เจ้าอินทร์แปลง เทพวงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าอินทร์แปลง เทพวงศ์
เจ้านายฝ่ายเหนือ
ถึงแก่กรรมพ.ศ. 2463
ชายาเจ้าคำเกี้ยว วงศ์พระถาง
เจ้าเทพเกสร ณ น่าน
จ้อย
จันทร์ รัตนภาพ
พระบุตรเจ้าอินทรเดช เทพวงศ์
เจ้าอินทร์ศร เทพวงศ์
เจ้าอินทร์ทรงรัศมี เทพวงศ์
ราชวงศ์แสนซ้าย
เจ้าบิดาเจ้าพิริยเทพวงษ์
เจ้ามารดาแม่เจ้าบัวไหล

เจ้าอินทร์แปลง เทพวงศ์ หรือ''เจ้าอินทร์แปง'' เป็นราชโอรสองค์เดียวในเจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์แสนซ้าย (องค์สุดท้าย) กับแม่เจ้าบัวไหลราชเทวี หนึ่งในผู้มีสิทธิในตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ถัดไปหากไม่เกิดกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ในปี พ.ศ. 2445[1]

พระประวัติ[แก้]

เจ้าอินทร์แปลง เทพวงศ์ หรือ''เจ้าอินทร์แปง'' เป็นราชโอรสองค์เดียวในเจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์สุดท้าย กับแม่เจ้าบัวไหลราชเทวี มีพระเชษฐภคินีร่วมราชมารดา 6 องค์ คือ

  • เจ้ากาบคำ
  • เจ้าเวียงชื่น
  • เจ้าสุพรรณวดี
  • เจ้ายวงคำ
  • เจ้ายวงแก้ว
  • เจ้าหอมนวล

เป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ถัดไปหากไม่เกิดการจาลาจลเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 และเจ้าพิริยเทพวงษ์ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว และไม่ได้กลับมาอีกเลย จนกระทั่งถึงแก่พิราลัยที่นั่นในปี พ.ศ. 2455 ส่วนแม่เจ้าบัวไหล และเจ้าอินทร์แปลงพร้อมด้วยบุตรหลานองค์อื่น ๆ ได้อพยพไปอยู่กรุงเทพมหานคร ตามพระบรมราชโองการ ภายใต้การควบคุมดูแลของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น เป็นเวลา 4-5 ปี จึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้กลับคืนบ้านเมืองได้[2] และหลังจากเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่ทางกรุงเทพฯ ก็ได้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่นับแต่นั้น

เจ้าอินทร์แปลง เทพวงศ์ ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2463 ขณะไปเยี่ยมเจ้าอินทเดช เทพวงศ์ หรือ โชติ แพร่พันธุ์ โอรสคนโตที่อยู่กรุงเทพฯ และได้จัดพิธีฌาปณกิจ ณ เมรุวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

ครอบครัว[แก้]

เจ้าอินทร์แปลง เทพวงศ์ ลักลอบได้เสียกับ “จ้อย” เป็นต้นห้องของหม่อมเฉื่อย พระมารดาของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ขณะไปอยู่วังวรดิศของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้กำเนิดโอรสคนแรก[3] คือ

  • เจ้าอินทรเดช เทพวงศ์ หรือ โชติ แพร่พันธุ์ เจ้าของนามปากกา ยาขอบ สมรสกับจรัส แพร่พันธุ์ มีบุตร 1 คน คือ
  1. มานะ แพร่พันธุ์ สมรสกับนางจรูญศรี

ภายหลังเจ้าอินทร์แปลงกับจ้อยได้เลิกรากัน ต่อมาเจ้าอินทร์แปลงได้รับพระบรมราชานุญาตให้กลับคืนมาอยู่เมืองนครแพร่ และได้เสกสมรสกับ “เจ้าคำเกี้ยว วงศ์พระถาง” (ธิดาเจ้าวงศ์ กับเจ้าฟองจันทร์ วงศ์พระถาง) แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน ต่อมาได้เสกสมรสกับ“เจ้านางเทพเกษร ณ น่าน” (ราชธิดาในพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช พระเจ้านครน่าน กับแม่เจ้ายอดหล้า) มีโอรสด้วยกัน 2 คน คือ

  • เจ้าอินทร์ศร เทพวงศ์ สมรสกับคำป้อ เทพวงศ์ มีธิดา 2 คน คือ
  1. มาลี ถนอมคุณ (เทพวงศ์) สมรสกับพันเอก(พิเศษ) บุญชื่น ถนอมคุณ
  2. มาลัย รูปวิเชตร (เทพวงศ์) สมรสกับนายอดุลย์ รูปวิเชตร
  • เจ้าอินทร์ทรงรัศมี เทพวงศ์ สมรสกับอุไร เทพวงศ์ มีบุตร 1 คน คือ
  1. จงรักษ์ เทพวงศ์ ปัจจุบันคือหลวงพ่อจงรักษ์ วรญาโณ วัดชัยมงคล อ.เมืองแพร่

และเสกรสรสอีกครั้งกับนางจันทร์ รัตนภาพ (ธิดานายหนานเมืองพรหม รัตนภาพ) ไม่มีบุตรด้วยกัน

การทำงาน[แก้]

เจ้าอินทร์แปลง เคยรับราชการในกรมมหาดเล็กที่กรุงเทพฯ และในปีพ.ศ. 2458 ท่านได้ถวายฎีกาขอพระบรมราชานุญาตรับสัมปทานป่าไม้ป่าห้วยแม่แฮด เมืองนครแพร่


ป่าไม้เมืองแพร่ยังมีว่างอยู่เท่านี้ นอกนั้นตกเป็นของชาวต่างประเทศเช่าทำ คนพื้นเมืองไม่มีที่อาไศรยหากิน แม้อาไศรยเขาบ้างก็ได้แต่นำช้างของตนไปรับจ้างลากลงมาจากลำห้วย ได้ประโยชน์ย่อมเยาว์แพ้เปรียบชาวต่างประเทศยิ่งนัก จึงขอพระราชทานเช่าทำป่า 3 รายนี้ (ตำบลแม่แฮด ห้วยม่วง ห้วยรากไม้) มีกำหนด 30 ปี

— นายอินแปลง
บุตรเจ้าพิริยเทพวงษ์

โดยเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสว่า


ให้นายอินแปลงไปหาเสนาบดีมหาดไทยเพื่อจะได้พูดคุยกันอีกคราว 1 จะดี

— ร.6
พระราชกระแส

แต่ทว่าผลการเจรจาเป็นอย่างไรไม่มีรายละเอียด เพราะสุดท้ายรัฐบาลก็ไม่ได้อนุญาตให้ทำสัมปทาน[4]

เหตุจลาจลเงี้ยวปล้นเมืองแพร่[แก้]

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ยกกำลังไปปราบ กบฎเงี้ยว ที่เมืองแพร่ ในมณฑลพายัพ

ทั้งนี้ในปี 2440 รัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนการปกครองจากเจ้าผู้ครองนครเป็นเทศาภิบาล ยุบเลิกฐานะเมืองประเทศราช แล้วรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) เป็นข้าหลวงปกครองเมืองแพร่เป็นคนแรก เจ้าเมืองแพร่องค์เดิมคือ พระยาพิริยวิไชย จึงสูญเสียอำนาจไปเพราะอำนาจสิทธิ์ขาดตกเป็นของข้าหลวงซึ่งเป็นข้าราชการที่ส่งมาจากส่วนกลาง อีกทั้งยังถูกตัดผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สร้างความไม่พอใจแก่เจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานทั้งหลายรวมไปถึงชาวเมืองแพร่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมืองแพร่นั้น เมื่อครั้งปฏิรูปการปกครองในปี 2442 พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ได้จัดการอย่างรุนแรงและบีบบังคับยิ่งกว่าเมืองอื่น ๆ

วันที่ 24 กรกฎาคม 2445 ชาว “เงี้ยว” (หรือชาวไทใหญ่ ชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ในมณฑลพายัพมาช้านาน) ในเมืองแพร่นำโดย พะกาหม่อง และ สลาโปไชย พร้อมกำลังราว 40-50 นาย ได้ก่อความวุ่นวายขึ้น โดยบุกยึดสถานที่ราชการและปล้นเงินคลังของจังหวัด ตลอดจนปล่อยนักโทษในเรือนจำ ต่อมากำลังเพิ่มเป็นราว 300 นายเพราะชาวเมืองแพร่เข้ามาสนับสนุน สามารถยึดเมืองแพร่ได้ในวันที่ 25 กรกฎาคม จากนั้นก็ไปเชิญเจ้าเมืองแพร่องค์เดิมให้ปกครองบ้านเมืองต่อ และออกตามล่าข้าราชการคนนอกที่เข้ามาปกครองเมืองแพร่ สามารถจับตัวพระยาไชยบูรณ์ได้ในวันที่ 27 กรกฎาคม และบังคับให้คืนเมืองแพร่ แต่พระยาไชยบูรณ์ปฏิเสธจึงถูกสำเร็จโทษพร้อมกับข้าราชการอีกหลายคน

ความทราบถึงรัชกาลที่ 5 จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรีนำทัพหลวงและกองทัพจากเมืองใกล้เคียงทำการปราบปรามพวกเงี้ยวได้อย่างราบคาบ โดยตั้งค่ายทัพที่บริเวณ “บ้านเด่นทัพชัย”(ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ตำบลเด่นชัย” ใน “อำเภอเด่นชัย” ปัจจุบัน) หลังจากเริ่มสอบสวนเอาความในวันที่ 20 สิงหาคม 2445 พบว่าเจ้าเมืองแพร่ เจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงคราม มีส่วนสนับสนุนให้กองโจรเงี้ยวก่อการกบฎขึ้น แต่ครั้นจะจับกุมตัวสั่งประหารชีวิต ท่านก็เกรงว่าจะกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์กับหัวเมืองทางเหนือซึ่งถือเป็นเครือญาติผู้สืบสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนด้วยกัน จึงปล่อยข่าวลือว่าจะจับกุมตัวเจ้าเมืองแพร่ พระยาพิริยวิไชยจึงหลบหนีออกไป หลังหลบหนีไปได้ 15 วัน เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงออกคำสั่งถอดเจ้าเมืองแพร่ออกจากตำแหน่งทันที ด้วยถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ พร้อมกับสั่งอายัดทรัพย์เพื่อชดใช้หนี้หลวงที่เจ้าเมืองแพร่ค้างกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ สำหรับคดีความผิดฐานร่วมก่อการกบฎก็เป็นอันต้องระงับโดยปริยาย ไม่มีการรื้อฟื้นขึ้นอีก เจ้าพิริยเทพวงศ์เจ้าเมืองแพร่องค์สุดท้ายต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่เมืองหลวงพระบาง จนถึงแก่พิราลัย

ราชตระกูล[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. เจ้าพิริยเทพวงษ์ (ทายาท).หมู่บ้าน วัง ฟ่อน
  2. ประวัติแม่เจ้าบัวไหล . จากเว็บไต์โลกล้านนา
  3. ชีวประวัตินักเขียน "ยาขอบ" (นายโชติ แพร่พันธุ์ .ชมรมนักเขียนต้นฉบับ )
  4. ภาพเก่า เล่าอดีต ตอนที่ 5 เมืองแพร่ เมืองไม้สัก .ชัยวัฒิ ไชยชนะ .ค้นหา 18 กันยายน พ.ศ. 2559
ก่อนหน้า เจ้าอินทร์แปลง เทพวงศ์ ถัดไป
เจ้าพิริยเทพวงษ์
เจ้าผู้ครองนครแพร่
ผู้อ้างสิทธิในตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่
(พ.ศ. 2455 - พ.ศ. 2463)
เจ้าอินทรเดช เทพวงศ์ (โชติ แพร่พันธุ์)