นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์
นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ | |
---|---|
ท้าวศรีสุดาจันทร์ | |
รูปพระนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ภายในศาล ที่วัดแร้ง(ร้าง) จ.พระนครศรีอยุธยา | |
พระอัครมเหสีกรุงศรีอยุธยา (พิพาท) | |
ดำรงพระยศ | พ.ศ. 2091 |
ก่อนหน้า | พระนางจิตรวดี |
ถัดไป | พระสุริโยทัย |
ประสูติ | ไม่ปรากฏ |
สิ้นพระชนม์ | พ.ศ. 2091 |
พระราชสวามี | สมเด็จพระไชยราชาธิราช (2077–2089) ขุนวรวงศาธิราช (2091) |
พระราชบุตร | สมเด็จพระยอดฟ้า พระศรีศิลป์ พระธิดาไม่ปรากฏพระนาม |
ราชวงศ์ | อู่ทอง (สันนิษฐาน) สุพรรณภูมิ (เสกสมรส) |
นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ คือพระมเหสีฝ่ายซ้าย[1]ในสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระอัครมเหสี[1]ในขุนวรวงศาธิราช และพระราชมารดาในสมเด็จพระยอดฟ้าและพระศรีศิลป์[2]
พระประวัติ
[แก้]มีการสันนิษฐานเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดของท้าวศรีสุดาจันทร์ว่าสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อู่ทอง โดยอาจสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้ารามราชาที่เสียราชสมบัติแล้วถูกส่งไปอยู่เมืองปทาคูจาม พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้ให้ข้อสังเกตว่าราชวงศ์ดังกล่าวอาจถูกละเว้นไว้ในฐานะที่เป็นตระกูลศักดิ์สิทธิ์ ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์ดังกล่าวจึงได้รับการเลี้ยงดูสืบมาให้มาทำหน้าที่สำคัญในราชสำนัก[3] สอดคล้องกับจดหมายเหตุวันวลิต ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขุนวรวงศาธิราช ที่เดิมเป็นพนักงานเฝ้าหอพระมาก่อน ว่าเป็นหมอผี มีหน้าที่อ่านแปลหนังสือพงศาวดารของต่างประเทศให้แก่พระเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นว่าขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ที่มีศักดิ์เป็นญาติ ไม่ได้มาจากตระกูลชั้นต่ำ แต่เป็นระดับผู้รู้ และอยู่ในฐานะระดับปุโรหิตที่มีหน้าที่เกี่ยวกับพระราชพิธีในราชสำนัก[4]
ขุนวรวงศาธิราชมีน้องชายคือนายจัน บ้านมหาโลก ซึ่งเป็นหมู่บ้านเขมร ดังนั้นตระกูลของเขาอาจมีความสัมพันธ์กับเขมรด้วย[3] เอกสารโปรตุเกสได้กล่าวถึงนายจันว่าเป็นช่างเหล็ก ซึ่งเทคโนโลยีผลิตเครื่องมือเหล็กในสมัยนั้นไม่ใช่ของที่ใครก็ทำได้ง่าย ๆ ต้องอาศัยผู้ชำนาญสะสมมาเป็นเวลานาน จึงยืนยันได้ว่าตระกูลของนายจันไม่ใช่ตระกูลชั้นต่ำแต่อย่างใด[3]
การครองอำนาจ
[แก้]ด้วยเหตุที่พระนางมีพระราชโอรสคือสมเด็จพระยอดฟ้า พระนางจึงมีฐานะที่สูงกว่าพระชายาอื่นอีก 3 พระองค์[5] ต่อมาสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระสวามีได้เสด็จกลับจากราชการสงคราม ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต จึงได้มีการยกพระยอดฟ้า พระราชโอรสครองราชย์ต่อมาในปี พ.ศ. 2089 โดยมีนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในปี พ.ศ. 2091 นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ทรงอ้างว่าสมเด็จพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์ หัวเมืองเหนือก็ไม่เป็นปกติจึงปรึกษากับขุนนางว่าจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดินจนกระทั่งสมเด็จพระยอดฟ้าทรงเจริญพระชนมายุ เหล่าขุนนางก็เห็นชอบด้วย เมื่อขุนวรวงศาธิราชขึ้นครองราชย์แล้ว ก็สถาปนานายจัน ผู้เป็นน้องชายที่อยู่บ้านมหาโลกขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แล้วนำสมเด็จพระยอดฟ้าไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา ส่วนพระศรีศิลป์ พระราชโอรสอีกพระองค์ซึ่งในขณะนั้นมีพระชันษาได้ 7 ปี ทรงเลี้ยงไว้[2]
สิ้นพระชนม์
[แก้]หลังจากการครองราชย์ของขุนวรวงศาธิราช ก็มีกลุ่มขุนนางผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการครองราชย์นั้น นำโดยขุนพิเรนทรเทพ (ต่อมาคือสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช) ได้ร่วมกันวางแผนจับขุนวรวงศาธิราชปลงพระชนม์เสีย โดยวางแผนหลอกล่อขุนวรวงศาธิราชว่ามีช้างเผือกติดเพนียด หากขุนวงศาธิราชเสด็จไปคล้องช้างก็จะเกิดบารมีและสิทธิธรรมในการครองราชย์[6] ต่อมาเมื่อถึงวันที่เสด็จทางชลมารคตามลำคลองสระบัวเพื่อไปคล้องช้างเถื่อนที่เพนียดวัดซองที่ย่านหัวรอ[7] ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพได้ก็นำกำลังดักซุ่มที่คลองบางปลาหมอ[7] เมื่อขบวนเรือล่องมาถึงบริเวณปากคลองสระบัวที่บรรจบกับคลองบางปลาหมอ (สันนิษฐานว่าปริมณฑลดังกล่าวในปัจจุบันคือวัดเจ้าย่า)[6] ก็สกัดจับขุนวรวงศาธิราชกับนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์พร้อมด้วยบุตรปลงพระชนม์เสียแล้วนำพระศพไปเสียบประจานที่วัดแร้ง[2] แล้วจึงไปทูลเชิญพระเฑียรราชาซึ่งผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐาน ให้ลาสิกขาบทมาครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ[8]
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
[แก้]มีนักแสดงผู้รับบท นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ได้แก่
- ใหม่ เจริญปุระ จากภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท (2544)
- ยศวดี หัสดีวิจิตร จากภาพยนตร์เรื่อง กบฏท้าวศรีสุดาจัน (2548)
- หม่อมหลวงวันรัชดา วรวุฒิ จากละครเวทีเรื่อง ข้(ฆ่)า...ท้าวศรีสุดาจันทร์ไม่ผิด (2566)
- ดาวิกา โฮร์เน่ จากละครเรื่อง แม่หยัว (2567)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553, หน้า 492-494
- ↑ 2.0 2.1 2.2 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553, หน้า 66-7
- ↑ 3.0 3.1 3.2 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน,2553. พิมพ์ครั้งที่ 2, หน้า 95
- ↑ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน,2553. พิมพ์ครั้งที่ 2, หน้า 94
- ↑ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน,2553. พิมพ์ครั้งที่ 2, หน้า 90
- ↑ 6.0 6.1 "ชมคลิป จุดลอบสังหารท้าวศรีสุดาจันทร์ "ตามรอยขัตติยนารีพระศรีสุริโยทัย" กับ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์". มติชน. 25 สิงหาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2556.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 7.0 7.1 ปวัตร์ นวะมะรัตน. "คลองสระบัวและคลองบางปลาหมอ (คลองผ้าลาย)" ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 29 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2551 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน,2551. หน้า 58
- ↑ ปวัตร์ นวะมะรัตน. "คลองสระบัวและคลองบางปลาหมอ (คลองผ้าลาย)" ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 29 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2551 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน,2551. หน้า 59