หม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก
คัทริน เดสนิตสกี สโตน | |
---|---|
คัทรินขณะอายุ 14 ปี | |
เกิด | เยกาเจรีนา อีวานอฟนา เดสนิตสกายา 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2429[1] ลุตสก์ เขตโวลฮีเนียน จักรวรรดิรัสเซีย (ปัจจุบัน แคว้นวอลึญ ประเทศยูเครน) |
เสียชีวิต | 3 มกราคม พ.ศ. 2503 (73 ปี) ปารีส ประเทศฝรั่งเศส |
คู่สมรส |
|
บุตร | พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ |
บิดามารดา |
|
เยกาเจรีนา อีวานอฟนา เดสนิตสกายา (ยูเครน: Катерина Іванівна Десницька; 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 – 3 มกราคม พ.ศ. 2503) หรือ คัทริน เดสนิตสกี (อังกฤษ: Catherine Desnitski) เป็นที่รู้จักในไทยว่า หม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก[2] หรือ หม่อมคัทริน จักรพงษ์ ณ อยุธยา[3] เป็นอดีตหม่อมชาวรัสเซีย ในสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ มีพระโอรสเพียงพระองค์เดียวคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามสกุล ณ พิศณุโลก อันเป็นนามสกุลพิเศษเนื่องจากไม่มีเลขลำดับที่พระราชทาน และมีผู้ใช้เพียงท่านเดียว คือ หม่อมคัทริน[4]
ประวัติ
[แก้]ชีวิตช่วงแรก
[แก้]คัทริน เดสนิตสกี หรือ แคทยา (อักษรโรมัน: Katya) เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) เป็นลูกสาวของอีวาน สเตปาโนวิช เดสนิตสกี รับราชการในกระทรวงยุติธรรมและได้เป็นประธานผู้พิพากษาสูงสุดของแคว้นลุตซ์ก ในเขตยูเครน มียศในราชการพลเรือนเทียบเท่าชั้นพลตรีในไทย ส่วนมารดาของเธอ มาเรีย มิลไฮลอฟวา เกิดในตระกูลคิชเนียคอฟฟ์ (อักษรโรมัน: Khijniakoff) อันเป็นตระกูลที่มีที่ดินเพื่อหาผลประโยชน์มาหลายชั่วอายุคน ด้วยเหตุที่ทั้งบิดา และมารดาต่างผ่านการสมรสและเป็นหม้ายมาก่อน จึงมีพี่น้องชายหญิงต่างบิดามารดาถึง 7 คน แต่มีพี่ชายแท้ ๆ เพียงคนเดียวคือ อีวาน อายุห่างกัน 2 ปี[5] ซึ่งได้เข้ารับราชการต่างประเทศและเมื่อปฏิวัติใหญ่เกิดขึ้นในรัสเซีย เป็นเลขานุการเอกอยู่สถานทูตรัสเซีย ณ กรุงปักกิ่ง
พ่อของคัทรินได้เสียตั้งแต่เธออายุได้เดือนเศษ คัทรินจึงอยู่กับแม่ ได้เลี้ยงดูอยู่ที่เมืองเคียฟและได้รับการศึกษาตามสมควรแก่ฐานะ คือมีพี่เลี้ยงเป็นฝรั่งเศสเพื่อสอนภาษาและภายหลังก็ไปโรงเรียน ต่อมาได้เกิดสงครามระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่นตอนเธออายุ 16 ปี ซึ่งเธอได้สูญเสียแม่ไปจากโรคมะเร็ง[6] เธอจึงตัดสินใจแสวงหาโชคและอนาคตที่ดีกว่า โดยการยืมเงินจากลุงมาก้อนหนึ่งไปที่กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ไปอยู่กับพี่ชายอีวานซึ่งเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัย และแคทยาได้เรียนเป็นนางพยาบาลสำหรับการรบ มิใช่นางพยาบาลอาชีพธรรมดา โดยอาศัยอยู่กับลูกพี่ลูกน้องของมารดาเธอคือ น้าโซเฟีย ซึ่งแต่งงานอยู่กับนายแพทย์ที่ชื่อ โบโรดิน จนกระทั่งได้พบกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาภ ที่บ้านของนางคราโปวิตซกี ที่เธอมักจัดงานเลี้ยงและเชิญหนุ่มสาวมาเสมอ
ย่างเข้าพ.ศ. 2448 สงครามรัสเซีย–ญี่ปุ่นทวีความรุนแรง แคทยาออกเดินทางไปไซบีเรียในเดือนเมษายน โดยเข้าประจำโรงพยาบาลสนาม ทำหน้าที่เป็นพยาบาล ด้วยความสามารถและความขยันขันแข็ง ในปีต่อมาเธอได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ถึง 3 ตระกูล รวมถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีเกียรติสูงอย่างตราเซนต์ยอร์ช ในขณะเดียวกันเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ซึ่งไม่สามารถขอลาราชการจากโรงเรียนเสนาธิการเพื่อเดินทางไปยังไซบีเรีย ยังมีลายพระหัตถ์และโทรเลขส่งถึงเธอเกือบทุกวัน ต่อมาสงครามก็ได้ยุติลงในเดือนสิงหาคมจากสนธิสัญญาพอร์ตสมัท แต่ก็ไม่ทำให้เหตุการณ์ที่เสื่อมทรามดีขึ้นได้ แคทยาเดินทางกลับกรุงเซนต์ปีเตอร์เบอร์กในปีเดียวกันนั้น[7] หลังจากพบปะกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ครั้งแรกหลังที่พระองค์ต้องทนทุกข์ทรมานมานานที่เธอต้องจากไปทำงานที่ไซบีเรีย พระองค์ขอแต่งงานและขอให้เธอติดตามอยู่ที่เมืองไทย
เสกสมรส เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ
[แก้]หม่อมคัทรินเสกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล ตามพิธีการทางศาสนาตามแบบนิกายออร์โธดอกซ์ของรัสเซีย[8] ที่โบสต์เซนต์ทรินิตี บนถนนเปรา[9] โดยมิได้กราบทูลให้พระราชบิดาและจักรพรรดิซาร์ทรงทราบ
เมื่อเจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถเสด็จกลับสยาม เมื่อพ.ศ. 2449 เมื่อสำเร็จการศึกษา ที่ไม่ได้ทรงกราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบแต่ประการใด กับได้ทรงพาหม่อมคัทรินฯ กลับเมืองไทยในปีเดียวกันนั้นเอง ในชั้นแรกทรงให้หม่อมคัทรินฯ พักอยู่ที่เมืองสิงคโปร์เป็นการชั่วคราวก่อน โดยพักกับเอลินา นิโคไลเยฟนา ภรรยาของพระยาสุรยุทธโยธาหาร นายทหารคนสนิทของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ส่วนพระองค์ฯ ได้เสด็จกลับกรุงเทพฯ แต่พระองค์เดียว ในไม่นานก็มีข่าวลือมายังกรุงเทพฯ ว่ามีมาดามเดอพิษณุโลกอยู่ที่สิงคโปร์ เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็ทรงกริ้วเป็นที่สุด และเมื่อข่าวเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้ว พระองค์ฯ ก็จัดให้หม่อมคัทรินฯ เดินทางมายังกรุงเทพฯ
เมื่อหม่อมคัทรินเข้ามาในสยามอย่างไม่ปิดบังอีกว่าเป็นชายา จัดให้พักที่วังปารุสกวันร่วมกัน ในฐานะเจ้าของวังร่วมกันกับพระองค์ แต่ปีทั้งปี หม่อมคัทรินก็แทบจะไม่ได้ย่างเท้าออกจากวัง เว้นแต่ไปนั่งรถยนต์เล่นในตอนค่ำคืน เธอไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถอย่างสะใภ้หลวง ทั้งสองพระองค์มิได้ทรงยอมรับเธอ แต่ก็มิได้พระทัยร้ายถึงกับขับไล่ไสส่งหรือยื่นคำขาดให้พระราชโอรสทรงละทิ้งหม่อม
ชีวิตในวังปารุสกวันผ่านไปด้วยความราบรื่น เจ้าฟ้าชายเห็นพระทัยหม่อมคัทริน ก็ทรงทำทุกอย่างที่จะให้เธออยู่อย่างเป็นสุขและสะดวกสบายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผู้ที่ช่วยเป็นกำลังใจสนับสนุนอีกแรงหนึ่งคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร แคทยาเคารพและมองพระองค์ท่านด้วยความเชื่อมั่นในหลาย ๆ ด้าน และถึงแม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะไม่โปรดรับหม่อมคัทรินเป็นสะใภ้หลวง แต่ก็เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ซึ่งได้พระราชทานเครื่องเพชรล้ำค่าแก่หม่อมคัทรินอยู่เสมอ หม่อมคัทรินปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยทั้งในเรื่องกิริยามารยาท การแสดงออกที่สุภาพอ่อนโยนในสายตาชาววังซึ่งเป็นชนชั้นสูง และเรียนรู้ภาษาไทยจนถึงขั้นอ่านออกเขียนได้ ในปลายปีพ.ศ. 2450 หม่อมคัทรินพระชายาของพระองค์ได้ประสูติโอรสเป็นชายพระองค์แรกและพระองค์เดียวคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายในแด่หม่อมคัทริน[10] ความสุขของแคทยาดำเนินต่อไปอยู่หลายปี จนกระทั่งเหตุการณ์ภายนอกเข้ามากระทบเธออย่างหนัก เริ่มด้วยการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ ที่ทำให้เจ้านายและขุนนางในรัสเซียต้องหลบลี้หนีภัยการเมืองออกนอกประเทศ ความหวังของแคทยาที่จะได้กลับไปเยี่ยมบ้านเดิมก็จบสิ้นลง บ้านเกิดเมืองนอนกลายเป็นดินแดนต้องห้ามสำหรับเธอไปเสียแล้ว สิ่งที่ตามมาคือสงครามโลกครั้งที่ 1 พระเจ้าอยู่หัวตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมัน ผู้นำทางการทหารของสยามก็คือเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงรับภารกิจด้านนี้ไว้เต็มมืออีกครั้ง ทำให้แคทยาหมดโอกาสจะเดินทางไปแม้แต่ประเทศใดประเทศหนึ่งในยุโรป
ชีวิตสมรสดำเนินมาถึง 12 ปี ใต้ความกดดันเพิ่มขึ้นทีละน้อยในปีหลัง ๆ สุขภาพของแคทยาก็เสื่อมโทรมลง เธอแท้งติดต่อกันถึง 2 ครั้ง ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจเดินทางไกล เพื่อรักษาสุขภาพกายและใจให้ดีขึ้น ด้วยการไปเยี่ยมพี่ชายที่อยู่ในปักกิ่ง เลยไปญี่ปุ่นและเดินทางต่อไปถึงแคนาดา
เมื่อไม่มีแคทยาอยู่ด้วย เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงมีเวลาว่างพอจะได้คุ้นเคยกับพระญาติสตรีจากวังอื่น ๆ มากขึ้น ในจำนวนนั้นคือหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศ รพีพัฒน์ พระธิดาของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้เป็นพระเชษฐาต่างชนนีกันนั่นเอง และในปี พ.ศ. 2462 แคทยาได้หย่าขาดกับ สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
หลังการหย่าและการแต่งงานใหม่
[แก้]หลังแยกทางเดินกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถแล้ว นับแต่เธอเดินทางออกจากสยาม แคทยาก็ไปหาพี่ชายที่ปักกิ่ง พักอยู่ด้วยไม่นาน ก็ย้ายไปพำนักอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ เธอกลับไปใช้นามสกุลเดิม ใช้ชื่อว่า มาดามเดสนิทสกี้ อาศัยค่าเลี้ยงดูเดือนละ 100 ปอนด์อันน้อยนิดที่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถประทานให้เป็นค่าเลี้ยงดูหลังหย่าร้าง เช่าบ้านเล็ก ๆได้หลังหนึ่ง แล้วใช้ชีวิตตามลำพังด้วยความเข้มแข็งเท่าที่ผู้หญิงสาวตัวคนเดียวจะทำได้
แคทยาไม่ได้ปล่อยชีวิตตัวเองให้หมกมุ่นน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา เธอใช้เวลาให้หมดไปกับการบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม ด้วยเข้าไปช่วยงานของสมาคมการกุศลของชาวรัสเซียเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพ เพราะแคทยาเคยฝึกงานเป็นนางพยาบาลมาก่อน จึงช่วยงานได้มาก ทำให้วัน ๆ ผ่านไปรวดเร็ว แต่พอกลับมาบ้านในตอนกลางคืน ความเปล่าเปลี่ยวเศร้าหมองก็กลับมาอีกสำหรับผู้หญิงตัวคนเดียว พี่ชายแนะนำว่าหญิงสาวอย่างเธอไม่ควรอยู่คนเดียว จะอันตรายเกินไป ควรมีคนอยู่ด้วยเป็นเพื่อนในบ้าน จะมีรายได้เพิ่มด้วย เธอก็เลยแบ่งห้องชั้นบนในบ้านให้คนเช่า หนึ่งในคนเช่าห้องชั้นบนเป็นวิศวกรชาวอเมริกันชื่อแฮรี่ คลินตัน สโตน ซึ่งต่อมาเขาขอแต่งงานกับเธอ แต่ว่าแคทยาขอผัดผ่อนคำตอบไว้ก่อน
ต่อมาเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถเสด็จทิวงคต เธอจึงเดินทางกลับมาร่วมงานพระศพในกรุงเทพมหานคร เมื่อกลับมาเธอพบว่าโอรสของเธออยู่ในความดูแลของ "ทูลกระหม่อมลุง" (รัชกาลที่ 6) เธอได้รับเงินส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมจากมรดกของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถด้วยพระเมตตาของพระเจ้าอยู่หัว แคทยาเดินทางกลับและแต่งงานกับแฮรี่สโตน แล้วเดินทางไปอเมริกากับเขา ทิ้งอดีตทุกอย่างในสยามให้จบสิ้นไปพร้อมกับการเสด็จทิวงคตของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก
แคทยาเข้ากับชีวิตในอเมริกาไม่ดีนัก ยิ่งกว่านั้นเธอเข้ากับพ่อสามีและแม่สามีชาวอเมริกันไม่ได้ ความสุขของเธอมีอย่างเดียวคือได้เดินทางไปอังกฤษ พบโอรสซึ่งย่างเข้าวัยหนุ่ม ในที่สุดเธอกับสโตนก็ตัดสินใจอพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ปารีส เพื่อจะได้พบพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ซึ่งข้ามจากอังกฤษมาพักด้วยตอนปิดเทอม แคทยาเองก็อบอุ่นจากการได้รวมญาติชาวรัสเซียซึ่งลี้ภัยมาอยู่ในฝรั่งเศสอีกครั้ง แคทยากลับไปอเมริกาในช่วงอังกฤษเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งเธอถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่ออายุ 71 ปี
สู่งานประพันธ์
[แก้]ทั้งนี้เนื่องจากมีลูกและหลานเป็นนักเขียน จึงมีผู้ถ่ายทอดชีวประวัติ สู่งานประพันธ์ หนังสือที่ให้รายละเอียดของหม่อมคัทรินหรือแคทยาดีที่สุดคือ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม หรือ KATYA & THE PRINCE OF SIAM เขียนโดยสองป้าหลานคือไอลีน ฮันเตอร์ (Eileen Hunter) พี่สาวของหม่อมเอลิสะเบธชายาของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ ธิดาคนเดียวของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังสร้างความบันดาลใจให้คณะบัลเล่ต์รัสเซียนำไปแสดงบัลเล่ต์ในชื่อเดียวกับหนังสือ Katya and the Prince of Siam "แคทยา และเจ้าฟ้าสยาม" ซึ่งเปิดแสดงรอบปฐมทัศน์ของโลกที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2546[11]
อนุสรณ์
[แก้]- อาคารหอพัก คัทริน ณ พิษณุโลก วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก[12]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. ไม่ปรากฎ – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายใน)
- พ.ศ. 2454 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 3 (ว.ป.ร.3) [13]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Catherine Desnitski
- ↑ จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. เจ้าชีวิต-สยามก่อนยุคประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ:ริเวอร์บุ๊คส์. 2536, หน้า 255
- ↑ จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. เจ้าชีวิต-สยามก่อนยุคประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ:ริเวอร์บุ๊คส์. 2536, หน้า 247
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานนามสกุลพิเศษ, เล่ม ๓๐, ตอน ๐ ง, ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖, หน้า ๘๓๒
- ↑ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 57
- ↑ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 62
- ↑ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 65
- ↑ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 66
- ↑ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 68
- ↑ เล็ก พงษ์สมัครไทย, วาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ จอมพล สมเด็จฯเจ้าฟ้าฯกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ, นิตยสารต่วยตูนพิเศษ ฉบับที่ 395 เดือนมกราคม 2551 หน้า 91-98
- ↑ Katya and the Prince of Siam "แคทยา และเจ้าฟ้าสยาม เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน thaiticketmaster.com
- ↑ "วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบกรับมอบ โต๊ะม้าหินอ่อน จาก มูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และคณะบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)". rtanc.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-25. สืบค้นเมื่อ 2022-07-25.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๕ ฝ่ายใน, เล่ม ๒๘, ตอน ๐ ง, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔, หน้า ๑๘๘๗
บรรณานุกรม
[แก้]- หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์และไอลีน ฮันเตอร์, แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม.--กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, 2551