. (1971), ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ [Tamnan Phuen Mueang Chiang Mai] (PDF), แปลโดย โชติสุขรัตน์, สงวน, พระนคร: สำนักนายกรัฐมนตรี, p. 78, สืบค้นเมื่อ 2024-09-19
  9. เท่าค่องแซ้ง; อ้ายคำ; วิชาศิลป์, เรณู, บ.ก. (1998), เชื้อเครือเจ้าแสนหวี ๑๒ พันนา, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, p. 44, สืบค้นเมื่อ 2024-09-18
  10. 10.0 10.1 10.2 ตำนานเมืองยอง [Möng Yawng Chronicle]. แปลโดย สว่างปัญญางกูร, ทวี. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 1984. pp. 44, 46.
  11. 11.0 11.1 อ๋องสกุล, สรัสวดี (2003). เอียวศรีวงศ์, นิธิ (บ.ก.). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์. pp. 116–117, 228. ISBN 9742726612.
  12. Kato, Kumiko (2021). "Qing China's View of the Eastern Shan States and Northern Thailand in the Mid-eighteenth century" (PDF). 名古屋大学人文学研究論集= The journal of humanities, Nagoya University. 4: 313–324. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-12-19. สืบค้นเมื่อ 2024-08-17.
  13. 13.0 13.1 Kato, Kumiko (2022). "Qing China's View of the Eastern Shan States and Northern Thailand in the 1760s" (PDF). 名古屋大学人文学研究論集. 5: 235–249. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-10-13. สืบค้นเมื่อ 2024-09-19.
  14. 14.0 14.1 "高宗純皇帝實錄 卷之八百十一 乾隆三十三年 五月 十七日" [Veritable Records of Emperor Gaozongchun Volume 811 33rd Year of Qianlong 5th Month 17th Day], ชิงสือลู่ [Veritable Records of the Qing] (ภาษาจีน), Academia Sinica, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-09-20, สืบค้นเมื่อ 2024-09-20
  15. Kato, Kumiko (2015). "Qing China's View of Its Border and Territory in Southernmost Yunnan in the 1830s: Analyses of Historical Sources Concerning Sipsongpanna" (PDF). Journal of the School of Letters. 11: 10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-01-15. สืบค้นเมื่อ 2024-09-20.
  16. Dao, Sirui (2023). Travels and Investigations in the Yunnan-Burma Borderlands, 1837–1911 (PDF) (วิทยานิพนธ์). Universitaet Hamburg (Germany). p. 49. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-08-08. สืบค้นเมื่อ 2024-09-20.
  17. 17.0 17.1 อินปาต๊ะ, บริพัตร (2017). การฟื้นฟูรัฐน่านในสมัยราชวงศ์หลวงติ๋น พ.ศ. 2329-2442 (วิทยานิพนธ์). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. pp. 57–63. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-19. สืบค้นเมื่อ 2024-08-17.
  18. 18.0 18.1 โซฟ (2001), "ข้อพิพาทกรณีเมืองสิงห์", สัมพันธภาพของประเทศฝรั่งเศสกับประเทศสยาม พ.ศ. 2223-2450 (PDF), แปลโดย บรรลือสินธุ์, นันทพร, กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, pp. 134–145, สืบค้นเมื่อ 2024-08-17
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 โบราณคดีสโมสร (ผู้รวบรวม) (1918), "พงศาวดารเมืองเชียงแขง" [Phongsawadan Mueang Chiang Khaeng], ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๙ [A Collection of Chronicles] (PDF), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, pp. 112–116, สืบค้นเมื่อ 2024-08-18
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 Grabowsky, Volker (2003). "Chiang Khaeng 1893-1896: A Lue Principality in the Upper Mekong Valley at the Centre of Franco-British Rivalry" (PDF). Contesting visions of the Lao past: Lao historiography at the crossroads, Copenhagen, NIAS: 36–70. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-08-17. สืบค้นเมื่อ 2024-08-17.
  21. 21.0 21.1 21.2 ลือขจรชัย, ฐนพงศ์ (2022). เมื่อจักรพรรดิราชหลั่งน้ำตา: ปัญหาการได้และเสียดินแดนของสยาม (PDF) (วิทยานิพนธ์). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. pp. 317–322. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-08-01. สืบค้นเมื่อ 2024-08-17.
  22. Scott, James George, Sir. 1934. Scott Collection: Views in Keng Tung and the Wild Wa Country.
  23. Kato, Kumiko (2016). "Sipsongpanna's Perception of Other Tai Principalities in 1837: The Tai Principalities in Present-day Northern Thailand and Other Principalities in Sipsongpanna's Surrounding Area" (PDF). 年報タイ研究= The journal of Thai studies/日本タイ学会 編. 16: 12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-06-26. สืบค้นเมื่อ 2024-09-18.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

21°21′N 100°52′E / 21.350°N 100.867°E / 21.350; 100.867