หญ้าฝรั่น
หญ้าฝรั่น | |
---|---|
ยอดเกสรเพศเมียสีแดงบนดอกหญ้าฝรั่น | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Liliopsida |
อันดับ: | Asparagales |
วงศ์: | Iridaceae |
สกุล: | Crocus |
สปีชีส์: | C. sativus |
ชื่อทวินาม | |
Crocus sativus L. |
หญ้าฝรั่น [ฝะ-หฺรั่น] หรือ สรั่น [สะ-หฺรั่น][1] จัดเป็นเครื่องเทศและเครื่องยาที่สำคัญอย่างหนึ่ง มีการนำเข้าในประเทศไทยจากประเทศแถบอาหรับ เปอร์เซีย และยุโรปมาช้านาน หญ้าฝรั่นในภาษาอาหรับเรียก ซะฟะรัน เป็นไม้ดอกสีม่วง เพาะพันธุ์ด้วยหัว อยู่ในตระกูลเดียวกับไอริส จึงมีเกสรข้างในสีเหลืองทอง เมื่อแห้ง ใช้เติมรสและกลิ่นในอาหาร และใช้เป็นสีย้อมได้ด้วย หญ้าฝรั่นมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัวและมีรสค่อนข้างขม ชาวตะวันออกและผู้คนแถบทะเลเมดิเตอเรเนียนนิยมใช้ในการปรุงรสและแต่งสีแต่งกลิ่นอาหารมาแต่ครั้งโบราณกาล โดยเฉพาะในข้าวและอาหารจำพวกปลา ส่วนชาวอังกฤษ สแกนดิเนเวีย และผู้คนแถบคาบสมุทรบอลข่านใช้ผสมกับขนมปัง นับว่าเป็นส่วนผสมที่สำคัญในตำรับอาหารฝรั่งเศสด้วย
สีเหลืองทองสำหรับย้อมผ้าละลายน้ำได้นั้น กลั่นมาจากเกสรหญ้าฝรั่นในอินเดียสมัยโบราณ หลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไม่นานนัก เหล่าสงฆ์ทั้งหลายก็ใช้หญ้าฝรั่นเป็นสีย้อมจีวรอย่างกว้างขวาง สีย้อมดังกล่าวยังใช้สำหรับภูษาอาภรณ์ของกษัตริย์ ในหลายวัฒนธรรม
มีการหว่านเครื่องเทศหญ้าฝรั่นนี้ภายในอาคารต่าง ๆ เช่น ภายในราชสำนัก หอประชุม โรงละคร และโรงอาบน้ำของกรีกและโรมัน เพื่อเป็นเครื่องหอม ภายหลังมีความผูกพันเป็นพิเศษกับเฮไตรา (ἑταίρα) หรือนางคณิกาของกรีก บรรดาถนนสายต่าง ๆ ของโรมก็ล้วนโปรยปรายไปด้วยหญ้าฝรั่น เมื่อจักรพรรดิเนโรเสด็จเข้ามายังพระนคร
หญ้าฝรั่นนี้เชื่อกันว่าเป็นพืชพื้นเมืองแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน เอเชียไมเนอร์ และอิหร่าน โดยมีการปลูกมาช้านานแล้วในอิหร่าน และแคว้นกัศมีร์ของอินเดีย และเข้าใจว่ามีการนำเข้าไปยังแผ่นดินจีนเมื่อครั้งพวกมองโกลบุกรุก
ในตำราแพทย์แผนโบราณของจีน สมัยยุคศตวรรษที่ 16 นั้นก็ยังมีกล่าวถึงหญ้าฝรั่นโดยแพทย์จีนเรียกหญ้าฝรั่นนี้ว่า "ซีหงฮวา" (西紅花) ซึ่งแปลว่า ดอกไม้สีแดงจากตะวันตก ส่วนชาวอาหรับและพวกแขกมัวร์ในประเทศสเปนก็รู้จักการปลูกหญ้าฝรั่นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1504 และยังมีการกล่าวไว้ในตำราทางการแพทย์ของอังกฤษ เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 10 (พ.ศ. 1444–1543) แต่อาจสูญหายไปจากยุโรป กระทั่งพวกครูเสดนำเข้าไปอีกครั้ง ในช่วงสมัยต่าง ๆ หญ้าฝรั่นมีค่ามากกว่าทองคำเมื่อเทียบน้ำหนักกัน และยังคงเป็นเครื่องเทศที่มีราคาแพงที่สุดในโลกจนปัจจุบัน[2]
ส่วนตำราการแพทย์แผนโบราณของไทยนั้น หญ้าฝรั่นถือได้ว่าเป็นของที่สูงค่ามีราคาแพงมาก จัดเป็นตัวยาที่ช่วยในการแก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ เป็นตัวยาหลักที่ใช้ในตำรับยาหอมต่าง ๆ และยังใช้บดเป็นผงให้ละเอียด แล้วละลายในน้ำต้มสุกที่ทิ้งไว้ให้เย็น กินเป็นน้ำกระสายยาคู่กับการกินยาตำรับต่าง ๆ อีกด้วย
ปัจจุบันนี้มีการปลูกหญ้าฝรั่นกันมากในสเปน, ฝรั่งเศส, เกาะซิซิลีของอิตาลี, อิหร่าน, และแคว้นกัศมีร์ในอินเดีย โดยจะเก็บเกสรตัวเมียที่มีอยู่เพียงดอกละสามอัน แล้วนำไปวางแผ่ไว้ในถาด ย่างไฟที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง นำมาแต่งรสชาติและกลิ่นของอาหาร หญ้าฝรั่นแห้งที่ได้ 1 กิโลกรัม เท่ากับผลผลิต 120,000–160,000 ดอก ดังนั้นจึงต้องเก็บเกสรตัวเมียจากดอกของหญ้าฝรั่นด้วยมือจำนวนมากถึงจะได้ปริมาณตามที่ต้องการ ทำให้หญ้าฝรั่นจัดเป็นเครื่องเทศที่มีราคาแพงที่สุดในโลกโดยน้ำหนักในบรรดาเครื่องเทศทั้งหลาย ซึ่งโดยเฉลี่ยขายปลีกกันประมาณกิโลกรัมละ 77,700 บาท ทำให้ในปัจจุบันมีการเอาดอกคำฝอย ซึ่งมีลักษณะที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกันมากกับหญ้าฝรั่น แต่มีราคาที่ถูกกว่ามากมาผสมปนปลอมอยู่ด้วยในเวลาที่ขายในร้านขายเครื่องเทศและสมุนไพรต่าง ๆ
ศัพท์มูลวิทยา
[แก้]คำว่า saffron ในภาษาอังกฤษมีต้นกำเนิดมาจากภาษาละติน safranum ผ่านทางคำในภาษาฝรั่งเศสเก่าสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 safran ขณะเดียวกันคำ Safranum กลายมาจากคำในภาษาเปอร์เซีย زعفران (za'ferân) ขณะที่บางคนเชื่อว่าท้ายสุดแล้วมาจากภาษาอาหรับคำว่า زَعْفَرَان (za'farān) ซึ่งมาจากคำคุณศัพท์ أَصْفَر (aṣfar, "สีเหลือง")[3] อย่างไรก็ตาม บางคนแย้งว่าคำ زَعْفَرَان (za'farān) มีต้นกำเนิดมาจากการกลายเป็นคำอาหรับจากคำเปอร์เซีย زرپران (zarparān) ซึ่งแปลว่า "มีรอยด่างสีทอง"[4] คำในภาษาละติน safranum ยังเป็นต้นกำเนิดของคำ zafferano ในภาษาอิตาลีและคำ azafrán ในภาษาสเปน[5]
ในภาษาไทยคำว่า หญ้าฝรั่น น่าจะมาจากการเลียนเสียงคำในภาษาเบงกอล জাফরান (jafran) ที่จริงแล้วควรเขียนว่า ญ่าฝรั่น แต่ หญ้าฝรั่น เป็นที่แพร่หลายมากกว่า[6][7] ส่วนบรรจบ พันธุเมธาว่า "ฝรั่น" หรือ "สรั่น" มาจากการยืมคำในภาษาเปอร์เซีย และมีการแทรกเสียงสระลงไปให้ออกเสียงง่ายขึ้น[1]
ชีววิทยา
[แก้]สัณฐานวิทยา | |
→ ยอดเกสรเพศเมีย | |
→ เกสรเพศผู้ | |
→ วงกลีบดอก | |
→ หัว |
หญ้าฝรั่นที่ปลูกเลี้ยง (C. sativus) เป็นพืชดอกฤดูใบไม้ร่วงอายุหลายปีไม่พบในธรรมชาติ เป็นรูปแบบหนึ่งของพืชดอกฤดูใบไม้ร่วงทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Crocus cartwrightianus) ที่เป็นหมัน[8][9][10] ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเอเชียกลาง[3] หญ้าฝรั่นเป็นผลของ C. cartwrightianus เมื่อมีการคัดเลือกพันธุ์โดยเกษตรกรเพื่อให้ได้ยอดเกสรเพศเมียที่ยาวขึ้น จากการที่เป็นหมัน ชนิดดอกสีม่วงชนิดนี้จึงไม่สามารถสร้างผลที่สามารถเจริญต่อไปได้ การสืบพันธุ์จึงเกิดขึ้นจากการช่วยเหลือของมนุษย์ หัวใต้ดินที่มีรูปร่างคล้ายกับหัวหอม เป็นอวัยวะที่สะสมกักตุนแป้ง จะถูกขุดขึ้นจากดิน แยกออกจากกัน และนำไปเพาะปลูกอีกครั้ง หัวหญ้าฝรั่นที่มีชีวิตอยู่มาหนึ่งฤดูจะสร้างและแบ่งออกได้มาถึง 10 หัวย่อยที่สามารถนำไปปลูกเป็นต้นใหม่ได้[8] หัวเป็นเมล็ดกลมสีน้ำตาลมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 4.5 ซม. และห่อด้วยเส้นใยขนานกันหนา
หลังการเรียงกลีบในฤดูใบไม้ผลิ ต้นไม้จะแทงใบสีเขียวแคบขึ้นมาในแนวเกือบตั้งฉาก 5–11 ใบ แต่ละใบยาวถึง 40 ซม. ในฤดูใบไม้ร่วงจะเริ่มแทงตาสีม่วงขึ้นมา ในเดือนตุลาคม หลังไม้ดอกชนิดอื่นส่วนมากออกเมล็ดแล้ว พืชจะออกดอกเป็นกระจุกสีม่วงอ่อนเหมือนแรเงาด้วยดินสอสีถึงม่วงเข้มที่มีริ้วสีม่วงซีด[11] ลักษณะดอกมีรูปร่างคล้ายดอกบัว กลีบดอกเรียวยาวคล้ายรูปไข่ เมื่อมีดอก หญ้าฝรั่นมีความสูงเฉลี่ยน้อยกว่า 30 ซม.[12] มียอดเกสรเพศเมียสีแดงสดยื่นออกมายาวโผล่พ้นเหนือดอกมีลักษณะเป็นง่ามสามง่าม ยาว 25-30 มม.[8]
การเพาะปลูก
[แก้]C. sativus เจริญเติบโตในชีวนิเวศแบบทุ่งไม้พุ่มทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทุ่งไม้พุ่มหรือทุ่งไม้พุ่มแคระอเมริกาเหนือ และสถานที่ภูมิอากาศร้อน กึ่งแห้งแล้งมีลมโชย กระนั้นก็สามารถอยู่รอดในฤดูหนาวที่หนาวเย็นได้โดยสามารถทนความเย็นได้ถึง −10 °C (14 °F) และถูกหิมะปกคลุมในช่วงเวลาสั้น ๆ[8][13] ต้องมีการชลประทานถ้าไม่ได้เพาะปลูกในบริเวณที่สิ่งแวดล้อมมีความชื้น เช่น รัฐชัมมูและกัศมีร์ที่ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 1,000–1,500 มม. (39–59 นิ้ว) พื้นที่เพาะปลูกหญ้าฝรั่นในประเทศกรีก (500 มม.หรือ 20 นิ้วต่อปี) และสเปน (400 มม.หรือ 16 นิ้ว) แต่ก็ยังห่างไกลนักเมื่อเทียบกับพื้นที่เพาะปลูกในประเทศอิหร่าน เวลาเป็นหัวใจหลักที่สำคัญ ฝนที่เหลือเฟือในฤดูใบไม้ผลิและอากาศแห้งในฤดูร้อนนั้นเหมาะสมที่สุด ฝนที่ตกก่อนหน้าจะช่วยเพิ่มผลผลิตให้หญ้าฝรั่นออกดอกมากขึ้น ฝนตกหรืออากาศหนาวระหว่างช่วงการออกดอกจะทำให้ผลผลิตลดต่ำลง สภาวะร้อนและชื้นติดต่อกันจะสร้างความเสียหายให้กับพืช[14] เช่นเดียวกับการขุดดินที่เกิดจากกระต่าย หนู และนก นีมาโทดา โรคใบสนิม และโรคหัวเน่า เป็นภัยคุกคามการเพาะปลูกหญ้าฝรั่นเช่นกัน
หญ้าฝรั่นเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในเมื่อได้รับแสงแดดจัด การปลูกเลี้ยงกระทำได้ดีในพื้นราบที่เอียงเข้าหาแสงแดด (นั่นคือ เอียงไปทางทิศใต้ในซีกโลกเหนือ) เพื่อให้ได้รับแสงมากที่สุด การเพาะปลูกมักกระทำในเดือนมิถุนายนในซีกโลกเหนือ หัวหญ้าฝรั่นจะถูกฝังลงไปในดินลึก 7–15 ซม. (2.8–5.9 นิ้ว) ทั้งนี้ความลึกและระยะห่างของการฝังหัวหญ้าฝรั่นขึ้นกับภูมิอากาศซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อผลผลิต การปลูกด้วยหัวแม่พันธุ์จะให้ผลิตผลหญ้าฝรั่นที่มีคุณภาพสูงกว่าแม้ว่าจะแทงตาดอกและให้หัวลูกน้อยกว่า เพื่อให้ได้หญ้าฝรั่นที่คล้ายเส้นด้าย เกษตรกรชาวอิตาลีจะปลูกโดยการฝังหัวลึก 15 ซม. (5.9 นิ้ว) แต่ละแถวห่างกัน 2–3 ซม. การสร้างหัวและดอกที่เหมาะสมที่สุดคือ 8–10 ซม. เกษตรกรชาวกรีก, โมร็อกโก และสเปนมีการวางแผนปลูกด้านความลึกและระยะห่างที่ต่างกันไป ตามแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสม
C. sativus ชอบดินร่วนซุย ไม่จับตัวแน่น น้ำไหลผ่านและอุ้มน้ำได้ดี และดินเป็นดินเหนียวปนหินปูนที่มีสารอินทรีย์สูง การยกร่องช่วยให้สามารถระบายน้ำได้ดี การใส่ปุ๋ยคอก 20–30 ตันต่อเฮกตาร์จะช่วยเพิ่มสารอินทรีย์ให้แก่ดินได้ หลังจากนั้นจะทำการปลูกหัวหญ้าฝรั่นลงไป[15] หลังจากพักตัวตลอดฤดูร้อน หัวหญ้าฝรั่นจะแทงใบแคบสีเขียวขึ้นมาและเริ่มมีตาดอกในต้นฤดูใบไม้ร่วง ดอกจะบานช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง การเก็บเกี่ยวจำเป็นต้องกระทำอย่างรวดเร็วเพราะหลังจากที่ดอกบานในตอนเช้า ดอกจะเหี่ยวอย่างรวดเร็วหลังผ่านไปหนึ่งวัน[16] ดอกของหญ้าฝรั่นจะบานพร้อมกันในช่วงเวลา 1–2 สัปดาห์[17] ดอกหญ้าฝรั่น 150 ดอกจะได้ผลผลิตหญ้าฝรั่นแห้ง 1 กรัม (0.035 ออนซ์) ถ้าต้องการหญ้าฝรั่นแห้ง 12 กรัม (ผลผลิตหญ้าฝรั่นสด 72 กรัม) ต้องใช้ดอก 1 กก. (1 ปอนด์สำหรับผลผลิตหญ้าฝรั่นแห้ง 0.2 ออนซ์) ดอกหนึ่งดอกจะมีผลผลิตหญ้าฝรั่นสดเฉลี่ย 30 มิลลิกรัม (0.46 กรัม) หรือหญ้าฝรั่นแห้ง 7 มิลลิกรัม (0.11 กรัม)[15]
พันธุ์
[แก้]ความหลากหลายสายพันธุ์ของหญ้าฝรั่นก่อให้เกิดรูปแบบผลผลิตแยกตามภูมิภาคและลักษณะ พันธุ์จากประเทศสเปนประกอบด้วยสายพันธุ์ที่มีชื่อการค้าว่า "Spanish Superior" และ "Creme" ซึ่งมีสีสว่าง มีรสชาติและกลิ่นนุ่มนวล ได้รับการจัดลำดับมาตรฐานโดยรัฐบาล พันธุ์อิตาเลียนมีกลิ่นและรสชาติแรงกว่าพันธุ์สเปนเล็กน้อย พันธุ์ที่มีกลิ่นและรสชาติแรงที่สุดเป็นพันธุ์อิหร่าน มีการปลูกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในประเทศนิวซีแลนด์, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ มีบางส่วนที่ปลูกเป็นหญ้าฝรั่นอินทรีย์ ในสหรัฐอเมริกา พันธุ์ Pennsylvania Dutch มีผลผลิตออกจำหน่ายในปริมาณน้อย[18][19]
ผู้บริโภคจัดให้บางสายพันธุ์เป็นหญ้าฝรั่นคุณภาพสูง หญ้าฝรั่น "Aquila (ดาว)" หรือ zafferano dell'Aquila มีสารซาฟราแนล (safranal) และโครซิน (crocin) สูง มีรูปร่างใกล้เคียงกับเส้นด้าย มีกลิ่นหอมฉุนผิดปกติและสีเข้ม สายพันธุ์นี้ปลูกในพื้นที่แปดเฮกตาร์ในหมู่บ้านนาเวลลิ (Navelli) ของแคว้นอาบรุซโซ ประเทศอิตาลีใกล้กับเมืองลากวีลา หญ้าฝรั่นถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศอิตาลีโดยพระลัทธิโดมินิกันจากยุคมืดของสเปน พืนที่เพาะปลูกหญ้าฝรั่นใหญ่ที่สุดของประเทศอิตาลีอยู่ในซัน กาวีโน มอนเรอาลี (San Gavino Monreale) แคว้นปกครองตนเองซาร์ดิเนีย ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกถึง 40 เฮกตาร์หรือคิดเป็นผลผลิต 60% ของประเทศ ผลผลิตมีสารโครซิน ไพโครโครซิน (picrocrocin) และซาฟราแนลสูงเช่นเดียวกัน สายพันธุ์ "Mongra" หรือ "Lacha" ของรัฐชัมมูและกัศมีร์ (Crocus sativus 'Cashmirianus') เป็นสายพันธุ์ที่ผู้บริโภคหาซื้อได้ยากที่สุด เนื่องด้วยภัยแล้งซ้ำซาก, โรคใบไหม้ และความล้มเหลวของการเพาะปลูกในพื้นที่ควบคุมโดยประเทศอินเดียของรัฐชัมมูและกัศมีร์ รวมถึงการห้ามการส่งออกของอินเดีย หญ้าฝรั่นของกัศมีร์มีสีแดง-ม่วงเข้ม ซึ่งถือได้ว่ามีสีเข้มที่สุดในโลก มีรสชาติและกลิ่นที่รุนแรง รวมถึงการให้สีด้วย
คุณสมบัติทางเคมี
[แก้]โครซิน | |
ปฏิกิริยาการเกิดเอสเทอร์ ระหว่างโครซีทินและเจนทิโอไบโอส | |
— β-D-เจนทิโอไบโอส | |
— โครซีทิน |
หญ้าฝรั่นประกอบด้วยสารระเหยและสารประกอบให้ความหอมมากกว่า 150 ชนิด และยังประกอบด้วยส่วนประกอบที่นำไปใช้งานได้อีกหลายชนิด[20] ส่วนมากเป็นแคโรทีนอยด์ ประกอบด้วย ซีแซนทีน, ไลโคปีน, และ α- และ β-แคโรทีนหลายชนิด อย่างไรก็ตาม สีส้ม-เหลืองทองของหญ้าฝรั่นเป็นผลของ α-โครซิน
ประวัติ
[แก้]ประวัติการเพาะปลูกหญ้าฝรั่นสามารถนับย้อนหลังกลับไปได้มากกว่า 3,000 ปี[21] พืชป่าที่เป็นต้นเค้าของหญ้าฝรั่นคือ Crocus cartwrightianus มนุษย์ได้ทำการเพาะปลูกผสมพันธุ์ต้นไม้ป่าโดยคัดเลือกให้มียอดเกสรเพศเมียยาวกว่าปกติ ดังนั้นรูปแบบที่เป็นหมันของ C. cartwrightianus นั่นก็คือ C. sativus ได้เกิดขึ้นเมื่อตอนปลายยุคสำริดที่เกาะครีต[22] ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีบันทึกถึงหญ้าฝรั่นในเอกสารอายุ 700 ก่อนคริสต์ศักราช เป็นเอกสารอ้างอิงทางพฤกษศาสตร์ของอัสซีเรียที่ถูกรวบรวมภายใต้อัสเชอร์บานิปาล (Ashurbanipal) เอกสารได้บันทึกถึงการใช้หญ้าฝรั่นในการรักษาโรคกว่า 90 ชนิดมาเป็นช่วงเวลามากกว่า 4,000 ปี[23]
ซีกโลกตะวันออก
[แก้]มีการพบสีที่มาจากหญ้าฝรั่นในภาพเขียนฝาผนังยุคก่อนประวัติศาสตร์อายุ 50,000 ปีในทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอิหร่าน[24][25] ต่อมา ชาวซูเมอร์ใช้หญ้าฝรั่นที่เติบโตในธรรมชาติในยารักษาโรคและน้ำยาเวทมนตร์[26] หญ้าฝรั่นเป็นสินค้าในการค้าขายทางไกลก่อนกลายที่เป็นที่นิยมสูงสุดในวัฒนธรรมของพระราชวังมิโนอัน (Minoan) ในช่วง 2 สหัสวรรษก่อนคริสตกาล ชาวเปอร์เซียโบราณได้มีการเพาะปลูกหญ้าฝรั่นเปอร์เซีย (Crocus sativus 'Hausknechtii') ในเดอร์บีนา (Derbena), อิสฟาฮัน (Isfahan) และโคราซอน (Khorasan) ในช่วงศตวรรษที่ 10 ก่อนคริสตกาล ที่เดียวกันนี้ ได้มีการนำหญ้าฝรั่นถักทอไปกับสิ่งทอ[27] ใช้เป็นเครื่องบรรณาการแก่เทพเจ้าในพิธีกรรมทางศาสนา และใช้เป็นสีย้อม น้ำหอม ยารักษาโรค และสิ่งชำระล้างร่างกาย[28] ดังนั้น จึงมีการโปรยหญ้าฝรั่นลงบนเตียงและผสมลงไปในชาร้อนเพื่อเยียวยารักษาภาวะซึมเศร้าชั่วคราว ชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ชาวเปอร์เซียกลัวว่าการใช้หญ้าฝรั่นแบบเปอร์เซียนั้นจะเป็นการใช้ในแบบสารเสพติดหรือยาโป๊[29] ในระหว่างทำศึกในเอเชีย อเล็กซานเดอร์มหาราชใช้หญ้าฝรั่นเปอร์เซียในยาชง, ข้าว และการชำระร่างกาย เพื่อเยียวยารักษาอาการบาดเจ็บจากการทำศึก เหล่าทหารของอเล็กซานเดอร์ได้กระทำตามอย่างชาวเปอร์เซียและได้นำการอาบหญ้าฝรั่นไปสู่กรีก[30]
มีทฤษฎีที่ขัดแย้งกันซึ่งได้อธิบายการมาถึงของหญ้าฝรั่นในภูมิภาคเอเชียใต้ บันทึกของจีนและกัศมีร์บันทึกว่าหญ้าฝรั่นได้เดินทางมาถึงทุก ๆ แห่งในช่วงเวลา 900–2,500 ปีมาแล้ว[31][32][33] จากการศึกษาประวัติศาสตร์เปอร์เซียโบราณมีบันทึกว่าได้เดินทางมาถึงในช่วงเวลาเมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาล[34] โดยเป็นไปในลักษณะนำหัวหญ้าฝรั่นมาปลูกในสวนหลังบ้านหรือสวนสาธารณะ[35]หรือการเข้ารุกรานและตั้งอาณานิคมในเปอร์เซียของกัศมีร์ ซึ่งชาวฟินิเชียในขณะนั้นได้เข้ามาค้าขายหญ้าฝรั่นกัศมีร์เพื่อใช้เป็นสีย้อมผ้าหรือบำบัดภาวะซึมเศร้า[29] จากนั้น ก็มีการนำหญ้าฝรั่นไปใช้ในอาหารและสีย้อมกระจายไปทั่วเอเชียใต้ พระสงฆ์ในประเทศอินเดียได้ใช้หญ้าฝรั่นเป็นสีย้อมจีวรอย่างกว้างขวางหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน[36] อย่างไรก็ตามจีวรที่ย้อมด้วยหญ้าฝรั่นนั่นเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยและมีราคาแพง โดยปกติแล้วจะย้อมด้วย ขมิ้นหรือขนุนซึ่งมีราคาถูกกว่า[37]ชาวทมิฬมีการใช้หญ้าฝรั่นมานานกว่า 2,000 ปี ในภาษาทมิฬนั้นเรียกว่า "gnaazhal poo" (ஞாழல் பூ) ใช้รักษาอาการปวดหัว รักษาอาการปวดจากการทำงานหนัก เป็นต้น
นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าหญ้าฝรั่นมาถึงประเทศจีนจากเปอร์เซียโดยผู้รุกรานชาวมองโกล[38] ในทางกลับกัน มีการกล่าวถึงหญ้าฝรั่นในตำราแพทย์จีนโบราณ ตำราแพทย์ เฉินหนงเปิ๋นเฉ่า (神農本草經 "ยาสมุนไพรเฉินหนง" หรือที่รู้จักกันในชื่อ Pen Ts'ao หรือ Pun Tsao) ประกอบด้วยเอกสารจำนวน 40 เล่ม ซึ่งหนังสือจัดทำขึ้นในช่วงเวลา 200–300 ปีก่อนคริสตกาล ตามตำนานของจักรพรรดิหยาน (炎帝) ตำราแพทย์เฉินหนงแต่โบราณนี้มีสูตรยาสำหรับรักษาโรคต่าง ๆ ที่ได้จากพืช 252 สูตร[39][40] แต่เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 3 มีการอ้างว่าหญ้าฝรั่นในประเทศจีนมีต้นกำเนิดจากกัศมีร์ เช่น วาน เจิน (Wan Zhen) แพทย์แผนจีนผู้เชี่ยวชาญ รายงานว่า "ถิ่นกำเนิดของหญ้าฝรั่นอยู่ในกัศมีร์ สถานที่ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ปลูกหญ้าฝรั่นเพื่อใช้มันบูชาพระพุทธเจ้า" วานยังสะท้อนให้เห็นถึงการใช้งานหญ้าฝรั่นในช่วงเวลานั้น: "ดอกหญ้าฝรั่นจะเหี่ยวแห้งหลังจากนั้น 2–3 วัน รวมถึงเกสรของดอกที่อยู่ในนั้นด้วย ซึ่งค่าของหญ้าฝรั่นอยู่ที่สีเหลืองของมัน หญ้าฝรั่นสามารถใช้ทำไวน์ที่มีกลิ่นหอมได้"[33]
ซีกโลกตะวันตก
[แก้]การค้าและการใช้ประโยชน์
[แก้]คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม (3.5 ออนซ์) | |
---|---|
พลังงาน | 1,298 กิโลจูล (310 กิโลแคลอรี) |
65.37 g | |
ใยอาหาร | 3.9 g |
5.85 g | |
อิ่มตัว | 1.586 g |
ไม่อิ่มตัวมีพันธะคู่เดี่ยว | 0.429 g |
ไม่อิ่มตัวมีพันธะคู่หลายคู่ | 2.067 g |
11.43 g | |
วิตามิน | |
วิตามินเอ | 530 IU |
ไทอามีน (บี1) | (10%) 0.115 มก. |
ไรโบเฟลวิน (บี2) | (22%) 0.267 มก. |
ไนอาซิน (บี3) | (10%) 1.460 มก. |
วิตามินซี | (97%) 80.8 มก. |
แร่ธาตุ | |
แคลเซียม | (11%) 111 มก. |
เหล็ก | (85%) 11.10 มก. |
แมกนีเซียม | (74%) 264 มก. |
ฟอสฟอรัส | (36%) 252 มก. |
โพแทสเซียม | (37%) 1724 มก. |
โซเดียม | (10%) 148 มก. |
สังกะสี | (11%) 1.09 มก. |
องค์ประกอบอื่น | |
น้ำ | 11.90 g |
ซีลีเนียม | 5.6 μg |
โฟเลต[N 1] | 93 μg |
วิตามินบี6 | 1.010 mg |
เถ้า | 5.45 g |
เฉพาะส่วนที่รับประทานได้เท่านั้น[41] | |
ประมาณร้อยละคร่าว ๆ โดยใช้การแนะนำของสหรัฐสำหรับผู้ใหญ่ แหล่งที่มา: USDA FoodData Central |
การค้า
[แก้]หญ้าฝรั่นเกือบจะทั้งหมดเพาะปลูกในบริเวณที่ล้อมรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในทางตะวันตก และพื้นที่ซึ่งโอบล้อมด้วยประเทศอิหร่านและกัศมีร์ในทางตะวันออก ส่วนทวีปอื่น (ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา) มีผลผลิตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในปีหนึ่ง ๆ มีผลผลิตหญ้าฝรั่นแห้งและผงประมาณ 300 ตัน[42] 50 ตัน เป็นหญ้าฝรั่นเกรดดีที่สุด "coupe"[43] ประเทศอิหร่านมีผลผลิตอยู่ราว 90-93% ของผลผลิตหญ้าฝรั่นทั่วโลกและเป็นประเทศที่ส่งออกมากที่สุด[44] สองสามจังหวัดที่แห้งแล้งทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่าน ประกอบด้วย จังหวัดฟอร์ส, กริมาน และในภูมิภาคโคราซาน เป็นพื้นที่การเพาะปลูกที่มากที่สุดของผลผลิตในปัจจุบันทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2548 กรีซเป็นอันดับสองมีผลผลิต 5.7 ตัน ในขณะที่โมร็อกโกและกัศมีร์เป็นอันดับที่สามโดยในแต่ละที่มีผลผลิต 2.3 ตัน[44]
ในปีที่ผ่านมา การเพาะปลูกในประเทศอัฟกานิสถานได้เพิ่มขึ้น ในกัศมีร์กลับลดลง[45] อาเซอร์ไบจาน, โมร็อกโก และอิตาลีมีผู้ผลิตจำนวนน้อย มีผลผลิตลดหลั่นกันตามลำดับ
การใช้ประโยชน์
[แก้]กลิ่นหอมของหญ้าฝรั่นได้รับการบรรยายโดยผู้เชียวชาญว่าทำให้นึกถึงน้ำผึ้งที่มีกลิ่นรสผิดปกติด้วยกลิ่นเหมือนหญ้าหรือฟางแห้ง ขณะที่มีรสชาติคล้ายฟางแห้งและหวาน หญ้าฝรั่นยังมีส่วนช่วยให้อาหารมีสีเหลืองส้มสว่าง มีการใช้หญ้าฝรั่นอย่างแพร่หลายในอาหารเปอร์เซีย, ยุโรป, อาหรับ และตุรกี มักมีการผสมหญ้าฝรั่นในลูกกวาดและสุราด้วย โดยทั่วไปแล้ว มีการนำคำฝอย (Carthamus tinctorius มีการขายในชื่อ "หญ้าฝรั่นโปรตุเกส (Portuguese saffron)" หรือ "açafrão"), ชาด และขมิ้น (Curcuma longa) มาใช้แทนหญ้าฝรั่น นอกจากนี้ยังมีการนำหญ้าฝรั่นมาใช้เป็นสีย้อมผ้าโดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดีย และนำมาใช้ในน้ำหอม[46] มันยังถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนาในประเทศอินเดีย และมีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในการปรุงอาหารในอาหารหลากหลายเชื้อชาติ เช่น รีซอตโต อาหารของเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี หรือ บูยาแบ็ส (bouillabaise) อาหารของประเทศฝรั่งเศส ไปจนถึงข้าวหมกที่รับประทานเคียงกับเนื้อหลายชนิดในเอเชียใต้
มีประวัติการใช้หญ้าฝรั่นในการแพทย์แผนโบราณมาอย่างยาวนาน การศึกษาวิจัยหลายชิ้นในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าเครื่องเทศชนิดนี้อาจมีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง ต่อต้านสารก่อกลายพันธุ์ ฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกัน และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ[47][48][49] การศึกษาในปี พ.ศ. 2538 ชี้ให้เห็นว่ายอดเกสรเพศเมียและกลีบดอกของหญ้าฝรั่นมีประโยชน์ในการรักษาภาวะซึมเศร้า[50] การศึกษายังแสดงว่าหญ้าฝรั่นอาจช่วยป้องกันดวงตาจากผลกระทบโดยตรงจากแสงสว่างและความเครียดที่จอตานอกเหนือจากจุดรับภาพเสื่อม (macular degeneration) และโรคตาบอดกลางคืน (retinitis pigmentosa)[51] (หญ้าฝรั่นส่วนมากในงานวิจัยหมายถึงยอดเกสรเพศเมีย แต่มักจะไม่ระบุชัดเจนในงานวิจัย) งานศึกษาอื่น ๆ ระบุว่าหญ้าฝรั่นอาจมีศักยภาพในคุณสมบัติทางการแพทย์อีกหลายอย่าง[52]
เชิงอรรถ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 คุณบรรจบ พันธุเมธา, ศาสตราจารย์ (2003) [1971]. ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย (9 ed.). กรุงเทพฯ: ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. p. 67. ISBN 974-594-773-3.
- ↑ ตลาดสดสนามเป้า. โพลีพลัส. ททบ. 5. 19 พฤษภาคม 2013.
- ↑ 3.0 3.1 Kumar V (2006), The Secret Benefits of Spices and Condiments, Sterling, p. 103, ISBN 1-8455-7585-7, สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2007
- ↑ Asya Asbaghi (1988), Persische Lehnwörter im Arabischen, Otto Harrassowitz, p. 145, ISBN 3-447-02757-6
- ↑ (Harper 2001)
- ↑ หญ้าฝรั่น. พจนานุกรมฉบับมติชน. กรุงเทพฯ: มติชน. 2004. ISBN 974-323-264-8.
- ↑ "Spices, saffron (FW_USDA02037)". FoodWiki. 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2013.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 (Deo 2003, p. 1)
- ↑ M. Grilli Caiola; P. Caputo; R. Zanier (2004). "RAPD analysis in Crocus sativus L. accessions and related Crocus species" (PDF). Biologia Plantarum. 48 (3): 375–380. eISSN 1573-8264. สืบค้นเมื่อ 14 ธันวาคม 2022.
- ↑ M. Grilli Caiola (2004). "Saffron reproductive biology". Acta Horticulturae 650. International Society for Horticultural Science. doi:10.17660/ActaHortic.2004.650.1.
- ↑ (Willard 2002, p. 3)
- ↑ (DPIWE 2005)
- ↑ (Willard 2002, pp. 2–3)
- ↑ (Deo 2003, p. 2)
- ↑ 15.0 15.1 (Deo 2003, p. 3)
- ↑ (Willard 2002, pp. 3–4)
- ↑ (Willard 2002, p. 4)
- ↑ Willard 2002, p. 143.
- ↑ Willard 2002, p. 201.
- ↑ (Abdullaev 2002, p. 1)
- ↑ (Deo 2003, p. 1)
- ↑ (Goyns 1999, p. 1)
- ↑ (Honan 2004)
- ↑ (Willard 2002, p. 2)
- ↑ (Humphries 1998, p. 20)
- ↑ (Willard 2002, p. 12)
- ↑ (Willard 2002, p. 2)
- ↑ (Willard 2002, pp. 17–18)
- ↑ 29.0 29.1 (Willard 2002, p. 41)
- ↑ (Willard 2002, pp. 54–55)
- ↑ (Lak 1998b)
- ↑ (Fotedar 1999, p. 128)
- ↑ 33.0 33.1 (Dalby 2002, p. 95)
- ↑ (McGee 2004, p. 422)
- ↑ (Dalby 2003, p. 256)
- ↑ (Tarvand 2005a)
- ↑ Finlay, Victoria (30 ธันวาคม 2002), Colour: A Natural History of the Palette, Random House, p. 224, ISBN 0-8129-7142-6
- ↑ (Fletcher 2005, p. 11)
- ↑ (Tarvand 2005)
- ↑ (Hayes 2001, p. 6)
- ↑ 41.0 41.1 Park 2005.
- ↑ Katzer 2001.
- ↑ Negbi 1999, p. 2.
- ↑ 44.0 44.1 Ghorbani 2008, p. 1.
- ↑ Malik 2007.
- ↑ Dalby 2002, p. 138.
- ↑ Abdullaev 2002, p. 1.
- ↑ Assimopoulou, Papageorgiou & Sinakos 2005, p. 1.
- ↑ Chang et al. 1964, p. 1.
- ↑ Bailes 1995.
- ↑ Maccarone, Di Marco & Bisti 2008.
- ↑ Moghaddasi 2010.
บรรณานุกรม
[แก้]- Kashmiri saffron producers see red over Iranian imports, Australian Broadcasting Corporation, 2003, สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009
- Abdullaev, F. I. (2002), "Cancer chemopreventive and tumoricidal properties of saffron (Crocus sativus L.)", Experimental Biology and Medicine, 227 (1): 20–25, PMID 11788779, สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009
- Assimopoulou, A. N.; Papageorgiou, V. P.; Sinakos, Z. (2005), "Radical scavenging activity of Crocus sativus L. extract and its bioactive constituents", Phytotherapy Research, 19 (11): 997–1000, doi:10.1002/ptr.1749, PMID 16317646
- Bailes, M. (1995), The Healing Garden, Kangaroo Press, ISBN 978-0-86417-636-3
- Chang, P. Y.; Kuo, W.; Liang, C. T.; Wang, C. K. (1964), "The pharmacological action of 藏红花 (zà hóng huā—Crocus sativus L.): effect on the uterus and/or estrous cycle", Yao Hsueh Hsueh Pao, 11
- Courtney, P. (2002), "Tasmania's Saffron Gold", Landline, Australian Broadcasting Corporation, สืบค้นเมื่อ 2009-11-23
- Dalby, A. (2002), Dangerous Tastes: The Story of Spices, University of California Press, ISBN 9780520236745, สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2006
- Dalby, A. (2003), Food in the Ancient World from A to Z, Routledge, ISBN 0-415-23259-7
- UCLA (2002), Saffron, Darling Biomedical Library, สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009
- Davies, N. W.; Gregory, M. J.; Menary, R. C. (2005), "Effect of drying temperature and air flow on the production and retention of secondary metabolites in saffron", Journal of Agricultural and Food Chemistry., 53 (15): 5969–75, doi:10.1021/jf047989j, PMID 16028982
- Deo, B. (2003), "Growing Saffron—The World's Most Expensive Spice" (PDF), Crop & Food Research (New Zealand Institute for Crop & Food Research) (20), คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2005-12-27, สืบค้นเมื่อ 2009-11-23.
- Dharmananda, S. (2005), "Saffron: An Anti-Depressant Herb", Institute for Traditional Medicine, สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009
- DPIWE (2005), "Emerging and Other Fruit and Floriculture: Saffron", Food & Agriculture, Department of Primary Industries, Water, and Environment, Government of Tasmania, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 พฤษภาคม 2005, สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2011
{{citation}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - Ferrence, S. C.; Bendersky, G (2004), "Therapy with saffron and the Goddess at Thera", Perspectives in Biology and Medicine, 47 (2): 199–226, doi:10.1353/pbm.2004.0026, PMID 15259204
- Fletcher, N. (2005), Charlemagne's Tablecloth: A Piquant History of Feasting, Saint Martin's Press, ISBN 0-312-34068-0
- Fotedar, S. (1999), "Cultural Heritage of India: Kashmiri Pandit Contribution", Vitasta, Kashmir Sabha of Kolkata, XXXII (1), คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2011, สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009
- Ghorbani, M. (2008), "The Efficiency of Saffron's Marketing Channel in Iran" (PDF), World Applied Sciences Journal, vol. 4 no. 4, pp. 523–527, ISSN 1818-4952, สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2011
- Goyns, M. H. (1999), Saffron, Taylor and Francis, ISBN 90-5702-394-6, สืบค้นเมื่อ 2009-11-23
- Grigg, D. B. (1974), The Agricultural Systems of the World, Cambridge University Press, ISBN 0-521-09843-2
- Harper, D. (2001), Online Etymology Dictionary, สืบค้นเมื่อ 2009-11-23
- Hasegawa, J. H.; Kurumboor, S. K.; Nair, S. C. (1995), "Saffron chemoprevention in biology and medicine: a review", Cancer Biotherapy, 10 (4): 257–64, PMID 8590890
- Hayes, A. W. (2001), Principles and Methods of Toxicology, Taylor & Francis, ISBN 1-56032-814-2
- Hill, T. (2004), The Contemporary Encyclopedia of Herbs and Spices: Seasonings for the Global Kitchen, Wiley, ISBN 0-471-21423-X
- Honan, W. H. (2004), "Researchers Rewrite First Chapter for the History of Medicine", The New York Times (ตีพิมพ์ 2 มีนาคม 2004), คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 พฤษภาคม 2013, สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2011
{{citation}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - Humphries, J. (1998), The Essential Saffron Companion, Ten Speed Press, ISBN 1-58008-024-3
- Hussain, A. (28 มกราคม 2005), "Saffron Industry in Deep Distress", BBC News, London: British Broadcasting Corporation, สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009
- Jessie, S. W.; Krishnakantha, T. P. (2005), "Inhibition of human platelet aggregation and membrane lipid peroxidation by saffron", Molecular and Cellular Biochemistry, 278 (1–2): 59–63, doi:10.1007/s11010-005-5155-9, PMID 16180089
- Katzer, G. (2001), Crocus sativus L., Karl-Franzens-Universität Graz, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 กันยายน 2007, สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009
- Lak, D. (11 พฤศจิกายน 1998), "Kashmiris Pin Hopes on Saffron", BBC News, London: British Broadcasting Corporation, สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009
- Lak, D. (23 พฤศจิกายน 1998), Gathering Kashmir's Saffron, London: British Broadcasting Corporation, สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009
- Leffingwell, J. C. (2002), "Saffron" (PDF), Leffingwell Reports, 2 (5), สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009
- Maccarone, R.; Di Marco, S.; Bisti, S. (2008), "Saffron Supplement Maintains Morphology and Function after Exposure to Damaging Light in Mammalian Retina", Investigative Ophthalmology and Visual Science, vol. 49 no. 3, pp. 1254–1261, doi:10.1167/iovs.07-0438, PMID 18326756
- Malik, N. (2007), Saffron Manual for Afghanistan (PDF), DACAAR Rural Development Program, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 12 พฤษภาคม 2013, สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2011
- McGee, H (2004), On Food and Cooking: The Science and Lore of the Kitchen, Simon and Schuster, ISBN 0-684-80001-2, สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009
- Moghaddasi, M. S. (2010), "Saffron Chemicals and Medicine Usage" (PDF), Journal of Medicinal Plant Research, vol. 4 no. 6, pp. 427–430, สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2011
- Nair, S. C.; Pannikar, B.; Panikkar, K. R. (1991), "Antitumour activity of saffron (Crocus sativus)", Cancer Letters, 57 (2): 109–14, doi:10.1016/0304-3835(91)90203-T, PMID 2025883
- Negbi, M., บ.ก. (1999), Saffron: Crocus sativus L., CRC Press, ISBN 978-90-5702-394-1
- Park, J. B. (2005), Crocus sativus, United States Department of Agriculture, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-11, สืบค้นเมื่อ 2009-11-23
- Pearce, F. (2005), "Returning war-torn farmland to productivity", New Scientist, สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2006
- Rau, S. R. (1969), The Cooking of India, Time Life Education, ISBN 0-8094-0069-3
- Tarvand (2005a), What is Saffron?, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 กันยายน 2007, สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009
- Tarvand (2005), Grading and Classification, ISBN 0660007797, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 ตุลาคม 2007, สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009
- Willard, P. (2002), Secrets of Saffron: The Vagabond Life of the World's Most Seductive Spice, Beacon Press, ISBN 0-8070-5008-3, สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ หญ้าฝรั่น
- ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Crocus sativus ที่วิกิสปีชีส์
- "Saffron". Darling Biomedical Library. UCLA.
- Duke, J. "Crocus sativus". Germplasm Resources Information Network. United States Department of Agriculture. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2004. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2011.