ทับทิม (ผลไม้)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทับทิม
ผลทับทิม
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
ชั้นย่อย: Rosidae
อันดับ: Myrtales
วงศ์: Lythraceae
สกุล: Punica
สปีชีส์: P.  granatum
ชื่อทวินาม
Punica granatum
L.
ชื่อพ้อง
Punica malus
Linnaeus, 1758
ผลทับทิม แกะออก เห็นเมล็ดข้างใน

บทความนี้กล่าวถึง "ทับทิม" ในฐานะผลไม้ชนิดหนึ่ง สำหรับทับทิมในความหมายอื่น ๆ ดูได้ใน ทับทิม

ทับทิม ชื่อท้องถิ่น เซี๊ยะลิ้ว, พิลา, พิลาขาว, มะก่องแก้ว, มะเก๊าะ, หมากจัง เป็นไม้ผลขนาดเล็ก มีขนาดประมาณ 5-8 เซนติเมตร

ทับทิมมีถิ่นกำเนิดจากตะวันออกของประเทศอิหร่าน ทางตอนใต้ของอัฟกานิสถานและทางตอนเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ทับทิมจึงชอบอากาศหนาวเย็นและอยู่บนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 300 เมตร ยิ่งอากาศหนาวเนื้อทับทิมจะมีสีแดงเข้มมากขึ้น

คำว่า ทับทิม มีรากศัพท์จากภาษาสันสกฤตว่า ทาฑิม (दाडिम, "ต้นทับทิม, ผลทับทิม") ตรงกับภาษาบาลีและภาษาฮินดีว่า ทาฬิม หรือ ทาลิม (दाड़िम)

ประโยชน์[แก้]

ผลทับทิมใช้รับประทานเป็นผลไม้มีรสหวานหรือเปรี้ยวอมหวานทับทิมเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ น้ำทับทิมมีวิตามินซีสูงและยังมีสารเกลือแร่ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่สูงเหมาะสำหรับการดื่มเพื่อเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย

น้ำทับทิมมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดและมีประสิทธิภาพสูงมากสามารถลดภาวะการแข็งตัวของเลือดจากไขมันในเลือดสูง บรรเทาโรคโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง ช่วยเพิ่มพลังและความงาม ดื่มน้ำทับทิมคั้นวันละแก้วจะช่วยส่งเสริมการทำงานของหลอดเลือด ลดการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงและช่วยเสริมสุขภาพของหัวใจให้ดีขึ้น

เปลือกทับทิมรักษาโรคท้องเดินและโรคบิด

เปลือกทับทิม[แก้]

จากการศึกษาวิจัยพบว่าในเปลือกทับทิมมีสารในกลุ่มแทนนินสูง 22-25% โดยประกอบด้วยสารแทนนินในกลุ่ม มี Gallotannin เปลือกทับทิมตากแห้งใช้เป็นยาแก้ท้องเดินและโรคบิดได้[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนี้ยังพบสารแทนนินในกลุ่ม Ellagictannin ในปริมาณสูงสารในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระที่ดี สารสกัดจากเปลือกผลด้วยเอทานอลมีฤทธิ์กำจัดอนุมูลอิสระ[1] โดยมีสรรพคุณลดอาการอักเสบ ทั้งยังมีฤทธิ์ต่อต้านมะเร็งกว่า 13 ชนิด ไม่ให้เพิ่มจำนวนขึ้น เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งลำไส้ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่ามีคุณสมบัติในการทำลายเซลล์มะเร็งหลอดอาหาร และลำไส้ใหญ่ ซึ่งพบว่าการให้กรดเอลลาจิกกับสัตว์ทดลอง สารดังกล่าวจะไปเร่งการเจริญของเซลล์มะเร็งแบบอะมอพโดซีส (Amoptosis) ทำให้เซลล์มะเร็งถูกทำลายโดยกลไกการแตกตัวของตัวมันเองได้

ความเชื่อ[แก้]

ทับทิมเป็นผลไม้มงคลของจีน กิ่งใบทับทิมเป็นใบไม้สิริมงคลที่ใช้ทุกงานที่มีน้ำมนต์ประกอบพิธี โดยจะใช้พรมน้ำมนต์และ มีไว้ติดตัวเพื่อคุ้มครองกันภัย มีเรื่องเล่าว่า เพราะเป็นพันธุ์ไม้ที่ถูกนำมาเผยแพร่ในเมืองจีนพร้อมกับ พระพุทธศาสนา ซึ่งประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า " พระถังซัมจั๋ง " ได้ไปอาราธนาพระไตรปิฎกที่อินเดีย ท่านได้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ มาด้วย และหนึ่งในนั้นก็คือทับทิม ด้วยความที่ทับทิมมีเมล็ดมาก จึงสื่อความหมายถึงการ ให้มีลูกชายมาก ๆ [2]

อ้างอิง[แก้]

  1. อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ ประภัสสร รักถาวร เมทิกา ลีบุญญานนท์ และพจมาน พิศเพียงจันทน์. 2553. สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ การต้านอนุมูลอิสระ และการต้านเชื้อแบคทีเรียก่อสิวของสารสกัดจากเปลือกผลไม้. เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 48 3-5 ก.พ. 2553 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน้า 364-373
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-13. สืบค้นเมื่อ 2007-08-18.
  • หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ดูเพิ่ม[แก้]